10 เพลงในใจ กับเรื่องราวความรู้สึกของวัยรุ่นไทยวันนี้

    คุณเคยมีความในใจที่ไม่สามารถบอกใครได้บ้างไหม? อาจเป็นความทรงจำ ประสบการณ์ หรือจินตนาการส่วนตัวที่มีส่วนผสมเป็นความสุขและความเศร้าปะปนกันไป ยิ่งในเวลาที่เราต้องเว้นระยะจากกันและห่างหายจากการพูดคุยกับคนรู้ใจ อาจส่งผลให้หัวใจแบกรับเรื่องราวไว้มากกว่าที่ควร พอถึงเวลาต้องเล่าให้ใครฟังก็ไม่รู้ว่าจะจับต้นชนปลายอย่างไร งั้นเอาแบบนี้ไหม เรามาลองปล่อยให้เสียงเพลงเป็นตัวบรรเลงเรื่องราวในใจออกมาให้คนอื่นได้ฟังกัน

    เพลงในใจ เป็นโปรเจกต์สอนแต่งเพลงจากทีม happening ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เปิดโอกาสเหล่าเยาวชน-นิสิต-นักศึกษา อายุตั้งแต่ 15-22 ปี ที่มีความสนใจด้านดนตรี ได้มีพื้นที่ในการเรียนรู้และสื่อสารสิ่งที่อยู่ในใจผ่านเสียงเพลง ไม่ว่าจะเป็นความสุข ความเศร้า ความเครียด ความซึมเศร้า หรือเรื่องราวที่อึดอัดอยู่ในใจ และอาจส่งผลต่อสุขภาพจิต

    ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2564 น้องๆ ทั้ง 75 คน ในโครงการได้เรียนรู้วิธีการแต่งเพลงจากเหล่านักแต่งเพลงและผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีระดับมืออาชีพ 5 คน ได้แก่ เอิ้น-พิยะดา หาชัยภูมิ คุณหมอนักแต่งเพลง เจ้าของเพจ หมอเอิ้นพิยะดา Unlocking Happiness, สถาปัตย์ ธีรนิตยภาพ หรือ ตั้ม โมโนโทน โปรดิวเซอร์และนักแต่งเพลงมืออาชีพ, ประภพ ชมถาวร หรือ กอล์ฟ ซูเปอร์เบเกอร์ นักร้อง-นักแต่งเพลงมืออาชีพ แห่งวง Superbaker, โจเซฟ ซามูดิโอ นักร้องและนักดนตรีบำบัด และ วิภว์ บูรพาเดชะ นักเขียน, นักแต่งเพลง, บรรณาธิการ happening

    เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เราต้องพบกันผ่านโปรแกรม Zoom แต่นั่นก็ไม่อาจทำให้ช่วงเวลาแห่งความสนุกและการสร้างสรรค์ผลงานลดน้อยลงเลย หลังจากจบการบรรยายแล้ว ทุกคนมีโอกาสได้ลองแต่งเพลงของตัวเอง และได้รับคำแนะนำจากวิทยากรประจำกลุ่ม ก่อนที่เราจะคัดเลือกผลงาน 5 ชิ้นไปบันทึกเสียง และเผยแพร่เรื่องราวภายในใจของพวกเขาให้คนทั่วไปได้ฟังอีกด้วย

    ผลงานของทุกคนล้วนมีเอกลักษณ์ที่สะท้อนความสนใจของแต่ละคนต่างกันออกไป บางเพลงถ่ายทอดเรื่องราวความรักทั้งสมหวังและผิดหวัง บางเพลงเล่าถึงการตามหาความฝันหรือการค้นหาตัวตน บางเพลงเล่าถึงสังคมแห่งสันติภาพ บางเพลงเล่าถึงสัตว์เลี้ยงตัวโปรด แต่ทุกเพลงล้วนถ่ายทอดผ่านประสบการณ์ภายในใจด้วยกันทั้งสิ้น

    นอกจาก 5 เพลงที่จะได้รับการโปรดิวซ์แล้ว เราเห็นว่ายังมีเพลงอื่นๆ ที่มีประเด็นน่าสนใจ สะท้อนสิ่งในใจวัยรุ่น เราเลยอยากเอามาเผยแพร่ จึงถือโอกาสนี้หยิบยก 10 เรื่องราวภายในใจของน้องๆ ในโครงการที่อุดมไปด้วยความสุขและเศร้ามาให้คุณได้ลองทำความเข้าใจว่า วัยรุ่นไทยตอนนี้ เขามีความสนใจหรือกำลังกังวลใจในเรื่องอะไรกันบ้าง

    พร้อมแล้ว ไปรับฟังท่วงทำนองแห่งการเติบโตของพวกเขาพร้อมกันเลย


1. เสียงฝีเท้าที่ไล่ตามหาความสุข
    เป็นปกติที่บางเวลาในชีวิตของคนเราจะต้องเผชิญกับความโศกเศร้าอยู่บ้าง แต่สำหรับวัยรุ่นซึ่งเป็นวัยแห่งการค้นหาตัวตนนั้น พวกเขาอาจมีช่วงเวลาที่ยากลำบากในการเผชิญกับความผิดพลาดหรือความโศกเศร้า 'ขอให้คนใจร้ายหายไป' เป็นหนึ่งในหลายๆ เพลงที่เล่าถึงจิตใจที่ถูกทำร้ายโดยคำพูดของผู้คน จากประสบการณ์ของใบตอง นักเรียนชั้นมัธยมที่ตกหลุมรักในเสียงดนตรี โดยเธอหวังว่าเพลงของเธอจะเป็นตัวแทนเรื่องราวของคนอื่นๆ ได้ ขณะที่ปรินเล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวที่ต้องเผชิญกับความเศร้า โดยหวังว่าจะมีใครสักคนคอยรับฟังและค่อยๆ พาพวกเขาก้าวผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นไปด้วยกัน
2. เสียงหัวใจที่เต้นด้วยความรัก
    วัยรุ่นถือเป็นวัยที่ค่อยๆ ทำความรู้จักกับความรักในหลากรูปแบบ เริ่มจากความรักในครอบครัว มิตรภาพระหว่างเพื่อน จนถึงความสัมพันธ์ที่พิเศษระหว่างคนสองคน แอนนี่ นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ปี 5 ได้ถ่ายทอดเรื่องราวความรักครั้งแรกที่เปรียบเสมือนการเฝ้ามองเจ้ากระต่ายบนดวงจันทร์ ขณะที่ปาล์มเล่าถึงความรักที่ไม่สมหวัง ต่างจากที่เคยเห็นในหนังทั่วไป

    ในโครงการเพลงในใจนี้ เราได้เห็นน้องๆ ถ่ายทอดมุมมองความรักในแบบของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการแอบรัก การอกหัก หรือการรอคอยความรัก ผ่านเมโลดี้หลายสไตล์ บางทีฟังแล้วก็ต้องแอบอมยิ้มให้กับความน่ารักของพวกเขาเลยละ!

3. เสียงของคนมีฝัน
    ในวัยนี้ ทุกคนล้วนมีความฝัน ฝันถึงเส้นทางในอนาคต ฝันถึงความสำเร็จในเส้นทางที่ตัวเองชอบ เพราะความฝันเปรียบเสมือนแรงกระตุ้นให้พวกเขาฝึกฝนและลงมือทำ น้ำหวาน เป็นเด็กสาววัย 16 ที่ใช้เสียงเพลงถ่ายทอดเรื่องราวของการเดินทางตามความฝัน เช่นเดียวกับน้องๆ ในโครงการอีกหลายคนที่ฝันว่าอยากเป็นศิลปิน การได้ทดลองทำเพลงในโปรเจกต์นี้ก็ถือเป็นก้าวเล็กๆ ที่ช่วยให้พวกเขามีประสบการณ์มากยิ่งขึ้น
4. เสียงกระซิบจากหัวใจ
    จะมีใครที่ฉุดเราออกจากความเศร้าได้ดีที่สุดเท่าตัวเราเอง บทเพลงของสกายเล่าถึงช่วงเวลายามค่ำคืนที่ความเศร้ามักจะผ่านเขามาทักทายเขาเสมอ และการก้าวผ่านความเศร้าด้วยตัวเอง การได้ค่อยๆ แต่งเติมท่วงทำนองในแต่ละท่อนไม่เพียงแค่พาเขาออกจากห้วงลึกของความเศร้า แต่เสียงเพลงของเขายังชวนให้ผู้ฟังมองเห็นความหมายและคุณค่าในตัวเองอีกด้วย

5. เสียงของเพื่อนผู้คอยปลอบโยน
    คงจะดีไม่น้อย หากในวันที่เศร้าและไม่มีใคร ยังมีเสียงเพลงที่คอยปลอบประโลมหัวใจเราได้ เบล นักศึกษามหาวิทยาลัยที่เคยเผชิญกับสภาวะซึมเศร้า เธอจึงแต่งเพลงที่เปรียบเสมือนเพื่อนผู้รับบทช่วยดูแลหัวใจ ถามไถ่ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับทรั้ง นักเรียนชั้นม.6 ผู้เป็นเจ้าของเพลง 'ทบทวน' บทเพลงของพวกเขาถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของการทำงานเพลง ที่ไม่ใช่แค่ทำเพื่อตัวเอง แต่เป็นการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อบรรเทาความทุกข์ของคนอื่นอีกด้วย

6. เสียงแห่งการสูญเสีย
    ในช่วงวัยนี้ น้อยคนนักที่จะมีประสบการณ์ในการรับมือกับการสูญเสีย ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ พวกเขาต่างต้องใช้เวลาในการรักษาบาดแผลในใจอยู่ไม่น้อย เพลงไม่มีเวลามากพอจึงเปรียบเสมือนตัวแทนของการระบายความรู้สึก ผ่านเรื่องราวในสายตาของเด็กมหาวิทยาลัยอย่างเอิร์ธ และเป็นสัญลักษณ์แห่งความทรงจำว่าครั้งหนึ่งเขาเคยผ่านเรื่องราวเหล่านี้มาแล้ว

7. เสียงที่ชวนให้ฉุกคิด
    ขณะที่หลายคนเลือกสร้างสรรค์เพลงที่ส่งมอบกำลังใจให้กับผู้คน เสียงเพลงของเด็กมัธยมอย่างดนตรีและแบงค์ ได้สร้างสรรค์เพลงที่ชวนให้เราฉุกคิดถึงความเป็นไปของโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นการทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ รอบตัว ไปจนถึงการตั้งคำถามถึงความสุขและความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง ตามความตั้งใจของพวกเขาที่อยากนำเสนอเพลงที่ส่งมอบพลังบวกให้กับผู้คน
8. เสียงของเพื่อนตัวจิ๋ว

    บรรยายความน่ารักของเจ้าหมาขนาดนี้ มีหรือคุณพ่อคุณแม่จะไม่ใจอ่อน! บทเพลงจากน้องๆ ในโครงการเพลงในใจไม่ได้มีแค่เรื่องราวความเศร้าหรือความสุขเท่านั้น แต่ยังมีบทเพลงที่พวกเขาแต่งขึ้นมาเพื่อสื่อสารเรื่องเฉพาะตัวกับคนใกล้ตัวอีกด้วย อย่างโจ้ นักศึกษาด้านนิติศาสตร์ ที่แต่งเพลงขอคุณพ่อคุณแม่เลี้ยงเจ้าตัวเล็กสี่ขา ถือเป็นโมเมนต์น่ารักๆ ระหว่างคนในครอบครัวที่เขาได้บันทึกความทรงจำไว้ด้วยเสียงเพลง

9. เสียงนี้เพื่อสังคม
    บทเพลงของน้องๆ ในโครงการเพลงในใจ ไม่เพียงแค่เล่าถึงเรื่องราวส่วนตัว บางครั้งพวกเขาก็ใช้เสียงเพลงเป็นกระบอกเสียงในการสื่อสารความในใจกับสังคม อย่างน้องเมี่ยวเมี่ยว ผู้มีความสนใจเกี่ยวกับดนตรีคลาสสิก เธอได้สร้างสรรค์บทเพลงที่บอกเล่าถึงภาพความฝันของสังคมแห่งสันติภาพที่เธออยากเห็นอีกด้วย
10. เสียงที่พาให้เราเข้าใจตัวเอง
    การได้ทำสิ่งที่ชอบและเป็นตัวเองในแบบที่ตัวเองภูมิใจ คงเป็นความใฝ่ฝันของทุกคน รวมถึงฉอเทียม ว่าที่อนาคตแพทย์ ผู้ชื่นชอบในเสียงเพลง และอยากสื่อสารเรื่องราวเรียบง่ายที่ใครๆ ต่างก็ต้องพบเจอในชีวิต โดยเฉพาะวัยรุ่นที่เป็นวัยแห่งการค้นหาตัวตน การได้ทดลองล้มและลุกเพื่อทำสิ่งที่ตัวเองสนใจ คงเป็นประสบการณ์ที่ช่วยให้พวกเขาเติบโต และเผชิญกับโลกในวันต่อๆ ไปได้เป็นอย่างดี

    แม้ผลงานของน้องๆ ในโครงการเพลงในใจจะสื่อสารเรื่องราวที่แตกต่างกันออกไป แต่สุดท้ายแล้ว เสียงเพลงเหล่านี้ก็พาให้พวกเขา รวมถึงผู้ฟังแบบเราเข้าใจเรื่องราวภายในใจของพวกเขา รวมถึงความในใจของตัวเรามากกว่าที่เคย

    สำหรับใครที่อยากรู้ว่า 5 เพลงที่ได้รับเลือกนั้นจะเป็นอย่างไร จะสื่อสารเรื่องราวภายในใจออกมาในรูปแบบไหน สามารถรอติดตามได้ที่เว็บไซต์ happeningandfriends.com ในสัปดาห์หน้าได้เลย!

นิษณาต นิลทองคำ

กองบรรณาธิการที่กำลังใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน ชอบคุยกับผู้คน ท้องฟ้า และเสียงดนตรี เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการฟังเพลง ที่บางทีก็ปล่อยให้เพลงฟังเรา