เมื่อไม่กี่เดือนก่อน ทีม happening ได้มีโอกาสไปร่วมงาน Debut Talk by TCDCCONNECT ที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ TCDC บางรัก และได้พบกับ ภา-ภาวิษา มีศรีนนท์ ดีไซเนอร์สาวผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบลายผ้าให้แก่สินค้าแบรนด์ดังๆ มาแล้วมากมาย ในเวลาอันแสนจำกัด เธอได้เล่าประสบการณ์การทำงานและผลงานที่เคยทำอย่างรวบรัดเข้าใจง่าย พร้อมกับโชว์สไลด์ภาพผลิตภัณฑ์บางส่วนที่ทำให้ใครหลายคนรวมถึงเราชื่นชม
ไม่นานหลังจากวันนั้น เราได้นัดพูดคุยกับเธอที่คาเฟ่ย่านเอกมัย หญิงสาวผู้มีคาแรกเตอร์ชัดเจนปรากฏตัวในชุดกระโปรงและเครื่องประดับกรุยกราย บ่งบอกได้ถึงรสนิยมความชอบของเธอได้เป็นอย่างดี ดีไซเนอร์ตัวเล็กคนนี้จบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขานิเทศศิลป์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งในช่วงที่เรียนอยู่ เธอก็ได้มีโอกาสฝึกงานกับหลายแบรนด์ดัง หนึ่งในนั้นคือ แบรนด์แฟชั่น Issue ซึ่งนั่นถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตเธอก็ว่าได้
"ตอนฝึกงาน เราได้เป็นผู้ช่วยเขา แต่พี่โรจน์ (ภูภวิศ กฤตพลนารา) เห็นว่าเรามีศักยภาพพอ น่าจะลองไปทำอะไรสักอย่างได้เลย เขาก็จ้างเราให้ไปทำงานตอนนั้น ซึ่งเราอยู่ปี 3 เอง ก็ตกใจที่เขาให้เราทำ แต่มันก็เป็นโอกาสที่ดีมาก เราได้ไปเปิดตัวและขายในงาน ELLE Fashion Week ของปีนั้น เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ ผลตอบรับคือขายดีมากจนสื่อสนใจ เขาก็เลยเรียกเราไปสัมภาษณ์ หลังจากนั้นคนก็เริ่มรู้จักเรา ติดต่อเราผ่านทางนิตยสารบ้าง ทางเพจบ้าง ก็เลยได้ทำงานในวงการนี้มาเรื่อยๆ"
แรกเริ่มเธอเริ่มต้นทำงานกับบริษัทแห่งหนึ่ง จนสุดท้ายก็ออกมาเป็นฟรีแลนซ์และรับงานตามโจทย์ที่ลูกค้าต้องการ ซึ่งสโคปงานที่ภาทำจะเป็นแนวแฟชั่นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นลายผ้าหรือโปรดักต์ที่เกี่ยวกับรองเท้า กระเป๋า หรือเสื้อผ้า ลายเซ็นอันโดดเด่นของ PABAJA คือการประยุกต์ศิลปะหลายแขนงเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นงานวาด ร้อยลูกปัด ถักเชือก หรือปักลาย สาวดีไซเนอร์ของเราจะหยิบจับศาสตร์เหล่านี้มาผสมรวมกันให้เกิดเป็นงานคราฟต์สีสันสดใสตามแบบฉบับของเธอจนหลายคนรู้ได้ทันทีว่าผลงานชิ้นไหนเกิดจากฝีมือการออกแบบของภา
เป็นเวลากว่า 5 ปีที่นักออกแบบหญิงฟรีแลนซ์ได้ออกมาโลดแล่นสร้างลายผ้าและอยู่เบื้องหลังผลิตภัณฑ์แฟชั่นกว่าหลายสิบชิ้น ไม่ว่าจะทำให้แบรนด์ชื่อดังระดับประเทศหรือโปรเจกต์ OTOP โกอินเตอร์ของกระทรวงพาณิชย์ ผลงานของเธอวางขายทั้งที่ไทยและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น โอมาน หรือมาเลเซีย ซึ่งขณะนี้เธอก็กำลังทำงานร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เพื่อเตรียมขยายกลุ่มลูกค้าต่างประเทศให้กว้างขวางและหลากหลายขึ้นนั่นเอง
ครั้งนี้ เราจึงชวนเธอมาเลือกและเล่าถึง 10 ผลงานฝีมือการออกแบบที่ตัวเธอเองประทับใจ ซึ่งนอกจากจะมีรายละเอียดของลายและดีไซน์ที่สวยงามสร้างสรรค์แล้ว เธอยังเล่าถึงประสบการณ์ทำงานแต่ละชิ้นได้สนุกและน่าสนใจไม่แพ้กัน มาดูกันดีกว่าผลงานจำนวน 10 ชิ้นที่ดีไซเนอร์ลายผ้าร่วมสมัยคนนี้เลือกมา มีลายอะไรกันบ้าง
1. คอลเล็กชัน Spring & Summer - แบรนด์ ISSUE (2011)
"เราเลือกชิ้นนี้เพราะเป็นลายที่ทำให้กับ Issue ตอนที่ฝึกงานอยู่ เป็นอันที่เปิดตัวเราขึ้นมา ทำให้รู้ว่าเราชอบอะไร ไม่ชอบอะไร และคนเขาชอบอะไรในตัวเรา เป็นงานแรกที่ภูมิใจมาก เพราะว่าตอนนั้นยังเด็ก แต่เรามีโอกาสได้ทำแบรนด์ใหญ่ แล้วก็เป็นความฝันอย่างหนึ่งที่เราอยากทำด้วย ถือว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จ ทำให้เราเป็นที่รู้จัก"
2. LYN REFLECTION SPRING-SUMMER 2016 Folktale Pattern Collection (2016)
"ชิ้นนี้เป็นกระดาษฉลุ เพราะ LYN ต้องการทำเป็นคอนเซปต์ Folk Art ทีนี้เราก็เป็นคนชอบงานคราฟต์ (Craft) อยู่แล้ว เพราะงั้นเลยคิดว่าจะนำงานคราฟต์มาผสมกับงานแพตเทิร์นดีไซน์ (Pattern Design) คือมองลงไปจะเป็นสองมิติ แต่เราจะเล่นแสงเงาให้มันกลายเป็นงานสามมิติ โดยเราจะฉลุกระดาษขึ้นมาก่อนแล้วสแกนเข้าไป แล้วค่อยดราฟต์งานตามลายกระดาษนั้น จากนั้นทำเป็นเลเยอร์ซ้อนๆ กัน ก็จะกลายเป็นงานสามมิติขึ้นมา พอมองแล้วจะเหมือนกับงานตัดกระดาษ คนก็ตื่นเต้นว่าเราทำได้ยังไง เพราะมันแปลกใหม่มาก"
3. Thai Embroidery Tribal, Arkha (2015)
"เป็นงานที่ทำให้กับ OTOP โกอินเตอร์ เป็นของชนเผ่าอาข่า ตอนแรกพวกเขาทำขายที่เชียงใหม่ ซึ่งขายยากและราคาถูกมาก เราก็ดีไซน์ใหม่ เปลี่ยนสี เปลี่ยนกราฟิก จริงๆ ลายอาข่าก็มีสไตล์ของเขาเองอยู่แล้ว เราไม่สามารถเปลี่ยนกราฟิกเขาใหม่ได้ทั้งหมด มันจะกลายเป็นว่าไม่ใช่ชนเผ่าอาข่า เพราะพื้นฐานของลายเขาคือการใช้เรขาคณิตมาผสมกันจนเกิดเป็นลาย เราเลยดัดแปลงให้กลายเป็นแบบสีสันเพื่อให้มันดูสนุกขึ้น เป็นวัยรุ่นมากขึ้น แล้วก็ใช้ดอกบัวตองปักลงไปเป็นกิมมิกเล็กๆ ที่บ่งบอกถึงตัวตนของชาวอาข่า
"ชิ้นนี้ค่อนข้างประสบความสำเร็จมาก เพราะว่าเปลี่ยนไปจากภาพผ้าไทยๆ ที่นำมาทำเป็นผ้าถุง และใช้เวลาในการทำนาน เราก็นำมาดัดแปลง ปรับแค่บางส่วนให้ดูเบาขึ้น ขายง่ายขึ้น เปลี่ยนสีสันใหม่หมด จากสีที่ไม่เคยทำมาก่อนอย่างสีพาสเทล ก็ย้อมตั้งแต่เส้นด้ายจนกลายเป็นตัวนี้ขึ้นมา ชิ้นนี้ก็ขายที่ญี่ปุ่นเหมือนกัน เขาเห็นก็คาวาอี้ เพราะสีมันน่ารัก แล้วรู้สึกว่าจะขายได้ในไทยและต่างประเทศอย่างยุโรปด้วย เราก็ดีใจเพราะรู้สึกว่ามันไม่ตันแล้ว ทีแรกชาวอาข่าเขาท้อว่าเขาจะทำต่อดีไหม งานฝีมือแบบนี้ ขายไม่ได้ ราคาก็ถูก จนเราเปิดโอกาสให้เขาไปขายที่ต่างประเทศ มันก็แปลก แถมประสบความสำเร็จเสริมรายได้ให้เขา ชาวอาข่าก็มีกำลังใจในการทำงานมากขึ้น"
"ในโปรเจกต์เดียวกัน ก็มีที่ชอบอีกชิ้นนึงคือหมวกกะปิเยาะห์ ตอนแรกหมวกนี้เป็นหมวกในกลุ่ม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พอได้โจทย์แล้วก็ตกใจ เพราะตอนนั้นสถานการณ์ทั้ง 3 จังหวัดไม่ค่อยดี เราก็คิดแค่ว่าจะทำไงดี ตอนนั้น ใจไม่กลัวอะไรเลย คิดแค่ว่าจะไปทำยังไงให้เขาประสบความสำเร็จ เพราะด้วยความที่เขาอยู่ในจังหวัดที่เสี่ยงแล้วขายอะไรไม่ได้ บวกกับช่วงนั้นเศรษฐกิจแย่ เราเลยอยากเข้าไปช่วยเปลี่ยนแปลง
"จากหมวกกะปิเยาะห์ที่เป็นกลุ่มแม่บ้านในจังหวัดยะลาทำกันอย่างเดียว เขาก็บอกว่าเขาขายไม่ได้แล้ว เพราะสู้เครื่องจักรไม่ได้ หมวกที่ทำจากเครื่องจักร ราคา 80 บาท แต่เขาทำมือขายอยู่ 120 บาท แล้วถ้าคนไม่ได้ใส่ใจว่าจะต้องเป็นงานปักฝีมือหรือเปล่า เขาก็ไม่สนใจอยู่แล้ว แค่เอามาใส่ตามศาสนาเท่านั้นเอง ที่สำคัญ ใส่ได้เฉพาะผู้ชายด้วย เด็กวัยรุ่นสมัยใหม่เขาก็เริ่มไม่นิยม จะใส่เฉพาะช่วงเทศกาลและใส่เข้าไปละหมาด มันจึงขายยากสุดๆ เขาเลยไปตีตลาดอินโดนีเซียแทน แต่ก็สู้เครื่องจักรไม่ได้อยู่ดี เพราะฉะนั้น ก็ต้องมาคิดว่าจะทำยังไงให้มันแตกต่างจากที่เขาเคยทำ ลวดลายต้องใหม่ก่อน เพราะว่าเขาปักแต่แบบเดิมๆ เพราะอันนี้เป็นการวิ่งจักร คือควบคุมลายด้วยมืออีกที ซึ่งมันละเอียดมาก"
"อย่างหมวกแบบดั้งเดิม ค่อนข้างเป็นลายที่เป็นมุสลิมมากๆ แล้วหมวกมุสลิมจะไปขายที่ประเทศญี่ปุ่น เราจะทำยังไงได้บ้าง ทำหมวกเหมือนเดิมดีไหมหรือจะทำแบบอื่น เพราะผ้าและวัสดุที่เขาใช้มันมีความมันเงาและบาง เราต้องเปลี่ยนตั้งแต่วัสดุเลย โปรดักต์เป็นแฟชั่นไลฟ์สไตล์ใช่ไหม เพราะฉะนั้นเปลี่ยนเป็นเซตกระเป๋าก็แล้วกัน แต่ผ้าที่ใช้อยู่ก็ใช้ไม่ได้ เพราะเป็นผ้าป่าน เนื้อผ้าเลื่อมๆ ก็ต้องเปลี่ยนวัสดุ แต่วัสดุก็ต้องเป็นของชุมชน เพราะถ้าเราไปซื้อในกรุงเทพฯ มันจะแพงและลำบาก เราก็ซ้อนมอเตอร์ไซค์กันไปกับคุณป้า หาวัสดุกันสนุกมาก แล้วเราก็ได้ผ้าที่เอาไว้ตัดชุดข้าราชการ ชุดทหาร มีหลายสีเลย เห็นว่าผ้าชนิดนี้มีความทนทาน น่าจะเอามาปักได้ ก็เปลี่ยนลวดลายและดีไซน์ใหม่
"เวลาเราดีไซน์ลายก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากลายดั้งเดิม แล้วก็ต้องคำนึงถึงเวลาปัก เขาจะปักยังไง ลายที่ทำมันจะต้องไม่พลิกไปเลย ต้องมีกลิ่นอายของความเป็นมุสลิมนิดๆ แต่ก็ไม่ใช่เป็นมุสลิมจ๋า เดี๋ยวคนทั่วไปจะไม่ใช้ โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่วัฒนธรรมเขาแข็งแรงมาก แล้วเขาก็ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามเป็นหลัก ก็ต้องเปลี่ยนลายใหม่ให้มีความกราฟิกมากขึ้น ทดลองกันเยอะมาก พังไปไม่รู้กี่อัน ปกติทำเป็นทรงกลม ถ้าให้เขาเปลี่ยนเป็นทรงอื่นเลย เขาก็ไม่เก็ต ก็เลยต้องทำทรงพื้นฐานที่เขาทำได้ เช่น กระเป๋าทรงกลม หรือดัดแปลงให้กลายจากทรงกลมเป็นทรงอื่นได้ มันท้าทายและซับซ้อนมาก เราก็เลยรู้สึกดีใจที่ได้ทำ แล้วก็เป็นโปรเจกต์ที่เขาชมมาว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ต่อยอดธุรกิจของเขาและส่งออกได้"
5. Knitting Maeon (2015)
"ชิ้นนี้ก็เป็นของ OTOP โกอินเตอร์อีก ไปมาเกือบครบทุกจังหวัดแล้ว แต่ชิ้นนี้เป็นของจังหวัดเชียงใหม่ ปกติทำเป็นผ้าปูโต๊ะ ซึ่งปัจจุบันคนไม่นิยมผ้าปูโต๊ะแล้ว เรารู้สึกว่ามันเชย ล้าสมัย จะใช้แค่เฉพาะแม่บ้าน เด็กรุ่นหลังแทบไม่รู้จัก ก็เลยขายยากมาก เพราะฉะนั้นเขาก็เลยขอให้เราช่วยว่าจะทำยังไงให้มันขายได้ เราก็เป็นดีไซเนอร์ที่อยู่ในกลุ่มแฟชั่นไลฟ์สไตล์ ก็จับคู่กันว่าจะดัดแปลงเป็นสินค้าแฟชั่นอย่างกระเป๋า เราก็ต้องนำตัวลายพื้นฐานเขามาทำเป็นลายที่ง่ายขึ้น อย่างปกติผ้าปูโต๊ะผืนนึงทำเป็นเดือนแต่ขายได้ครั้งเดียว ทำให้ชุมชนเขาไม่มีรายได้หมุนเวียน เราก็เลยต้องทำยังไงก็ได้ให้มันง่ายขึ้นแต่ว่าดูยาก เช่น เปลี่ยนลายให้ดูง่ายขึ้น ถักถ่างขึ้น จากปกติที่ถักถี่ๆ และเปลี่ยนสีใหม่ ทำให้ดูยาก จะได้สู้เครื่องจักรได้ เพราะว่าอย่างจีนเขาคีย์เข้าคอมพิวเตอร์แล้วก็ถักออกมา แต่ของเราจะมีเทคนิคบางอย่างที่เครื่องจักรทำไม่ได้ ซึ่งเป็นเทคนิคส่วนตัวของคุณป้า เราก็นำมาดัดแปลง เพราะเวลาถักๆ เปลี่ยนสีปุ๊บ มันจะดูซับซ้อนแต่ว่าเร็วขึ้น เพราะว่าไม่ต้องถักถี่อีกแล้ว และก็ใช้วัสดุที่น่าสนใจทับซ้อนลงไป
"ปกติเดือนนึงเขาถักได้หนึ่งผืน แต่นี่เขาถักได้ประมาณ 5 ใบ คือทำให้มันเร็วขึ้น อย่างอันนี้ 800 บาท พอเอาไปขายปลีกราคาขึ้นเป็น 1,600 บาท อัพราคาได้อีกเท่านึง แล้วกลุ่มวัยรุ่นชอบมาก รวมถึงวัยรุ่นของไทยด้วย www.shopspotapp.com เว็บไซต์ขายของออนไลน์วัยรุ่น เขาก็สนใจขอนำไปขาย จากงานที่ใกล้จะตายและเชยไปแล้ว วัยรุ่นก็หันมาสนใจมัน สำเร็จตามเป้าหมายที่เขาต้องการกระตุ้นให้วัยรุ่นกลับมาสนใจงานฝีมือมากขึ้น"
"เราลงพื้นที่ไปดูผ้าทอลายน้ำไหล พอเราเห็นภาพก็คือมีแค่นี้ เพราะว่าเขาทอผ้าใหม่ไม่ได้ มันยุ่งยาก สี่เดือนในโปรเจกต์เขาทำไม่ทัน เราก็เลยไปเลือกผ้าที่เขามี เป็นลายน้ำไหลที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดน่าน แต่ว่ามันมีผ้าผืนหนึ่งเป็นแบบอินดิโก้ (Indigo) เพราะว่าเขาย้อมคราม เป็นตัวทดลอง แต่ราคาแพงมาก เมตรนึงตก 1,600 บาท ก็เลยคิดว่าถ้าเรานำทั้งผืนมาตัดเป็นกระเป๋าหรือโปรดักต์ ราคาจะขนาดไหน ก็เลยต้องเอาเศษผ้าที่ไม่ใช่ทั้งผืนมาทำเป็นโปรดักต์ ราคาเลยถูกลง
"วิธีการคือเรานำมาตัดต่อ เพราะเขาไม่ยอมทอใหม่บวกกับราคาแพง เราจึงต้องตัดต่อเข้ากับวัสดุอื่น แล้วลายมันก็ดูมีความแมน แต่ถ้าดูเป็นผืนๆ จะไท้ยไทย หลายคนก็งงว่าทำไมเราเลือกผืนนี้มาทำ เพราะมันดูไทยมาก แต่พอมองแล้วเรารู้สึกว่ามันญี่ปุ่น ทั้งลาย ทั้งสี แล้วลายน้ำไหลมันมีความเป็นอเมริกันอินเดียน (American Indian) เพราะจะมีกลุ่มแฟชั่นชาวญี่ปุ่นทั้งผู้หญิงผู้ชายชอบสไตล์นี้ เป็นอินดิโก้ ใช้สีย้อมคราม ตอนนั้นเป็นที่นิยมด้วย ก็เลยทำออกมาเป็นแบบนี้ ตัดต่อผ้า ทำกระเป๋าออกมาราคาก็ถูกลง ไม่ต้องใช้ผ้าทั้งผืน"
"ตอนนี้เขาประสบความสำเร็จมาก จนได้ออกอายุน้อยร้อยล้าน ตอนแรกที่คุยกับเจ้าของ เขาก็อยากออกเป็นลายน่ารักๆ แต่พอเจอเรา เขาก็อยากประยุกต์ลายให้เหมาะกับวัยทำงานมากขึ้น ขายได้กว้างขึ้น ไม่ใช่แค่ผู้หญิงหวานๆ อย่างเดียว แล้วเราก็ไม่ใช่สาวหวาน เราชอบอะไรเยอะๆ แมกซิมัม (Maximum) มีพลังๆ แล้วอันนี้ออกช่วงวันแม่พอดี ลูกค้าอยากให้ทำเป็นพวงมาลัย เราก็ทำเป็นลายผ้า เป็นผ้าพันคอและเครื่องประดับ จะใส่อยู่บ้านหรือออกงานก็ได้ เลยกลายเป็นจิเวลรี่ เพราะพวงมาลัยมันมีเคิร์ฟ ถ้าพับขึ้นปุ๊บเป็นสร้อยเลย เราก็นำอัญมณีเล็กๆ เรียงต่อกัน ดูไกลๆ เป็นพวงมาลัย ดูใกล้ๆ จะเห็นเป็นอัญมณี เหมือนเพชรพลอยต่างๆ อยู่บนลายผ้า เราไม่อยากให้มันเป็นแค่ผ้าพันคอสี่เหลี่ยม แต่อยากให้มันมีค่ามากกว่านั้น แล้วลายนี้ก็ขายดีมากๆ ตอบโจทย์ที่ทำไปให้คุณแม่ นอกจากนี้คุณลูกก็ยังใช้ได้เหมือนกัน คล้ายกับเป็นของขวัญที่แสนพิเศษ"
"แรงบันดาลใจมาจากวัดโพธิ์ เป็นของแบรนด์ Sasitanatscarf พอดีเจ้าของเป็นรุ่นพี่ของเรา แล้วก็เคยคุยงานกันมาก่อนว่าอยากทำโปรเจกต์อะไรบางอย่างร่วมกัน วันหนึ่งเขาก็มาบอกว่าอยากทำผ้าพันคอที่เป็นไทยประยุกต์ ไม่ใช่ไทยจ๋า พี่เขารู้ว่าเราชอบงานไทยๆ อยู่แล้ว ก็เลยคิดว่าน่าจะทำได้ เราเองก็เป็นนักออกแบบให้กับแบรนด์นี้ เขาส่งออกให้หลายที่เลย ตอนนี้ก็เริ่มตีตลาดญี่ปุ่น แล้วก็ไปโอมาน ตอนแรกเราก็เกร็งๆ ว่างานไทยจะไปอยู่ประเทศศาสนาจัดๆ ได้ไหม แรกๆ เราก็เลยต้องเลือกลายไป แล้วลายนี้เราก็ลงไปศึกษาที่วัดโพธิ์ ไปถ่ายรูป ไปพิจารณาว่าจะเอาลายนี้มาทำเป็นลายผ้ายังไง ทำผ้าพันคอยังไง
"ปกติส่วนตัวเราก็ชอบวัดโพธิ์อยู่แล้ว ไปเที่ยวทีไรก็ไปถ่ายรูป และก็คิดว่าต้องมีลูกค้าสักคนสิที่ชอบวัดโพธิ์เหมือนเรา อยากเอามาทำเป็นแฟชั่น ก็เลยไปเสนอลูกค้า ลูกค้าบอกว่าอยากทำอะไรทำเลย เพราะเขาไม่ได้ซื้องานออกแบบ แต่เขาซื้องานศิลปะ คุณคือศิลปิน คุณทำงานมา เราก็ซื้องาน เขาแทบไม่แก้งานเราเลย ดีใจมากที่เจอลูกค้าแบบนี้ แล้วพอโพสต์ลงแฟนเพจ ก็แชร์กันไปทั่ว กลายเป็นว่าคนไทยก็นิยม ทำให้เแบรนด์นี้เป็นที่รู้จัก
"ตอนออกแบบ เราดีไซน์เป็นลายกระเบื้องวัดโพธิ์ เพราะเราทำเลียนแบบกระเบื้อง ถ้ามาดูชัดๆ งานจะละเอียดมาก เพราะเราถ่ายซูมมาทำกราฟิกเลียนแบบเลย ลายหรือสีเราก็เอามาจากของจริงทั้งหมด ก็จะหวานๆ สำหรับผู้หญิง แต่ถ้าเราเอามาพลิกสีใหม่ปุ๊บ เท่ทันที เราเองก็เอามาแต่งตัวบ่อย เพราะถ้าแต่งตัวเรียบๆ แล้วเอาผ้าพันคอมาผืนเดียวก็อยู่แล้ว"
"แบรนด์ Mais Mais เป็นแบรนด์ที่เราชอบ เขาทำเกี่ยวกับกระเป๋าและเครื่องประดับ ขายที่สถานีรถไฟฟ้า จริงๆ มีหลายลายที่ทำให้ แต่นี่เป็นลายที่เราชอบ เขาให้โจทย์คือทำยังไงก็ได้ให้ลายกรุงเทพฯ สามารถขายได้ทั้งผู้หญิงผู้ชาย ขายได้ทั้งจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ทุกชาติต้องชอบลายนี้ เพียงแต่ต้องดูไทย เราก็คิดเลยว่ามันต้องมีความกราฟิกมาก เท่ ร่วมสมัย สวยงาม และน่ารักก็ได้ ก็เลยออกมาเป็นลายนี้ พยายามคิดให้ดูกลางๆ มันเลยออกมาเป็นลายเส้นที่ละเอียด เป็นวัดพระแก้ว เอเชียทีค ยักษ์วัดโพธิ์ ยักษ์วัดแจ้ง เอาเรือด่วนเจ้าพระยามา มีความผสมกันของกรุงเทพฯ เพราะเป็นลายเปิดตัวให้กับแบรนด์ Mais Mais เนื่องจากเขาเน้นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ก็เอาวัฒนธรรมไทยๆ มาเล่นกัน ค่อนข้างประสบความสำเร็จ ลูกค้าชาวจีนชอบมาก เพราะทีแรกเรากลัวว่าชาวต่างชาติจะไม่ชอบ ก็ใส่รถตุ๊กตุ๊กเข้าไป มีทั้งผ้าพันคอและแพตเทิร์น ก็ทำให้แบรนด์ Mais Maisเป็นที่รู้จัก"
"ได้รับโจทย์มาว่าให้ทำแพตเทิร์นลายผ้าจากเพลงพระราชนิพนธ์ ตอนเราได้ก็คิดเลยนะว่าจะทำยังไงดี ฟังเพลงวนไปวนมา เราไม่อยากทำลายผ้าเพลนๆ เราอยากทำเป็นงานคราฟต์อย่างที่เราชอบ ก็เลยทำลายผ้าให้เหมือนลายทอ พอนึกถึงลายทอ เราจะนึกถึงกราฟิก แล้วก็จะนึกถึงไทโปกราฟี (Typography) เนื้อเพลง ต่อยอดมาเรื่อยๆ เลยทำเป็นมายด์แม็ป (Mind map) เนื้อเพลงไง เป็นตัวอักษร เอามาจัดเป็นลายผ้าได้ จัดบล็อกเป็นตัวอักษร คล้ายๆ ลายผ้า มันจะออกมาคล้ายผ้าทอ มองผ่านๆ เหมือนผ้าทอลาย แต่จริงๆ แล้วเป็นตัวอักษร เป็นภาพพิมพ์ลงบนผ้าแจ๊กการ์ด (Jacquard) มันมีเท็กซ์เจอร์ เวลาเราเอาลายกราฟิกมาพิมพ์ มันจะเหมือนผ้าทอ เป็นการเซอร์ไพรส์ลูกค้าที่คุณได้ซื้องานในราคาที่ถูก แต่ดูแล้วเหมือนใช้วัสดุแพง"
"ที่เรานำมาใช้คือเพลงยิ้มสู้ เพราะเหมือนในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านส่งข้อความให้ประชาชน ให้ทุกคนยิ้มสู้ไม่ว่าจะเกิดปัญหาใดๆ ก็ตาม ซึ่งข้อความตัวนี้ทำให้เรานึกถึงข้อความ SMS ซึ่งจะมีภาพอะไรแบบนี้ มันจะวางเป็นจุดๆ ซึ่งจุดพวกนี้ก็มีความคล้ายผ้าทออีกเหมือนกัน เราก็เลยเอาบล็อกตรงนั้นมาใส่เป็นลายในผ้า มันจะสลับซับซ้อนและสนุก เกิดจากการตีโจทย์จากเพลงแล้วเอามาทำเป็นลายผ้า ซึ่งถ้านำไปส่ง SMS จะทำได้ทั้งหมด เพราะเราก็ลองส่งและสร้างลายขึ้นมาในโทรศัพท์ แคปเจอร์มาแล้วทำเป็นลายกราฟิกเสนอลูกค้าอีกที ลูกค้าก็จะมองว่าเราคิดได้เนอะ รวมถึงเราเองก็โชคดีที่ลูกค้ามักจะเปิดรับ เขามองว่าถ้าเราคิดได้ มันก็ต้องทำได้ ก็คิดมาขนาดนี้แล้ว"
12617 VIEWS |
นักเขียนและกองบรรณาธิการที่พบเจอตัวได้ตามหอศิลป์และร้านหนังสือ ชอบกินแซลมอนและชาบู อยากแก่ไปเป็นคุณป้าใจดีและมีฝูงแมวห้อมล้อม