ภาพเสือดำแห่งทุ่งใหญ่ฯ สะท้อนเสียงจากใจเหล่าศิลปิน

    ข่าวเหตุการณ์สังหารเสือดำที่ทุ่งใหญ่นเรศวรอยู่ในความสนใจของสังคมมาแล้วระยะหนึ่ง เหตุการณ์นี้ดูจะกระทบกับความเชื่อมั่นในบ้านเราหลายๆ อย่าง ทั้งเรื่องความยุติธรรม เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องมนุษยธรรม ไปจนถึงความเท่าเทียม แต่คดีก็ดูจะคืบหน้าไม่ทันใจและไม่ถูกใจประชาชนนัก และเมื่อเวลาผ่านไป ก็ดูเหมือนจะมีเรื่องราวข่าวสารใหม่ๆ มากลบประเด็นนี้อยู่เรื่อยๆ

    เพราะเราเชื่อว่าศิลปะเป็นเรื่องสำคัญ และสามารถสื่อสารในประเด็นใหญ่ๆ บวกกับที่เราก็เป็นสื่อมวลชนรายหนึ่งที่ไม่อยากให้คดีนี้ถูกหลงลืมกันไปอย่างง่ายดายท่ามกลางกระแสข่าวใหม่ๆ ที่มีมาทุกวัน happening จึงทดลองชักชวนศิลปินและกราฟิกดีไซเนอร์หลายคนมาร่วมแสดงออกถึงความคิดเห็นและความรู้สึกผ่านเหตุการณ์นี้ โดยเราให้โจทย์กว้างๆ ว่าโปรเจกต์นี้จะชื่อว่า #WeAreBlackPanthers และให้ทุกท่านวาดภาพขนาด 700x700 พิกเซล ส่งกลับมาให้เรา (บางท่านก็มีภาพที่วาดไว้อยู่แล้ว)

    ศิลปินที่ถูกเราชวนมีทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นใหม่ บางรายเป็นศิลปินระดับประเทศ บางรายเป็นเจ้าของแบรนด์ดีไซน์รุ่นใหม่ที่เคยออกสู่สายตาชาวต่างชาติมาแล้ว หลังจากเราโพสต์ภาพชุดแรกออกไปทางเพจเฟซบุ๊ก  happening mag  และประกาศชวนเหล่าศิลปิน กราฟิกดีไซเนอร์ และบุคคลทั่วไป ให้มาร่วมแสดงมุมมองผ่านผลงานศิลปะพร้อมติดแฮชแท็ก  #WeAreBlackPanthers เพิ่มเติม เหล่านี้คือผลงานของพวกเขาเหล่านั้น...


ยุรี เกนสาคู
ศิลปินไทยที่มีงานแสดงเดี่ยวหลายครั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ

แนวคิด:
ต่อให้เป็นสัตว์ดุร้ายแค่ไหน อยู่ในเทพนิยายอะไร มนุษย์ตัวน้อยก็สามารถอยู่เหนือพวกมันได้อยู่ดี

'เสือร้องไห้' (Crying Tiger and the Little Commander)
ปี 2016, 151 x 141 cm
Acrylic, Oil, Glitter, Silver Leaf, Copper Leaf, Collage on Canvas



ณัชณิชา แก้วมังกร
เจ้าของแบรนด์ Monsty Planet

แนวคิด:
'Why…animal?'
ในโลกนี้มีคำถามมากมายที่ไม่มีคำตอบ หนึ่งในนั้นคือเสือดำมีความผิดอะไร? มันผิดที่ดุร้าย หรือมันผิดที่ไว้ใจมนุษย์มากเกินไป?



ชัยวัฒน์ อุทัยกรณ์
เว็บมาสเตอร์ happeningandfriends.com หนึ่งในผู้ก่อตั้งแบรนด์ ease around

แนวคิด:
ลองเปลี่ยนรูปแบบเสือดำที่ทุ่งใหญ่ฯ ให้อยู่ในร่างของเด็กหนุ่มรักสงบ ที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนกับเราๆ ที่กำลังดูภาพนี้อยู่ อาจทำให้เราเข้าใกล้ 'หนึ่งชีวิตที่ถูกพราก' จากเราไปอย่างโหดเหี้ยมและไร้เหตุผลนี้มากขึ้น



กีรติ เงินมี
บรรณาธิการศิลปกรรม นิตยสาร happening และเว็บไซต์ happeningandfriends.com

แนวคิด:
R.I.P. ไว้อาลัยให้กับการสูญเสีย ด้วยการออกแบบตัวอักษรด้วยชิ้นส่วนร่างกายเสือดำโดยใช้เทคนิคภาพพิมพ์ Wood Cut



ชนิดา วรพิทักษ์
ศิลปิน เจ้าของแบรนด์ Cuscus The Cuckoos

แนวคิด:
รูปนี้วาดล่วงหน้าหลายเดือนแล้ว แต่ต้องการวาดออกมาเพราะชอบความงามของเสือดำ ตัวนี้มีตัวจริงอยู่ในสวนสัตว์เบอร์ลิน เด็กๆ และนักศึกษา คนทั่วไปได้เฝ้าดูการใช้ชีวิตหลังลูกกรงเหล็กแบบชัดๆ และใกล้ๆ เราเจอห้องนั่งเล่นขนาดใหญ่ ใหญ่แบบวิ่งวนได้เลย มีลูกบอล บ่อน้ำ กระดูกขนาดใหญ่ไว้แทะเล่นทั้งวัน ต่างจากบ้านเรามากๆ เลยรู้สึกเศร้าใจและอยากให้คนสนใจสัตว์เหล่านี้มากขึ้น การใส่ใจสัตว์ป่ามันเรื่องใหญ่ นอกจากพ่อจะทำงานที่กรมป่าไม้แล้ว คือเราชอบตั้งแต่จำความได้ เรื่องนี้มันยังบอกได้ถึงความเจริญทางจิตใจของคนประเทศนั้นๆ ด้วย



Decembell หรือ เบล-กนกนุช ศิลปวิศวกุล
ผู้ร่วมก่อตั้ง PRACTICAL Design Studio, อาจารย์และวิทยากรพิเศษบรรยายให้กับมหาวิทยาลัยและองค์กรต่างๆ, เจ้าของเวิร์กช็อปเกี่ยวกับการห่อของขวัญ Wrap It, ภัณฑารักษ์ และศิลปิน

แนวคิด:
เราถูกจับตา (จ้องมอง) จากการกระทำ (กรรม) ของเราเอง


ธวัชพงศ์ ตั้งสัจจะพจน์
แอนิเมเตอร์ นักวาดการ์ตูน เจ้าของหนังสือ 'รอยยิ้มของพ่อ'

แนวคิด:
จริงไหมที่คนไทยลืมง่าย?



สุวิมล พงษ์สัมฤทธิ์
ศิลปิน เจ้าของแบรนด์ Kiddodog, ฝ่ายการตลาดและครีเอทีฟ เว็บไซต์ happeningandfriends.com

แนวคิด:
อยากให้ภาพออกมาดูเหมือนหน้าหนึ่งในนิทานสอนใจ ในภาพจะมีต้นไม้ที่กำลังจะตาย โอบประคองโดยมนุษย์และมีสายตาของเสือดำที่เฝ้ามองอยู่ เราอยากให้มนุษย์ในภาพดูเป็น Hope เป็นความหวัง มีผ้าปิดตาซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ Lady Justice เสือดำเป็นตัวแทนของสิ่งมีชีวิต สิ่งแวดล้อมที่โดนทำลายโดยมนุษย์ สัตว์ที่โดนล่า เราคงทำให้เสือดำฟื้นคืนมาไม่ได้ แต่ว่าอนาคตชะตากรรมของป่า มันก็อยู่ในมือของมนุษย์ว่าเราเลือกที่จะปกป้องหรือทำลาย ตั้งชื่อภาพว่า 'A real human being. And, a real hero.' มาจากเพลง A Real Hero ของ College โดยเพลงมีเนื้อหาถึงคนที่ Rise up ลุกขึ้นยืนหยัดขึ้นมาจากโศกนาฏกรรมและดิสโทเปีย เรามองว่าแค่เรามีความเป็นมนุษย์ เราเห็นคุณค่าของชีวิตอื่นว่าเท่าเทียมกัน มีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองทำ แค่นั้นเราก็เป็นฮีโร่แล้ว ไม่ใช่ชื่อเสียงหรือเงินทองอะไรเลย



ธิดารัตน์ ศิวะบูรณ์
ฝ่ายศิลปกรรม นิตยสาร happening และเว็บไซต์ happeningandfriends.com

แนวคิด:
'Tarot's card of death black panther and murderer of forest'
Not about fortune telling, it isn't unlucky but it's really happened and going to disappear.



สรวิศ ประคอง
เจ้าของแบรนด์ Sorravis P.

แนวคิด:
สิ่งเดียวที่ผมรับไม่ได้คือ คุณเป็นอีกหนึ่งคนที่ตอกย้ำความเคยชินผิดๆ ที่ก่อตัวอยู่ในประเทศนี้ขึ้นมาอีกครั้ง การยอมรับผิด หรือแค่รับผิดชอบการกระทำนั้นคงเป็นเรื่องยากเกินไปใช่ไหม?



สุรัติ โตมรศักดิ์
นักออกแบบ เจ้าของสตูดิโอเล็กๆ ชื่อ Try2benice

แนวคิด:
มีสิ่งหนึ่งที่คนมีฐานะในบ้านเราสามารถใช้แทนที่การกระทำความผิดได้จนเป็นเรื่องปกติธรรมดา สิ่งนี้เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ทำให้ทุกอย่างเงียบ และประชาชนเงิบ




วลัยกร สมรรถกร (ต้องการ)
นักวาดสีน้ำออร์แกนิก

แนวคิด:
เรื่องเสือดำส่งผลกับประเทศในหลายมิติ ประชาชนไม่อยากให้เรื่องเงียบหายไปง่ายๆ จึงวาดรูปเสือดำด้วยลายเส้นดินสอและสีน้ำจากธรรมชาติ ซึ่งวาดเป็นรูปเสือดำที่มีรูกระสุนอยู่ที่กะโหลก แต่อาจมองเห็นไม่ชัดนักตอนนี้ แต่ด้วยความที่สีน้ำจากธรรมชาติจะซีดจางไปเรื่อยๆ ตามกาลเวลา ในที่สุดเวลาจะเปิดเผยให้เห็นรอยกระสุนที่คนไทยไม่อยากให้ลืม



โชษิตา บุรณนัฏ
กราฟิกดีไซเนอร์ เจ้าของแบรนด์ finger.fish และเพจเฟซบุ๊ก Chobu

แนวคิด:
'หนูไม่รู้ หนูไม่เกี่ยว หนูแค่มาเที่ยวจ้า'
อย่างที่เขาว่ากันว่า อาชญากรย่อมทิ้งร่อยรอยไว้เสมอ แต่ถ้ามีอำนาจมีเงินตรา ร่องรอยที่ว่าก็จะพร่ามัว...


วิชชุตา ลิมปณะวัสส์
ศิลปิน เจ้าของแบรนด์และเพจเฟซบุ๊ก Palim

แนวคิด:
ปืนบางกระบอก อาจอยากย้อนไปหาผู้ล่า




พิมพ์ญาดา ธิติกุลธัญโรจน์
กราฟิกดีไซเนอร์ และเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก Longfong Laboratory"

แนวคิด:
เสือดำตายทั้งตัว เอาเงินปิดเดี๋ยวก็มิด?



กนต์ธร เตโชฬาร
ศิลปินอิสระ เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก Art of Hongtae และพิธีกรรายการช่างประจำบ้าน Amarin TV

แนวคิด:
'คำรามเงียบ' (Not gonna hear me roar!)
ยิ่งคำรามก็ยิ่งเงียบ
ยิ่งร้องก็ยิ่งไร้ผล
เเต่ถ้าหยุด ที่ทำมาทั้งหมดก็จะสูญเปล่า
จงคำรามให้กับความดีงามต่อไป
โฮก



ปนัดดา เต็มไพบูลย์กุล
ศิลปิน เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก Panadd

แนวคิด:
ยางลบตราเงิน ลบล้างความผิดได้อย่างหมดจด ทิ้งไว้แต่ขี้ยางลบหรือร่องรอยปัญหาซึ่งสามารถปัดทิ้งไปให้พ้นตัว ในสังคมไทย อำนาจ และเงินทอง แก้ผิดให้เป็นถูกได้



รสิกา สายแสง
มือเบสวง The Ambulance

แนวคิด:
เปรียบเทียบโดยใช้มุมมองกลับกันดูบ้าง ก่อนที่มนุษย์เราจะทำอะไร อยากให้ลองนึกถึงคนอื่น คิดว่าผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร แล้วถ้าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นกับเราบ้าง จะรู้สึกอย่างไร


ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลงานที่ติดแฮชแท็ก #WeAreBlackPanthers ถ้าคุณสนใจจะชมงานชิ้นอื่นๆ เพิ่มเติม ทดลองค้นหาด้วยแฮชแท็กนี้ในโซเชียลมีเดีย อาทิ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม กันได้เลย หรือถ้าคุณอยากจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์นี้ ก็สามารถเริ่มต้นสร้างสรรค์งานเพื่อสะท้อนความคิดเห็นของคุณออกมาได้ด้วยเช่นกัน