รี้ดเดอรี่ (Readery) คือชื่อร้านหนังสือออนไลน์ที่ไม่มีนักอ่านคนใดไม่รู้จัก ด้วยคอนเทนต์ที่สร้างสรรค์ ภาพวาดประกอบที่โดนใจ บวกกับการสร้างแบรนด์และทำมาร์เก็ตติ้งอย่างเข้มแข็ง จึงทำให้ร้านหนังสือที่ไร้หน้าร้านแห่งนี้กลายเป็นขวัญใจของนักอ่านหลายต่อหลายคนไปโดยปริยาย
เน็ต-นัฎฐกร ปาระชัย และ โจ วรรณพิณ คือผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของร้านหนังสือออนไลน์แห่งนี้ โดยทั้งคู่ได้ใช้บ้านย่านสวนหลวงที่ปลูกเสร็จใน พ.ศ. 2543 เป็นฐานทัพทำงานกันมากว่า 17 ปี โดยยังมีสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ อยู่ร่วมกันด้วย
จุดเริ่มต้นของการทำงานที่บ้านมาจากการที่ทั้งคู่เป็นฟรีแลนซ์ เน็ตเป็นนักออกแบบเว็บไซต์ และโจเป็นนักเขียนบทภาพยนตร์ ซึ่งพวกเขามีนิสัยที่เหมือนกันคือ 'ติดบ้าน' แม้ว่าจะพากันออกไปทำงานที่ร้านคาเฟ่ข้างนอกอย่างไร ก็ต้องกลับมาตายรังจบงานที่บ้านอยู่ดี บวกกับนิสัยรักการอ่านที่เก็บสะสมหนังสือมาเป็นหมื่นเล่ม จึงทำให้ทั้งคู่ตัดสินใจทำธุรกิจเว็บขายหนังสือออนไลน์ขึ้นมา
ขณะที่รี้ดเดอรี่เริ่มเข้ามามีพื้นที่ในชีวิตของโจและเน็ตมากขึ้น ชั้นหนังสือเองก็เริ่มเข้ามามีพื้นที่ในบ้านของทั้งคู่มากขึ้นเช่นเดียวกัน จากห้องสมุดที่ใช้บรรจุหนังสือส่วนตัวก็จำต้องกลายมาเป็นสต๊อกเก็บหนังสือที่รับมา ดาดฟ้าที่ใช้พักผ่อนก็กลายร่างเป็นออฟฟิศที่ทีมใช้ทำงาน โซฟาที่ใช้นั่งนอนอ่านหนังสือก็กลายเป็นที่นั่งทำงาน ประชุม เป็นต้น
ชีวิตของทั้งคู่จึงผสมปนเปกับการงานตลอดเวลาจนแยกกันไม่ออก ไม่ต่างจากบ้านของพวกเขาที่ทุกตารางเมตรเริ่มกลายเป็นพื้นที่ทำงานไปด้วย
แม้เส้นแบ่งการงานและชีวิตประจำวันจะพร่าเลือน ทว่านั่นก็เป็นชีวิตที่พวกเขาพอใจที่ได้เลือก เหมือนกับบ้านของพวกเขาที่เป็นพื้นที่ไว้ทั้งใช้ชีวิตและทำงานที่รัก
ที่นี่เป็นบ้านที่สมาชิกในครอบครัวออกแบบและเลือกวัสดุกันเอง โดยมีน้องสาวที่เรียนสถาปัตยกรรมเป็นผู้คุมใหญ่
เนื่องจากทั้งคู่เป็นฟรีแลนซ์ที่ทำงานที่บ้านได้อยู่แล้ว บวกกับเป็นมนุษย์ติดบ้าน จึงทำให้การทำงานที่บ้านเป็นเรื่องที่พวกเขาชอบและเคยชิน ทว่าการที่รี้ดเดอรี่ค่อยๆ เข้ามาใช้พื้นที่บ้านและชีวิตที่มีอยู่นั้นทำให้ทั้งคู่ต้องปรับเปลี่ยนระบบจัดการตัวเองและบ้านมากขึ้นจนปวดหัว จากตอนแรกที่สต๊อกหนังสือยึดครองพื้นที่ชั้นหนังสือแค่ชั้นล่าง ก่อนจะค่อยๆ เข้ากระจายกำลังยึดครองพื้นที่ชั้นข้างบนเพราะความนิยมที่พุ่งสูงขึ้นของยอดขาย จึงทำให้หนังสือในบ้านของโจและเน็ตต้องระเห็จตัวเองไปอยู่ส่วนอื่น ภาพชั้นล่างที่เคยใช้เป็นห้องสมุดและห้องทำงานจึงแปรเปลี่ยนไปเป็นสต๊อกหนังสืออย่างที่เห็น
เช่นเดียวกันกับชีวิตของนักทำเว็บและนักเขียนบทที่รับบทเป็นพ่อค้าขายหนังสือออนไลน์ ในตอนนั้นรี้ดเดอรี่ยังเป็นเพียงกิจกรรมสนุกๆ ในชีวิตธรรมดา จนกระทั่งทั้งคู่สามารถสร้างสรรค์คอนเทนต์ออนไลน์ให้นักอ่านอยากติดตามได้ และจุดเปลี่ยนสำคัญอย่างการรับพรีออร์เดอร์หนังสือของ ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami) เรื่อง ชายไร้สีกับปีแสวงบุญ ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์คนแห่กันสั่งจองเข้ามามากจนต้องเกณฑ์ญาติมาแพ็กหนังสือถึงตีสามตีสี่ เกิดเป็นการตั้งคำถามว่านี่คือชีวิตอยู่กับบ้านที่ทั้งคู่ต้องการกันจริงๆ น่ะหรือ
จนในที่สุดจากที่มีแค่เน็ตกับโจ รี้ดเดอรี่ก็รับสมาชิกทีมมาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทำให้เกิดการจัดการระบบและหาพื้นที่ให้ร้านหนังสือออนไลน์แห่งนี้กันจ้าละหวั่น กลายเป็นกระบวนการค่อยๆ สลายพื้นที่ 'บ้าน' ให้เป็นพื้นที่ 'ออฟฟิศ' อย่างแท้จริง
เมื่อทั้งคู่ลืมตาตื่น ห้องครัวคือสถานที่แรกที่พวกเขาใช้เวลาในทุกๆ เช้า โดยทั้งคู่จะใช้อัพเดตตารางงานควบคู่กับการทานอาหารไปด้วย จากนั้นจึงแยกย้ายไปทำกิจวัตรประจำวันของตัวเอง
ความฝันที่แท้จริงของโจและเน็ตคือ การมีห้องทำงานที่หน้าตาเหมือนห้องครัว เนื่องจากทั้งคู่ชื่นชอบไดนามิกที่เกิดขึ้นในห้องครัว อย่างเสียงเคาะกระทะ ชงกาแฟ ช้อนกระทบจาน ฯลฯ ทั้งยังชอบการมีอาหารประกอบการทำงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นแรงกระตุ้นที่ทำให้พวกเขามักได้ไอเดียใหม่ๆ
มากไปกว่านั้น 'ห้องครัว' ยังเป็นเหมือน 'แฟมิลี่รูม' ของครอบครัวพวกเขาอีกด้วย
"มันเป็นที่ประชุมของบ้านเสมอ แบบป้าคนนั้นทะเลาะกับน้าคนนี้ ใครตาย ใครแต่งงาน ที่นี่จะเป็นเซ็นเตอร์รวบรวมคนในครัว เหมือนเป็นฟีดข่าวเช้า บางทีก็ใช้เป็นที่ถ่ายรูปทำคอนเทนต์เพจ" เน็ตเล่าพร้อมกับชงกาแฟไปด้วย
"เราชินกับการใช้ครัวเป็นจุดเริ่มต้นของวัน" ทั้งคู่สรุปอย่างอารมณ์ดี
ในช่วงบ่ายที่เป็นเวลาทำงานของโจและเน็ต ห้องทำงานบนดาดฟ้าที่ล้อมรอบไปด้วยกระจกแห่งนี้คือ พื้นที่ออฟฟิศ ที่ทั้งคู่ใช้คุยงานกับสมาชิกในทีม ซึ่งพวกเขาต้องเดินผ่านเขาวงกตหนังสือบริเวณชั้นหนึ่งที่เป็นส่วนโอเปอเรชันและสต๊อกหนังสือ ที่ในอดีตเคยเป็นพื้นที่ของงานทุกส่วนในรี้ดเดอรี่ จนท้ายที่สุดพวกเขาก็ต้องขบคิดหาพื้นที่ออฟฟิศแห่งใหม่
และแม้ว่าจะเคยไปตระเวนข้างนอกเพื่อหาพื้นที่ที่ทำงานให้เป็นหลักแหล่ง แต่จนแล้วจนรอดทั้งคู่ก็ไม่ถูกใจ จนมาได้ไอเดียทำโฮมออฟฟิศเมื่อได้เดินขึ้นมาพิจารณาดาดฟ้าที่บ้าน
"เมื่อก่อนบนนี้มันเป็นลานโล่งๆ พูดง่ายๆ เป็นที่ตากผ้า แต่ก็ขึ้นมาใช้ชีวิตกัน ก็มีขึ้นมาดูดาว ปาร์ตี้กันบ้าง แต่มองไปมองมาโครงสร้างทุกอย่างมีอยู่แล้ว ตั้งแต่ปลูกบ้าน เราก็เตรียมสิ่งนี้กัน เตรียมต่อเติมไปชั้นสอง แต่เมื่อก่อนโล่ง ไม่มีผนัง มีแต่เสากับคานอย่างเดียว ก็เลยเริ่มขึ้นหลังคา จริงๆ ตอนนั้นเราไม่ได้ขยายเป็นสเกลใหญ่มาก มันก็เลยไม่ได้เป็นเรื่องปวดหัว ไม่ต้องไปคิดพื้นที่ต่อตารางเมตรจะวางหนังสือกี่ปก เราคิดแค่พื้นที่ของคนทำงานมันแออัดมาก ข้างล่างตอนนั้นน่าจะมีน้องอยู่ซัก 4-5 คน แล้วเราก็ต้องการที่ที่มาเคลียร์ๆ หัว เป็นออฟฟิศมากกว่าโกดัง ก็เดินขึ้นมาแล้วผุดไอเดียขึ้นว่าลองต่อห้องข้างบนนี้ไหม" ชายนักออกแบบเว็บเล่าถึงความคิดตอนนั้น ก่อนที่โจจะเสริมความต่อ
"ตอนนั้นเราคิดอีกอย่างคือ ร้านหนังสือต้องการสเปซค่อนข้างเยอะและใช้ชั้นสองไม่ได้ เพราะไม่งั้นแบกหนังสือกันตายเลย ตัวสเปซของการทำงานโอเปอเรชัน ยังไงก็ต้องอยู่ชั้นหนึ่ง แต่ถ้าพวกครีเอทีฟหรือบัญชี ชั้นสองก็พอได้ ก็เลยแค่แก้ปัญหาอันดับแรกคือ เราต้องการเอาคนทำงานขึ้น ไม่ได้ต้องการเอาหนังสือขึ้น สองคือเราต้องการเอาโอเปอเรชันหลังร้านขึ้น และไหนๆ จะสร้างเป็นออฟฟิศแล้ว เสาร์-อาทิตย์เราก็ใช้อยู่ด้วยเลยดีไหม มันถึงเกิดชั้นหนังสือเล็กๆ ที่เป็นหนังสือบ้าน มีโซฟาให้เราใช้ชีวิตวันหยุด จะได้คุ้มเงินที่จ่ายไป นี่คือลีฟวิ่งรูมหรือวีคเอนด์รูมของเรา" เขาหัวเราะ
ตกเย็น เมื่อทั้งคู่แยกย้ายกับสมาชิกในทีมแล้ว พื้นที่ใต้ดินแห่งนี้จะกลายเป็นที่ทำงานกับใช้ชีวิตของคู่ฟรีแลนซ์นักทำเว็บและนักเขียนบท
ในอดีตห้องนี้คือห้องที่เน็ตใช้ทำงานเว็บไซต์ แต่ก็ได้เปลี่ยนแปลงมาเรื่อยจนกลายเป็นคล้ายศูนย์บัญชาการที่ทำได้ทั้งงานและพักผ่อนหาไอเดีย ซึ่งก่อนหน้านี้ที่นี่ได้รับการปรับมุมเปลี่ยนส่วนกันหลายรอบ เนื่องจากได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ ของสะสมจำพวกเทปคาสเสตต์และวิดีโอก็โดนหางเลขเสียหายไปด้วย ที่นี่จึงกลายเป็นห้องสมุดขนาดย่อมและสถานที่พักผ่อนที่ใช้ประชุมได้ด้วยในเวลาเดียวกัน
และด้วยความที่ห้องนี้มีกลิ่นอายความเอนเตอร์เทนอยู่ จึงทำให้กลายเป็นแหล่งปาร์ตี้ของเพื่อนทั้งคู่ด้วย
"ตรงนี้เพื่อนชอบมาก เวลาเพื่อนมาจะชอบชวนลงมากินเหล้ากันห้องนี้ เพราะว่ามันเลื้อยได้ ตอนแรกยังมีสตินั่งอยู่ตรงนี้ก่อน หลังๆ ก็เริ่มเลื้อย แล้วห้องนี้ฟังก์ชันเยอะ คือบางทีน้องที่ทำงานขี้เกียจกลับบ้านก็นอนที่นี่ได้ แล้วมันได้อีกมู้ดนึงคือมู้ดกลางคืนตอนกลางวัน คือเราเป็นคนชอบกลางคืน ถ้าไม่กลางคืนจะทำงานไม่ได้" เน็ตอธิบายความตั้งใจของห้องนี้อย่างอารมณ์ดี
สิ่งที่ทั้งคู่ต้องปรับตัวกันมากเมื่อทำร้านหนังสือออนไลน์คือ เรื่องพื้นที่และเวลา กับการที่ต้องทำงาน 24 ชั่วโมงและทุกพื้นที่ในบ้านคือสถานที่ทำงาน จึงทำให้เกิดความขัดแย้งทั้งภายในใจและภายนอก อย่างเรื่องเล็กน้อยแต่รบกวนจิตใจ เช่น ฟังก์ชันของโซฟาในออฟฟิศที่ควรใช้ทำงานหรือพักผ่อนกันแน่
แต่ทั้งสองคนก็ผ่านการคิดหนักจนเลิกคิดไปแล้ว เพราะทั้งคู่ก็มีระบบคิดที่ไม่เหมือนกัน อย่างเน็ตมีวิธีคิดแบบวิศวกร ซึ่งต้องมีการแบ่งสรรปันส่วนพื้นที่ในการทำงานและพักผ่อนอย่างชัดเจน แตกต่างกับโจที่ให้ความสำคัญกับความคิดข้างใน เซตเวลาและกิจกรรมในแต่ละวันด้วยตัวเอง แม้ว่าสถานที่จะเป็นสถานที่เดิมก็ตาม ซึ่งทั้งสองก็ค่อยๆ ปรับตัวเข้าด้วยกันทั้งกับอีกฝั่งและชีวิตที่ทับซ้อนด้วยงานกับการพักผ่อน
"เราว่าเรามาถึงจุดที่กล้าพูดว่าเราเลือกทำงานในสิ่งที่เราชอบสุดๆ ได้แล้ว ดังนั้นในการจัดสต๊อก มันคือการจัดหนังสือ เราก็จะมีความสุขมากในการจัดชั้นสต๊อก ในการดูอีเมลว่ามีหนังสือใหม่ออกแล้ว ไฟข้างในมันรู้สึกดีที่จะได้รู้จักหนังสือเล่มใหม่ หรือตอนขายจะแนะนำทำโพสต์อะไรแบบนี้ มันไม่เหมือนเราทำงาน แต่มันเป็นชีวิต เป็นความชอบของเรา" โจปิดท้ายด้วยรอยยิ้ม
ในอนาคต คอนเทนต์ของรี้ดเดอรี่อาจเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เฟอร์นิเจอร์หลายชิ้นต้องโยกย้ายตำแหน่ง อาณาเขตออฟฟิศได้รับการขยับขยาย รวมไปถึงสัดส่วนเวลาในชีวิตของโจกับเน็ตที่อาจต้องยกให้ร้านหนังสือออนไลน์นี้มากกว่าเดิม
ทว่าสิ่งที่ทำให้พวกเขามีความสุขกับชีวิตที่พร่าเลือนทั้งเวลาและสถานที่ได้นั้นก็คงหนีไม่พ้นการที่ได้ทำในสิ่งที่รัก และทั้งคู่ก็พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นแล้วว่า ชีวิตที่ได้ทำงานกับสิ่งที่รักในสถานที่ที่เป็นที่รักนั้นมีความสุขมากเพียงใด
บทความนี้คัดย่อมาจากบทความเต็มที่ตีพิมพ์ในหนังสือ happening 'Homework' ที่รวบรวมชีวิตการทำงานที่บ้านของศิลปินและนักออกแบบหลายราย เช่น It takes two to tango, Jibberish และวง Moving And Cut
3961 VIEWS |
นักเขียนและกองบรรณาธิการที่พบเจอตัวได้ตามหอศิลป์และร้านหนังสือ ชอบกินแซลมอนและชาบู อยากแก่ไปเป็นคุณป้าใจดีและมีฝูงแมวห้อมล้อม
ช่างภาพอิสระ ชอบทำงานเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ ชอบปลูกต้นไม้ ชอบทำทุกอย่างที่เกี่ยวกับศิลปะโดยไม่จำกัดอุปกรณ์ เพราะเชื่อว่าความรู้ทุกอย่างจะส่งเสริมกัน และทำให้เราเป็นคนที่มองโลกได้ละเอียดขึ้น