นิตยสาร happening ฉบับนี้ เราจะพาคุณไปพบกับแรงบันดาลใจในการทำงานและใช้ชีวิต ผ่านบ้านทั้ง 9 หลังของศิลปินและนักออกแบบชื่อดังของไทย ที่เลือกสร้างสรรค์ผลงานของพวกเขาจากภายในบ้าน
ตลอดระยะเวลามากกว่า 10 ปี ทำให้เราค้นพบว่าบ้านของศิลปินและนักออกแบบสามารถสร้างแรงบันดาลใจบางอย่างต่อการทำงานสร้างสรรค์ของพวกเขาได้ หรือยิ่งไปกว่านั้น ผลงานของศิลปินและนักออกแบบบางคนจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยด้วยซ้ำ หากไม่ได้ทำมันภายใน 'บ้าน' ของพวกเขา
เพื่อที่จะทำความเข้าใจกับผลงานศิลปะและงานออกแบบ หรือกระทั่งชีวิตของศิลปินและนักออกแบบคนใดให้ครบถ้วน เราจึงต้องทำความรู้จักกับ 'บ้าน' ของเขาด้วย
มาสำรวจบ้านของศิลปินและนักออกแบบกันดูว่าพวกเขาใช้ชีวิตภายในบ้านกันอย่างไร อะไรที่ทำให้บ้านกลายเป็นอีกองค์ประกอบสำคัญสำหรับการสร้างผลงานของพวกเขา และกลายเป็นบ้านตัวอย่างที่ทำให้คุณสามารถนำไปใช้ออกแบบชีวิต รูปแบบการทำงาน และบ้านของคุณเองต่อไปได้
และนอกจากเรื่องราวเกี่ยวกับบ้านต่างๆ ของศิลปินแล้ว ภายในเล่มเรายังมีส่วนเนื้อหาแนะนำสิ่งของตกแต่งบ้านจากดีไซเนอร์ชื่อดังต่างๆ ที่จะมาช่วยให้บ้านของคุณกลายเป็นบ้านแห่งแรงบันดาลใจได้อีกด้วย
ว่าแล้วก็ลองเปิดประตูเข้ามาเดินชมภาพตัวอย่างบ้านแต่ละหลังภายใน happening 'Homework' กันดู
บ้านหลังที่ 1
บ้านของสไตลิสต์หนุ่ม อาร์ต-ศุภชัย เพ็ชรี่ ด้วยลักษณะงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งของ ทำให้บ้านของชายหนุ่มคนนี้เต็มไปด้วยสิ่งของจำนวนมหาศาล แต่ด้วยสายตาของสไตลิสต์เขาสามารถจัดวางของจำนวนขนาดนั้นภายในบ้านให้ไม่รู้สึกว่ามันรก แถมยังดูลงตัวและช่วยเพิ่มเสน่ห์ให้กับบ้านของเขาได้อย่างยิ่ง และก็เพราะบ้านหลังนี้เองที่ทำให้เขาสามารถประกอบอาชีพสไตลิสต์ได้ ถึงขนาดที่เขาออกปากเลยว่า ถ้าจะต้องเปลี่ยนบ้าน เขาก็ต้องเปลี่ยนอาชีพด้วย
บ้านหลังที่ 2
บ้านและสตูดิโอของ พิม สุทธิคำ ศิลปินเซรามิกชื่อดังและอาจารย์คณะสถาปัตยกรรม ที่ตัดสินใจสร้างสตูดิโอทำงานเซรามิกอยู่ข้างหลังบ้าน ผลงานเซรามิกของพิม เธอเลือกที่จะหยิบจับเอารูปทรงจากภาชณะต่างๆ ที่อยู่รายล้อมตัวเธอภายในบ้าน มาเป็นต้นแบบสำหรับการนำมาล้อ มาบิด มาทอน ลองจับเข้าคู่ เพื่อค้นหาความเป็นไปได้ทางความงามและความสุนทรีใหม่ๆ
บ้านหลังที่ 3
บ้านสุดจะมัลติฟังก์ชันของคู่รัก ตั้ม โมโนโทน และ ดีเจเปิ้ลหน่อย ที่เป็นทั้งห้องอัด ห้องรับรองแก๊งเพื่อนๆ จำนวนมากของทั้งสอง ห้องฉายหนัง สตูดิโอถ่ายภาพ และอีกมากเท่าที่ทั้งคู่อยากจะลองเล่นดูกับพื้นที่บ้านของพวกเขา
ลองมาดูกันว่าพวกเขาทำอย่างไรกันบ้างกับบ้านหลังนี้ เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการทั้งหมดได้ลงตัว
บ้านหลังที่ 4
บ้านของพี่น้องฝาแฝด เอ และ บี ที่ถูกแปลงให้กลายเป็นศูนย์บัญชาการของแบรนด์พวกเธอ It takes two to tango แบรนด์เสื้อผ้าที่มีเอกลักษณ์เด่นจากลวดลายการปักต่างๆ ที่ไม่สามารถหาได้จากแบรนด์ไหน ลองมาดูกันว่าสองพี่น้องดัดแปลงบ้านของพวกเธออย่างไรให้สามารถเกิดแรงบันดาลใจในการทำงานและอยู่อาศัย อีกทั้งยังสามารถจัดการพื้นที่ระหว่างพี่และน้องได้อย่างลงตัว
บ้านหลังที่ 5
บ้านของ 3 สาวพี่น้อง ณัฐธิดา ลือชาพัฒนพร, ลลิตา ลือชาพัฒนพร และ อภิญญา ลือชาพัฒนพร เจ้าของแบรนด์กระเป๋าและเครื่องแต่งกาย Something Simple ซึ่งพวกเธอใช้พื้นที่บ้านที่อยู่มาตั้งแต่วัยเด็ก และเป็นทั้งที่ทำงานของพ่อที่เป็นนักเขียน และเคยเปิดเป็นโรงพิมพ์มาก่อน มาแปลงเป็นที่ทำงานแบรนด์ของพวกเธอ โดยมีพ่อที่คอยให้กำลังใจแบรนด์ของลูกๆ ที่กำลังเติบโตไม่ต่างกับลูกสาวของเขา
บ้านหลังที่ 6
บ้านที่เป็นทั้งร้านค้าและที่ทำงานของ นัด-ณัฐพร วรรณปโก เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าย้อมคราม Jibberish และ บี๋-นับวงศ์ ช่วยชูวงศ์ เจ้าของแบรนด์เครื่องประดับ Nabi สองกราฟิกดีไซเนอร์ที่ตกหลุมรักงานคราฟต์จนโงหัวไม่ขึ้น ซึ่งบ้านหลังนี้ของพวกเขาก็เกิดขึ้นมาจากลักษณะความละเอียดของการทำงานคราฟต์ โดยบี๋ซึ่งไม่ได้จบมาทางสถาปัตยกรรมแต่อย่างใด ใช้วิธีอ่านหนังสือเอาเอง และเป็นผู้ลงมือออกแบบและคุมช่างสร้างบ้านหลังนี้เองทั้งหมด!
บ้านหลังที่ 7
บ้านที่รายล้อมด้วยดอกไม้ของนักวาดภาพจากสีดอกไม้ชื่อดัง เจ้าของนามปากกา ต้องการ เธอตัดสินใจย้ายชีวิตของตนเองออกจากกรุงเทพฯ และมาสร้างบ้านหลังนี้ที่ปากช่องเพื่อจะได้ใช้ชีวิตอย่างที่เธอต้องการ นั่นคือการอยู่อย่างออร์แกนิกที่สุด และลงมือปลูกผัก ผลไม้ และดอกไม้ต่างๆ โดยที่หารู้ไม่ว่านี่จะกลายเป็นจุดที่ทำให้เธอค้นพบการนำสีจากดอกไม้มาสร้างเป็นผลงาน และทำให้หลายคนรู้จักเธอ
บ้านหลังที่ 8
บ้านของผู้ก่อตั้งวง Moving and Cut วงดนตรีอินดี้อารมณ์ละเมียด ที่มีผลงานเพลงโดนใจแฟนเพลงจำนวนมาก มีน-ปารินทร์ โฆรวิส นักดนตรีและกราฟิกดีไซเนอร์ ออกแบบบ้านหลังนี้ของเขาเอง เพื่อใช้มันเป็นทั้งที่พักผ่อน รวมตัวเพื่อนฝูง ทำงานด้านกราฟิก และบ้านหลังนี้เองก็เป็นจุดกำเนิดเพลงต่างๆ ของ Moving and Cut รวมถึงเป็นห้องซ้อมของพวกเขา
บ้านหลังที่ 9
เน็ต-นัฎฐกร ปาระชัย และ โจ วรรณพิณ สองหนอนหนังสือ ที่มาก่อตั้ง Readery ร้านหนังสืออนไลน์ที่มาแรงที่สุดในประเทศตอนนี้ ด้วยวิธีการนำเสนอหนังสืออย่างน่าสนใจและเป็นกันเอง พวกเขาปรับเปลี่ยนพื้นที่บ้านให้กลายเป็นที่ทำการของร้านหนังสือซึ่งไม่มีหน้าร้านนี้ และทำให้บ้านของพวกเขาเต็มไปด้วยหนังสือจำนวนไม่น้อยไปกว่าห้องสมุดบางแห่ง
ลองมาดูกันว่าพวกเขามีวิธีจัดการกับพื้นที่ชีวิตกันอย่างไรท่ามกลางกองหนังสือจำนวนมากและการงานจาก Readery ที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ภายในบ้านของพวกเขา