Review: ตรัย ภูมิรัตน: ขุนเขาแห่งหมี

    หากนับจากวันที่เขามีผลงานชุดแรกกับวง Friday มาถึงวันที่ออกอัลบั้มชุดนี้ ตรัย ภูมิรัตน หรือ บอย ตรัย หรือ บอย ฟรายเดย์ ก็เป็นนักร้อง-นักแต่งเพลงที่สร้างผลงานในแวดวงดนตรีมากว่า 21 ปีแล้ว ถือเป็นอายุงานที่ไม่ธรรมดาสำหรับคนดนตรีในเมืองไทย ซึ่งน้อยคนนักที่จะทำงานยาวนานต่อเนื่องและน่าสนใจได้สม่ำเสมอขนาดนี้

    ตลอดเวลาที่ผ่านมา บอยมีผลงานไม่น้อย ทั้งกับวงฟรายเดย์ กับวง 2 Days Ago Kids ออกอัลบั้มร่วมกับ ก้อ-ณฐพล ศรีจอมขวัญ หรือการไปแต่งเพลงให้คนอื่นๆ แต่สำหรับอัลบั้มเดี่ยวในนามชื่อจริงว่า ตรัย ภูมิรัตน อัลบั้มนี้นับเป็นงานลำดับที่ 3 เท่านั้น (ไม่นับอัลบั้มประเภทรวมเพลง) และเป็นงานที่ทิ้งช่วงจากอัลบั้มเดี่ยวชุดก่อนหน้าถึง 11 ปี

    คนที่ติดตามงานของบอยมาตลอด จะรู้ดีว่าสำหรับอัลบั้มเดี่ยวแล้ว บอยให้พื้นที่กับเรื่องส่วนตัวค่อนข้างมาก ขนาดที่อัลบั้มชุดแรกของเขาในปี 2004 ก็ใช้ชื่อชุดว่า My Diary Original Soundtrack เลยด้วยซ้ำ และถ้าติดตามข่าวคราวของบอยอยู่บ้าง เราก็จะพบว่าในช่วงทศวรรษกว่าๆ ที่ทิ้งช่วงการทำอัลบั้มเดี่ยวไปนั้น มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นกับชีวิตของเขา บอยแต่งงาน มีลูกสาว กลายเป็นพ่อคน และกลายเป็นนักร้องนักดนตรีในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่วงการเพลงเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย

    จะว่าไป ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ ไม่ใช่แค่วงการเพลงเปลี่ยนไปเท่านั้น โลกเราทั้งโลกก็ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมชนิดไกลสุดกู่

    บอยตั้งชื่ออัลบั้มชุดใหม่ของเขาว่า ขุนเขาแห่งหมี ซึ่งเป็นชื่อที่ดูแตกต่างจากอัลบั้มก่อนๆ (หรืองานชุดไหนๆ ที่เขาเกี่ยวข้องด้วยซ้ำ) เพราะมันเป็นชื่อที่ดูน่ารัก ...มีนัยถึงความยิ่งใหญ่ ชวนให้นึกถึงนิทานหรือตำนาน แต่ก็ยังดูน่ารัก

    เมื่อแรกฟัง เพลงทั้ง 13 เพลงในอัลบั้มสัมผัสเราอย่างนุ่มนวล อบอุ่น ในลีลาเพลงป๊อปชั้นดีที่เราคุ้นเคยจากปลายปากกาของบอยมาเนิ่นนาน แต่แทบไม่มีเพลงไหนที่ติดหูหมับ ยกเว้น ดวงอาทิตย์ และ เรื่องน่าเบื่อที่สวยงาม ที่ครบเครื่องทั้งเนื้อร้องและทำนองจริงๆ แต่เพลงหลังนี่ก็ไม่ได้เป็นเพลงป๊อปที่เหมาะสำหรับวัยรุ่นอยู่ดี เพราะมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องของคู่รักที่คบกันมานานแล้ว

    แม้จะเป็นอัลบั้มป๊อปที่นุ่มนวลไพเราะ แต่ ขุนเขาแห่งหมี ก็มีความเป็นขุนเขาสมชื่ออัลบั้ม เพราะต้องฟังไปถึงรอบที่ 3-4 อัลบั้มนี้จึงค่อยๆ เผยรายละเอียดที่ซ่อนอยู่ และรายละเอียดเหล่านี้ก็น่าประทับใจอย่างยิ่ง เหมือนการเดินขึ้นเขา ที่ในครั้งแรกเรามักจะมุ่งมั่นรีบเร่งไปให้ถึงยอด แต่หากได้เดินขึ้นเขาหลายๆ ครั้ง เราจะเริ่มสนใจรายละเอียดของทิวทัศน์ข้างทางมากขึ้นๆ

    ขุนเขาแห่งหมี ยังคงเต็มไปด้วยเพลงที่บอยได้แรงบันดาลใจจากเรื่องส่วนตัว อย่าง เรื่องน่าเบื่อที่สวยงาม ก็คือเพลงที่คนซึ่งแต่งงานมาแล้วหลายปีจะอินมากกว่าคู่รักหนุ่มสาวที่เพิ่งเป็นแฟนกันแน่นอน ในขณะที่เพลง เพื่อนที่หล่นหาย ที่พูดถึงเพื่อนที่คบหากันมาเนิ่นนาน (ซึ่งมีชื่อเพื่อนๆ ในวง 2 Days Ago Kids และ Friday อยู่ในท่อนแร็ปที่ได้ แสตมป์ มาช่วยร้องด้วย) และ คิดถึงครับพ่อ ที่เป็นการแสดงความรักความคิดถึงต่อบิดาผู้ล่วงลับ รวมทั้งเพลง ฮานาบิ ที่พูดถึงเพื่อนๆ ในแวดวงดนตรีใกล้ตัวของบอย ทั้งหมดล้วนแสดงความเป็นส่วนตัวอย่างยิ่ง แต่งานศิลปะชิ้นยิ่งใหญ่ของโลกหลายๆ ชิ้นก็ล้วนมีที่มาจากเรื่องส่วนตัวทั้งนั้นมิใช่หรือ และการที่ศิลปินกล้าเปิดเปลือยอารมณ์และความรู้สึกจากเรื่องส่วนตัว ก็ทำให้คนฟังเพลงที่มีประสบการณ์ร่วมรู้สึกอินไปด้วยอย่างง่ายดาย อย่างเพลง คิดถึงครับพ่อ นั้น ใครที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแล้วอาจฟังแล้วน้ำตาซึมได้เหมือนกัน

    ยิ่งสำหรับแฟนเพลงของบอยแล้ว หลายคนจะรู้สึกว่าเขาเป็นเหมือนกับเพื่อนหรือพี่ชายที่น่ารักคนหนึ่ง ดังนั้นการฟังเพลงในโหมดนี้ของบอยก็อาจเหมือนกับการได้ฟังเพื่อนหรือพี่ชายมาบอกเล่าชีวิตและความคิดให้ฟัง บางคนอาจจะอยากลูบหลังตบไหล่พี่บอยด้วยความเห็นใจ ในขณะที่บางคนอาจรู้สึกเหมือนบอยกำลังมาลูบไหล่ตบหลังให้ด้วยความเข้าอกเข้าใจ

    ว่ากันในโหมดเพลงรักบ้าง เทียบกับเพลงของบอยที่ดังระเบิดอย่าง กลับมา และ ผูกพัน เพลงรักในอัลบั้มนี้มีแง่มุมที่ละเอียดอ่อนมากขึ้น อย่างเพลง อย่าเพิ่งพูดเลย กับ ลาก่อนพิน็อคคิโอ บอยก็เล่าเรื่องของชายหนุ่มผู้อ่อนไหวผู้ไม่กล้าเอ่ยปากในเรื่องหัวใจ ซึ่งนอกจากเมโลดี้ที่งดงามแล้ว บอยยังผลักเรื่องราวในเพลงนี้ได้ถึงขั้นที่เข้าใจหัวอกของผู้ชายอ่อนไหวจริงๆ แต่เพลงรักที่น่าสนใจมากๆ คือ จดหมายถึงตัวฉันเอง ซึ่งบอยพลิกมุมมองในการแต่งเพลงให้กำลังใจมาเป็นการให้กำลังใจตัวเองโดยใช้เงื่อนไขของเวลาเข้ามาเป็นส่วนประกอบ เป็นมุมที่ถือได้ว่าใหม่และเหนือชั้นทีเดียว

    โทนดนตรีในอัลบั้มนี้มีหลากหลาย ตั้งแต่เพลงเปียโนบัลลาด เพลงโฟล์กซอง เพลงคันทรี เพลงป๊อปร็อก การใช้เครื่องเป่าหรือออร์แกนมาเป็นสีสัน หรือการใช้ซาวนด์แบบอิเล็กทรอนิกส์ป๊อป ซึ่งฟังรอบแรกอาจจะรู้สึกว่าทั้งอัลบั้มกลมกล่อมและกลมกลืนโดยไม่ทันสังเกตเห็น แต่หากฟังหลายรอบเข้าก็จะพบว่าแต่ละเพลงล้วนมีคาแรกเตอร์ของตัวเองอยู่ และล้วนมีความตั้งอกตั้งใจอยู่ในนั้น

    ความน่าประทับใจที่แท้จริงอีกประการของ ขุนเขาแห่งหมี อยู่ที่การเรียงลำดับอารมณ์และเรื่องราวของเพลง ตั้งแต่เพลงรักที่อยู่ในส่วนแรกของอัลบั้ม ไล่เรียงมาสู่เพลงเกี่ยวกับมิตรภาพและความผูกพัน ตามด้วยเรื่องของความฝันและการทบทวนความฝันในเพลง เมฆ และ ขุนเขาแห่งหมี ก่อนที่บอยก็ดึงเรากลับสู่โลกความจริงของชีวิตนักร้องนักดนตรีที่เปี่ยมด้วยพลังของความฝัน ซึ่งเป็นทั้งโลกของเขาและโลกของเรา ในเพลง ฮานาบิ ...ดูๆ ไปก็คือการเรียงหัวข้อจากวัยรุ่นสู่วัยผู้ใหญ่นั่นเอง

    การไล่เรียงอารมณ์และเนื้อหาทั้งหมดถูกผนึกมาในแพ็กเกจอัลบั้มที่เป็นสมุดนิทานภาพเรื่อง ขุนเขาแห่งหมี ซึ่งชวนให้เรานึกจินตนาการตามได้ว่านี่คือของขวัญชิ้นสุดพิเศษที่บอยสามารถนำไปมอบให้กับลูกสาวได้อย่างภาคภูมิใจ และในขณะเดียวกัน ก็เป็นเหมือนของขวัญที่เขามอบให้กับแฟนเพลงด้วยเช่นกัน

    จากชายหนุ่มที่เคยอกหักฟูมฟายในเพลง กลับมา เคยโหยหาวัยเยาว์ในเพลง พื้นที่เล็กๆ วันนี้บอยยังคงเป็น 'เด็กผู้ชาย' คนนั้นอยู่ส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่ง เขาก็ได้เติบโตขึ้นมามากมายแล้ว เริ่มทำความเข้าใจและยอมรับกับวันเวลาที่ผ่านพ้น ได้เดินขึ้นและเดินลงขุนเขาในใจมาแล้วหลายต่อหลายลูก วันนี้เขากลับกลายเป็นผู้ทำหน้าที่ส่งต่อความเยาว์วัยให้กับลูกสาว รวมถึงแฟนเพลงที่ได้ฟังอัลบั้มนี้อย่างตั้งอกตั้งใจด้วย

    อัลบั้มชุดนี้ไม่ใช่งานเพลงประเภทที่จะเปลี่ยนโลกหรือเปลี่ยนประวัติศาสตร์วงการดนตรีไทย แต่ ขุนเขาแห่งหมี เป็นอัลบั้มที่จะอยู่คู่กับประวัติศาสตร์ส่วนตัวในชีวิตใครบางคนตลอดไปได้อย่างแน่นอน


สามารถฟังตัวอย่างอัลบั้ม ขุนเขาแห่งหมี ได้ที่คลิปนี้

วิภว์ บูรพาเดชะ

ผู้ก่อตั้งนิตยสาร happening, บรรณาธิการบริหารนิตยสาร happening, กรรมการบริหารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (bacc), นักเขียน, นักแต่งเพลง, นักฟังเพลง และนักอ่านตัวยง