10 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับ NFT

    หรือ NFT จะเปลี่ยนโลกศิลปะไปตลอดกาล?
    ในช่วงที่ผ่านมา เราเชื่อว่าใครหลายคนต่างก็เห็นคำศัพท์คำหนึ่งที่จู่ๆ ก็ปรากฏตัวออกมาและเริ่มมีบทบาทในแวดวงต่างๆ ทั้งการลงทุน เทคโนโลยี เกม รวมไปถึงศิลปะด้วย และศัพท์คำนั้นคือ NFT นั่นเอง

    เริ่มต้นด้วยข่าว 'ขายหัวเราะเล่มแรกพร้อมลายเซ็น บก วิธิต ในรูปแบบ NFT ประเดิมขายให้นักสะสมแล้วเมื่อวันที่ 2 เมษายน 64' - positioningmag.com 5 เมษายน 2564, 'ศิลปินชื่อดังระดับโลก The Weeknd เตรียมตัวออกเหรียญ NFT ของตัวเองในสุดสัปดาห์นี้' - siamblockchain.com 1 เมษายน 2564 หรือข่าว 'YOUNGOHM X NFT1 เปิดประมูลเสียง Tagline ในรูปแบบ NFT ยอดล่าสุดอยู่ที่ 129,000 บาท!' - happening mag 10 พฤษภาคม 2564 และยังมีข่าวอีกมากมายที่พาดหัวเกี่ยวกับเจ้าสิ่งนี้

    ถือเป็นปรากฏการณ์ ที่จู่ๆ NFT ทำให้เกิดการซื้อขายรูปภาพดิจิตัลทั่วไปในมูลค่าที่สูงมาก ซึ่งสิ่งนี้เองทำให้ NFT ได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะเหล่าศิลปินและนักดนตรี เพราะ NFT สามารถนำงานศิลปะไปซื้อขายในโลกดิจิตัลได้นั่นเอง และสิ่งที่สำคัญ NFT จะมาช่วยให้ผลงานศิลปะแบบดิจิตัลนั้นไม่สามารถคัดลอกได้ แถมยังมีมูลค่าอีกด้วย
    การปรากฏตัวของ NFT อาจนับได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงอีกก้าวหนึ่งของโลกศิลปะเลยก็ว่าได้ หรือว่าเจ้าสิ่งนี้จะเปลี่ยนโลกศิลปะไปตลอดกาลกันนะ? หากคุณเป็นคนที่สนใจแวดวงศิลปะ หรือเป็นศิลปินแขนงไหนก็ตาม NFT ได้กลายเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราควรจะทำความรู้จักไว้ และในบทความนี้เราจะพาคุณไปรู้จักกับ '10 เรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับ NFT' เอาล่ะ ไปลุยกันเลย!
1. NFT ชื่อนี้คืออะไร

    NFT ย่อมาจาก Non-Fungible Token ซึ่งแปลกันตรงตัวว่า 'เหรียญรางวัลที่ไม่สามารถทดแทนกันได้' ซึ่ง NFT เป็นเหรียญสินทรัพย์ดิจิตัลที่เหมือนกับใบรับรองแสดงความเป็นเจ้าของต่อไฟล์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ การ์ตูน เพลง คลิปวิดีโอ การ์ดสะสม ไอเทมเกม งานศิลปะ หรืออื่นๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน โดย NFT แต่ละเหรียญจะมีความ 'แตกต่างกัน มีมูลค่าไม่เท่ากัน และมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น' ถ้าอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ให้เรานึกถึงภาพวาดโมนาลิซ่า ซึ่งถึงแม้ว่าบนอินเทอร์เน็ตและโลกความเป็นจริงจะมีภาพวาดโมนาลิซ่ามากมาย ทั้งโปสการ์ด ของที่ระลึก หรือมีมต่างๆ แต่ของจริงนั้นมีเพียงภาพเดียว คือภาพวาดโมนาลิซ่าที่พิพิธภัณฑ์ลูฟว์ในประเทศฝรั่งเศสนั่นเอง

2. ความปลอดภัยภายใน Blockchain
    ในช่วงต้นของยุคอินเทอร์เน็ต เมื่อเราแปลงข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปวาด เพลง คลิปวิดีโอเป็นไฟล์ลงในอินเทอร์เน็ต (ปัจจุบันเรียกว่า ดิจิไทซ์ (digitize) หรือ ดิจิทัลไลซ์ (digitalize) แปลว่า ทำให้เป็นดิจิตัล) ไฟล์เหล่านั้นสามารถคัดลอกทำซ้ำได้เลย ซึ่งการที่ผู้คนสามารถมีไฟล์ของเราได้อย่างฟรีๆ จึงทำให้ไฟล์เหล่านั้นไม่มีมูลค่า แต่ NFT สามารถแก้ไขสิ่งนี้ให้กับเราได้
    NFT เป็นหนึ่งในสินทรัพย์ดิจิตัลที่อยู่บนบล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งบล็อกเชนคือเครือข่ายที่คล้ายกับอินเทอร์เน็ต แต่เป็นอินเทอร์เน็ตที่มีความปลอดภัยสูงกว่า เพราะคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่อยู่ในเครือข่ายของบล็อกเชนนั้นมีชุดข้อมูลเดียวกัน ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นจะได้รับการบันทึกและไม่สามารถลบหรือเปลี่ยนแปลงได้ จึงทำให้ยากต่อการบิดเบือนหรือแฮกข้อมูลออกจากระบบ ถ้าให้อธิบายกันง่ายๆ ล่ะก็ บล็อกเชนคือเครือข่ายด้านความปลอดภัยและเที่ยงตรงของข้อมูลนั่นเอง และด้วยเหตุนี้ถ้าเราดิจิไทซ์ผลงานของเราเป็นรูปแบบ NFT ผลงานเหล่านั้นจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลง ทำซ้ำ และทำลายได้ จึงทำให้ผลงานของเรานั้นเป็นของแท้ที่มีเพียงชิ้นเดียวและน่าเชื่อถือ
3. NFT VS Cryptocurrency

    เมื่อเรากล่าวถึงสินทรัพย์ดิจิตัลที่เกิดขึ้นในระบบบล็อกเชนมันก็เป็นเรื่องยากที่เราจะไม่พูดถึงคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) อย่าง บิตคอยน์ (Bitcoin) ซึ่งในหัวข้อนี้เราจะพูดถึงความแตกต่างระหว่าง NFT กับ คริปโทเคอร์เรนซีกัน

    อย่างที่เราเข้าใจกันดีแล้วว่า NFT เป็นเหรียญดิจิตัลแบบเหรียญรางวัลที่ไม่สามารถทดแทนกันได้ ที่แสดงความเป็นเจ้าของและมีลักษณะเฉพาะตัว สมมติว่าถ้าเราวาดรูปหนึ่งรูป และเพื่อนผู้เป็นเจ้าของแกลลอรียืมรูปนั้นไปออกแสดงนิทรรศการศิลปะ เมื่อนิทรรศการจบเพื่อนต้องนำรูปภาพนั้นมาคืนเรา ไม่สามารถนำภาพอื่นมาคืนแทนกันได้ หรือต่อให้เพื่อนนำภาพที่ใกล้เคียงกับของเรามาคืน ก็ไม่สามารถทดแทนกันได้ เพราะมันไม่เหมือนกัน

    ถ้าเทียบกับคริปโทเคอร์เรนซีอย่างบิตคอยน์ที่เป็นเหรียญแบบทดแทนกันได้ (Fungible Token) ซึ่งเหรียญนี้เป็นขั้วตรงข้ามกับ NFT และมีคุณสมบัติที่สามารถทดแทนกันได้ อย่างเช่น ถ้าเราให้เพื่อนยืมไป 1 บิตคอยน์ เพื่อนสามารถนำเหรียญบิตคอยน์เหรียญไหนก็ได้มาคืนเราในมูลค่าที่เท่ากัน เพราะบิตคอยน์เป็นสกุลเงินดิจิตัล และหนึ่งในคุณสมบัติของเงินคือสามารถทดแทนและใช้แลกเปลี่ยนกันได้ นั่นหมายความว่า NFT ไม่ใช่เงินน่ะสิ

    และอีกคุณสมบัติที่ต้องหยิบมาพูดนั่นก็คือ 'การแบ่งซื้อเป็นหน่วยย่อย' ในโลกคริปโทเคอร์เรนซีเรารู้กันดีว่า 1 เหรียญบิตคอยน์มีมูลค่าสูงมาก โดยตอนนี้มูลค่าอยู่ที่ 1,579,248.53 บาท / 1 บิตคอยน์ (อัตราแลกเปลี่ยนเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2564) นั่นหมายความว่า ถ้าเราต้องการซื้อ บิตคอยน์ 1 เหรียญ เราต้องใช้เงินจำนวน 1,579,248.53 บาท ซึ่งถือว่าต้องใช้เงินจำนวนมากเลยล่ะ แต่เราสามารถซื้อตามกำลังทรัพย์ที่เราอยากลงทุนได้ โดยการซื้อเป็นหน่วยย่อย ซึ่งหมายความว่าแม้เราจะไม่ได้ซื้อบิตคอยน์เต็ม 1 เหรียญก็ตามที แต่เราก็ได้ซื้อส่วนหนึ่งของเหรียญได้ ตามมูลค่าที่เราได้จ่ายไป

อีกด้านหนึ่ง 'การซื้อเป็นหน่วยย่อยไม่สามารถทำได้ในกรณี NFT' เพราะ NFT เป็นเหรียญที่แสดงความเป็นเจ้าของต่อสินทรัพย์ดิจิตัลนั้นๆ นั่นหมายความว่าถ้าเราซื้อภาพวาดศิลปะ NFT มา 1 รูป เราต้องซื้อรูปนั้นแบบเต็มจำนวนหรือ 1/1 หน่วยเท่านั้น เพราะถ้าหากเราซื้อแค่ครึ่งเดียว หรือ ½ หน่วย นั่นเท่ากับว่า เราซื้อภาพมาแค่ครึ่งภาพ ซึ่งเราคิดว่าคงไม่มีใครทำแน่นอน

4. ทำไมถึงนิยมในช่วงนี้

ภาพประกอบข่าวจากเฟซบุ๊คเพจ happening mag เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2564
    แท้จริงแล้ว NFT ถูกพัฒนามาตั้งแต่ปี 2012 ซึ่งเหตุผลที่ทำให้เป็นกระแสโด่งดังในช่วงนี้เป็นผลมาจากการเติบโตของตลาดคริปโทเคอร์เรนซีหรือสกุลเงินดิจิตัล แม้ว่าผลงานศิลปะดิจิทัลในโลกออนไลน์จะไม่สามารถจับต้องได้จริง แต่ผู้คนทั่วโลกต่างให้ความสนใจกับตลาดแห่งนี้เป็นอย่างมาก โดยมีมูลค่าตลาดการซื้อขายแลกเปลี่ยนรวมกว่า 250 ล้านดอลลาร์ 
    ซึ่งอีกหนึ่งเหตุผลมาจากความชื่นชอบและคุณค่าทางจิตใจต่อผลงานนั้นๆ เช่น การสะสมการ์ดนักกีฬา ไอเทมภายในเกม ลายเซ็นบุคคลสำคัญ รูปศิลปะ เป็นต้น ทำให้เกิดการประมูลซื้อขายที่มีมูลค่ามหาศาลได้ บวกกับเหล่าบรรดาศิลปิน นักร้อง หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงต่างก็ช่วยกันขับเคลื่อน NFT ให้เป็นที่รู้จักด้วยเช่นกัน โดยการนำผลงานของตัวเองมาขายแบบ NFT ซึ่งนั่นทำให้แฟนๆ ต่างยอมควักเงินในกระเป๋ามาจ่ายเพื่อให้ได้ผลงานเหล่านั้นมาครอบครอง ซึ่งถือได้ว่ามีมูลค่าทางด้านจิตใจล้วนๆ เลยล่ะ แต่ในมุมมองของนักสะสมหรือนักลงทุนอาจจะซื้อผลงานเหล่านั้นไว้เพื่อเก็งกำไรและขายต่อในอนาคต โดยเหตุผลที่ทำให้งาน NFT เหล่านี้มีคุณค่านั้นเป็นเพียงเพราะ มันมีแค่ชิ้นเดียวในโลกเท่านั้นเอง
    และไม่ใช่แค่ผลงานทางศิลปะเท่านั้นที่สามารถถูกเปลี่ยนเป็น NFT แม้แต่ทวีตแรกสุดของนายแจ็ก ดอร์ซีย์ (Jack Dorsey) ผู้ก่อตั้งทวิตเตอร์ก็ถูกเปลี่ยนเป็น NFT และถูกประมูลขายไปที่ 2.9 ล้านดอลลาร์
    หรือในประเทศไทยเอง Youngohm ศิลปินแร็ปเปอร์ชื่อดังก็ประมูลผลงาน Tagline ใหม่ของตัวเองในแบบ NFT และปิดประมูลในราคา 155,000 บาท เมื่อ 13 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา
5. NFT มาเยือนวงการไหนแล้วบ้าง

    สำหรับสิ่งของที่หายาก มีชิ้นเดียวในโลก และได้รับความนิยมที่สุดคงจะหนีไม่พ้นไปจาก 'วงการศิลปะ' เพราะผลงานแต่ละชิ้นที่ศิลปินสร้างออกมาสามารถนำเสนอเป็น 'เหรียญรางวัลที่ไม่สามารถทดแทนกันได้' ได้ทั้งสิ้น แล้วจากนั้นก็เสนอขายให้กับเหล่าแฟนๆ นักสะสมบนโลกดิจิตัลได้เลย

    หรือจะเป็น 'วงการเกม' อย่างโปเกมอนการ์ดเกมที่มีการ์ดหายากมากมาย ใครที่มีการ์ดเหล่านั้นสามารถนำมาดิจิไทซ์และเสนอขายเป็น NFT ได้เช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้นใน เกม Decentraland ก็เริ่มมีการประมูลซื้อขายที่ดินกันในเกมแบบเอาจริงเอาจังกันแล้ว โดยเงินที่ใช้ซื้อขายนั้นก็ไม่ใช่เงินที่ไหนเลย แต่เป็นคริปโทเคอร์เรนซีนั่นเอง (หรือว่านี่จะเป็นก้าวใหม่ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กันนะ) 

    อีกหนึ่งวงการที่น่าสนใจคือ 'วงการอินฟลูเอ็นเซอร์' ที่ไม่ได้จำกัดแค่ดารา แต่ยังรวมถึงเหล่ายูทูบเบอร์และสตรีมเมอร์ต่างๆ พวกเขาสามารถสร้างห้องจัดอีเวนต์พิเศษให้กับบรรดาแฟนคลับได้เช่นกัน โดยเหล่าอินฟลูอ็นเซอร์สามารถขายสิทธิ์ในการเข้าห้องนั้นในแบบ NFT ซึ่งแฟนคลับคนไหนที่อยากเข้าร่วมอีเวนท์พิเศษนี้จะต้องซื้อ NFT นั้นเพื่อให้ได้สิทธิ์ในการร่วมอีเวนต์ที่ว่านั่นเอง ว่าง่ายๆ ก็คือตั๋วออนไลน์นั่นแหละ แต่เป็นตั๋วออนไลน์สไตล์ NFT

6. NFT กับโลกศิลปะ

    อย่างที่เราเข้าใจกันไปแล้วในหัวข้อก่อนหน้าว่า NFT ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวงการศิลปะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ถ้ามองในมุมของศิลปิน NFT เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับเราเลยล่ะ เพราะสถานการณ์โควิดในปัจจุบัน แม้ว่านิทรรศการศิลปะยังสามารถจัดได้อยู่ แต่ผู้คนส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะเก็บตัวอยู่ในบ้านเพื่อความปลอดภัย ทำให้โอกาสที่จะได้มาพบเจองานศิลปะนั้นน้อยลง และการซื้อขายผลงานก็ลดลงด้วยเช่นกัน 

    แต่ถ้าเราดิจิไทซ์ผลงานชิ้นนั้นแล้วนำไปขายเป็น NFT บนโลกออนไลน์ที่มีผู้คนอยู่มากมาย นั่นเท่ากับว่าต่อให้ผู้คนไม่ออกมาชมนิทรรศการศิลปะข้างนอก แต่พวกเขาก็สามารถรับชมผลงานของเราได้ในพื้นที่จัดแสดงต่างๆ บนเว็บไซต์ออนไลน์ และหากมีคนสนใจผลงานชิ้นนั้น ก็อาจจะเกิดการซื้อขายงานศิลปะโดยที่เราไม่ต้องเจอหน้ากัน และยังช่วยประหยัดต้นทุนส่วนอื่นมากมาย อาทิ ต้นทุนการเก็บรักษา ต้นทุนการขนส่ง เพราะชิ้นงานนั้นอยู่บนโลกดิจิตัลเรียบร้อยแล้ว อย่างล่าสุด ติ๊ก ชีโร่ เปิดตัวผลงานศิลปะชุดใหม่แบบ NFT เป็นครั้งที่ 2 แล้ว เรียกได้ว่า ของเขาดีต้องมีซ้ำ!

    อีกหนึ่งสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ นั่นคือเรื่องของความปลอดภัยและมูลค่า ก่อนที่จะมี NFT ไม่ว่างานศิลปะชิ้นนั้นจะมีมูลค่าสูงแค่ไหนก็ตาม เมื่อนำมาแปลงไฟล์ลงอินเทอร์เน็ตแล้ว ผลงานชิ้นนั้นจะไม่มีมูลค่าในโลกดิจิตัลทันที เพราะผู้คนสามารถคัดลอกผลงานนั้นมาเป็นของตัวเองได้แบบฟรีๆ ทำให้เราไม่สามารถซื้อขายผลงานชิ้นนั้นในโลกดิจิตัลได้ 

    แต่ NFT ทำให้เหตุการณ์แบบนี้ไม่น่ากลัวอีกต่อไป เพราะความปลอดภัยของระบบบล็อกเชนที่เป็นต้นกำเนิด NFT ทำให้ผลงาน NFT มีคุณสมบัติที่ยากต่อการเปลี่ยนแปลง คัดลอก และทำลาย จึงหมายความว่า ถ้าเราแปลงไฟล์ผลงานศิลปะเป็น NFT ไฟล์นั้นจะได้รับการปกป้องจากระบบบล็อกเชน และเป็นของแท้ที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลกดิจิตัล อีกทั้งยังรักษามูลค่าไว้ได้ ซึ่งเท่ากับว่าเราสามารถซื้อขายผลงานศิลปะของเราในโลกออนไลน์ได้แล้วนั่นเอง

    ถ้าพูดโดยสรุปแล้ว NFT เป็นตัวช่วยที่ทำให้การซื้อขายผลงานศิลปะบนโลกดิจิตัลปลอดภัยขึ้น ในขณะเดียวกันก็นำพาให้ศิลปะเข้ามามีบทบาทในโลกออนไลน์ และทำให้ผู้คนเริ่มเข้าถึงศิลปะมากขึ้นด้วยเช่นกัน

7. Crypto Art ผลงานเปลี่ยนชีวิต
ผลงาน Everydays: The First 5000 Day ของศิลปิน Beeple

    คราวนี้เรามาอธิบายกันที่ตัวเนื้องานกันบ้าง มีไฟล์ดิจิตัลหลายอย่างที่เราสามารถเรียกว่า NFT ได้ เช่น ไฟล์วิดีโอ เพลง การ์ดเกม หรือแม้กระทั่ง โพสบนสื่อโซเชียล ในทางศิลปะ ผลงานที่ขายในโลกดิจิตัลก็มีชื่อเรียกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น NFT Art, Crypto Art ไม่ก็ Digital Art และผลงานที่ถือเป็นตัวเปิดฉากให้กับ NFT Art เป็นข่าวไปทั่วโลกคือ Everydays: The First 5000 Day เป็นภาพคอลลาจของศิลปินชื่อ Beeple ซึ่งผลงานชิ้นนี้ทำให้เขารวยกันข้ามคืนไปด้วยยอดประมูลราว 2,100 ล้านบาท ทำให้ศิลปินหลายคนเริ่มให้ความสนใจ NFT และนำผลงานมาวางขายในโลกดิจิตัลมากขึ้น ศิลปินบางคนบรรยายว่าเป็น "วงการที่ไม่ธรรมดาและกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว" ซึ่ง NFT ก็ได้เปลี่ยนชีวิตพวกเขา

    ศิลปินแม่เลี้ยงเดี่ยว อะลานา เอ็ดจิงตัน (Alana Edgington) บอกว่าเธอ "ทำงานศิลปะแบบสนุกๆ" มาตลอดชีวิต และด้วยความที่เป็นคนเก็บตัว เธอจึงไม่เคยเสนอผลงานให้แกเลอรีแห่งใดเลย เธอได้แต่ตั้งหน้าตั้งตาเลี้ยงดูลูก 3 คนด้วยการทำงานหลายอย่าง และเรียนระดับปริญญาด้านวิชาพืชสวน อีกทั้งเป็นหนี้บัตรเครดิต

    เมื่ออะลานาค้นพบว่าเธอสามารถขายภาพวาดสีน้ำมันบนผืนผ้าใบของเธอได้ทางออนไลน์ เธอจึงมีความหวังว่าน่าจะทำเงินได้สัก "500 ดอลลาร์" แต่กลับกลายเป็นว่า มีคนเข้ามาประมูลภาพของคุณแม่ลูกสามคนนี้จนมีมูลค่าหลายพันดอลลาร์สหรัฐฯ ในการประมูลขายภาพทางออนไลน์ครั้งแรกของเธอ และเธอขายภาพได้ทั้งหมด 16 ภาพ ได้เงินมา 100,000 ดอลลาร์แคนาดา (ประมาณ 2.47 ล้านบาท) ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่เธอเรียกว่า "ตื่นเต้นอย่างสุดขีด"

    "การได้เห็นคนเข้ามาซื้อผลงานศิลปะของฉันจริงๆ เป็นประสบการณ์ที่เหนือจริงมาก ซึ่งฉันไม่เคยได้พบเห็นมาก่อนในชีวิต" ศิลปินหญิงวัย 35 ปีจากเมืองออนแทรีโอกล่าว ความสำเร็จของอะลานาทำให้ชีวิตของเธอ "เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง" เธอสามารถจ่ายหนี้บัตรเครดิตทั้งหมดได้ จ่ายค่าเรียนมหาวิทยาลัยได้ และยังพาครอบครัวย้ายออกจากเมืองไปอยู่บ้านหลังที่ใหญ่ขึ้นในชนบทได้ด้วย

8. สุนทรีย์ในโลกดิจิตัล
    ในตอนที่ NFT ได้รับความนิยมใหม่ๆ มีผู้คนมากมายตั้งคำถามเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ว่า 'เราต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อสิ่งเหล่านี้ทำไม? ทั้งที่เราสามารถดาวน์โหลดมันได้ฟรีๆ บนโลกดิจิตัล'
    อย่างที่เราทราบกันดีว่าชิ้นงานส่วนใหญ่ใน NFT เป็นผลงานศิลปะแบบดิจิตัลที่มีเพียงชิ้นเดียว ซึ่งอาจทำให้ใครบางคน รัก ชื่นชอบ และเห็นถึงคุณค่าของมัน จนพร้อมที่จะควักเงินจ่ายเพื่อให้ได้ครอบครองผลงานเหล่านี้ ดังนั้นมูลค่าของมันจึงไม่ได้วัดกันที่ความคุ้มค่า แต่วัดกันที่ 'ความพึงพอใจ' ระหว่างเจ้าของผลงาน กับผู้ซื้อหรือผู้ประมูล ซึ่งนอกเหนือจากคุณค่าทางใจแล้ว หากผลงานชิ้นนั้นๆ ได้รับความสนใจมากขึ้นในอนาคต ตัวผู้ถือครองก็สามารถจำหน่ายมันเพื่อเก็งกำไรในอนาคตได้อีกต่างหาก เรียกได้ว่า ได้ใจแล้วยังได้เงินอีก
9. ว่าด้วยเรื่อง ความเป็นเจ้าของที่ได้ NFT มาครอบครอง
    หลังจากผู้ซื้อได้ซื้อผลงาน NFT จากศิลปินแล้ว ผู้ซื้อคนนั้นจะได้กรรมสิทธิ์การเป็นเจ้าของในการครอบครองผลงานชิ้นนั้นแต่เพียงผู้เดียว แต่สิทธิ์ที่ว่านี้จะมีผลเฉพาะต่อผลงาน NFT บนโลกดิจิตัลเท่านั้น และศิลปินที่วาดผลงานชิ้นนี้ก็สามารถนำผลงานจริงไปขายในโลกแห่งความจริงได้เช่นกัน ในขณะเดียวกันก็มีระบบที่ช่วยแบ่งรายได้ให้กับศิลปินในทุกๆ ครั้งที่มีการเปลี่ยนมือเจ้าของอีกด้วย ว่าง่ายๆ อาจจะคล้ายกับว่า ผู้ซื้อจะได้กรรมสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของผลงาน NFT ชิ้นนั้น แต่ลิขสิทธิ์ยังเป็นของศิลปินผู้ที่สร้างมันขึ้นมา
    อีกหนึ่งเรื่องที่ชวนสงสัย นั่นคือ 'ถ้าเราได้เป็นเจ้าของผลงานชิ้นนั้นแล้ว แต่ยังสามารถโดนคนอื่นดาวน์โหลดไปได้อยู่ไหม?' คำตอบคือ 'ยังได้อยู่' คนอื่นก็ยังคงสามารถกดคลิก Save as ดาวน์โหลดผลงานศิลปะ ภาพ วิดีโอ ฯลฯ ที่เราเป็นเจ้าของได้ตามปกติ หากมีการนำมาเผยแพร่ แต่พวกเขาก็ไม่ได้ 'สิทธิ์' การเป็นเจ้าของผลงานชิ้นนั้น และการเป็นเจ้าของเหรียญโทเคนผลงานชิ้นดังกล่าวบนบล็อกเชนอย่างเต็มภาคภูมิ ถ้าหากพูดแบบคนมีความรักคงจะได้ประมาณว่า 'ไม่ว่าเธอจะอยู่กับใคร แต่ในใจมีแค่เราเพียงคนเดียว'
10. แหล่งตลาดของชาว NFT

    หลังจากที่เรารู้กฎเกณฑ์และเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับ NFT แล้ว คราวนี้เราจะมาร่วมกันทำความรู้จักกับตลาดแหล่งซื้อขาย NFT ที่ตั้งในโลกออนไลน์ก่อนที่เราจะนำผลงานไปวางขาย และเนื่องจาก NFT พัฒนามาจากบล็อกเชนเหมือนกับคริปโทเคอร์เรนซี ดังนั้นในเว็บไซต์ต่างๆ ที่เป็นตลาดซื้อขาย NFT ก็จะใช้คริปโทเคอร์เรนซีในการซื้อขาย ขณะเดียวกันเว็บไซต์ต่างๆ จะมีค่าแรกเข้าของตัวเองเรียกว่า ค่าธรรมเนียม (Gas Fee) ซึ่งรูปแบบการจ่ายก็ขึ้นอยู่กับเว็บไซต์นั้นๆ

1. OpenSea

    เริ่มกันที่ OpenSea ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นตลาด NFT แห่งแรกของโลกที่ให้ผู้ใช้สามารถแลกเปลี่ยน NFT จากหลายๆ เครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นผลงานศิลปะ ไอเทมจากเกม ของสะสม หรืออะไรก็ตามที่เป็นโทเคนแบบ NFT นอกจากซื้อขาย NFT ตามราคาที่ตั้งแล้ว ผู้ใช้ยังสามารถเปิดประมูล NFT ได้อีกด้วยเช่นกัน OpenSea มีการจ่ายค่าธรรมเนียมเพียงครั้งเดียวประมาณ 143 ดอลล่าสหรัฐ (ประมาณ 4,500 บาท) เรียกได้ว่าจ่ายก้อนใหญ่ทีเดียวจบ ซึ่งจะเหมาะกับคนที่ต้องการจะเป็น NFT Artist แบบจริงจัง

2. SuperRare

    SuperRare เป็นแพลตฟอร์มให้เหล่าศิลปินและนักสะสมสามารถแลกเปลี่ยนผลงานศิลปะโดยใช้ Smart Contract บนระบบบล็อกเชน ตามข้อมูลของเว็บไซต์ nonfungible.com เว็บ SuperRare มีมูลค่าซื้อขายรวมกันในตลาดมากถึง 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.24 แสนล้านบาทไทย

3. Rarible

    เป็นเว็บไซต์ซื้อขาย NFT คล้ายๆ กับ Opensea แต่มีอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่น่าสนใจคือการเผาชิ้นงาน NFT เพื่อลบออกจากบล็อกเชนหากเจ้าของงานศิลปะตัดสินใจว่าต้องการนำงานออกจากแพลตฟอร์ม และ Rarible จะมีการแบ่งจ่ายค่าธรรมเนียมในทุกๆ ครั้งที่ผลงานของเราขายออก ซึ่งจะเหมาะกับคนที่อยากลองขายชิ้นงาน NFT แบบเป็นครั้งคราวเท่านั้น

    นอกจากนี้ยังมีเว็บไซต์อีกมากมายที่ซื้อขาย NFT และในไทยเองก็มีหลายบริษัทที่กำลังจะเปิดตลาด NFT เป็นของตัวเองด้วย! Binance กล่าวว่า การเปิดตลาดนี้เป็นความเคลื่อนไหวในเชิงกลยุทธ์ และเป็นเป้าหมายขององค์กรในการสร้างแพลตฟอร์มการซื้อ-ขาย NFT ที่ใหญ่ที่สุดในโลก หรือบริษัทที่มีสโลแกนคุ้นหูอย่าง 'นึกถึง Bitcoin คิดถึง Bitkub' ได้นำ NFT มาพัฒนาและผลิตการ์ดสะสม Fan Token ที่เป็นการ์ดดิจิตัลที่รวบรวมเหล่ายูทูบเบอร์ชื่อดัง เช่น บี้ เดอะ สกา, คิวเทโอ้ปป้า และเก๋ไก๋ สไลเดอร์ เป็นต้น อีกด้านหนึ่งก็ร่วมมือกับอีสปอร์ตเปิดตัวการ์ดสะสมที่รวบรวมเหล่าเกมเมอร์ในตำนานไว้มากมายในงาน PUBG Thailand Open Summer 2021: Road to PCS 4 APAC presented by Bitkub

Extra: How to ขายงาน NFT

    ถึงแม้จะครบ 10 ข้อไปแล้ว แต่ด้วยความที่อดใจไม่ได้ เราเลยเพิ่มเนื้อหาใหม่ให้กับผู้ที่อยากนำผลงานต่างๆ ทั้งภาพวาด เพลง หรือคลิปวิดีโอมาวางขายที่ตลาด NFT ซึ่งคราวหน้านี้เราจะพาทุกคนไปเรียนรู้การขายผลงานบนโลกดิจิตัลแบบนี้กัน ซึ่งจะมี 3 ขั้นตอนหลักตามนี้เลย

1.จ่ายเงินเพื่อเข้าสู่โลก NFT

    ขั้นตอนนี้ทางเว็บไซต์ต่างๆ จะให้เราสมัครบัญชีเงินดิจิตัลที่เรียกว่า wallet และเติมเงินเข้าบัญชีเพื่อจ่ายค่าธรรมเนียม และอย่างที่เราบอกไว้ในหัวข้อก่อนหน้าว่าเงินที่ใช้ในการซื้อขายในเว็บเหล่านี้คือ สกุลเงินดิจิตัล หรือ คริปโทเคอร์เรนซี ดังนั้นเงินที่เติมเข้า wallet ก็ต้องเป็นเงินดิจิตัลด้วยเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เงินสกุลอีเธอเรียม (Ethereum) และวิธีแลกเงินก็มีอยู่ด้วยกัน 2 วิธี

    1) ผูกบัตรเดบิตของเราไว้กับ wallet ของเว็บไซต์ แล้วแปลงเป็นเงินดิจิตัลเพื่อนำไปจ่ายค่าธรรมเนียม

    2) ใช้แอพเทรดดิ้งอย่าง Bitkub หรือ Binance เป็นตัวช่วยในการนำเงินจริงไปแลกซื้อเงินดิจิตัล แล้วโอนเงินดิจิตัลก้อนนั้นเข้าสู่บัญชี wallet ของเรา จากนั้นก็นำไปจ่ายค่าธรรมเนียมกันได้เลย

2. เข้ามาแล้ว ลงงานได้เลย!

    หลังจากที่เราจ่ายค่าธรรมเนียมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เราก็สามารถเข้าสู่เว็บไซต์และลงผลงานของเราได้เลย ซึ่งจริงๆ แล้วขั้นตอนก็คล้ายๆ กับการอัพโหลดไฟล์ลงในโปรแกรมต่างๆ นี่แหละ โดยตัวเว็บไซต์รองรับไฟล์ทั่วไปไม่ว่าจะเป็น JPG / PNG / AI / PSD หรือไฟล์ MP4 สำหรับวิดีโอ ซึ่งถ้าใครมีไฟล์ดิจิตัลของผลงานชิ้นนั้นแล้วก็สามารถอัพโหลดลงเว็บไซต์ได้เลย แต่ถ้าใครมีเพียงผลงานจริงก็สามารถนำผลงานนั้นไปแปลงเป็นไฟล์ดิจิตัลก่อน ทั้งการถ่ายรูป (ควรมีความละเอียดสูง) หรือสแกนเข้าคอมพิวเตอร์ จากนั้นจึงอัพโหลดไฟล์เป็นอันเสร็จขั้นตอน

3. ตั้งราคาแล้วขาย

    พออัพโหลดผลงานลงเว็บไซต์แล้ว คราวนี้เราจะมาตั้งราคากัน ซึ่งเงินที่ใช้ตั้งราคาจะเป็นเงินดิจิตัลในสกุลต่างๆ แต่หลักๆ คืออีเธอเรียม โดยการตั้งราคานั้นจะมีด้วยกัน 2 วิธีคือ 

    1) ตั้งราคาขายตามความพอใจของเราได้เลย (Set Price)

    2) เปิดประมูลผลงานตามระยะเวลาที่กำหนด (Auction highest bid) ซึ่งใครที่ประมูลในราคาสูงสุดเป็นคนสุดท้ายก่อนเวลาหมดก็จะได้งาน NFT ชิ้นนั้นไปครอบครอง 

    นอกจากนี้เจ้าของผลงานยังสามารถเพิ่มความสนใจให้กับชิ้นงานได้โดยการเพิ่มไอเท็มต่างๆ ที่อยู่นอกเหนืองานชิ้นหลักได้ ว่าง่ายๆ ก็คือของแถมนั่นแหละ ซึ่งของแถมที่ว่านี้อาจจะเป็นไฟล์ภาพดราฟต์ครั้งแรกของผลงานที่นำมาขาย หรือเป็นไฟล์อัดเสียงเพลงครั้งแรกของวงก็ได้สำหรับวงดนตรี 

    หลังจากที่ทุกขั้นตอนเสร็จสิ้นแล้ว เราก็แค่รอให้ผู้คนมาซื้อผลงานของเรา ซึ่งจะช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับเทคนิคการขายของแต่ละคนแล้วล่ะ

    และนี่คือ 10 (+1) เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับ NFT ซึ่งถึงแม้ว่าตอนนี้ NFT ยังถูกจำกัดเป็นเพียงสินทรัพย์ดิจิตัลและถูกใช้ในบางวงการ แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ เราอาจจะได้เห็น NFT ถูกนำมาใช้ในโลกความเป็นจริงและเป็นส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไปเลยก็ได้ 

    หรือว่า NFT จะไม่ได้เปลี่ยนแค่ศิลปะ แต่เป็นโลกทั้งใบ

รุ่งโรจน์ ดิษทับ

นักศึกษาฝึกงานจากย่านพัฒนาการ ชอบท่องเที่ยวไปยังสถานที่ที่ไม่เคยไปพร้อมกับมอเตอร์ไซค์คู่ใจ การพบปะผู้คนใหม่ๆ คือความสุขของผม และที่ขาดไม่ได้ โปรดเรียกผมว่า 'ลุงเบนซ์'

สิรินญา บุญสิทธิ์

นักวาดภาพประกอบขี้สงสัย ที่ยังมีคำถามคาใจว่า 'หมอวัตสันเป็นอะไรกับเอ็มม่า วัตสัน?'