ABEARABLE: แบรนด์นี้หมีความสุขมาฝาก

    ABEARABLE เป็นแบรนด์ที่เริ่มต้นจากการที่พี่สาว บูม-บรกรณ์ หลงสวาสดิ์ ชวนน้องสาว บุ๊ค-ญาณกาญจน์ หลงสวาสดิ์ มาทำเสื้อยืดลายหมีมาวางขายในงาน Fat T-Shirt Festival (2551) ของคลื่น Fat Radio ดูสักครั้ง ก่อนที่จะขายดิบขายดีจนต้องทำเสื้อยืดออกมาขายทุกปี แล้วมีลูกค้าติดตามสินค้าใหม่ๆ ของแบรนด์อยู่เสมอ
    นอกเหนือจากการออกแบบเสื้อยืดลวดลายหมีกวนๆ ที่ชวนให้คนเห็นยิ้มได้แล้ว อีกสิ่งที่ทำให้คนจดจำ ABEARABLE ได้คือ เสื้อยืดเปลี่ยนสี ที่เพิ่มความสนุกด้วยภาพหรือคำปรากฏขึ้นเมื่อสัมผัสแสงแดดร้อนๆ หรือเมื่ออยู่ในห้องปรับอากาศเย็นๆ ที่ทำให้คนชอบสวมใส่เสื้อยืดต้องหยุดมองและเข้ามาถามเรื่องราวของเสื้อยืดอยู่เสมอ
    แล้วความสุขของการทำเสื้อยืดขายปีละครั้ง ก็พบกับจุดเปลี่ยนที่ทำให้บุ๊คหันมาทำแบรนด์จริงจัง และมี ณัฐ-ณัฐ คงวิชาไพสิฐ เข้ามาร่วมเป็นทีมงานหลักของแบรนด์เพิ่มอีกคน จนนำมาสู่การขยายพื้นที่ให้หมีสามารถเล่าเรื่องราวสนุกๆ ของตัวเองไว้บน กระเป๋าผ้า หมวก ถุงใส่แก้ว หน้ากากผ้า สติกเกอร์ มาสกิ้งเทป และสิ่งของอื่นๆ ที่หมีสามารถเข้าไปอยู่ได้

    ความน่าสนใจของแบรนด์ ABEARABLE ทำให้ happening หาโอกาสชวนพวกเขามาเล่าเรื่องราวของหมี ที่มีจุดเริ่มต้นจากความชอบ ความสนุก และความสุขให้เราฟัง

หมีความชอบ จนเป็น ABEARABLE
    สองตัวแทนของ ABERABLE บุ๊คและณัฐผลักประตูออฟฟิศ happening เข้ามาทักทายพร้อมกับถุงสินค้า พวกเขานำเสื้อยืดลาย How (not) to Wear Your Mask กระเป๋าผ้า Tuk Tuk, Wait for Me! กระเป๋าหิ้วแก้ว I Like You More Than Bubble Milk Tea และสินค้าอื่นๆ มาวางบนโต๊ะทีละชิ้นก่อนเริ่มคุย เพื่อให้เรื่องเล่าของพวกเขากลายเป็นภาพจริงที่จับต้องได้
    บุ๊คเล่าให้ฟังว่า สมัยเรียนอยู่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชาศิลปอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พี่สาวชวนไปทำเสื้อยืดออกขายครั้งแรกในงาน Fat T-Shirt Festival ซึ่งแบรนด์นี้เคยใช้ชื่อว่า BOO ที่มาจากตัวสะกดชื่อของบุ๊คและบูมมาก่อน แต่เมื่อนำเสื้อยืดไปขายในงานปีต่อมา มีคนเข้ามาถามว่า นี่ใช่เสื้อยืดของ บู้ วงสเลอ (Slur) (ธนันต์ บุญญธนาภิวัฒน์ มือเบสวงสเลอ) รึเปล่า จึงทบทวนว่าชื่อเดิมอาจทำให้คนสับสน แล้วเปลี่ยนมาใช้ชื่อแบรนด์ว่า ABEARABLE จนทุกวันนี้
    พื้นฐานที่เรียนออกแบบมาทำให้เธอเริ่มคิดสร้างเป็นแบรนด์ตั้งแต่แรก โดยโลโก้รูปหมีที่เธอออกแบบไว้ตอนทำเสื้อขายครั้งแรก ยังคงเป็นโลโก้ที่แบรนด์ใช้มาจนปัจจุบัน "ตอนนั้นลองหุ้นกับพี่ทำขำๆ แล้วขายดีกว่าที่คิด เพราะบุ๊คทำเสื้อเป็นธีมหมีหมดเลย ช่วงนั้นยังไม่ค่อยมีใครออกแบบเสื้อที่ออกมาเป็นธีมเดียวเท่าไร เพราะเราอยากให้คนจำได้ว่าแบรนด์นี้ทำเสื้อหมี"

    ส่วนเหตุผลที่นำหมีมาทำเสื้อของเธอก็ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน "เพราะว่าชอบอย่างเดียวเลย" บุ๊คยิ้มแล้วตอบอย่างอารมณ์ดี "ตอนแรกคุยกันว่าทำอะไรดี หมีไหม คือถ้าเจ๊งก็เลิก เพราะทำขายในงานอีเว้นต์อยู่แล้วไงคะ แต่ว่าพอทำไปเรื่อยๆ มันก็ได้อยู่ค่ะ บุ๊คเลยทำเฉลี่ยปีละครั้งมานานมาก" ก่อนจะมาเริ่มทำแบรนด์เต็มตัวหลังจากเสื้อยืด Bear Love Sunshine และ Don't Let Me Cry ได้รับรางวัล Design Excellence Award 2016 (DEmark) ซึ่งเป็นรางวัลในโครงการของ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ที่มอบให้กับสินค้าไทยที่มีการออกแบบดีเป็นประจำทุกปี

เสื้อ Don't Let Me Cry ที่หากอยู่ในห้องปรับอากาศที่อุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศามากๆ น้ำตาของหมีจะเข้มขึ้นเรื่อยๆ

    เมื่อเริ่มทำแบรนด์เป็นธุรกิจจริงจังแล้ว บุ๊คยังคงมีบทบาทเป็นผู้ออกแบบลาย โดยมีบูมและณัฐเป็นที่ปรึกษาช่วยแสดงความคิดเห็น ส่วนณัฐที่เป็นคนละเอียดก็รับหน้าที่ดูแลสต็อกสินค้า รวมถึงเป็นแบบสวมหัวหมีเพื่อถ่ายรูปสินค้าให้ได้เห็นกันอยู่บ่อยครั้งนั่นเอง

หมีความสนุก เสมอในสินค้าของ ABEARABLE
    ชื่อแบรนด์ ABEARABLE มาจากคำว่า a bear และ able รวมกัน โดยบุ๊ควางคอนเสปต์ของแบรนด์ไว้ว่า 'หมีที่สามารถทำอะไรก็ได้' นอกจากลวดลายหมีที่ทั้งน่ารักและกวนชวนยิ้มแล้ว การเปลี่ยนสีได้เป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่ทำให้คนจดจำแบรนด์นี้ได้ด้วย เมื่อพูดถึงเอกลักษณ์นี้ของแบรนด์ ณัฐก็นำไฟฉายยูวีออกมาส่องลายบนกระเป๋าให้เราเห็นสีที่เปลี่ยนแปลงทันที
    ไอเดียสร้างสรรค์สินค้าเปลี่ยนสีได้นี้มีที่มาจากหัวข้อวิทยานิพนธ์สมัยเรียนของบุ๊ค ที่ออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอสำหรับโรงแรมให้ผ้าหุ้มโซฟาหรือบีนแบ็คสามารถเปลี่ยนสีเมื่อมีคนมานั่ง สำหรับสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับนักเดินทางที่มาเข้าพักนั้นเอง "ตอนนั้นมีข้อมูลของสีตัวหนึ่งที่คิดออกมาเพื่อการใช้งานที่ประเทศญี่ปุ่น เวลาคนเข้าห้องน้ำสาธารณะ เขาจะไม่ชอบฝารองนั่งอุ่นๆ ที่มีคนเข้าก่อนหน้าเพิ่งลุกไป ดังนั้นเมื่อใช้สีตัวนี้บนฝารองนั่ง สีที่เปลี่ยนไปตามอุณหภูมิจะบอกได้ว่าเพิ่งมีคนใช้งาน ซึ่งสีนี้ถูกใช้เชิงฟังก์ชั่น แต่ตอนทำธีสิสหัวข้อเคหะสิ่งทอที่ใช้ตกแต่งโรงแรม เราอยากนำมาใช้ออกแบบเพื่อความสนุก โรงแรมเน้นลูกค้าแบบแบ็คแพ็คเกอร์เขาต้องการความตื่นเต้น เราเลยออกแบบที่หุ้มโซฟาและบีนแบ็ค ที่จะเปลี่ยนสีเวลาที่มีคนมานั่ง แล้วพี่บูมก็เลยถามว่า ทำไมไม่ลองเอามาทำเป็นเสื้อยืด เราเลยลองดู"
    เมื่อนำสีเปลี่ยนได้มาใช้กับเสื้อยืดจึงทำให้คนจำได้ แล้วเริ่มมีคนถามหาเสื้อเปลี่ยนสีมากขึ้นเรื่อยๆ ก่อนที่จะขยับขยายไปสู่สินค้าอื่นๆ ของแบรนด์ในเวลาต่อมา
กระเป๋าหิ้วแก้ว I Like You More Than Bubble Milk Tea เป็นอีกหนึ่งสินค้าที่ได้รับความนิยมในกลุ่มลูกค้าชาวไต้หวัน
    "มันเริ่มจากเราอยากให้คนสนุกกับของที่ตัวเองใช้ ถ้าคนใส่เสื้อยืดปกติ แต่ถ้าเราสามารถสนุกกับสิ่งที่สวมใส่ได้ด้วยจะเป็นอย่างไร มันเป็นความรู้สึกที่จุดประกายความสุขบางอย่างในชีวิต ทำให้คนรู้สึกประหลาดใจ เหมือนเวลาออกบูทแล้วเราได้อธิบายให้คนฟังว่ามันเปลี่ยนสีได้ เขาจะ อุ๊ย! แล้วแววตาวิ้งขึ้นมา บุ๊คคิดว่าความรู้สึกนี้มีความหมาย" ระหว่างเล่าถึงความรู้สึกที่คนได้รับจากเสื้อยืด กระเป๋า และสินค้าอื่นๆ ที่เปลี่ยนสีได้ให้ฟัง เราก็เห็นแววตาเป็นประกายของเธอไปด้วย
    ความสนุกของ ABEARABLE ไม่ได้อยู่ที่การเปลี่ยนสีของสินค้าเท่านั้น แต่วิธีการคิดและการออกแบบลวดลายก็ทำให้คนใช้และคนที่พบเห็นสนุกได้เหมือนกัน
    บุ๊คเล่าถึงคาแรกเตอร์ของหมีแบรนด์นี้ให้ฟังว่า "เป็นหมีไม่ทราบอายุที่ชอบทำอะไรเหมือนคน แล้วกวนประสาทนิดๆ วันหนึ่งอาจจะลุกขึ้นไปโบกตุ๊กๆ แต่งตัวเป็นพนักงานออฟฟิศแล้วมานั่งทำงานกับคน มันคิดว่าการเป็นหมีก็แค่ออกไปจับปลาหาอะไรกินเป็นวันๆ เลยชอบเลียนแบบคนเพราะรู้สึกว่าเป็นคนสนุกดี แล้วเป็นหมีที่ชอบกิน ชอบเที่ยว ชอบไปเจอสิ่งใหม่ๆ อย่างเมื่อก่อนชอบกินน้ำผึ้ง ชอบกินแซลมอน แต่เดี๋ยวนี้ชอบกินชาไข่มุก แล้วก็เป็นหมีที่ตื่นเต้นและตกใจง่ายด้วย มันเลยเปลี่ยนสี"

    เธอเล่าให้ฟังว่ามีลายหนึ่งที่มีคนถามถึงตลอด คือ Raindrops Keep Falling on My Head ที่เป็นลายแมวตกลงมาเป็นฝน แล้วมานั่งอยู่บนหัวหมี "ลายนี้เป็นลายที่ไม่ได้คิดอะไรเลย แค่คิดว่าอยากวาดอย่างอื่นมาเป็นเพื่อนหมีบ้าง เราแค่อยากให้มีสัตว์อื่นอยู่บนเสื้อด้วย กลายเป็นว่าลายนี้ขายดีมากจนทุกวันนี้ ส่วนช่วงนี้อินเสื้อยืดที่เป็นลายหมี 3 ตัว เพราะบุ๊คไปเจอรูปหนึ่งบนอินเทอร์เนตที่เป็นคนใส่แมสก์แบบผิดๆ เลยชอบมาก คิดว่าเป็นลายที่เตือนเราเวลาออกจากบ้านว่า อย่าใส่หน้ากากแบบนี้เพราะมันไม่ได้ช่วยอะไรเลย" แล้วเธอยังเล่าถึงลายต่างๆ อย่างสนุกสนาน เราจึงไม่แปลกใจว่าทำไมถึงรู้สึกสนุกทุกครั้งที่ได้เห็นของใหม่ๆ จาก ABEARABLE

หมีความสุข เมื่อรู้จักกับ ABEARABLE
    นับตั้งแต่วันที่เริ่มออกแบบเสื้อยืดลายหมีนำออกขายครั้งแรก จนถึงปัจจุบันที่ ABEARABLE ออกแบบสินค้ากว่าสิบประเภทออกมาให้เลือกซื้อหาตามไลฟ์สไตล์แล้ว มีหลายสิ่งหลายอย่างที่พวกเขาเรียนรู้และนำมาปรับใช้กับการทำงานมากเหมือนกัน
    บุ๊คใช้เวลาทบทวนสักพักก่อนจะพูดถึงแนวคิดการทำแบรนด์ในปัจจุบันว่า "สมัยที่ยังทำปีละครั้งอยู่ก็ทำตามใจตัวเองกับพี่สาวที่หุ้นกัน ไม่ได้คิดเชิงธุรกิจมากเพราะทำปีละครั้ง ถ้าเจ๊งก็ไม่เจ็บตัวมาก แต่ตั้งแต่ลุกขึ้นมาทำแบรนด์เต็มตัว แนวคิดในการทำงานเปลี่ยนค่อนข้างเยอะเหมือนกัน เพราะต้องคิดถึงลูกค้าว่าเขาอยากได้อะไร เขาน่าจะชอบอะไร เขาน่าจะแฮปปี้กับการใช้ของแบบไหน เราจะแก้ปัญหาที่เขามีอยู่ได้อย่างไรบ้างค่ะ แต่ว่าเราไม่ได้ทำในสิ่งที่เขาอยากเห็นเท่านั้น เราจะใส่ความเป็น ABEARABLE ลงไปด้วย แนวคิดในการทำงานคือ สถานการณ์นี้ในมุมของหมีจะเป็นอย่างไร ที่เราจะใช้ใส่ความเป็นตัวเราเข้าไปในทุกลายที่ออกแบบค่ะ"

    กว่าที่แบรนด์จะเป็นที่รู้จักอย่างทุกวันนี้ ABEARABLE ก็เป็นเช่นเดียวกับแบรนด์อื่นๆ ที่เมื่อสร้างสรรค์ผลงานน่าสนใจแล้วประสบความสำเร็จ ก็มักจะเจอปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมา เธอจึงให้ความสำคัญกับการสื่อสารเรื่องราวของสินค้าและการแนะนำประสบการณ์ใช้งานที่ถูกต้องให้กับลูกค้าเสมอ "เราต้องคิดว่าอยากจะพูดอะไรกับลูกค้า คือมันมีทั้งแมสเสจใหญ่ที่เป็นตัวครอบแบรนด์อยู่ กับแมสเสจย่อยที่เป็นเรื่องราวแต่ละคอลเล็กชั่น ถ้าคิดเรื่องแบรนด์ แบรนด์เราน่าจะพูดเรื่องอะไร หมีของเราเป็นแบบไหน ชอบอะไร หรือว่าใช้ชีวิตยังไง อันนี้คือเรื่องใหญ่ ส่วนเรื่องเล็กเป็นนิสัยย่อยๆ ของหมีตัวนี้ ที่จะทำแบบนี้ แล้วจะรู้ว่าแบรนด์นี้สามารถทำอะไรได้บ้าง หรือทำอะไรไม่ได้" เป็นการสร้างคุณค่าและความรู้สึกผูกพันระหว่างลูกค้า ที่ช่วยให้คนอยากสนับสนุนแบรนด์ได้จริงๆ

    ความชัดเจนของ ABEARABLE ทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่มีความเห็นว่า สินค้าที่ทางแบรนด์ออกแบบมาน่ารัก ใช้งานง่าย แปลกใหม่ และสร้างความรู้สึกประทับใจให้กับทั้งผู้ใช้และผู้พบเห็น นอกจากนั้นยังเหมาะสำหรับการมอบให้กันเป็นของขวัญ ที่ทำให้ผู้รับมีความสุขอีกด้วย
    "เรารู้สึกว่าสถานการณ์รอบตัวทุกวันนี้ส่งผลให้เกิดความเครียดง่ายมาก แล้วบุ๊คคิดว่าการมีของเพี้ยนๆ อะไรแบบนี้อยู่ อาจจะเป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้คนเครียดน้อยลงได้นะ ถ้าได้เห็นของอะไรแบบนี้แล้วมีคนแฮปปี้ขึ้นมาในวินาทีหนึ่งในหนึ่งวันนั้นก็ยังดี เราอยากให้แบรนด์เราเป็นความสุขเล็กๆ ในชีวิตประจำวันของคนค่ะ" บุ๊คเล่าถึงความรู้สึกที่ผลักดันให้เธอทำแบรนด์ ABEARABLE ต่อไป
    ทั้งความสุขของคนทำแบรนด์ ผู้ใช้สินค้า และผู้พบเห็น เป็นความสุขที่ได้รับจากหมีที่ออกมาใช้ชีวิตแล้วทำหลายสิ่งหลายอย่างให้เรายิ้มได้จริงๆ



    แบรนด์ ABEARABLE เริ่มนำสินค้ามาวางจำหน่ายที่ happening shop สาขา bacc เป็นที่แรก ก่อนที่จะขยายสินค้าไปวางที่ซีเลกต์ช็อปแห่งอื่นๆ และเป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยมจากทั้งคนไทยและชาวต่างชาติเสมอมา สามารถชมสินค้าบางส่วนของแบรนด์ ABEARABLE ที่นี่

ดุสิตา อิ่มอารมณ์

นักเขียน ผู้ใช้พื้นที่ในเวลาว่างไปกับการอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ขี่จักรยาน อ่านการ์ตูน เล่นเลโก้ ฯลฯ โดยเชื่อเต็มหัวใจว่าเวลาที่หมดไปกับความรื่นเริงนี้สามารถเติมเต็มชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วรรณวนัช บูรพาเดชะ

ที่ปรึกษาทีม happening shop, เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก 'ญี่ปุ่นอุ่นอุ่น', นักเขียน ช่างภาพโฟโต้บุ๊ก 'Nagasaki Light' และไกด์บุ๊ก 'Kagawa Memories' นอกจากภาพถ่ายและงานเขียน สิ่งที่เธอสนใจเป็นพิเศษคือการนั่งสมาธิและการโปรยมุขไม่ขำ