การเดินทางของนักอ่านอาจจะต่างจากนักท่องเที่ยวสักหน่อย เพราะเมื่อเริ่มอ่านคำบนหน้ากระดาษมาประกอบเป็นประโยค ภาพฉากและผู้คนจะปรากฏขึ้นในจินตนาการ ก่อนกระบวนการทางความคิดจะกลั่นกรองพฤติกรรมของตัวละครและสถานการณ์ต่างๆ เป็นเรื่องราวที่พาผู้อ่านก้าวเข้าไปสู่โลกของหนังสือเล่มนั้น
สำหรับนักอ่านสายวรรณกรรม เมื่อสั่งสมประสบการณ์การอ่านไประยะหนึ่งแล้วอาจพบอุปสรรคคล้ายๆ กันคือ ข้อจำกัดด้านเวลาและกำแพงภาษาที่กั้นขวางไม่ให้เดินทางไปรู้จักกับหนังสือจากมุมอื่นของโลกอยู่
แต่เมื่อใครได้มีโอกาสทำความรู้จักกับสำนักพิมพ์ขนาดเล็กอย่าง ไลบรารี่ เฮ้าส์ (Library House) เข้าสักครั้งจะพบว่า สำนักพิมพ์แห่งนี้สรรหาหนังสือจากหลายประเทศมาแปลให้อ่านกันอย่างเต็มอิ่ม ไม่ว่าจะเป็นผลงานเรื่องสั้นคัดสรรของนักเขียนขึ้นหิ้งจากศตวรรษที่ 19 ทั้งจากฝั่งยุโรปและอเมริกาอย่าง ฟรันซ์ คาฟคา, วิลเลียม โฟล์คเนอร์, เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์, เอฟ. สก็อตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์, เวอร์จิเนีย วูล์ฟ และ ออสการ์ ไวลด์ ที่จัดพิมพ์หน้าปกสีสันสดใสมาให้พกไปอ่านกันในขนาดกระทัดรัด หรือปรับอารมณ์มาสัมผัสกับ มาร์กาเร็ต แอ็ตวูด นักเขียนร่วมสมัยชาวแคนาดาผู้มีผลงานดิสโทเปียที่โด่งดังอย่าง เรื่องเล่าของสาวรับใช้ (The Handmaid's Tale) กับนวนิยายภาคต่อ คำให้การจากพยานปากเอก (The Testaments) มาให้อ่านกันอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะข้ามมาทำความรู้จักวัฒนธรรมฝั่งลาตินอเมริกาในหนังสือ กาบริแอลา กานพลู และอบเชย (Gabriela, Cravo E Canela) วรรณกรรมขนาดห้าร้อยกว่าหน้าจาก ฌอร์จ อะมาดู นักเขียนหัวขบถชาวบราซิลผู้ใช้งานเขียนเป็นเครื่องมือต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ แล้วยังมีหนังสือ บัญญัติสี่สิบประการแห่งรัก (The Forty Rules of Love) ขนาดกว่าสี่ร้อยหน้า ทว่าเป็นนวนิยายขายดีของนักเขียนเชื้อสายตุรกี เอลีฟ ชาฟัค ที่น่าอ่านจนลืมความหนาไปเลย
หนังสือนวนิยายและเรื่องสั้นจากนักเขียนหลายเชื้อชาติที่สำนักพิมพ์ไลบรารี่ เฮ้าส์ สรรหามาแปล จึงเป็นดั่งการเปิดเส้นทางให้นักอ่านชาวไทยทำความรู้จักกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่าง อีกทั้งค้นพบมุมมองใหม่ๆ บนโลกใบนี้ผ่านวรรณกรรมก็ว่าได้
สำนักพิมพ์ไลบรารี่ เฮ้าส์ ที่มีผลงานดึงดูดนักอ่านแห่งนี้มี หน่อย-รังสิมา ตันสกุล บรรณาธิการบริหารและผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ เป็นเสาหลักผู้ทำหน้าที่คัดสรร ตัดสินใจ และบริหารจัดการแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งเธอยินดีที่จะมาบอกเล่าเรื่องราวของสำนักพิมพ์แห่งนี้ให้เราฟัง
หนังสือคือเพื่อนร่วมทางก่อนที่จะเดินทางมาถึงบ้านห้องสมุด
เมื่อเป็นทั้งเสาหลักและทุกสิ่งทุกอย่างของสำนักพิมพ์แล้ว การทำความรู้จักกับไลบรารี่ เฮ้าส์ จึงต้องเริ่มต้นจากการทำความรู้จักกับตัวตนของ หน่อย รังสิมา เสียก่อน
เธอเริ่มต้นเรื่องราวของตัวเองว่า "เราเป็นลูกคนเดียวที่มีหนังสือเป็นเพื่อน ไม่รู้จะเล่นกับใครก็อ่านหนังสือ" หน่อยเริ่มจากการอ่านนิตยสารผู้หญิงที่พี่ข้างบ้านซื้อมาอ่านเป็นประจำทุกเดือน เช่น ขวัญเรือน กุลสตรี ดิฉัน ลลนา ทำให้ได้อ่านเรื่องราวที่หลากหลาย รวมถึงนิยายไทยเล่มหนาอย่างที่เด็กประถมแทบจะถืออ่านไม่ไหว "พี่ข้างบ้านคนนี้ยังมีหนังสือนิยายเล่มหนาเท่าก้อนอิฐอย่าง ฉุยฉาย ของ ลมูล อติพยัคฆ์ ที่เราได้อ่านแล้วกลายเป็นความตื่นเต้นเมื่อรู้จักกับคำว่า เสด็จในกรม, สังวาส, แซยิด ฯลฯ และเป็นจุดเริ่มต้นให้ได้ใช้พจนานุกรมหรือปทานุกรมที่พ่อซื้อไว้ เพราะตอนเด็กไม่เข้าใจว่าคำเหล่านั้นแปลว่าอะไร" อีกทั้งยังมี โลกทิพย์ นิตยสารแนวธรรมะของคุณตาที่ทำให้เธอได้ลุ้นและจินตนาการไปกับเรื่องลี้ลับ ซึ่งผู้อ่านทางบ้านเป็นคนเขียนส่งเข้ามาทุกเดือน หน่อยเล่าอย่างอารมณ์ดีและนึกขำเมื่อย้อนถึงประสบการณ์การอ่านของตัวเอง
การอ่านหนังสือเกินวัยของเธอมาจากความตื่นเต้นที่ได้เรียนรู้เรื่องราวและคำศัพท์ต่างๆ นอกเหนือจากตำราเรียนสมัยประถม ยิ่งเมื่อทำข้อสอบวิชาภาษาไทยได้คะแนนดีจึงรู้สึกว่า การอ่านสั่งสมความสามารถที่สร้างความมั่นใจให้กับเธอ ก่อนที่จะพัฒนาไปสู่ความสนใจด้านภาษาให้มุ่งมั่นเรียนต่อสายภาษาฝรั่งเศสชั้นมัธยม ก่อนที่โศกนาฏกรรมของครอบครัวจะทำให้เธอหันมาสนใจด้านวรรณกรรมอย่างจริงจัง
"ตอนมัธยมคุณอาเราเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนด้วย แล้วตอนเราเรียนอยู่ชั้นม.3 คุณอาได้รับทุนไปดูงานที่อังกฤษ ระหว่างการเดินทางกลับจากการทัศนศึกษาที่บ้านของวิลเลียม เชกสเปียร์เกิดอุบัติเหตุทำให้คุณอาเสียชีวิต ตอนนั้นเราไม่รู้จักว่าเชกสเปียร์คือใคร ทำไมคุณอาต้องไปบ้านของคนๆ นี้ เลยเป็นแรงกระตุ้นให้เราเดินเข้าไปในห้องสมุดของโรงเรียน ฉันต้องรู้จักเชกสเปียร์มากกว่านี้ เลยไปปักธงว่าต้องเรียนวรรณคดี ต้องใช้ชีวิตแทนอา ทำให้รู้แล้วว่ามหาวิทยาลัยฉันจะเข้าคณะอะไร"
ช่วงที่เธอศึกษาต่อที่ภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นขณะเดียวกับวิกฤตต้มยำกุ้ง หลังจากจบปริญญาตรีหน่อยจึงตั้งเป้าหมายที่จะทำงานกับบริษัทต่างชาติเพื่อมีรายได้หาเลี้ยงตัวเองได้อย่างเต็มที่ ช่วงต้นของชีวิตทำงานจึงเป็นสั่งสมประสบการณ์การทำงานอย่างเป็นระบบในบริษัทชั้นนำ ก่อนที่จะรู้สึกอิ่มตัวแล้วมองหาทางกลับมายังโลกของหนังสือที่ตัวเองรักอีกครั้งด้วยการเป็นนักแปลฟรีแลนซ์
หน่อยเล่าถึงส่วนที่ส่งเสริมให้เธอกล้าที่จะก้าวออกมาจากโลกของงานประจำมาสู่วงการหนังสือว่า บรรยากาศของวงการหนังสือขณะนั้นยังมองเห็นทางไปพอสมควร "ตอนนั้นแฮร์รี่ พอตเตอร์ ก็เพิ่งมา มันดึงดูด มันมีทางไป ถ้าเทียบกันสมมติว่ายังทำงานออฟฟิศอยู่ แล้วมีความรู้สึกว่าอยากเปลี่ยนสายงานในสถานการณ์อย่างนี้ก็คงยังไม่ลาออก" น้ำเสียงของหน่อยชวนให้นึกถึงบริบททางเศรษฐกิจและสังคมยุคนั้นที่ส่งเสริมให้คนมีความฝัน "ใช่ กล้าฝัน กล้าไป กล้าวิ่งตาม แล้วตอนนั้นสำหรับคนอายุยี่สิบกว่าๆ ยังไม่มึคำว่าแพสชั่นนะ เราไม่รู้ว่าสิ่งที่มันพลุ่งพล่านอยากทำมากๆ อยู่ในใจคืออะไร เรายังไม่รู้จักคำว่า คลั่งไคล้ หลงใหล แต่มาเรียนรู้ถึงแพสชั่นตอนที่มันเริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้ว คือเราเป็นคนยุคเก้าศูนย์ที่กึ่งๆ แอนะล็อกกับดิจิตัล เราจะวิ่งไปทางไหน ยังไง มันไม่ได้ง่ายเหมือนยุคสมัยนี้"
หลังจากที่ทำงานแปลควบคู่ไปกับการเรียนปริญญาโทไปสักพัก เธอได้งานประจำที่สำนักพิมพ์บลิส พับลิชชิ่ง (Bliss Publishing) แต่ได้เรียนรู้ระบบการทำงานและหน้าที่ต่างๆ ของสำนักพิมพ์ไม่นาน หน่อยกลับพบว่าตัวเองป่วยเป็นมะเร็ง จึงลาออกไปพักรักษาตัวอยู่ระยะหนึ่ง "เป็นอีกจุดเปลี่ยนที่เราไม่ได้ตั้งใจ พอป่วยก็จำเป็นต้องหยุดทำงาน เหมือนจบภาคการทำงานของเรากับสำนักพิมพ์บลิส แต่ตอนนั้นเราไม่ถึงกับเคว้ง เพราะเรารู้สึกว่าเรารอดจากมะเร็งมาเกิดใหม่ได้ก็ดีมากแล้ว เลยพักฟื้นอยู่บ้าน อ่านหนังสือ รับจ็อบเล็กๆ น้อยๆ จากสำนักพิมพ์เล็กๆ ประมาณปีนึง"
การรู้จักสำนักพิมพ์อิสระขนาดเล็กเป็นการเปิดประสบการณ์ทำงานสำนักพิมพ์อีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งไม่เหมือนกับสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ที่แบ่งหน้าที่การทำงานของฝ่ายต่างๆ อย่างชัดเจน แต่การทำงานทุกอย่างด้วยทีมเล็กๆ ทำให้เธอพบว่ากลุ่มหนังสือวรรณกรรมแบบที่เธอชอบอ่านเป็นผลงานของสำนักพิมพ์เหล่านี้ จากนั้นเธอจึงตัดสินใจทำสำนักพิมพ์ไลบรารี่ เฮ้าส์ ขึ้นในพ.ศ. 2558
เทศกาลหนังสือต่างประเทศสร้างโอกาสและความเป็นไปได้ในการทำหนังสือแปล
ความสุขของหน่อยไม่ได้หยุดอยู่ที่การอ่านหนังสือและการทำหนังสือเท่านั้น ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นฟรีแลนซ์ เธอมีความความสนใจและติดตามความเคลื่อนไหวของเทศกาลหนังสือต่างประเทศอยู่เสมอ เธอเล่าถึงบรรยากาศเมื่อครั้งไปเยือน ลอนดอน บุ๊คแฟร์ (London Book Fair) ให้ฟังอย่างตื่นตาตื่นใจ
ภาพเมื่อครั้งที่หน่อยไปเยือน ลอนดอน บุ๊คแฟร์
"บูทหนังสือแต่ละประเทศ โดยเฉพาะประเทศโลกที่หนึ่ง เขาไม่ได้แค่มาโชว์หนังสือที่เขาอยากขายลิขสิทธิ์เท่านั้น เขามีอีกโต๊ะหนึ่งที่ประกบกันคอยให้ข้อมูลและมีโบรชัวร์เกี่ยวกับทุนที่รัฐบาลให้การสนับสนุนสำนักพิมพ์ต่างประเทศอยู่ พอเดินไปเรื่อยๆ ก็พบว่ามันคือนอร์มของที่นี่ จนตอนนี้นึกไม่ออกเลยว่า ยังมีประเทศไหนในยุโรปที่ไม่มีช่องทางในการซื้อลิขสิทธิ์หนังสือควบคู่ไปกับทุน (Translation Grant) สนับสนุน พอกลับมาเราเก็บสะสมข้อมูลเหล่านี้ไว้เรื่อยๆ จนวันที่ได้ทำสำนักพิมพ์แล้วค่อยนำรายละเอียดมาดูว่า เราอินกับหนังสือภูมิภาคเหล่านี้ไหม มีนักแปลภาษานี้ไหม"
เธอยกตัวอย่างการทำงานแปลหนังสือเยอรมันว่า ประเทศไทยมีสถาบันเกอเธ่ที่ก่อตั้งและดำเนินงานมากว่า 60 ปีแล้ว ไลบรารี่ เฮ้าส์ จึงยื่นเรื่องขอทุนสนับสนุนด้านการแปล จนมีแผนการพิมพ์วรรณกรรมเยอรมันอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องมาหลายปี ถึงจุดหนึ่งเธอจึงตัดสินใจเดินทางไปยังเกอเธ่สำนักงานใหญ่ในมิวนิกพร้อมความมุ่งมั่นเต็มกระเป๋า แล้วได้รับรู้ว่าสถาบันยินดีต้อนรับและพร้อมสนับสนุนทุนทำหนังสือเยอรมันอีกมาก เพียงแต่อาจจะไม่มีคนทราบและไม่ค่อยมีสำนักพิมพ์ไทยสมัครเข้ามา
"นี่แค่เยอรมันประเทศเดียวนะ ยังไม่นับออสเตรีย โปรตุเกส บราซิล หรือ แคนาดา ที่ไลบรารี่ เฮ้าส์ทำมาเรื่อยๆ เพราะทางสถานทูตเขาเชื่อมถึงกัน เป็นเหมือนวัฒนธรรมที่พร้อมส่งต่อข้อมูลให้ประเทศต่างๆ รู้ว่า สำนักพิมพ์ของเราเคยทำหนังสือแปลจากประเทศนี้ เชื่อถือได้ ทำงานจริง เขาก็บอกต่อกันไป ไม่รู้สึกว่าหวงแหนเก็บไว้ว่าต้องทำหนังสือภาษาฉันเท่านั้น"
บรรยากาศงาน แฟรงก์เฟิร์ต บุ๊คแฟร์ เครดิตภาพจาก Goethe Institut
หน่อยเล่าประสบการณ์เมื่อครั้งที่เธอเคยได้รับทุนจากเกอเธ่ให้เดินทางไป แฟรงก์เฟิร์ต บุ๊คแฟร์ (Frankfurt Book Fair) ให้ฟังว่า แม้จะเป็นการเดินทางไปด้วยทุนจากประเทศเยอรมัน แต่ไม่ได้หมายความว่าเธอจะต้องติดต่อซื้อลิขสิทธิ์หนังสือภาษาเยอรมันเท่านั้น หากสนใจหนังสือภาษาอื่นก็สามารถติดต่อได้อย่างอิสระ ทำให้เธอรู้ว่า ต่างประเทศมีวัฒนธรรมการอ่านที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการทำหนังสืออย่างเปิดกว้างมากแค่ไหน และการเดินทางครั้งนั้นทำให้เธอคิดถึงคำว่า พลเมืองโลก (global citizen) อีกด้วย "เขามองว่าทุกคนเป็นพลเมืองโลก สำนักพิมพ์ผลิตหนังสือให้พลเมืองโลกอ่าน มันไม่มีพรมแดนว่า เธอต้องพิมพ์หนังสือเยอรมัน แล้วให้ทุกคนมารู้จักวัฒนธรรมฉันเท่านั้น"
เครดิตภาพจาก Istanbul Fellowship Program
โอกาสที่เธอเคยได้รับมาจึงเป็นที่มาของการริเริ่มจัดงานเทศกาลหนังสือกรุงเทพมหานคร หรือ Bangkok Book Festival โดยมีความตั้งใจให้เกิดพื้นที่พบปะระหว่างคนทำหนังสือและนักอ่าน รวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้และวัฒนธรรมในรูปแบบหลากหลายผ่านกิจกรรมต่างๆ ทั้งการจำหน่ายหนังสือจากสำนักพิมพ์ นิทรรศการศิลปะ เวทีเสวนา และการจัดฉายภาพยนตร์ ด้วยความหวังว่าจะสามารถส่งต่อแรงบันดาลใจไปสู่นักอ่านและคนในแวดวงหนังสือไทยได้
สำนักพิมพ์ไลบรารี่ เฮ้าส์ คัดสรรวรรณกรรมที่เปิดโลกในมุมต่างๆ ให้ผู้อ่านมองเห็น
ท่ามกลางหนังสือที่น่าสนใจมากมายในโลก ไลบรารี่ เฮ้าส์ มีเกณฑ์ในการเลือกทำหนังสือสักเล่มด้วยความปรารถนาอันแรงกล้าที่ผลักดันอยู่เบื้องหลัง ขณะเดียวกันยังคำนึงถึงความเป็นไปได้ด้านทรัพยากรที่มีอยู่ และความสมเหตุสมผลด้านการตลาดควบคู่กันไป
เธอแจกแจงเป็นลำดับความคิดให้ฟังเป็นตัวอย่างดังนี้ "วิธีเลือกเราจะมีเกณฑ์อยู่นะคะ แล้วค่อยดูว่าหนังสือเล่มนี้ตอบได้ครบหรือเปล่า เช่น เจ้าสำนักชอบแล้วมีนักแปลไหม ถ้าไม่มีนักแปลอาจจะปัดตกหรือวางไว้ก่อน ในกรณีที่เจ้าสำนักชอบ มีนักแปลแล้ว แต่ไม่มีคนตรวจเทียบต้นฉบับ อาจจะต้องปัดตกหรือวางไว้ก่อน หรือถ้าคนทำงานมีครบหมดแล้ว ทุกคนอินกับหนังสือเล่มนี้มากเลย แต่ต้นทุนสูงมาก เช่น ต้นทุนหนังสือภาษาที่สามบางเล่มสามารถนำไปซื้อลิขสิทธิ์หนังสือภาษาอังกฤษได้ 3 เล่ม ถ้าได้รับทุนจากประเทศเจ้าของภาษามาสนับสนุนก็ทำ แต่ถ้าไม่มีก็วางไว้ก่อนหรือปัดตกไป มันมีเลเยอร์ในการพิจารณาอย่างนี้ แต่ความที่เป็นสำนักพิมพ์เล็กจึงไม่ต้องเรียกประชุมผู้บริหาร เราสามารถเช็คลิสต์ด้วยตัวเอง ดีดนิ้วไปมาว่าทำได้หรือไม่ได้ คุยกับตัวเองเลยตัดสินใจได้เร็ว พอตัดสินใจได้เร็วมันมีผลในแง่ธุรกิจด้วย"
การเดินทางออกไปสำรวจเส้นทางใหม่ๆ และหลักเกณฑ์ในการทำหนังสือแปลของสำนักพิมพ์ไลบรารี่ เฮ้าส์ ของเธอ ทำให้นักอ่านไทยมีโอกาสอ่านงานของนักเขียนจากหลากหลายประเทศ ซึ่งเปิดให้ทำความรู้จักกับวรรณกรรมที่ถือกำเนิดขึ้นในบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่ไม่คุ้นเคย นอกเหนือจากวรรณกรรมกระแสหลักที่รู้จักกันดีบนโลกใบนี้
"มันคือการเปิดหน้าต่างหลายๆ บานพร้อมๆ กัน" หน่อยเอ่ย แล้วค่อยๆ ขยายให้เห็นโลกวรรณกรรมที่กว้างใหญ่ "ยกตัวอย่างถ้าปีนึงเราทำประมาณ 13 เล่ม เราจะได้อ่านหนังสือโปรตุเกส ได้อ่านหนังสือจากตุรกี ได้อ่านวรรณกรรมรัสเซียจากไลบรารี่ เฮ้าส์ สำนักพิมพ์เราทำงานครั้งละเล่มก็จริง แต่การที่เรานำงานของนักเขียนต่างประเทศที่ไม่ใช่ประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารเป็นหลักมาแปลเป็นหนังสือให้คนอ่าน มันทำให้เรารู้สึกว่า เรากำลังเปิดหน้าต่างให้คนเห็นโลกข้างนอกในมุมต่างๆ พร้อมกัน"
เราจึงสัมผัสได้ว่า หนังสือของไลบรารี่ เฮ้าส์ ไม่ได้สร้างกระแสที่หวือหวา แต่มีนักอ่านให้ความสนใจ และสามารถครองพื้นที่บนชั้นหนังสือหมวดวรรณกรรมได้เสมอ
วรรณกรรมที่เป็นดั่งเพื่อนและพื้นที่ปลอดภัยของนักอ่าน
ในยุคดิจิตัลที่หลายคนตั้งข้อสงสัยต่อการมีอยู่ของหนังสือเล่ม เรายังสามารถเห็นสีสันใหม่ๆ และบรรยากาศคึกคักในวงการหนังสืออยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่อแต่ละสำนักพิมพ์มีแนวทางในการเลือกตีพิมพ์หนังสือแตกต่างกัน นักอ่านจึงมีทางเลือกในการอ่านที่หลากหลายยิ่งกว่าเดิม
ส่วนไลบรารี่ เฮ้าส์ ยึดถือแนวทางการสร้างสรรค์หนังสือวรรณกรรมแปลอย่างเหนียวแน่น เพราะนี่คือสิ่งที่เธอรัก "เราเชื่อว่าคนที่ทำอะไรกับสิ่งที่รักมากๆ ไม่มีวันจม" หน่อยพูดอย่างหนักแน่น "เพราะการที่เราอยู่กับสิ่งที่รัก มีสิ่งที่รักอยู่ในมือเรา ในหัวเรา ในใจเรา ถ้าวันหนึ่งสิ่งที่เรารักไปมีปัญหากับใคร มันไม่มีปัญหากับเราอยู่แล้วใช่ไหมคะ เช่น มันไปมีปัญหากับเศรษฐกิจ หรือ มีปัญหากับส่วนแบ่งตลาด เรายังรู้สึกว่าการแก้ปัญหาไปกับสิ่งที่รักมันเป็นไปได้ง่ายกว่า ถ้าเราไปจับหนังสือประเภทอื่นแล้วเจอปัญหาหรืออุปสรรค เราแก้ไม่เป็นหรอก หรือถ้าเราแก้เป็น มันคงทำไปด้วยความรู้สึกว่า 'ยังไงฉันก็ต้องแก้' เราจะคิดอยู่ตลอดเวลาว่า 'ฉันต้องแก้ปัญหานะ' แต่ที่ผ่านมา ไลบรารี่ เฮ้าส์ มีปัญหาร้อยแปดพันประการมาก แต่เราไม่เคยบอกตัวเองว่านี่คือปัญหา เรารู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่ามันคือส่วนหนึ่งกับสิ่งที่เราจะต้องทำกับหนังสือเล่มนี้ นักเขียนคนนี้ หนังสือประเทศนี้"
หน่อยพูดถึงเหตุผลที่ทำให้เธอรักวรรณกรรมสุดหัวใจว่า "การอ่านวรรณกรรมมันทำให้เราพิเศษ อย่างตอนอ่านวรรณกรรมไทยแล้วหน่อยทำข้อสอบวิชาภาษาไทยสมัยเด็กได้ มันคือความเหนือกว่า โดยที่ความเหนือกว่าไม่ได้หมายความว่าเราจะไปผยองใส่เพื่อน ไปบูลลี่เพื่อน หรือดูถูกดูแคลนใคร แต่การอ่านหนังสือ การอ่านวรรณกรรม ทำให้เราอยู่เหนือเส้นมาตรฐาน และการอยู่เหนือเส้นมาตรฐานทำให้เราพิเศษ ความพิเศษนี้จะนำมาซึ่งโอกาสต่างๆ มากมาย พอเราค่อยๆ ได้โอกาส มันก็ยิ่งย้อนกลับมาทำให้เรารู้สึกว่า สิ่งที่เรารักมันมาตอบแทนเรา"
แม้กระทั่งในช่วงเวลาพักฟื้นจากความเจ็บป่วย เธอยังมีหนังสือเคียงข้างและเติมพลังใจให้แข็งแกร่งขึ้น "เรารู้สึกว่าหนังสือมันช่วยชีวิตเรา มันเป็นเพื่อนเรา มันเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราไม่ต้องไปก่อมลพิษให้ใคร ถ้าเราจะรู้สึกอิจฉาริษยาหรือรู้สึกยังไงกับตัวละคร มันไม่สามารถไปทำร้ายใครได้เลย มันปลอดภัย หรือถ้าจะให้พูดลึกไปอีกหน่อยคือ เรารู้สึกว่ามันเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่แท้จริงของเรา" และเธอเชื่อว่าหนังสือจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยของนักอ่านอีกหลายๆ คน ในสังคมที่มีความซับซ้อนมากขึ้นในปัจจุบัน
ซึ่งเมื่อไลบรารี่ เฮ้าส์ เข้าไปนั่งในหัวใจของนักอ่านได้แล้ว เธอจึงเพิ่มสำนักพิมพ์ในเครือ บุ๊คโมบี เพรส (Bookmoby Press) เพื่อทำหนังสือแปลสำหรับคนที่สนใจวัฒนธรรมหนังสือ เช่น ร้านหนังสือเลขที่ 84 ถนนแชริงครอสส์ (84, Charing Cross Road) กับหนังสือเล่มต่อ ดัชเชสแห่งถนนบลูมสบรี (The Duchess of Bloomsbury Street) เขียนโดย เฮเลน แฮฟฟ์ หรือหนังสือที่สะท้อนวัฒนธรรมการอ่านแกมประชดประชันอย่าง ราชินีนักอ่าน (The Uncommon Reader) ผลงานเขียนของ อลัน เบนเน็ตต์ เป็นต้น ล่าสุดยังขยายผลงานเล่มแรกจากสำนักพิมพ์ไลบรารี่ เทอเรส (Library Terrace) หนังสือ เด็กหญิงน้ำตาล ของ โอลก้า โกรมาว่า วรรณกรรมแปลจากภาษารัสเซีย ที่อยากเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับนักอ่านรุ่นเยาวชนอีกสำนักพิมพ์หนึ่ง
ดังนั้นถึงแม้จะไม่สามารถเดินทางไปอ่านหนังสือจากทั่วโลกด้วยตัวเอง ก็ไม่ต้องเสียดายอีกต่อไป เพราะสำนักพิมพ์ไลบรารี่ เฮ้าส์ ทำหน้าที่คัดสรรหนังสือวรรณกรรมจากทุกมุมโลกมาให้นักอ่านเดินทางผ่านการพลิกหน้ากระดาษไปกับหนังสือเหล่านี้แล้ว
YOU MAY ALSO LIKE:
ดอกไม้สำหรับมิสซิสแฮร์ริส ผู้เขียน พอล กาลลิโค
ครูเปียโน ผู้เขียน เอลฟรีเดอ เยลิเนค
วุธเธอริง ไฮตส์ ผู้เขียน เอมิลี บรองเต้
สายลับต้นฉบับรัก ผู้เขียน ลูอีช แฟร์นานดู เวริสซิมู่
รถหนังสือเร่ของคนพเนจร ผู้เขียน คริสโตเฟอร์ มอร์ลีย์
หนังสือที่กลืนกินคุณพ่อของผม เรื่องราวพิลึกพิลั่นและมหัศจรรย์ของ วีวัลดู บงฟิง ผู้เขียน อะฟงซู ครุช
บอด ผู้เขียน ฌูเซ่ ซรารามากู
ประวัติศาสตร์ล้อมเมืองกรุงลิสบอน ผู้เขียน ฌูเซ่ ซรารามากู