BOOKSBERRY เพาะเมล็ดพันธุ์การอ่านไว้ให้ผู้คนเข้ามาเก็บเกี่ยว

    BooksBerry เป็นร้านหนังสือสำหรับเด็กที่คัดสรรหนังสือภาษาอังกฤษและภาษาไทยของเด็กแต่ละช่วงวัยมาให้ผู้ปกครองและเด็กๆ เลือกซื้อเป็นหลัก โดยมีหนังสือวรรณกรรมวางขายไว้สำหรับผู้ที่แวะเข้ามาแล้วต้องการซื้อติดไม้ติดมือกลับไปด้วยอีกส่วนหนึ่ง นอกจากนั้นทางร้านเพิ่งเริ่มทดลองระบบยืม-คืนหนังสือแบบห้องสมุดไปเมื่อปลายปีที่แล้ว และวางแผนที่จะทำที่พักสำหรับนักเดินทางควบคู่กันไปในปีนี้

    ดังนั้นหากถามว่าสถานที่แห่งนี้คืออะไร ร้านหนังสือเด็ก ห้องสมุด หรือ บุ๊ก แอนด์ เบด (Book and Bed) เราคงเลือกคำจำกัดความให้ BooksBerry ยากสักหน่อย แต่สิ่งที่สัมผัสได้อย่างชัดเจนคือ ความรักที่จะเพาะพันธุ์นักอ่าน ด้วยหนังสือมากมายที่จัดอยู่ทั่วทั้งพื้นที่แห่งนี้

    หลังจาก มิ้น-โสภณา เตริยาภิรมย์ ดูแลลูกค้าที่มาเลือกหนังสือกลับไปเรียบร้อยแล้ว เธอจึงชวน ต๊ะ-วริทธิ์ หอสิริ สามีที่คอยสนับสนุนและเป็นกำลังสำคัญของร้านให้ออกมานั่งลงพูดคุยกับเราถึงการทำ BooksBerry แห่งนี้ด้วยกัน

    พวกเขาเล่าว่าจุดเริ่มต้นของ BooksBerry ต้องย้อนไปเมื่อ 9 ปีที่แล้วในช่วงที่มีลูกแฝดคู่แรก เพราะนอกจากเด็กๆ จะชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว ทั้งคู่ยังมีความคิดว่าจะใช้หนังสือเป็นสื่อในการสอนลูกให้เป็นเด็กสองภาษา เมื่อมิ้นได้เข้าไปทำความรู้จักและเรียนรู้โลกของหนังสือเด็กภาษาอังกฤษ เธอจึงพบว่าหนังสือสำหรับเด็กมีคุณค่ามากกว่าการเป็นแค่เครื่องมือสอนภาษาอย่างที่คนส่วนใหญ่นิยมกัน

    "ช่วงนั้นถ้าลองไปค้นย้อนหลังนะคะ คำว่าเด็กสองภาษาจะบูมมากเลย คือคนไทยเพิ่งจะเริ่มหาหนังสือภาษาอังกฤษมาอ่านให้ลูกฟัง เพื่อสอนให้ลูกพูดภาษาอังกฤษเองได้โดยไม่ต้องเข้าโรงเรียนนานาชาติ แต่ว่าคนส่วนใหญ่เขายังซื้อหนังสือพวก ABC ไปเพื่อสอนภาษาเท่านั้น ทีนี้พอเราเริ่มหาซื้อหนังสือภาษาอังกฤษให้ลูกอ่านบ้าง ก็เสียดายเพราะหนังสือมันมีคุณค่ามากกว่านั้น บางทีหนังสือมีเรื่องการพัฒนาทางอารมณ์และพัฒนาจิตใจเด็ก เช่น พอเขาอ่านแล้วสามารถสร้างมุมมองให้เด็กมีอารมณ์ขันตอนเจอสถานการณ์แย่ๆ หรือทำให้เด็กมองเรื่องร้ายเป็นเรื่องดีได้ มันเป็นคุณค่าของหนังสือเด็ก ซึ่งยังไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญมากนัก"

    ตอนนั้นเธอจึงเริ่มเขียนบทความและรีวิวหนังสือเพื่อปรับมุมมองที่คนทั่วไปมีต่อหนังสือเด็ก รวมถึงให้พ่อแม่หรือคนใกล้ชิดเด็กได้รู้ว่าหนังสือแต่ละเล่มที่เธอเลือกมามีคุณค่าซ่อนอยู่อย่างไร ซึ่งเธอรู้สึกว่านั่นเป็นจุดเปลี่ยนของวงการหนังสือเด็กเหมือนกัน เพราะเมื่อเขียนไปได้สักประมาณ 3 ปี จากที่พอมีคนชื่นชอบและติดตามบ้าง "อยู่ดีๆ มันจริงจังขึ้นมาเลย" เธอเล่าให้ฟังว่ามีคนติดต่อเข้ามาซื้อหนังสือในจำนวนที่มากขึ้นหลายเท่า จนรู้สึกว่าสิ่งที่ทำอยู่เริ่มไม่ใช่งานอดิเรกอีกต่อไป

    ดังนั้นจากเดิมที่ใช้เวลาว่างจากการเลี้ยงลูกมาโพสต์ขายหนังสือ เมื่อมีความต้องการมากขึ้นจนหนังสือที่เคยสั่งเข้ามาให้ลูกอ่านและแบ่งขายไม่พอรองรับลูกค้า มิ้นจึงเริ่มทำเป็นระบบจริงจัง ตั้งแต่การจัดแพ็กเกจหนังสือ ไปจนถึงการวางแผนว่าแต่ละเดือนต้องการยอดขายกี่เล่ม ธุรกิจจึงจะอยู่รอด

    ต๊ะบอกว่าตั้งแต่ช่วงแรกที่ขายหนังสือออนไลน์จนถึงปัจจุบัน พวกเขายังมีสิ่งใหม่ๆ ให้เรียนรู้และแก้ปัญหามาโดยตลอด เพราะส่วนใหญ่ต้องทำด้วยตัวเอง เพราะการทำธุรกิจหนังสือนั้นหาผู้ช่วยยาก ถ้าไม่ใช่คนที่รักหนังสือจริงๆ เขาอาจจะเข้ามาช่วยเรื่องการแพ็กของหรือสต๊อก แต่ไม่สามารถแบ่งเบาเรื่องการคัดหนังสือหรือรีวิวหนังสือแทนได้เลย

    ส่วนกุญแจสำคัญที่ทำให้ BooksBerry อยู่รอดในมุมมองของมิ้นคือ การคัดเลือกหนังสือและยึดถือแนวทางที่จะส่งต่อคุณค่าของหนังสือไปยังพ่อแม่ที่เลือกหนังสือให้เด็ก เพราะเมื่อเด็กๆ ได้อ่านและซึมซับสิ่งที่มีอยู่ในหนังสือแล้ว พวกเขาจะสามารถเก็บเกี่ยวคุณค่าที่มีเหล่านั้นติดตัวไว้ตลอดไป

    "สำคัญที่สุดเลยคือตอนเลือกเข้ามา เพราะหนังสือตามท้องตลาดตีพิมพ์กันมาตั้งแต่ปีไหนแล้ว ณ ปัจจุบันมีเป็นพันเป็นหมื่นปก ขณะที่เราขาย เราต้องเดาตลาดได้ว่าเล่มไหนมันจะขายได้ เราต้องรู้คุณค่าหนังสือก่อน เวลาเราขายหนังสือ เราไม่เคยขายจากราคา อย่างที่อื่นเห็นเขาขายกันคือราคาถูกใช่ไหมคะ แต่มิ้นคิดว่าคนเราซื้อหนังสือเล่มนึง เราเก็บไว้ เราจะได้สิ่งที่มีค่ากับเรา ซื้อแล้วก็เก็บเป็นมรดก เราไม่ทิ้ง เพราะฉะนั้นเราใส่ใจตั้งแต่ตอนเลือกว่าเราต้องเลือกหนังสือที่มีคุณค่าและมีประโยชน์กับเขาเข้ามา

    "อย่างเวลารีวิว เราพยายามให้โอกาสกับหนังสือที่คนอื่นไม่ให้โอกาส เช่น หนังสือที่คนมองข้ามไป บางทีมันมีดีนะคะ ส่วนหนังสือที่มีคนรีวิวกันเยอะๆ อยู่แล้ว ขายดีอยู่แล้ว ถ้ามันไม่ได้พิเศษอะไรมาก เราอาจจะไม่รีวิว หรือถ้าสำนักพิมพ์ขอมา เราอาจจะรีวิว แต่ส่วนตัวอยากจะหยิบเล่มที่คนไม่รู้จัก เพราะมันเป็นการช่วยสำนักพิมพ์ทางนึง แล้วช่วยให้เด็กไม่ยึดติดกับการอ่านอะไรซ้ำๆ ได้อ่านแนวใหม่ๆ บ้าง เด็กควรจะได้อ่านของที่หลากหลาย"

    ลำพังการขายหนังสือออนไลน์ ธุรกิจของพวกเขาก็สามารถอยู่ได้แล้ว แต่เหตุผลจริงๆ ที่เปิดร้าน BooksBerry ขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2561 เพราะต้องการสร้างคนอ่านรุ่นใหม่ๆ ขึ้นมา

    "แนวคิดของร้าน BooksBerry คือธุรกิจหนังสือไม่ได้อยู่ได้ด้วยการขายหนังสือ หรือการจัดโปรโมชั่น หรือการทำการตลาด มันอยู่ที่การสร้างคนอ่านหนังสือขึ้นมา เราต้องทำให้เด็กที่ไม่อ่านหนังสือ หรือเด็กที่มีอุปสรรค์ต่อการอ่าน เช่น อ่านไม่ออก ไม่ชอบอ่าน หันมาอ่านหนังสือให้ได้ เราต้องหาหนังสือที่เขาชอบมาให้เขาลองอ่าน เราต้องสร้างคนที่ชอบหนังสือขึ้นมาเรื่อยๆ ไม่อย่างนั้นการขายหนังสือจะไปถึงทางตัน เพราะคนอ่านมีหนังสือครบหมดแล้ว เลิกซื้อ เราก็จบธุรกิจ"

    เธอเล่าว่ามีช่วงหนึ่งที่อยู่ดีๆ เมื่อลูกเริ่มเข้าเรียนชั้นประถม ลูกค้าที่เคยซื้อหนังสือกันมาซึ่งมีลูกวัยเดียวกันหายไปกันหมด เธอจึงเริ่มสังเกตว่าพฤติกรรมการอ่านหนังสือของเด็กอายุ 6-7 ขวบเริ่มเปลี่ยนไป อาจจะด้วยความต้องการของพ่อแม่ที่จะใช้เวลาคุณภาพทำกิจกรรมอื่นๆ กับลูก หรือสาเหตุด้านเศรษฐกิจที่แต่ละครอบครัวมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าเทอมหรือหนังสือที่มีราคาแพง กระทั่งคิดถึงเหตุผลว่า เด็กอ่านหนังสือภาษาอังกฤษที่ยากขึ้นตามวัยไม่ได้หรือเปล่า

    "หลังจากที่เราเปิดร้านแล้ว เราได้ทดลองแนะนำหนังสือวรรณกรรมเด็กด้วย พอเด็ก 7 ขวบเริ่มอ่านหนังสือได้ เขาต้องปรับไปอ่านหนังสืออีกขั้นนึง คือเด็กไม่อ่านหนังสือภาพแล้ว เพราะมันเด็กไปสำหรับเขา แต่เขาจะอ่านพวกวรรณกรรมเด็กบางเล่มไม่ได้ เพราะคำศัพท์เหล่านั้นสำหรับเด็ก 15 ขวบขึ้นไป เราเลยลองนำวรรณกรรมเด็กเล็กที่เขาพอจะอ่านได้มาแนะนำ มีของสำนักพิมพ์ผีเสื้อเป็นส่วนใหญ่นะคะ หลังจากนั้นจะมีผู้ปกครองของเด็ก 7-8 ขวบที่ติดต่อเข้ามาซื้อหนังสือเพิ่มขึ้น เพราะบอกว่าลูกอ่านได้ อ่านแล้วสนุก"

    BooksBerry กำลังเริ่มจัดกิจกรรม 'นักอ่านตัวจิ๋ว' ในปีนี้ เพื่อพัฒนาการอ่านภาษาอังกฤษสำหรับเด็กที่กำลังเริ่มอ่านหนังสือด้วยตัวเอง โดยพ่อแม่สามารถพาลูกมาทดสอบการอ่านกับเพื่อนคนอื่นๆ ได้อย่างสนุกสนาน เพราะที่ผ่านมาเธอลองสอนลูกด้วยตัวเอง รวมถึงจัดชุดหนังสือสำหรับเด็กหัดอ่านให้กับลูกค้าบางกลุ่มแล้วได้ผล จากนั้นถ้าเด็กสามารถอ่านเองได้แล้วลูกค้าสนใจ ค่อยใช้บริการยืมหนังสือของทางร้านที่จัดทำขึ้น เพราะเธอเข้าใจพฤติกรรมการอ่านของเด็กในวัยนี้ว่า พวกเขาไม่ได้เปิดดูหรืออ่านหนังสือซ้ำเป็นร้อยรอบเหมือนหนังสือภาพของเด็กเล็กอีกต่อไปแล้ว

    วัตถุประสงค์ของการเลือกเปิด BooksBerry ขึ้น นอกจากจะต้องการสร้างนักอ่านใหม่ๆ วัยเยาว์แล้ว ต๊ะยังบอกว่าต้องการเป็นอีกพื้นที่หนึ่งสำหรับครอบครัวที่อยากใช้เวลาคุณภาพร่วมกันอีกด้วย

    "ผมเข้าใจว่าลูกค้าที่ซื้อออนไลน์ เขาก็อยากซื้อออนไลน์เหมือนเดิม เพราะพอเรารีวิวหนังสือได้ค่อนข้างดีแล้วเขาเชื่อถือ พอเรารีวิวเล่มไหนลงไป เขาแทบจะกดซื้อแล้ว เพราะผลที่ได้รับคือพอเขาให้ลูกอ่าน ลูกเขาชอบมาก ไม่เหมือนเวลาไปซื้อหนังสือตามห้างที่เอาให้ลูกดูนิดนึงว่าชอบไหม ลูกอาจจะหันมาพยักหน้าแล้วไปสนใจอย่างอื่น พอซื้อกลับบ้านไป สุดท้ายลูกไม่ได้อ่าน แต่หลายๆ คนที่มาที่นี่ เด็กสามารถอยู่นิ่งได้จริงๆ นะ ถ้าเขาไม่มีสิ่งเร้าอื่น เขามานั่งอ่านหนังสือได้เป็นชั่วโมง ผมรู้สึกว่าสเปซแบบนี้มันดี ฉะนั้นการทำร้านเพราะเราต้องการสร้างกิจกรรมอื่นมากกว่า เราอยากติดต่อโดยตรงกับลูกค้า

    "และถ้าผมดูพฤติกรรมพี่มิ้น เขาเหมือนเป็นบรรณารักษ์ส่วนตัวให้ลูกค้า เช่น ถ้าลูกเขาอ่านหนังสือถึงวัยนี้แล้ว พ่อแม่นึกไม่ออกว่าจะให้ลูกอ่านอะไรต่อ พี่มิ้นเขาจะแนะนำแนวทางให้ เหมือนมีบรรณารักษ์ส่วนตัว ลูกค้าทุกบ้านรู้จัก เพราะทุกอย่างเราเก็บลงฐานข้อมูลหมด เรารู้ว่าเขาอ่านอะไร เล่มนี้เคยอ่านแล้วนี่ ได้ไปชอบไหม เราสามารถแนะนำเขาได้"

    พื้นที่ของ BooksBerry นอกจากจะมีห้องที่จัดวางโต๊ะ เก้าอี้ และเบาะนุ่มๆ ให้นั่งเอกเขนกระหว่างอ่านหนังสือแล้ว ยังมีสนามหญ้าด้านนอกให้เด็กๆ สามารถวิ่งเล่นได้อย่างปลอดภัย พวกเขาสามารถพบเพื่อนใหม่และเล่นกับเด็กคนอื่น นั่งฟังคุณพ่อคุณแม่อ่านหนังสือไปด้วยกันอย่างเพลิดเพลิน แบบไม่ต้องกังวลเรื่องระยะเวลาในการให้บริการเลย

    เนื่องจากยอดขายหลักของร้านมาจากออนไลน์ถึง 99% และไม่คาดหวังจากยอดขายหน้าร้านนัก BooksBerry จึงปรับพื้นที่ชั้น 2 เป็นที่พักสำหรับนักเดินทางที่รักหนังสือด้วย มิ้นอธิบายถึงสิ่งต่างๆ ที่กำลังทำอยู่ว่า "เหมือนกับร้านนี้ทำไว้เพื่อเซอร์วิสสังคม เพราะตั้งแต่เปิดมาปีนึง จำนวนคนที่เข้ามาอุดหนุนหน้าร้านแทบไม่มีเลย เราตัดความหวังความฝันแล้ว เหลือแต่ความเป็นจริงว่าเราจะอยู่ได้ด้วยยอดขายออนไลน์เท่านั้น ฉะนั้นเราจะยังเปิดร้านนี้ต่อไปอีก 2 ปีเป็นอย่างน้อย โดยหวังว่าจะใช้ร้านนี้ทำห้องสมุดที่คนสามารถมายืม-คืนหนังสือได้ อย่างตอนนี้เราแอบกระตุ้นลูกค้าว่าช่วยกันยืมหนังสือสักเล่ม ขอแค่ 7 คนอ่านหนังสือเล่มนี้ ทั้ง 7 คนจะเป็นผู้ร่วมก่อตั้งห้องสมุดกลายๆ เพราะเมื่อ 7 คนยืมหนังสือไปอ่าน หนังสือเล่มนั้นจะไม่เหลือต้นทุนอีกต่อไป หลังจากนั้นมันฟรีแล้ว"

    ต๊ะเสริมว่าอนาคตถ้ามีห้องสมุดที่เปิดให้อ่านหนังสือฟรี ครอบครัวที่ไม่มีทุนซื้อหนังสือจะสามารถเข้ามายืมหนังสือดีๆ ให้ลูกอ่านได้ด้วย "อย่างหนังสือภาษาอังกฤษดีๆ เล่มนึงราคา 200-1,000 บาทก็มี ไม่มีใครอยากจะบริจาคหรอก แต่ถ้าเป็นสมาชิก เราจะมีส่วนให้เด็กคนอื่นได้อ่านหนังสือดีๆ ด้วย เราก็คิดว่าทำไม กทม. ไม่สนับสนุนให้ทุกโรงเรียนมีหนังสือดีๆ หรือบรรณารักษ์เก่งๆ ทุกโรงเรียนนะ แค่นี้เด็กก็สามารถยืมหนังสือกลับมาอ่านที่บ้านสบายๆ แล้ว"

    ฐานะของคนรักหนังสือ เราถามพวกเขาว่ารู้สึกอย่างไรกับการทำร้านหนังสือ และคุณค่าของหนังสือ ในยุคสมัยที่พฤติกรรมของคนอ่านใช้เวลากับการออนไลน์มากขึ้นทุกที

    "มิ้นไม่รู้ว่าร้านอื่นอยู่ได้ไหมนะคะ แต่มั่นใจว่าร้านเราอยู่ได้ เพราะเราเลือกหนังสือที่น่าอ่านเข้ามา แล้วไม่มีหนังสือที่เรียกว่าขยะอยู่ในร้าน คุณจะหยิบเล่มไหนขึ้นมาก็ดีทุกเล่ม ที่นี่จะเป็นร้านหนังสือที่ถ้าได้เข้ามาเหยียบสักครั้งแล้วจะไม่เกลียดหนังสือ ไม่รู้สึกว่าเสียเวลา แต่ปัญหาของสิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้คือ หนังสือในตลาดที่เราเห็น มันทำลายตัวเอง มีแต่หนังสือที่ก๊อบปี้กัน เล่มไหนเอามาวางขายแล้วขายดีก็ก๊อบปี้ จนมีแต่หนังสือที่ทำให้คนไม่อยากเข้าร้านหนังสือ เพราะเข้าไปก็ไม่เจอหนังสือที่อยากอ่าน"

    "ผมคิดว่าจริงๆ มันเป็นเรื่องความกล้านะ การทำหนังสือเล่มนึงเหมือนศิลปินที่ใช้เวลาวาดภาพลงสีไปบนผ้าใบแล้วคิดว่างานนี้จะขายได้ มันต้องใช้ศรัทธาและความเชื่อมั่นในฝีมือ แต่ถ้าจะทำธุรกิจประเภทที่ว่าแนวนี้ขายดี เซฟๆ ไว้ก่อน เราจะเห็นหนังสือแนวซ้ำๆ เต็มตลาดไปหมด อย่างนั้นมันน่าเบื่อจริงๆ อย่างหนังสือเด็กต่างประเทศ เราจะเห็นหนังสือที่ภาพสวยมาก คนวาดภาพประกอบสร้างสรรค์ผลงานในระดับศิลปินเลย ซึ่งปกติเราไม่สามารถซื้อภาพของศิลปินคนนั้นในราคาแพงได้ แต่ถ้าเราซื้อเป็นนิทาน เราจะได้ภาพที่สวยพร้อมกับเนื้อหาที่ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก พอเด็กเห็นสี เห็นการลงฝีแปรง การลำดับภาพ องค์ประกอบภาพที่สวยงาม มันจะติดตัวเขาไป ทำให้เขาเข้าใจศิลปะได้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งถ้าเราสามารถทำร้านได้ถึงจุดนั้น ก็ถือว่าประสบความสำเร็จนะ"

    สิ่งที่เกิดขึ้นที่ BooksBerry ถือเป็นการค่อยๆ ก่อร่างสร้างสถานที่แห่งหนึ่งที่จะแพร่เมล็ดพันธุ์แห่งการอ่านให้กระจายออกไป ซึ่งไม่ว่าผลกำไรจะกลับมาหรือไม่ พวกเขาก็มองว่าคุณค่าของหนังสือและการส่งเสริมการอ่าน คือเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมได้จริงๆ


BooksBerry

30/4 ซอยสันทัด ถนนเศรษฐศิริ แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 

เปิดบริการ วันอังคาร-ศุกร์ เวลา 10.00-16.30 น. และวันอาทิตย์ เวลา 10.00-17.00 น. 

ปิดวันจันทร์และวันเสาร์

เส้นทาง คลิกที่นี่ หรือ คนรักหนังสือสามารถคลิกเข้าไปทำความรู้จักกับพวกเขาและอ่านรีวิวหนังสือได้ทางเพจเฟซบุ๊ก Booksberryshop


ดุสิตา อิ่มอารมณ์

นักเขียน ผู้ใช้พื้นที่ในเวลาว่างไปกับการอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ขี่จักรยาน อ่านการ์ตูน เล่นเลโก้ ฯลฯ โดยเชื่อเต็มหัวใจว่าเวลาที่หมดไปกับความรื่นเริงนี้สามารถเติมเต็มชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ