ลองเปลี่ยนสัตว์เลี้ยงของศิลปินให้กลายเป็นงานศิลปะสักครั้ง ดูสิ! จะออกมาเป็นอย่างไร

    มีการศึกษาและวิเคราะห์ว่าสุนัขเป็นสัตว์เลี้ยงของมนุษย์มานับหมื่นปีแล้ว ส่วนแมวก็มีความใกล้ชิดและอยู่คู่กับอารยธรรมของมนุษย์มายาวนานไล่เลี่ยกัน จากการเลี้ยงเพื่อใช้งาน ล่าสัตว์ ป้องกันหนูในไร่ ฯลฯ มนุษย์ก็เริ่มถักทอสายสัมพันธ์กับสุนัขและแมวจนปัจจุบันถือเป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว และแน่นอนว่าบรรดาศิลปินก็มีสัตว์เลี้ยงคู่กายที่พวกเขารักและผูกพันเหมือนกัน
    สกู๊ปนี้ ปิงปอง-รักชนก ลิมปรุ่งพัฒนกิจ นักศึกษาฝึกงาน happening จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับสัตว์เลี้ยงของ 5 ศิลปินระดับโลก ได้แก่ แอนดี้ วอร์ฮอล, ซัลวาดอร์ ดาลี, ปาโบล ปิกัสโซ, กุสตาฟ คลิมต์ และ แจ็คสัน พอลล็อค แล้วใช้แรงบันดาลใจที่ได้รับจากเพื่อนซี้ของพวกเขามาลองสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในสไตล์ของศิลปินแต่ละคนดู
    พร้อมที่จะทำความรู้จักและรับชมภาพสัตว์เลี้ยงที่รับแรงบันดาลใจจากสไตล์ศิลปะของศิลปินผ่านการตีความของรักชนกกันแล้วหรือยัง
แซม แมวของ แอนดี้ วอร์ฮอล
    คงไม่ต่างจากการสร้างสรรค์งานศิลปะแนวป๊อปอาร์ต (Pop Art) ที่นำภาพพอร์เทรตของบุคคลสำคัญมาทำซ้ำในรูปแบบภาพพิมพ์ซิลก์สกรีนสักเท่าไร เพราะก่อนที่ แอนดี้ วอร์ฮอล (Andy Warhol) จะเริ่มมีชื่อเสียงและพัฒนาแนวทางการสร้างสรรค์งานศิลปะของตัวเองจนโด่งดังนั้น เมื่อเขายังทำงานเป็นนักวาดภาพประกอบหนังสือเด็กอิสระและฐานะยังไม่ค่อยดี เขาเลี้ยงแมวตัวแรกที่ชื่อ เอสเตอร์ แล้วเริ่มรับแมวมาเลี้ยงเพิ่มซ้ำๆ เพราะกลัวว่าเอสเตอร์จะเหงา จนมีสมาชิกครอบครัวแมวเพิ่มถึง 25 ตัว แล้วตั้งชื่อแมวทุกตัวว่า แซม! ถือว่าเป็นทาสแมวตัวยงที่สร้างตำนานแมวงอกอีกหนึ่งคนเลยทีเดียว
    การเลี้ยงแมวของเขาเป็นแรงบันดาลใจในการวาดภาพสีน้ำ จนกลายเป็นผลงานหนังสือภาพที่ชื่อ 25 Cats Name Sam and One Blue Pussy (1954) ที่ตีพิมพ์จำนวนจำกัดเพียง 190 เล่ม เพื่อมอบเป็นของขวัญสำหรับสมาชิกในครอบครัว เพื่อนฝูง หรือลูกค้าของเขา ซึ่งแม้หนังสือเล่มนี้จะมีชื่อว่า แมว 25 ตัว แต่มีภาพแมวเพียง 16 ภาพเท่านั้น ซึ่งการวาดแมวทุกตัวในภาพล้วนมาจากบุคลิกและลักษณะนิสัยของเอสเตอร์และแซม
    เมื่อเวลาผ่านไปจนวอร์ฮอลตัดสินใจเป็นศิลปินเต็มตัว แล้วมีชื่อเสียงในฐานะศิลปินป๊อปอาร์ตจากการนำภาพพอร์เทรตของคนดังมาสร้างสรรค์ผลงานด้วยเทคนิคภาพพิมพ์ซิลก์สกรีน อย่างภาพของ มาริลิน มอนโร ที่เมื่อทำผลงานชิ้นแรก Marilyn Monroe (1967) ออกมาแล้ว เขาก็นำมาทำซ้ำเป็นสีที่แตกต่างไปอีกหลายชิ้นเป็น Untitles from Marilyn Monroe (1967) ซึ่งเธอยังคงเป็นไอคอนของวัฒนธรรมป๊อปจนถึงปัจจุบัน

    รักชนกหยิบเทคนิคซึ่งเป็นจุดเด่นในงานของวอร์ฮอลมาใช้สร้างสรรค์ภาพแมวที่ชื่อแซมของเขา โดยตัดทอนภาพแมวให้มีความเป็นกราฟิกมากขึ้น เช่นเดียวกับเวลาที่เขาตัดทอนภาพของเหล่าคนดังก่อนที่จะทำภาพพิมพ์นั้นเอง

บาบู แมวป่าของ ซัลวาดอร์ ดาลี
    บาบู (Babou) สัตว์เลี้ยงของ ซัลวาดอร์ ดาลี (Salvador Dali) ที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายแมวแต่มีขนาดตัวใหญ่กว่าและโฉบเฉียวน่าสนใจตัวนี้คือ เซอร์วัล (Sarval) แมวป่าสายพันธุ์ผสมระหว่างแมวป่าแอฟริกันและแมวป่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีลักษณะเฉพาะคือ ตามลำตัวประดับด้วยลายจุดคล้ายเสือดาว มีนิสัยเป็นมิตรและชอบใกล้ชิดกับมนุษย์ จึงเป็นสัตว์เลี้ยงที่สง่างามและน่าหลงใหลมากเลยทีเดียว
    ซัลวาดอร์ ดาลี เป็นศิลปินชาวสเปนผู้มากับหนวดยาวเรียวจัดทรงโค้งขึ้นด้านบนอย่างเป็นเอกลักษณ์ เขาสร้างสรรค์งานศิลปะเหนือจริง (Surrealism) ที่โด่งดัง เช่น The Persistence of Memory (1931) ภาพนาฬิกาสามเรือนอ่อนปวกเปียก หรือ The Elephants (1948) ที่ทำให้ขาที่เรียวยาวเกินจริงนั้นแบกรับน้ำหนักของช้างและเสาโอเบลิสก์ได้อย่างน่าฉงน
    นอกจากมุมการสร้างสรรค์ผลงานแล้ว ดาลียังเป็นผู้รักสัตว์ที่น่าทึ่งที่สุดคนหนึ่ง เขาคลั่งไคล้การเลี้ยงสัตว์แปลกๆ เป็นที่สุด ดาลีชอบบาบูมากและพามันออกงานสังคมบ่อยๆ จนเรามักจะเห็นรูปของเขากับแมวตัวนี้เป็นประจำ แต่อันที่จริงแมวน้อยบาบูไม่ได้อาศัยอยู่กับศิลปินแต่อยู่ในบ้านของผู้จัดการของเขา และว่ากันว่านอกจากแมวป่าแล้ว เขายังเลี้ยงตัวกินมดและพามันไปเดินเล่นในตัวเมืองปารีสจนมีภาพถ่ายเป็นหลักฐาน
    ความชอบแมวของเขาสะท้อนออกมาให้เห็นเป็นระยะ เช่น ภาพถ่ายที่ดาลีทำงานร่วมกับ ฟิลิปเป ฮาลส์แมน (Philippe Halsman) ศิลปินช่างภาพพอร์เทรตที่ทำงานร่วมกับเขาอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 37 ปีนับตั้งแต่ปลายยุค 1940s ก็มีผลงาน Dalí Atomicus (1948) ภาพถ่ายเซอร์เรียลสุดแสนชุลมุน ที่ทำให้ความเคลื่อนไหวของแมวดำ 3 ตัว น้ำที่สาดอยู่ เฟรมภาพวาด เก้าอี้ และสิ่งของต่างๆ ซึ่งลอยอยู่บนอากาศหยุดชะงักลง ซึ่งภาพนี้ได้รับการโหวตให้เป็นหนึ่งในร้อยภาพทรงอิทธิพลมากที่สุดตลอดกาลของนิตยสาร Time 
    ฮาลส์แมนยังเคยถ่ายภาพบาบูเป็นแบบร่วมกับดาลีในภาพ Salvador Dali and Babou (1964) ซึ่งตัวของดาลีมีเหรียญและธนบัตรมากมายปกคลุมอยู่เว้นเฉพาะใบหน้าที่ปรากฏออกมา แล้วบาบูที่อยู่เหนือเขาก็โน้มตัวลงมาทำท่าจุมพิตที่แก้มของดาลีเสียด้วย

    ดาลีมักจะใช้ภาพมุมกว้างมาสร้างอารมณ์ผู้ชมให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่และน่าหวั่นของธรรมชาติ โดยมีการใช้คนเป็นตัวเทียบสเกลให้เห็นชัดมากขึ้น ซึ่งหากเขาสร้างสรรค์แมวของเขา แน่นอนว่าบาบูจะไม่ได้เป็นแค่แมวเหมียวธรรมดาอย่างแน่นอน รักชนกจึงลองวาดภาพบาบูในสไตล์เหนือจริงแบบภาพ The Elephants ดูบ้าง

ลัมป์ สุนัขของ ปาโบล ปิกัสโซ
    ลัมป์ (Lump) ในภาษาเยอรมันแปลว่า เจ้าตัวแสบ เป็นชื่อของสุนัขพันธุ์ดัชชุนด์ของ ปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso) หนึ่งในศิลปินเอกของโลกชาวสเปนผู้ใช้ชีวิตและทำงานศิลปะอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสเป็นหลัก เขาเปี่ยมไปด้วยพรสวรรค์ด้านศิลปะและมีผลงานหลากหลายรูปแบบทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม เซรามิก เรื่อยไปจนถึงเสื้อผ้าและฉากละครเวที จนถูกนับว่าเป็นศิลปินผู้ทรงอิทธิพลต่อศิลปะยุคโมเดิร์นเลยทีเดียว ผลงานอันโดดเด่นของเขา เช่น The Old Guitarist, La Vie และ Absinthe Drinker เป็นต้น
    ตลอดช่วงชีวิต 91 ปี ปิกัสโซมีสัตว์เลี้ยงมาแล้วมากมาย เขาเลี้ยงนกฮูก สุนัข หนู แพะ แมวไทย และเคยได้รับมรดกจาก อองรี มาติส (Henri Matisse) เป็นนกพิราบสีขาว ซึ่งนกตัวนี้เป็นที่มาของภาพวาด Dove of Peace (1949) หลังจากตัดทอนเป็นลายเส้นเรียบง่ายและใส่องค์ประกอบสีสันสดใสลงไป ภาพนี้ก็ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของการประชุมสันติภาพนานาชาติครั้งแรก (The International Peace Conference) ที่ กรุงปารีส ค.ศ. 1949 นั่นเอง 
    ลัมป์ไม่ได้เป็นสุนัขของปิกัสโซตั้งแต่แรก เดิมทีมันเป็นสุนัขของ เดวิด ดักลาส ดันแคน (David Douglas Duncan) เพื่อนช่างภาพสงคราม ซึ่งนัดมากินอาหารและถ่ายภาพที่บ้านบนเนินเขาในเมืองคานส์ของเขา วันนั้นดันแคนนำลัมป์มาด้วย เนื่องจากลัมป์ไม่ถูกกับสุนัขที่เขาเลี้ยงไว้ก่อนแล้ว เมื่อปิกัสโซได้พบกับลัมป์ถือว่าเป็นรักแรกพบก็ว่าได้ เพราะทั้งคู่รู้สึกดีต่อกันทันที
    ความรู้สึกที่มีต่อสุนัขตัวนี้ของเขาก็พิเศษกว่าสัตว์ที่เคยเลี้ยงตัวไหนๆ เพราะลัมป์ได้กินอาหารร่วมโต๊ะกับปิกัสโซด้วยจานที่ปิกัสโซวาดรูปพอร์เทรตของลัมป์เอาไว้ ได้ขึ้นไปนอนบนเตียงเดียวกัน รวมถึงใช้ประติมากรรมสำริดสูง 7 ฟุตของศิลปินระดับโลกคนนี้เป็นส้วมส่วนตัวของมัน ลัมป์สามารถเข้าไปในห้องทำงานทั้งๆ ที่สัตว์เลี้ยงตัวอื่นไม่เคยย่างกรายเข้าไป และแทบจะตัวติดกับปิกัสโซเลยทีเดียว
    ดันแคนถึงกับเคยเขียนไว้ว่า "ปิกัสโซกอดลัมป์ไว้ในอ้อมแขนและป้อนอาหารให้ด้วยมือ เจ้าหมาน้อยตัวนี้บุกยึดบ้านหลังนั้นไว้หมดแล้ว!" เขายังถ่ายภาพของทั้งคู่ไว้มากมาย แล้วนำเรื่องราวและภาพพอร์เทรตขาวดำของพวกเขามาเผยแพร่ในหนังสือ Lump: The Dog Who Ate a Picasso 
    ในบั้นปลายชีวิตทั้งคู่ต้องแยกจากกันเพราะลัมป์ล้มป่วยจากปัญหากระดูกสันหลัง แล้วสัตวแพทย์ท้องถิ่นไม่สามารถรักษาได้ ดันแคนจึงนำลัมป์มาช่วยดูแลเพราะมีสัตวแพทย์ที่เยอรมันยินดีรักษา แม้ลัมป์ต้องรับการรักษาอยู่หลายเดือน แต่มันก็มีชีวิตอยู่ต่อมาได้อีกหลายปี จนกระทั่งลัมป์เสียชีวิตลงก่อนปิกัสโซเพียงแค่สิบวัน ในวันที่ 29 มีนาคม ค.ศ. 1973

    รักชนกหยิบภาพในยุค Blue Period ของปิกัสโซมาใช้ และนำสีส้มมาปรับใช้แทนสีน้ำตาลในภาพที่สร้างสรรค์ขึ้นในยุคปัจจุบันนี้ เพื่อแทนอุปนิสัยร่าเริงสดใสของลัมป์ และสะท้อนถึงความรู้สึกของปิกัสโซต่อสุนัขขาสั้นตัวนี้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้

แคทซี แมวของ กุสตาฟ คลิมต์
    แคทซี (Katzie) เป็นแมวสีขาวแต้มดำตัวโปรดของกุสตาฟ คลิมต์ (Gustav Klimt) ศิลปินยุค Art Nouveau ที่สร้างตำนานความรักที่เจ้าของมีต่อแมวไว้บนโลกศิลปะอีกเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว 
    คลิมต์มีชิ้นงานเคลือบทองอันเป็นเอกลักษณ์ และองค์ประกอบทุกอย่างแทบจะหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียว แฝงไปด้วยความงดงามปนอีโรติกของหญิงสาว หนึ่งในผลงานช่วงยุคทองของเขามีชื่อว่า The Kiss (1907-1908) เป็นภาพของคู่รักที่กำลังจุมพิตกันอย่างน่าหลงใหลในอ้อมกอดของกันและกัน อีกทั้งเขายังเป็นศิลปินหัวก้าวหน้าและร่วมก่อตั้ง Vienna Secession องค์กรที่สนับสนุนศิลปะรูปแบบใหม่ในเวียนนา เพื่อสร้างพื้นที่ให้ศิลปินรุ่นใหม่สามารถจัดแสดงงานศิลปะแบบไม่มีข้อจำกัดด้านแนวทาง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการปฏิวัติวงการศิลปะที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงครั้งหนึ่ง
    นอกจากความอลังการของผลงานศิลปะและอุดมการณ์อย่างเต็มเปี่ยมแล้ว ความรักที่มีต่อแมวของคลิมต์ดูจะไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ดูได้จากภาพถ่ายที่เขาอุ้มเจ้าแคทซีเอาไว้อย่างอารมณ์ดี ทั้งๆ ที่ว่ากันว่ามีแมวจำนวนมากเดินเตร่อยู่รอบสตูดิโอของเขาอย่างอิสระ แถมยังก่อความวุ่นวายและสร้างความเสียหายกับภาพร่างจำนวนมากของเขา แต่ความรู้สึกของผลงานที่ถูกบรรดาแมวในสตูดิโอทำลายก็ไม่สามารถสั่นคลอนความเป็นทาสแมวของคลิมต์ได้เลยแม้แต่น้อย
    ครั้งหนึ่งนักวิจารณ์ศิลปะ อาร์เทอร์ โรส์เลอร์ (Arthur Roessler) เล่าถึงประสบการณ์ตอนไปที่สตูดิโอของคลิมต์ไว้ว่า "ขณะนั่งอยู่กับคลิมต์เพื่อรื้อค้นเอกสารในกองอยู่ รอบๆ มีแมว 8-10 ตัวคอยส่งเสียงเหมียว ร้องคราง เล่นทะเลาะกันจนกระดาษปลิวว่อนไปทั่ว ผมถามคลิมต์ด้วยความสงสัยว่า เขามีทีท่าผ่อนคลายแล้วปล่อยให้แมวทำลายภาพวาดสวยๆ เหล่านี้ได้อย่างไร คลิมต์ตอบด้วยรอยยิ้มว่า 'ไม่หรอกเพื่อน แม้ว่าพวกเขาจะขยำและฉีกกระดาษชิ้นไหนมันก็ไม่สำคัญ เพราะพวกมันแค่ฉี่ใส่ตัวอื่นเท่านั้น และคุณรู้ไหมว่ามันเป็นตัวประสาน (สารเคมีซึ่งส่วนมากเป็นสารเคมีอินทรีย์ที่ทำหน้าที่ยึดสีให้ติดอยู่กับเส้นใย) ที่ดีที่สุด!'"
    ความโด่งดังของแมวที่คลิมต์เลี้ยงทำให้คาแรกเตอร์ของแคทซีไปปรากฏอยู่ในหนังสือภาพ Klimt and His Cat (Incredible Lives for Young Readers) ในฐานะตัวดำเนินเรื่องที่นำผู้อ่านเดินทางเข้าไปในสตูดิโอของคลิมต์ ซึ่งนอกจากจะเห็นภาพสตูดิโอ อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงาน แปรง ผ้าใบ และสารพัดสีที่หกอยู่บนโต๊ะผ่านภาพประกอบที่สวยงามแล้ว ยังมีเรื่องราวที่นางแบบถูกรบกวนระหว่างการทำงาน ความทุ่มเทในการสร้างสรรค์ผลงาน และแนวคิดที่มีต่อความเป็นศิลปะของศิลปินคนนี้ผ่านมุมมองของแมวได้อย่างน่าสนใจ

    รักชนกนำแมวมาใช้แทนหญิงสาวในภาพชื่อดังอย่าง Portrait of Adele Bloch-Bauer I ซึ่งแต่เดิมจุดเด่นของงานคือสีทองที่ตัดกับความนุ่มนวลของผิว แต่รอบนี้เธอเลือกนำเสนอความเนียนนุ่มด้วยขนของเจ้าเหมียว และรักษาเอกลักษณ์สีทองในงานของคลิมต์ไว้อย่างครบถ้วน

ยิปและเอแฮบ สุนัขของ แจ็คสัน พอลล็อก
    ยิป (Gyp) และ เอแฮบ (Ahab) เป็นสุนัขของ แจ็คสัน พอลล็อก (Jackson Pollock) ความสัมพันธ์อันน่ารักอบอุ่นของพวกเขามีหลักฐานเป็นภาพถ่ายขาวดำขนาด 12 x 10 เซนติเมตร ซึ่งเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีที่ หอจดหมายเหตุอเมริกัน (Archives of American Art) สถาบันสมิธโซเนียน (Smithsonian Institution) 
    ในฐานะศิลปิน แจ็คสัน พอลล็อก เป็นเจ้าพ่อสาดสีที่เป็นหัวหอกของกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะแอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ (Abstract Expressionism) เจ้าของงานศิลปะนามธรรมอันรุนแรงและทรงพลังที่สุดแห่งยุคอย่าง Number 5 (1948) และอีกมายมาย
    พอลล็อก และ ลี คราสเนอร์ (Lee Krasner) ภรรยาของเขา สร้างสตูดิโอและทำงานร่วมกันอยู่ที่นิวยอร์กหลังแต่งงาน แต่เนื่องจากพอลล็อกต้องต่อสู้กับอาการพิษสุราเรื้อรัง ความเครียด และอารมณ์รุนแรงของเขา ทั้งคู่จึงตัดสินใจที่จะย้ายไปหาความสงบใกล้ชายหาดใน อีสต์แฮมป์ตัน เขตชานเมืองของลองไอแลนด์ แล้วใช้พื้นที่ในโรงนาทำงานศิลปะ
    หลังจากนั้นไม่นานในปี 1946 พวกเขารับสุนัขพันธุ์ผสมบอร์เดอร์คอลลี่จากสถานสงเคราะห์ตัวหนึ่งมาเลี้ยง พอลล็อกตั้งชื่อมันว่า ยิป ที่เป็นชื่อเดียวกันกับสุนัขที่เขาเคยเลี้ยงตอนเด็กๆ ชื่อ ยิป ย่อมาจาก ยิปซี ส่วนสุนัขอีกตัวพันธุ์พุดเดิลชื่อ อาแฮบ เอเลน แฮร์ริสัน (Helen A. Harrison) ผู้อำนวยการ Pollock-Krasner House and Study Center เล่าว่าพวกเขาได้มาจากเพื่อนศิลปินที่ชื่อ อัลฟอนโซ่ ออสซอริโอ (Alfonso Ossorio) ในปี 1952 แล้วตั้งชื่อว่า อาแฮบ ตามชื่อของกัปตันผู้ล่าวาฬจากหนังสือ โมบี้ ดิ๊ก (Moby Dick) ที่เขียนโดย เฮอร์แมน เมลวิลล์ (Herman Melville) ให้สมกับที่สุนัขตัวนี้อาศัยอยู่ใกล้ทะเล
    ยิปและเอแฮบคอยอยู่เป็นเพื่อนพอลล็อกขณะทำงานศิลปะอยู่เสมอ บ่อยครั้งที่มีภาพถ่ายของพวกมันป้วนเปี้ยนอยู่ใกล้ๆ เขา ปัจจุบันยังมีรอยขีดข่วนของยิปและเอแฮบปรากฏอยู่ที่ประตูโรงนาซึ่งเป็นสตูดิโอของพอลล็อคอยู่เลย

    ถือเป็นเรื่องยากในการตีความภาพของพอลล็อกเพื่อนำมาสร้างสรรค์เป็นภาพสุนัขในสไตล์ของเขา แต่รักชนกเลือกที่จะใช้สีดำและขาวเพื่อเป็นตัวแทนของยิปและเอแฮบ แล้วเติมความเลอะเทอะด้วยสีน้ำตาล แทนความซุกซนตามประสาสุนัขด้วยสีส้ม โดยใช้วิธีการหยดและสะบัดสีตามเทคนิคที่พอลล็อกเคยใช้ เพื่อสื่อถึงอารมณ์และความรู้สึกของการเล่นของทั้งสองตัว

รักชนก ลิมปรุ่งพัฒนกิจ

นักศึกษาฝึกงานกราฟิกผู้เชื่อว่าความสุขคือความสบายใจ อุณหภูมิคงที่ เสียงเสียดสีของใบหญ้า และสายลมอ่อนๆ ขณะเดียวกันความตื่นเต้น เสียงจอแจ และอากาศร้อนก็เติมสีสันในชีวิตให้เธอได้ไม่น้อย

ดุสิตา อิ่มอารมณ์

นักเขียน ผู้ใช้พื้นที่ในเวลาว่างไปกับการอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ขี่จักรยาน อ่านการ์ตูน เล่นเลโก้ ฯลฯ โดยเชื่อเต็มหัวใจว่าเวลาที่หมดไปกับความรื่นเริงนี้สามารถเติมเต็มชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ