มองโลกโหดร้ายในวันนี้ ผ่านการตีความใหม่บนปกหนังสือดิสโทเปีย

    ทุกๆ ปีจะมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ มาฝึกงานกับ happening เป็นเวลาเดือนกว่าๆ บ้าง สองหรือสามเดือนบ้าง ในช่วงเวลาที่นักศึกษาไฟแรงเหล่านี้มาช่วยงานทีม happening หลายครั้งเราเห็นการเติบโตและเห็นความสามารถของน้องๆ ที่ควรจะถูกทำให้ฉายแววส่องสว่าง ทีม happening จึงเริ่มสิ่งที่เรียกว่า happening project ให้น้องๆ ฝึกงานทุกคนได้ลองทำอะไรก็ได้ที่ได้แสดงฝีมือตามความสนใจเต็มที่ ภายในกรอบที่ควรจะนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ ของเรา และสำหรับ หนึ่ง-เมธัส แก้วดำ นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ สาขาวารสารสนเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาเป็นนักอ่านตัวยง เขาสนใจเรื่องวรรณกรรม และยังสนใจการทำภาพประกอบแบบคอลลาจ เราเลยลองให้เขาแนะนำหนังสือวรรณกรรมแนวดิสโทเปีย ที่ดูจะเป็นเทรนด์ในช่วงหลายๆ ปีมานี้ พร้อมกับการตีความปกวรรณกรรมทั้งหมดใหม่อีกครั้ง 
    และนี่คือผลงานบทความและงานภาพประกอบที่เมธัสสร้างสรรค์ออกมา


    โลกปัจจุบันที่เราอาศัยอยู่ในวันนี้ เหมือนทุกวินาทีที่เราหายใจแทบจะไม่ใช่โลกใบเดิมอีกต่อไป ภาวะหลายอย่างเปลี่ยนไปจากอดีตมากมาย อาทิ การที่โลกทั้งใบกำลังเผชิญกับโรคระบาด ทุกคนจำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ เด็กนักเรียนต้องเรียนหนังสือผ่านหน้าจอ ร้านค้าและธุรกิจมากมายต้องปิดตัวลง มีผู้คนล้มตายและกระทั่งฆ่าตัวตายมากขึ้นในทุกๆ วัน ตอนนี้เหมือนเราอยู่ในความฝัน และเป็นฝันที่โหดร้ายเอามากๆ หรืออีกมุมนึงเรากำลังหลุดเข้าไปในนวนิยาย และเป็นนวนิยายแบบ 'โลกดิสโทเปีย' 
    โลกดิสโทเปีย (Dystopia) คือรูปแบบวรรณกรรมหรือสื่อที่นำเสนอเมืองที่แสดงความโหดร้าย ความเหลื่อมล้ำ หรือความตรงข้ามกับความอุดมคติใดๆ เพื่อสะท้อนสังคมหรือตั้งคำถามกับค่านิยมบางอย่างที่สังคมกำลังเผชิญ โดยการนำเสนอเรื่องร้ายๆ อย่างสุดขั้วดังกล่าวที่ดูภายนอกอาจจะโหดร้าย แต่แท้จริงโลกดิสโทเปียเหล่านั้นก็เหมือนเป็นภาพการทำนายที่มอบไฟแห่งความหวังให้เราไม่ก้าวเดินไปยังโลกเหล่านั้น
    ในปัจจุบันสื่อในรูปแบบภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ หรือแม้แต่วรรณกรรม ต่างนำเสนอเรื่องราวผ่านโลกดิสโทเปียมากขึ้น การเพิ่มขึ้นในการผลิตเนื้อหาประเภทนี้เหมือนเป็นการตอกย้ำว่าอนาคตที่มืดมันดูจะใกล้เข้ามาทุกทีหรือไม่ หรือแท้จริงการเสพเรื่องโลกที่โหดร้ายอาจจะเป็นการปลอบใจว่าอย่างน้อยโลกที่เราอยู่ก็ยังไม่โหดร้ายเหมือนโลกแบบดิสโทเปีย หรือเราอาจจะเตรียมตัวเพื่อรับโลกดิสโทเปียในอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้นจริงในวันพรุ่งนี้ เราจึงอยากแนะนำหนังสือดิสโทเปีย 10 เล่ม ให้คุณลองหามาอ่าน  เนื่องจากแต่ละเล่มมีคุณค่าจนมีการตีพิมพ์ซ้ำหลายต่อหลายครั้ง แล้วจึงถือโอกาส ลองออกแบบปกหนังสือทั้ง 10 เล่มใหม่เป็นเซตเดียวกัน โดยใช้รูปแบบของงานคอลลาจที่ผสมผสานสิ่งต่างๆ จากวาระต่างๆ มารวมกัน (เหมือนความวุ่นวายจากหลายๆ เหตุผลของโลกวันนี้) มีจุดร่วมเล็กๆ เป็นพื้นที่วงรี ที่เปรียบเสมือนความบิดเบี้ยวของโลกทรงกลมปกติที่เราเคยคุ้น และที่เหลือคือองค์ประกอบต่างๆ จากเรื่องเล่า และจากโลกที่เราคิดว่ามันไม่สมบูรณ์ ...และไม่เคยสมบูรณ์

1984 | George Orwell
    หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ วรรณกรรมดิสโทเปียขึ้นหิ้งตลอดกาล ของนักเขียนชื่อดังชาวอังกฤษอย่าง จอร์จ ออร์เวลล์ โดยเขาได้เขียนถึงเรื่องราวในอนาคตผ่านการกลับตัวเลขปี เมื่อเขาเขียนหนังสือเล่มนี้ในปี ค.ศ.1948 ชื่อของหนังสือเล่มนี้จึงเป็น 1984 เรามักจะเจอหนังสือ หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ เสมอเมื่อค้นหาวรรณกรรมหรือสื่อแบบดิสโทเปีย หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ เป็นหนังสือแนวบันเทิงคดีการเมือง เกี่ยวกับโลกที่รัฐปกครองด้วยความสุดขั้วในระบอบเผด็จการชื่อ แอร์สตริปวัน จนมีตัวละครชื่อว่าวินสตันประชาชนที่อาศัยในแอร์สตริปวัน เริ่มตั้งคำถามถึงการปกครองรูปแบบนี้ ใน หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ ทำให้เห็นการล้างสมองประชาชนผ่านสื่อ กิจกรรม และนโยบายทางการเมือง นอกจากนี้ยังทำให้เห็นการใช้อาวุธที่เรียกว่า 'ความกลัว' ในการจับตามองประชาชน ด้วยสายตาแห่งความเผด็จการ ทำให้หนังสือเล่มนี้ได้ผลิตคำและประโยคทองจำนวนมากที่นำมาใช้ในการต่อต้านการปกครองแบบระบอบเผด็จการ หนึ่งในนั้นได้แก่ 'พี่เบิ้มกำลังจับตาดูคุณ' (big brother is watching you) ที่เป็นประโยคที่พบในเรื่อง เป็นเหมือนการล้างสมองไม่ให้คนต่อต้านหรือตั้งคำถาม เพราะเมื่อไหร่ที่คุณต่อต้าน รัฐก็จะทำให้ 'เชื่อง' และง่ายต่อการปกครอง 
    ภาพปกนำเสนอโต๊ะทำงานของคุณวินสตันที่เปรียบเสมือนความคิดของตัวละคร ที่เป็นจุดเริ่มตั้งคำถามและเป็นจุดปลอดภัยในการสงสัยการทำงานของรัฐ แต่แท้จริงแล้วในยุคแห่งรัฐบาลเผด็จการ ไม่มีที่แห่งไหนที่ปลอดภัยอย่างแท้จริงแม้กระทั่งในความคิด รัฐต่างพยายามที่จะเจาะเข้าไปเพื่อเพ่งเล็งสอดส่องความคิดของเราอยู่เสมอ เพื่อสร้างความกลัวสร้างกรอบและความอึดอัด เป็นการตอกย้ำการกระทำและความคิดตามประโยคที่ว่า 'พี่เบิ้มกำลังจับตาดูคุณ'

The Time Machine | H.G. Wells
    ผลงานอมตะจากเจ้าพ่อวรรณกรรมวิทยาศาสตร์อย่าง เอช. จี. เวลส์ เรื่องเดอะ ไทม์ แมชชีน ถือเป็นหนึ่งในวรรณกรรมที่เกี่ยวกับการเดินทางข้ามเวลาเล่มแรกๆ ของโลก กล่าวถึงนักเดินทางข้ามเวลาที่เขาได้ข้ามมิติแห่งเวลาไปไกลถึงแปดแสนปีข้างหน้าด้วยความหวังว่ามนุษย์จะเจริญก้าวหน้าจากยุคที่เขาจากมา แต่แท้จริงแล้วมันแทบจะตรงกันข้าม เมื่อเขาเดินข้ามเวลามาแปดแสนปีในอนาคตและพบว่าสัตว์ต่างสูญพันธุ์ อารยธรรมของมนุษย์ล่มสลาย มนุษย์ก็ไม่ได้วิวัฒนาการไปไกล (ในทางที่ดี) แม้แต่น้อย และเขายังพบว่ามนุษย์บางส่วนยังมีการวิวัฒนาการย้อนกลับไปเป็นสัตว์กินเนื้อกระหายเลือดที่อาศัยอยู่ใต้ดิน เรื่องเดอะ ไทม์ แมชชีน หากตีความก็สามารถบอกได้ว่าเรื่องดังกล่าว เวลส์กำลังวิพากษ์เรื่องการเมือง ชนชั้น และระบบทุนนิยม เมื่อเกิดความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น ความโกรธแค้นที่ถูกกักเก็บของชนชั้นล่างและชนชั้นแรงงานก็จะทำให้พวกเขาเปลี่ยนไป พวกเขาจึงรอเวลาที่จะได้ขึ้นไปเปลี่ยนแปลงปฏิวัติทุกสิ่ง และเอาคืนเหล่าชนชั้นบนที่กำลังมีความสุขจากเสพความสุขจากช่องว่างความเหลื่อมล้ำ 
    ภาพปกนำเสนอโลกสองใบ บนดินและใต้ดินสถานที่อยู่ของมนุษย์สองรูปแบบที่กล่าวในเนื้อเรื่อง ภาพของมนุษย์บนดินที่อยู่อาศัยอย่างมีความสุข ในขณะที่เราไม่เห็นภาพของมนุษย์ใต้ดินเลย นั้นคือภาพที่ความเหลื่อมล้ำจากระบบทุนนิยมกำลังมองมาที่โลกใบนี้ คนชนชั้นล่างต่างถูกทำให้ไร้ตัวตน และรอเวลาที่พวกเขาจะได้มีตัวตน เป็นเหมือนความกลัวที่มนุษย์ชนชั้นบนไม่อาจจินตนาการได้ ถึงแม้จะมีทฤษฎีการต่อต้านการปฏิวัติจากนักเขียนอย่างเอช. จี. เวลส์ เพราะเขาเชื่อในการค่อยเป็นค่อยไปในการเปลี่ยนแปลง แต่หนังสือเล่มนี้ก็ทำให้เห็นภาพความโกรธแค้นของคนชนชั้นล่างได้เป็นอย่างดี

The Suicide Shop | Jean Teule
    ร้านชำสำหรับคนอยากตาย เรื่องตลกเสียดสีสังคมโดยนักเขียนชาวฝรั่งเศส ฌ็อง เตอเล หนังสือกล่าวถึงเมืองในอนาคตเมื่อโลกได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ และสภาพอากาศที่แปรปรวนทำให้ผู้คนต่างฆ่าตัวตายด้วยความสิ้นหวัง เกิดเป็นค่านิยมในให้ความสนใจการฆ่าตัวตายของคนในเมือง จนครอบครัวหนึ่งได้เริ่มอาชีพร้านชำสำหรับคนอยากตาย ที่จะหาของสำหรับการฆ่าตัวตายให้ลูกค้าได้ถูกจดจำเมื่อพวกเขาปลิดชีพตนเอง เมื่อลูกค้าซื้อของในร้านพวกเขาจะกล่าวกับลูกค้าว่า "เจอกันในชาติหน้านะ" แต่คำพูดเหล่านั้นก็ต้องสั่นคลอน เมื่อครอบครัวได้ให้กำเนิดอลันเด็กคนหนึ่งที่มาพร้อมรอยยิ้มและเปลี่ยนมุมมองของครอบครัวนี้ไปตลอดกาล โดยการพูดกับลุกค้าว่า "แล้วพบกันใหม่นะครับ" เด็กคนนี้ที่ทำให้เห็นว่าการมีชีวิตอยู่ ล้วนให้ความหมายที่มีคุณค่ามากกว่าการจากไปอย่างเป็นที่น่าจดจำ
    ภาพปกนำเสนอเมืองที่มองผ่านสายตาของอลันที่มองโลกเป็นสีสันและเห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ ภาพของเมืองจึงดูเป็นลายเส้นที่วาดด้วยสายตาของเด็ก และเด็กผู้นี้มองเมืองทั้งใบด้วยสายตาที่ตรงกันข้ามกับคนอื่นพร้อมทั้งจะหาหนทางให้ทุกคนเห็นคุณค่าของชีวิตเหมือนดั่งที่เขาเห็น

Planet of the Apes | Pierre Boulle
    พิภพวานร โดย ปีแยร์ บูล เผยแพร่ครั้งแรกปีค.ศ. 1963 หนังสือพลอตคลาสสิคที่ทุกคนต่างเคยผ่านตาเล่าเกี่ยวกับตัวละครนักสำรวจอวกาศที่ยานของพวกเขาไปตกยังดาวแห่งหนึ่ง ที่สิ่งมีชีวิตแบบเอป (Ape) หรือลิงไม่มีหางเป็นผู้มีวิวัฒนาการอารยธรรมและสติปัญญาสูงกว่ามนุษย์ ส่วนมนุษย์ก็กลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต่ำต้อยถูกไล่จับเหมือนสัตว์ป่าและกลายเป็นทาส โดยหนังสือได้สลับตำแหน่ง 'สัตว์ประเสริฐ' หรือการอยู่บนจุดสูงสุดในเรื่องของการวิวัฒนาการจากมนุษย์กลายเป็นเอป ทำให้เราร่วมตั้งคำถามถึงตำแหน่งของมนุษย์ในปัจจุบันที่มักตั้งตนเป็นใหญ่ และมองว่าโลกทั้งใบเป็นของมนุษย์ 
    ดังนั้นภาพปกจึงนำเสนอการพลิกบทบาท เมื่อมนุษย์ไม่ได้อยู่บนจุดสูงสุดอีกต่อไป มนุษย์ก็อาจจะเหมือนสัตว์ในกรงขังที่ถูกมองด้วยสายตาของสิ่งมีชีวิตอื่นด้วยความรู้สึกดูถูก และเมื่อสัตว์เหล่านั้นได้ก้าวเข้าสู่จุดสูงสุดของวิวัฒนาการ สัตว์เหล่านั้นอาจจะปฎิเสธไม่ได้ว่าแนวคิดที่เอาตนเองเป็นศูนย์กลางก็ไม่ต่างอะไรกับมนุษย์ที่ถูกล่ามโซ่ด้วยความหลงตัวเอง ทำให้เราหันกลับมาตั้งคำถามถึงจุดสูงสุดนี้ ว่ามนุษย์อย่างเราเคยใช้เหตุผลเหล่านี้ไปทำร้ายสิ่งมีชีวิตอื่นหรือกีดกันแบ่งแยกกันเองหรือไม่

The Emissary | Yoko Tawada
    ผู้อัญเชิญไฟ ผลงานระดับเนชั่นแนลบุ๊ค อวอร์ดปี 2018 สาขาวรรณกรรมแปล โดยนักเขียนชาวญี่ปุ่น โยโกะ ทาวาดะ เรื่องราวเกี่ยวกับญี่ปุ่นในอนาคตที่ปิดประเทศ โลกเต็มไปด้วยมลภาวะและสารพิษ ทั้งในน้ำจนไม่สามารถทำการประมงได้ และในดินจนรัฐบาลต้องปูกระจกใสทั่วประเทศเพื่อป้องกันสารพิษจากดิน ทำให้เด็กที่เกิดมาไม่แข็งแรง อ่อนแอและอายุสั้น ช่างตลกร้ายที่ผู้สูงอายุที่เกิดก่อนเหตุการณ์เหล่านี้กลับอายุยืนและแข็งแรงขึ้นจนแทบจะเป็นอมตะ มองไปทางใดก็คงจะสิ้นหวัง จน มุเมอิ เหลนชายของคุณตาทวด โยชิโร อายุร้อยปี ได้มองโลกใหม่ๆ ผ่านส้มและการใช้ชีวิต จนสร้างไฟแห่งความหวังที่ดูเบาบางในโลกที่สิ้นหวังเหล่านี้ และเขาก็พร้อมจะนำดวงไฟเหล่านั้นไปส่งยังที่ต่างๆ เพื่อส่องสว่างให้ความหวังได้กลับคืนสู่หัวใจของคนญี่ปุ่นอีกครั้ง
    ภาพปกนำเสนอเด็กน้องที่วิ่งไปข้างหน้าด้วยสีหน้าที่สิ้นหวัง ที่เบื้องหลังเป็นต้นส้มที่งอกงาม เป็นการสะท้อนภาพของเมืองญี่ปุ่นในผู้อัญเชิญไฟ แม้เขาจะสิ้นหวังแต่แท้จริงความหวังกำลังผลักดันให้เขาวิ่งต่อไป เหมือนต้นส้มที่เจริญงอกงามดั่งการเรียนรู้และความหวัง เพราะในเรื่องส้มมักเป็นผลไม้ที่ปู่โยชิโรคั้นน้ำให้มุเมอิได้ดื่มและเขาก็มักจะสำลัก ทำให้เป็นหนึ่งสิ่งให้มุเมอิรับรู้ความเจ็บปวดแต่ก็เรียนรู้ไปในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้มุเมอิยังเคยถามคุณปู่ว่าทำไมเขาไม่ดื่มน้ำส้มเอง แต่คุณปู่ก็ตอบกลับเพียง "เด็กยังต้องมีชีวิตไปอีกนาน ไม่ว่าอะไรก็ต้องให้เด็กก่อน" ส้มจึงเปรียบเสมือนความหวังในโลกอันโหดร้านที่คนรุ่นหลังมอบให้คนรุ่นใหม่

Ready Player One | Ernest Cline
    สมรภูมิเกมซ้อนเกม นวนิยายวิทยาศาสตร์ที่ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี 2018 ผลงานเขียนโดย เออร์เนสต์ ไคลน์ ที่นำเสนอโลกที่ผู้คนถูกครอบงำด้วยโลกเสมือนชื่อว่า โอเอซิส ทุกคนต่างทิ้งโลกความเป็นจริงและสวมรอยเป็นร่างอวตารเป็นในสิ่งที่พวกเขาอยากจะเป็นในโอเอซิส จนชีวิตของคนถูกผูกด้วยโลกเสมือน และเมื่อคุณฮอลิเดย์ผู้สร้างโอเอซิสจากไป เขาได้ทิ้งไข่อีสเตอร์เป็นขุมสมบัติที่มอบทั้งอำนาจและหุ้นในการดูแลโอเอซิสทั้งหมดผ่านกุญแจสามดอกที่ซ่อนไว้ในด่านต่างๆ ของโอเอซิส ให้คนทั่วโลกตามหาจน เวด วัตต์ส เด็กกำพร้าวัย 18 ปีต้องเรียนรู้ความคิดของคุณฮอลิเดย์เพื่อตามหากุญแจดอกที่เหลือ ทั้งเรื่องเราจะได้มองการเอาชนะปริศนาของเวด ผ่านการเรียนรู้เรื่องราวในอดีตของฮอลิเดย์ ทำให้เห็นว่าปัญหาไม่อาจจะแก้ไขได้ด้วยการพุ่งเข้าใส่โดยตรงอย่างเดียว แต่อาศัยการเรียนรู้และเห็นคุณค่าของบทเรียนที่เคยผิดพลาดในอดีต 
    ภาพปกแสดงภาพผู้หยั่งรู้อวตารของคุณฮอลิเดย์ที่มีสายระโยงรยางค์ไปทั่วร่างกาย และสายเหล่านั้นก็เชื่อมต่อกับโลกอีกใบหนึ่ง พร้อมกับกุญแจสามดอกที่เป็นตัวไขเข้าสู่การปลดล็อคไข่อีสเตอร์ โดยตลอดทั้งเรื่องที่เวดได้ค้นพบกุญแจเหล่านั้นก็เป็นเพราะเขาเลือกที่จะกลับไปเรียนรู้เรื่องราวของคุณคุณฮอลิเดย์ ในการตามหา มันก็ไม่ต่างอะไรกับการเรียนรู้ข้อผิดพลาดหรือประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเพื่ออนาคตข้างหน้า ภาพเมืองใหญ่ล้ำสมัยที่ถูกเชื่อมต่อกับผู้หยั่งรู้ที่เป็นแนวคิดแบบเก่า ก็เหมือนกับการสร้างอนาคตด้วยการเรียนรู้รากฐานและจุดเริ่มต้น เพราะบางทีการตะบี้ตะบันทำไปเรื่อยๆ โดยไม่มองจุดผิดพลาดในอดีตอาจจะทำให้เกิดผลเสียที่ใหญ่หลวงตามมา

Flatland : A Romance of Many Dimensions | Edwin A. Abbott
    โลกแบน เรื่องรักหลากมิติ โดย เอ็ดวิน แอ็บบอตต์ แอ็บบอตต์ เราคงจินตนาการไม่ออกเลย หากมนุษย์จะมีรูปร่างเพียงรูปราขาคณิต นอกจากนั้นยังเป็นเพียงสองมิติ แค่พูดเพียงเป็นเรขาคณิตก็อาจจะเป็นไปไม่ได้แล้ว ยิ่งกำหนดเรื่องมิติอันคับแคบคงยากไปใหญ่ เพราะมนุษย์ทุกคนต่างรู้ว่าโลกใบนี้มนุษย์ต่างสัมผัสมิติพื้นฐานสามมิติได้โดยง่าย ได้แก่ กว้าง ยาว และสูง ทำให้เป็นไปได้ยากถ้าจะตัดขาดมิติเหล่านั้นออกจากการรับรู้ แต่เรื่องโลกแบน ได้นำเสนอสังคมมนุษย์ด้วยรูปแบบเรขาคณิตและรูปทรง เอ็ดวิน แอ็บบอตต์เสียดสีสังคมแบบแบ่งชนชั้นอย่างสุดขั้ว ในการแยกฐานะและการมีตัวตนของมนุษย์ผ่านจำนวนเหลี่ยมและมุมเพื่อสะท้อนชนชั้นในสังคม เช่น ผู้หญิงก็จะเป็นเพียงเส้น ไร้ตัวตน ชนชั้นล่างจะเป็นสามเหลี่ยมที่หากด้านเท่าจะมีลำดับที่สูงกว่าสามเหลี่ยมหน้าจั่วหรือสามเหลี่ยมด้านไม่เท่า ขุนนางหรือชนชั้นสูงก็จะมีรูปทรงสมมาตรมีจำนวนเหลี่ยมที่เยอะ ผู้อ่านจะเห็นรูปแบบการรักษาอำนาจของชนชั้นนำ การสร้างกฎหรือการจำกัดรูปแบบทรัพยากร ความรู้ หรือขนบธรรมเนียมบางอย่างไว้เฉพาะชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งเท่านั้น เพื่อแยกว่าเขาเหล่านั้นเป็นรูปทรงที่มีชนชั้นฐานะหรือไม่
    ภาพปกนำเสนอสังคมแบบชนชั้นที่ไม่เห็นหัวผู้หญิง (คือไม่เห็นหัวจริงๆ) และไม่ให้ค่ากับชนชั้นล่าง แต่ภาพของขุนนางและชนชั้นกษัตริย์กลับมีฐานะและอยู่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ จากการดองอำนาจและการจำกัดการเข้าถึงอำนาจเหล่านั้น การศึกษาที่ถูกใส่พานถวายให้แต่คนชนชั้นสูงเท่านั้น นอกจากนี้เหล่าขุนนางและกษัตริย์ต่างไม่ได้ยืนอยู่บนจุดเดียวกันผู้หญิงและคนใช้แรงงานยืนอยู่ เพราะพวกเขาเป็นผู้กำหนดพื้นที่เหล่านั้นด้วยสายตาของพวกเขา

Mortal Engines | Philip Reeve
    สมรภูมิเมืองล่าเมือง เป็นชุดหนังสือนวนิยายแนวแฟนตาซี โดยนักเขียนชาวอังกฤษ ฟิลิป รีฟ โลกอนาคตที่อารยธรรมของมนุษย์ชาติต่างศูนย์สลายจากภัยพิบัติและสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมในการอยู่อาศัยในบางแห่ง ทำให้มหานครต่างๆ ได้ปรับตัวเป็นเมืองที่สามารถเคลื่อนที่ได้ไม่ว่าจะเป็นเมืองแบบติดล้อ เมืองลอยฟ้า หรือเมืองกลางมหาสมุทร โดยบางเมืองที่มีขนาดใหญ่จะจับเมืองที่มีขนาดเล็กมาสร้างพลังงาน และประชากรในเมืองเล็กก็จะถูกกลืนเป็นส่วนหนึ่งของประชาการในเมืองใหญ่ ระบบการเอาตัวรอดแบบเมืองใหญ่ตามล่าเมืองเล็กไม่ต่างอะไรกับทฤษฎีการคัดสรรตามธรรมชาติที่ว่าผู้แข็งแกร่งย่อมอยู่รอด ซึ่งมันชวนให้เราตั้งคำถามว่า ผู้แข็งแกร่งเท่านั้นหรือที่จะคู่ควรในการอยู่รอด ในสังคมมนุษย์แนวคิดแบบนี้สามารถใช้ได้หรือไม่ หรือถ้าหากจะใช้แนวคิดดังกล่าว ความแข็งแกร่งที่ได้มานั้นยุติธรรมจริงหรือไม่ หรือแท้จริงความแข็งแกร่งก็คือเงิน คืออำนาจดีๆ นี้เอง หากเราจะคัดสรรผู้แข็งแกร่ง (ผู้มีอำนาจ) ให้อยู่รอดในสังคมเราจำเป็นต้องทิ้งหรือกลืนกินใครหรือไม่
    ภาพปกนำเสนอความแตกต่างของขนาดเมืองใหญ่ที่กำลังกลืนกินเมืองขนาดเล็ก ไม่ต่างอะไรกับการกลืนกินผู้ด้อยโอกาสหรือคนชายขอบในสังคม ให้เขาเป็นเพียงพลังงานให้สังคมของผู้มีอำนาจได้ก้าวเดินต่อไป และเมื่อกลืนกินสำเร็จบ้านหลังเล็กๆ คงจะกลายเป็นเพียงส่วนประกอบที่ขาดการดูและถูกจ้องมองจากตึกสูงของผู้ที่แข็งแกร่งกว่า (ผู้มีอำนาจกว่า)

The Handmaid's Tale | Margaret Atwood
    เรื่องเล่าของสาวรับใช้ หนังสือที่ถูกดัดแปลงไปเป็นซีรีส์และภาพยนตร์มากมาย ผลงานการเขียนโดย  มาร์กาเร็ต แอตวูด นักเขียนสายสิทธิ์สตรีอันเลื่องชื่อ ผู้นำเสนอโลกในอดีตผ่านการบันทึกของสาวรับใช้ผู้หนึ่ง เล่าถึงเมืองที่เกิดภัยพิบัติ ทำให้ไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนที่จะสามารถมีลูกได้ ควบคู่ไปกับลัทธิเคร่งศาสนากำลังเรืองอำนาจขึ้นจึงเกิดเป็นนโยบายผู้หญิงถูกแบ่งประเภท โดยผู้หญิงบางกลุ่มถูกใช้เป็นเครื่องมือในการผลิตประชากร พวกเธอจะถูกเรียกว่าเป็นสาวรับใช้ถูกฝึกเพื่อเพียงสืบพันธุ์ให้กับผู้ชายชนชั้นนำเท่านั้น โดยลูกที่กำเนิดจากสาวรับใช้ก็จะกลายเป็นลูกของชนชั้นนำและผู้หญิงชนชั้นสูง ถ้าหากเธอไม่สามารถมีลูกได้ เธอเหล่านั้นก็จะถูกแขวนคอเป็นเหมือนเครื่องเตือนใจให้สาวรับใช้ไม่กล้าต่อต้านแนวคิดดังกล่าว หนังสือสร้างภาพให้ผู้อ่านเห็นถึงระบบชายเป็นใหญ่อย่างสุดขั้วและรุนแรงจนทำให้ผู้หญิงเป็นเพียงสิ่งของบางอย่างที่มีหน้าที่ทำตามขนบที่ผู้ชายเป็นผู้เขียนขึ้นมา นอกจากนี้ชื่อหนังสือยังตอกย้ำว่า โลกใบนี้ทั้งหมดยังเป็นเพียงเรื่องเล่าไม่ใช้ข้อเท็จจริง เพราะผู้เล่าเป็นผู้หญิง 
    ภาพปกนำเสนอด้วยสีที่ปรากฏในเรื่องเพื่อทำให้เห็นว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องราวของสาวรับใช้ที่ถูกบังคับให้อยู่ในโลกหรือเมืองของผู้ชาย พวกเธอจะถูกลบชื่อและตีตราตัวเลขเหมือนสัตว์ในฟาร์มเพื่อผลิตลูกที่เปรียบเสมือนความมั่นคงของรัฐตามแบบที่ผู้ชายต้องการ และถึงแม้เธอจะได้รับการเชิดชูหรือดูแลให้เป็นดั่งเทวดาที่มีแสงรัศมีเจิดจรัสเมื่อเธอมีลูก การเชิดชูนั้นก็เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ ที่เป็นไปตามแบบของผู้ชายกำหนด

The Hunger Game | Suzanne Collins
    เกมล่าชีวิต วรรณกรรมที่กลายเป็นภาพยนตร์ไอคอนนิค ที่สัญลักษณ์และคำพูดต่างๆ ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแสดงออกสัญลักษณ์ในการต่อต้านรัฐบาลที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการ เช่น การชูสามนิ้ว การใช้สื่อ เป็นผลงานการเขียนโดย ซูซาน คอลลินส์ เนื้อเรื่องของ มหานครพาเล็ม ที่มีปกครองแบบแบ่งเมืองเป็นเขตต่างๆ จำนวน 12 เขต และเขตเหล่านั้นจำเป็นต้องส่งทรัพยากรให้เมืองหลวงหรือแคปปิตอลใช้สอย เนื่องจากการปกครองที่เป็นเผด็จการกุมอำนาจทำให้พาเล็มเคยเกิดการก่อกบฏแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ทำให้แคปปิตอลสร้างเกมขึ้นมาเพื่อลงโทษคนในแต่ละเขตโดยการส่งตัวแทนเด็กชายและหญิงเป็นบรรณาการจากแต่ละเขตมาต่อสู้กันเพื่อความบันเทิง เรื่องทั้งหมดถูกเล่าโดย แคตนิส เอฟเวอร์ดีน เด็กสาวจากเขต 12 ผู้อาสาเข้าแข่งขันเกมล่าชีวิตครั้งที่ 74 แทนที่ พริมโรส น้องสาวของเธอ ร่วมกับบรรณาการฝ่ายชาย พีต้า เมลลาร์ก ทำให้เขาทั้งคู่ต้องต่อสู้กับบรรณาการจากเขตอื่นเพื่อเอาตัวรอด ก่อนที่แคตนิสจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิวัติต่อไป ภาพสงครามและการกดขี่ ทุนนิยมและอำนาจ สิ่งเหล่านี้ต่างอบอวลอยู่ในเกมล่าชีวิต ที่ทำให้ผู้อ่านต่างตั้งคำถามถึงความเหลื่อมล้ำและการกดขี่คนด้วยการสร้างความกลัวจากรัฐบาลเผด็จการ 
    โลกที่รัฐปกครองด้วยความกลัว ด้วยอาวุธ ด้วยคาวเลือด ภาพปกได้เล่าความรุ่งโรจน์ที่ต่างเติบโตจากกองเลือดและควันปืน สิ่งที่แคปปิตอลสร้างไม่ใช่เพียงการกดหัวหรือการเชือดไก่ให้ลิงดู แต่เป็นการสร้างความกลัวให้ไม่กล้าต่อต้าน แต่สิ่งที่น่าเสียดายคือสิ่งนั้นไม่อาจจะยืนยงได้ถาวร สักวันความหวังจะถูกสร้างและก่อตัวจนเข้มแข็งจากความกลัวเหล่านั้น ภาพนกที่มีชื่อว่ามอคกิ้งเจย์ ภาพสัญลักษณ์ของการต่อต้านในเรื่อง เปรียบเสมือนการรอที่จะสยายปีกและโผบินนำความหวังโปรยปรายให้ประชาชนทุกคนที่ถูกกดทับ ที่ถูกเอาเปรียบสามารถลุกขึ้นต่อสู้รัฐเผด็จการเหล่านั้น

    สุดท้ายนี้เราอาจจะได้เพียงแต่ตั้งความหวังว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นจริง หวังว่าเหตุการณ์เลวร้ายที่เป็นอยู่กำลังจะดีขึ้น หรือสิ่งเหล่านั้นอาจจะเป็นเพียงฝันร้าย แต่เราจะรับประกันได้อย่างไรว่ามันเป็นเช่นนั้น เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าโลกใบนี้หรือสังคมที่เราอยู่ไม่ได้กำลังกลายเป็นสังคมดิสโทเปีย หากเรามองไปรอบๆ ตั้งคำถามถึงความเหมาะสมและการมีอยู่ของสิ่งรอบตัว ค่านิยม ระบบในสังคม หรือแม้แต่การทำงานของภาครัฐ เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งเหล่านั้นได้ลุกลามจนกลืนกินสังคมหรือโลกของเราจนกลายเป็นโลกดิสโทเปียไปในที่สุด

เมธัส แก้วดำ

ศิลปินผู้ปลดล็อคหลังทองคำแห่งออฟฟิศซินโดรม และเชื่อว่า ดอกไม้ ดวงจันทร์ วรรณกรรม เทพปกรณัม และศิลปะ ทำให้เราเข้าใจโลกมากขึ้น