เมื่อนักเรียนในคลาสเห็นรูปร่างของตัวอย่างขนมที่สำเร็จแล้วถูกตกแต่งเป็นรูปดอกไม้ ใบไม้ กระต่าย นก แถมเนื้อแป้งยังไล่สีสันสวยงามอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ก็อดใจไม่ไหวจนต้องเอ่ยปากถามว่า "กินได้จริงหรือคะ?" ครูจุ๋ม-ฐานิต ลิมปสุธรรม และ ครูณี-กฤตยาณี แสงสุบิน จึงนำขนมที่เตรียมไว้มาตัดแบ่งให้นักเรียนชิมช่วงเบรคคลาสเพื่อยืนยันว่า อาลัวโมจิ ที่ทุกคนกำลังเรียนกันอยู่นี้กินได้จริง …และที่สำคัญอร่อยด้วย
อาลัวโมจิ เป็นขนมที่ครูจุ๋มเจ้าของ Veladi Workshop & Studio คิดค้นขึ้น เธอเล่าถึงที่มาของอาลัวโมจิว่า มาจากความชื่นชอบขนมญี่ปุ่นและเกาหลี ที่ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นศิลปะทานได้ โดยเธอมีการปรับส่วนผสมต่างๆ ทั้งตัวแป้งให้ขึ้นรูปได้และมีเนื้อสัมผัสดี คิดค้นส่วนผสมในการปรุงไส้ให้ไม่หวานจนเกินไปและถูกปากคนไทย รวมถึงทดลองเทคนิคการกวนขนมด้วยไมโครเวฟ เพื่อให้ทำขนมชนิดนี้ได้ง่ายขึ้น เมื่อสูตรลงตัวแล้วจึงเปิดเป็นคลาสสอนทำขนมอาลัวโมจิที่แรกในประเทศไทย
คลาสสอนทำขนมอาลัวโมจิเหมาะสำหรับคนที่กำลังหากิจกรรมยามว่างหรืออยากสร้างอาชีพ ครูจุ๋มบอกว่าผู้เรียนเป็นผู้ใหญ่และวัยเริ่มทำงานเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าหากเด็กที่ชื่นชอบการทำขนมและมีสมาธิสามารถควบคุมตัวเองได้ก็สามารถเรียนได้เหมือนกัน เพราะใช้เวลาเรียนถึง 7 ชั่วโมง ตั้งแต่เช้าจรดเย็น โดยการสอนในคลาสนี้จะมีการถ่ายทอดเทคนิคการตกแต่งขนมแบบต่างๆ ให้ทุกคนสามารถนำไปปรับใช้กับการออกแบบของตัวเองได้ไม่จำกัด
ขณะที่ทุกคนในคลาสลงมือนวดแป้ง ส่วนผสมที่กำลังเข้ากันนั้นส่งกลิ่นหอมละมุนอบอวล ครูทั้งสองเข้าไปแนะนำเทคนิคในการทำขนมแต่ละขั้นตอนและตอบคำถามนักเรียนอย่างละเอียด พร้อมเผยเคล็ดลับการผสมไส้แบบไม่กั๊ก เรียกได้ว่าบรรยากาศการเรียนทำขนมที่ Veladi Workshop & Studio ทั้งสนุกสนาน ผ่อนคลาย และคุ้มค่ามากทีเดียว
หากมีความรู้สึกที่เก็บไว้ในใจแล้วไม่รู้ว่าจะปลดปล่อยออกมาอย่างไร ลองมาเข้ามาสาดสีในคลาส Splash Painting เวิร์กช็อปภายในพื้นที่สร้างสรรค์ Fickle Lifestyle ย่านรัชดาฯ ดูไหม คุณสามารถใช้เวลาร่วมกับเพื่อนฝูง คนรัก หรือ ครอบครัวได้อย่างสนุกสนาน แถมยังได้ผลงานศิลปะที่สร้างสรรค์ด้วยตัวเองกลับบ้านด้วยนะ
จุดเริ่มต้นของคลาส Splash Painting เกิดจากนักธุรกิจชาวสิงคโปร์ เตียว ยง กวน เฮนรี่ ผู้รักและอาศัยอยู่ที่ประเทศไทยเห็นว่าสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้หลายคนเครียด ส่วนตัวเขาจบด้านวิจิตรศิลป์ (Fine Art) แต่คิดว่าถ้าจะเปิดคลาสสอนวาดภาพคงยากเกินไปสำหรับคนที่จะเข้าร่วม จึงเลือกนำการใช้สีมาออกแบบเป็นคลาสที่ช่วยให้ผู้คนสามารถระบายความรู้สึกได้ ด้วยการเลือกสีแล้วใส่อารมณ์ไปในการสาด ปาด หรือยิงสีใส่ผ้าใบได้อย่างอิสระ
เมื่อปล่อยอารมณ์ความรู้สึกจนพอใจแล้ว ก็ถึงเวลาปล่อยมือจากสีและอุปกรณ์ต่างๆ แล้วรอให้ผลงานแห้งสักหน่อย ก็พร้อมนำชิ้นงานส่วนตัวจากประสบการณ์ครั้งนี้กลับบ้านได้เลย
รู้สึกเหมือนกันไหม เวลาที่มองหน้าน้องหมาน้องแมวมากๆ แล้วรู้สึกเหมือนว่าเขาสามารถสื่อสารพูดคุยกับเราได้ แถมแต่ละตัวก็มีบุคลิกลักษณะนิสัยเฉพาะตัว ดังนั้นนอกเหนือจากสิ่งของเครื่องใช้และขนมสัตว์เลี้ยงที่เรานิยมเลือกซื้อมาให้พวกเขาแล้ว สินค้าอีกประเภทหนึ่งที่คนรักสัตว์นิยมมากคือ เสื้อผ้าที่จะมาเติมเต็มความน่ารักของพวกเขาได้ แต่บางครั้งเสื้อผ้าสำเร็จที่มีอยู่อาจจะไม่ตรงใจ หรือไม่มีไซส์ที่เหมาะสมกับสุนัขและแมวที่เลี้ยงอยู่ ดังนั้นเราจึงขอแนะนำ คลาสตัดเย็บชุดสัตว์เลี้ยงของ Min'na Do It Studio ที่จะช่วยให้คุณสามารถตัดเย็บเสื้อผ้าตามความคิดสร้างสรรค์ให้น้องๆ สวมใส่ได้จริง
คลาสตัดเย็บชุดสัตว์เลี้ยงพัฒนาแนวคิดมาจากคลาสออกแบบและตัดเย็บเสื้อผ้าคน เธออธิบายเพิ่มเติมว่า แฟชั่นสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของเจ้าของมากกว่า ถึงกระนั่นก็มีเทรนด์หรือธีมที่นิยมอยู่ เช่น งานแต่งงาน เทศกาลฮาโลวีน คริสต์มาส ชุดกระโปรงที่มีความฟู หรือกระทั่งชุดแบบไร้เพศ (unisex) ก็ได้รับความสนใจมากทีเดียว สำหรับสัตว์เลี้ยงยอดนิยมคงหนีไม่พ้นสุนัขและแมว แต่ยังมีเจ้าของสัตว์เลี้ยงประเภทอื่นๆ สมัครเข้ามาเรียนในคลาส เช่น ตัวอ้น, นก, กระรอก, กระต่าย ที่พร้อมให้แต่งตัวพาเดินบนพรมแดงกันด้วย
ในคลาสจะได้เรียนรู้ขั้นตอนโดยละเอียด เริ่มจากวิธีการวัดสัดส่วนและสรีระ การเลือกเนื้อผ้า สไตล์ต่างๆ การทำแพตเทิร์นต้นแบบ กระบวนการตัดเย็บ พร้อมฟิตติ่งชุดสวยๆ กลับบ้าน พร้อมให้ทุกคนนำไปปรับใช้ ต่อยอด และประยุกต์กับเทรนด์ใหม่ๆ ในอนาคตได้ โดยสิ่งสำคัญที่ครูแดงเน้นย้ำเสมอคือ ทุกชิ้นงานจะต้องตัดเย็บจากสรีระของสัตว์เลี้ยงตัวต้นแบบ เพื่อให้เขาสามารถสวมใส่แล้วรู้สึกสบายที่สุด เพราะเขาเป็นสัตว์เลี้ยงที่เรารักนั่นเอง
ในยุคดิจิตัลอาการปวดเมื่อยบริเวณคอ บ่า ไหล่ และหลังของวัยรุ่นและวัยทำงานคงไม่ค่อยต่างกันเท่าไรนัก เพราะนอกจากจะใช้เครื่องมือสำหรับการสื่อสาร ทำการบ้าน และทำงานที่ได้รับมอบหมายมากมายจนคล้ายจะเป็นออฟฟิศซินโดรมแล้ว หลายคนยังมีภาวะเครียดและวิตกกังวลจากวิถีชีวิตประจำวันมารุมเร้า จนบ่อยครั้งทำให้รู้สึกปวดท้องและรู้สึกอึดอัดเวลาหายใจ นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราสนใจ SOMA: The Body Transformation through Art ซึ่งธีมที่เราแนะนำครั้งนี้คือ My Anxious Body คลาสศิลปะบำบัดของ Studio Persona ที่เหมาะสำหรับคนทุกช่วงอายุที่มีความกังวล ไว้เป็นทางเลือกหนึ่งให้ทุกคนได้ลองผ่อนคลายกัน
พื้นที่ของ Studio Persona ตกแต่งให้ผู้ที่มาเยือนรู้สึกถึงความปลอดภัย เพดานทรงจั่วที่ดูเหมือนบ้าน ผนังสีขาวสะอาด แสงธรรมชาติ และกลิ่นอโรม่าจากเทียนหอม ออม-ณัชนาถ กระแสร์ชล ผู้ให้คำจำกัดความตัวเองไว้ว่า นักศิลปะบำบัดลูกครึ่งนักระบำใต้น้ำ เดินออกมาต้อนรับทุกคนด้วยความอบอุ่น ก่อนจะเริ่มกระบวนการศิลปะบำบัดสาย Somatic Art Therapy ซึ่งเป็นการรับฟังข้อความจากร่างกาย ผ่านการสำรวจและถ่ายทอดออกมาในรูปแบบงานศิลปะขนาดเท่าตัว ที่ผู้บำบัดเริ่มวาดและลงสีด้วยตัวเอง ในกระบวนการผู้เข้าร่วมจะได้กลับมาฟังเสียงของร่างกายผ่านการลับคมประสาทสัมผัส (Grounding) ที่นักศิลปะบำบัดเตรียมไว้ให้ ซึ่งนำไปสู่การรับรู้และยอมรับถึงความเชื่อมโยงของร่างกายกับอารมณ์ความรู้สึกภายในจิตใจของตัวเองได้อย่างอิ่มเอม
ออมบอกกับเราว่า SOMA เหมือนมีแรงจูงใจและพลังมากกว่าที่คิด เธอไม่สามารถบอกได้เลยว่าการทำกิจกรรมแต่ละครั้งผลลัพธ์จะออกมาในรูปแบบไหน เนื่องจากผู้เข้าร่วมคลาสมีเรื่องราวและประสบการณ์ชีวิตแตกต่างกัน ความรู้สึกที่แต่ละคนแบกรับทางร่างกายและจิตใจมีสาเหตุและวิธีคลี่คลายเฉพาะตัว อย่างคำว่า SOMA ในภาษากรีกที่หมายถึง ร่างกาย ยังมีความหมายที่ลึกลงไปคือ เจ้าของร่างกายเท่านั้นที่รับรู้ เมื่อคลาสจบลง เราจึงตื่นรู้ว่า ร่างกายและจิตใจมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันมากกว่าที่คิด
ทุกวันนี้ผู้คนมีเรื่องต้องคิดในหัวกันเยอะมาก จนไม่สามารถแบ่งพื้นที่ส่วนตัวได้อย่างชัดเจน ลืมการผ่อนคลายตัวเอง ทำให้ร่างกายกำลังเข้าสู่โหมด 'ไร้บาลานซ์' โดยที่ไม่รู้ตัว จึงเกิดความรู้สึกเจ็บปวดทางร่างกายที่ออกมาในรูปแบบต่างๆ ทำให้รู้สึกไม่สบายตัว "จริงๆ ร่างกายมันฟ้องเราอยู่ตลอดว่ามีสิ่งนี้เกิดขึ้นนะ แต่หัวเรามันใหญ่ซะจนเรามองข้ามว่ามันมีความรู้สึกเล็กๆ นี้อยู่" ออมบอกกับเรา เธอเชื่อว่าจิตกับกายแยกกันไม่ออก เวลาเกิดผลกระทบขึ้นกับร่างกายหรือจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม มันย่อมส่งผลต่อกันและกันเสมอ
Architecture Design เป็นคลาสสถาปัตย์ที่มีอัตราส่วนของผู้เรียนที่เหมาะสมต่อการเข้าถึงความรู้ แลกเปลี่ยน และตีความหมายของงานสถาปัตยกรรมต่อโลกใบนี้ ด้วยรูปแบบการเรียนการสอนที่ไม่จำกัดอยู่ในกรอบของห้องเรียน โดยมีโจทย์ว่าใน 1 เดือน จะต้องออกไปเรียนรู้นอกสถานที่ 1 ครั้ง
นักเรียนที่กำลังค้นหาตัวเองและใฝ่ฝันอยากเรียนคณะสถาปัตยกรรม แล้วต้องยื่นแฟ้มสะสมผลงาน หรือ พอร์ต (Portfolio) แต่ยังไม่รู้ว่าควรจะเตรียมตัวก่อนเข้ามหาวิทยาลัยอย่างไร การลงคอร์สเพื่อสร้างผลงานจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนที่ไม่มีพื้นฐาน แต่คลาส Architecture Design ไม่ได้จำกัดเฉพาะนักเรียนเท่านั้น บุคคลทั่วไปที่สนใจด้านสถาปัตยกรรมก็สามารถลงเรียนได้
เดียว-ภัทรพงษ์พันธ์ เป็นธรรม เคยเป็นอาจารย์สาขาวิชาสถาปัตกรรมในสถาบันระดับอุดมศึกษามาก่อน เขาประสบปัญหาสอนนักเรียนไม่ทั่วถึงเพราะจำนวนนักเรียนในคลาสเยอะมาก นักเรียนบางคนไม่กล้ายกมือถาม จึงเกิดการตั้งคำถามว่าครูหนึ่งคนควรรับผิดชอบผู้เรียนจำนวนเท่าไร "ตรงนี้เป็นจุดบอดที่เรามองเห็น พอผมเปิดคลาสสอนเองเลยตั้งใจว่า คลาสหนึ่งจะมีครู 1 คน ต่อนักเรียนไม่เกิน 5 คนก็เพียงพอแล้ว ไม่ควรมากถึง 10 คน" เมื่อจำนวนผู้เรียนเหมาะสม เขาจึงใส่ใจนักเรียนได้ทั่วถึง แล้วสร้างบรรยากาศในการเรียนการสอนให้เหมือนรุ่นพี่สอนน้อง เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์และสนับสนุนให้นักเรียนไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้
ลักษณะการเรียนการสอนของคลาสตรงตามความตั้งใจแรกเริ่มของ Arternoon Studio ที่อยากให้ทุกคน 'มาเรียนศิลปะในพื้นที่ศิลปะ' กัน ดังนั้นนอกจากในห้องเรียนแล้ว ใน 1 เดือนจะมีการพาผู้เรียนออกไปดูนิทรรศการหรือออกไปสเก็ตช์ภาพนอกสถานที่ เดียวให้เหตุผลว่า "บางทีการออกไปเจอพื้นที่จริง งานจริง หรือการเห็นคนที่เข้ามาเสพงานศิลป์ จะทำให้เห็นมุมมองที่แตกต่างและช่วยให้นึกภาพโครงร่างในหัวที่ชัดเจนมากกว่าการอยู่ในห้องที่เป็นกรอบสี่เหลี่ยมเดิมๆ พอมุมมองเปลี่ยน มีความท้าทายเกิดขึ้น มันทำให้เราได้กลับไปมองย้อนดูตัวเอง ทำให้สามารถพัฒนาและต่อยอดในอนาคตได้อีกหลายทาง"
สำหรับคลาสนี้ทาง Arternoon Studio เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสามารถมาทดลองเรียนได้ฟรี 1 วันเต็มๆ เพื่อให้นักเรียนและบุคคลทั่วไปที่สงสัยว่าตัวเองชอบด้านสถาปัตยกรรมจริงหรือไม่ ลองเข้ามาค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง
เสียงบดวัสดุให้เป็นเกล็ดขนาดเล็กดังกร๊อบๆ แกร๊บๆ เหมือนกับ ASMR ที่สร้างความเพลิดเพลินให้กับทุกคนในคลาส Trayrazzo นอกจากการได้ยินแล้ว ผิวสัมผัสของวัสดุยังมีความเรียบลื่น ละเอียดและนุ่มที่ปลายนิ้ว ทำให้สงสัยว่า วัสดุนี้คืออะไร เก้-ขวัญจันทร์ สงขกุล และไอซ์-ศิริดา กุลไพศาล เจ้าของแบรนด์ Not Too Virgin Design Lab อธิบายว่า สิ่งนี้เรียกว่า เจสโมไนท์ (Jesmonite) เป็นเรซินอะคริลิคที่มียิปซัมและน้ำเป็นส่วนผสม ไร้สารเคมี ปลอดภัย และข้อดีอีกหนึ่งอย่างที่ถือเป็นความพิเศษเฉพาะตัวของเจสโมไนท์คือ เฉดสี ที่มาสามารถผสมออกมาได้ตามใจคิด จึงถือเป็นวัสดุเพื่อทำงานคราฟต์ของคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ซึ่งเธอเลือกมาเป็นวัสดุหลักในคลาสนี้
เก้เล่าถึงตอนที่เธอทั้งสองยังเรียนอยู่ที่อังกฤษ แล้วรู้จักกับเจสโมไนท์เป็นครั้งแรก เธอรู้สึกว่าวัสดุนี้น่าสนใจ เหมาะสำหรับทำเฟอร์นิเจอร์หรือของตกแต่ง เมื่อเดินทางกลับมาจึงนำวัสดุและการออกแบบมาผนึกรวมกัน แล้วก่อตั้ง Not Too Virgin Design Lab ขึ้นเพื่อนำเข้าและจัดจำหน่ายวัสดุชนิดนี้เป็นที่แรกและที่เดียวในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นที่จะทำงานกับ 2 วัสดุหลักคือ เจสโมไนท์ และ พลาสติกรีไซเคิลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เธออยากให้คนรู้จักเจสโมไนท์มากขึ้นจึงเปิดเวิร์กช็อปให้ทุกคนสามารถเรียนรู้วิธีการใช้วัสดุชนิดนี้ผ่านเทคนิค Terrazzo ที่ผู้เข้าร่วมจะได้ทำตั้งแต่เกล็ดเล็กๆ ที่จะนำมาสร้างเป็นลวดลาย โดยเริ่มจากผสมส่วนประกอบเข้าด้วยกัน ผสมสี แล้วนำมาปาดบนพลาสติก พอแห้งสนิดแล้วจึงหักเป็น ชิ้นเล็กๆ ก่อนเทลงแม่พิมพ์ซิลิโคน หลังจากรอให้แห้งแล้วจึงแกะออกมาจากแม่พิมพ์ ซึ่งทุกคนจะยังไม่เห็นลวดลายจนกว่าจะได้ขัดชิ้นงานเสียก่อนจบคลาสแล้วจะได้รับถาดรูปวงรีและจานรองแก้วที่อย่างละ 1 ชิ้นกลับบ้าน
สำหรับคนที่กำลังหาวัสดุใหม่ๆมาสร้างสรรค์เป็นสิ่งของเครื่องใช้หรือของตกแต่งบ้านแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เราขอแนะนำคลาส Trayrazzo เลยนะ
24898 VIEWS |
นักศึกษาฝึกประสานงานในคราบของนักจ้องเกือก ชอบอิสระ รักการเดินทาง เกิดวันหนึ่งในฤดูร้อน เป้าหมายสุดท้ายของชีวิต 'ฟังเพลง แล้วตายไป'
นักเขียน ผู้ใช้พื้นที่ในเวลาว่างไปกับการอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ขี่จักรยาน อ่านการ์ตูน เล่นเลโก้ ฯลฯ โดยเชื่อเต็มหัวใจว่าเวลาที่หมดไปกับความรื่นเริงนี้สามารถเติมเต็มชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ช่างภาพและนักประสานงานเจ้าระเบียบที่อัพสกิลความละเอียดขึ้นทุกปี กำลังใช้เวลากับเพื่อนสนิทที่ชื่องานเขียนและภาพถ่ายไปพลางๆ ระหว่างรอแก่ไปเจอฝันเล็กจิ๋วอย่างการนั่งชมต้นไม้ในสวนหลังบ้านของตัวเองบนเก้าอี้โยกกับหมาซักหนึ่งตัว
กองบรรณาธิการที่กำลังใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน ชอบคุยกับผู้คน ท้องฟ้า และเสียงดนตรี เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการฟังเพลง ที่บางทีก็ปล่อยให้เพลงฟังเรา