การห่อของด้วยผ้าแบบฟุโรชิกิ (Furoshiki) เป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งแม้จะเริ่มต้นจากการใช้ห่อเสื้อผ้าถือไปร้านอาบน้ำสาธารณะที่ทำให้สามารถหิ้วของเวลาเดินทางได้สบายหรือจะแผ่ออกเพื่อหยิบของก็สะดวก แต่เมื่อเวลาผ่านไปฟุโรชิกิที่เป็นผ้าสี่เหลี่ยมบางเบาพกพาง่ายนี้ ยังถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการห่อของได้อีกสารพัด เช่น กล่องข้าว ผลไม้ ภาชนะ ขวด ของขวัญ ฯลฯ โดยไม่จำกัดรูปทรงอีกด้วย เพียงเรียนรู้เทคนิคการพับหรือม้วนแล้วผูกด้วยวิธีต่างๆ ที่แตกต่างกันเท่านั้น
นอกจากฟังก์ชั่นการนำผืนผ้าสี่เหลี่ยมมาใช้ห่อสิ่งของได้หลายรูปแบบแล้ว ผ้าฟุโรชิกิยังตอบโจทย์การใช้วิถีชีวิตแบบรักษ์โลกในยุคสมัยที่ยังไม่มีระบบการกำจัดขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ได้หลากหลายเพียงแค่พกผ้าไป 1 ผืนเท่านั้น ส่วนลายผ้าที่เป็นดั่งงานศิลปะยังน่าหลงใหลยังสะท้อนบุคลิกของเจ้าของ จนมีคนนิยมนำไปใช้ในการประดับตกแต่งเพื่อความสวยงาม เช่น ผูกผม ผูกสายกระเป๋า หรือกระทั่งเป็นงานอาร์ตที่ใช้แขวนผนังตกแต่งบ้านได้อีกด้วย
ความมีเสน่ห์ที่แตกต่างไปตามการใช้งานของผ้าฟุโรชิกิทำให้ happening ชวนศิลปินนักวาดภาพประกอบ 3 คน ได้แก่ ยุ้ย-ภควรรณ ทองวานิช, มิก-ชมพูนุท ชมภูรัตน์ และ กล้วย-นฤมล ยิ้มฉวี มาออกแบบลายผ้าฟุโรชิกิกัน ด้วยหวังว่าผู้ครอบครองผ้าเหล่านั้นจะนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการอย่างมีความสุข หรือส่งต่อความปรารถนาดีผ่านผ้าที่ใช้ห่อของขวัญได้บ้าง
Take Your Pleasure Seriously by Atelier Pakawan
ช่วงหลังนอกจาก ยุ้ย-ภควรรณ ทองวานิช จะเป็นศิลปินนักวาดภาพประกอบภายใต้ชื่อ Atelier Pakawan เธอยังหลงใหลการสร้างสรรค์งานเซรามิกถึงขั้นทำเตาเผาที่ไว้ที่บ้าน อีกทั้งมีงานอดิเรกเป็นการทำขนมเพิ่มเติมมาอีกด้วย ดังนั้นนอกจากจะได้เห็นชิ้นงานเซรามิกที่เพิ่งออกจากเตาใหม่ๆ บางครั้งเรายังเห็นเค้กอบร้อนๆ จากเธออยู่บ่อยครั้ง การสัมผัสส่วนผสม กลิ่นหอมกรุ่น และรสชาติของการแบ่งปันขนมอบเหล่านั้น จึงกลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการทำลายผ้าฟุโรชิกิชิ้นนี้ในที่สุด
แนวคิดการออกแบบ Take Your Pleasure Seriously
"ตอนแรกเราคิดว่าผ้าฟุโรชิกิใช้สำหรับห่อของก็คิดถึงตอนห่อว่า เอ๊ะ มันควรจะเป็นลายแบบไหน ตอนแรกที่ออกแบบมาจึงจะมีความละเอียด แล้วทาง happening ให้คำแนะนำมาว่าไม่ต้องคิดเกี่ยวกับฟังก์ชั่นมากให้มันเป็นชิ้นงานศิลปะไปเลยก็ได้ หลังจากนั้นเลยไม่ได้คิดว่าจะต้องออกแบบลายมาเพื่อนำไปห่อของ แต่คิดว่าเป็นชิ้นงานชิ้นใหญ่ช้ินหนึ่งที่อยากทำให้สนุกค่ะ
"ช่วงที่ออกแบบจะเป็นช่วงที่ตัวเองทำขนมเยอะ พอทำขนมแล้วเอาไปเสิร์ฟเพื่อนหรือคนที่บ้านแล้วทุกคนดูมีความสุข ทุกครั้งที่ทำขนมก็เลยคิดว่าทำเป็นธีมภาพขนมบนโต๊ะก็ดีนะ งานชิ้นนี้จึงมาจากความสุขที่เกิดขึ้นจากตัวเราเองสู่บรรยากาศบนโต๊ะอาหารที่บ้าน มีขนมที่ตั้งใจทำขึ้นแล้วได้แบ่งปันคนที่บ้านและเพื่อนๆ หรือจะเป็นความสุขที่เกิดจากการจัดวางข้าวของบนโต๊ะในแต่ละมื้อให้ดูน่ามอง ดีต่อใจ เพิ่มพลังกลับมาให้ตัวเองอีกทอดหนึ่งด้วยหลักการคิดง่ายๆ คือ Take your pleasure seriously ของ Charles Eames ค่ะ"
ระหว่างการทำงานลงสีน้ำและสีไม้บนกระดาษ
ดราฟท์แบบโต๊ะสี่เหลี่ยมก่อนที่จะมาเป็นโต๊ะกลมในที่สุด
happening Furoshiki: Take Your Pleasure Seriously
ประสบการณ์การออกแบบลายผ้าฟุโรชิกิครั้งนี้
"ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่งานของยุ้ยใช้สีเยอะ คือปกติจะวาดแต่ของกินที่มีพื้นหลังเรียบๆ แต่งานนี้เป็นงานเต็มผืนที่ใช้สีเต็มมาก ซึ่งพยายามเลือกโทนสีที่เห็นแล้วรู้สึกสดใส แล้วยุ้ยไปเห็นภาพบ้านหลังหนึ่งที่ทาสีฟ้าแบบนี้แล้วรู้สึกชอบเลย สดใสมาก ยุ้ยเลยคิดว่าใช้พื้นหลังเป็นสีนี้ด้วย คนที่ใช้ผ้าก็น่าจะรู้สึกสดใสเหมือนกับเรา แล้วคิดว่าถ้ามีคนนำผ้าเราไปตกแต่งบนผนังก็อาจจะทำให้สถานที่หรือบ้านหลังนั้นสดใสขึ้นค่ะ"
ส่งความรู้สึกถึงคนที่จะนำผ้าฟุโรชิกิชิ้นนี้ไปใช้
"อยากจะฝากให้คนที่เลือกชิ้นงานนี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันหรืออาจจะเลือกไปใช้ตกแต่งบ้านว่า ยุ้ยดีใจที่งานนี้จะได้สร้างความสดใสให้เขาค่ะ"
มิก-ชมพูนุท ชมภูรัตน์ ทำงานหลักเป็นอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ควบคู่กับการเป็นฟรีแลนซ์รับทำงานภาพประกอบภายใต้ชื่อ mig_mig ไปด้วย สไตล์การวาดภาพของเธอจะมีทั้งแบบเป็นคาแรกเตอร์และภาพเมือง ซึ่งส่วนใหญ่นำมาใช้เป็นภาพประกอบในหนังสือหรือนิตยสาร การออกแบบครั้งนี้เธอจึงนำคาแรกเตอร์ทานูกิที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาสร้างสรรค์ลายผ้าฟุโรชิกิดู
แนวคิดการออกแบบ TANUKI
"ฟุโรชิกิเป็นผ้าห่อของของญี่ปุ่น ซึ่งเอนกประสงค์มากๆ สามารถห่อได้หลากหลายแบบ จึงคิดว่าอยากทำลายให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมประเทศญี่ปุ่น ตอนที่อยู่ญี่ปุ่นเวลาเดินในเมืองจะสังเกตเห็นข้างทางจะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำบ้านพวกโยไก (妖怪 Yokai) เลยนึกถึงตัวทานูกิที่มีคาแรกเตอร์น่ารักดี และรูปปั้นทานูกิจะมีลักษณะแบกสัมภาระ แบกสาเก หอบของ เลยลองนำมาปรับดูให้เป็นทานูกิขนสัมภาระในรูปแบบต่างๆ ค่ะ"
ภาพผลงานก่อนที่จะมีการปรับสีครั้งสุดท้าย
happening Furoshiki: Tanuki
ประสบการณ์การออกแบบลายผ้าฟุโรชิกิครั้งนี้
"ก่อนหน้านี้มิกเคยวาดทานูกิตอนส่งงานประกวดรายการ happening Makers 2019 แล้วเข้ารอบ 20 คนมาก่อน ตอนนั้นดีใจมากเลยค่ะ แต่ถึงจะไม่ได้ไปจนสุดก็ไม่เป็นไร สำหรับตัวทานูกิที่วาดบนผ้าฟุโรชิกิชิ้นนี้เป็นตัวที่วาดขึ้นมาใหม่ เอามาวาดเป็นลายผ้าให้มันอยู่ในคาแรกเตอร์ที่หลากหลาย แล้วนำมาจัดวางให้เหมาะสม ตอนแรกลองใส่พื้นหลังเป็นเมือง จัดวางรูปแบบอื่นๆ บ้าง จนทีมงานช่วยเสนอไอเดียเพื่อปรับให้ดีขึ้นจนได้แบบสุดท้ายนี่แหละค่ะ"
ส่งความรู้สึกถึงคนที่จะนำผ้าฟุโรชิกิชิ้นนี้ไปใช้
"ขอบคุณผู้ที่เลือกใช้ผ้าลายนี้และลายอื่นๆ ของ happening ค่ะ ผ้าชิ้นนี้ทำอะไรได้หลากหลายมากๆ จะใช้ปูโต๊ะ ห่อกล่องข้าว เป็นเครื่องประดับก็ได้ อยากให้สนุกกับการใช้ผ้าช้ินนี้ในรูปแบบต่างๆ ค่ะ"
Give and Take by Banana Blah Blah
สำหรับคนที่ชื่นชอบเครื่องเล่นแผ่นเสียงคงพอคุ้นเคยกับภาพวาดและกราฟิกดีไซน์สวยๆ ของ กล้วย-นฤมล ยิ้มฉวี กราฟิกดีไซเนอร์จากแบรนด์ Gadhouse เพราะมีกิจกรรมสนุกๆ เมื่อไรจะได้เห็นผลงานภาพวาดของเธอทุกครั้ง นอกจากนั้นเธอยังเป็นศิลปินนักวาดภาพประกอบในนาม Banana Blah Blah ที่รับทำงานที่หลากหลายให้เห็นทั้งในรูปแบบออนไลน์ สิ่งพิมพ์ และลวดลายบนผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมายอีกด้วย การออกแบบลายผ้าฟุโรชิกิกับ happening ครั้งนี้ เธอตั้งใจที่ส่งความรู้สึกดีๆ ผ่านถ้อยคำ ภาพวาด และสีสัน ที่อยากให้ทุกคนได้รับความสุขจริงๆ
แนวคิดการออกแบบ Give and Take
"หลังจากได้รับโจทย์แล้วคิดว่าผ้าฟุโรชิกิสามารถส่งจากผู้ให้ไปถึงผู้รับ เลยอยากให้ภาพมีความหมายที่เป็นแง่บวก จึงเลือกคำที่จะใช้สื่อสารก่อน เช่น love others, give and take, find balance, understanding และ Trusting ค่ะ ให้มีความรัก การให้การรับ ความสมดุล และการเชื่อใจกัน มันอาจจะเป็นความหมายเวลาคนมอบของให้กัน แล้วค่อยหารูปภาพที่สื่อความเข้ากับคำนั้นวาดลงไป ภายใต้คอนเซปต์ Work Life Balance ค่ะ
"เวลาทำงานปกติกล้วยจะเริ่มจากเขียนว่าอยากสื่อสารอะไรง่ายๆ ก่อน เหมือนมายด์แมพค่ะ อย่างงานของ happening เป็นการออกแบบลายผ้าก็อาจจะคิดไปถึงฟังก์ชั่นว่าผ้าชิ้นนี้จะนำไปใช้ในสถานการณ์ไหน เช่น ห่อของ ผูกสิ่งของต่างๆ คือคิดจากแกนตรงนั้นแล้วดูว่าเราอยากพูดอะไร อยากสื่อสารอะไรให้คนเข้าใจ เพิ่มภาพลงไปแล้วสเก็ตช์เป็นขาว-ดำก่อน แล้วค่อยลงสี"
ภาพกระบวนการลงสีก่อนที่จะสำเร็จออกมาเป็นผลงานที่ใช้พิมพ์ผ้าจริง
happening Furoshiki: Happiness
ประสบการณ์การออกแบบลายผ้าฟุโรชิกิครั้งนี้
"การวาดงานชิ้นนี้กล้วยสเก็ตช์มาเป็นแบบนี้แบบเดียวเลย มีเปลี่ยนเรื่องสีนิดหน่อยเพราะตอนแรกลงสีแล้วดูจืดไป ทางทีมของ happening แนะนำให้ลองสีที่สดใสมากขึ้นเลยออกมาเป็นแบบนี้
"ซึ่งผ้าฟุโรชิกิต่างจากงานอื่นๆ ที่เคยออกแบบมาตรงที่การทำให้ภาพเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ให้ภาพสามารถอยู่ในทุกๆ มุมได้ เพราะเวลาใช้พันหรือพับก็อยากให้แต่ละด้านยังเห็นคำหรือลายของภาพประกอบอยู่ค่ะ จึงเป็นเรื่องความสนุกในการจัดคอมโพสิชั่นให้ดูเป็นแพทเทิร์นมากขึ้น"
ส่งความรู้สึกถึงคนที่จะนำผ้าฟุโรชิกิชิ้นนี้ไปใช้
"อยากส่งความรู้สึกถึงทุกคนตามลายผ้าเลยค่ะ และหากจะนำไปใช้ห่อของขวัญก็ขอให้ส่งมอบและนำผ้าผืนนี้ไปใช้ประโยชน์อย่างมีความสุขนะคะ"
ใครมีผ้าฟุโรชิกิอยู่ในมือ สามารถคลิกเข้าไปดูการสาธิตวิธีการห่อแบบต่างๆ ได้ที่ How to Furoshiki
ส่วนผู้ที่สนใจผ้าฟุโรชิกิที่ออกแบบโดย ยุ้ย-ภควรรณ ทองวานิช, มิก-ชมพูนุท ชมภูรัตน์ และ กล้วย-นฤมล ยิ้มฉวี สามารถคลิกเข้าไปชมรายละเอียดได้ที่ happening Furoshiki