"พยัญชนะ เริ่มต้นจากการเป็นงานนอกเวลาที่มีส่วนผสมเป็นความมุ่งมั่น เวลา และโควิดครับ" ป๊อปเริ่มต้นบทสนทนาด้วยการเล่าถึงจุดเริ่มต้นของแบรนด์พยัญชนะ เขาเป็นดีไซเนอร์อิสระที่ลาออกจากงานประจำมาเปิดบริษัทออกแบบของตัวเอง ควบคู่ไปกับการออกแบบชิ้นงานและดูแลขั้นตอนการผลิตทั้งหมดในแบรนด์พยัญชนะ
แต่ก่อนที่ พยัญชนะ จะกลายมาเป็นแบรนด์ดีไซน์ที่มีผลงานเป็นเอกลักษณ์นี้ ย้อนกลับไป เมื่อสิบปีที่แล้ว ศิลปะแบบคอนทัวร์ หรือ การวาดรูปโดยไม่ยกดินสอจากกระดาษ เป็นสิ่งที่ป๊อปหลงใหล และมักนำมาสร้างสรรค์เป็นรูปต่างๆ ในช่วงเวลาที่ว่างเว้นจากการทำงาน ก่อนที่ลายเส้นเหล่านี้จะพาเขาเดินทางไปไกลมากกว่านั้น
ช่วงเวลา 3 ปีที่ผู้คนต้องเว้นระยะห่างทางสังคม จึงกลายเป็นช่วงเวลาที่ป๊อปขยับเข้าใกล้ความฝันมากกว่าที่เคย โดยดีไซเนอร์หนุ่มตั้งใจออกแบบพยัญชนะ 44 ตัว ให้กลายเป็นงานกราฟิกที่ถ่ายทอดเอกลักษณ์ของตัวอักษรแต่ละตัว ก่อนจะต่อยอดงานออกแบบให้เป็นชิ้นงานที่จับต้องได้ อย่าง เซตโปสการ์ดตัวอักษรไทย โปสเตอร์รูป ส.เสือ จานรองแก้วรูป จ.จาน ที่วางไข่รูป ก.ไก่ และที่แขวนร่มรูป ฏ.ฏัก เพื่อนำไปจัดแสดงภายในงานบางกอกดีไซน์วีค (Bangkok Design Week 2022) นั่นเป็นครั้งแรกที่ผู้คนได้ทำความรู้จักกับงานดีไซน์ในแบบฉบับของพยัญชนะ
เขายังเผยอีกว่า "ในชุดอักษรไทยนี้ มีหนึ่งตัวที่ไม่สามารถออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ได้เลย คือ ฑ.นางมณโฑ มันจึงเป็นที่มาของโลโก้แบรนด์พยัญชนะครับ ตอนนั้นแค่คิดสนุกๆ ว่า นางมณโฑมีฤทธิ์เยอะ น่าจะมีพลังช่วยในการขายบ้างล่ะ" เขาหัวเราะเมื่อพูดจบ ราวกับได้เผยความลับให้ทุกคนรู้เสียแล้ว
หลังจากที่ป๊อปเติมแต่งสีสันและเอกลักษณ์ให้กับตัวอักษรไทยทั้ง 44 ตัวแล้ว เขากลับมาพร้อมกับโปรเจกต์ใหม่ที่พาตัวอักษรไทยไปปรับโฉมเปลี่ยนรูปให้กลายเป็น 7 สถานที่สำคัญในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นโปรเจกต์พิเศษเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองกรุ
งรัตนโกสินทร์ 240 ปี ที่มีชื่อว่า กรุงเทพมหานคร (Krung Thep Maha Nakhon)
ป๊อปไม่เพียงค้นพบกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ระหว่างการทำงาน แต่เหล่าลูกค้าก็พาให้เขาค้นพบศักยภาพใหม่ๆ ในผลิตภัณฑ์ของเขาเช่นกัน "ผมได้กลุ่มลูกค้าเป็นชาวต่างชาติเยอะมาก มีบางคนส่งข้อความมาบอกเราว่า โปสการ์ดของเราช่วยให้เขาจำตัวอักษรได้ดีขึ้น หรืออาจารย์สอนออกแบบหลายคนก็นำงานของเราไปเป็นตัวอย่างในห้องเรียน แต่ที่น่าสนใจมากๆ คือ กลุ่มแม่และเด็ก เขาเอาโปสการ์ดชุดตัวอักษรไทยไปเล่นเป็นการ์ดเกม มันเป็นการใช้ประโยชน์ที่เราไม่เคยคิดมาก่อน เคยคุยกับอาจารย์ที่เขาแนะนำโปสการ์ดให้กับผู้ปกครอง เขาบอกว่า สีและรูปร่างในงานเราช่วยให้เด็กที่ไม่ค่อยมีสมาธิ จดจำงานได้ง่ายขึ้น
"มันทำให้เราย้อนนึกถึงตัวเอง ตอนเด็กๆ เราเรียนไม่เก่ง จำตัวอักษรไทยไม่ได้เลย แต่เราจำตัวอักษรได้หนึ่งตัว คือ ก.ไก่ ครูก็ถามว่าทำไมเราจำได้แค่ตัวเดียวล่ะ คำตอบของเรา คือ เพราะมันมีจะงอยปากเหมือนไก่ มันทำให้รู้ว่า ปัญหาบางอย่างสามารถแก้ได้ด้วยงานออกแบบง่ายๆ เหมือนกับคนซื้อไอโฟน (Iphone) เพราะระบบปฏิบัติการณ์มันใช้ง่าย พอมันเข้าใจง่าย เราก็สามารถต่อยอดหรือเรียนรู้จากสิ่งเหล่านั้นได้"
"ความยากของการทำแบรนด์นี้ คือ ถ้าเราทำไม่ได้อย่างที่หวัง เราก็ต้องทิ้งทุกอย่างไป อย่างกระปุกออมสิน ท.ทหาร ที่เคยนำไปโชว์ในงานบางกอกดีไซน์วีค เรายังไม่ทำขาย เพราะโรงงานไม่สามารถทำให้มันตั้งได้ครับ มันต่างจากตอนทำงานในบริษัท เรามีหน้าที่แค่ออกแบบชิ้นงาน โดยมีคนอื่นเป็นคนดูแลด้านการผลิต พอเราต้องทำงานเองทุกภาคส่วน บางครั้งเราต้องยอมรับความเสี่ยงว่า ถ้ามันผลิตจริงไม่ได้ เราก็ต้องหาโรงงานใหม่หรือปรับดีไซน์ใหม่"
เช่นเดียวกับที่เปิดขวดทรง ฃ.ขวด ที่เขาใช้เวลาปรับแก้อยู่นานทีเดียว "ตอนขึ้นรูปด้วยการพิมพ์สามมิติเป็นพลาสติก มันไม่แข็งแรงพอจะทดลองเปิดขวดได้ เราต้องสั่งปริ๊นต์จากเนเธอแลนด์สี่ห้ารอบกว่าจะได้ขนาดที่พอดี พอเราได้แบบแล้ว ดันหาโรงงานที่รับผลิตไม่ได้อีก" เขาเงียบไปพักหนึ่ง ก่อนพูดต่อว่า "แต่ตอนนี้ผมเจอโรงงานที่ผลิตได้แล้วครับ" แล้วรอยยิ้มและเสียงหัวเราะด้วยความยินดีก็ดังขึ้นทันที เมื่อเขาพูดจบ
"สมัยก่อน ผมเคยเป็นคนที่ไม่ชอบภาษาไทย เรามองว่าภาษาไทยนำมาใช้ดีไซน์ยาก ด้วยสระและวรรณยุกต์ ทำให้มีข้อจำกัดในการออกแบบเยอะ ถ้าทุกคนสังเกตจะเห็นว่า ป้ายในประเทศเราส่วนใหญ่จะใช้เป็นภาษาอังกฤษ ส่วนหนึ่งก็เพื่อการสื่อสารที่ง่ายขึ้น แต่พอย้อนกลับไปมองประเทศรอบตัว อย่างญี่ปุ่น เรายังเห็นว่าเขาใช้ป้ายเป็นภาษาญี่ปุ่นอยู่หลายที่ ซึ่งจริงๆ ฟอนต์ภาษาไทยเราก็มีค่อนข้างเยอะ แต่ไม่ค่อยมีใครใช้กัน หรือซีรีส์เกาหลีก็มีอิทธิพลให้คนอยากเรียนภาษาเกาหลีมากขึ้น"
ภาษา งานศิลปะ และวัฒนธรรมในต่างประเทศ ทำให้ป๊อปย้อนกลับมามองถึงแวดวงงานออกแบบในประเทศไทยเช่นกัน "ส่วนตัวผมมองว่าถ้าวัฒนธรรมหรือศิลปะในประเทศเราเข้มแข็ง มันจะส่งผลให้เกิดธุรกิจขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้น เพราะศิลปะสามารถนำไปสู่ความเจริญทางสังคมและจิตใจได้ เราจะมีพื้นที่และชิ้นงานใหม่ๆ ที่น่าสนใจมากขึ้น พอคนออกมาแข่งกันสร้างงาน บรรยากาศงานสร้างสรรค์ของบ้านเราน่าจะสนุกยิ่งขึ้น นวัฒกรรมและงานดีไซน์มันต้องมาควบคู่กันครับ"
ในอนาคต ป๊อปหวังว่าผลงานของเขาจะเป็นส่วนหนึ่งในการเปิดประตูให้ผู้คนจากทั่วโลกได้ทำความรู้จักกับตัวอักษรไทย เช่นเดียวกับที่หลายคนสนใจในมวยไทย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมที่ได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติ ปัจจุบัน แบรนด์พยัญชนะยังคงสร้างสรรค์ชิ้นงานจากชุดตัวอักษรไทย โดยเตรียมจะออกผลงานอีก 4 ชุดใหม่ที่จะเปลี่ยนภาพจำที่คุณมีต่ออักษรไทย และทำให้คุณเข้าใจว่า...
ตัวอักษรไทย เป็นอะไรได้มากกว่าที่คุณคิด
พิเศษสุด! รับทันทีส่วนลดสูงสุด 15% เมื่อใช้โค้ด PHAYAN10 ซื้อสินค้าของ ทางเว็บไซต์ happening and friends ตลอดเดือนสิงหาคม 2565 หรือ แวะไปอุดหนุนสินค้าของ พยัญชนะ แล้วรับส่วนลด 10% ที่ happening shop สาขา bacc และสาขาดาดฟ้า ลาซาล 33
ที่สำคัญ! ทุกออเดอร์มีสิทธิ์ลุ้นรับชิ้นงาน ก.ข. ที่วางไข่ มูลค่า 390 บาท ซึ่งยังไม่เคยวางขายที่ไหนมาก่อนอีกด้วย
3999 VIEWS |
กองบรรณาธิการที่กำลังใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน ชอบคุยกับผู้คน ท้องฟ้า และเสียงดนตรี เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการฟังเพลง ที่บางทีก็ปล่อยให้เพลงฟังเรา
ช่างภาพและนักประสานงานเจ้าระเบียบที่อัพสกิลความละเอียดขึ้นทุกปี กำลังใช้เวลากับเพื่อนสนิทที่ชื่องานเขียนและภาพถ่ายไปพลางๆ ระหว่างรอแก่ไปเจอฝันเล็กจิ๋วอย่างการนั่งชมต้นไม้ในสวนหลังบ้านของตัวเองบนเก้าอี้โยกกับหมาซักหนึ่งตัว