บ้านกึ่งไม้กึ่งปูนขนาดน่ารัก ตั้งอยู่ข้างบ้านหลังใหญ่ของครอบครัว แสงแดดที่ลอดเข้ามาจากม่าน สร้างบรรยากาศอุ่นสบายให้กับผู้อาศัย ที่แห่งนี้คือมุมพักผ่อนและพื้นที่ปฏิบัติการที่ ปั้น-ธนะชัย ถาวรวัฒน์สกุล ใช้สร้างสรรค์ชิ้นงานเครื่องหนังสไตล์มินิมอล ภายใต้แบรนด์ที่มีชื่อว่า 'สัมภาระ'
ฉันนั่งลงบนโซฟา ขณะที่ปั้นกำลังเก็บข้าวของบนโต๊ะเข้าไปยังห้องข้างๆ
"รกหน่อยนะ เราเป็นพวกชอบเก็บ ยังฮาวทูทิ้งไม่ได้ซักที ถุงนี้เป็นเศษหนังที่เก็บไว้ เราว่ามันยังใช้ทำงานชิ้นเล็กๆ ได้" เขาพูดติดตลก พร้อมชี้ให้เราดูถุงพลาสติกใบใหญ่ที่อัดแน่นไปด้วยเศษหนังจากการทำกระเป๋า ก่อนจะกลับมานั่ง และเริ่มต้นบทสนทนา
แรกเริ่มเดิมที สัมภาระ เป็นเพียงเครื่องหนังมากมาย ที่ปั้นชอบเก็บสะสม ในช่วงที่เขายังศึกษาอยู่ในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
"ช่วงนั้นกำลังจะขึ้นปี 5 เราเริ่มเห็นว่ากระแสงานแฮนด์เมดกำลังมา เริ่มมีคนทำเครื่องหนังขาย เราอยากลองทำดูบ้าง ทางบ้านเห็นเราชอบเครื่องหนัง เลยแนะนำว่า 'นี่ไง เจริญรัชบ้านเรา มีขายเครื่องหนังเต็มเลย ลองไปดูสิ' เราก็โอเค กำเงิน 5,000 บาทที่ได้จากการสอนวาดรูป ไปเจริญรัชตามที่เขาแนะนำ"
เราถามปั้นต่อว่า 'ตอนนั้นซื้ออะไรมาบ้าง' เขาหัวเราะเสียงดัง แล้วตอบว่า "เราซื้อมั่วซั่วเลย โดนเขาหลอกมาก็เยอะ เครื่องมือบางตัวเราใช้ไม่ถนัดมือ เพราะมันเป็นของที่เขาเลียนแบบมา มันไม่คมเลย แต่เราก็ซื้อมาก่อน สุดท้ายเราทำงานออกมาได้หนึ่งชิ้น เป็นที่ใส่นามบัตรง่ายๆ ให้พี่สาว ทุกวันนี้เขายังใช้อยู่เลย"
สถาปนิกหนุ่มยังบอกกับเราอีกว่า สัมภาระชิ้นเล็กนี้ เขาเริ่มต้นทำมันอย่างไม่มีแบบแผน ใช้การลองผิดลองถูก และสกิลเด็กสถาปัตย์ สังเกตโครงสร้าง ก่อนจะลงมือทำชิ้นงานออกมา แต่ใครจะรู้ว่าที่ใส่นามบัตรชิ้นนั้น จะเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์สัมภาระทุกวันนี้
"พี่สาวเราบอกว่า 'น่ารักดี ลองทำขายดูไหม' เราก็สนใจ แต่เราจะใช้ชื่อว่าอะไรล่ะ พี่สาวเราก็พูดขึ้นมาว่า 'แกมีสัมภาระเยอะ เวลาไปไหนก็ใช้แต่กระเป๋าใบใหญ่ งั้นเอาเป็นสัมภาระไหมล่ะ' เราก็รู้สึกว่า 'นี่แหละ ใช่เลย' งั้นเอาเป็นสัมภาระแล้วกัน"
สินค้าเซตแรกของแบรนด์สัมภาระ เป็นชิ้นงานขนาดน่ารัก พกพาง่าย เหมาะกับการใช้ในชีวิตประจำวัน อย่างที่ใส่นามบัตร ปลอกดินสอ ที่คั่นหนังสือขนาดจิ๋ว และกบเหลาดินสอ ไม้บรรทัดเข้าคู่กัน นำมาพิมพ์ปั๊มจม เป็นคำว่า SUMPHARA ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดในห้องเล็กๆ โดยเขาเป็นผู้สร้างสรรค์ชิ้นงาน และดูแลภาพรวมของแบรนด์ด้วยตัวเอง เว้นแต่เรื่องบัญชี ที่มีพี่สาวและภรรยาคอยช่วยเหลือ ปั้นบอกว่า มันเป็นสิ่งเดียวที่เขาไม่ถนัด
ขณะที่อีกพาร์ตหนึ่งของสัมภาระ คือการรับทำชิ้นงานแบบ Custom Made ให้กับลูกค้าที่อยากได้กระเป๋าถูกใจ และฟังก์ชั่นตามต้องการ ซึ่งปั้นจะเป็นคนวาดแบบ ทำแพตเทิร์นกระดาษแข็ง และเตรียมวัสดุที่ต้องใช้ ให้ช่างเจ้าประจำเย็บโครง ก่อนจะกลับมาทำดีเทลชิ้นเล็กๆ อย่างตัวติดหูกระเป๋า หรือซับในแยกไว้ รอประกอบเป็นชิ้นงานที่สมบูรณ์ เก็บรายละเอียดให้เรียบร้อย และส่งถึงมือลูกค้า ในระยะเวลาประมาณ 7-10 วัน
ด้วยความที่ปั้นไม่ได้เรียนด้านนี้มา ทำให้แต่ละวันของเขาเหมือนการผจญภัย เขาบอกกับเราว่า เขาไม่คิดจะเข้าคลาสสอนทำกระเป๋าหนัง เพราะสนุกกับการเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการลงมือทำ และการถามไถ่คุณลุงคุณป้าในเจริญรัช เพื่อพัฒนาชิ้นงานให้ดีขึ้น
"ช่วงแรกเรามีงบจำกัด เราเลยใช้หนังควาย เพราะเป็นหนังที่ถูก แต่ทำงานยากหน่อย เราเคยคิดว่าตัดชานอ้อย สำหรับโมเดลยากแล้วนะ แต่หนังควายนี่ยากเอาเรื่องเลย"
ปั้นเดินออกไปหยิบหนังสองแบบมาให้เราจับ ผิวสัมผัสของหนังควายค่อนข้างแข็งกระด้าง และมีความหนาอย่างที่เขาบอก ขณะที่หนังวัวมีความนิ่ม และลื่นมือกว่า ซึ่งเป็นหนังที่เขาเลือกใช้สำหรับสินค้าในแบรนด์สัมภาระ
"เราไม่เคยรู้ว่าขั้นตอนการทำงานกว่าจะมาเป็น 1 ใบ มันต้องปอกหนัง ปอกขอบให้บางก่อน ถึงจะเย็บไม่เจ็บมือ จริงๆ มันก็มีงานที่เขาไม่ปอกหนังเหมือนกัน อย่างแนวคาวบอย ซึ่งไม่ใช่สไตล์เรา เราไม่ได้อยากเท่ เราอยากให้มันดูมินิมอล เรียบๆ แต่มีกิมมิกนิดหน่อย ซึ่งกระบวนการทำงานและเทคนิคต่างๆ มันเป็นเรื่องที่เราได้จากการถาม หรือลองผิดลองถูกเองทั้งนั้น"
ช่วงหนึ่ง สัมภาระออกสินค้าที่มีสีสดใส อย่าง ฟ้าหรือเขียว ซึ่งดูผิดวิสัยจากที่เคยเป็นอยู่ ฉันนึกสงสัยว่าเพราะอะไร ปั้นให้คำตอบด้วยท่าทีสบายๆ ว่า เมื่อ 3 ปีก่อน เขามีโอกาสเข้าร่วมโครงการ 'ดี สเปซ' ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ณ ที่แห่งนั้น เขาได้พบกับผู้คนมากมาย มุมมองแปลกใหม่ เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้แบรนด์สัมภาระเติบโตมากขึ้น
"อาจารย์ที่สอนในคลาสบอกว่า เราเป็นคนที่ทำงานสไตล์เดิมๆ ไม่ค่อยเปิดรับสิ่งใหม่ แต่ลูกค้าที่มองงานเราเข้ามา เขาไม่ได้คิดเหมือนเราทุกคน บางคนไม่ได้ชอบสีธรรมชาติ เขาอาจจะชอบสีฟ้า สีแดง สีเหลือง ซึ่งการวางของรวมกัน มีสีครีม น้ำตาล ดำ แล้วก็มีสีฟ้าบ้าง ส้มบ้าง มันเป็นหลัก Colorway ที่ช่วยกระตุ้นให้คนสนใจสินค้าเรามากขึ้น เราจึงเริ่มซื้อหนังสีฟ้ามาทำเป็นเซตที่คั่นหนังสือ กบเหลาดินสออยู่บ้าง อนาคตก็มีคิดเหมือนกันว่า อยากจะทำงานที่มีสีน่ารักขึ้นมาหน่อย"
เช่นเดียวกับกระเป๋าผ้า สกรีนลายสัมภาระ อีกหนึ่งสินค้ายอดฮิต ที่เขาทดลองทำและวางขายใน happening shop เป็นที่แรก ปั้นมองว่ายุคนี้ใครๆ ต่างก็มีถุงผ้าเป็นของตัวเอง แบรนด์สัมภาระเองก็น่าจะหลุดออกจากกรอบเดิมๆ บ้าง ซึ่งฉันขอบอกไว้ตรงนี้ว่า กระเป๋าผ้าสัมภาระ คือสินค้าขายดีประจำ happening shop ของเราเลยนะ!
ชายหนุ่มพูดด้วยรอยยิ้มว่า ตลอด 7 ปีที่แบรนด์สัมภาระเติบโตขึ้น ไม่มีวันไหนเลยที่เขารู้สึกเครียดกับการทำงาน เขายังรู้สึกสนุกทุกครั้ง เมื่อได้นั่งทำงานบนโต๊ะรกๆ ติดกาว เย็บหนัง ทำงานแฮนด์เมดทีละชิ้น ให้ออกมาเป็นรูปร่าง เพื่อส่งมอบไปยังกลุ่มคนที่ชื่นชอบเครื่องหนังเหมือนกับเขา
แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้... ปั้นเองก็เคยมีช่วงเวลาที่ต้องตัดสินใจเลือกอยู่เหมือนกัน
"ช่วงแรกที่ทำแบรนด์ เราทำงานในบริษัทสถาปัตย์ไปด้วย เราจำได้เลยว่า มีวันหนึ่งที่แฮพเพนนิ่งโทรตามให้ไปส่งของตอนเที่ยง เราต้องแอบหนีออกจากออฟฟิศ นั่งมอเตอร์ไซค์มาส่งของ แล้วก็กลับไปทำงาน กลับมาถึงบ้านสี่ทุ่ม ทำกระเป๋าถึงตีสาม ออกจากบ้านแปดโมงเช้า มันมีจุดหนึ่งที่เรารู้สึกว่า มันกินเวลางานของเราเหมือนกัน เลยตัดสินใจลาออก"
ปั้นหยุดคิดไปพักหนึ่ง ก่อนจะพูดต่อว่า "จริงๆ ที่เรากล้าออกมาทำ อาจเพราะเรามีต้นทุนที่ดีด้วย ในเวลานั้น เราไม่ต้องเลี้ยงพ่อแม่ เราคิดแค่ว่า ถ้ามันไปต่อไม่ได้ เราก็แค่พอ แล้วกลับไปทำงานต่อ แต่โชคดีที่มันรอดมา และเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น"
ระหว่างที่ฉันกำลังเก็บของเตรียมตัวกลับ ปั้นซึ่งยืนเย็บที่คั่นหนังสืออยู่ข้างๆ พูดขึ้นมาว่า...
"เรามักจะบอกทุกคนเสมอว่า ข้อดีของเรา หลังจากที่ออกจากงานประจำ คือเราได้อยู่ใกล้พ่อแม่ที่เขาแก่ขึ้น ถ้าเทียบเป็นเงินเดือนตอนเป็นพนักงานประจำเรามีรายได้คงที่ แต่ฟรีแลนซ์แบบเรามันมีความไม่แน่นอน เวลาใครถามว่า คิดถึงงานสถาปัตย์บ้างไหม เราคิดถึงนะ คิดถึงอยู่แล้ว แต่มันต้องเลือก เดี๋ยวนี้พอมีเวลาว่างจากงาน เราก็มีรับงานออกแบบบ้านมาทำบ้าง ตอนนี้ก็เพิ่งรับมาทำให้เขาอยู่ครับ"ปั้นปิดท้ายด้วยรอยยิ้ม
เราบอกลากันเล็กน้อย ก่อนปั้นจะขอตัวกลับไปทำงานต่อ ตลอดริมฝั่งถนนเต็มไปด้วยผู้คนมากมาย ในเมืองที่ทุกคนต้องแข่งขันกับเวลา เพื่อวิ่งไล่ความสำเร็จนี้ บางครั้งการได้ทำงานที่รัก สามารถเลี้ยงชีพตัวเองได้ และมีเวลาดูแลคนรอบกายไปพร้อมกัน ก็เป็นเรื่องดีๆ ในชีวิตเหมือนกันนะ
อ๊ะ... วันนี้วันศุกร์พอดี ว่าแล้วก็เก็บสัมภาระกลับบ้านดีกว่า!
2305 VIEWS |
กองบรรณาธิการที่กำลังใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน ชอบคุยกับผู้คน ท้องฟ้า และเสียงดนตรี เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการฟังเพลง ที่บางทีก็ปล่อยให้เพลงฟังเรา