เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ happening ได้จัด happening and friends: Art Market อีเวนต์น่ารักขนาดย่อมขึ้นที่โครงการดาดฟ้า ย่านลาซาล เป็นเวลา 3 วัน นอกจากพื้นที่ที่กว้างขวาง น่ามาพักผ่อนหย่อนใจ ล้อมรอบไปด้วยร้านอาหารมากมาย การรวมตัวตั้งบูทของเพื่อนๆ แบรนด์ดีไซน์ผู้มาจอยงานนี้ด้วยกัน ทั้งยังมีดนตรีฟังสบายๆ จากศิลปินน้อยใหญ่ก็ช่วยเสริมให้บรรยากาศทั้งงานอบอุ่นแช่มช้าราวกับไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ
ในบรรดากว่า 30 แบรนด์ล้วนต่างขนเอาโปรดักต์ที่มีเอกลักษณ์และเรื่องราวเฉพาะตัวมาจัดวางนำเสนอกันอย่างสวยงามน่าซื้อ โดยคนทำแบรนด์เองก็มีหลายประเภทต่างกัน ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง วัยทำงาน วัยรุ่น หรือแม้แต่เด็กมหาวิทยาลัย
ยอแย (Yoryae) คือหนึ่งในแบรนด์ที่เราชวนมาร่วมงานนี้ด้วย
ในงาน มีบูทหนึ่งที่ประกอบไปด้วยโปรดักต์สีสันสดใส และแก๊งแม่ค้าเด็กมหาวิทยาลัย 3-4 คนที่ส่งเสียงเจื้อยแจ้วพูดคุยกับผู้มาร่วมงานอย่างแจ่มใสร่าเริง อธิบายที่มาที่ไปของโปรดักต์อย่างขันแข็ง แม้เวลาล่วงเข้ามืดค่ำ พวกเธอก็ยังมีพลังงานเหลือเฟือ ดูแล้วเข้ากับชื่อแบรนด์ยังไงไม่รู้ชอบกล หลังจบงาน เราจึงนัดแบรนด์นี้สัมภาษณ์เสียเลย!
ไอซ์-อรอินทุ์ เดชสกุลฤธิ์ เด็กสาวสวมแว่น ต้อนรับเราด้วยการนอนหลับปุ๋ยที่โซฟาใน eAsel studios (อิเซิ่ล สตูดิโอส์) สถานที่นัดของเรา ต้อง-รณัฐ เลขาขำ พาร์ตเนอร์ทำแบรนด์อีกคนหัวเราะขำก่อนจะปลุกเธอให้ตื่นขึ้นอย่างงัวเงีย
ทั้งสองเป็นอาจารย์ลูกศิษย์กันมาก่อน เนื่องจากต้องเป็นเจ้าของที่นี่และเคยเป็นพี่ติวน้องในช่วงที่ไอซ์กลับจากต่างประเทศเพื่อเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย เมื่อเธอสอบติดคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาเรขศิลป์ (กราฟิก) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ แบรนด์ยอแยก็ถือกำเนิดในช่วงเวลานั้น
"เราสนิทกันอยู่แล้ว พี่ต้องเคยรับฟรีแลนซ์ทำผ้าพันคอให้แบรนด์แบรนด์หนึ่ง ซึ่งก่อนหน้านั้นเราไปเรียนด้าน Textile ที่อังกฤษมา แล้วรู้สึกว่าทำไมไม่ทำเอง มันดีกว่าอีก เพราะวาดเองควบคุมเองได้ ตอนนั้นที่เขาวาดมันดูไม่ใช่ตัวเขาเลย แต่พี่เขาไม่รู้ว่าต้องทำยังไง เราเลยบอกว่าเราทำให้ไหม เป็นคนจัดการให้ ทำส่วนโปรดักชั่น" ไอซ์เล่าถึงที่มาที่ไปของการทำแบรนด์ โดยกรรมวิธีช่วงแรก ต้องรับหน้าที่เขียนลายอย่างเดียว ส่วนที่เหลือเธอจัดการเองทั้งหมด แต่หลังจากนั้นทั้งคู่ก็ช่วยกันคิดออกแบบลาย มีส่วนช่วยกันทุกขั้นตอน
โปรดักต์แรกที่ออกมาคือ ผ้าพันคอกับกระเป๋าผ้า ก่อนขยายมาเรื่อยๆ เป็นหนัง เข็มกลัด และโปสการ์ด โดยคอลเล็กชันแรกมีชื่อว่า 'ตัวเมีย' เนื่องจากต้องได้ไอเดียจาก Interactive Books ที่แกลเลอรีและมิวเซียมในฝรั่งเศสใช้สอนเด็กให้เรียนรู้ศิลปะผ่านสื่อ
"ผมทำงานวิจัยหลายๆ อย่าง อะไรที่ผ่านเข้ามากระทบเรา ไม่ว่าจะความรู้หรือเทรนด์ เราก็วาดเล่าออกมา ตอนนั้นเป็นเรื่องสิทธิทางเพศที่ว่าเพศชายครองโลก เราเลยวาดสัตว์ให้เป็นเพศหญิงหมดเลย เพศชายตัวเดียวพอ แต่ก็มีความย้อนแย้งบางอย่างว่าพอเราวาดให้เหลือเพศชายตัวเดียว มันก็กลายเป็นของมีค่าที่สุดในผืนนี้เหมือนกัน" ผู้ออกแบบลายอธิบายแนวคิด และชี้ว่าการให้ผู้ใช้หาว่าสัตว์เพศผู้ตัวนั้นคือตัวไหน ก็ถือเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้กับโปรดักต์เช่นเดียวกัน
ด้วยความที่ทั้งคู่อายุต่างกันมาก ทั้งยังมีแนวคิดเทคนิคที่ไม่เหมือนกัน การทำงานของทั้งคู่จึงเป็นเรื่องที่เราสนใจ อย่างต้องเองเป็นสาย Old School ชอบวาดเส้นอย่างเดียว ไม่ชอบสี เพราะมองว่าสีเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสื่อสาร แต่ไอซ์ที่เป็นเด็กรุ่นใหม่ก็จะชอบให้โปรดักต์มีสีสัน กระบวนการทำงานของทั้งคู่จึงเป็นเหมือนการต่อเติมผสมกันมากกว่า
แต่อย่างน้อยสิ่งที่ต้องกับไอซ์มีเหมือนกันในการทำแบรนด์ยอแยคือ ความสนุกและความสนใจในขณะนั้น เพราะเวลาทั้งคู่อินอะไรก็สามารถนำมาแสดงออกผ่านโปรดักต์ได้ ยกตัวอย่าง ต้องที่ชอบวาดรูปสัตว์ก็วาดลายทั้งสัตว์บกสัตว์น้ำ บวกกับการเลือกใช้สีน้ำเงินซึ่งเป็นสีที่จัดการง่ายสำหรับเขา โปรดักต์ของยอแยจึงเป็นคอนเซปต์สัตว์เสียส่วนใหญ่ และใช้สีน้ำเงินแทบทั้งหมด ส่วนความชอบของไอซ์เปลี่ยนไปเรื่อยๆ อย่างช่วงทำกระเป๋าผ้า เธอชอบชุดสีตรงข้าม ดังนั้น เราจึงได้เห็นกระเป๋าผ้าที่มีสีน้ำเงินกับสีส้มเล่นล้อกัน แต่หลังจากนั้นก็อาจเป็นสีอื่นๆ ตามความสนใจ สรุปง่ายๆ ว่าโปรดักต์ของยอแยไม่มีความตายตัว
หรือแม้แต่ความสนใจในการทำโปรดักต์ก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ถึงกับมีช่วงที่ทั้งคู่หยุดทำโปรดักต์ แล้วลุยทำอาร์ตบุ๊กทั้งของยอแยและของตัวเอง เพื่อวางขายในงาน Bangkok Art Book Fair เมื่อปีที่แล้วร่วมกับเพื่อนๆ ในคณะของไอซ์ที่เคยทำงานด้วยกันในชื่อ Scarysay ซึ่งก็คือแก๊งเดียวกับที่มาออกบูทในงานของเราด้วย
"ในงานหลายๆ ชิ้นเกิดจากการคุยกัน น้องชอบอ่านข่าวต่างประเทศ แนวคิดนั่นนี่ ก็มานั่งคุยกัน อยากเล่าเรื่องนี้ มันก็หนีไม่พ้นว่าเราต้องทำอิลลัสฯ ที่ทุกคนเข้าใจอยู่ดี แต่มันมีเรื่องที่อยากสื่อออกไป ผมเรียนไฟน์อาร์ตมา เลยมองว่าไม่ว่าจะไฟน์อาร์ตหรืออิลลัสฯ มันทำหน้าที่เป็นสื่อ หน้าตาเป็นยังไงก็ตาม แต่ต้องสื่ออะไรบางอย่างออกไป ส่วนใหญ่เกิดจากการคุยร่วมกันเสมอ คิดให้เยอะ เขียนให้เป็นการ์ตูน สนุกๆ" ในฐานะคนเรียนศิลปะมาโดยตรง ภาพที่ต้องวาดจึงแฝงนัยด้วยเสมอ
และเมื่อเราถามถึงปัญหาที่เกิดจากการทำงานร่วมกัน ทั้งคู่ก็นิ่งคิดแล้วส่ายหัว
การเคารพการตัดสินใจของอีกฝ่าย คือส่วนประกอบสำคัญในการทำงานของยอแย แม้ที่ผ่านมาไอซ์อาจตัดสินใจผิดพลาดบ้าง แต่ต้องไม่เคยโทษว่าเป็นความผิดของเธอ และไม่ว่าต้องจะวาดภาพออกแบบลายใดมา ไอซ์จะไม่เข้าไปปรับแต่งแก้ไข มีแค่เพิ่มสีกับจัดคอมโพสเท่านั้น ซึ่งเขาเองก็ยอมรับการตัดสินใจของน้องเช่นเดียวกัน
ดังนั้น ยอแยจึงเป็นโลกอีกใบของทั้งคู่ สำหรับต้องที่ต้องทำงานในโลกทุนนิยม ถูกค่านิยมของสังคมบีบให้เรียนมหาวิทยาลัยและจบออกมาทำงานหนัก เขาห่างหายจากการวาดรูปเล่นที่ปกติทำเป็นกิจวัตรช่วงก่อนเอนทรานซ์ แบรนด์นี้อนุญาตให้เขาวาดรูปเล่นได้ตามใจ นำความทรงจำวัยเด็กกลับมาในรูปแบบลายเส้นและภาพวาด พัฒนาเป็นโปรดักต์วางขายได้ ส่วนไอซ์ที่กำลังกรำเรียนในฐานะนักเรียนออกแบบ ต้องพยายามคิดและสร้างเหตุผลรองรับคอนเซปต์งานตลอดเวลา เธอสามารถ 'ช่างมัน' ในพื้นที่แห่งนี้ได้ เลือกสีได้ตามใจ ปลดปล่อยตัวเองจากตรรกะเหตุผลบ้าง
ขณะเดียวกัน ไอซ์ยังได้เรียนรู้ทักษะหลายอย่างที่ไม่มีทางได้จากการเรียนกับต้องหรือในห้องเรียนอย่างเดียว จากเด็กสาวที่ไม่กล้าพูด ไม่กล้าพรีเซนต์แนวคิด ไม่มีคอนเน็กชั่น ตอนนี้เธอเติบโตขึ้นจากการติดต่อหาร้านพิมพ์ลาย ร้านค้า รวมถึงการคุยกับลูกค้าตามอีเวนต์ต่างๆ รวมถึงการคำนวณต้นทุนหรืองานจิปาถะด้วย
ตอนนี้ทั้งคู่กำลังทำโปรดักต์ใหม่กันอยู่ คิดว่าอีกไม่นานเกินรอ ยอแยจะมีผลงานใหม่มาให้ทุกคนชมกัน ขณะเดียวกันทั้งคู่ก็ทำงานของตัวเองไปด้วย เปรียบเหมือนศิลปินคู่หูดูโอ้ที่ทำทั้งงานวงและโซโล่
ก่อนแยกย้าย เราถามทั้งคู่ว่าจะทำแบรนด์นี้กันอีกนานแค่ไหน
"ยังสนุกอยู่ก็ทำ จนกว่าจะไม่สนุกแล้วค่อยเลิกทำ" เสียงเจื้อยแจ้วที่เราได้ยินในวันงาน Art Market ตอบเสียงดัง ฟังดูแล้วเป็นคำตอบที่เอาแต่ใจอยู่เหมือนกัน
"แต่คนเราก็ไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลตลอดเวลาก็ได้มั้ง" เราอมยิ้ม เสียงนี้ดังกังวานในห้วงคิดของตัวเอง
2473 VIEWS |
นักเขียนและกองบรรณาธิการที่พบเจอตัวได้ตามหอศิลป์และร้านหนังสือ ชอบกินแซลมอนและชาบู อยากแก่ไปเป็นคุณป้าใจดีและมีฝูงแมวห้อมล้อม