ภายในงานมีวิทยากรผู้เกี่ยวข้องและทำงานอยู่ในแวดวงศิลปะร่วมสมัยมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสถานการณ์ของวงการศิลปะในปัจจุบัน 4 ท่าน ได้แก่ ชลิดา เอื้อบำรุงจิต ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน), ดร.วิภาช ภูริชานนท์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, อาทิตย์ ประสาทกุล นักการทูต กระทรวงการต่างประเทศ นักสะสมงานศิลปะ และ โนริฮิโกะ โยชิโอกะ ผู้อำนวยการบริหาร เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ โดย ศศพินทุ์ ศิริวาณิชย์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
happening ขอสรุปประเด็นสำคัญที่วิทยากรแต่ละท่านกล่าวไว้ในเสวนาครั้งนี้ เพื่อให้คนที่สนใจเรื่องศิลปะได้รับรู้และนำไปคิดใคร่ครวญต่อ ดังนี้
ชลิดา เอื้อบำรุงจิต ให้ความเห็นว่าศิลปะเป็นพื้นฐานที่สำคัญของความเป็นมนุษย์ ขณะที่ประเทศไทยมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้นแทบไม่มีที่อยู่สำหรับศิลปะเลย ดังนั้นเธอจึงสะท้อนคำถามกลับไปยังภาครัฐว่า สำหรับองค์กรซึ่งมีหน้าที่รับใช้ยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อบ่มเพาะสุนทรียศาสตร์ มีส่วนในการสร้างความบันเทิงเพื่อความผ่อนคลายและสุขภาพจิตที่ดี จะสามารถทำงานและเชื่อมโยงกับคนในสังคมได้อย่างไร
ดร.วิภาช ภูริชานนท์ พูดถึงบทบาทของพื้นที่ศิลปะว่าไม่เพียงแต่เป็นพื้นที่ในการจัดแสดงผลงานศิลปะเท่านั้น หากแต่ยังมีความหมายในเชิงพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการแสดงออกทางความคิดและสุนทรียภาพในด้านต่างๆ ซึ่งหลายครั้งหอศิลป์เป็นสถานที่ซึ่งเปิดให้เกิดการแลกเปลี่ยน ถกเถียง และความคิดเห็น และเปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถรับรู้ถึงความหลากหลายที่มีอยู่ในสังคมได้ โดยไม่สร้างปัญหาความขัดแย้ง
อาทิตย์ ประสาทกุล เป็นนักการทูตจากกระทรวงการต่างประเทศ ที่เคยทำงานและจัดกิจกรรมทางศิลปะเพื่อเชื่อมโยงความเข้าใจระหว่างคนต่างวัฒนธรรม พูดถึงประสบการณ์ส่วนตัวของเขาว่า ปัจจุบันบทบาทของผู้ที่เกี่ยวข้องกับศิลปะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ทั้งบทบาทของศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงาน ที่แปรเปลี่ยนเป็นภัณฑารักษ์ หรือผู้ชมงานที่สามารถเข้ามาเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานได้เอง ดังนั้นจึงควรมีการสื่อสารให้คนทั่วไปรู้และเข้าใจบทบาทของความเป็นศิลปะมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การมีส่วนร่วมของประชาชนต่อกิจกรรมทางศิลปะมากขึ้นด้วย
สำหรับ ลักขณา คุณาวิชยานนท์ ภัณฑารักษ์และอดีตผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ไล่เรียงตั้งแต่การเรียกร้องของภาคประชาชนและเครือข่ายศิลปินให้พื้นที่แห่งนี้เป็นหอศิลป์ กระทั่งเปิดให้บริการมาเป็นระยะเวลา 12 ปีแล้ว แต่เมื่อกรุงเทพมหานครตัดงบประมาณทำให้ทางมูลนิธิต้องระดมทุนด้วยตัวเองมาตลอด ขณะเดียวกันสัญญากับทางกรุงเทพมหานครยังมีข้อจำกัดที่ทำให้หอศิลป์ไม่สามารถเก็บค่าเข้าชมงานได้ ดังนั้นเมื่อไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจึงเป็นปัญหาในการบริหารจัดการพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง ถึงกระนั้นเธอยังมีหวังว่าจะสามารถผลักดันให้เกิดนโยบายสนับสนุนให้เกิดพื้นที่ศิลปะจากภาครัฐจริงๆ
รศ.ฤทธิรงค์ จิวากานนท์ ชี้ประเด็นของความสำคัญที่รัฐและเอกชนควรหันมาให้ความสำคัญต่อผู้เข้าชมงาน ไม่ใช่ทุ่มงบประมาณเพื่อสนับสนุนศิลปินผู้สร้างสรรค์งานเท่านั้น เพราะในมุมมองของคนสร้างงานศิลปะแล้ว เขาต้องการผู้ชม ดังนั้นหากนโยบายของภาครัฐมองมาที่ความสำคัญของผู้เสพงานบ้างจะทำให้สามารถจัดสรรไปสู่ประชาชนอย่างแท้จริงได้
ในฐานะของผู้สร้างสรรค์งานด้านการแสดง ธีระวัฒน์ มุลวิไล บอกเล่าถึงสถานการณ์ของคนทำงานละครเวทีว่า หากมีพื้นที่ซึ่งสนับสนุนให้คนสร้างสรรค์งานมีพื้นที่นำเสนอผลงาน อย่างเช่นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครแห่งนี้ได้เปิดพื้นที่ให้กับศิลปินละครเวทีอยู่เสมอ จะเป็นการแบ่งเบาภาระของศิลปินได้มาก ซึ่งพื้นที่การแสดงผลงานนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการแสดงละครเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้สร้างสรรค์ศิลปะแขนงอื่นๆ ด้วย เพราะทางศิลปินเองก็ไม่ค่อยรู้นโยบายของทางภาครัฐ และไม่รู้สิทธิ์ขั้นพื้นฐานของศิลปินที่ควรได้รับว่าเขาจะสามารถเรียกร้องอะไรได้บ้าง ดังนั้นวันนี้เขาจึงได้รับมุมมองว่าศิลปินควรได้รับการสนับสนุนทางใดบ้างเหมือนกัน
วีรพร นิติประภา กล่าวว่า เรื่องความสำคัญของศิลปะควรเป็นสิ่งที่รู้มาตั้งนานแล้ว โดยไม่ต้องมานั่งพูดคุยกันอย่างวันนี้ เพราะในฐานะของนักเขียน ซึ่งเป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด หากให้เขียนฉากให้ตัวละครรักกันยังนึกไม่ออกว่าจะให้เขาไปเดินคุยกันตรงไหน มีสถานที่ไหนบ้างให้คู่รักสามารถตกหลุมรักกันบ้าง หากไม่ใช่ท้องฟ้าจำลองหรือหอศิลป์ เพราะที่เหลือเป็นห้างสรรพสินค้าหมด ดังนั้นความเป็นเมืองต้องมีมากกว่าแค่สวนสาธารณะ เพราะสิ่งที่จะยืนยันความเป็นมนุษย์ของเราในยุคที่ต้องแข่งขันกัน AI คือความเป็นมนุษย์ที่มีมูลค่ามหาศาล ไม่เพียงแต่มูลค่าทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เป็นมูลค่าของความเป็นมนุษย์ ซึ่งสถานที่อย่างหอศิลป์ที่เดินทางสะดวกอยู่ใจกลางเมืองแบบนี้ มันเป็นสถานที่ให้ประสบการณ์และการเรียนรู้ชีวิตที่หลากหลาย ที่ไม่เพียงโอบอุ้มศิลปินแต่ยังโอบอุ้มมนุษย์ทุกคนอีกด้วย
754 VIEWS |