เมื่อวงการแผ่นเสียงกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลายคนที่รักการฟังเพลงคงเคยคิดอยู่ในใจว่า เราจะก้าวเข้าสู่วงการแผ่นเสียงดีหรือไม่? แผ่นเสียงเป็นของแพงหรือเปล่า?
ยิ่งมีทั้งการนำอัลบั้มเก่าๆ ของศิลปินมารีอิชชู (Reissue) ให้คนได้ซื้อหามาฟังและสะสมกัน รวมถึงศิลปินรุ่นใหม่ที่เมื่อทำเพลงอัลบั้มใหม่แล้วก็จัดทำเป็นรูปแบบแผ่นเสียงให้แฟนเพลงได้จับจองกันอยู่บ้าง อีกทั้งร้านแผ่นเสียงทั้งในและต่างประเทศยังมีแผ่นต้นฉบับระดับตำนาน และอัลบั้มดีๆ จากศิลปินที่อาจไม่เป็นที่รู้จักในยุคสมัยนี้ให้คนรักดนตรีลองเข้าไปขุดค้นหาอีกมากมาย
ดังนั้นหากสนใจแผ่นเสียงจริงๆ ล่ะก็ การเล่นแผ่นมือสองราคาไม่แพงเสมอไปหรอกนะ บางทีคุณอาจจะได้ของถูกคุณภาพดีมาครอบครองเลยด้วยซ้ำ เพียงแต่สำหรับมือใหม่ เวลาไปเลือกซื้อแผ่นเสียงต่างประเทศเก่าๆ ตามร้านขายแผ่นเสียง ถ้าเลือกโดยมีหลักการบ้าง ก็น่าจะทำให้มีโอกาสเป็นเจ้าของแผ่นดีๆ ในราคาไม่แพง เราขอแนะนำให้ลองใช้ 5 หลักการต่อไปนี้ในการเลือกแผ่น ให้คุณมีแนวทางติดตัวไว้ใช้กันดู
บางครั้งเวลาไปคุ้ยแผ่นเสียง เราอาจจะค้นเจอแผ่นอัลบั้มเพลงที่เราชื่นชอบ (หรือเคยชื่นชอบ) ด้วยความตื่นเต้นดีใจ แล้วรีบรุดไปจ่ายเงินทันที แต่เดี๋ยวก่อน! เราอยากแนะนำให้คุณลองตรวจสภาพสินค้าดูเสียก่อน เริ่มจากสภาพแผ่นเสียง ลองดึงแผ่นออกมาจากปกแล้วดูว่าตัวแผ่นมันมีริ้วรอยหรือมีฝุ่นจับแค่ไหน มีรอยเชื้อราหรือเปล่า (รอยเชื้อราสามารถล้างออกได้ แต่บางครั้งเชื้อราอาจกินร่องเสียงไปจนกลายสภาพเป็นเสียงรบกวนตลอดไปแล้วก็ได้) และที่สำคัญอย่าลืมลองเล็งดูด้วยสายตาก่อนว่าแผ่นบิดเบี้ยวหรือเปล่า
ถ้าพอรับได้ ก็ลองพิจารณาดูสภาพปกนอก ปกใน ว่ายับเยินหรือยังอยู่ในสภาพดี หลายครั้งบริเวณตรงขอบกลางด้านใดด้านหนึ่งของปกนอกและปกในอาจจะเป็นรอยทะลุหรือใกล้จะทะลุ เพราะโดนขอบแผ่นเสียงมามากมายหลายครั้ง ซึ่งอาการแบบนี้ค่อนข้างเยียวยายากนะ หากปกเยินมากๆ เราก็ขอแนะนำให้ตัดใจไปก่อน (โดยเฉพาะถ้าไม่ได้เป็นอัลบั้มที่หายากจริงๆ)
แผ่นเสียงอัลบั้มเดียวกัน อาจมีแหล่งผลิตมาจากหลายแห่ง ทั้งจากประเทศอเมริกา ยุโรป หรือญี่ปุ่น (ส่วนใหญ่แผ่นเสียงมือสองอัลบั้มต่างประเทศในเมืองไทยจะมาจากญี่ปุ่น) ซึ่งเราขอไม่แนะนำว่าแหล่งผลิตไหนดีกว่ากัน เพราะมันไม่แน่นอนเสมอไป และขึ้นอยู่กับรสนิยมของนักฟังเพลงแต่ละคนว่าชอบเสียงแบบใดด้วย บางคนชอบแผ่นญี่ปุ่น บางคนชอบแผ่นอเมริกา (แต่หลายๆ ครั้ง ไม่ว่ามันจะมาจากประเทศไหนมันก็ไม่แตกต่างกันมากหรอก หากคุณไม่ได้ฟังด้วยเครื่องเสียงระดับไฮ-เอนด์ขนาดนั้น) อีกเหตุผลที่อยากให้คุณหัดตรวจดูว่ามันผลิตจากที่ไหน ปีไหน ยิ่งลองเช็กกับเว็บดิสค็อกส์ (Discogs) หรือออลมิวสิก (Allmusic) ดูประกอบกันก็จะได้เป็นความรู้ติดตัวไว้ เพราะบางทีคุณอาจพบแผ่นประเภทเฟิร์สเพรส (First Press) หรือแผ่นหายากโดยบังเอิญก็เป็นได้ และนั่นก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ใช้เป็นน้ำหนักได้ว่าควรซื้อแผ่นนั้นมากเพียงใด
ข้อมูลที่บอกว่าแผ่นนั้นผลิตที่ไหน ต้องค่อยๆ หาดูบนปก หากเป็นแผ่นอเมริกาอาจจะมีข้อความประมาณว่า 'Printed in USA' อยู่ที่ปกหลัง หรือที่เลเบล หรือหากเป็นแผ่นญี่ปุ่น บางทีจะมีโอบิ (Obi) เป็นภาษาญี่ปุ่นให้เห็นเด่นชัด แต่บางครั้งก็ไม่มี แต่อาจจะปรากฏภาษาญี่ปุ่นตัวเล็กๆ อยู่ที่หลังปกแทน หรือไม่ก็มีระบุราคาเป็นเงินสกุลเยนเอาไว้ที่ปกหลังก็มี
จะให้มั่นใจที่สุดคือต้องลองฟังด้วยว่าที่เห็นแผ่นสภาพกริ๊บๆ นั่นน่ะมันมีเสียงกรอบแกรบอยู่บ้างหรือเปล่า ถ้าร้านเขามีเครื่องเสียงให้ลองฟังก็เอาแผ่นที่คุณหมายตาไว้มาลองฟังได้เลย ตั้งใจฟังดีๆ ว่าเสียงรบกวนในแผ่นนั้นมีปริมาณมากแค่ไหน แต่จะว่าไป เรื่องเสียงรบกวนนี้บางทีก็เกิดจากหลายสาเหตุ บางครั้งกับบางร้าน เราก็สามารถแจ้งผู้ขายได้ตรงๆ ว่าแผ่นมันมีเสียงรบกวน เขาอาจจะบริการล้างแผ่นให้เราทันที และเป็นไปได้ว่าเมื่อล้างแผ่นแล้ว เสียงกรอบแกรบเหล่านั้นก็อาจจะหายไป หรือเหลือน้อยมากก็เป็นได้
การลองฟังกับเทิร์นเทเบิลยังทำให้เราได้เห็นอย่างชัดเจนด้วยว่าแผ่นนั้นบิดหรืองอหรือเปล่า เพราะบางครั้งดูด้วยสายตาอาจจะเห็นว่าแผ่นนั้นก็ดูตรงดี แต่เมื่อนำไปเล่นบนเทิร์นฯ หากสังเกตดูที่หัวเข็มที่กำลังเล่นแผ่นนั้นอยู่ดีๆ ก็จะรู้ว่าแผ่นนั้นงอบ้างหรือเปล่า เพราะหากบิดงอแม้แต่นิดเดียว เราก็จะเห็นได้จากอาการขยับขึ้น-ลงของหัวเข็มได้ทันที
อย่างไรก็ตาม ร้านขายแผ่นเสียงบางร้านก็ไม่มีเครื่องให้ลองฟัง ดังนั้นหากจะให้มั่นใจในระดับหนึ่ง ก็ต้องอาศัยการตรวจดูสภาพภายนอกด้วยสายตาอย่างละเอียดเท่านั้น
4. ใจเย็นแค่ไหนเรียกใจเย็น
เรื่องหนึ่งที่คุณควรหาความรู้ติดตัวไว้บ้างก็คือ แผ่นเสียงอัลบั้มดังๆ ส่วนใหญ่จะมีการผลิตหลายรอบ ยิ่งอัลบั้มระดับตำนานทั้งหลายนี่บางทีมีการรีอิชชูกันหลายรอบ ครบรอบ 10 ปี 20 ปี 30 ปีก็จะมีการทำใหม่ แถมเพลง รีมาสเตอร์ เพิ่มความหนาเป็น 180 แกรมกันทั้งนั้น ดังนั้นลองเช็กข่าวดีๆ ก่อน ถ้ารออีกนิด คุณอาจได้แผ่นใหม่ที่คุณภาพเสียงดีกว่าแผ่นเฟิร์สเพรสก็ได้ใครจะรู้
แต่แน่นอนว่าอัลบั้มส่วนใหญ่ในโลกคงไม่ได้มีการรีอิชชูสักเท่าไร แต่ก็มีอัลบั้มของศิลปินหลายๆ คนที่เราจะเจอได้บ่อยๆ ตามร้านแผ่นเสียงที่ขายแผ่นมือสอง ยกตัวอย่างเช่น แผ่นบางอัลบั้มของ บิลลี โจเอล (Billy Joel), เดอะ บีทเทิลส์ (The Beatles), จอห์น เดนเวอร์ (John Denver), ร็อด สจวร์ต (Rod Stewart), ดิ อีเกิลส์ (The Eagles) และ บอซ สแกกส์ (Boz Scaggs) เป็นต้น เมื่อคุ้ยแผ่นตามร้านสักพักเราอาจจะพบว่า บางแผ่นเราใจเย็นๆ ค่อยๆ รอจนเจอแผ่นที่สภาพดีๆ ก็ได้ ไม่ต้องรีบ
ในมุมกลับกัน บางอัลบั้มก็เข้าขั้นหายาก โดยเฉพาะกับศิลปินที่ไม่โด่งดัง บางอัลบั้มถึงขนาดไม่มีซีดีขายเลยด้วยซ้ำ เพราะเป็นงานที่ออกในยุคที่คนฟังแผ่นเสียง หรือเทป แต่ยังไม่มีซีดี เมื่อไม่ใช่งานดัง พอถึงยุคดิจิทัลก็เลยไม่ถูกผลิตเป็นซีดี ดังนั้นการหาข้อมูลติดตัวไว้ว่าอัลบั้มนี้ออกปีไหน ยุคไหน จะช่วยให้คุณตัดสินใจได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้นสำหรับแผ่นเก่าๆ
แหล่งใหญ่ในการซื้อ-ขายแผ่นเสียงมือสองอีกแหล่งก็คือโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นกรุ๊ปเฟสบุ๊กหรือในอินสตาแกรมก็ตาม ปัจจัยในการซื้อขายออนไลน์ก็คือความเร็ว แต่การซื้อแผ่นเสียงมือสองออนไลน์กลับไม่สามารถตรวจสภาพแผ่นได้ จำต้องเชื่อถือการประเมินสภาพที่ผู้ขายแจ้งไว้เอง (เช่น NM หมายถึง Near Mint หรือสภาพใกล้เคียงของใหม่, VG หมายถึง Very Good หมายถึงสภาพดี เป็นต้น) ซึ่งหากเป็นการซื้อผ่านเว็บเมืองนอก เช่น ดิสค็อกส์ ก็อาจพอเชื่อถือรหัสเหล่านี้ได้ (บางแหล่งมีการให้ดาวกับผู้ขายยิ่งรับประกันความมั่นใจ) แต่หากเป็นการซื้อขายที่คนทั่วไปขายกันในเฟซบุ๊ก ก็ต้องชั่งใจและเผื่อใจสักเล็กน้อย
วิธีการหนึ่งที่พอจะช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นในการจะเชื่อมั่นพ่อค้าออนไลน์ก็คือ ลองดูว่าผู้ขายเป็นขาประจำที่ขายแผ่นเป็นอาชีพแค่ไหนอย่างไร หรืออาจจะลองส่องเฟซบุ๊กเพื่อดูบุคลิกความน่าเชื่อถือก็คงพอช่วยได้
บทความนี้ปรับปรุงจากบทความชื่อ Second Hand Heart ในหนังสือ happening 'Vinyl Republic 2' หากสนใจเรื่องราวของแผ่นเสียง สามารถอ่าน 'เรื่องเล่า' จากนักฟังเพลง 40 คน ที่จะมาเล่าความผูกพันกับแผ่นเสียงแผ่นโปรด แผ่นที่เปลี่ยนความคิด แผ่นที่ผูกพันได้ในหนังสือ happening 'Vinyl Story'