ภาพถนนว่างเปล่าที่เหลือเพียงแท็กซี่ที่เปิดไฟ 'ว่าง' เพียงคันเดียวจอดอยู่ เป็นภาพผลงานของ ต้น-จุฬวิศว์ ศานติพงศ์ ที่เราเห็นแล้วสะท้อนหลายมิติที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ภาพเดียวนั้นบอกเล่าทั้งวิถีชีวิต เศรษฐกิจ และสังคม ของผู้คน ท่ามกลางสถานการณ์ที่ทุกคนร่วมมือกันรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ตามมาตรการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ที่นอกจากจะทำให้ผู้คนได้รับผลกระทบและต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตหลายด้านแล้ว หลายคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า 'ประเทศไทยไม่เคยประสบวิกฤตครั้งไหน ที่ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนโดยทั่วถึงกัน ...อย่างครั้งนี้'
ซึ่งหลังจากทุกสิ่งคลี่คลายลง ชีวิตผู้คนอาจไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป
ศิลปินนักถ่ายภาพก็เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องรักษาระยะห่างทางสังคม แต่ดูเหมือนความคิดและความรู้สึกของพวกเขาจะไม่เคยห่างจากความต้องการสร้างสรรค์งาน happening มีโอกาสเห็นผลงานภาพถ่ายที่พวกเขาใช้บันทึกหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ ผ่านมุมมองและรูปแบบการนำเสนอที่แตกต่างกัน จึงขอสัมภาษณ์พูดคุยถึงแนวคิดของการถ่ายภาพเหล่านั้น แล้วนำผลงานของ 4 ศิลปิน ได้แก่ ต้น-จุฬวิศว์ ศานติพงศ์, แบงค์-ชัยพฤกษ์ เฉลิมพรพานิช, ทอม-ธีรฉัตร โพธิสิทธิ์ และ ซัน-อาทิตย์ เลิศรักษ์มงคล มารวบรวมไว้ที่นี่ เพื่อย้ำเตือนถึงช่วงเวลาที่เราเผชิญกับสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ร่วมกันนี้ พวกเขามองเห็นอะไรผ่านเลนส์บ้าง
ต้น-จุฬวิศว์ ศานติพงศ์ เป็นอดีตกราฟิกดีไซเนอร์ อาร์ตไดเร็กเตอร์บริษัทโฆษณา ผู้ผันตัวมาเป็นช่างภาพอิสระ และปัจจุบันเขายังมีตำแหน่งเป็นอุปนายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์อีกด้วย
งานถ่ายภาพส่วนใหญ่ของเขาเป็นการถ่ายภาพเชิงท่องเที่ยวไลฟ์สไตล์ เมื่อสถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหารปิดให้บริการ ย่อมส่งผลกระทบต่องานที่ต้องหยุดชะงักทั้งหมด ช่วงนี้เขาจึงอยู่บ้านกับคุณแม่ เพื่อช่วยกันดูแลคุณพ่อที่มีอาการป่วยอยู่ แต่สิ่งที่ค้างคาใจเขาทำให้ตัดสินใจขับรถออกไปถ่ายภาพสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ เก็บไว้
"ย้อนกลับไปเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 นะครับ ปีนั้นช่วงที่น้ำเข้าใกล้กรุงเทพฯ ผมทำงานอยู่ภูเก็ต ซึ่งตอนนั้นผมเป็นห่วงที่บ้านว่าจะเป็นยังไง คุณแม่ก็บอกว่าไม่ท่วมหรอก ผ่านไปสักพัก โอ้โห... ท่วมถึงเอวครับ ตอนนั้นคุณแม่บอกว่าไม่ต้องกลับมา เดี๋ยวทางนี้จะดูแลกันเอง เลยเป็นช่วงเวลา 2-3 เดือนที่ไม่ได้กลับกรุงเทพฯ แล้วผมเห็นเพื่อนหลายคนออกไปถ่ายรูปกรุงเทพฯ ตอนน้ำท่วมกัน ผมก็รู้สึก เสียดาย... คือมันพูดง่ายๆ ว่าเป็นเหตุการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตที่เราจะได้เห็นภาพแบบนี้ เลยตั้งใจมุ่งมั่นเลยว่าถ้าเกิดมีเหตุการณ์สำคัญอะไร จะพยายามเก็บบันทึกภาพประวัติศาสตร์ไว้ ครั้งนี้เกิดเรื่องผมก็เลยคว้ากล้อง ขับรถออกไปถ่าย"
โดยปกติเขาเป็นคนที่ใช้บริการรถไฟฟ้าเนื่องจากบ้านอยู่ใกล้หมอชิต สะดวกทั้งการโดยสารบีทีเอสและเอ็มอาร์ที แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ เขาไม่กล้าใช้ขนส่งสาธารณะเนื่องจากที่บ้านมีผู้สูงอายุสองท่านคือทั้งคุณพ่อและคุณแม่ จึงเลือกใช้วิธีขับรถส่วนตัวในการถ่ายภาพครั้งนี้
ซึ่งก่อนหน้านี้เขาเคยเห็นช่างภาพคนหนึ่งถ่ายภาพสถานที่สำคัญๆ ในกรุงเทพฯ ยามค่ำคืนมาแล้ว เขาจึงตัดสินใจที่จะเลือกสถานที่ทั่วไปที่อยู่ในวิถีชีวิตปกติของผู้คน แล้วถ่ายสถานที่นั้นยามเย็น ช่วงโพล้เพล้ หรือเช้าตรู่ และเขาก็เลือก 3 ภาพที่ชอบมาให้ happening ลงในบทความ
กิน . ใจ เป็นโปรเจกต์ ของโรงเรียนสอนถ่ายภาพ สังเคราะห์แสง ที่ก่อตั้งโดยเพื่อนผู้รักการถ่ายภาพ 4 คน ได้แก่ ตุลย์ หิรัญญลาวัลย์, เอ็กซ์-อาวุธ ชินนภาแสน, โต้-วิรุนันท์ ชิตเดชะ และ แบงค์-ชัยพฤกษ์ เฉลิมพรพานิช โปรเจกต์นี้สร้างขึ้นเพื่อถ่ายภาพอาหารให้ฟรี สำหรับผู้ที่ขาดแคลนรูปภาพในการโปรโมทสินค้าของตัวเองทางอินเตอร์เน็ต เนื่องจากภาวะโควิท-19 ทำให้หลายคนต้องปรับตัวทั้งๆ ที่ไม่คุ้นเคยกับการถ่ายภาพอาหารเพื่อโพสต์ลงช่องทางออนไลน์เท่าไรนัก
จุดเริ่มต้นของโปรเจกต์นี้มีจุดเริ่มต้นจากแบงค์ ซึ่งในสถานการณ์ปกติเขาเป็นผู้กำกับภาพภาพยนตร์ไทย ที่มีผลงานมาแล้วหลายเรื่อง เช่น อนธการ (2558) และ มะลิลา (2560) รวมถึงเป็นผู้กำกับภาพภาพยนตร์โฆษณา ซึ่งในสถานการณ์นี้โปรดักชั่นทั้งหลายต่างพร้อมใจกันหยุดการทำงานเพื่อแสดงออกถึงความรับผิดชอบทางสังคม อีกด้านหนึ่งเขาเป็นคนชอบชิมของอร่อยและชอบทำอาหารอยู่แล้ว จึงมีกลุ่มคนที่รู้จักมาชวนลงหุ้นทำร้านอาหาร แกงเลอรี่ แล้วเพิ่งเปิดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จึงต้องปรับกลยุทธ ปรับเมนู ปรับราคา สำหรับอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี่ จึงต้องมีการถ่ายภาพโปรโมทเพื่อขายในช่องทางออนไลน์ต่างๆ ช่วงถ่ายอาหารของร้านนี่แหละ ที่เขาคิดถึงโปรเจกต์นี้ขึ้นมา
"วันนึงมีพี่ที่สนิทกัน เขาจะทำน้ำพริกสะตอขาย ซึ่งผมเคยกินแล้วมันอร่อยมาก ผมบอกว่าเอาเลย ผมสั่งด้วย แล้วเขาเห็นผมถ่ายเมนูร้านอยู่ ก็เลยเอ่ยปากขอให้ผมถ่ายรูปให้หน่อยแบบเกรงใจเนอะ ผมก็ให้เขาเอาน้ำพริกสะตอมา เข้าครัวให้แม่ครัวที่แกงเลอรี่ต้มไข่ ลวกผัก จัดจานมาถ่ายรูป ถ่ายเสร็จผมยังไม่ได้กินข้าว เลยบอกพี่เขาว่าผมเปิดน้ำพริกพี่คลุกข้าวกินเลยนะ ระหว่างกินก็ถามชื่อเมนู ราคา เบอร์ติดต่อ แล้วทำภาพในไอแพดส่งไลน์ให้เขาเลย พอเขาเปิดดู เขายิ้มดีใจมากๆ 'พี่อยากได้มากเลย อยากได้มานานแล้ว' เพราะตัวเขาเป็นแม่ครัว ถ่ายรูปไม่เป็น แล้วก็เปิดรูปที่ถ่ายเองให้ผมดูว่า 'เนี่ยดูสิ พยายามที่สุดแล้ว'
ซึ่งไม่ใช่ว่ารูปที่เขาถ่ายมาไม่ดีนะ แต่มันอาจจะสู้กับตลาดออนไลน์ที่ต่อสู้กันดุเดือดขนาดนี้ไม่ได้ พอได้รูปไปเขาดูมีความมั่นใจมากขึ้น วินาทีนั้นเลยปิ๊งว่า เออว่ะ เรามีโรงเรียนสังเคราะห์แสงที่มีช่างภาพอีก 3 รวมเป็น 4 คน ที่จะช่วยกันทำอะไรแบบนี้ได้ ที่ร้านมีครัวที่ซัพพอร์ตการถ่ายอาหารได้ เย็นนั้นก็เลยวิดีโอคอนเฟอเรนต์กับทีมสังเคราะห์แสง แล้วทุกคนก็อนุมัติเป็นโปรเจกต์นี้ขึ้นมา"เพื่อความสะอาดปลอดภัยในการถ่ายภาพอาหาร สังเคราะห์แสงถึงแบ่งสถานที่ในการถ่ายออกเป็น 2 แห่ง โดยใช้ ร้านแกงเลอรี่ และ Le Photographe ซึ่งเป็นสตูดิโอของโต้ แล้วแบ่งทีมถ่ายภาพเป็น 2 ทีม ไม่ให้มารวมตัวกันเยอะเกินสถานที่ละ 2 คนเท่านั้น
"ตอนนี้ 20 คิวแรกถ่ายไปเกือบหมดแล้วครับ เราเน้นถ่ายอาหารให้กับคนที่ทำแบบโฮมเมด ไม่ได้ทำอาหารเป็นธุรกิจเต็มตัว ซึ่งหลายๆ คนก็เข้าใจ เพราะเราจะเลือกทำรูปให้คนที่ต้องการมากกว่าก่อน ที่ผ่านมามีอาหารทั้งจากลำพูน ปราจีนบุรี นครสวรรค์ ซึ่งผมแบ่งกับอาจารย์โต้ว่า อาหารแห้งจะส่งไปถ่ายที่สตูดิโอเขา ถ้าอาหารที่ต้องใช้ครัวหรือวัตถุดิบประกอบให้มาที่แกงเลอรี่ เพราะเรามีแม่ครัวที่ทำวัตถุดิบมาถ่ายเพิ่มให้ได้"
ในวันที่ใครต่อใครลุกขึ้นมาทำอาหารเพื่อหารายได้ คนที่ไม่ค่อยใช้โซเชียลมีเดียหรือไม่เคยขายของออนไลน์มาก่อนอาจจะรู้สึกว่า ทั้งการขายอาหารแบบจัดส่งถึงบ้านผู้ซื้อและการถ่ายภาพเป็นเรื่องยากลำบากมาก ดังนั้นแบงค์จึงหวังว่า กิน . ใจ จะเป็นโปรเจกต์ที่มีประโยชน์ให้คนที่กำลังลำบาก สามารถนำภาพที่พวกเขาถ่ายให้ไปต่อสู้กับการขายของในโลกออนไลน์ได้
"นี่คือสิ่งที่สังเคราะห์แสงต้องการทำ คือการที่เราถ่ายรูปเพื่อให้คนสามารถเอาไปใช้งานต่อในสถานการณ์ที่ยากลำบากแบบนี้ มันเติมเต็มความเป็นช่างภาพในตัวพวกเราด้วยแหละฮะ"
ถนนเส้นเดิมอาจเปลี่ยนไป เมื่อเราได้ลองเข้าไปสำรวจในรายละเอียดที่เคยมองข้าม ในช่วงเวลาที่ช่างภาพสายสตรีทเดินทางออกไปเดินถ่ายภาพตามสถานที่ต่างๆ ไม่ได้ ซัน-อาทิตย์ เลิศรักษ์มงคล ผู้ก่อตั้ง ฮัสแบนด์แอนด์ไวฟ์ (Husband and Wife) ร้านค้าขายอุปกรณ์สำหรับผู้ใช้กล้องฟิล์ม จึงทำโปรเจกต์ถ่ายภาพเล็กๆ ที่มีชื่อว่า DRIVE-THRU COVID-19 ขึ้นมา
"ปกติเราเป็นคนชอบออกไปถ่ายรูปข้างนอกบ่อยๆ แต่พอมีเรื่องโควิดขึ้นมา การออกจากบ้านไปถ่ายรูปกลายเป็นเรื่องที่ถูกห้าม เราจึงนึกถึงภาพชุดของช่างภาพสตรีทในยุค '60-70s ที่มักเดินทางระยะไกลข้ามรัฐด้วยรถยนต์ จึงเกิดเป็นภาพชุดที่ถ่ายจากในรถมากมาย ซึ่งมันก็เหมาะกับสถานกาณ์ตอนนี้ ที่เราอาจจะต้องเว้นระยะจากผู้คน การขับรถถ่ายรูปไปเรื่อยๆ มันทำให้เรายังสามารถถ่ายรูป และบอกเล่าเรื่องราว สถานการณ์ ณ เวลานี้ได้อีกด้วย"
ทุกๆ เช้า ซันจะขับรถออกมาสำรวจย่านเมืองทองธานี ซึ่งเป็นพื้นที่แถวร้าน เขามุ่งหน้าไปตามทางที่คุ้นเคย ค้นหาบริเวณพื้นที่ที่ไม่เคยเข้าถึง และเก็บบันทึกภาพเหล่านั้นไว้ กลายมาเป็นผลงานเหล่านี้
ระหว่างการขับรถสำรวจพื้นที่รอบนอกของเมืองทองธานีอยู่นั้น เขามองเห็นสิ่งหนึ่งในซอยแคบๆ ซันตัดสินใจกลับรถ และมุ่งตรงเข้าไปด้านในซอยเล็กๆ นั้น ซึ่งเขาก็ได้พบเข้ากับบ่อน้ำพุร้าง ซึ่งตั้งอยู่ตรงกลางพื้นที่โล่ง
"เราไม่เคยเห็นพื้นที่นี้ในเมืองทองฯ มันดู Surreal ที่มีบ่อน้ำพุโผล่มากลางทุ่งแบบนี้"
หากใครเคยไปแถวย่านที่อยู่อาศัยในเมืองทองธานี นอกจากคุณจะได้พบกับรถปริมาณมากที่จอดเรียงตัวกันอยู่แล้ว คุณยังจะได้เห็นขวดน้ำมากมายที่วางอยู่บนรถเหล่านั้น เช่นเดียวกับรถคันนี้ที่มีขวดน้ำวางประดับ จนคล้ายกับว่า มันมีตาและปากเป็นของตัวเองอย่างไรอย่างนั้น
"ภาพนี้มันคอนทราสกับคนเมือง ในเวลาที่คนหลายคนต้องหยุดกับบ้าน ยังมีเจ้าสี่ขาเดินไปมาอยู่ในสถานที่ต่างๆ โดยไม่รู้ว่า โลกตอนนี้กำลังถูกล็อคดาวน์อยู่ เป็นภาพของความขัดกันระหว่างพื้นที่ทิ้งร้างและตึกสูง โดยมีหมาสีดำเป็นเจ้าของพื้นที่กว้างนี้"
ตลอดระยะเวลา 2-3 วันที่ซันออกมาถ่ายภาพ เขาไม่เพียงพบกับสิ่งมีชีวิตสี่ขาและพื้นที่ใหม่ๆ ที่ผ่านเข้ามาเป็นแบบให้กับภาพของเขา แต่เขายังพบเจอกับผู้คนที่ยังคงออกมาทำงาน และใช้ชีวิตอยู่ตลอดสองฝั่งทางที่เขาขับผ่าน ซึ่งเขาเองก็ได้เก็บบันทึกภาพเหล่านั้นไว้เช่นกัน
"การได้ออกมาแบบนี้ ทำให้เราเห็นว่า ในเมืองที่ดูร้าง ว่างเปล่า แต่ยังมีผู้คนที่ต้องออกมาทำงานอยู่ เรียกว่า แม้โลกจะหยุดชะงัก แต่ชีวิตของผู้คนยังคงดำเนินต่อไป"
สำหรับใครที่อยากดูเบื้องหลังการถ่ายภาพเซ็ตนี้เต็มๆ ก็สามารถเข้าไปดูได้ที่ Vlog ออกไปถ่ายสตรีท ในวันล็อคดาวน์ | บล็อคของอาทิตย์
ทอม-ธีระฉัตร โพธิสิทธิ์ เป็นอีกหนึ่งคนที่บันทึกภาพเรื่องราวระหว่างการกักตัว ในสถานการณ์ไวรัส COVID-19 เช่นเดียวกัน แม้ยามปกติ เขาจะเป็นช่างภาพแฟชั่นมืออาชีพที่มีผลงานปรากฏอยู่ในหน้านิตยสาร ขณะที่อีกด้านหนึ่ง เขารับบทบาทเป็นศิลปินนักถ่ายภาพที่สะท้อนความเป็นมนุษย์ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม แต่การถ่ายภาพครั้งนี้ เขากลับนำเสนอภาพความงามอันแสนธรรมดา ของผู้หญิงธรรมดาในชุดเรียบง่าย ..หญิงสาวผู้เป็นแม่ของเขาเอง
นี่เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 20 ปี ที่ทอมได้กลับมาใช้เวลากับครอบครัวอีกครั้ง ในห้องพระขนาดเล็ก ที่ทอมใช้เป็นพื้นที่ส่วนตัว ในการกักตัวตลอด 14 วัน เขาได้แลกเปลี่ยน พูดคุย รับฟัง เรื่องราวของภาพถ่ายจากอดีต ทำให้เขานึกถึงโปรเจกต์ที่ยังคงค้างอยู่ในใจ จึงเป็นที่มาของโปรเจกต์ LOVE FROM HOME ที่เขาเก็บบันทึกภาพของแม่ในอริยาบทต่างๆ ไว้
"ภาพนี้บันทึกตอนที่แม่เริ่มเปิดอัลบั้มภาพเก่าเก่าดู ซึ่งแม่ก็เริ่มเล่าเรื่องราวข้างหลังภาพที่เราไม่เคยรู้และไม่เคยคิดจะถามมาก่อนจนถึงวันนี้ ในขณะที่แม่กำลังเปิดอัลบั้มภาพ แม่ก็บอกว่า ภาพเหล่านี้ในปัจจุบันเนี่ยไม่มีใครปริ้นต์ออกมาเก็บเป็นอัลบั้มกันแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะถ่ายเก็บไว้ในมือถือหรืออัพโหลดขึ้นโซเชียลมีเดีย ซึ่งคุณค่าของมันไม่เท่ากับการมานั่งดูแบบนี้เหมือนคนในอดีตทำ' ซึ่งพอเราได้นั่งดูด้วยแล้วก็รู้สึกเช่นนั้นจริงๆ"
"ภาพนี้ค่อนข้างจะสะเทือนใจ เพราะบันทึกตอนแม่มานั่งไหว้พระอยู่ในห้องพระ ซึ่งเป็นห้องที่เราดัดแปลงเป็นห้องกักตัวเองและนำฟูกมาวางไว้ ในช่วงที่ถ่ายภาพนี้ เราบอกแม่ว่า ลองนั่งหันหน้าออกไปทางหน้าต่างแล้วคิดถึงช่วงเวลาที่นึกถึงลูกว่า เมื่อไหร่จะกลับมาหา ปรากฏว่าแกร้องไห้จริงๆน้ำตาปริ่ม โมเม้นท์นี้บันทึกภาพไว้แค่สองภาพ และนี่คือหนึ่งในภาพที่ดีที่สุด ซึ่งทำให้เรารู้สึกผิดมากที่ไม่ได้กลับไปหาเขาบ่อยๆ"
"ภาพนี้เป็นภาพที่ค่อนข้างจะชอบมากที่สุด ถ่ายภาพช่วงแม่กำลังจะออกไปทำงาน โดยใช้เทคนิคการถ่ายภาพบุคคลแบบย้อนแสง ทำให้แม่ดูอบอุ่นมีแสงสว่างออกมาจากรูปภาพ ชอบรูปนี้มากจริงๆ"
ทอมยังบอกอีกว่า ตลอดการทำงานภาพถ่ายชุดนี้ เขาได้เรียนรู้ และเข้าถึงความรู้สึกของการรอคอย ความห่วงใย และความรักที่ไม่มีข้อแม้ของคนที่เป็นแม่ได้อย่างแท้จริง
สำหรับใครที่สนใจ สามารถติดตามภาพถ่ายเซ็ตนี้ ได้ที่ Tom Potisit Photography
แม้ว่าการเว้นระยะทางกายภาพในครั้งนี้ อาจส่งผลกระทบต่อผู้คนมากมาย แต่เมื่อมองอีกมุมหนึ่ง มันก็ทำให้เราได้เห็นภาพรายละเอียดและความสำคัญของคนใกล้ตัว เพื่อนมนุษย์ สรรพสัตว์ และธรรมชาติรอบตัวได้ชัดเจนกว่าเดิม
2726 VIEWS |
นักเขียน ผู้ใช้พื้นที่ในเวลาว่างไปกับการอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ขี่จักรยาน อ่านการ์ตูน เล่นเลโก้ ฯลฯ โดยเชื่อเต็มหัวใจว่าเวลาที่หมดไปกับความรื่นเริงนี้สามารถเติมเต็มชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กองบรรณาธิการที่กำลังใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน ชอบคุยกับผู้คน ท้องฟ้า และเสียงดนตรี เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการฟังเพลง ที่บางทีก็ปล่อยให้เพลงฟังเรา