ZilluStation ศิลปินผู้แก้ปัญหาของเมืองด้วยภาพวาดอย่างน่ามหัศจรรย์

    บ้านซึ่งใช้เป็นสตูดิโอของ ชิว-การุญ เจียมวิริยะเสถียร นักวาดภาพเมืองที่ใช้ชื่อว่า ZilluStation ตั้งอยู่ในย่านชุมชนใกล้กับถนนสายหลักที่กำลังก่อสร้างรถไฟฟ้า ถนนตลอดสายมีผ้าใบก่อสร้างขึงอยู่บนรั้วกั้นที่แบ่งผิวการจราจรไว้ส่วนหนึ่ง ก่อนจะเลี้ยวเข้าสู่ซอยที่มีทั้งซอยย่อยกว้างบ้างแคบบ้างสลับกันไปเป็นทางผ่าน ตลอดสองข้างทางมีสายไฟระโยงระยางชวนสับสน ผ่านพื้นผิวฟุตบาทไม่สม่ำเสมอที่วัดใจคนเดินอย่างที่คุ้นเคยกัน เลี้ยวเข้าซอยหมู่บ้านอีกครั้ง
    แล้วเราก็ถึงที่หมายในที่สุด
    ชิวแบ่งสัดส่วนของบ้านชั้นล่างไว้เป็นมุมทำงาน โต๊ะกลางขนาดใหญ่ ครัวขนาดกระทัดรัด เมื่อหันไปมองภาพวาดเมืองภูเก็ต อุดรธานี พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร ฯลฯ ของเขาที่ใส่กรอบประดับอยู่บนผนัง ผลงานเหล่านั้นมีความสวยงามแบบที่ใครได้เห็นเป็นต้องหยุดมอง ก่อนที่จะไล่สายตาตามหาถนนสายสำคัญ สถานที่ที่รู้จัก และหลายคนถึงกับยืนยันว่าพบบ้านของพวกเขาอยู่ในภาพมาแล้ว
    นอกจากรายละเอียดของอาคาร ที่อยู่อาศัย ซึ่งผ่านการศึกษาและสำรวจพื้นที่จริงก่อนวาด ทำให้สามารถอ้างอิงสถานที่สำคัญที่บรรจุอยู่ในภาพของเขาได้แล้ว ชิวยังใช้มุมมองของตัวเองสร้างสรรค์ผังเมืองที่ดูสบายตา ถนนหนทางที่กว้างและตัดกันเป็นระเบียบ ไม่ปรากฏสิ่งรกหูรกตาแต่อย่างใด
    เมื่อเขาส่งผลงานเข้ามาในโครงการ Bangkok Illustration Fair 2021 สไตล์การวาดเฉพาะตัวที่โดดเด่นทำให้เขาได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งใน 150 BKKIF Artist ก่อนที่จะได้ร่วมเป็นศิลปินในนิทรรศการจัดแสดงผลงานจากการประกวด ศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 10 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งทำให้เขาเป็นศิลปินไทยที่น่าจับตามองอีกคนหนึ่ง
    การเดินทางมาคุยกับเขาครั้งนี้ ชิวเล่าย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจตั้งแต่วัยเด็ก คำพูดของครูที่ทำให้เขาไม่หยุดวาดรูปจนกลายเป็นศิลปินที่มีรายได้จากการวาดภาพเต็มตัว รวมถึงมุมมองของการลงมือแก้ไขปัญหาเมืองผ่านภาพวาดบนหน้ากระดาษ ภาพของเขาจึงไม่จบอยู่ที่ความรื่นรมย์แต่ชวนให้ผู้ชมขบคิดอีกด้วย
    ซึ่งสิ่งที่เขาทำ คือสิ่งที่เราทุกคนต่างหวังว่าเมืองที่ตนอาศัยอยู่ จะมีความเป็นระเบียบและงดงามดั่งภาพวาดของเขาจริงๆ ในสักวัน ...ไม่ใช่หรือ
การเดินทางโดยรถไฟ คือความประทับใจแรกที่ทำให้วาดรูป
    ชิวเป็นคนต่างจังหวัดที่เดินทางเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนต่อระดับชั้นมัธยมที่โรงเรียนชิโนรสวิทยาลัย กระทั่งจบการศึกษาจากสาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงเริ่มทำงานด้านแอนิเมชันอยู่พักหนึ่ง ก่อนที่จะหันมาเป็นนักวาดภาพแลนด์สเคปฟรีแลนซ์เต็มตัว ช่วงที่มีเวลาว่างเขาจะสร้างสรรค์ผลงานภาพวาดเมือง แล้วลงจำหน่ายในรูปแบบอาร์ตปริ้นต์พิมพ์บนกระดาษหรือผ้าใบทาง Facebook: ZilluStation.ชิว 
    ชีวิตของเขาอาจจะเหมือนอีกหลายคนที่เดินทางมาเพื่อโอกาสทางการศึกษา แล้วหาลู่ทางตั้งรกรากเพื่อทำงานและใช้ชีวิตในเมืองหลวง แต่ครอบครัวและชีวิตวัยเด็กคือพื้นฐานที่ปลูกฝังมุมมองให้แตกต่าง แล้วส่งอิทธิพลต่อสไตล์การวาดภาพที่ไม่เหมือนใครของเขา
    เขาเล่าให้ฟังว่าคุณแม่เป็นคนสุราษฎร์ธานีที่เดินทางไปทำงานที่จังหวัดชุมพร จึงได้พบกับคุณพ่อแล้วแต่งงานสร้างครอบครัวกันที่นั่น เขาเป็นลูกคนเล็กที่เกิดมาช่วงที่พ่อแม่ทำมาหากินพร้อมกับเลี้ยงลูก 3 คนไปด้วย พี่สาวคนโตอายุห่างจากเขา 11 ปี พี่ชายคนรองอายุห่างกัน 7 ปี คุณแม่จึงส่งเขาซึ่งยังเล็กไปให้คุณป้าที่สุราษฎร์ธานีช่วยเลี้ยงก่อน ชิวจึงเติบโตและเรียนหนังสือที่สุราษฎร์ธานีมาตั้งแต่เด็ก ขณะที่ครอบครัวที่ชุมพรทำร้านโจ๊กเรื่อยมาจนถือเป็นร้านเก่าแก่ที่เปิดมาได้ 40 กว่าปีแล้ว
    "แม่ไม่ค่อยว่าง ตอนเช้าขายโจ๊กที่ตลาด ตอนเย็นกลับมาตั้งร้านขายหน้าบ้าน แล้วแม่ต้องเลี้ยงลูกตั้ง 3 คน ป้าก็เลยรับผมไปเลี้ยง แต่พอปิดเทอมป้าจะพาผมนั่งรถไฟจากสุราษฎร์ฯ มาหาแม่ที่ชุมพร ตรงนี้คือจุดเริ่มต้นที่ผมสนใจรถไฟ มันเหมือนเป็นความประทับใจแรก ไม่ว่าใครถ้าเจอสิ่งที่ทำให้ประทับใจตอนเด็กๆ ก็จะชอบสิ่งนั้นไปตลอด ส่วนผมเจอรถไฟก่อนผมเลยชอบรถไฟ มันมีรายละเอียดที่ไม่เหมือนรถทั่วไป" ขณะเล่าถึงรถไฟแววตาของเขายังส่งความประทับใจครั้งนั้นออกมาให้เห็น
    เนื่องจากสมัยก่อนเขายังไม่มีกล้องถ่ายรูป ไม่มีอินเตอร์เนตให้หารูปสถานที่ต่างๆ จึงอาศัยการมองและเสพสิ่งต่างๆ ด้วยตา แล้วพยายามจำภาพเหล่านั้นกลับมาวาดรูปเก็บไว้ "ตอนนั่งรถไฟมันเหมือนการผจญภัยไปเรื่อยๆ กว่าจะถึงบ้านเรา ระหว่างทางมีนา มีวิวทิวทัศน์ให้มอง พร้อมเสียงรถไฟที่วิ่งเป็นจังหวะเหมือนเสียงเพลงประกอบ แต่ละสถานีเปรียบเสมือนประตูบ้านของเมืองนั้นๆ เมืองแต่ละเมืองที่มีรายละเอียดแตกต่างกันออกไปให้น่าค้นหา เมืองนี้เป็นเมืองท่องเที่ยวโรงแรมก็เยอะหน่อย เมืองนี้อาจะเป็นการค้าตลาดก็จะใหญ่หน่อย ฯลฯ พอกลับถึงบ้านลงจากรถไฟทุกครั้งผมจะรีบหากระดาษมาวาดไว้เพื่อจะได้ไม่ลืม บางครั้งผมก็เปิดภาพที่มีอยู่ในอัลบั้มของเตี่ยซึ่งเป็นภาพถ่ายจากกล้องฟิล์มที่อัดรูปเอาไว้ มีรูปรถไฟอยู่บ้างมาดูแล้ววาดรูปตาม จากนั้นก็เริ่มสนใจหัดวาดตั้งแต่อายุประมาณ 4-5 ขวบ แล้วก็วาดมาเรื่อยๆ"
    "ผมวาดรูปเมืองแต่ละเมืองเหมือนความพยายามที่จะไปเที่ยวในสถานที่นั้นๆ แรกๆ เราวาดไม่เหมือน แต่ด้วยความพยายามที่อยากทำให้ภาพมีมิติมากขึ้น เลยจินตนาการว่าเราเข้าไปเดินอยู่ในเมืองนั้นแล้วฝึกวาด นั่นคือจุดเริ่มต้นที่อยากวาดภาพให้ดีขึ้น ผมจะมีเมืองของตัวเองตั้งแต่ตอนเด็ก พอโตขึ้นก็นำภาพเหล่านั้นกลับมาวาดใหม่ให้มันสวยขึ้น ใส่รายละเอียดมากขึ้น มีเป็นเล่มๆ ในแต่ละช่วงนะครับ มัธยมต้นเล่มหนึ่ง มัธยมปลายเล่มหนึ่ง โดยที่วาดเมืองเดิมนั่นแหละ แต่มีพัฒนาการเพิ่มขึ้น นี่เป็นบางเล่มที่เหลืออยู่ ความจริงป้าทิ้งไปหลายเล่มเลยครับ" ว่าแล้วเขาก็เดินไปหยิบสมุดที่วาดรูปเก็บไว้มาเปิดให้ดู
    "ตอนเด็กผมวาดเป็นเบิร์ดสอายวิวเพอร์สเปคทีฟ (bird's eye view perspective) มีจุดเส้นนำสายตาท้องฟ้าครึ่งหนึ่ง แผ่นดินครึ่งหนึ่ง คิดว่าเราอาจจะดูวิวเยอะมั้งเลยเกิดการสะสมมา โดยไม่ได้เรียนศิลปะมาเลย เมืองส่วนใหญ่ไม่มีจริงนะเป็นเมืองที่เราอยากสร้างขึ้นเองจากจินตนาการ"
    เมื่อพลิกสมุดวาดภาพเมืองสมัยเด็กของเขา เราพบว่าส่วนใหญ่จะมีองค์ประกอบเป็นสถานีรถไฟ เขาจึงบอกว่าเป็นเรื่องของความผูกพัน "เราโตมาในชุมชนของภาคใต้ที่มีทางรถไฟผ่ากลางเมืองเกือบทุกเมืองเลย สถานีรถไฟอยู่ร่วมกับชุมชนได้ สถานีรถไฟเป็นมากกว่าสถานี  เป็นทั้งจุดนัดพบ จุดเดินทาง จุดส่งของ จุดต่อรถ จุดค้าขายอาหาร บางที่ก็มีตลาดนัด สถานีรถไฟจึงมีความผูกพันกับชุมชน ตอนเรียนผมยังเคยทำแอนิเมชันเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับเตี่ยด้วย ประมาณว่าผมนั่งรถไฟไปมีความทรงจำตอนเด็กๆ ที่ผูกพัน จนถึงสถานีแล้วเตี่ยก็มารับ"
การใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ และแรงผลักดันที่ทำให้ไม่หยุดวาดรูป
    ชิวเดินทางมากรุงเทพฯ ครั้งแรกเพื่อมาเยี่ยมญาติ ระหว่างการเดินทางโดยรถไฟเขาเห็นภาพความแตกต่างของเมืองที่ผ่าน จนอดที่จะคิดถึงความเจริญที่แตกต่างกันไม่ได้ "ตอนนั่งรถไฟมากรุงเทพฯ ครั้งแรกมันเกิดการเปรียบเทียบเวลาเห็นแต่ละอำเภอแต่ละจังหวัดที่ผ่านมาสลับกันไป แต่พอมาถึงกรุงเทพฯ ทำไมมันแตกต่าง คือพอได้มาเห็นแล้วอยากอยู่ที่นี่เลย ผมมาเที่ยวครั้งแรกก่อนยุคที่ฟองสบู่จะแตก ตอนนั้นเศรษฐกิจไทยน่าจะดีระดับหนึ่ง ผมรู้สึกว่าหลายสิ่งหลายอย่างกำลังพัฒนา แล้วเราอยากให้ที่บ้านเราเป็นแบบนั้นบ้าง" ซึ่งการท่องเที่ยวอยู่ในย่านเกาะรัตนโกสินทร์ เยาวราช และสถานีรถไฟหัวลำโพง ทำให้ได้เห็นความสวยงามของบ้านเมืองในครั้งนั้น
    ขณะที่ตัวเขาเองกลับไปเรียนชั้นประถมศึกษาต่อที่สุราษฎร์ธานี อาจารย์รณชัย เรืองรักษ์ เป็นครูสอนศิลปะที่คอยพาเขาไปประกวดรายการต่างๆ ได้พูดกับเขาไว้ว่า "อย่าหยุดวาดนะ วาดต่อไป" จนกระทั่งพี่สาวคนโตเดินทางมาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ ตามมาด้วยพี่ชายคนรองแล้ว ส่วนเขาใช้ความสามารถด้านศิลปะสอบเข้ามาเรียนระดับมัธยมที่โรงเรียนชิโนรสวิทยาลัยได้ จึงมีโอกาสเข้ามาเรียนและอยู่กับพี่ๆ ที่กรุงเทพฯ ในที่สุด
    "ตอนนั้นผมสอบโควต้าความสามารถพิเศษ โดยมีการจับเวลาให้วาดภาพหัวข้อเกี่ยวกับคนรุ่นใหม่ ในเวลา 3 ชั่วโมง มีคนแข่งเยอะแล้วเขารับแค่ 3 คน รู้สึกกดดัน ผมคิดว่าเด็กกรุงเทพฯ มีแต่เด็กเก่งๆ เพราะเขาได้เรียนศิลปะกันแต่ผมไม่ได้เรียนมา ครั้งนั้นผมวาดเด็กเล่นสเก็ตโดยฉากหลังเป็นวัดและวิวต่างๆ แบบของเรา แล้วเราก็ทำได้ อาจารย์บอกว่าภาพที่ผมวาดมีการเล่าเรื่องและรายละเอียดอยู่ในนั้น เลยได้เข้าเรียนที่โรงเรียนชิโนรสวิทยาลัยมาตั้งแต่ ม.1 - ม.6 ซึ่งระหว่างเรียนผมก็พยายามทำชื่อเสียงให้โรงเรียน เป็นนักล่ารางวัลประกวดตามที่ต่างๆ ได้รางวัลมาประมาณ 52 รายการเลยครับ เกียรติบัตรยังเก็บไว้อยู่เลย"
    เขาเล่าให้ฟังว่าสมัยเรียนมัธยมมีอาจารย์จรรยา วงศ์อร่าม เป็นผู้หารายการประกวดส่งเขาไปวาดรูปอยู่เสมอ และอาจารย์คนนี้ยังสร้างความมั่นใจให้กับเขาได้มาก "อาจารย์ทำให้เราเชื่อใจตัวเองว่าสิ่งที่ทำถูกแล้ว และวาดรูปมาได้ตลอดรอดฝั่ง ถ้าไม่มีอาจารย์ผมอาจจะหยุดวาดไปแล้ว เพราะเราอาจจะไขว้เขวได้ พอไปประกวดวาดรูปได้รางวัล ทำให้รู้ว่าวาดรูปก็มีตังค์กินขนม มีคุณค่าทางจิตใจ และพยายามทำงานชิ้นต่อไปให้ดีขึ้น เพราะตอนเด็กเหมือนเราเรียนไม่เก่งจนที่บ้านทำใจแล้ว และให้อิสระไม่คาดหวังกับเรา เราก็เรียนไปเรื่อยๆ จนสอบเข้าโรงเรียนที่กรุงเทพฯ ได้ พอติดที่มหาวิทยาลัยศิลปากรทางบ้านก็ดีใจ"
    แต่ชิวไม่เคยคิดมาก่อนว่าการวาดภาพแบบที่ตัวเองชอบจะสามารถนำมาใช้เป็นอาชีพได้ แม้กระทั่งตอนเรียนสาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ เขายังเลือกลงเรียนวิชาแอนิเมชัน เพราะคิดว่าน่าจะสามารถหางานเลี้ยงดูตัวเองได้มากกว่าการวาดภาพ
    "ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยผมแทบจะทิ้งการวาดภาพสไตล์ตัวเองไปเลย จะมุ่งมั่นกับการทำแอนิเมชัน จนตอนปี 4 มีอาจารย์อยากทำผังในมหาวิทยาลัย วิทยาเขตวังท่าพระนี่แหละครับ เขาให้ผมวาดตั้งแต่ตอน มหาลัยยังไม่รีโนเวท ยังไม่มีตึกใหม่แบบทุกวันนี้ ตอนนั้นไม่มีโดรนผมเลยเดินถ่ายรูปแต่ละมุมของมหาวิทยาลัย แล้วเอามาวาด" ซึ่งภาพที่เขาวาดไว้เหมือนเป็นภาพบันทึกประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาหนึ่งของมหาวิทยาลัยศิลปากรเหมือนกัน

    ด้วยความมุ่งมั่นมาทางสายแอนิเมชัน เขาจึงเริ่มฝึกงานที่บริษัทแอนิเมชันแห่งหนึ่ง และเข้าทำงานที่บริษัท มัฟฟิ่น แอนิเมชั่น จำกัด อยู่ 3 ปี ก่อนที่จังหวะชีวิตจะทำให้ค้นพบตัวตนและรู้ว่าการวาดภาพในสไตล์ที่ตัวเองชอบสามารถหารายได้ให้ตัวเองได้เหมือนกัน "ตอนนั้นคุณป้าที่ชุมพรล้ม แล้วไม่มีใครสะดวกพาไปโรงพยาบาลต่างจังหวัด ผมเลยลาออกจากบริษัทเพื่อคอยพาคุณป้าไปเช็คที่โรงพยาบาลทุก 3 เดือน แล้วก่อนหน้านั้นผมมีเพจเฟซบุ๊คอยู่แล้ว พอวาดไปเรื่อยๆ เริ่มมีคนรู้จัก เลยมีงานฟรีแลนซ์เข้ามา ถ้าย้อนกลับไปตอน ม.ปลาย ผมไม่มีความคิดเลยว่าจะมาวาดรูปแล้วมีคนซื้อ เพราะตอนนั้นคงยากที่จะมีคนมาเห็นผลงานเรา เฟซบุ๊คอะไรก็ยังไม่มี เราเลยสงสัยว่าใครจะมาซื้อรูปเรา ตอนนั้นมุ่งมั่นแค่คิดว่าจะต้องเข้าทำงานประจำที่บริษัท"

การปรับแต่งเมืองโดย ZilluStation ให้กลายเป็นภาพฝันที่น่าอยู่
    พอถามว่าเคยวาดภาพเมืองมากี่เมืองแล้ว ชิวหยุดนึกครู่หนึ่งแล้วบอกว่า "ไม่เคยนับเลย เท่าที่จำได้มีอยุธยา หัวหิน ป่าตอง กรุงเทพฯ อุดรธานี เชียงใหม่ และเคยวาดอำเภอสวีบ้านผมที่ชุมพร ผมวาดแล้วเอาภาพนั้นไว้ที่บ้านแม่เลย ที่เหลือจะเป็นสถานที่เล็กน้อยอย่าง วัดพระแก้ว มหาวิทยาลัยศิลปากร แล้วก็มีวาดตามสถานที่ต่างๆ อย่างที่หัวหินผมวาดภาพเมืองหัวหินบนแคนวาสขนาด 6 เมตรด้วยปากกา"
    การวาดภาพแต่ละครั้ง เขาจะเดินทางไปเสพบรรยากาศในสถานที่จริง เพื่อซึมซับกลิ่นอายของเมืองนั้นๆ ไว้ในภาพ โดยเขาจะศึกษาสถานที่สำคัญ ชื่อถนน เพื่ออ้างอิงกับสถานที่จริงด้วยความระมัดระวัง ช่วงแรกที่วาดเขารู้สึกว่าอยากบันทึกภาพของเมืองเหล่านั้นไว้ แต่เมื่อลงมือจริงถึงเริ่มจัดระเบียบสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง จนกลายมาเป็นความต้องการแก้ปัญหาของเมืองด้วยการวาดภาพอย่างทุกวันนี้
    "ตอนวาดรูปแรกผมยังไม่ได้คิดอย่างนั้น จนเริ่มวาดเยอะขึ้นผมเจอหลายสิ่งหลายอย่าง ซึ่งถ้าวาดเหมือนจริงจะทำให้ภาพเราไม่สวยเลยต้องตัดทอนดัดแปลง บางถนนเหมือนจะตรงแต่มันคดเคี้ยว เราก็ทำให้มันตรงไปเลยเพื่อให้ภาพดูสมบูรณ์ที่สุด เวลาวาดผมใส่ใจในรายละเอียด มีการจัดระเบียบ แต่ผมไม่ได้จัดมาก เพราะเดี๋ยวจะผิดเพี้ยน ผมทำให้ดูเป็นบล็อก ทำให้ดูสวย เพราะถ้าเหมือนจริงหมดทุกอย่างมันจะเละบ้าง บางทีอาคารมีการต่อเติมเต็มไปหมด เราก็ต้องตัดให้เหลือแค่โครงสร้างเดิม"
    เมื่อลงผลงานทางเพจเฟซบุ๊คเขาจึงเห็นว่าคนมีความรู้สึกร่วมกับภาพที่เขาวาด "บางทีมีคนเจอบ้านตัวเองอยู่ในรูปของเรา ตรงนี้ที่ทำงานเขา คอนโดเขา เขาจะรู้สึกผูกพัน อย่างตอนที่ผมวาดอุดรธานีแล้วเป็นบ้านเกิดของเขา เขาก็อยากซื้อเก็บไว้ เพราะเขาผูกพันกับเมืองที่เป็นบ้านเกิด ผมคิดว่าคล้ายกับเราที่เป็นคนมาจากต่างจังหวัด พอมาอยู่กรุงเทพฯ เราจะคิดถึงบ้าน ถ้าเราวาดเมืองบ้านเกิดเราไว้ที่บ้าน คนก็จะอยากดู อยากเห็น เหมือนเป็นการบันทึกช่วงเวลาของเมืองไว้ด้วย ทุกคนในเพจก็รอว่าเมื่อไรผมจะวาดเมืองใหม่ เขาถามเลยว่าเมืองต่อไปเมืองอะไร ตอนนั้นผมวาดอยุธยา เขาก็รู้สึกดีใจที่ในที่สุดผมวาดอยุธยาบ้านเกิดเขา เขารอซื้อ" เขายิ้มเมื่อนึกถึงความรู้สึกที่ได้รับจากคนที่เห็นผลงาน
    ยังมีอีกหลายเมืองทั้งในและต่างประเทศที่ชิวอยากวาด แต่ในสถานการณ์ที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังไม่คลี่คลายเขาจึงไม่สามารถเดินทางได้สะดวก "อย่างสงขลาผมไม่เคยไป ที่นั่นเป็นเมืองท่า เมืองเก่าที่มีสถาปัตยกรรมสวยงาม ถ้าได้ไปผมอยากเก็บรายละเอียดและสถาปัตยกรรมเอาไว้ คล้ายกับอยุธยาที่วาดมา อย่างภาพอยุธยาผมวาดโบราณสถานที่พังไปแล้วขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ภาพของโบราณสถานอยู่ร่วมกับสมัยปัจจุบัน ถ้าเราสามารถเห็นโบราณสถานถูกบูรณะขึ้นมาใหม่ร่วมกับเมืองปัจจุบันเป็นรูปเป็นร่างในกระดาษของเรา คนจะได้เห็นว่าถ้ามันไม่ผุพังไปคงจะเป็นแบบนี้"
การวาดภาพที่ทำให้มองเห็นปัญหาของเมือง
    จากวันที่ชิวนั่งรถไฟเข้ามากรุงเทพฯ วันแรกแล้วรู้สึกตื่นตาตื่นใจกับความเจริญของเมือง เมื่อเข้ามาเรียนและอยู่อาศัยจึงเริ่มเห็นความจริงและพื้นที่ส่วนอื่นของเมืองมากกว่าแค่ความสวยงามที่เคยเห็น เขาเล่าให้ฟังว่าสมัยเรียนจะเจอปัญหารถติด มลพิษทางอากาศ การต่อรถหลายต่อ เวลาไปบ้านเพื่อนต้องเดินเข้าซอยเล็กๆ และข้ามคลองที่มีน้ำเน่าเสีย กองขยะริมทาง ทางเดินเท้าที่ชำรุด แล้วมองเห็นความไม่เป็นระเบียบตามตรอกซอกซอยมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมาจากการขาดความใส่ใจในรายละเอียดของรัฐ
    "ตอนแรกยังไม่ทำลายความประทับใจหรอกครับ เพราะตั้งแต่เด็กใฝ่ฝันว่าอยากอยู่กรุงเทพฯ เหมือนเป็นเมืองที่เจริญกว่าบ้านเรา พออยู่ไปนานๆ เราเจอปัญหาของเมืองแต่ยังไม่ค่อยรู้สึกมาก เริ่มรู้สึกตอนที่มีโอกาสไปเที่ยวต่างประเทศตอนเรียนจบแล้ว พอเราได้เปิดโลกกว้างจะรู้สึกมาก ครั้งแรกผมไปฮ่องกงก่อน ที่นั่นสะอาดมากเลย ขยะแทบไม่มี ฟุตบาทเป็นระเบียบ คนเดินไปมาได้อย่างสบาย การคมนาคมขนส่งไม่กี่เหรียญก็นั่งรถรางได้แล้ว ผมคิดว่าเมืองมีความแตกต่างกันมาก เหมือนความประทับใจตอนที่มาเห็นกรุงเทพฯ ครั้งแรก แต่พอได้ไปญี่ปุ่นคือเมืองในฝันเลย เมืองที่ใส่ใจในรายละเอียดจริงๆ ทุกอย่างถูกออกแบบเพื่อแก้ปัญหาของคนในเมือง ภาพที่เราฝันที่ญี่ปุ่นมีทุกอย่างเลย"
    เขาบอกว่าชอบระบบการขนส่งที่ญี่ปุ่น ระบบรางที่สามารถทำให้การเดินทางเป็นการท่องเที่ยวไปในตัว รถไฟที่ญี่ปุ่น เป็นเหมือนเส้นเลือดใหญ่ที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศคล่องตัวและรวดเร็ว รวมถึงความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง มาตรการควบคุมการก่อสร้างความสูงของอาคารในเขตพื้นที่ต่างๆ ขณะที่ฮ่องกงพื้นที่น้อยกว่าจึงมีตึกสูงและแออัดกว่า ถึงกระนั้นยังมีผังเมืองที่ดี สาธารณูปโภคพื้นฐานและการคมนาคมที่วางแผนมาดีกว่าเมืองไทย หรือพื้นที่สีเขียวในสิงคโปร์ "อย่างสิงคโปร์เขาใส่ใจมาก ผมคิดว่าคนกรุงเทพฯ คงอยากได้อะไรแบบนั้น แต่เราก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะอยู่ที่การบริหารจัดการของรัฐบาลด้วย"
    เมื่อคุยกันถึงเรื่องผังเมือง ชิวเริ่มแสดงความคิดเห็นที่จริงจังต่อสิ่งที่พบเห็นมากขึ้น "ของไทยเหมือนเราวางผังไว้แค่เกาะรัตนโกสินทร์และกรุงเทพชั้นใน เมื่อทุกคนต่างมุ่งหน้าเข้ามาอาศัยในกรุงเทพ จึงเกิดเมืองที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้พื้นที่กรุงเทพชั้นนอกไม่ได้วางแผนไว้แต่ต้น ทำให้ยากที่จะควบคุม หลังจากนั้นเป็นที่ใครที่มันแล้ว การตัดถนนที่ไม่ได้วางแผนมาตั้งแต่แรกทำให้ทุกอย่างต้องแก้ที่ปลายเหตุหมดเลย ผมเลยมีความคิดว่าเราไม่สามารถทำให้เมืองเป็นอย่างที่คิดได้ แต่เราจะวาดรูปให้ได้ตามที่เราคิด ผมเลยวาดรูปจัดระเบียบเมืองด้วยตัวเอง ทำให้คนที่ซื้อชิ้นงานไปมองเห็นสุนทรียภาพของกรุงเทพฯ ในอีกมุมมองนึง ผมคิดว่าเมื่อกลับถึงบ้านแล้วเห็นภาพนั้น เขาอาจจะได้รับการเติมพลังว่า 'เฮ้ยเราก็อยู่ในเมืองที่สวยนะ' ได้"
    แล้วเขาก็ยกตัวอย่างการวาดภาพกรุงเทพฯ ในผลงานล่าสุด ที่ปัญหาของเมืองสร้างอุปสรรคกับการวาดภาพ จนต้องนำมาจัดระบบระเบียบให้ดีขึ้นบนหน้ากระดาษอย่างที่เห็น "ผมเพิ่งวาดกรุงเทพฯ ไป ตอนวาดเรารู้สึกว่าเมืองสร้างอุปสรรคให้เราเยอะมาก พอเจออุปสรรคตอนวาดเยอะขึ้น มันทำให้เราเกิดความคิดอยากเปลี่ยนเมืองใหม่ให้หมดเลย อย่างถนนบางนาจะตรงก็ไม่ตรงนะ บางซอยเป็นคอขวด แบบนี้รถติดตายเลย บางทีถนน 4 เลนอยู่ในซอย พอจะออกมาถนนใหญ่เหลือ 2 เลน ตอนวาดผมเลยวาดเส้นใหญ่ๆ แถมให้ไปเลย บางตึกเอียงอยู่ไม่เป็นระเบียบ เราก็ดัดให้เข้าล็อก จัดวางให้ดูสวยขึ้น ผมอาจจะเป็นคนชอบจัดวางอยู่แล้ว คนที่มาเห็นภาพที่เราวางองค์ประกอบไว้ เขาอาจจะคิดว่ากรุงเทพฯ น่าอยู่จากภาพวาดนะ แต่เขาไม่รู้ว่าเราจัดวางไว้หมดแล้ว จริงอยู่เราวาดตามแผนที่ แต่มีการปรับให้โอเคขึ้นเพื่อให้ภาพออกมาสวยที่สุด เป็นระเบียบที่สุด ของจริงเราแก้ไม่ได้หรอก เราไม่ได้มีอำนาจขนาดนั้น แต่อยากให้มันเป็นจริงขึ้นมาบนหน้ากระดาษก็ยังดี"
    จากการมองภาพลายเส้นของเมืองที่สวยงามรื่นรมย์ เราเริ่มรับรู้ถึงปัญหาของการออกแบบเมืองที่สะท้อนอยู่ในขั้นตอนการทำงานของเขา แล้วปัญหาเหล่านั้นยังส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองโดยตรงอีกด้วย
    "บางทีการคมนาคมที่ไม่สะดวกหรือการเดินทางหลายต่อ มันทำให้คนที่เหนื่อยกับการเรียนและการทำงานตลอดทั้งวันยังต้องมาเหนื่อยกับการเดินทางด้วย มันกินพลังงานไปเยอะมาก สาเหตุมาจากความไม่ใส่ใจเมืองโดยรวม ถ้าเมืองเราน่าอยู่จะทำให้เรามีความสุข ทุกคนในเมืองก็จะมีความสุขไปด้วย ระบบที่ดีอาจจะทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น คนเหลือเวลาไปทำอย่างอื่นบ้าง จิตใจเขาก็จะดีขึ้นตามไปด้วย"
    เราจึงถามว่าแล้วเมืองที่น่าอยู่ในความคิดเห็นของเขาเป็นอย่างไร แล้วเขาก็ตอบทันที "เมืองที่น่าอยู่ต้องมีการคมนาคมที่ไม่แพง ประชาชนเดินทางสะดวก การคมนาคมขนส่งในเมืองเป็นระบบ ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ปริมาณรถยนต์ส่วนตัวลดลง รถก็ไม่ติด แต่ถ้าค่าตั๋วเดินทางและค่าเดินทางของคนกรุงเทพฯ คิดเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนแบบนี้ ทำให้ค่าเดินทางของคนกรุงเทพฯ แพงมาก ผมรู้สึกว่าไม่ค่อยดีเท่าไร ต่างกับต่างประเทศที่ค่าใช้จ่ายด้านการคมนาคมถูก มีเงินเหลือเก็บไว้ทำอย่างอื่นได้ อีกอย่างคือพื้นที่สีเขียว อยากให้เพิ่มให้แต่ละพื้นที่มีสีเขียวมากขึ้น แค่สวนลุมพินีมันไม่พอ ผมเชื่อว่าเราอยากได้เหมือนแมนฮัตตันที่มีเซ็นทรัลพาร์ก คนจะได้ผ่อนคลายแล้วอากาศจะดีขึ้นด้วย" แม้จะพูดถึงสิ่งที่อยากแก้ไข แต่น้ำเสียงของเขายังแฝงไปด้วยความหวัง เพราะรู้ว่าบ้านเมืองของเรายังสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นกว่านี้ได้
    แม้ช่วงนี้เขาจะไม่สามารถเดินทางไปยังเมืองต่างๆ ได้ดั่งใจ แต่เขาก็มีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งเราอยากเอาใจช่วยให้สำเร็จจริงๆ "ผมอยากวาดแผนที่ของแต่ละจังหวัดในประเทศไทยไว้ให้ได้เยอะที่สุด เป็นการบันทึกภาพของเมืองในยุคที่เราเกิดด้วยความถนัดที่มีอยู่ ตอนมีชีวิตอยู่ก็อยากทิ้งอะไรไว้ให้กับประเทศ อยากเกิดมาเป็นประโยชน์ให้กับแผ่นดินนี้ ผมอาจจะไม่สามารถวาดได้หมดทั้ง 76 จังหวัด แต่ก็อยากวาดให้ได้เยอะที่สุด ปัจจุบันเราออกทุนเอง คิดว่าจะเดินทางไปเรื่อยๆ ถึงเมืองต่อไปก็วาดต่อ เพราะเราอยากมีอะไรกลับมาจากการเดินทางไปที่แห่งนั้นด้วย"
    เราจะรอให้ถึงวันที่เขาวาดภาพสำเร็จตามเป้าหมาย เพราะอยากเห็นสถานที่ต่างๆ ในประเทศไทย ผ่านฝีมือที่เขาสร้างสรรค์และจัดระเบียบไว้จริงๆ
Favorite Something
  •   Attack on Titan (2013 - 2021), Interstellar (2014)
  •   Line By Line - PREP , Leaving On A Jet Plane - John Denver
  •   Tekkonkinkreet Art Book - Shinji Kimura, 1983 - 2015 Railways Past & Present
  •   -

ดุสิตา อิ่มอารมณ์

นักเขียน ผู้ใช้พื้นที่ในเวลาว่างไปกับการอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ขี่จักรยาน อ่านการ์ตูน เล่นเลโก้ ฯลฯ โดยเชื่อเต็มหัวใจว่าเวลาที่หมดไปกับความรื่นเริงนี้สามารถเติมเต็มชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จรูญรัฐ วิธูสุวรรณ

อดีตช่างภาพนิตยสาร มาเปิดบริษัทของตัวเองได้สักพัก ยังสนุกกับงานถ่ายภาพอยู่เสมอ โดยเฉพาะการถ่ายภาพผู้คน ตอนว่างจะชอบหนีไปเที่ยวตามที่ต่างๆ แก้เบื่อด้วยการถ่ายสถานที่และสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ