พีระ โองาวา: 60 ปีของการแปลงเสียงแมลงในหัวให้กลายเป็นงานศิลปะ

    พีระ โองาวา ไม่ใช่ศิลปินมืออาชีพ แต่เขาเป็นชายสูงวัยที่วาดภาพศิลปะจากเรขาคณิตเป็นพันๆ ภาพ เพื่อบำบัดอาการหูแว่วมานานกว่า 60 ปี

    ท่ามกลางผู้สมัครจำนวนทั้งสิ้น 469 คนที่ส่งผลงานศิลปะเข้ามาใน Bangkok Ilustration Fair 2021 (BKKIF) มีศิลปินท่านหนึ่งใช้ชื่อว่า PIRA ซึ่งเราเห็นว่านอกจากงานของศิลปินรายนี้จะมีเอกลักษณ์ด้วยการใช้รูปทรงเรขาคณิตมาสร้างเป็นภาพแล้ว เรื่องราวของเขายังน่าสนใจมากๆ อีกด้วย

    เขาระบุคำอธิบายตัวเองไว้ว่า "กว่า 60 ปีที่ผ่านมา มีปัญหาทางจิตใจที่ทำให้ได้ยินเสียงแมลงในหัวตลอดเวลา จึงใช้ศิลปะมาบำบัดตัวเองเพื่อให้มีสมาธิ ทำจิตให้นิ่งและมั่งคง ตามแบบภาพเรขาคณิตและความสมมาตร โดยแต่ละภาพมีหลายรูปซ้อนกันอยู่" พร้อมกับภาพผลงาน 10 ชิ้นที่เขาส่งมาร่วมแสดงในครั้งนี้ ทำให้เราอยากทำความรู้จักกับศิลปินวัย 75 ปีคนนี้เพิ่มขึ้น

    ภายในบ้านขนาดกลางซึ่งเป็นทั้งที่พักอาศัยและร้านอาหารเล็กๆ ที่เปิดให้ขาประจำแวะเวียนเข้ามา พีระเดินออกมาต้อนรับเราด้วยรอยยิ้ม เขานั่งบนโซฟาตัวโปรดโดยมีลูกสาว แตง-ประกายจิต โองาวา คอยช่วยประคอง ขณะที่อีกมุมหนึ่ง เต้-ยุทธจิต โองาวา ผู้เป็นลูกชายกำลังนั่งทำงานอยู่ไม่ไกลนัก ก่อนที่ภรรยา สว่าง โองาวา จะตามมาสมทบ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เรามีโอกาสได้พบกับทุกคนในครอบครัวอย่างพร้อมหน้า และพาให้บทสนทนาครั้งนี้เต็มไปด้วยความอบอุ่นยิ่งขึ้น

    พีระเล่าถึงที่มาของเสียงในหัวว่า "ตอนนั้นผมอายุประมาณ 13-14 ปี มีโอกาสไปเรียนต่อด้านเครื่องยนต์ที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นช่วงที่มีอาการไม่สบาย เริ่มได้ยินเสียงในหู จึงต้องกลับมารักษาตัวที่ไทย คุณพ่อเห็นว่าเราชอบวาดรูป เลยส่งไปเรียนกับอาจารย์ชาวญี่ปุ่น หลังจากนั้นเราก็วาดรูปมาตลอด"

    "พอดีคุณปู่เป็นคนญี่ปุ่นครับ คุณพ่อเลยต้องไปเรียนที่ญี่ปุ่น แล้วเขามีอาการ Home Sick เนื่องจากไม่ได้ภาษาด้วย สื่อสารลำบากด้วย เขาเลยเครียดจนป่วย ช่วงก่อนหน้านี้คุณพ่อจะมีอาการหูแว่วด้วย เวลาได้ยินเสียงแล้วเขาจะระแวงว่ามีใครมาพูดอะไรไม่ดีเกี่ยวกับตัวเขาหรือเปล่า" เต้เสริม

    สำหรับการได้ยินเสียงแมลงหรือเสียงลมในหัวโดยไม่มีเสียงเหล่านั้นจากภายนอก ทางการแพทย์เรียกอาการนี้ว่า ทินไนตัส (Tinnitus) เป็นสภาวะที่สารเคมีในสมองเสียสมดุล ขณะเดียวกัน การที่ร่างกายเผชิญกับสภาวะเครียดกังวลมาก ก็อาจส่งผลให้สมองจดจำว่าเป็นเสียงคุกคามและให้ความสำคัญกับเสียงเหล่านี้ จนเกิดเป็นเสียงที่ได้ยินในหัวตลอดเวลา

    ตามปกติแล้ว ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาและรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับพีระที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตเข้าออกโรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการดังกล่าว และอาการแทรกซ้อนที่เกิดจากการได้ยินเสียงแมลงในหัว ขณะที่การวาดภาพก็ทำให้เขามีสมาธิและเบี่ยงเบนความสนใจจากเสียงเหล่านี้ได้เช่นเดียวกัน

    "ปกติผมจะได้ยินเสียงแปลกปลอมในหัวตลอดเวลา แต่พอวาดรูปมาเรื่อยๆ ก็ไม่ค่อยเป็นอะไรแล้วครับ เรายังได้ยินเสียงอยู่แต่ชินแล้ว ไม่ได้สนใจมันแล้ว" พีระตอบอย่างอารมณ์ดี

    บนพื้นห้องรับแขกเต็มไปด้วยภาพวาดหลายร้อยภาพ จัดเรียงตามหมวดหมู่และเทคนิคที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย กระดาษบางกองเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล บางกองมีร่องรอยขาดแหว่งไปบ้าง บอกให้ผู้พบเห็นรู้ว่าภาพวาดเหล่านี้ได้ผ่านกาลเวลาและอยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับตัวเขามานานแล้ว

    ภาพวาดของพีระมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เขาใช้รูปทรงเรขาคณิตปะติปะต่อจนกลายเป็นสรรพสัตว์และสิ่งของรอบตัว "ตอนเด็กๆ ผมชอบเรียนเรขาคณิต แล้วครูเขาสอนขีดเส้น ทแยงมุม เส้นตรงเส้นเดี่ยว เขาบอกว่ามันสามารถต่อกันเป็นภาพได้ เราก็คิดว่า 'ถ้าเอาส่วนประกอบของเรขาคณิตมาวาดรูปจะเป็นยังไง' เวลาวาดผมจะเริ่มจากขีดเส้นหลักก่อน เริ่มจากเส้นดิ่ง เส้นนอน เส้นทแยงมุม เราจะเริ่มวาดโครงสร้างก่อน แล้วค่อยๆ วาดรายละเอียดเข้าไป พอลองทำดูแล้วมันออกมาเป็นภาพ เราเลยติดใจและวาดเรื่อยมา ส่วนแรงบันดาลใจจากภาพที่ได้ บางทีเราได้ยินเสียงคล้ายเสียงจักจั่น เราก็วาดมันออกมา หรือเราเห็นเส้นแล้วนึกถึงอะไรก็วาดสิ่งนั้น วันหนึ่งก็วาดได้ 1-2 รูป"

    แตงเล่าถึงเทคนิคการวาดของคุณพ่อที่เปลี่ยนไปตั้งแต่ยุคแรกเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีเต้คอยช่วยเปิดภาพให้ดูทีละภาพ "เนื่องจากคุณพ่อเริ่มวาดรูปตั้งแต่หนุ่มๆ ภาพวาดก็จะเปลี่ยนไปตามเวลา อย่างสมัยที่คุณพ่อวัยรุ่น เขาจะวาดรูปบนกระดาษไข ถ้าวาดเป็ดก็จะเป็นเป็ดตัวเดียว วาดพระปางนั่งสมาธิก็จะเป็นพระองค์เดียว แต่พอช่วงหลังคุณพ่อเริ่มมีการเอาหลายๆ อย่างมาผสมกัน เช่น บางภาพเราจะเห็นทั้งนกและดอกไม้ในเวลาเดียวกัน ช่วงหลังมานี้ คุณพ่อจะเริ่มลงสีด้วย ก็จะใช้เป็นสีหมึกกับสีอะคริลิคเป็นหลัก แต่พอสองปีให้หลังเขาเริ่มมีอาการพาร์กินสัน เราก็ให้คุณพ่อเปลี่ยนมาใช้เป็นปากกาเมจิกแทน เพราะลงสีได้ง่ายกว่า หรืออย่างการขึงเฟรมผ้าใบ แต่ก่อนคุณพ่อก็ขึงเองนะคะ แต่ตอนนี้ก็ไม่ได้ทำเองแล้วด้วยอายุที่มากขึ้น ปัจจุบันคุณพ่อมีปัญหาเรื่องหลอดเลือดดำที่ขาเสื่อมเพราะนั่งนานไป ช่วงนี้ก็เขาก็ต้องพัก ระหว่างวันบ้าง"

    "ระหว่างทำงาน พ่อจะชอบฟังเพลงบรรเลงด้วยครับ" เต้พูดเสริม ขณะที่เรากำลังก้าวผ่านห้องรับแขกไปยังห้องข้างๆ เฟรมภาพขนาดใหญ่ถูกตั้งเรียงรายล้อมรอบโต๊ะทำงานที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์วาดรูป เสียงเพลงเบาๆ ดังคลอไปกับเสียงพูดคุยของคนในครอบครัว นี่คือพื้นที่ที่พีระใช้เวลาส่วนใหญ่ทำงานศิลปะเพื่อบำบัดจิตใจของตัวเองในแต่ละวัน

    นอกจากการวาดภาพแล้ว เสียงเพลงที่เปิดคลอเบาๆ นั้นก็มีส่วนช่วยให้พีระผ่อนคลายจากอาการเจ็บป่วยได้เช่นกัน อย่างในทางการแพทย์เองก็มีการใช้เสียงเพลงมาช่วยลดความเครียดและคลายความกังวลได้ ใครที่กำลังประสบปัญหาหรือสภาวะความเครียด ลองนั่งในท่าที่สบายแล้วเปิดเพลงที่ชอบฟังสักพัก ก็อาจช่วยให้ร่างกายรู้สึกดีขึ้นได้เช่นกัน

    ในฐานะภรรยาที่ใช้ชีวิตอยู่กับพีระมาหลายสิบปี สว่างเห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและจิตใจของพีระมาตลอด เธอบอกกับเราว่า ภาพวาดเหล่านี้ช่วยให้พีระรับมือกับเสียงแมลงในหัวได้ดีขึ้น

    "เวลาที่เขาวาดรูป เขาจะไม่ค่อยคิดอะไรเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ต่างจากช่วงหนุ่มๆ ที่ต้องไปขายของด้วยกัน เช้าไปเย็นกลับไม่ค่อยมีเวลาวาด ช่วงนั้นก็ต้องเข้าโรงพยาบาลทุกปีเลย บางครั้งต้องอยู่โรงพยาบาลเป็นเดือน แต่ช่วงหลังพอเรามีคนมาช่วย เขามีเวลาอยู่บ้านวาดรูปทุกวัน เขาก็ไปแค่ตามนัดหมอ รับยามากินตามปกติ ไม่ต้องเข้าออกโรงพยาบาลบ่อยๆ เหมือนเดิม ทุกวันนี้ก็วาดรูปทั้งวันเลย บางทีเราตื่นมาตีห้าก็เห็นเขาลุกขึ้นมาวาดรูปแล้ว" เสียงหัวเราะจากสมาชิกในบ้านดังขึ้น เมื่อสว่างพูดจบ

    แตงนิ่งไปครู่หนึ่งก่อนพูดเสริมขึ้นอีก "เราเห็นคุณพ่อวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก เราว่าคุณพ่อมีพรสวรรค์นะ เขาสามารถคิดและวาดสิ่งที่อยู่ในหัวออกมาเป็นภาพได้ แล้วมันช่วยให้เขาสุขภาพดีขึ้นด้วย อย่างตอนหนุ่มๆ เขามักจะมีอาการเครียดและอารมณ์ร้อน เพราะการได้ยินเสียงในหัว แต่ช่วงหลังเรารู้สึกว่าเขาอารมณ์ดีขึ้น การวาดรูปทำให้เขาสามารถอยู่กับเสียงเหล่านี้ได้ และได้สร้างสรรค์งานแบบนี้ออกมาด้วย เราคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ดีมากๆ ค่ะ ถ้ามีโอกาสก็อยากจะจัดนิทรรศการ หรือนำงานของคุณพ่อไปแสดงให้คนอื่นเห็นเหมือนกัน ต้องขอบคุณแฟนของเต้ที่ทำให้มันออกมาเป็นรูปเป็นร่างจริง" เธอหมายถึงลูกสะใภ้ของพีระที่มีส่วนช่วยในการนำงานศิลปะของพ่อตามาสมัครผ่านระบบออนไลน์

    แล้ว BKKIF ก็กลายเป็นเวทีแรกที่พีระได้จัดแสดงงานร่วมกับศิลปินนักวาดรุ่นใหม่ แถมผลงานของเขายังได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน 150 ศิลปินอีกด้วย

    ตลอดการสนทนา เราสัมผัสถึงความรัก ความเอาใจใส่ และความภูมิใจของคนในครอบครัวที่มีต่อพีระอย่างเปี่ยมล้น งานศิลปะไม่เพียงช่วยให้เขาก้าวข้ามความเจ็บป่วยไปได้ แต่ยังช่วยส่งต่อแรงบันดาลใจและกำลังใจให้กับคนรอบตัวอีกด้วย

    แม้เราจะไม่ได้ยินเสียงข้างในหัวเช่นเดียวกับพีระ แต่ภาพแมลงมากมายที่ล้อมรอบอยู่ก็พาให้เราจินตนาการถึงเสียงที่เขาได้ยิน และรู้สึกถึงความสงบในใจได้มากกว่าที่เคย

Favorite Something
  •   -
  •   beethoven, mozart
  •   -
  •   -

นิษณาต นิลทองคำ

กองบรรณาธิการที่กำลังใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน ชอบคุยกับผู้คน ท้องฟ้า และเสียงดนตรี เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการฟังเพลง ที่บางทีก็ปล่อยให้เพลงฟังเรา

จรูญรัฐ วิธูสุวรรณ

อดีตช่างภาพนิตยสาร มาเปิดบริษัทของตัวเองได้สักพัก ยังสนุกกับงานถ่ายภาพอยู่เสมอ โดยเฉพาะการถ่ายภาพผู้คน ตอนว่างจะชอบหนีไปเที่ยวตามที่ต่างๆ แก้เบื่อด้วยการถ่ายสถานที่และสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ