ที่ชมรมดนตรีกลางของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งคู่มีโอกาสได้ทำวงดนตรีร่วมกับเพื่อนอีกหลายคน ฟังดูแล้ว นี่คงเป็นช่วงเวลาสุดสนุกสนานที่สุดของชีวิตวัยรุ่น จนวันที่ทุกคนเติบโตและแยกย้ายไปตามเส้นทางของตัวเอง เหลือเพียงโตและนาวที่ยังคงสนุกกับความฝันนี้ พวกเขาตัดสินใจฟอร์มวงใหม่ ปล่อยผลงานเพลงแนว synthesizer ให้คนได้ฟัง โดยโตรับหน้าที่ร้องนำและนาวเป็นมือกีต้าร์ โดยใช้ชื่อวงว่า Mirrr
"เรามักได้ยินคนพูดว่า เราทำดนตรีจริงจังไม่ได้หรอก งั้นเราละเมอทำเพลงตอนกลางคืนแล้วกัน เลยเป็นที่มาของชื่อวงว่า Mirrr (เมอร์)" โตพูดถึงที่มาของวงอย่างอารมณ์ดี ในบทสนทนาครั้งนี้ เขารับหน้าที่เป็นผู้พูดหลัก โดยมีนาวเป็นลูกคู่รับส่งมุกให้บรรยากาศสนุกขึ้นอีกเท่าตัว
หลังจากที่เพื่อนๆ ในชมรมดนตรีกลางแยกย้ายกันไป โตและนาวยังคงทำเพลงต่อและแบ่งปันเพลงที่ชอบ รวมถึงพัฒนาเทคนิคต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ เสียงดนตรีและความตั้งใจพาพวกเขาเดินทางไปสู่รอบสุดท้ายของการประกวดในแคมเปญ Tiger JAMS 2016 ก่อนที่ Mirrr จะกลายเป็นวงดนตรีที่มีเพลงฮิตโดนใจแฟนๆ มากมาย อย่าง รอให้เธอ (Never), เกม (Your Rules), นิโคติน (Nicotine) และ มาโซคิสม์ (Masochism)
โตและนาวเล่าว่า พวกเขาผูกผันกับเสียงดนตรีมาตั้งแต่เด็ก ทั้งคู่เริ่มเล่นกีต้าร์เมื่อเข้าสู่ช่วงมัธยม ไม่ต่างจากวัยรุ่นทั่วไป ต่างกันที่โตเลือกใช้เสียงเพลงบอกเล่าเรื่องราวรอบตัว ขณะที่นาวมีเสียงเพลงเป็นเพื่อนคนสำคัญในชีวิต
"เราสนใจดนตรีตั้งแต่มัธยมแล้ว พอขึ้นมหาวิทยาลัย เราไม่ได้อินกับกิจกรรมรับน้องเท่าไร เลยมองหากิจกรรมที่เหมาะกับเรา ผมก็เลยใช้เวลาส่วนใหญ่เล่นกีต้าร์อยู่ในห้องชมรมดนตรีกลาง เลิกเรียน พักเที่ยงก็มาห้องชมรมดนตรีตลอด ช่วงนั้นเลยมีโอกาสได้เล่นกีต้าร์อย่างจริงจังและได้ทำวงดนตรีกับเพื่อนๆ ด้วย" นาวเล่า
โตเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการแต่งเพลงว่า "จริงๆ เราเป็นคนชอบเล่าเรื่องนะ แต่เราไม่ชอบพูดกับคนทั่วไป เพราะเราไม่รู้ว่าเขาอยากฟังไหม เราเลยเล่าเรื่องพวกนั้นผ่านเพลง ตอนแรกๆ เพื่อนก็แซวว่าเสี่ยวนะ แต่ถ้ามองข้ามคำพูดเหล่านั้นไป จริงๆ แล้วทุกคนก็บอกว่าเพลงเราโอเคนะ พอทำไปได้สักพักก็เริ่มทดลองว่า ถ้าเราแต่งเพลงจากอะไรก็ได้ที่เห็นจะเป็นยังไง อย่าง เราเห็นทิชชู่วางอยู่ เราก็แต่งเพลงจากทิชชู่พร้อมเมโลดี้เลย มันสนุกนะ ดึกๆ นอนไม่หลับก็หยิบกีต้าร์ขึ้นมาเขียนเพลง ต่อให้เพลงออกมาห่วยแตก แต่เรามีความสุขมากที่ได้ทำ"
ไม่นานมานี้ พวกเขาพึ่งปล่อย EP. Social Anxiety ที่รวบรวม 5 เพลงความหมายดีให้แฟนๆ ได้ฟัง แต่ละเพลงบอกเล่าถึงช่วงเวลาสับสนของวัยรุ่นยุคปัจจุบัน ในฐานะผู้ฟังเรารู้สึกว่าอัลบั้มนี้ไม่เพียงถ่ายทอดห้วงอารมณ์ของวัยรุ่นได้ดี แต่ยังถ่ายทอดตัวตนของทั้งคู่ออกมาอย่างชัดเจนอีกด้วย
โตแนะนำถึงอีพีนี้ว่า "ชื่ออัลบั้มมาจากคำว่า Social Anxiety Disorder หรือ โรคกลัวการเข้าสังคม ผมคิดว่าครั้งหนึ่งในชีวิตพวกเราต่างก็เคยมีช่วงเวลาที่สับสนและอยากหลบหนีจากคนเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือเด็กก็ตาม ส่วนเพลงในอัลบั้มนี้ เราอยากเล่าถึงชีวิตวัยรุ่นที่เป็นวัยของการค้นหาตัวตน ลองผิดลองถูก สับสน ต้องการคนรับฟัง หรือมองหาสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ อย่างเพลงมาโซคิสม์ เราพูดถึงความสัมพันธ์ของคนที่ยังอยู่กับคนเดิมๆ ทั้งที่เขากำลังเจ็บปวดเพราะคนเหล่านั้น ในมุมคนนอกอาจจะมองว่าเขาโง่ แต่เขาอาจจะเสพติดความเจ็บปวดอยู่ก็ได้ เขาอาจจะมีความสุขบนความเศร้าเหล่านี้ก็ได้ เราอยากนำเสนออีกมุมมองหนึ่งของความสัมพันธ์ให้กับผู้ฟังบ้าง"
"ถ้าเราทำเพลงแนวไหนแปลว่าช่วงนั้นเรากำลังสนใจเพลงแนวนั้นอยู่ อย่างเพลงแรกๆ เราสนุกกับการใช้เสียงสังเคราะห์ เราชอบฟังแนวนี้เราก็เลยทำเพลงแนวนี้ และเรารู้สึกว่าในไทยยังมีเพลงแนวนี้น้อย ถ้าคิดในมาร์เก็ตติ้งมันอยู่ได้ยาว แล้วเราก็พยายามล้างสมองนาวด้วย ช่วงนั้นนาวกำลังฟังเพลงร็อก แต่เราไม่ยอมชอบคนเดียว เลยบอกให้มึงชอบเหมือนกูด้วย" โตพูดจบก็หันไปหัวเราะกับเพื่อนร่วมวง
"เวลาทำเพลงส่วนใหญ่จะเริ่มจากโตเล่นกีต้าร์ แต่งเนื้อเพลงมาก่อน แล้วเราจะคุยกันว่าเพลงนี้ใครจะเป็นคนคุม เราก็แบ่งหน้าที่กัน อย่างเพลงนี้ผมเป็นโปรดิวเซอร์ บางเพลงเราทำด้วยกัน หรือจะหาคนอื่นเข้ามาช่วย เราไม่ได้มีหน้าที่ตายตัว" นาวเสริม
"อีกเรื่องที่หลายคนยังไม่รู้ว่าชื่อวงเรามีตัว r 3 ตัว เพราะตอนแรกเราคิดไว้ว่าจะมีสมาชิก 3 คน" โตพูดแม้วันนี้พวกเขาจะยังไม่มีสมาชิกคนที่สาม แต่ทั้งสองคนต่างก็แบ่งหน้าที่ในวงได้เป็นอย่างดี
ตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ปีที่ก้าวมาสู่การเป็นศิลปิน พวกเขาต่างก็มีหลายสิ่งที่ต้องปรับตัว จากเดิมที่นาวเป็นคนนิ่งๆ เงียบๆ เขาก็พยายามยิ้มมากขึ้น เป็นมิตรมากขึ้น คุยเล่นกับแฟนๆ มากขึ้น หรือโตที่ดูสนุกสนานเองก็ต้องมีช่วงเวลาที่หลบหลีกผู้คนเพื่อพักผ่อนเช่นเดียวกัน
นาวเล่าถึงมุมมองที่เปลี่ยนไปเมื่อได้มาเป็นศิลปินว่า "ก่อนหน้านี้เรามองเห็นแค่ความเท่ของศิลปิน เวลาที่เขายืนอยู่บนเวที แต่เราไม่รู้เบื้องหลังว่าแต่ละคนต้องผ่านอะไรมาบ้าง ต้องพยายามสร้างสรรค์งานแค่ไหนกว่าที่จะถูกผู้ฟังยอมรับ พอมาทำงานจริงๆ มันก็เท่อย่างที่คิดนะครับ แต่มันก็มีมิติอื่นๆ ที่เราต้องแลกด้่วย ยกตัวอย่างจากเมื่อก่อนที่ผมจะไม่ยอมนอนดึกเลย แต่เพลงล่าสุด Save Me ที่ผมไม่ได้เซฟจนต้องทำใหม่ เลยต้องอดนอนเพื่อทำให้เสร็จเหมือนกัน"
เสียงหัวเราะดังขึ้นทั่วห้องทันทีที่นาวพูดจบ จากวันแรกที่เริ่มทำเพลงจนถึงวันนี้ พวกเขายังทำเพลงในแบบที่ตัวเองชอบ ขณะเดียวกันก็เรียนรู้กลุ่มผู้ฟังเหมือนกันว่า ตอนนี้พวกเขากำลังมีความสนใจแบบไหน
"เวลาทำเพลงเราไม่ได้คุยแค่ว่าเราชอบสิ่งนี้ แล้วเราจะทำสิ่งนี้ เพราะเรามีทีมงาน มีคนอื่นที่ต้องรับผิดชอบ เราจะคุยกันว่า ทาร์เก็ตของเราคือใคร ต้องดูหลังบ้านว่า คนอายุเท่านี้เขาชอบทำอะไร เขาอยู่ที่ไหน เรามองมันเป็นธุรกิจอย่างหนึ่ง คือ เราขายงานศิลปะ แต่เราต้องขายยังไง คนที่รักงานศิลปะถึงจะเห็น ขณะเดียวกัน เราต้องบาลานซ์ระหว่างความชอบของเรากับสิ่งที่ตลาดต้องการด้วย เราได้ทำสิ่งที่ชอบ แล้วบริษัทได้กำไรไหม หรือถ้าเราได้กำไรมาก แต่เราเกลียดตัวเองที่ทำแบบนี้ไหม" โตบอกกับเราด้วยท่าทีจริงจัง ขณะที่นาวเองก็พยักหน้าเห็นด้วย
"เป็นนกแล้วกันครับ เพราะนกเป็นสิ่งมีชีวิตที่ค่อนข้างอิสระ อยากบินไปไหนก็ได้ไป คล้ายๆ กับตัวเราที่อยากทำอะไรก็ทำ อย่างตอนเรียนปีหนึ่งก็ไปขอเขาฝึกงานเลย เพื่อที่จะได้รู้ว่าถ้าเราจบมาทำงานนี้ ชีวิตเราจะเป็นประมาณไหน สรุปว่าตัวเองไม่ชอบ หลังจากนั้นก็ทำงานอิสระมาโดยตลอด ทั้งเป็นช่างภาพและศิลปิน"
"จริงๆ มันยากที่จะตอบเหมือนกันนะ เพราะผมรู้สึกว่าตัวเองไม่เป็นอะไรเลย การที่ผมมาทำเพลงตรงนี้ มันก็เป็นหนึ่งในการหาคำตอบเหมือนกันว่าจริงๆ แล้วเราคืออะไร สิ่งต่างๆ ในโลกนี้ที่ดูมั่นคง แต่บางครั้งก็ดูจะไม่สมเหตุสมผลเอาซะเลย" โตบอกกับเรา
16154 VIEWS |
กองบรรณาธิการที่กำลังใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน ชอบคุยกับผู้คน ท้องฟ้า และเสียงดนตรี เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการฟังเพลง ที่บางทีก็ปล่อยให้เพลงฟังเรา
ที่ปรึกษาทีม happening shop, เจ้าของเพจเฟซบุ๊กและหนังสือ 'ญี่ปุ่นอุ่นอุ่น', นักเขียน ช่างภาพโฟโต้บุ๊ก 'Nagasaki Light' และไกด์บุ๊ก 'Kagawa Memories' นอกจากภาพถ่ายและงานเขียน สิ่งที่เธอสนใจเป็นพิเศษคือการนั่งสมาธิและการโปรยมุขไม่ขำ