Tanpopo: จากเด็กสาวที่ไม่ชอบเรียน กพอ. สู่หญิงสาวที่ลาออกจากงานเพื่อมาทำแบรนด์ปักผ้า

    ภายในห้องพักของ เจน-สุดาภา เคารพไทย เต็มไปด้วยข้าวของมากมายที่เธอใช้ทำแบรนด์ปักผ้า Tanpopo タンポポ (ทันโปโปะ) ทั้งผ้า จักรเย็บผ้า สะดึง และด้ายสารพัดสีที่เก็บในกล่องอย่างเป็นระเบียบ มุมหนึ่งของห้อง เธอจัดโต๊ะทำงานให้กลายเป็นแกลเลอรีเล็กๆ แขวนผลงานปักผ้าที่เธอออกแบบลวดลาย แล้วค่อยๆ ใช้เข็มปักขึ้นลงด้วยเทคนิคต่างๆ จนได้ลายเส้นการปักผ้าที่บ่งบอกสไตล์ของตัวเอง 
    งานปักของเจนเต็มไปด้วยความสดใส ผ่านการเลือกใช้ด้ายสีสด และลวดลายธรรมชาติทั้ง ใบไม้ ดอกไม้โดยเฉพาะดอกป๊อปปี้สีแดง ที่ปักบ่อยจนกลายเป็นคาแรคเตอร์ไปแล้ว เราชี้ถามเธอว่างานชิ้นนี้เจนใช้เวลาปักกี่วัน เจนยิ้มกว้างก่อนตอบว่าวันเดียว ฟังแล้วดูเหมือนว่างานปักนั่นง่าย แต่เรารู้ดีว่าไม่ใช่ กว่าเจนจะปักผ้าจนเก่ง เธอโดนเข็มแทงมือมานับไม่ถ้วน (และยังคงโดนอยู่) ผ่านการทุ่มเวลาในแต่ละวันมานั่งปักผ้า เพื่อฝึกฝนตัวเองสม่ำเสมอมานานหลายปี จนวันหนึ่งความพยายามก็ผลิบานเป็นแบรนด์ปักผ้าที่ขายดีจนผลิตแทบไม่ทัน
ทันโปโปะ ดอกไม้แห่งสุข
    เจนเล่าให้ฟังว่า แบรนด์ Tanpopo タンポポ มีจุดเริ่มต้นจากความชอบงานประดิษฐ์และวาดรูป ทำให้ตอนเรียนมหาวิทยาลัยศิลปากร เธอหารายได้พิเศษด้วยการทำของขาย ทั้งเสื้อ และกระเป๋าผ้า ผ่านเทคนิคมัดย้อม ก่อนจะปักลายเล็กๆ ลงไป ซึ่งมักเป็นลายธรรมชาติ ดอกไม้ ใบไม้ ผลไม้ โดยใช้การปักขึ้นลงแบบง่ายๆ 
    "เราลองไปเรื่อยๆ มัดย้อมบ้าง เย็บต่างหูผ้าสักหลาดบ้าง พอลองหลายๆ อย่าง ก็มาจบที่ปักผ้า ตอนแรกก็เริ่มจากภาพเล็กๆ ปักขึ้นปักลงเป็นรูปแตงโม ยังไม่มีเทคนิคอะไรเลย แต่เรารู้สึกว่างานปักน่ารักดีนะ เลยลองไปเรียนที่เขาสอนพวกเทคนิคต่างๆ เพราะปกติเราหาดูจากอินเทอร์เน็ต เมื่อลองทำตามก็มีบางเทคนิคที่ไม่รู้เรื่อง เลยรู้สึกว่าไปเรียนดีกว่าจะได้ถามตัวต่อตัวเลย เพราะเทคนิคการปักมันมีเยอะมาก"

    เมื่อปักผ้าจนชำนาญขึ้น เจนหยิบเพจเฟซบุ๊ก Tanpopo タンポポ ที่เปิดทิ้งร้างไว้ตั้งแต่สมัยเรียน ไม่ค่อยลงอะไรเท่าไร มาใช้เป็นชื่อแบรนด์ปักผ้า ที่เธอทำมือเองทุกขั้นตอน ทั้งเป็นแอดมินเพจ คนปัก คนเย็บ คนแพ็คสินค้า คนส่งสินค้า 

    "ชื่อแบรนด์มาจากนางเอกมังงะญี่ปุ่น ชื่อทันโปโปะ (หัวเราะ) เราชอบ มันคือชื่อภาษาญี่ปุ่นของดอกแดนดิไลออน (Dandelion) เป็นดอกไม้ที่น่ารักมาก เราชอบดอกไม้อยู่แล้ว ก็ไปศึกษาความหมายของดอกไม้ เรารู้สึกว่าแดนดิไลออนความหมายดีนะ หมายถึงความสุข ความร่าเริง และความหวัง ตัวลูกเล่นของดอกไม้ มันตีความได้อีก มันเป็นดอกกลมๆ ฟูๆ ใช่ไหม เวลาเป่าแล้วมันกระจาย เราก็คิดกิมมิคที่เป็นกลีบดอกไม้กระจาย อยากให้ผลงานของเรากระจายไปไกลให้คนรู้จัก"

    จากวันนั้น Tanpopo ก็กระจายความสุขไปไกลอย่างที่เธอหวัง มีออเดอร์เข้ามาเยอะจนเธอเริ่มล้า ทำให้เจนตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาทำแบรนด์อย่างจริงจัง 
    "เจนทำงานเป็นกราฟิกดีไซน์เนอร์อยู่เอเจนซี่ ต้องรับออเดอร์งานปัก รู้สึกว่ามันเหนื่อยมากเลยนะ กว่าจะทำงานประจำเสร็จ ถึงบ้าน 2-3 ทุ่ม เสาร์-อาทิตย์ วันหยุดก็อยากพัก ไม่อยากทำอะไรเลย ซึ่งมันทำให้พัฒนาการด้านการปักช้ามาก งานปักต้องทำเรื่อยๆ ไม่หยุด ถ้าหยุดปุ๊บมันจะต่อไม่ติด มันลืมกันได้ ประกอบกับเราทำงานมา 1 ปี รู้สึกคิดงานไม่ออกแล้ว เราไม่มีประโยชน์ต่อการออกแบบของบริษัทเลย ก็คงถึงเวลาแล้วแหละ อยู่ไปก็คิดงานไม่ออกอยู่ดี" 
    การลาออกจากงานประจำ ส่งผลดีต่อการทำแบรนด์ เจนมีเวลาเต็มที่ที่จะออกแบบลวดลายต่างๆ นอกจากทำกระเป๋าผ้า กระเป๋าใส่เหรียญ และต่างหูวางขายแล้ว ยังได้พัฒนาฝีมือปักลายต่างๆ ตามความชอบและความสนใจ อย่างล่าสุดเจนกำลังปักผ้าลายภาพยนตร์อนิเมะของญี่ปุ่นเรื่อง Howl's Moving Castle ซึ่งเราว่าเมื่อปักเสร็จ ต้องมีคนติดต่อมาขอซื้อแน่นอน
    นอกจากความรักในการปักผ้าแล้ว เจนยังไม่ทิ้งความชอบวาดรูป เธอลงมือออกแบบคาแรกเตอร์ให้กลายเป็นมาสคอตของแบรนด์ Tanpopo ซึ่งสาวน้อยคนนี้ก็กลายเป็นภาพจำของแบรนด์ "เจนปรับมาหลายลายเส้นนะ กว่าจะมาถึงน้องตัวนี้ น้องทันโปโปะก็จะใส่หมวกสีแดง เพราะเราชอบใส่หมวกสีแดง เราใส่หมวกอื่นๆ ไม่รอดเลยสักใบ ยกเว้นหมวกเบเร่ต์สีแดง รู้สึกว่าใส่แล้วมั่นใจขึ้น ก็ใส่บ่อยจนเป็นภาพจำ แต่ตอนนั้นผมสั้นอยู่ ตอนนี้ผมยาวแล้ว คนก็เริ่มไม่แน่ใจว่านี่คนวาดรูปหรือเปล่า" เจนเล่าให้ฟังแล้วก็อดขำไม่ได้ 
    น้องทันโปโปะจะปรากฏอยู่ในสินค้าที่เป็นเครื่องเขียน เช่น Masking Tape,  Memo Pad, Stamp Tape และโปสการ์ด แต่เจนก็ลองปักผ้าลายน้องทันโปโปะออกมา ซึ่งดูน่ารักมากเหมือนกัน "เราจะผลิตอะไรที่มันหลายราคา ลูกค้าจะได้มีตัวเลือก ลูกค้าจะรู้ว่า ทำไมคิดราคานี้แพง เขาจะเห็นภาพที่สุด เพราะถ้าขายงานปักอย่างเดียว เขาจะไม่รู้คุณค่าของมันเท่าไรว่าทำไมแพง มันก็ดูง่ายๆ นะ เราเคยออกแบบลายแล้วปริ้นต์เป็นผ้ามาทำกระเป๋าใส่เหรียญ ขายถูกมาก แต่ไม่มีใครซื้อเลย เขายอมซื้องานปัก คิดว่าพอทำออกมา เขามองว่ามันเหมือนคนอื่น ไม่แตกต่าง ก็เลยไม่ยอมเสียเงิน ขนาดมันถูกมากแล้วนะ เราก็เลยต้องทำให้ลูกค้าเห็นความแตกต่างให้ได้ แถมพอคนมาเรียนเวิร์กช็อปปักผ้า ก็ไม่ต่อราคาแล้ว หรือบางคน ตัดสินใจไม่ทำเองแล้ว จากตอนแรกที่ตั้งใจจะทำให้เพื่อน ก็จ้างครูเจนดีกว่า ไม่ต่อราคาด้วย เพราะพอมีเวิร์กช็อปจะทำให้คนเข้าใจว่าปักผ้ามันยากนะ"
วันที่ทันโปโปะกระจายความสุขไปทั่ว
    อีกบทบาทหนึ่งของเจน คือการเป็นครูสอนปักผ้า ซึ่งในแต่ละเดือนเธอเปิดคอร์สสอนหลายคลาส เช่น Coin purse (สอนปักมือทำกระเป๋าใส่เหรียญ) Embroidery (สอนปักมือด้วยเทคนิคต่างๆ 9 แบบ) และ Tote Bag  (สอนปักมือทำกระเป๋าผ้า) แน่นอนว่าเต็มเร็วมาก เราเองก็เกือบจองไม่ทัน "บางช่วงก็จะเต็มเร็วมากจนตกใจ อย่างช่วงเทศกาลฮาโลวีน คริสต์มาส เราจะออกแบบลายพิเศษ เพื่อให้เลือกว่าจะเรียนปักลายนี้ไหม ซึ่งคนจะชอบมากกว่า ตอนออกแบบสนุกนะ มันจะมีสิ่งของน่ารักๆ ของแต่ละเทศกาลอยู่ เอาออกมาเล่นได้เยอะเลย เราก็ดึงมาใช้ พอเราออกแบบเสร็จแล้ว ตอนปักก็รู้สึกว่า อยากให้มันเสร็จไวๆ มันจะได้เห็นภาพสักที เวลางานเสร็จก็หายเหนื่อยเลย" เจนพูดไปยิ้มไป เรามองเห็นประกายระยิบระยับในแววตาเธอ ดูเหมือนว่าเกสรความสุขของดอกทันโปโปะจะกระจายเข้าไปในหัวใจผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว
    "ล่าสุดไปออกบูทที่งานประกอบร่างสร้างเส้น มีโมเมนต์น่ารักมาก นักเรียนที่เคยเรียนเดินมาส่งการบ้าน เพราะเขามาออกบูทด้วย แบบ 'คุณครูขา เอาการบ้านมาส่งค่ะ' โอ้โห งานนั้นคือนานมาก น่าจะประมาณ 2 ปีได้แล้ว (หัวเราะ) ตอนแรกไม่เคยคิดว่าจะได้เป็นครูเลย รู้สึกว่าการเป็นครูเหนื่อยมากเลยนะ เพราะไม่รู้ว่าจะเจอนักเรียนแบบไหนบ้าง พอตอนนี้ที่ได้เป็นครู รู้สึกดีมากนะ ที่เราได้เป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่น เรามีความสุขมากเลย บางคนเห็นเราเป็นตัวอย่างว่า งานปักไม่ได้เป็นงานของคนแก่นะ วัยรุ่นก็ทำได้ มันอยู่ที่เราคิดและออกแบบ จะให้ดูน่ารัก ดูหรู หรือดูเป็นผู้ใหญ่ มันไม่ใช่งานที่คุณย่านั่งปัก แล้วมีกล่องคุกกี้ที่ใส่ด้ายแบบเดิมแล้ว"
    หากคุณไปเดินตลาดงานศิลปะ จะเห็นว่างานปักผ้าเริ่มมีพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว แต่เจนก็มองว่า ยังมีพื้นที่ให้คนชอบงานปักเข้ามาทำแบรนด์อีกเยอะ "งานปักตอนนี้ถือว่าคนยังรู้จักน้อยมากในไทย เพราะส่วนใหญ่ จะเป็นงานศิลปะที่เกี่ยวกับงานวาด ซึ่งเริ่มเป็นที่นิยม แต่พวกงานศิลปะสาขาอื่นๆ ยังไม่ได้บูมขนาดนั้น" 
    "ตอนนี้คนปักเยอะขึ้นนะ เราก็ตามคนปักหลายๆ คนเหมือนกัน ส่วนใหญ่ก็จะทำงานประจำ แล้วปักผ้าไปด้วย มีลูกศิษย์ที่เคยมาเรียนปักกับเรา ก็ปักจริงจังเหมือนกัน เราตามงานลูกศิษย์อยู่ ซึ่งดีจัง ยังมีคนที่ทำต่อไปไม่หยุด แล้วทำออกมาได้ดีมาก เป็นลายเส้นของตัวเองไปเลย ภูมิใจ ดีใจกับลูกศิษย์"
    ไม่ใช่แค่การวาดรูปที่ศิลปินมีลายเส้นเป็นของตัวเองเท่านั้น แต่งานปักผ้า ศิลปินแต่ละคนย่อมมีลายเส้นเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองเช่นกัน "จากที่เจนตามนักปัก ลายเส้นไปคนละทางหมดเลย อย่าคิดว่าการวาดจะมีลายเส้นเป็นเอกลักษณ์อย่างเดียว งานปักก็มีลายเส้นของตัวเอง ถ้าปักไปเรื่อยๆ บางคนจะพยายามมองหาจุดแตกต่าง ถ้าคิดไม่ออก ว่าจะเป็นลายเส้นอะไร ก็จะอิงตามดอกไม้ หนังสือปักของญี่ปุ่นไปก่อนก็ไม่ผิด แต่ถ้าเราสามารถสร้างความแตกต่างได้ จะรู้สึกว่างานเราไม่เหมือนคนอื่น เราจะมีความภูมิใจในงานตัวเองมากขึ้น แล้วการใช้สีของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน มีคนเคยมองงานปักของเจน แล้วบอกว่าของ Tanpopo ใช่ไหม ชิ้นนี้ของ Tanpopo หรือเปล่า จะดีใจจังเลย คนเห็นว่าเรามีลายเส้นเป็นของตัวเองแล้วคนจำได้" เจนยิ้มกว้าง 
    ก้าวต่อไปของเจน คืออยากพาแบรนด์ Tanpopo タンポポ ไปออกบูทที่ต่างประเทศ และสร้างฐานลูกค้าในตลาดไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์ เพราะการได้ก้าวเดินออกไป ก็เท่ากับเปิดประสบการณ์ให้เธอเข้าไปพูดคุยกับนักปักชาติอื่นๆ 
    "เราต้องรีบหาตัวเองให้เจอ งานปักเรา เราชอบมันตรงไหนอยากให้มันโตไปแบบไหน อยากให้มันมีลายเส้นแบบไหน ต้องวางแผนกว้างมาก พอเป็นสไตล์เราปุ๊บ แล้วคนจำได้ เป็นที่ยอมรับเมื่อไร จะมีคนเข้ามาติดต่อขอคอลเล็บด้วยเอง หลักๆ คือต้องขยัน อดทน ต่อให้รู้สึกท้อ ทำออกมาแล้วขายไม่ได้ ก็ต้องทำไปเรื่อยๆ อย่าหยุดเด็ดขาด ถ้าเราหยุดปุ๊บ เราไม่รู้ว่าจะมีใครมาแซงเราเมื่อไรก็ได้" เจนให้กำลังใจทุกคนที่กำลังเริ่มต้นทำแบรนด์
    ก่อนจากกันเราถามเจนว่า ตอนยังเป็นเด็กหญิงเจน เธอชอบวิชา กพอ. (การงานพื้นฐานอาชีพ) ที่ต้องเรียนปักผ้าไหม เจนส่ายหน้า บอกว่าไม่ชอบ "ตอนเด็กๆ งานปักมันไม่น่ารักแบบนี้ เพราะว่าเป็นการซ่อมเสื้อผ้า ปะผ้า เนาผ้า ชุนป้า ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ชอบ ซ่อมเสื้อผ้าที่เป็นรู เอาผ้าอีกผืนมาปักแล้วก็เย็บ ซึ่งมันไม่น่ารัก เลยไม่ชอบ" 
    จากความรู้สึกไม่ชอบงานปักในวัยเด็ก คงเป็นหนึ่งอีกเหตุผลที่เธอตั้งใจออกแบบงานปักที่สอนทุกคลาสให้น่ารัก สดใส เชื้อเชิญให้ทุกคนมาหลงเรียน แล้วมีความสุขกับการปักผ้าตามแบบฉบับ Tanpopo ด้วยกัน 

    คลิกเพื่อชมสินค้าน่ารักๆ ของแบรนด์ Tanpopo ได้ที่นี่ Tanpopo 

กมลพร สุนทรสีมะ

อดีตเติบโตมากับกองบรรณาธิการนิตยสารสำหรับเด็กเเละครอบครัว เชื่อมั่นในพลังมหัศจรรย์ของเด็กๆ ชอบดอกไม้ พืชใบเขียว มีหอศิลป์เป็นที่ชุบใจ ติดชาเย็นหวานน้อย พอๆ กับกลิ่นกระดาษ อนาคตอยากเลี้ยงลาบาดอร์ สีน้ำตาล

จรูญรัฐ วิธูสุวรรณ

อดีตช่างภาพนิตยสาร มาเปิดบริษัทของตัวเองได้สักพัก ยังสนุกกับงานถ่ายภาพอยู่เสมอ โดยเฉพาะการถ่ายภาพผู้คน ตอนว่างจะชอบหนีไปเที่ยวตามที่ต่างๆ แก้เบื่อด้วยการถ่ายสถานที่และสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ