Mangmoom Book สำนักพิมพ์เล็กๆ ที่ตั้งใจทำหนังสือเด็ก เพื่อสื่อประเด็นทางสังคม

    เมื่อปี 2562 ไต้หวันตีพิมพ์นิทานภาพสำหรับเด็กเล่มหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศในเด็กโดยคนรู้จัก ซึ่งกลายเป็นนิทานที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ขนาดได้รับรางวัล หนังสือที่ร้านหนังสือทั่วไต้หวันอยากให้ผู้ปกครองอ่านมากที่สุดประจำปี 2562 
    เราคงไม่รู้จักนิทานเล่มนี้เลย ถ้าสำนักพิมพ์เล็กๆ แมงมุมบุ๊ก (Mangmoom Book) ที่ก่อตั้งโดย นักแปลนิยายจีนเบอร์ต้นๆ ของไทย คือ เบียร์-อนุรักษ์ กิจไพบูลทวี และภรรยา ก้อย-พัณณ์ชิตา ธนวีร์กิตติโชติ ไม่ซื้อลิขสิทธิ์ โดยทางสำนักพิมพ์จัดพิมพ์ออกมาเป็นนิทานฉบับภาษาไทยในชื่อ ผีเสื้อของตั๋วตั่ว ซึ่งมีคุณหมอหลายท่านนำมารีวิว เช่น คุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ หมอมิน-เบญจพร ตันตสูติ จากเพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา หรือ เม-เมริษา ยอดมณฑป จากเพจตามใจนักจิตวิทยา ส่งผลให้หลายๆ ครอบครัว หยิบหนังสือเล่มนี้ไปอ่านกับลูก เพื่อสร้างเกาะคุ้มกันให้ลูกจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ
    เมื่อเราลองไล่เรียงดูก็พบว่า นอกจากนิทานผีเสื้อของตั๋วตั่ว แมงมุมบุ๊กยังตีพิมพ์หนังสืออีกหลายเล่ม ซึ่งเนื้อหาภายในเต็มเปี่ยมไปด้วยประเด็นต่างๆ ที่เมืองไทยยังไม่ค่อยพูดถึงมากนัก แม้จะเป็นการลงทุนผลิตหนังสือที่มีความเสี่ยง แต่แมงมุมบุ๊กก็มองเห็นแง่ความงดงาม แล้วตั้งปรัชญาการทำหนังสือด้วยความรักว่า 'คัดสรรเฉพาะหนังสือมีประโยชน์ อ่านสนุก และสร้างความเปลี่ยนแปลง'
ถักทอใยแมงมุม
    "ผมเป็นนักแปล แปลหนังสือมาพักใหญ่แล้วค่อนข้างติดตลาดอยู่ระดับหนึ่ง เรารู้สึกว่าเราพอมีต้นทุนนิดหน่อย ในการทำสิ่งที่เราเคยอกหัก ใช้คำนี้ 'อกหัก' เพราะว่าเราเป็นนักแปลที่ชอบหนังสือ พอมีนักเขียนที่เราชอบ สำนักพิมพ์ทำไม่ดีเท่าที่เราคิดว่าจะไปได้ พอมีโอกาสมีศักยภาพพอที่จะทำเองได้เราก็หาญกล้า เอาสิ่งที่เคยประสบความล้มเหลวมาลองทำเอง" เบียร์พูดถึงจุดเริ่มต้นของการทำสำนักพิมพ์แมงมุมบุ๊ก
    เขาเล่าให้ฟังว่าที่เลือกใช้ 'แมงมุม' มาเป็นชื่อสำนักพิมพ์มีอยู่ด้วยกัน 3 เหตุผล หนึ่งคือ มาจากสไปเดอร์แมนซูเปอร์ฮีโร่ที่เบียร์ชอบ สองคือ สไปเดอร์แมนเป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่ยากจนแล้วก็ทำเพื่อชุมชน และสามคือ ขณะที่กำลังแปลหนังสือของแจ็ค หม่า เขาเจอไอเดียทางธุรกิจอย่างหนึ่งที่เรียกว่า สภาพแวดล้อมในเชิงนิเวศทางธุรกิจให้ธุรกิจหนังสือมาอยู่แพลทฟอร์มเดียวกัน นิเวศคือทุกฝ่ายต่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน สนับสนุนจุนเจือเติบโตไปด้วยกันแทนที่จะมาแข่งขัน ซึ่งแมงมุมก็ถือเป็นสัตว์นิเวศชนิดหนึ่งที่มีใยแมงมุมเป็นเครือข่าย แถมแมงมุมยังอยู่ตามบ้านเป็นสัตว์ที่มีประโยชน์ เลยทำให้เขาปิ้งไอเดียตั้งชื่อสำนักพิมพ์ว่า แมงมุมบุ๊ก ภายใต้ชื่อบริษัทว่า แมงมุม คัลเจอร์ เพราะอยากทำงานในเชิงวัฒนธรรมมากกว่าเป็นตัวหนังสืออย่างเดียว
    ผลงานเล่มแรกที่แมงมุมบุ๊ก เข็นออกมา คือนิยายของ คุณหมอโหวเหวินหย่ง วิสัญญีแพทย์ชาวไต้หวันที่มีแฟนๆ นักอ่านในไต้หวันจำนวนมาก และเบียร์เองก็เป็นหนึ่งในนั้น เขาจึงหยิบ ลวง (Souls Embracing) นิยายที่สอดแทรกความคิดเรื่อง #MeToo หรือวลีที่ใช้ในโซเชียลมีเดียเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ของผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศของคุณหมอที่เขาเคยแปลมาก่อน มาปัดฝุ่นใหม่หลังหมดสัญญากับสำนักพิมพ์เดิม เขาเป็นผู้แปล ขัดเกลา ตรวจแก้ไขอย่างประณีต อีกครั้ง จนกลายเป็นหนังสือเล่มแรกของสำนักพิมพ์
    หลังจากนั้นปีต่อๆ มา เขาก็ขนนิยายของคุณหมอโหวเหวินหย่ง อีก 2 เล่ม ออกมาตามลำดับ คือ แสบ Dangerous Mind นิยายที่กระแทกปัญหาของระบบการศึกษา และ เหยื่อ The Hospital นิยายที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้วงการสาธารณสุขไต้หวัน โดยได้รับทุนสนับสนุนส่วนหนึ่ง จากกระทรวงวัฒนธรรมของไต้หวัน (Ministry of Culture, Republic of China (Taiwan))
    "ตั้งแต่เปลี่ยนรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมไต้หวัน คนที่ขึ้นมาใหม่เป็นนักเขียน (หลงอิ้งไถ) เขาก็ให้ความสนใจสนับสนุนทุนการพิมพ์และการแปลมากขึ้น จริงๆ ทุนตัวนี้มีมานานแล้วแต่ว่าส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในสายวิชาการ เขาก็ปรับมาให้แปลอะไรก็ได้ เช่น วรรณกรรม ตราบใดที่เป็นนักเขียนของไต้หวัน เป็นงานออริจินัลของเขา เราก็ยื่นขอทุนได้ บังเอิญนักเขียนของเราเป็นนักเขียนที่เป็นที่รู้จัก เราเลยได้ทุน ตอนนั้นยื่นไป 2 เล่ม ก็ได้ทุนทั้ง 2 เล่ม"
    แม้จะได้ทุนสนับสนุนมาช่วยด้านการซื้อลิขสิทธิ์และค่าพิมพ์ แต่เบียร์ยอมรับว่าการตีพิมพ์หนังสือวรรณกรรม ท่ามกลางตลาดนิยายจีนในตอนนั้นที่เป็นนิยายกำลังภายใน หรือปัจจุบันเป็นตลาดนิยายวายค่อนข้างเหนื่อย เพราะกระแสหนังสือยังไม่มาทางวรรณกรรมเลย แต่เขาก็ทำหนังสือทั้ง 3 เล่มของคุณหมอโหวเหวินหย่งด้วยใจรัก 
    "เราชอบสไปเดอร์แมน แต่ก็ยังถูกคำสาปของซูเปอร์ฮีโร่ตัวนี้ ทำให้เป็นสำนักพิมพ์ที่ยากจนต่อไป" แม้ประโยคอาจจะดูขบขัน แต่เบียร์พูดออกมาอย่างจริงจังจนเราสัมผัสได้ว่า คำสาปของสไปเดอร์แมน ซูเปอร์ฮีโร่ที่ชอบช่วยสังคมนี่แหละ ทำให้ใยแมงมุมของพวกเขา พยายามขยายเครือข่ายให้ผู้อ่านได้รู้จักหนังสือหน้าใหม่ในร้านหนังสือมากขึ้น  
    หนึ่งในนั้นคือการถักทอเส้นใยของแมงมุมเด็กที่ช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงในนาม 'แมงมุมคิดส์'
แมงมุมเด็ก ...แมงมุมคิดส์
    เมื่อเริ่มต้นคุยถึงแมงมุมคิดส์ เบียร์ยกให้สาวคนรักเป็นคนเล่าเรื่องราวให้ฟัง
    ก้อยอยู่เบื้องหลังของแมงมุมเสมอ เธอเป็นทั้งคู่คิดและกราฟิกดีไซน์ประจำสำนักพิมพ์ ซึ่งพอแมงมุมเริ่มทำแมงมุมคิดส์ ก้อยจึงเป็นคนเลือกว่าจะซื้อลิขสิทธิ์นิทานเล่มไหน ขณะเดียวกันก็เป็นคนแปลนิทานเหล่านี้เองด้วย  
    "ก้อยชอบหนังสือเด็กชอบทำหนังสือมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ตอนที่เรียนปริญญาตรีก็มีคนให้จัดหน้าหนังสือเด็กบ้าง เรารู้สึกว่าเวลาที่ทำหนังสือเด็กมันมีความสุขตลอดเลย ไม่มีตรงไหนที่ไม่มีความสุข ทั้งถ้อยคำ รูปภาพ มันชุบชูใจเราดี เลยสนใจหนังสือเด็กตั้งแต่ต้น แต่ตอนแรก แมงมุมทำนิยายก่อน แล้วเราก็ไม่มีเงินเลยทำตรงนั้น พอมีเงินนิดหนึ่งก็หันมาทำหนังสือเด็กตามที่ก้อยชอบ" เธอพูดไปยิ้มไปพลางหยิบนิทาน ม้าสีส้ม ซึ่งเหมาะกับเด็กอายุ 3-7 ปี มาเปิดให้เราดู 
    "ก้อยชอบรูปก่อนเลย รูปอะไรแบบนี้ที่มันไม่ตีกรอบ วงกลมเป็นวงกลม สามเหลี่ยมเป็นสามเหลี่ยม ตาเป็นลูกกะตา ชอบอะไรที่เลอะเทอะ ระบายสีด้วยเทคนิคต่างๆ ก้อยถึงอยากทำ เนี่ยมันจะเลอะเทอะแน่ๆ ถ้ารูปโดนใจปุ๊บก็จะถามพี่เบียร์ว่าเขาเล่าอะไร ถ้าสารที่นำเสนอยิ่งดีเราก็ยิ่งอยากทำ"
ม้าสีส้ม นิทานที่เล่าว่าเราเป็นเพื่อนกันได้ แม้ว่าจะมีสีผิว หน้าตา รูปร่าง ที่ไม่เหมือนกัน

    ก้อยหันมาเปิดนิทานอีกเล่ม ข้างหน้ามีรถอะไร เล่มนี้มีเรื่องราวแสนพิเศษเพราะมีรถมากมายหลายชนิด แถมอาจารย์หลิวเจินซิ่ว นักวาดชาวไต้หวันยังวาดรถไทยๆ ใส่เข้าไปด้วย "ก้อยได้คุยกับนักวาดให้วาดรถไทยๆ ใส่ไปด้วย เขาก็ถอดรถของเขาออกแล้ววาดรถของไทยใส่ลงไป ข้างในจะมีรถตุ๊กตุ๊ก รถไปรษณีย์ไทย และรถเมล์" ซึ่งเธอชอบลายละเอียดของหนังสือเล่มนี้มาก เช่น ท้องฟ้าที่เปลี่ยนไปทุกหน้า เป็นต้น

ข้างหน้ามีรถอะไร
    ก้อยยอมรับว่าช่วงแรกที่นิทานออกไปยังค่อนข้างเงียบ เพราะผู้ปกครองยังไม่รู้จักสำนักพิมพ์ แต่โชคดีที่คุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ และ หมอมิน-เบญจพร ตันตสูติ จากเพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา รีวิวหนังสือให้ ทำให้มีคุณพ่อคุณแม่ตามมาซื้อ 
    "ต้องขอบคุณคุณหมอประเสริฐและคุณหมอมินที่เอาไปอ่านแล้วชอบสารที่อยู่ในนี้ คุณหมอประเสริฐคงถูกใจรูปภาพและสตอรี่ที่ยังไม่มีในตลาดบ้านเรามากนักก็รีวิวให้ พอรีวิวให้ปุ๊บมันบูมมากค่ะ จากนั้นก็หมดเลย ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะทำหนังสือเด็ก พอเราเห็นกระแสตอบรับ เห็นพ่อแม่ผู้ปกครองหานิทานที่เล่าเรื่องราวอื่นๆ ให้ลูกได้อ่านบ้าง เราเลยมีกำลังใจทำเล่มอื่นๆ ต่อไป" 
    นิทานของแมงมุมคิดส์มีความน่าสนใจตรงที่พิมพ์ปกแข็งทุกเล่ม ซึ่งน่าจะเพิ่มต้นทุนการพิมพ์ระดับหนึ่ง แต่ก้อยมองว่าการพิมพ์ปกแข็ง ให้คุณค่าพิเศษอย่างหนึ่งที่ทำให้เธอประทับใจมาก 
    "ก้อยรู้สึกว่าปกแข็งมันมีคุณค่า คือเราได้ผลตอบรับมาจากคุณพ่อคนหนึ่ง เขาบอกว่า หนังสือปกแข็งดีนะ ตอนที่เขาอ่านนิทานกับลูกก่อนนอน ถ้าเกิดเป็นหนังสือปกอ่อน มันเปิดแล้วจะปิดใช่ไหมคะ แต่ถ้าเป็นปกแข็ง เราสามารถเปิดแบบนี้ (ก้อยทำท่าให้ดู) จับแค่มือเดียว อีกมือหนึ่งกอดลูก มันรู้สึกว่า เป็นโมเมนต์น่ารักมากเลยนะ นี่คือข้อดีของหนังสือปกแข็ง พูดแล้วน้ำตาจะไหล" ในดวงตาของเธอไม่มีน้ำตา หากแต่มีรอยยิ้มกว้างปรากฏขึ้น
ติดอาวุธบนปีกของผีเสื้อ
    หลังนิทานของแมงมุมคิดส์ได้ผลตอบรับที่ดี ก้อยและเบียร์ก็มีกำลังใจทำนิทานเล่มใหม่ 
    เบียร์เห็นข่าวหนังสือ ผีเสื้อของตั๋วตั่ว ในเพจรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมไต้หวันที่โพสต์เรื่องการมอบรางวัล Golden Tripod Special Contribution Award ให้กับ ซิ่งเจียฮุ่ย นักเขียนในฐานะนักสิทธิมนุษยชนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเด็กมาตลอด ซึ่งสถานการณ์ในไต้หวันก็คล้ายกับไทย ที่มีสื่อเรื่องการป้องกันการถูกล่วงละเมิดทางเพศในเด็กน้อยมาก คงจะดีไม่น้อยถ้านิทานภาพเล่มนี้เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยติดอาวุธให้เด็กจากการล่วงละเมิดทางเพศในไทยได้เหมือนกัน โดยเฉพาะเมื่อผู้กระทำเป็นคนที่เด็กรู้จัก 
    เบียร์เอ่ยถึงที่มาของหนังสือเล่มนี้ว่า "ในคำนำของผู้เขียน มีหลายอย่างที่เขากล่าวไว้ตรงกับใจเรา เช่น เขากล่าวว่าหนังสือเล่มนี้เกี่ยวข้องกับการถูกคุกคามทางเพศ ซึ่งเขาสังเกตเรื่องนี้มา 10 ปีแล้ว แต่ยังไม่ได้ทำเพราะยังไม่เชี่ยวชาญมากพอ ซึ่ง 10 ปีต่อมา เขาเห็นว่ายังไม่มีใครทำ 'งั้นโอเค ฉันทำเอง' ทำให้เรามานั่งคิดว่า ไทยก็ไม่มีหนังสือแนวนี้เหมือนกัน ส่วนใหญ่มีแต่แนวสารคดี ความรู้ วิทยาศาสตร์ สุขศึกษา แต่ไม่ใช่นิทาน พอมันไม่ใช่นิทาน มันจะไม่มีความละมุนละม่อมกลมกล่อมที่นิทานควรมี"
    เบียร์เล่าต่อด้วยน้ำเสียงเจ็บปวดว่า ในสังคมไทยเต็มไปด้วยข่าวเด็กๆ ถูกล่วงละเมิดทางเพศแทบทุกเดือน ทางไต้หวันก็เหมือนกัน จากสถิติการล่วงละเมิดทางเพศของไต้หวันพบว่า การแจ้งความคดีล่วงละเมิดทางเพศ 64% เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี 95% เกิดขึ้นโดยผู้กระทำที่เป็นคนรู้จัก มีเพียง 5 % เท่านั้นที่ไม่รู้จักคนร้ายเลย 
    "ผมเล่าให้ก้อยฟังเขาก็อิน ถ้าสังเกตงานภาพของแมงมุมในแต่ละเล่ม นี่ไม่ใช่ภาพที่ถูกใจเราแต่แรก แต่สิ่งที่สื่อโดนใจเรายกให้พิเศษ อีกอย่างคือนักวาด (เฉินเจี๋ยฮ่าว) หลังจากช่วยแฟนทำวิทยานิพนธ์ ทำให้ความทรงจำที่เขาถูกล่วงละเมิดทางเพศถูกสะกิดขึ้นมา เขาไปบำบัดแล้วทำหนังสือออกมาเล่มหนึ่ง ทำให้นักเขียนเห็นว่ามีนักวาดที่มีประสบการณ์จึงติดต่อไปว่า 'คุณมาวาดหนังสือให้ฉันไหม' เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้" เรื่องราวของนักวาดจึงเป็นอีกเหตุผลที่สำนักพิมพ์ต้องการทำหนังสือเล่มนี้
    "นักวาดเขาบอกว่า ฉากที่วาดยากที่สุดคือ ฉากกอดเข้าอกเข้าใจ เพราะมันมาจากประสบการณ์ชีวิตที่พ่อแม่ไม่เชื่อ เขาเผชิญปัญหาด้วยตนเองโดยไม่มีใครมากอดเขา เขาจึงไม่รู้ว่าการถูกกอดในเคสแบบนี้ มันรู้สึกยังไง คิดดูว่านักวาดคนหนึ่งวาดความรู้สึกของการถูกปกป้องไม่ได้ มันจะต้องเฮิร์ตขนาดไหน เพราะฉะนั้นเราก็อินไปกับนักเขียนนักวาด เราจึงอยากทำให้เต็มที่ เราตั้งใจแล้วว่าเราอยากให้มันถูกเห็นมากที่สุด"
    ช่วงเวลาที่ทำหนังสือผีเสื้อของตั๋วตั่ว เขานำหนังสือไปปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาและได้รับคำแนะนำว่า ให้ใส่คำเตือนในเนื้อหาที่อาจเป็นทริกเกอร์ เพราะการล่วงละเมิดทางเพศในวัยเด็กเป็นความทรงจำรวดร้าวที่เจ็บปวดอยู่ในหัวใจใครหลายคน นั่นทำให้เขาอยากส่งหนังสือเล่มนี้ไปให้เด็กๆ มากที่สุด ด้วยความเชื่อว่า เปิดอ่าน 1 เล่ม ก็ช่วยเด็กได้ 1 คน 
    พวกเขาจึงจัดกิจกรรม 'ผีเสื้อสัญจร' เพื่อพาผีเสื้อโบยบินไปติดอาวุธให้เด็กๆ ผ่านการชวนผู้อ่านมาอุปถัมภ์หนังสือขั้นต่ำ 10 เล่ม โดยผู้ซื้อสามารถนำหนังสือไปใช้ประโยชน์ได้อย่างอิสระ หลังจำหน่ายได้ครบ 2 กอง (20 เล่ม) จะเป็นสปอนเซอร์ให้สำนักพิมพ์เข้าไปทำกิจกรรมในโรงเรียนได้ 1 โรงเรียน ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จัดโดยทีมงานมืออาชีพ เพื่อให้ความรู้เรื่องการป้องกันตัวจากการล่วงละเมิดทางเพศในเด็ก
    หลังประกาศกิจกรรมในหน้าเพจเฟซบุ๊กก็ได้รับการอุปถัมภ์จากผู้อ่านจำนวนมาก ทำให้โครงการผีเสื้อสัญจรติดต่อโรงเรียน 5 โรงเรียนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เตรียมไว้แล้ว แต่เมื่อติดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้โครงการนี้ต้องชะลอก่อน อย่างไรก็ตามทางสำนักพิมพ์กำลังปรับหาแนวทางใหม่ๆ แล้วยังตั้งเป้าจะขยายกิจกรรมเข้าไปยังโรงเรียนทั่วทุกภูมิภาคในอนาคตด้วย
    "เรามีความเชื่อว่า สารพวกนี้ขอให้เด็กรู้ มีผู้ปกครองเป็นหลักให้ มันเป็นอาวุธที่จะติดตัวเด็กทันที ทำให้ผู้กระทำ โดยเฉพาะเป็นคนใกล้ตัว อาชญากรรมหรือวงจรนี้จะปิดทันที" เบียร์พูดด้วยน้ำเสียงจริงจัง กล่าวถึงความตั้งใจที่จะพาหนังสือไปหยุดวงจรการล่วงละเมิดทางเพศ "หนึ่งคือ เขาขู่เด็กให้ไม่พูดไม่ได้ สอง เด็กรู้ว่า คนนี้กำลังทำสิ่งที่ไม่ดีต่อเขา ถ้าเขารู้สองอย่างนี้ เขาจะไม่กล้าทำอีกแล้ว"
ก้าวต่อไปของแมงมุม
    แมงมุมยังคงมุ่งมั่นผลิตหนังสือรูปแบบใหม่ๆ เข้ามาในวงการหนังสืออย่างต่อเนื่อง เช่น 2 เล่มล่าสุด คือ เสียงปรบมือที่ดังที่สุด นิทานฟุตบอลที่ถ่ายทอดเรื่องราวของมิตรภาพ และอีกเล่มคือวรรณกรรมเยาวชน Becoming A ButterFly การเดินทางของผีเสื้อหลากสี ผลงานของ เม-เมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาจากเพจตามใจนักจิตวิทยา ซึ่งเบียร์มีความสนใจอยากร่วมงานด้วย
    "เราคุยกับคุณเมว่าอยากทำหนังสือไหม ถ้ายังไม่มีใครชวนทำ เราก็อยากชวนทำ คุณเมบอกว่าอยากทำวรรณกรรมเยาวชน เราก็เอาสิ ตัวเขาเองอยู่ในสายอาชีพ ยิ่งเป็นงานวรรณกรรมที่เขียนโดยคนในสายอาชีพนั้นเราจะรู้สึกอินมาก เรารู้ว่าวรรณกรรมเยาวชนเป็นเวทีปราบเซียน แต่เมื่อเป็นเรื่องที่เราอยากส่งเสริมก็เลยทำ"
    เบียร์อธิบายว่าเนื้อหาของ Becoming A ButterFly การเดินทางของผีเสื้อหลากสี เล่าเรื่องราวของนักจิตวิทยาฝึกหัด ผ่านเรื่องสั้น 12 เรื่อง เช่น เด็กชายมังกร เด็กหญิงไร้เสียง เด็กชายต่างดาว เด็กหญิงล่องหน ที่พูดถึงโรค 12 โรค "เราจะเห็นใจ เข้าใจ ไม่ใช่คำว่าสงสารนะ หากเราจะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เล่มนี้มี 12 เรื่อง 12 โรค ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กๆ กำลังมีปัญหา ถ้าเขาชอบงอแง แน่ใจว่าเขาดื้อเฉยๆ หรือว่าเขาอาจเป็นอะไรมากกว่านั้น ทำให้หันมาสำรวจตนเอง สำรวจครอบครัวเรา เราเห็นใจ เข้าใจขึ้น เราจะโตขึ้น เป็นหนังสือที่ทำให้เราเติบโต" 
    ซึ่งบางครั้งสิ่งที่ผู้อ่านได้จากการอ่านหนังสือ ก็เปลี่ยนแปลงความคิดบางอย่างเกินกว่าจะคาดเดาได้ "มีผู้อ่านบอกมาทางคุณเม ว่าเขาลังเลอยู่นานในการพาลูกไปพบจิตแพทย์ แต่หลังจากที่อ่านเล่มนี้ทำให้เขาตัดสินใจในวันรุ่งขึ้น เพราะก่อนหน้านั้นเข้าใจว่าการพบจิตแพทย์เป็นเรื่องน่ากลัว รุนแรง แต่หนังสือเล่มนี้ทำให้เขาเปลี่ยนทัศนคติว่า การพบจิตแพทย์พบนักจิตวิทยาเป็นเรื่องธรรมดา ยิ่งพบเร็วยิ่งหายเร็ว ยิ่งพบเร็วยิ่งดีขึ้น"
    ก้าวต่อไปของแมงมุม เบียร์และก้อยยังยึดแนวทางเลือกทำหนังสือทุกแนวที่ประเทศไทยยังไม่มี 
    ก้อยเองกำลังแปลหนังสือจากจีนเล่มใหม่  2 เล่ม ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวไปในร่างกายมนุษย์ คือ ท่องเที่ยวไปในระบบทางเดินอาหาร ระบบย่อยอาหาร และอีกเล่มเป็นการท่องเที่ยวในระบบเส้นเลือด
    ส่วนงานที่เบียร์กำลังแปล เป็นเล่มที่ค่อนข้างหนักหน่วง จนเกิดความลังเลหลายต่อหลายครั้งว่าเลิกแปลดีไหม 
    "มันเจ็บปวดทุกย่อหน้า ทุกบรรทัดเลยค่ะ" ก้อยบรรยายความรู้สึกถึงหนังสือเล่มนั้น 
"มันมีความดีงาม ท่ามกลางความเจ็บปวด" เบียร์เสริม "เราทำงานกับนักจิตวิทยา ทำงานกับหมอ ก็ถือสาพวกนี้เหมือนกัน ไม่ได้สักแต่มาเล่าแล้วคนอ่านดาวน์ มันไม่ใช่จุดประสงค์ของการทำสิ่งนี้ ตอนแรกที่ผมอ่าน 20 หน้าแรกก็รู้สึกว่าควรยกเลิกโปรเจกต์ แต่พอหลังจากผ่านช่วงนี้ไปได้ คุณจะเห็นเรื่องการบำบัด การเยียวยา การฟื้นฟู และแม้ปัญหาที่เกิดขึ้นนำไปสู่เรื่องอะไร คุณจะเห็นอะไรหลายอย่างที่หนังสือเล่มนี้นำเสนอ" 
    หนังสือเล่มนี้ชื่อ จะไม่ทนเงียบอีกต่อไป ผลงานของเฉินเจี๋ยฮ่าว ผู้วาดผีเสื้อของตั๋วตั่ว ที่จะเล่าเรื่องราวความทรงจำเลวร้ายในวัยเด็ก ทั้งการคุกคามทางเพศ Toxic Family  ซึ่งนำไปสู่การบำบัด การเยียวยา ฟื้นฟู เผชิญหน้า และการก้าวเดินต่อไป 
    "เราก็มีอุดมการณ์ของเราบางอย่าง เราจะทำอะไรที่สนุกแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้ทำแค่ความบันเทิงอย่างเดียว ถ้าหากในทิศทางนี้ นิยายอ่านสนุกสนานหัวเราะเลยเราก็ทำ อาชญากรรมเราก็ทำ แต่บนเส้นทางนี้มันมีเรื่องคุกคามทางเพศ สิทธิมนุษยชนด้วย เราก็ทำ เราไม่กล้าใช้คำว่าเปลี่ยนแปลงสังคมนะ แต่อยากให้คุณได้เห็นแล้วเอาไปคิด" 
    เบียร์มองไปที่หนังสือนิทาน ผีเสื้อของตั๋วตั่ว อีกครั้ง พร้อมเน้นย้ำว่า "ปลายทางที่เราอยากได้คือ เด็กคนนี้อ่านแล้วต่อไปเขาจะไม่โดนอาชญากรรม หรือเด็กคนนี้อยู่ระหว่างประสบการณ์ที่แย่ๆ เขาอ่านแล้ว สามารถยุติวงจร หรือถ้าคนคนนี้อ่านแล้ว เขาสังเกตเห็นว่าเกิดอะไรขึ้นกับเด็กที่รู้จัก แล้วไปหยุดยั้งมัน นี่คือปลายทางที่เราอยากได้ เราเชื่อว่า สำนักพิมพ์เล็กๆ อีกหลายแห่งเชื่อแบบเดียวกัน"

    ระหว่างที่คุยกับเบียร์และก้อย เรามองเห็นความตั้งใจมากมาย ที่จะนำเสนอสิ่งใหม่ๆ เข้ามาในตลาดหนังสือ หากใครสนใจก็อย่าลืมพาแมงมุมตัวน้อยเหล่านี้เข้าไปเติบโตในหัวใจของทุกคนในครอบครัวกันนะคะ

กมลพร สุนทรสีมะ

อดีตเติบโตมากับกองบรรณาธิการนิตยสารสำหรับเด็กเเละครอบครัว เชื่อมั่นในพลังมหัศจรรย์ของเด็กๆ ชอบดอกไม้ พืชใบเขียว มีหอศิลป์เป็นที่ชุบใจ ติดชาเย็นหวานน้อย พอๆ กับกลิ่นกระดาษ อนาคตอยากเลี้ยงลาบาดอร์ สีน้ำตาล

จรูญรัฐ วิธูสุวรรณ

อดีตช่างภาพนิตยสาร มาเปิดบริษัทของตัวเองได้สักพัก ยังสนุกกับงานถ่ายภาพอยู่เสมอ โดยเฉพาะการถ่ายภาพผู้คน ตอนว่างจะชอบหนีไปเที่ยวตามที่ต่างๆ แก้เบื่อด้วยการถ่ายสถานที่และสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ