กันต์ ชุณหวัตร มาเยือนสำนักงานใหม่ของ happening ในฤดูหนาว ปลายปี 2562 เขาเอาหนังสือมาฝากเราจัดจำหน่าย เราเลยขอเวลานั่งคุยยาวๆ กับกันต์ เรื่องความคิด เรื่องการงาน และเรื่องชีวิตที่ผ่านมา
สำหรับคนทั่วไป กันต์ถูกจดจำได้จากบทบาทในซีรีส์ ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น ซึ่งทำให้เขาได้เข้ามาอยู่ในวงการบันเทิงในบทบาทหลากหลาย
กันต์เป็นนักแสดง แต่ก็เป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์หลายรายการ พร้อมๆ กับที่เป็นดีเจของคลื่นวิทยุ แคท เรดิโอ ราว 3 ปีก่อนเขาก็เริ่มเขียนหนังสือ โดยมีพ็อกเก็ตบุ๊กของตัวเองร่วมกับ ไมเคิล-ศิรชัช เจียรถาวร ชื่อปกว่า Tokyo Unscripted และหลังจากนั้น กันต์ก็มีเพลงของตัวเองมาให้เราฟัง โดยมีเพลงแรกชื่อว่า ขอพร และหลังจากนั้น เขาก็เริ่มเขียนหนังสืออย่างจริงจัง โดยมีผลงานเล่มแรกแบบเดี่ยวๆ เต็มๆ ชื่อว่า ฉันออกเดินทางในวันที่ไม่มีแดด และตามมาด้วย ฮอกไกโดสีขาว ซึ่งเป็นหนังสือบันทึกการเดินทางท่องเที่ยวทั้ง 2 เล่ม
ก่อนจะมาทำอะไรมากมายขนาดนี้ ย้อนไปที่จุดเริ่มต้น กันต์บอกว่าเขาเริ่มจากการเป็นเด็กขี้อาย

"มันเริ่มมาจากที่ผมเจอพี่ย้ง (ทรงยศ สุขมากอนันต์) ตั้งแต่ประมาณ ป.5 เขามาหานักแสดงให้หนังเรื่อง เด็กหอ ที่โรงเรียน แล้วเขาก็ชี้ๆ ว่าอยากได้คนนั้นมาลองแคสติ้ง ตอนนั้นผมเป็นเด็กขี้อาย โดนชี้ ผมก็ไม่กล้าออกไป มันอายน่ะครับ แต่ก็ให้เขาถ่ายรูปเก็บเอาไว้ แล้วเขาก็เรียกไปแคสฯ เป็นตัวประกอบพูดแค่บทเดียว ต้องไปถ่ายที่ราชบุรี มีบทแค่ประโยคเดียวแต่ต้องขับจากกรุงเทพฯ ไป ที่บ้านก็พาไป ผมก็รู้สึกว่าเป็นโอกาส จนเสร็จงานนั้น ผ่านมาอีกหลายปี ก็มีโทรศัพท์เข้ามาที่บ้าน เพราะทีมงานเขาไปค้นเทปแคสติ้งแล้วเจอผม อยากให้มาลองเล่นอีกครั้งหนึ่ง ผมก็ไป ก็ได้เล่นเอ็มวีตัวแรกในชีวิต ซึ่งพี่ย้งเป็นคนกำกับ คือเพลง ระบำแห่งความตาย ของ กล้วยไทย ตอนนั้นพี่ย้งเขาทำบริษัทเล็กๆ อยู่ พอถึงวันที่มีบริษัท นาดาว พี่ย้งเขาก็ชวนเข้าทำงานอีกรอบหนึ่ง เหมือนเราผูกพันกันมาตั้งแต่เด็กๆ เลย เราก็ไปทุกงานที่พี่ย้งเรียก ก็ทำเรื่อยมาจนมาทำรายการท่องเที่ยว แล้วก็มาถึง ฮอร์โมนฯ ก่อนที่จะมีงานแสดงอื่นๆ ตามมาครับ"
จากชีวิตของเด็กขี้อาย การเป็นนักแสดงทำให้เขากล้าแสดงออกมากขึ้นเรื่อยๆ และการที่โด่งดังแบบชั่วข้ามคืนจากบท ต้า ในฮอร์โมน วัยว้าวุ่น ทำให้ชีวิตของเด็กปี 2 คนหนึ่งเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
"พอฮอร์โมนฯ ฉายมาถึงตอนที่ 3-4 ผมก็รู้สึกแล้วว่ามีอะไรไม่ธรรมดา คือพวกยอดวิวยอดไลก์ต่างๆ ในโซเชียล มันขึ้นอย่างน่ากลัว วันหนึ่งเป็นแสนเลย ในยุคนั้นอินสตาแกรมไม่ได้บูมขนาดนี้ด้วย ผมก็เริ่มกลัวละ พอเดินไปห้าง คนวิ่งเข้ามาหา โอ้โห ผมเดินไม่ได้เลย ตอนแรกๆ เรายังปรับตัวไม่ค่อยได้ มันเปลี่ยนไปเยอะมากจริงๆ ครับ จากที่เราทำอะไรก็ได้ ไปไหนก็ได้ ช่วงนั้นผมไปไหนไม่ได้เลย ไปไหนก็รู้สึกกดดัน ทุกคนมอง ใครไปด้วยก็จะรู้สึกอึดอัด อย่างที่บ้านไปกินข้าวกัน ผมยังรู้สึกว่าไม่ไปดีกว่า ไปก็อึดอัดเขาเปล่าๆ มันเป็นอย่างนั้นเลยครับ เปลี่ยนไปหมด ทำอะไรคนก็สนใจ จากเรื่องที่เคยทำได้ ถ้าทำตอนนั้นอาจจะเป็นข่าวก็ได้ ต้องค่อยๆ ปรับตัว"

ในขณะที่ชีวิตในวงการบันเทิงก้าวเข้าสู่จุดพีก ชีวิตด้านการเรียนของกันต์ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน
ในตอนแรก กันต์คิดจะเรียนคณะนิเทศศาสตร์ เพราะจะได้เข้าใกล้กับการเป็นนักแสดงที่เขาพอมีต้นทุนอยู่บ้าง แต่เขาไม่ใช่เด็กที่เรียนเก่งนัก จึงคิดว่าควรจะเลือกสิ่งที่ตัวเองสนใจจริงๆ เพียงด้านเดียว พอถามตัวเองแล้วพบว่าสิ่งหนึ่งที่เขาสนใจมาตลอดก็คือเรื่องดนตรี และวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็เป็นสถาบันที่เขาสนใจมาตลอด กันต์จึงเลือกจะมุ่งไปเรียนด้านนี้อย่างจริงจัง
"มหิดลเป็นความฝันตั้งแต่วัยเด็ก เนื่องจากพ่อเป็นคนราชบุรี ตอนเด็กผมต้องกลับราชบุรีบ่อย สิ่งที่เราเจอตอนขับรถจากเส้นบ้านเราคือต้องผ่านมหิดล ทุกครั้งผมก็คิดว่าอยากเรียนที่นี่ ตอน ม.4 ก็ไปสอบแต่สอบไม่ติด ผมก็คิดว่าตัวเองไม่เคยประสบความสำเร็จในการเรียนเลยครับ ดูแย่ไปหมดในเรื่องการเรียน แต่รู้สึกว่าครั้งหนึ่งผมก็อยากประสบความสำเร็จในการศึกษานะ ผมก็พยายามสอบที่นี่ให้ติดให้ได้ ตอนนั้นติดที่อื่นไปแล้ว มอบตัวไปแล้วด้วย แต่พอติดที่นี่ก็ทิ้งทุกอย่างเลย เพื่อมาเข้าเรียนที่นี่แทน ก็ตั้งใจอยู่เป็นปี เพราะถึงผมจะรู้ทฤษฎีดนตรี แต่ไม่ได้แน่นขนาดเด็กของเขา พยายามอ่านเองเป็นปี จนได้เข้ามาเรียนที่คณะนี้ในด้านเทคโนโลยีดนตรีในที่สุด"
ตอนที่กันต์เข้าเรียนด้านดนตรี เขาเป็นนักแสดงที่มีงานอยู่เรื่อยๆ แล้ว กันต์พบความจริงว่าการเรียนที่มหิดลค่อนข้างหนัก และเข้มงวดเรื่องเวลาเข้าเรียนมากๆ นั่นทำให้ชีวิตการเป็นนักแสดงที่กำลังรุ่งและเริ่มมีงานเยอะเพราะเป็นที่รู้จักจาก ฮอร์โมนฯ กับชีวิตการเป็นนักศึกษาด้านดนตรีเป็นบทบาทที่เริ่มขัดแย้งกัน
"ตอนที่ผมมีคิวถ่ายเยอะมากๆ ผมก็ติดเอฟไปสองตัว" เขาหัวเราะเบาๆ "คือผมเข้าเรียนครบนะ แต่ความรู้ไม่ได้ มันไม่สามารถสอบได้ บางวิชาที่เป็นภาคปฏิบัติ เราก็ไม่ไหวเพราะไม่มีเวลาซ้อม มันไม่ใช่เครื่องดนตรีที่เป็นเมเจอร์ของเรา ถ้าเป็นเครื่องเอก (กีตาร์) เรายังเล่นได้ ผมก็เครียดแล้ว ก็ต้องตามแก้เพราะกลัวจบช้า ผมคิดว่า เอ...หรือไปเรียนที่มหาวิทยาลัยอื่นที่ส่งเสริมในด้านนี้ ให้สิทธิ์ดาราในการขาดเรียน แต่ในที่สุดผมก็ฮึดสู้ เพราะคิดเหมือนเดิมว่าผมไม่เคยประสบความสำเร็จในการศึกษาเลย แล้วผมรู้สึกว่าเรื่องการเรียนมันง่ายที่สุดแล้ว ถ้าแค่นี้ยังทำไม่ได้ ผมอาจจะไม่มีศักยภาพในการไปทำอะไรอีก ผมเลยสู้อีกครั้ง เริ่มจากจัดตารางให้เป็นระเบียบขึ้น จดไว้เลยว่าวิชาไหนขาดได้เท่าไร แล้วก็เลือกรับงานตามตาราง ในที่สุดก็จบสี่ปีจนได้ เกือบๆ ได้เกียรตินิยมด้วย มันเป็นช่วงที่ใช้แรงใจเยอะมากที่บางวันถ่ายเสร็จตี 3 แล้ว 8 โมงไปสอบ แต่ยังไงผมก็รู้สึกว่าการเรียนมันยังง่ายกว่าทำงานอยู่ดี" เขายิ้มภูมิใจ

หลังจากเรียนจบ ชีวิตจริงทักทายเขาด้วยโอกาสหลากหลาย ค่ายเพลง Boxx Music ที่เขาเคยไปเล่นเอ็มวีให้กับ อิ้งค์-วรันธร เปานิล ให้โอกาสเขาได้เป็นศิลปินในค่าย เขาตอบตกลงโดยมีข้อแลกเปลี่ยนว่าตัวเองขอเป็นศิลปินที่ปล่อยเพลงค่อนข้างน้อย เพราะไม่อยากเร่งรัดตัวเองในการทำดนตรี และไม่อยากกดดันว่าต้องเป็นศิลปินที่ทำเงินมากมาย
"คือสมมติว่าเพลงปล่อยออกมาแล้วดัง ผมก็ดีใจถ้าทำเงินให้ตัวเองและค่ายได้ มันก็ดีทั้งคู่อยู่แล้ว ทุกคนทำงานออกมาดี ทุกคนต้องอยากได้ผลตอบแทนที่ทุกคนควรจะได้ แต่ผมอยากเผื่อใจว่าถ้ามันไม่มา เราจะได้ไม่ไปเร่งมัน คือกลัวว่าถ้าหนึ่งไม่มา สองต้องมา สามต้องมา ผมก็จะเครียด มันก็ไม่สนุกแล้ว แล้วก็จะไม่อยากทำ คือผมยังอยากมีพื้นที่ไว้สนุกกับมัน ไม่เครียดเกินไป ขนาดไม่หวังผลกำไร เวลาทำเพลงยังเครียดเลยครับ" เขาหัวเราะ "ถ้าต้องไปซีเรียสเรื่องเงิน ผมคงทำไม่ไหว ผมคงเลือกที่จะเป็นศิลปินอิสระไปแล้ว
กันต์ทำเพลงแบบใจเย็น และในวันที่เรานั่งคุยกันอยู่นี้ เขาปล่อยซิงเกิลมาแล้ว 3 เพลง ดูอัตราความถี่และคุณภาพของเพลงแล้ว เหมือนเขาและค่ายเพลงจะไม่เร่งรัด แต่พยายามทำให้งานดนตรีของเขาดีขึ้นเรื่อยๆ จริงๆ
สำหรับเราแล้ว บทบาทของเขาที่เราสนใจที่สุดก็คือการเป็นนักเขียน และเมื่อได้คุยกันเรื่องนี้ เราพบว่าชีวิตการอ่าน-การเขียนของกันต์ก็ผ่านอะไรมาไม่น้อยเหมือนกัน
"ผมอยากเขียนหนังสือตั้งแต่เด็กแล้ว จริงๆ ผมอ่านหนังสือได้ช้า ป.1 อ่านหนังสือไม่ได้เลย โดนคุณครูจับมาอ่านหนังสือทุกเช้าเลย เพราะอ่านหนังสือช้ากว่าเด็กคนอื่น ต้องมาโรงเรียนเช้ากว่าเพื่อนเพื่อไปอ่านหนังสือ เขาอ่านกันได้แล้ว เรายังอ่านไม่ได้ โดนทั้งคัดทั้งอ่านตั้งแต่เด็ก ที่บ้านก็พยายามซื้อหนังสือให้อ่าน ซื้ออะไรก็ได้ที่มีตัวหนังสือ การ์ตูนก็ได้ อะไรก็ได้ สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ถ้าผมขอพ่อแม่ จะได้มามากมาย พ่อพยายามจะซื้อหนังสือเด็กที่เปิดมาแล้วมีภาพมีของเล่น หลอกล่อให้ผมอ่าน ทำยังไงก็ได้ให้ผมอ่านหนังสือ จนผมก็เริ่มชอบการอ่านโดยไม่รู้ตัว ผมอ่านทุกอย่าง ตอนนั้นอ่านแล้วจะได้รับคำชมว่า 'กันต์อ่านออกแล้ว' เราเป็นเด็ก ก็อยากให้พ่อแม่ชม ผมเริ่มอ่านการ์ตูนก่อนตอนประถม ผมเริ่มซื้อหนังสือการ์ตูนตั้งแต่ยังอ่านหนังสือไม่ออก แต่อยากได้เพราะมีตัวหนังสือ อยากอ่านแต่อ่านไม่ออก ซื้อการ์ตูน One Piece ทั้งที่ไม่เคยอ่านมาก่อนนะ คือชอบซื้อหนังสือตั้งแต่ยังอ่านไม่ออก แล้วก็เลยกลายเป็นความผูกพันกับหนังสือ พอผมเริ่มอ่านออกเขียนได้ เริ่มอยากวาดรูป วาดการ์ตูน ตอนนั้นวาดรูปห่วยมาก พ่อแม่จับไปเรียนวาดรูปก็วาดไม่ได้ ทีนี้ก็เริ่มอยากเขียนเรื่อง พอมัธยมก็เริ่มรู้แล้วว่ามันไม่ได้เขียนง่ายว่ะ มันเขียนยาก ไม่ใช่ใครอยากจะเขียนก็เขียนได้ เราก็เลยกลายเป็นเริ่มอ่านแทน ตอนมัธยมต้นผมจะอ่านการ์ตูนเป็นหลัก ผมอ่านการ์ตูนแทบทุกเรื่องที่มีขายหน้าโรงเรียน ซื้อการ์ตูนอ่านจน ม.ปลาย เริ่มอ่านหนังสือที่เป็นเล่มๆ มากขึ้น ลองไปร้านหนังสือ เจอหนังสือหน้าตาดีก็ซื้อมาดองไว้เต็มเลย ยังไม่อ่าน อยู่ๆ ก็ลองหยิบมาอ่าน จากรูปเยอะๆ ตัวหนังสือน้อยๆ ก่อน รู้ตัวอีกทีก็ติดไปแล้วว่าไปไหนต้องมีหนังสือไปด้วย"
เมื่อถามถึงหนังสือที่ชอบในช่วงวัยรุ่น กันต์ยกตัวอย่างหนังสือมา 2 เล่มคือ สองเงาในเกาหลี ของ ทรงกลด บางยี่ขัน และ คำพิพากษา ของ ชาติ กอบจิตติ แล้วพูดต่อไปถึงช่วงหนึ่งที่เขาเคยตะลุยอ่านหนังสือของ ฮารูกิ มูราคามิ อยู่เช่นกัน

"ผมอยากลองทำงานที่เราสร้างได้เองบ้าง อย่างงานแสดงก็ต้องรอเขาจ้าง งานดีเจก็ต้องรอเขาเรียก ทุกงานต้องรอเขาจ้าง งานที่ผมทำมาทั้งชีวิตเป็นงานที่ต้องรอ ผมอยากเป็นคนที่ลองตั้งต้นงานบ้าง อย่างการทำเพลงก็เป็นงานหนึ่งที่เราได้ทำอะไรเองพอสมควร แต่การเขียนหนังสือเป็นงานที่เราน่าจะได้ทำอะไรเองเกือบทั้งหมด ตอนนั้นผมก็คิดว่าถึงเวลาที่จะลองเขียนหนังสือบ้างแล้วล่ะ แต่ก็ไม่มั่นใจ เลยไปหาเพื่อนมาทำด้วย ก็ชวนไมเคิล ตอนนั้นผมยังไม่รู้เลยว่าหนังสือต้องทำยังไง ช่วงนั้นผมไปจัด แคท เรดิโอ แล้วพี่บูม (บรกรณ์ หลงสวาสดิ์) เลยแนะนำ happening และพี่วิภว์ให้รู้จัก เลยรู้สึกว่าเป็นโอกาสที่ดีมากเลย ไม่มีเหตุผลที่จะปฏิเสธ ผมเลยเข้ามาคุยและลองเขียน เอาจริงๆ ผมยังไม่รู้ว่าเขียนยังไง แต่พอเขียนแล้วมันเริ่มติด แม้จะมีช่วงที่ไม่สนุกและเหนื่อยก็ตาม ช่วงที่ต้องแก้งานของตัวเองเป็นช่วงที่เหนื่อยที่สุด แต่อย่างน้อยเรากำหนดเองได้เลยว่าเรื่องจะเป็นทางไหน หรือเขียนมันตอนไหน ตื่นมาจะเขียนก็ได้ จะไม่เขียนก็ได้ เลยเริ่มอยากเขียนจริงจัง" เขายิ้มกว้าง "พอเสร็จแล้ว ความรู้สึกตอนเห็นหนังสือของตัวเองคือดีใจมากเลยครับ ตอน Tokyo Unscripted ออกมาผมดีใจมากเลย ผมถ่ายรูปหนังสือที่ร้านโน้นร้านนี้เต็มไปหมดเลย หนังสือเรา เราได้ออกจริงๆ นะ ตอนทำงานอื่นก็ดีใจ ภูมิใจนะ แต่การออกหนังสือนี่ผมรู้สึกว่าผมได้เป็นเจ้าของมันมากๆ เหมือนผมกำลังเข้าไปในที่ที่อยากเข้าไปตั้งแต่เด็ก วันที่ผมเห็นหนังสือของตัวเองวางข้างหนังสือของคนที่เคยอ่าน มันฟินมากเลย หรือมันอยู่ในร้านที่เราเคยเดินเข้าไปตั้งแต่เด็ก แต่นี่งานเราเข้าไปอยู่ในร้านนี้ได้ด้วยว่ะ" เขายิ้มอีกที
สำหรับ ฉันออกเดินทางในวันที่ไม่มีแดด หนังสือเล่มแรกที่เขียนเต็มตัวคนเดียว กันต์ตัดสินใจขยับบทบาทมาเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์และลงทุนเองด้วย
"มันถึงวันที่ผมเริ่มอยากมีอะไรเป็นของตัวเอง อยากลอง ผมรู้สึกว่าถ้าปล่อยเวลาให้ผ่านไปเรื่อยๆ ผมอาจจะไม่กล้าลองอะไรแล้ว ผมรู้สึกว่าลองไปก่อน ถ้าผิดก็จะได้รู้ ถ้ายังชอบอยู่ เล่มหน้าก็ไปหาที่พิมพ์ให้ คิดว่าถ้าล้มก็ล้มตอนนี้แหละวะ ผมยังวัยรุ่นอยู่ ยังล้มได้ เรายังมีโอกาสใช้สิทธิ์การเป็นวัยรุ่นที่จะล้มแล้วลุกมั่วซั่วได้อยู่ แต่ถ้าปล่อยนานกว่านี้อาจจะล้มได้แต่ลุกยากขึ้น ตอนนี้แรงเรายังมี เลยคิดว่าถ้าเจ๊งก็เจ๊งตอนนี้แหละครับ ก็เลยลอง ลองไปโรงพิมพ์ แล้วก็ลองพิมพ์เอง มั่วซั่วไปหมด เล่มนี้มั่วซั่วไปหมดเลยครับ" เขาหัวเราะสนุก
ผลปรากฏว่าแม้ ฉันออกเดินทางในวันที่ไม่มีแดด หนังสือบันทึกการเดินทางในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีของกันต์ จะไม่ถึงกับเป็นหนังสือขายดีถล่มทลาย พิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่กันต์ก็พูดได้อย่างภูมิใจว่าไม่เจ๊ง เขาได้ทุนคืน มีกำไร และสร้างความมั่นใจในการทำหนังสือเล่มต่อไป

"แต่ผมว่าสิ่งที่ยากคือ ถ้าเล่มแรกมันไม่เจ๊งแล้วเล่มสองมันเจ๊งจะทำไงดีล่ะ ก็กดดันนะครับ ยิ่งมียอดของเล่มแรกให้เห็นเป็นตัวเลขอยู่แล้ว แล้วถ้ามันต่ำกว่าล่ะ คือผมก็พยายามใช้ความรู้ที่มีทั้งหมดจากเล่มแรก ซึ่งมันก็น้อยนิดเหลือเกิน ทำให้เล่มสองมันโอเค ผมไปดูในทุกจุดว่าเราต้องแก้ไขอะไรในจุดที่เคยมองไม่เห็น ผมนั่งอ่านหนังสือตัวเอง เข้าร้านหนังสือแล้วมองหนังสือตัวเอง ถ้าเป็นเรา เราจะหยิบหนังสือเล่มนี้ไหม เราอ่านแล้วรู้สึกอย่างไร พอมาเขียน ฮอกไกโดสีขาว ผมก็กังวลว่าจะมีคนว่าผมไหมว่านี่มันไปอยู่ประเทศเดียวเลยนะ" เขาหัวเราะเบาๆ "จำได้ว่าผมไปนั่งเครียดอยู่ในซาวน่า ในฟิตเนส คือนุ่งน้อยห่มน้อยนั่งเครียด แล้วมีผู้ชายนั่งเต็มไปหมด เขานั่งซาวน่าสตรีมอยู่ ผมก็นั่งเหม่ออยู่นานมาก นานจนจะเป็นลม" เขาหัวเราะสนุก "แต่คือหนังสือผมไม่ได้นำเที่ยว ไม่ได้เป็นไกด์บุ๊ก ถ้าเป็นที่เดียวกันก็คงไม่เป็นไร เพราะผมเขียนในมุมที่คิดว่าสนุก ผมว่าเล่มนี้จะมีความสดใสมากขึ้น สว่างมากขึ้น ผมรู้สึกว่ามันไม่เกี่ยวว่าเป็นที่ไหน เรารู้สึกว่าอยากเล่า เราเขียนของเราแล้วเราอ่านแล้วชอบ รู้สึกอยากให้คนอื่นได้อ่าน ถ้าเราอ่านแล้วรู้สึกอย่างนั้น เราจะเขียนสิ่งนี้ต่อไปได้ พอเราอ่านแล้วเราก็เลยเขียนต่อโดยที่ไม่สนว่าเล่มนี้ก็เป็นญี่ปุ่นเหมือนเล่มก่อนๆ ก็เป็นการลองดูอีกครั้ง แล้วก็คิดเหมือนเดิมครับ คือขอให้ไม่เจ๊งก็พอ" กันต์หัวเราะเบาๆ
ช่วงหนึ่งกันต์พูดถึงงานเขียนของตัวเองว่ามันเป็นการบันทึก ไม่ใช่ไกด์เรื่องสถานที่ แต่เป็นไกด์เรื่องอารมณ์
"มันเป็นเหมือนบันทึกของคนคนหนึ่งที่ออกไปเดินทาง เป็นเรื่องราวระหว่างทางของเมืองนั้นๆ โอเคมันมีบรรยากาศของสถานที่ท่องเที่ยว เพราะว่าเราไปเที่ยว จะมีบรรยากาศของที่ที่เราไปเป็นแบ็กกราวนด์ แต่เรื่องที่เล่าก็คือเรื่องที่แต่ละคนเจอไม่เหมือนกัน บางคนเห็นภาพเดียวกันก็มองไม่เหมือนกัน ผมอยากให้คนอ่านสนุกไปกับเรื่องนั้น มันคงเป็นไกด์บุ๊กที่ไม่ดี ผมไม่ได้บอกวิธีการไปหรือให้ข้อมูลอะไรเลย แต่มันคงเป็นไกด์อารมณ์ของการเดินทาง ว่าถ้าคุณขยับตัวออกจากที่ คุณอาจจะได้เจอสิ่งนี้นะ แล้วมันก็แค่อาจจะ คุณคงเจอไม่เหมือนผมหรอก แต่ละคนเจออะไรไม่เหมือนกันหรอก แต่มันมีความสนุก ความเศร้า ความดีใจ ในการออกไปเที่ยว มันทำให้เราวางสิ่งต่างๆ ไว้ที่บ้าน ทำให้ตัวเราเบาขึ้น และพร้อมที่จะรับสารของคนอื่น ดูโมเมนต์ของคนอื่น หรือแม้แต่จากคนรอบข้าง หรือคนที่ไปกับเรา หรือวันไหนถ้าไม่มีใครไปกับเรา เราก็ได้เห็นตัวเองมากขึ้นว่ามันเกิดอะไรขึ้น หนังสือของผมอาจจะเป็นสื่อแทนการเดินทางว่าถ้าคุณออกไป คุณอาจจะได้เจอสิ่งนี้นะ และผมก็หวังว่าหลายสิ่งที่เราคิดได้ระหว่างเดินทางอยู่และเอามาใส่ในที่ต่างๆ บางทีเราอยู่ในที่ที่ไกลมากๆ แต่เราคิดถึงคนที่บ้าน แล้วก็เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ก็พยายามใส่เข้าไปว่ามันอาจจะเป็นแบบนี้ก็ได้นะ" กันต์ยิ้มบางๆ

ระหว่างที่เขาเล่าให้ฟัง ในจินตนาการของเรามองเห็นภาพชายหนุ่มกำลังออกเดินทางไกล ถ่ายภาพ จดบันทึก ความคิด ความรู้สึก และภาพชีวิตที่ได้พบเจอ
"ใช่ครับ ผมชอบจดบันทึกตามที่ต่างๆ คือบางทีหลายเรื่องคิดได้ตอนนั้น หลายเรื่องคิดได้ตอนกลับมา ผมรู้สึกว่าบันทึกสำคัญ บางทีเราลืมว่าเกิดอะไรขึ้น พอมานั่งอ่านบันทึก มันก็คิดได้ว่าเป็นแบบนี้ๆ บางทีสนุกกับความคิด ซึ่งมันอาจจะผิดหรือถูกก็ไม่รู้นะ มันเป็นเรื่องวิธีคิดของแต่ละคน ผมเชื่อว่าอีกสิบปี ผมมานั่งอ่านบันทึกตัวเอง ให้ผมเขียนใหม่ มันก็ไม่เป็นแบบนี้หรอกครับ มันเป็นการบันทึกช่วงเวลานั้นๆ เหมือนหยุดเวลาไว้ตรงนั้นมากกว่า"
เราพูดคุยกันจนเวลาล่วงผ่านไปเป็นหลักชั่วโมง ก่อนจากกัน เราถามกันต์เล่นๆ ว่าหากการทดลองทำอะไรหลายๆ อย่างของเขาในตอนนี้ จะทำให้เขาต้องล้มบ้าง ลุกขึ้นมาได้บ้าง เขาพร้อมจะล้มได้อีกนานแค่ไหน
"ผมคิดว่าผมพร้อมล้มได้อีกยาวๆ นะ แต่ถ้าไม่ล้มจะดีกว่า" เขาหัวเราะ "แต่คงเป็นไปไม่ได้ คงต้องมีสักเรื่องที่เราล้มบ้าง ก็เตรียมใจไว้แล้ว แล้วก็คงลุกขึ้นมาน่ะครับ"