ความสนุกสนานที่มาพร้อมกับผู้ชาย 3 สี คือคำนิยามของ เบบี้ไมม์ (Babymime) คณะละครใบ้ที่ใช้สีหน้า-ท่าทางในการสื่อสารเรื่องราวง่ายๆ ให้คนเข้าใจ ผ่านการแสดงเรียบง่ายและพร็อพน้อยชิ้น แต่สามารถสร้างเสียงหัวเราะให้กับคนดูทุกเพศทุกวัยทั้งในไทยและต่างประเทศ สถานที่เล่นละครใบ้ของพวกเขามีตั้งแต่ริมฝั่งถนน เทศกาลเล็กๆ ในสวนสาธารณะ โรงละครที่มีผู้ชมมากหน้าหลายตา ไปจนถึงเทศกาลระดับโลกอย่าง เทศกาลเอดินบะระ ฟรินจ์ (The Edinburgh Festival Fringe) ที่จัดขึ้นในประเทศสกอตแลนด์
งิ่ง-รัชชัย รุจิวิพัฒน์ เดินออกมาต้อนรับเราอย่างเป็นมิตร ก่อนจะแนะนำเพื่อนร่วมทีมอย่าง ทา-ณัฐพล คุ้มเมธา และ เกลือ-ทองเกลือ ทองแท้ ทั้งสามคนเป็นกลุ่มเพื่อนที่เล่นละครใบ้ด้วยกันมากว่า 20 ปี พวกเขาอยู่ในชุดเสื้อลายทางทับด้วยชุดเอี๊ยมตามสีประจำตัว ได้แก่ ชมพู (ทา) ฟ้า (งิ่ง) เหลือง (เกลือ) แต่งหน้าด้วยสีจัดจ้าน และสวมวิกแปลกตา พร้อมสำหรับการส่งมอบความสุขให้กับผู้ชมเหมือนกับทุกครั้ง เพียงแต่วันนี้ ผู้ชมของพวกเขาเปลี่ยนจากแฟนคลับคุ้นหน้าคุ้นตา เป็นเด็กๆ ที่กำลังรักษาตัวอยู่ภายในโรงพยาบาล
"มาได้จังหวะพอดีเลย ปกติเรามาเล่นที่โรงพยาบาลแบบนี้ปีละไม่กี่ครั้งเอง" งิ่งเปิดบทสนทนาด้วยรอยยิ้ม
เขาเล่าย้อนให้เราฟัง เมื่อครั้งที่เคยมีโอกาสไปร่วมแสดงกับทีม Chinese Clown Association ที่ประเทศไต้หวัน ภาพเด็กๆ ลากสายน้ำเกลือออกมานั่งชมการแสดง เป็นความประทับใจที่ทำให้พวกเขายังคงสร้างความสนุกสนาน และส่งต่อกำลังใจให้กับเด็กๆ ในโรงพยาบาลต่อเนื่องทุกปี
"ถ้าไม่นับอาการเจ็บป่วย เขาก็เป็นเด็กที่ตื่นเต้นกับสิ่งรอบตัวเหมือนคนทั่วไป เด็กบางคนต้องอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ 364 วัน แต่ช่วงเวลาที่เราได้มาเจอกันแค่ครึ่งชั่วโมง มันคือเมจิกโมเมนต์ที่เราได้ใช้เวลาร่วมกัน ถึงเราจะไม่ได้ให้กำลังใจเขาตรงๆ แต่การที่เราเล่นกับเขา ให้เขาออกมาร่วมแสดงกับเรา พวกเขาก็คงได้รับพลังจากเราไปบ้างเหมือนกัน"
การแสดงในโรงพยาบาลไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยพื้นที่ที่จำกัด ปริมาณคนไข้และเจ้าหน้าที่ จึงเป็นเรื่องยากที่จะดึงความสนใจของเด็กๆ และทำการแสดงโดยไม่ขัดขวางการทำงานของทางเจ้าหน้าที่และผู้ที่เข้ารับการตรวจ แต่เมื่อพวกเขาเริ่มแสดง ความวุ่นวายรอบตัวก็ค่อยๆ ปรับสู่ความสงบ
ระหว่างการแสดง เกลือในชุดสีเหลืองค่อยๆ หยิบกระดาษออกมาจากปากของตัวเอง เสียงหัวเราะดังขึ้นด้วยความสนุกสนาน เมื่อบางคนใจกล้าวิ่งเข้าไปดึงกระดาษจนกองเต็มพื้น นอกจากเด็กๆ จะสนุกไปกับการบริหารจินตนาการตรงหน้าแล้ว การแสดงของพวกเขายังเรียกรอยยิ้มจากเจ้าหน้าที่และผู้ปกครองได้เช่นกัน
"มันต่างจากตอนที่ทำโชว์ของตัวเองนะ ปกติผู้ชมกว่า 70% เขาเป็นแฟนคลับเราอยู่แล้ว เขาจะซื้อตั๋ว รอคอย เคลียร์คิวตัวเองเพื่อมาสนุกด้วยกัน แต่ถ้าเป็นโรงพยาบาล เราอาจจะเล่นเพื่อความสนุก แต่มันก็มีเรื่องของกำลังใจ ความหวังที่เราส่งมอบให้เขาด้วย อย่างปีนี้ เรามีโอกาสเข้าไปเยี่ยมเด็กๆ ในห้องพักผู้ป่วย พร้อมกับน้องที่แต่งตัวเป็นฮีโร่ พอเขาได้เจอฮีโร่ที่ตัวเองชอบก็ตื่นเต้น เล่นกันสนุกสนาน มันเป็นความสุขเล็กๆ ที่ก่อตัวในห้องสี่เหลี่ยมของเขา"
ละครใบ้เป็นศาสตร์ทางการแสดงที่จำเป็นต้องใช้ทักษะในการเคลื่อนไหวหลายรูปแบบ ทั้งการแยกขยับร่างกายหลายๆ ส่วนให้เคลื่อนไหวไปในทิศทางที่สื่อเรื่องราวอย่างคล่องแคล่วและแข็งแรง บางครั้งพวกเขาต้องกระโดดสูงเป็นจังหวะ แบกน้ำหนักของเพื่อนทั้งตัว ขยับข้อต่อเหมือนหุ่นยนต์ พร้อมแสดงสีหน้าที่บ่งบอกอารมณ์ตามเนื้อเรื่องที่ศิลปินสร้างสรรค์ไปตลอด 30-40 นาที
"ช่วงปีแรกเราซ้อมกันเยอะมาก เพราะท่าบางท่าต้องใช้การฝึกฝน อย่างท่าตุ๊กตาล้ม ถ้าเราไม่ซ้อมให้ร่างกายชิน เราก็อาจจะหน้ามืดได้ หรือก่อนการแสดงเราจะพยายามให้ทุกคนมาวอร์มร่างกาย ยืดขา ฉีกขาด้วยกัน เพราะรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้ มันช่วยลดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด และทำให้เราสามารถโชว์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น"
หลังจบการแสดง เสื้อของเขาเปียกชุ่มไปด้วยเหงื่อจากการใช้กล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกาย ในการเล่นละครใบ้ติดต่อกันกว่า 40 นาที ปกติเราคงจะเหนื่อยหอบกันบ้าง แต่ไม่ใช่กับงิ่ง เขายังคงหายใจเข้าออกปกติ ตัวช่วยของงิ่งคือ การวิ่ง ที่เสริมสร้างกำลังขาและระบบหายใจให้ดีขึ้น ทำให้เขาไม่เหนื่อยง่ายขณะแสดง
"นับถอยหลังไป 5 ปีที่แล้ว เราไม่เคยรู้จักอะไรแบบนี้เลย พอดีมีเพื่อนชวนไปวิ่งที่งานกรุงเทพมาราธอน เราก็ลงวิ่ง 10 กิโลเมตรแบบไม่รู้เรื่องเลย เราสงสัยว่าเช้าขนาดนี้ คนมาทำอะไรกัน ไม่หลับไม่นอนเหรอ เราประหลาดใจเพราะไม่เคยเห็นกิจกรรมที่คนออกไปเยอะๆ แล้วทุกคนมีจุดหมายเดียวกันแบบนี้ แต่พอเห็นพระอาทิตย์ขึ้นไปพร้อมกับเรากำลังออกกำลังกาย มันเป็นภาพที่เรายังจำได้จนถึงทุกวันนี้ และทำให้เราวิ่งต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้" งิ่งเล่าไปหัวเราะไป
นอกจากการวิ่งและการฝึกซ้อมเพื่อพัฒนาสมรรถภาพทางกายแล้ว การดื่มน้ำเต้าหู้เพื่อรักษาผิวพรรณ และการหลีกเลี่ยงจากโทรศัพท์มือถือก่อนเข้านอน ก็เป็นกิจวัตรประจำวันที่งิ่งทำเป็นประจำ เพื่อให้ร่างกายได้รับการพักผ่อนและฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพ
แม้ภายนอกของงิ่งจะดูสนุกสนาน ยิ้มแย้มแจ่มใส อย่างคนอารมณ์ดี แต่เขาก็ยอมรับว่า มีบางวันที่เขาขึ้นเวทีไปมอบความสุขด้วยความทุกข์อยู่เหมือนกัน
"พวกเราทุกคนต่างก็เคยผ่านช่วงเวลาเข้มข้นมาบ้าง อย่างเกลือก็เคยมีช่วงเวลาที่ผ่าตัดสมอง อย่างเราก็มีช่วงเวลาที่เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ เราก็ต้องพยายามให้กำลังใจตัวเอง และถามไถ่ความเป็นไปของเพื่อนรอบตัวมากขึ้น มันเป็นหัวใจสำคัญเลยนะ ถ้าเพื่อนเราไม่โอเค ทีมเราก็ไม่โอเค เราไม่ได้มองว่า เราเป็นเพื่อนร่วมงานกัน แต่เราเป็นครอบครัวเดียวกัน"
เสียงปรบมือของเด็กๆ ดังขึ้น พวกเขาหัวเราะและยิ้มอย่างสดใส บ้างก็เดินเข้ามาขอถ่ายรูป บ้างก็ขอจับมือ เป็นรางวัลใจสำหรับความสนุกสนานของละครใบ้ ที่มีพื้นฐานมาจากสุขภาพกายและใจที่แข็งแรงของงิ่ง ทำให้เด็กๆ ยิ้มและหัวเราะได้ แม้ว่าจะเผชิญกับความเจ็บป่วยอยู่ก็ตาม
การสนทนาครั้งนี้ งิ่งทำให้เราเข้าใจว่าชีวิตดีเริ่มต้นจากตัวเราง่ายๆ เพียงแค่ลุกขึ้นมาออกกำลังกายในยามเช้า หมั่นตรวจเช็กสุขภาพใจของตัวเองให้สม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการได้ทำงานที่เรารัก และคอยดูแลความสัมพันธ์กับคนรอบตัว เมื่อชีวิตดีเริ่มที่ตัวเราแล้ว ก็จะทำให้คุณสามารถเป็นหนึ่งคนที่มอบเสียงหัวเราะให้กับผู้อื่นได้เช่นเดียวกันกับเขาคนนี้
สำหรับผู้อ่านที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวของการแสดง ที่ช่วยเพิ่มขีดสมรรถภาพทางกายและใจจาก งิ่ง-รัชชัย รุจิวิพัฒน์ แล้วอยากมีชีวิตที่ดีขึ้นในแบบของตัวเอง สามารถเริ่มจากคลิกเข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ชีวิตดีเริ่มที่เรา
2256 VIEWS |
กองบรรณาธิการที่กำลังใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน ชอบคุยกับผู้คน ท้องฟ้า และเสียงดนตรี เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการฟังเพลง ที่บางทีก็ปล่อยให้เพลงฟังเรา
เกิดสงขลา โตเชียงใหม่ เรียนโตเกียว ทำงานกรุงเทพฯ เคยถ่ายปกให้ happening ในช่วงแรกๆ ตั้งแต่เล่มหนึ่ง ปัจจุบันเป็นฟรีแลนซ์รับทุกสายงานที่เกี่ยวข้องกับศิลปะและบันเทิง