จากที่เคยป่วยหนัก ปอย-ตวัน ชวลิตธำรง เปลี่ยนวิถีชีวิตและออกกำลังกายจนใช้ชีวิตได้เต็มที่กว่าเดิม #ชีวิตดีเริ่มที่เรา

    ความวุ่นวายบนท้องถนนย่านสุขุมวิทเปลี่ยนเป็นความสุขสงบทันทีที่เดินผ่านประตูรั้วเข้าไปยังสนามหญ้าและต้นไม้ใหญ่ร่มรื่นในบ้านของ ตวัน ชวลิตธำรง หรือศิลปินนักร้องนักแต่งเพลงที่แฟนๆ รู้จักกันในชื่อ ปอย Portrait นอกจากนั้นเรายังสัมผัสได้ถึงความมีชีวิตชีวาจากสุนัขและแมวที่เขาเลี้ยงไว้ในบ้าน ซึ่งเข้ามาต้อนรับและทักทายอย่างเป็นมิตร
    เรานั่งคุยกับเขาถึงการทำงานเพลงจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่ผลงาน PopTrade (2546) ที่แนะนำตัวกับคนฟังเป็นอัลบั้มแรก ไปสู่การสื่อสารความรู้สึกและตัวตนที่ชัดเจนขึ้นในอัลบั้ม ลวงตา (2548) เขาทิ้งห่างเป็นสิบปีถึงจะออกผลงานชุด A.M. (2558) หลังจากนั้นเขาผันไปทำงานเบื้องหลังให้กับศิลปินมากมาย ก่อนจะออกอัลบั้มรวมผลงานที่ทุกคนร้องได้ไว้ใน The Anthology of Sadness (2561) เพื่อเอาใจแฟนๆ รุ่นแรก ปีนี้เขากลับมาปล่อยผลงานเพลงให้ฟังอีกครั้ง พร้อมจัดคอนเสิร์ตใหญ่ 15yrs PORTRAIT ช่วงกลางปีให้คนรักเพลงเศร้าโดยเฉพาะ ถือเป็นคอนเสิร์ตที่รวบรวมผลงานซึ่งสะท้อนยุคสมัยในการทำงานของเขาตลอด 15 ปีในวงการดนตรีไว้อย่างครบถ้วน
    ตลอดระยะเวลาในการทำงานวงการดนตรี เอกลักษณ์ของผลงานที่ชัดเจนทำให้เขาเป็นตัวแทนผู้ถ่ายทอดเพลงเศร้า ซึ่งผลงานของเขาทั้งคอยเยียวยาและเคียงข้างความรู้สึกของคนฟังเสมอมา แต่สิ่งที่ไม่มีใครรู้คือมีช่วงเวลาหนึ่งซึ่งเขาเผชิญกับอาการป่วยทางกาย แล้วกระทบกับการใช้ชีวิตและการทำงานอย่างหนัก 
    "ผมเหมือนนักดนตรีทั่วไปที่ใช้ชีวิตสุดเหวี่ยง คือตอนนั้นมันทำอะไรก็ได้ ไม่มีผลอะไรต่อร่างกายเลย นอนดึก กินเหล้า สูบบุหรี่ เล่นดนตรีที่ผับเสร็จตี 2 นั่งกินข้าวต้มต่อถึงตี 4 ไปต่อบ้านเพื่อนถึง 8 โมงเช้า ตื่น 4 โมงเย็นออกไปเที่ยวต่อ ไม่อ้วน ไม่เป็นโรค"
    ช่วงที่พักการทำอัลบั้มของตัวเอง เขาทำงานเบื้องหลัง เป็นฟรีแลนซ์ และมีจังหวะได้เข้าไปทำงานที่สหภาพดนตรีพักหนึ่งด้วย ตอนนี้เองที่ร่างกายส่งสัญญาณเตือนให้รู้ตัวเป็นครั้งแรก ตอนทำเพลงรายการโทรทัศน์แบบไม่ได้หลับไม่ได้นอนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้เขาเป็น Bell's Palsy หรือโรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก
    "หมอบอกว่าคนเรามีเชื้อไวรัสอยู่ตรงหลังหูทุกคนตั้งแต่เกิด แต่มันจะทำอะไรเราไม่ได้ เพราะถูกภูมิคุ้มกันเรากดไว้ เมื่อไรที่เราพักผ่อนน้อย กินอาหารไม่ดี ร่างกายอ่อนแอ เชื้อไวรัสตัวนี้มันออกมาทำร้ายปลายประสาทสมองคู่ที่ 7 ที่ควบคุมการเคลื่อนไหวบนหน้า ทำให้ขยับหน้าไม่ได้ เรารู้สึกนะไม่ใช่ชา แต่ว่าบังคับหน้าไม่ได้เลย ตอนอาบน้ำผมต้องเอามือปิดตาเพราะว่าตามันปิดไม่ได้ นอนก็ต้องเอาพลาสเตอร์มาปิด กินข้าวเลอะหมด เพราะว่าปิดปากไม่ได้ ถามหมอว่ารักษายังไง มียาให้กินไหม ไม่มี ต้องรักษาสุขภาพให้ร่างกายซ่อมแซมเอง"
    เขาใช้เวลากว่า 3 เดือนจึงจะหายจากอาการครั้งนั้นกลับมาเป็นปกติ แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่รู้สึกว่าสุขภาพตัวเองเสื่อมโทรมหรือถดถอย คิดว่าแค่พักผ่อนน้อยและเร่งการทำงานของร่างกายอย่างหนักมากเกินไปเท่านั้น จนมาเจอกับอีกอาการที่ทำให้เขาตระหนักถึงปัญหาสุขภาพอย่างแท้จริง
    "ช่วงที่ตาสว่างจริงๆ คือตอนที่นั่งออฟฟิศหลายปี แล้วผมกำลังแต่งงาน แฟนพยายามให้รักษาสุขภาพด้วยการเลิกบุหรี่ ซึ่งการเลิกบุหรี่กลับเปิดประตูหายนะบานแรกของสุขภาพผมอย่างไม่น่าเชื่อ"
    สมัยก่อนปอยสูบบุหรี่วันละซองครึ่ง เขาถือว่าสูบในปริมาณปานกลางพอๆ กับคนทั่วไปที่ไม่ถือว่าหนักหน่วงมาก เขาลองเลิกบุหรี่มาแล้วหลายวิธี จนมาลงตัวที่การค่อยๆ ลดปริมาณจนถึงระดับนึงแล้วจึงหักดิบต่อทันที ซึ่งการเลิกบุหรี่ไม่ได้ก่อผลเสียอะไรต่อร่างกาย แต่พฤติกรรมระหว่างการเลิกต่างหากที่สร้างผลกระทบต่อสุขภาพของเขา 
    "พอเลิกบุหรี่จะต้องทำยังไงก็ได้ให้ปากไม่ว่าง เราจะได้ไม่กลับไปสูบบุหรี่ ผมก็กินขนม อมลูกอม พอเลิกบุหรี่ การรับรสมันดีขึ้น เลยมีความสุขกับการกิน กะว่าเดี๋ยวไปลดทีหลัง พออ้วนน้ำหนักขึ้น ผมก็เป็น Sleep Apnea คือภาวะหยุดหายใจระหว่างหลับ"
    ผลดีของการเลิกบุหรี่คือทำให้ฟังก์ชันต่างๆ ของร่างกายกลับมาทำงานดีขึ้น การรับกลิ่นและการรับรสชาติอาหารมีประสิทธิภาพ ซึ่งช่วยให้รู้สึกเจริญอาหาร จะเป็นเรื่องดี ถ้าเขาทานอาหารตามสัดส่วนในปริมาณที่ร่างกายต้องการ และได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย แต่เขาไม่ระวังเรื่องการเลือกบริโภคอาหาร กินของหวานทดแทนความรู้สึกอยากสูบบุหรี่ และละเลยการออกกำลังกายจนทำให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น
    สำหรับคนที่ต้องการเลิกบุหรี่แล้วต้องหาอย่างอื่นมากินไม่ให้ปากว่าง การกินขนมหรือของหวานสามารถส่งผลเสียต่อร่างกายก็จริง แต่ยังมีอีกหลายวิธีที่ใช้ได้จริง เพียงเลือกการกินผลไม้รสเปรี้ยวที่มีวิตามินซีสูง เช่น มะนาว หรือ มะขามป้อม เป็นของว่าง เนื่องจากรสเปรี้ยวจะทำให้รสของบุหรี่เปลี่ยนไปจนไม่อยากบุหรี่ รวมถึงวิตามินซีจะช่วยให้ร่างกายสดชื่นอีกด้วย
    เมื่อน้ำหนักเพิ่มจนร่างกายอ้วนขึ้น ส่งผลให้ช่องทางเดินหายใจเล็กลง จากเดิมที่ไม่เคยกรนก็เริ่มกรน แล้วมีอาการหยุดหายใจโดยไม่รู้ตัว เขาเล่าว่าทั้งๆ ที่นอนวันละ 12 ชั่วโมง กลับรู้สึกเหมือนไม่ได้นอน ร่างกายอ่อนเพลีย ใบหน้าโทรมลง ไม่อยากลุกออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน และขับรถหลับใน สิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลต่อการใช้ชีวิตและการทำงานอย่างเห็นได้ชัด
    "ชีวิตแย่มาก มันคือโทรศัพท์ที่สายชาร์จเสียแล้วชาร์จแบตไม่เข้าน่ะ โรคนี้เป็นตอนที่เราหลับไง เราไม่รู้ตัวว่ามันร้ายแรงแค่ไหนจนคนข้างๆ มาบอกเรา สมองเราตอนนอนทุกคืนมันจะเปลี่ยนความทรงจำระยะสั้นเป็นความทรงจำระยะยาว ซึ่งถ้ามีกระบวนการอะไรไปรบกวนการนอน สมองจะไม่จดจำอะไรเลย แสดงว่าต่อไปเราจะเป็นอัลไซเมอร์ในที่สุด นอกจากนั้นยังไม่มีการซ่อมแซมร่างกายตอนกลางคืนด้วย ฉะนั้นโรคความดัน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง อะไรที่เลวต่อร่างกาย สามารถเป็นเพราะโรคนี้โรคเดียวได้เลยนะ"
    ทันทีที่รู้ตัว เขาไปหาหมอและทำการตรวจการนอนหลับ (Sleep Test) จึงพบว่ามีการหยุดหายใจระหว่างการนอนเฉลี่ยชั่วโมงละ 64 ครั้ง คือมีการหยุดทุกนาที โดยการหยุดหายใจครั้งที่นานที่สุดคือ 46 วินาที นั่นหมายถึงตลอดการนอน เขาแทบไม่ได้หายใจเลย หลังจากนั้นจึงทำการตรวจอีกครั้งโดยการใช้เครื่องช่วยหายใจ ผลที่ได้คือเขาไม่หยุดหายใจเลย 
    "ใส่เครื่องคืนแรก ตื่นขึ้นมาเพิ่งรู้ตัวว่าเราไม่ได้หลับสนิทอย่างนี้มาตลอดสิบปีเลยเหรอ เพราะลืมความรู้สึกหลับสนิทแบบนี้มาเป็นสิบปีแล้ว พอเป็นแบบนี้แล้วชีวิตเปลี่ยนไป ดีขึ้นเยอะมากๆ เลยเข้าช่วงที่เริ่มดูแลตัวเองจริงๆ แล้ว"
    เมื่อเขาตระหนักถึงผลกระทบของภาวะหยุดหายใจระหว่างหลับ และจากพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ในอดีตที่อาจก่อให้เกิดกลุ่มโรคที่เรียกว่า NCDs ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วนลงพุง ซึ่งเกิดจากการใช้ชีวิตที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ได้แก่ การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานอาหารหวานมันเค็มจัด ขาดการออกกำลังกาย และมีความเครียด เขาจึงเลือกที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และไม่สร้างปัจจัยเสี่ยงเพิ่มด้วยตัวเอง เพื่อป้องกันและลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคกลุ่มนี้ได้ โดยค่อยๆ เริ่มจากสิ่งที่เขากำลังเผชิญก่อน
    การใส่เครื่องช่วยหายใจครอบจมูกเวลานอน ทำให้เขาต้องฝึกการหายใจใหม่ เนื่องจากตั้งแต่เด็ก ปอยติดการหายใจทางปาก เนื่องจากอาการภูมิแพ้ที่หายใจทางจมูกไม่สะดวก เขาจึงเริ่มรักษาภูมิแพ้ แล้วหันมาดูแลสุขภาพตัวเองอย่างจริงจังด้วยการออกกำลังกายควบคู่ไปกับการดูแลเรื่องอาหารการกิน ร่างกายจึงค่อยๆ ฟื้นฟูจากอาการต่างๆ ที่เคยมองข้ามทีละอย่าง
    เขาเล่าให้ฟังว่าเคยอ่านหนังสือ เกร็ดความคิดบนก้าววิ่ง (What I Talk About When I Talk About Running) ของ ฮารูกิ มูราคามิ ที่เขียนว่า เขาเป็นคนป่วยง่ายมาก มีอะไรนิดหน่อยร่างกายจะฟ้อง อย่างกินมากกว่าเดิมนิดนึงก็อ้วน นอนหลับไม่พอร่างกายก็เสื่อมโทรม ขณะที่ภรรยาของเขากินอะไรก็ไม่อ้วน ชอบกินขนมแต่ก็ไม่เป็นอะไร บางทีเขารู้สึกอิจฉาภรรยามาก พอคิดกลับกัน การเป็นแบบเขาก็เหมือนการมีสัญญาณเตือนให้ดูแลตัวเองแต่เนิ่นๆ ส่วนคนที่ไม่เคยเป็นอะไรเลย อาจไม่รู้ตัวว่าสุขภาพทรุดโทรม จนกว่าจะมีอาการปรากฏขึ้นมาอย่างที่เขาเป็นก็ได้
    "ผมอ่านแล้วรู้สึกว่า คนที่ทำอะไรก็ได้ กินอะไรก็ได้ ร่างกายแข็งแรงดี เหมือนมีระเบิดเวลาที่รอวันระเบิด ตัวผมก็เป็นอย่างนั้น ทีนี้พอระเบิดเวลาทำงานแล้วจะต้องทำยังไงกับชีวิต ต้องแก้ไขยังไง นั่นคือการเปลี่ยนชีวิตหลังจากนี้ เพราะผมรู้สึกว่าถ้าไม่ทำอะไรสักอย่าง ร่างกายเราจะอ่อนแอลง ทำงานได้น้อยลง ทำงานได้ไม่ดีเท่าเดิม และไม่ใช่แค่เรื่องงานอย่างเดียว แต่จะใช้ชีวิตได้น้อยลงด้วย เหมือนเป็นร่างกายที่ใช้ชีวิตแล้วไม่สนุกเหมือนเดิม เราต้องซ่อมร่างกาย อยู่เฉยๆ แล้วกินตามใจตัวเองไม่ได้แล้ว ดังนั้นลำดับความสำคัญแรกในชีวิตเลยคือต้องดูแลสุขภาพให้ได้ เพื่อที่จะสามารถทำงานได้เหมือนตอนที่ยังไม่ป่วย เราต้องรักษาประสิทธิภาพการทำงานของเราให้ได้"
    การเริ่มดูแลสุขภาพร่างกายของเขามีภรรยาคอยช่วยสนับสนุนอย่างเต็มที่ เธอคอยหาข้อมูลมาปรับใช้กับการรับประทานอาหารต่อมื้อต่อวัน ชวนกันไปออกกำลังกาย ค่อยๆ ปรับระบบการเผาผลาญของร่างกายพร้อมกับเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ จนกิจวัตรประจำวันของเขาทุกวันนี้คือเล่นเวทควบคู่ไปกับการคาร์ดิโอด้วยการวิ่งหรือขี่จักรยานสัปดาห์ละ 5 วัน
    ตอนนี้เขารู้สึกว่าร่างกายกลับมาดีเหมือนเดิมแล้ว เมื่อเทียบกับสมัยก่อนที่เคยร้องเพลงบนเวที 3-4 ชั่วโมงอย่างต่อเนื่อง การแสดงคอนเสิร์ตครั้งล่าสุดเมื่อกลางปี เขาสามารถกลับมาทำได้ ต่างกับตอนที่ร่างกายไม่ดีที่ทำแบบนี้ไม่ได้เลย เป็นการพิสูจน์อย่างชัดเจนว่าประสิทธิภาพในการทำงานและการใช้ชีวิตกลับมา
    "กลายเป็นว่าทุกวันนี้ยอมรับกับความจริงที่ว่า เราต้องออกกำลังกายไปตลอดชีวิตได้อย่างไม่รู้สึกลำบากอะไร และรู้สึกว่ามันเมคเซนส์แล้วที่จะต้องทำ ถามว่ายากไหม ยาก แต่อยากทำให้ได้ เพราะผมรู้สึกว่านี่เป็นการเปลี่ยนชีวิต ตูน (อาทิวราห์ คงมาลัย) ก็เคยพูดไว้ว่า ประตูบานแรกจะฝืดมาก แต่ถ้าคุณเปิดได้เมื่อไร ชีวิตคุณจะเปลี่ยนทันที เพราะฉะนั้นอย่าไปกลัวว่าบานนี้จะฝืดขนาดไหน ลองเปิดมันดูให้ได้"
    หลังจากที่ดูแลตัวเองมาสักพัก ปอยบอกว่าเขามีหลักในการตรวจสอบสัญญาณสุขภาพส่วนตัวจากการใช้ชีวิต ถ้าหากคุณภาพชีวิตดี นอนหลับสนิท พักผ่อนเพียงพอไหม ตื่นมารู้สึกอ่อนเพลียหรือเปล่า หากสามารถทำงานได้ต่อเนื่อง ระหว่างวันกระปรี้กระเปร่าไม่รู้สึกง่วง ร่างกายสามารถตอบสนองต่อความต้องการใช้ชีวิตได้ แสดงว่าสุขภาพดี แต่ถ้าตอบสนองไม่ได้ แสดงว่าร่างกายต้องการการดูแลมากกว่าที่เป็นอยู่
    "เป้าหมายในการดูแลสุขภาพของผม นอกจากเรื่องการทำงานคือ สามารถกินอาหารที่อยากกินโดยที่ร่างกายไม่ถูกทำลาย ไม่ใช่ว่าแก่ไปแล้วเป็นโรคเกาต์ อายุ 40-50 กว่าแล้วต้องไปหาหมอทุกอาทิตย์ ต้องผ่าตัด กายภาพ ไปเที่ยวก็ไม่ได้ เงินที่เก็บไว้ก็ร่อยหรอจ่ายให้หมอหมด ถ้าคุณไม่ดูแลตัวเองก็ต้องเจอสิ่งเหล่านี้ ไหวไหมล่ะ ทุกวันนี้ผมทำทุกอย่างเพื่อหนีความเป็นไปได้นั้น เพื่ออนาคตจะเป็นคนที่มีอายุมากอย่างมีคุณภาพ กินอะไรก็ได้ ไปไหนมาไหนไม่ต้องพึ่งรถเข็น"
    สำหรับปอย สัญญาณเตือนที่ส่งมาให้รูปแบบของโรคภัย ทำให้เขารู้ว่า ตัวเขาจะต้องเริ่มดูแลสุขภาพของตัวเองด้วยตัวเองเท่านั้น เพราะ 'ชีวิตดีเริ่มที่เรา' ไม่มีใครสามารถลงมือทำแทนกันได้ 
    แม้ในวันที่ร่างกายยังไม่ส่งสัญญาณใดๆ หากปล่อยเวลาล่วงเลยและผัดผ่อนไปเรื่อยๆ เมื่อถึงวันที่ระเบิดเวลาในร่างกายทำงาน อาจสายเกินกว่าจะกู้โอกาสในการใช้ชีวิตอย่างที่เคยต้องการกลับมา



    สำหรับผู้อ่านที่อ่านสัญญาณเตือนจากร่างกายที่เกิดขึ้นกับ ปอย-ตวัน ชวลิตธำรง แล้วอยากลองเปลี่ยนแปลงตัวเอง พร้อมกับเริ่มมีชีวิตที่ดีขึ้นแบบเขา สามารถคลิกเข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ชีวิตดีเริ่มที่เรา

ดุสิตา อิ่มอารมณ์

นักเขียน ผู้ใช้พื้นที่ในเวลาว่างไปกับการอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ขี่จักรยาน อ่านการ์ตูน เล่นเลโก้ ฯลฯ โดยเชื่อเต็มหัวใจว่าเวลาที่หมดไปกับความรื่นเริงนี้สามารถเติมเต็มชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ