หลอดไฟ-นวินดา ปัจฉิมสวัสดิ์ พัฒนาศักยภาพทางกายและทักษะการใช้ชีวิตได้ด้วยการเต้น #ชีวิตดีเริ่มที่เรา

    หากจะกล่าวว่าชีวิตของ หลอดไฟ-นวินดา ปัจฉิมสวัสดิ์ คือการเต้น เต้น แล้วก็เต้น คงไม่ผิดนัก เพราะเธอเริ่มเรียนเต้นตั้งแต่อายุ 4 ปี ความรักที่มีทำให้เธอฝึกฝนอย่างจริงจัง แล้วเลือกเดินไปในเส้นทางสายนี้โดยเฉพาะ จนจบการศึกษา ศิลปบัณฑิต สาขาศิลปะการเต้น จาก Victorian College of the Arts and Melbourne Conservatorium of Music, The University of Melbourne ประเทศออสเตรเลีย พยายามค้นหาตัวเองอย่างต่อเนื่องด้วยการเข้าร่วมโปรแกรม 'Soft Landing' Intensive Professional Development หลักสูตรพัฒนาระดับวิชาชีพขั้นสูง จาก QL2 Dance Inc. เมืองแคนเบอร์รา ได้รับประกาศนียบัตรครู Teacher Certificate จากสถาบัน Commonwealth Society of Teachers of Dancing ประเทศออสเตรเลีย

    หลังจากนั้นเธอยังได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน 67 ศิลปิน จากผู้สมัครทั่วโลกที่มีอายุน้อยที่สุด ที่ได้ทุนสนับสนุนเข้าร่วมโปรแกรม DanceWEB ในเทศกาล ImPulsTanz - Vienna International Dance Festival ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ก่อนที่จะเดินทางกลับมาสร้างสรรค์งานของตัวเองที่ประเทศไทย โดยเธอมักนำศาสตร์การเต้นมาร่วมมือกับศิลปินแขนงอื่นอีกหลากหลายสาขา เช่น สถาปัตยกรรม ดนตรี ภาพยนตร์ ประติมากรรม ฯลฯ มาใช้ในกระบวนการสร้างสรรค์งานศิลปะการเต้นของเธอเสมอ ซึ่งเธอมีโอกาสนำไปเผยแพร่ในเทศกาลศิลปะต่างๆ มาแล้วหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย เกาหลี สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย เป็นต้น

    นอกจากการทำงานในฐานะศิลปินด้วยความทุ่มเท อีกบทบาทหนึ่งที่เธอจริงจังไม่แพ้กันคือ การเป็นครูสอนศิลปะการเต้นร่วมสมัย ที่เน้นกระบวนการเคลื่อนไหวผ่านความคิดสร้างสรรค์ การทดลอง และดึงศักยภาพของผู้เรียนออกมาปรับรูปแบบเป็นท่าเต้น รวมถึงมีตำแหน่งเป็น Creative Director ที่สถาบัน บางกอกแดนซ์ อะคาเดมี อีกด้วย เธอเห็นว่าการนำความสามารถที่ตัวเองมีมาถ่ายทอดและส่งต่อให้กับนักเรียนนั้น สามารถพัฒนาทักษะทางร่างกายและจิตใจของเยาวชน อีกทั้งเป็นการส่งต่อแรงบันดาลใจ ที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาศิลปะการเต้นในประเทศต่อไป ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เธอรู้สึกว่ามีค่าไม่น้อยไปกว่าการทำงานศิลปะส่วนตัวเลย

การเต้นเพื่อเยียวยาศิลปิน

    หลอดไฟเล่าให้ฟังว่ากว่าเธอจะมาถึงจุดนี้ที่เป็นทั้งศิลปินสร้างสรรค์งานและเป็นครูสอนเต้น เธอเคยทั้งบาดเจ็บ กดดันกับความคาดหวัง และสับสนจนเกือบที่จะเลิกเต้นอยู่เหมือนกัน

    "ก่อนไปเรียนที่ออสเตรเลีย หลอดไฟคิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่มาก เคยเต้นชนะทุกรางวัล เรื่องการเต้นฉันรู้หมดแล้ว จากบ่อเล็กๆ ที่เราอยู่เมืองไทยนี้ พอไปอยู่เมืองนอก ก็เหมือนโดนโยนเข้าไปในทะเลใหญ่ อ๋อ นี่คือศิลปะ เรารู้แล้วว่าของจริงคืออะไร แล้วพอเรียนจบกลับมาเมืองไทย เราไม่รู้ว่าจะทำยังไงให้คนยอมรับ เราต้องทำอะไรอีกเยอะแยะมากถึงจะเป็นศิลปินจริงๆ ได้

    "ตอนนั้นหลอดไฟอยู่ในจุดที่ตกต่ำมากในชีวิต เพราะตั้งแต่เต้นมา 4 ขวบ ก็ไม่เคยหยุดเต้นเลย พอเรียนจบมาแล้วเราคาดหวังกับตัวเองไว้เยอะเกินไป เราแบกรับความคาดหวังของคนรอบตัวว่า เราต้องสร้างสิ่งมหัศจรรย์ขึ้นที่นี่ เราตื่นเต้นที่จะทำจนกลัวความล้มเหลว มันเยอะเกินไปสำหรับเราที่จะรับมือตอนอายุเท่านั้น จนเกือบจะเลิกเต้นแล้ว"

    ในช่วงเวลาเดียวกัน เธอพบว่าที่ออสเตรเลียเปิดโปรแกรม 'Soft Landing' ซึ่งเป็นคอร์สที่เปิดสำหรับคนที่เพิ่งเรียนจบแล้วยังไม่มีที่ไป "คือการลงจอดที่โลกความจริงแบบเบาๆ ตามชื่อค่ะ" เธอเล่าให้ฟังว่าหากไม่มีโปรแกรมนี้ เธออาจจะไม่ได้ยืนอยู่ตรงนี้แล้วก็ได้ เพราะการเข้าคอร์สนี้ทำให้เธอได้บำบัดตัวเองผ่านการทำงาน ที่สามารถเปลี่ยนชีวิตและทัศนคติต่อการทำงานเต้นของเธอ พร้อมทั้งตอบคำถามที่ค้างคาอยู่ในใจด้วยว่า เธอรักการเต้นจริงๆ หรือเปล่า

    "เหมือนไปบำบัดอยู่เดือนนึงค่ะ ร้องไห้ทั้งเดือน จริงๆ เราแทบไม่ได้เต้นเลยนะคะ มันคือการอิมโพรไวส์ กับการสื่อสารความรู้สึกตัวเองออกมา ตอนขึ้นเวทีเราก็เอาความรู้สึกในตอนนั้นแสดงออกมา โดยพูดกับคุณพ่อคุณแม่เป็นภาษาไทย เหมือนเขานั่งอยู่ในโรงละครที่ออสเตรเลีย มันคือสิ่งที่เราอัดอั้นมาตลอดชีวิตว่า สรุปเราชอบการเต้นจริงๆ หรือเปล่า หรือเราแค่เก่งเราเลยเลือกมัน แต่เราก็รู้ว่าการที่เราร้องไห้เยอะขนาดนั้น แปลว่าเราแคร์มันจริงๆ กลายเป็นว่าฝรั่งที่นั่งดูก็ร้องไห้ตามเรา หลอดไฟเลยเข้าใจว่าจริงๆ การเต้นมันแค่นี้เอง การแสดงงานที่คนเชื่อมโยงกับเราได้ คือเราต้องจริงใจมากๆ กับสิ่งที่เราแสดงออกไป ไม่ต้องมีการเตะขาหมุนตัวกระโดด 400 รอบ เพื่อทำให้เขารู้สึกประทับใจ เราก็รู้สึกว่าแนวคิดนี้มันใช้ได้กับทุกเรื่องในชีวิตของเรา"

    เมื่อเธอรับบทบาทเป็นครูแล้วเจอกับนักเรียนที่ร้องไห้และท้อกับการฝึกซ้อม เธอจึงนำประสบการณ์ที่ผ่านมาสอนให้นักเรียนรู้ว่า ขณะที่พวกเขารู้สึกว่าเต้นไม่ไหว อยากจะเลิก และร้องไห้อย่างหนักให้กับมัน แปลว่าพวกเขาแคร์กับสิ่งที่ตัวเองทำเช่นกัน

การเต้นเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน

    อีกบทบาทที่เธอให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการสร้างสรรค์งานศิลปะคือ การสอนเต้น หลอดไฟเป็นครูสอนการเต้นร่วมสมัย และสอนด้านการเคลื่อนไหวอย่างสร้างสรรค์ โดยเน้นให้ผู้เรียนดึงความคิดความรู้สึกออกมาสร้างสรรค์เป็นท่าเต้น รับผู้เรียนตั้งแต่รุ่นอายุ 10 ปี ไปจนถึงระดับนักเต้นอาชีพ

    "การเป็นครูหลอดไฟถือว่าค่อนข้างจริงจังมาก เพราะการเรียนเต้น เด็กจะได้ทักษะครบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นความแข็งแรง ความคิดสร้างสรรค์ สติปัญญา สมาธิ แต่ขณะเดียวกัน เขามองเราในฐานะคนทำงานศิลปะ เราจึงอยากเป็นต้นแบบที่ดีให้เขาด้วย"

    "ก่อนหน้านี้คิดว่าเราในฐานะศิลปินคนนึง ถ้าอยู่เมืองนอก เราก็ได้พัฒนาตัวเอง ซึ่งก็ดีมาก แต่ว่าอยู่ที่นี่ เรามีนักเรียนที่สถาบันเป็นพันคน ที่เราสามารถสร้างอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นได้ แล้วก็สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนได้มากขึ้น เรารู้สึกว่าเรามีคุณค่า และเราทำอะไรได้มากกว่า ไม่ใช่ว่าเรียนกลับมาแล้วต้องหนีไปอยู่เมืองนอกหมด แล้วเมื่อไรประเทศจะพัฒนา แล้วก็อยากจะให้น้องๆ เห็นว่ามันมีหนทางในการใช้ทักษะการเต้นเป็นอาชีพกับสิ่งที่เรารัก ไม่ว่าจะเป็นนักเต้น นักออกแบบท่าเต้น หรือเป็นผู้กำกับโชว์ได้"

    เธอบอกว่าคนทั่วไปยังไม่ค่อยเห็นความสำคัญของศิลปะการเต้นเท่าไรนัก หากเทียบจากศิลปะแขนงอื่นๆ ที่ได้รับการชื่นชมมากกว่า ทั้งๆ ที่การเต้นใช้ทั้งกล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็กครบทั้งร่างกาย ประกอบกับเชื่อมโยงการทำงานของประสาทส่วนต่างๆ ควบคู่ไปกับการจัดระเบียบร่างกายนั้น ยังต้องใช้การฟังและสายตาด้วย นักเรียนที่เรียนเต้นจึงมีบุคลิกดี รู้จักการใช้พื้นที่ เคลื่อนไหวคล่องตัว ทำอะไรหลายอย่างพร้อมกันอย่างเป็นระบบ เมื่อต้องรับผิดชอบทั้งการเรียนและกิจกรรมในชีวิตประจำวัน จึงสามารถบริหารจัดการได้ดีไปด้วย

    "การเต้นคือการใช้ร่างกายทุกส่วน ด้านกายภาพแข็งแรงขึ้นเป็นของคู่กันอยู่แล้ว แต่นอกจากนั้นมันต้องมีการประสานการทำงานของส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน เด็กจะต้องใช้ตา หู ร่างกาย เขาจะเรียนรู้ว่าทิศทางการเคลื่อนไหวอย่างถูกต้องคืออะไร จะโต้ตอบกับสิ่งต่างๆ รอบตัวอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น การเขย่งขาอย่างเดียว เขาต้องคิดแล้วว่าจะควบคุมร่างกายประมาณ 20 จุดยังไง เก็บท้องนะ ดึงหลังนะ ดึงข้อเท้าขึ้นยังไง ล็อกข้อเท้า กดไหล่ยังไงให้ปลอดภัยทุกอย่าง คือการจะทำ 1 ท่า นักเรียนต้องคิดเยอะ เขาจึงสามารถทำอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกันได้ เพราะเวลาเต้น เขาต้องทำหลายอย่างตลอดเวลา ควบคุมร่างกาย เต้นให้ตรงจังหวะ แล้วสื่อสารความหมายความรู้สึกต่างๆ ออกไปทางร่างกายให้ถึงผู้ชม"

"Human" (2018) - Contemporary Dance and Installation Performance.
ทักษะชีวิตและพื้นฐานสุขภาพที่ดีจากการเต้น

    ปกติผู้ที่อยู่ในวัยเรียนหรือวัยทำงานจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการนั่งอยู่ที่โต๊ะ และไม่ค่อยมีกิจกรรมทางกาย หรือการเคลื่อนไหวร่างกายโดยใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ระหว่างวัน ซึ่งจะส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของระบบลำไส้ ระบบการดูดซึม และการย่อยอาหารลดลง แล้วกระทบต่อระบบการทำงานส่วนอื่นๆ ของร่างกายต่อไป

    ดังนั้นหากลองหากิจกรรมที่ชอบให้ร่างกายเคลื่อนไหวเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมต่อวันได้ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย เล่นกีฬา หรือการเต้น ก็จะช่วยป้องกันสาเหตุการเกิดโรคต่างๆ ได้ อย่างการเต้นก็ถือเป็นกิจกรรมระดับหนักที่เหมาะกับคนทุกวัย ยิ่งในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของผู้คนรวมทั้งเด็กๆ ด้วย พวกเขาจึงใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเต้นก็เป็นกิจกรรมทางกายที่แยกพวกเขาออกจากหน้าจอ เป็นการเพิ่มกิจกรรมทางกายและลดพฤติกรรมการนั่งนิ่งๆ อย่างต่อเนื่องได้ระยะหนึ่งเลยทีเดียว

    "มันคือยุคสมัยนี้ จริงๆ เด็กเราส่วนใหญ่ก็ยังมีปัญหานี้อยู่ เป็นเรื่องที่เรารู้กันอยู่แล้วว่ามันจะทำให้เขาสมาธิสั้น กดอะไรแล้วได้เลย ทำให้เขารอไม่เป็น แล้วการเข้าไปอยู่ในห้องเราไม่มีเทคโนโลยีอะไรอย่างอื่นให้เขา เขาต้องมีสมาธิกับร่างกายของเขาเอง เด็กๆ หลายคนก็บอกว่า 'หนูฟังครูได้เป็นชั่วโมงในห้องเต้น โดยที่หนูไม่ว่อกแว่ก หรืออยากจะคุยกับเพื่อนในมือถือ' คือเขาอยู่ได้ แล้วสมาธิเขาจะค่อยๆ ยาวขึ้น กว้างขึ้นเรื่อยๆ

    "แล้วยิ่งเด็กๆ ที่เสพโซเชียลเยอะๆ หรือนักเรียนที่อยู่ในห้องที่มีกระจกแบบนี้ เขาจะติดการมองตัวเอง ติดการติตัวเอง ต้องการให้ตัวเองสวยขึ้น สิ่งเหล่านี้ค่อนข้างอันตราย ซึ่งการเต้นเขาจะแก้ไขตัวเองในกระจกตลอดเวลา เวลาสอน หลอดไฟจะบอกว่า พื้นที่มันมี 6 ด้าน ไม่ได้มีด้านเดียว คือผนังห้อง 4 ด้าน แล้วมีเพดานด้านบน และพื้นด้านล่างด้วย การดูกระจกมันจะเห็นแค่ 2 มิติ แล้วเขาจะติดตัวเองจากบนแผ่นกระจกแผ่นนั้น เราต้องดึงเขาออกมาแล้วให้เขาโฟกัสกับร่างกาย 3 มิติของเขา"

"Terrarium" (2017) - Contemporary Dance Competition for Bangkok Dance Academy.

    หลอดไฟบอกว่าปัจจุบันผู้ปกครองเริ่มเปิดใจและเข้าใจว่าศิลปะการเต้นสามารถช่วยเด็กได้อย่างไร นอกเหนือจากจะได้ออกกำลังกาย พร้อมๆ กับจังหวะดนตรีที่ให้สุนทรีย์ร่วมกับเพื่อนคนอื่นๆ ยังเป็นช่วงเวลาที่พวกเขาได้หัดใช้ความคิดสร้างสรรค์ เสริมสร้างความมั่นใจ และรู้จักรับผิดชอบตัวเองมากขึ้น

    "การเต้นเป็นพื้นฐานที่ดีมากๆ สำหรับเด็ก ที่จะได้แสดงความเป็นตัวเองออกมา เวลาเราสอน เราจะให้เขาครีเอตสิ่งที่เขาเป็นเข้ามาในงาน ให้เขากล้าพูดแล้วลองคิดลองทำว่าสิ่งที่เขาเสนอมาใช้ได้จริงไหม กระบวนการต่างๆ นี้จะสร้างความมั่นใจในตัวเขาขึ้นมาเรื่อยๆ ซึ่งมันจะไปต่อยอดกับสิ่งอื่นที่เขาทำ"

    การพูดคุยกันในวันนี้ ทำให้เรารู้ว่าการถ่ายทอดศาสตร์การเต้นในฐานะครูของหลอดไฟ ไม่เพียงส่งเสริมให้เกิดผลงานการแสดงที่พัฒนาวงการศิลปะการเต้นเท่านั้น แต่ระหว่างกระบวนการเรียนรู้ยังก่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพหลายด้านของผู้เรียน ไม่ว่าจะเป็นทักษะการใช้ชีวิตและสุขภาพที่ดีจากกล้ามเนื้อที่แข็งแรง บุคลิกภาพ ความมั่นใจในตัวเอง ความอดทนและสมาธิ

    โดยสิ่งที่จะช่วยส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นนี้ ทุกคนสามารถเริ่มต้นได้ด้วยตัวเอง เพียงเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายไปกับจังหวะและท่วงทำนองของดนตรีเท่านั้นเอง



    สำหรับผู้อ่านที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวของการเคลื่อนไหวด้วยศิลปะการเต้นจาก หลอดไฟ-นวินดา แล้วอยากมีชีวิตที่ดีขึ้นในแบบของตัวเอง สามารถเริ่มจากคลิกเข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ชีวิตดีเริ่มที่เรา

ดุสิตา อิ่มอารมณ์

นักเขียน ผู้ใช้พื้นที่ในเวลาว่างไปกับการอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ขี่จักรยาน อ่านการ์ตูน เล่นเลโก้ ฯลฯ โดยเชื่อเต็มหัวใจว่าเวลาที่หมดไปกับความรื่นเริงนี้สามารถเติมเต็มชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ