การแสดงครั้งแรกของ เน็ต-สานฝัน จิตต์มิตรภาพ เกิดขึ้นบนเวทีเล็กๆ ภายในงาน happening and friends: Art Market ซึ่งจัดขึ้นที่โครงการดาดฟ้า เธอเป็นศิลปินรับเชิญที่มาร่วมร้องเพลงและเล่นกีตาร์กับวงเดอะปีศาจแบนด์ ก่อนถึงคิวของตัวเอง เน็ตยืนหลบอยู่หลังคนดู เราแตะไหล่ให้กำลังใจเบาๆ แต่ดูเหมือนจะไม่สามารถบรรเทาความตื่นเต้นของเธอได้เลย
เมื่อถึงคิว เน็ตสะพายกีตาร์ขึ้นไปทักทายทุกคนแบบเขินๆ เธอร้องและเล่น 2 เพลงจบไปแล้วแต่มือยังเย็นเฉียบ เน็ตหลบออกไปเงียบๆ ปล่อยให้วงเดอะปีศาจแบนด์แสดงจนจบ เราจึงเรียกเธอกลับมาแนะนำตัวให้คนฟังได้รู้จักอีกสักครั้ง เมื่อไม่มีการแสดงมาสร้างความกดดัน การพูดคุยก็ผ่อนคลายขึ้น และนั่นทำให้เรารู้ว่านอกจากการเป็นศิลปินที่แต่งเนื้อร้องและทำนองด้วยตัวเองแล้ว เธอยังเป็นนักบริหารความมั่งคั่งที่เรียนจบด้านเศรษฐศาสตร์ปรัชญามาอีกด้วย
การพบกันครั้งนี้จึงเป็นการพูดคุยกันอย่างจริงจังถึงเส้นทางการแต่งเพลงและการเป็นศิลปินของเธอ ซึ่งดูสวนทางกับหน้าที่การงาน แล้วเราก็พบว่าสิ่งที่พาเธอมาสัมผัสกับความฝันทางดนตรีได้คือ 'ปรัชญา' และ 'ความกล้า' นั่นเอง
จุดเริ่มต้นของการเป็นศิลปินมักเริ่มต้นจากประสบการณ์ทางดนตรีที่ประทับความทรงจำที่ดีๆ เอาไว้ สำหรับเน็ตเองก็เช่นกัน เธอเล่าให้ฟังว่าสนใจดนตรีตั้งแต่เด็ก โดยเริ่มจากการเรียนเปียโนตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ก่อนที่จะมาเริ่มสนใจกีตาร์ตอนอายุ 15
ส่วนแรงผลักให้เธอฉวยเอาดนตรีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตนั้น เกิดขึ้นหลังจากครอบครัวมีสมาชิกเพิ่มขึ้น แล้วทำให้เธอหันมารับมือกับตำแหน่งลูกคนกลางในแบบที่สร้างความกดดันอย่างสูงให้กับตัวเอง
"ตอนเด็กๆ เน็ตเป็นลูกคนสุดท้องมา 7 ปี ช่วงนั้นเลยได้รับความสนใจจากทุกคนพอสมควรเลย แล้วพอคุณแม่มีน้องอีกคน เราเลยกลายเป็นลูกคนกลางที่ค่อนข้างมีปัญหา ความสนใจที่เคยเป็นของเราถูกเอาไปหมดเลย คิดว่าจะทำยังไงให้ได้ความสนใจนั้นกลับมา มันเลยกลายเป็นแรงผลักดันว่าเราจะพยายามทำอะไรให้เป็นที่ 1 ต้องดีกว่าพี่น้องทุกคน ต้องชนะ พยายามโดดเด่นเพื่อให้พ่อแม่สนใจเรา โชคดีที่เป็นแรงผลักดันในแง่บวกนะคะ"
จากที่ตั้งเป้าผลการเรียนและการทำกิจกรรมที่ต้องโดดเด่นกว่าพี่น้อง เธอขยับจุดหมายขึ้นไปให้ต้องยืนอยู่ที่จุดสูงสุดในโรงเรียนให้ได้ จึงทั้งทุ่มเทให้กับการเรียน ทำกิจกรรมทุกอย่าง เป็นกัปตันทีมบาสเกตบอล ทีมฟุตบอล ทีมว่ายน้ำ กระทั่งเป็นหัวหน้าคณะนักเรียนซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของนักเรียนในโรงเรียนนานาชาติที่เคยศึกษาอยู่ได้ในที่สุด แต่เมื่อโตขึ้น จุดมุ่งหมายก็ยิ่งสูงขึ้น เธอก็ยังมุ่งมั่นที่จะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยในสถาบันที่มีชื่อเสียง แล้วก็เลือกเรียนสาขา Economic and Philosophy (เศรษฐศาสตร์และปรัชญา) ของ London School Economic ที่ประเทศอังกฤษ เรียนจบเกียรตินิยมและเริ่มงานด้านการบริหารความมั่งคั่งในที่สุด
"เป็นความกดดันในตัวเองค่ะ เพราะเรารู้สึกว่าทุกครั้งที่เราตั้งเป้าไว้สูงแล้วทำมันได้ พ่อแม่จะแฮปปี้ พอพ่อแม่แฮปปี้ เราก็แฮปปี้ไปด้วย มันเป็นการตั้งความหวังบนความสุขของคนอื่น เราจึงกลายเป็นคนที่ไม่ว่าตั้งเป้าอะไรจะตั้งไว้สูงมากเลยค่ะ แล้วทำให้ชีวิตเครียดเหมือนกัน เหมือนกับชีวิตมีเป้าหมายและการวางแผนมาตลอด แต่รู้สึกว่าทุกครั้งที่เราเติมเต็มเป้าหมาย ความสุขมันอยู่กับเราแค่แป๊บเดียวแล้วมันก็หายไป จนเราเริ่มสงสัยว่าความสุขที่แท้จริงคืออะไร พออายุประมาณ 15-16 เลยเริ่มเข้าสู่โหมดคิดถึงความหมายของชีวิต มานั่งคิดๆ ก็ค้นพบว่า ที่จริงความหมายในชีวิตคงจะไม่มีมั้ง เพราะคนเราเกิดมาทุกคนก็ต้องตาย ตอนนั้นอยู่ในโหมดดาร์กนิดนึงนะคะ"
ระหว่างนั้นเธอเริ่มหัดเล่นกีตาร์แล้วค้นพบความสุขทั้งจากการฟังและการเล่นดนตรี พร้อมๆ กับเพิ่งรู้ตัวว่าชอบแต่งเพลงมาก
"เวลาแต่งเพลงเราไม่เครียดแล้วไม่ต้องคิดอะไร เป็นช่วงเวลาที่สงบสุขที่สุดแล้ว เลยใช้การแต่งเพลงนี่แหละค่ะเยียวยา"
เน็ตบอกเราว่าเธอมีช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออยู่เหมือนกัน ด้วยบทบาทของลูกที่วางเป้าหมายไว้สูงว่าจะต้องเรียนในสถาบันชั้นนำ จบมาด้วยผลการเรียนยอดเยี่ยม ทำงานดีๆ ที่ได้ผลตอบแทนสูง ให้คุ้มค่ากับการส่งเสียของพ่อกับแม่ ขณะเดียวกันเธอกลับพบความสุขในการร้องเพลง แต่งเพลง และอยากมอบเสียงเพลงให้คนอื่นได้ฟังในฐานะศิลปิน ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างความสมเหตุสมผลในการใช้ชีวิตกับการเดินตามความฝันมากๆ
"เคยคิดว่าเราอยากเป็นศิลปินอาชีพ เพราะคิดว่าถ้าเรามีความสุข คนอื่นก็น่าจะมีความสุขกับเราด้วย แต่มันจะมีเหตุผลมาขัดแย้งตลอดเวลาว่าอย่าเสี่ยงเลย พอมีช่องว่างของอายุช่วงหนึ่งที่วางไว้ว่าจะตามความฝันได้ถึงเมื่อไร เลยบอกตัวเองว่าจะให้โอกาสแค่ครั้งเดียว ถ้าได้ก็ได้ ถ้าไม่ได้ก็เลิกเลย"
ก่อนที่จะเดินทางไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย เธอสมัครออดิชันร้องและเต้นของ SM แล้วสามารถผ่านเข้าไปถึงรอบที่ต้องไปออดิชันที่ประเทศญี่ปุ่น แต่ตอนเดินทางไปถึงยังไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคไข้เลือดออก พออาการป่วยหนักขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ต้องเดินทางกลับประเทศไทย เธอจึงกลับมาโฟกัสเรื่องการเรียนและจบการศึกษาด้วยคะแนนเกียรตินิยมโดยที่ไม่ได้คิดถึงเรื่องดนตรีอย่างจริงจังอีกเลย
"หลังจบปริญญาตรีกลับมาที่เมืองไทยก็คิดว่าเราอายุ 21 แล้ว เหลือเวลาเป็นอิสระอีกไม่มาก ก็เลยบอกพ่อว่าไหนๆ ก็รับผิดชอบในการทำหน้าที่ลูกมาถึงตอนนี้แล้ว อยากจะตามความฝันสักตั้งนึงได้ไหม แล้วบังเอิญช่วงนั้นบริษัทคุณพ่อต้องการรีแบรนดิ้งจึงรู้จักกับพี่ทราย Ztudiotomo (พิราพร พรานพนัส) ที่มาทำการตลาดให้ เขาถามว่า 'ไหนแต่งเพลงไม่ใช่เหรอ เล่นให้ฟังหน่อย' พอเล่นให้ฟัง เขาชอบแล้วถามว่าทำไมไม่คิดที่จะทำออกมา ตอนนั้นเราไม่รู้จักโปรแกรมทำเพลง แค่ร้องแล้วเล่นกีตาร์อย่างเดียว เขาเลยลองส่งเพลงไปให้พี่ดุสิต ตันสกุล ที่เป็นโปรดิวเซอร์ฟัง เขาฟังแล้วบอกว่าชอบมาก อยากเจอ เลยได้พูดคุยแล้วก็ได้ทำเพลงด้วยกันในที่สุดค่ะ"
หลังจากลองทำเพลงจนสำเร็จออกมาแล้ว ดุสิตก็แนะนำว่า เดี๋ยวนี้มีค่ายเพลงที่ให้ศิลปินสามารถทำผลงานเพลงโดยที่ไม่กระทบกับงานประจำของเธอ เน็ตจึงมีโอกาสได้พบกับ เปิ้ล-จิราภรณ์ สุมณศิริ ผู้บริหารของค่ายสนามหลวงมิวสิก ได้เซ็นสัญญา และปล่อยเพลง Remove (ย้ายหัวใจ) ออกมาให้ฟังเป็นเพลงแรก
เน็ตเล่าให้ฟังว่าหลายอย่างที่เธอเลือก ไม่ว่าจะเป็นการเรียน กิจกรรม หรือการกดดันตัวเองที่ผ่านมา ล้วนเป็นส่วนประกอบให้เธอสามารถทำงานที่ใช่ไปพร้อมๆ กับการเป็นศิลปินอย่างที่ฝันได้ โดยสิ่งที่มีอิทธิพลต่อความคิดของเธอมากที่สุดคือ 'ปรัชญา' นั่นเอง
"ถ้าเป็นเรื่องดนตรียังไงก็ต้องช่วยอยู่แล้วใช่ไหมคะ เป็นการช่วยเราคิดเมโลดี้ คิดคอร์ด และการที่เราเปิดประสบการณ์กับกิจกรรมหลายๆ อย่างก็ช่วยเรา แต่ว่าสิ่งที่ส่งเสริมความคิดที่สุดน่าจะเป็นการเรียนปรัชญามากกว่า หลายคนที่ไม่เคยเรียนปรัชญาจะไม่รู้ว่าปรัชญาคืออะไร เพื่อนเน็ตมองว่าเป็นการตอบคำถามโลกแตกอย่าง 'อะไรคือความหมายของชีวิต' แต่นั่นทำให้เราได้นั่งคิดว่าความหมายของมันคืออะไร นี่ฉันจะได้ค้นพบสิ่งที่สงสัยมาตลอดแล้วเหรอ ขณะเดียวกันการได้อ่านความคิดของนักปราชญ์ทั้งหลายว่าเขาคิดยังไงก่อนที่นักเรียนในห้องจะได้ดีเบตกัน มันไม่มีถูกไม่มีผิด เน็ตมองว่าพอคุณได้ตอบคำถามนั้น มันทำให้เราเข้าใจตัวเอง เข้าใจชีวิต"
แล้วเธอก็นำหนึ่งในทฤษฎีทางปรัชญามาใช้ในการแต่งเพลง Rewind (เดินถอยหลัง) ที่ตั้งคำถามกับผู้ฟังว่าถ้าหากเราสามารถย้อนเวลากลับไปยังจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ เราจะสามารถแก้ไขความผิดพลาดนั้นได้หรือเปล่า พร้อมเขียนคำอธิบายถึงทฤษฎีปรัชญาและเบื้องหลังแนวคิดในการแต่งเพลงนี้ไว้ให้ผู้ฟังลองอ่านกันอีกด้วย
"เพลงที่แต่งมาจากหลายเรื่องมากเลยค่ะ บางเรื่องเป็นเรื่องส่วนตัว บางเรื่องมีคนถ่ายทอดมา มาจากปรัชญาด้วย เพราะเราชอบแนวคิดบางอย่าง เราก็เอามาดัดแปลงให้เข้ากับเรื่องความรัก สนุกดีค่ะ"
จากเดิมที่แต่งเพลงเก็บไว้ร้องและเล่นเองคนเดียวเท่านั้น ตอนนี้เธอถือว่าเป็นศิลปินคนหนึ่งที่มีผลงานเพลงออกมาให้คนได้ฟังกันแล้ว
"ความรู้สึกตอนที่ปล่อยเพลงออกมาครั้งแรกมันตื่นเต้น เพราะเรารู้สึกว่าเราจะได้โชว์ตัวตนของเราให้คนอื่นได้ฟัง แต่ตอนนั้นเราไม่ได้ตั้งเป้าไว้เลยว่าจะมีคนฟังกี่คน อาจจะเพราะคุณพ่อเคยสอนว่าความสุขจบที่ตัวเรา หมายความว่าเราไม่สามารถคาดหวังได้หรอกว่าคนอื่นเขาจะรู้สึกกับเราหรือสิ่งที่เราทำยังไง ถ้าเราคาดหวัง ตรงนั้นมันก็มีเปอร์เซ็นต์ที่ผิดหวังอยู่แล้ว และทุกครั้งที่ผิดหวังก็จะรู้สึกไม่ดี เพราะฉะนั้นถ้าอยากมีความสุขจริงๆ ก็คือจบความสุขไว้ ณ จุดที่ทำ เราก็เลยใช้ชีวิตแบบนั้น ความสุขจบตรงที่เราได้ทำในสิ่งที่เรามีความสุข มันเลยสุข ณ ตอนนั้นที่เราทำเพลงเสร็จแล้วก่อนที่จะปล่อยด้วยซ้ำ ทำให้มีความสุขยิ่งกว่าตอนที่ปล่อยออกไป อันนี้ไม่ได้แปลว่าคนชมแล้วจะไม่รู้สึกดีนะคะ แต่เป็นการเดินทางสายกลางให้เราไม่รู้สึกแย่จนเกินไป ไม่ได้รู้สึกลอยเกินไป"
ส่วนการนำเพลงมาร้องให้คนฟังกันสดๆ กลับให้ความรู้สึกที่ต่างกันเหลือเกิน
"มันต่างกัน เพราะเราต้องการให้ทุกอย่างมันสมบูรณ์แบบตามที่คิด แและการที่เราทำเพลงออกมาเป็นผลงานที่ควบคุมคุณภาพได้หมดทุกอย่าง เลยรู้สึกว่าตรงนั้นสมบูรณ์ที่สุดแล้ว แต่เวลาเล่นสดมันควบคุมอะไรไม่ได้เลย จะมีเสียงอะไรมารบกวนหรือเปล่า เสียงตรงนั้นจะดังหรือเปล่า แต่พอผ่านพ้นไป เน็ตก็รู้สึกว่าเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งค่ะ คนอื่นอาจจะมองว่าเป็นเวทีเล็กๆ แต่เรามองว่ามันคือการก้าวข้ามความกลัวอย่างหนึ่ง ความกลัวว่ามันจะไม่สมบูรณ์ เลยภูมิใจ"
เธอไม่เพียงใช้ความกล้ากับการร้องและเล่นกีตาร์ให้คนอื่นฟังเท่านั้น แต่ยังใช้กับการแต่งเพลงมากอีกด้วย
"เน็ตคิดว่ามันคือความกล้าอย่างหนึ่งค่ะ เวลาเราทำอะไรเราต้องมีความรับผิดชอบกับตัวเองและผู้อื่น ทั้งกับตัวเอง ครอบครัว และโลกภายนอก เพราะฉะนั้นการที่เน็ตเป็นเจ้าของสิ่งที่พูด เป็นเจ้าของสิ่งที่ทำแล้วจะรู้สึกผ่อนคลายว่าเราได้ใช้ชีวิตของตัวเอง ผ่อนคลายว่าเรามีความกล้ามากพอที่จะโชว์ว่าเราคิดยังไง"
และนี่คือเรื่องราวที่ประกอบไปด้วยตรรกะและปรัชญาของนักบริหารความมั่งคั่งผู้หนึ่ง ซึ่งเลือกใช้ชีวิตนอกเหนือจากการทำงานไปกับการแต่งเพลงที่เธอรักด้วยความกล้าหาญ
4958 VIEWS |
นักเขียน ผู้ใช้พื้นที่ในเวลาว่างไปกับการอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ขี่จักรยาน อ่านการ์ตูน เล่นเลโก้ ฯลฯ โดยเชื่อเต็มหัวใจว่าเวลาที่หมดไปกับความรื่นเริงนี้สามารถเติมเต็มชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ