บู้-ธนันต์ บุญญธนาภิวัฒน์ มือเบสวงสเลอ (Slur) เดินเข้ามาภายในบ้านซึ่งเป็นที่ตั้งของ ทรยศ สตูดิโอ อย่างคุ้นเคย เขาเดินผ่านกล่องใส่แผ่นเสียงข้างทีวีเข้าไปนั่งที่โต๊ะกินข้าว ระหว่างที่เจ้าของบ้าน อู๋-ยศทร บุญญธนาภิวัฒน์ นักร้องนำและมือกีตาร์ วง เดอะ เยอร์ส (The Yers) เดินผ่านตู้กระจกสูงที่มีซีดีเพลงบรรจุอยู่เต็มเอี้ยดเข้าไปหยิบกีตาร์มานั่งเกาเพลินๆ บนโซฟา
เมื่อพวกเขาเอนหลังนั่งคุยกัน สิ่งที่เราเห็นคือ 2 พี่น้องพูดคุยไต่ถามเรื่องจิปาถะกันอย่างสนิทสนม จนเราลืมภาพของ บู้ สเลอ และ อู๋ เดอะ เยอร์ส ไปชั่วขณะ
หากนับอายุวงดนตรีของพวกเขาแล้ว สเลอถือเป็นวงรุ่นพี่ที่ออกอัลบั้มแรก Boo! (2549) ภายใต้สังกัดสมอลล์รูม (Smallroom) ตั้งแต่ 12 ปีที่แล้ว และได้รับความสนใจจากแฟนเพลงอย่างรวดเร็ว ด้วยสีสันในรายละเอียดดนตรีที่มาพร้อมคาแรกเตอร์หลากหลายของสมาชิกในวง และออกอัลบั้มอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน หลังจากนั้น 5 ปี เดอะ เยอร์สปรากฏตัวในมาดชายชุดดำที่มีบุคลิกเคร่งขรึม ปล่อยอัลบั้ม Y (2554) ออกมา เป็นวงรุ่นน้องในสังกัดเดียวกัน ก่อนที่จะย้ายไปอยู่จีนี่เรคคอร์ดส์ (Genie Records) ถึงกระนั้นความสัมพันธ์ของ 2 พี่น้องนักดนตรียังไม่เปลี่ยนแปลง
ปีนี้พวกเขาทั้ง 2 วงมีผลงานอัลบั้มใหม่ออกมาให้แฟนเพลงฟังกัน โดย เดอะ เยอร์ส ปล่อย CRY อัลบั้มอะคูสติกออกมาตอนต้นเดือนกันยายน ก่อนที่สเลอจะนำเสนออัลบั้ม BIN ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน เราจึงถือโอกาสนี้พูดคุยกับบู้และอู๋ ถึงเรื่องราวบนเส้นทางสายดนตรีของพวกเขาซึ่งเริ่มจากจุดเดียวกัน ก่อนที่ความฝันจะนำพวกเขาดำเนินต่อไปตามทางของตัวเอง
อู๋: จุดเริ่มต้นในการเล่นดนตรีนะครับ น่าจะเป็นตอนเฮียบู้ขอแม่เรียนกีตาร์ใช่ไหม
บู้: น่าจะใช่ครับ ตอนนั้นเด็กมาก จำไม่ค่อยได้ แต่รู้สึกว่าตอนแรกผมชอบขอที่บ้านซื้อไมโครโฟนของเล่น อันละประมาณ 5 บาทที่เป็นสีๆ อยากเป็นนักร้องนำ ชอบไมโครมาก ชอบพี่หนุ่ย-อำพล ลำพูน แล้วพยายามจะคัฟเวอร์ร้องเพลงของวงร็อกต่างๆ ชอบทาทา (อมิตา ทาทา ยัง) มอส (ปฏิภาณ ปฐวีกานต์) ไอดอลไทยต่างๆ ในยุคนั้น เราก็ฟังเพลงมั่ว ตอนนั้นยังไม่เจอตัวตนหรอก รู้สึกว่าอยากเริ่มเล่นดนตรีจริงจัง ช่วงประมาณ ป.4 ผมน่าจะเริ่มอยากเล่นดนตรีก่อนมั้ง ผมจำไม่ได้ว่าอู๋เป็นยังไงบ้าง แต่ว่าผมขอแม่เรียนกีตาร์ จ้างอาจารย์มาสอนที่บ้าน เรียนกีตาร์โปร่งกันสองคน นั่งงมๆ กัน จำได้ว่าตอนนั้นตั้งใจเรียนบ้างไม่ตั้งใจเรียนบ้าง
อู๋: แซวครู
บู้: เออ แซวครู ชวนครูกินขนมบ้างตามประสาเด็ก ป.4 เล่นไปเล่นมาก็รู้สึกว่าตอนนั้นไม่ค่อยได้อะไรเท่าไรเนอะ มาจริงจังตอนมัธยมมากกว่า เราเข้าไปเป็นเด็กใหม่ตอน ม.1 เห็นว่ามีซีนประกวดดนตรีว่ะ มันเท่ดี เราไม่เคยเจอวงร็อกเด็กมัธยมมาเล่นอวดสาว อยากจะเป็นแบบนี้บ้าง เพราะสองพี่น้องก็เตะบอลกันไม่รอดอยู่แล้ว เล่นสเกตบอร์ด หากีฬามาเล่น ผมก็เล่นไม่เก่ง อู๋เขาพอเล่นได้
อู๋: ย้อนกลับไปที่เรียนกีตาร์ ตอนที่เราเรียนคือปิ๊กกิ้ง สำหรับผมได้นะ แล้วก็ได้แค่นั้นมาจนถึงทุกวันนี้ แต่มันก็เป็นเบสิกของการเล่นกีตาร์ที่ดี เรารู้คอร์ด จับคอร์ดเป็น พอมาช่วงประถมปลายกับมัธยม มันเป็นช่วงหาตัวตน เฮียบุ๊งพี่ชายอีกคนนึงชวนไปเตะบอล เราสองคนเตะบอลกันไม่รอดเลย ทำไมเขาไม่เอาเราเป็นตัวจริงสักที
บู้: เป็นตัวแถมตลอด
อู๋: เป็นตัวสำรองตลอด เล่นสเกตบอร์ดก็ไม่เก่ง กระโดดอย่างเดียว แต่งตัวอย่างเดียว พอเจอดนตรีแล้วมันรู้สึกว่านี่มันคือเราเลย อย่างผมคือจริงจังตอน ป.5 เพื่อนเอาวิดีโอเรื่อง That Thing You Do (2539) มาให้ แล้วเราอยากเป็นมือกลองตั้งแต่วันนั้นเลย เลิกเรียนกีตาร์แล้ว ไปเล่นกลองแทน
บู้: ตอนมัธยมผมจำได้ว่าในบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 2 อู๋เป็นมือกลองเด็กที่เหมือนเมพในตอนนั้นน่ะ คือเก่งที่สุดในรุ่น แล้วรุ่นพี่ ม.ปลายก็จะแบบ ไอ้นี่เป็นตัวแสบของรุ่น แต่ผมไม่เลยนะ ประมาณว่าไถมั่ว เล่นดนตรีอยากฟอร์มวงอย่างเดียว แพสชั่นมาแล้วแต่ว่าเล่นไม่ได้เก่งมาก จำได้ว่าวงแรกเป็นวงเดียวกัน เอาอู๋มาตีกลอง แล้วจริงๆ ผมเล่นกีตาร์แต่ว่าไม่มีมือเบส หาตั้งหลายอาทิตย์ไม่ได้สักที เฮ้ย เอาเว้ย เล่นเองก็ได้วะ ถูๆ ไถๆ เอา แล้วก็สร้างวงขึ้นมา ตอนนั้นมั่วเละเทะ
อู๋: แต่ก็เป็นที่ 1 ของโรงเรียน
บู้: ตอนมัธยมต้นเราหาประสบการณ์ ประกวดทุกครั้งที่เขาให้ลงแข่ง มีตกรอบบ้าง เข้ารอบบ้าง ประมาณ ม.4-5 ประกวดไปประกวดมาเป็นแชมป์ของโรงเรียน
อู๋: ผมว่าความสนุกน่าจะพอๆ กับเวลาเพื่อนๆ ตั้งทีมฟุตบอล เฮ้ย เอาใครมาเป็นกองหน้าดี เอาใครมาเป็นโกลดี น่าจะฟีลนั้นเลย เราเล่นเบสแล้ว เราเล่นกลองแล้ว เอาใครมาเป็นมือกีตาร์ดี เอาใครมาเป็นนักร้องดี แล้วความสนุกของวงเราตอนนั้นคือเลือกจากลุคอย่างเดียว
บู้: เออ เอาเท่อะ นักร้องนำร้องเพลงไม่ได้เรื่องเลย ร้องก็เพี้ยน แต่ลุคมันได้สุด คือเราจีบจากการที่ โหย... ไอ้นี่หน้ามันคาแรกเตอร์ว่ะ คนจำได้ วงเราจะเป็นวงที่ดูเท่สุดในรุ่น ผมจำฟีลได้ว่าวันแรกที่ตั้งวงดนตรี มันเหมือนเปิดโลกของเราเลย มันเป็นเป้าหมายแรกๆ ของชีวิต ทุกคนมารอให้หมดคาบเรียน แล้วก็เอาเว้ย ไปซ้อมดนตรีกัน ลุยๆๆ ไม่รู้เรื่อง แข่งกันเปิดดัง ออกมาคือหูอื้อ แล้วบอกว่านี่คือความรู้สึกที่ดี ตอนนั้นเริ่มรู้สึกว่าชีวิตเข้าที่เข้าทางแล้ว จากที่เราเลือกไม่ได้เลย มันเริ่มมีเส้นของมันแล้ว เริ่มบอกเราแล้วว่าตรงนี้มันเหมาะกับเราว่ะ ตอนนั้นผมว่าเหมือนชีวิตไม่มีอะไรแล้ว มีแค่ดนตรีอย่างเดียวฮะ
อู๋: เรามองไกลๆ เลยว่าเราเล่นดนตรีแน่นอน แต่ถ้าเข้มข้นที่สุดน่าจะเป็นตอนคอนเสิร์ต ไลฟ์ อิน อะเดย์ (Live in a day) ที่ตอนนั้นนิตยสารอะเดย์ (a day) จัดคอนเสิร์ต ครั้งแรกเราได้แผ่นที่แถมมากับหนังสือแล้ว เฮ้ย วงไม่มีชื่อเสียงอะไรไปเล่นก็ได้ เราไปออดิชันก็ได้เหรอวะ ครั้งที่ 2 เราฟอร์มวงกันในโรงเรียนแล้วก็ไปสมัครเลย ส่งเดโมผ่าน ตอนเรียน ร.ด. ผมลาเขาชนไก่แล้วไปเล่นคอนเสิร์ตครั้งนี้ นั่นแหละเป็นความเข้มข้นที่สุดในการเล่นดนตรี ณ เวลานั้น
บู้: ตอนนั้นผมเจอจุดเปลี่ยน คือตอนแรกเราอยู่วงอาร์ตฟลอร์ (Art Floor) ด้วยกัน แล้วไปเจอวงสเลอในงาน จำได้ว่า โอ้โห! ตอนออดิชันวงสเลอเฉิดฉายมาก ผมรู้สึกว่ามันพลิกเลยนะ วงดนตรีมันมีอย่างนี้ด้วยเหรอ ไม่ได้เอาทักษะแล้วอะ เล่นเอาเท่ ทุกคนมีคาแรกเตอร์อะไรอย่างนี้ พี่เย่ (จักรพันธ์ บุณยะมัต) มีถาดเอฟเฟกต์เหมือนกระเป๋านักธุรกิจ เปิดออกมามีเอฟเฟกต์ แล้วเอาบัตรประชาชนมาเป็นปิ๊ก ผมแม่งแบบ เชี่ย...นี่โลกอะไรวะเนี่ย นี่มันดีไซน์กว่าโลกที่เราเคยอยู่ พี่เอม (ธิติพันธุ์ อนะวัชพงษ์) ใส่กางเกงเลมา แล้วตีทำหน้าตายอะไรของมันก็ไม่รู้ เรารู้สึกว่า โอ้โห นี่แหละคือวงแบบที่เราต้องการ ตอนนั้นไม่ได้คิดนะว่าผมจะอยู่วงนี้หรืออะไร ผมแค่เมมไว้ว่าวงนี้เท่มาก ทีนี้ก็ยังทำอาร์ตฟลอร์ต่อไปเรื่อยๆ แล้ววันนึงตอนผมเข้าจุฬาฯ จุดเปลี่ยนไปตลอดกาลคือผมเจอพี่เอมที่งานประกวดดนตรีที่วิศวะฯ จุฬาฯ ผมเข้าไปคุยกับพี่เอม พี่เอมบอกว่า 'เราจำนายไม่ได้ว่ะ บอกตรงๆ มึงคือใครวะ' ผมก็บอกว่าผมอาร์ตฟลอร์ แลกเบอร์กัน อีกประมาณ 2-3 อาทิตย์ เขาโทรมาบอกว่ามือเบสออกพอดี ทีนี้อยู่สเลอยาวเลย
บู้: ผมออกก่อนเลย
อู๋: คือเฮียบู้เข้ามหาวิทยาลัยไปเจอพี่เอมอยู่สเลอ อาร์ตฟลอร์ก็แตกวงกัน แล้วพอผมขึ้นปี 1 พี่พล่ากุ้ง (วรชาติ ธรรมวิจินต์) พิธีกรในงานไลฟ์ อิน อะเดย์ เขาหามือกลองวงมาเจนต้า (Magenta) อยู่ ผมกับเพื่อนที่เป็นมือกีตาร์จากอาร์ตฟลอร์ก็เลยไปอยู่วงมาเจนต้าด้วยกัน หลังจากนั้นก็คือแยกทางมาโดยตลอด
บู้: ของสเลอตอนนั้นเหมือนการเข้าแคมป์ ผมตื่นเต้นมากกับการที่อยู่ดีๆ ไปอยู่วงใหม่แล้วรสนิยมการฟังเพลงเราเรียกได้ว่าดวลกันเลย ตอนนั้นยังไม่มียูทูบ หรือมีแล้วแต่ผมไม่รู้ก็ได้นะ มันอาจจะใหม่มาก ตอนนั้นเราแชร์กัน จำได้ว่า แนปสเตอร์ (Napster) กับโซลซีค (Soulseek) เป็นเหมือนคลังเพลงเปิดโลกของเรา เราเข้าไปดูพวกวงอังกฤษว่าเขาฟังอะไร อัพเดตกัน สนุกมาก คือผมกับพี่เป้ (อารักษ์ อมรศุภศิริ) จะแลกเพลงกันกระจุยเลย แล้วพี่เย่มา 'เฮ้ย มึงวงนี้ดิวะ' ตอนนั้นแบงค์ (ธีรวัต อุทัย) แบบโอเคๆ 4 คนจะรุมๆ แลกเพลงกัน แล้วทุกอาทิตย์ที่ว่างต้องมานอนบ้านพี่เป้กัน อัลบั้มแรกเลยวัยรุ่นมากๆ มันสดมันใหม่ ทุกอย่างพยายามจะบิดจากสิ่งที่มีอยู่ในวงการดนตรีตอนนั้น ผมรู้สึกว่ามีทั้งบิดที่ดีและบิดที่ไม่ดีนะ ถ้าย้อนกลับไปได้ บางอย่างเราก็ไม่ทำ แต่สเลอเหมือนเป็นมหาวิทยาลัยที่แท้จริงของเรา เหมือนตอนเรียนที่บดินทรฯ ก็ไปเล่นดนตรี พอเข้าจุฬาฯ เจอวงปุ๊บ เราโฟกัสที่สเลออย่างเดียว ชีวิตผมตอนนั้นรู้แล้วว่าเกิดมาเพื่อเป็นร็อกสตาร์แล้ว
อู๋: ด้วยความที่ผมเป็นมือกลอง มือกลองเป็นตำแหน่งที่ชอบขาด แล้วก็จะโดนดึงไปอยู่วงไหนๆ แล้วก็เล่นมากกว่า คือเรามีรสนิยมของเราเอง แต่เป็นมือกลองที่ไปร่วมวงเขา ตอนอยู่มาเจนต้าไม่มีความสุขเลย คือเราไม่ใช่คนตลก แต่เพลงเขาตลกมาก ก็หาทางออกอยู่นาน เฮ้ย ยังไงดีวะ ไม่มีความสุขเลยว่ะ จนเจอพี่นะ (ธนวิตร พงษ์เจริญ) สตรีท ฟังค์ โรลเลอร์ส (Street Funk Rollers) เวลาไปทัวร์คอนเสิร์ตด้วยกันคุยกัน เลยฟอร์มวงกรุงเทพมาราธอน (Krungthep Marathon) กัน ก็เขยิบความสุขขึ้นมานิดนึงเพราะเริ่มมีแนวทางที่เราชอบขึ้นมา ตอนนั้นสเลอออกชุดแรกเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ เรารู้สึกว่า เฮ้ย! แม่งอยากมีวงเท่ๆ อย่างนี้มั่ง เพราะตอนที่เราเจอวงสเลอแรกๆ ผมกับบู้ก็อยู่ด้วยกัน แล้วคุยกันที่บ้านว่าวงแม่งเท่จริงๆ ว่ะ แล้วพอเขาไปอยู่สเลอ ผมรู้สึกว่าไม่ได้แล้ว ผมก็เลยตั้งวงที่เอาไว้ระบายความเครียดของตัวเอง คือ เดอะ เยอร์ส นี่แหละ ตอนแรกก็เป็นวง 3 ชิ้น วงพังก์ ดีดลงอย่างเดียว เป็นกบฏที่มีแนวคิดที่เหมือนสเลอ ฌอง (Genre) ของดนตรีใกล้เคียงกัน แต่ถ้าลงลึกไป มันมีดีเทลที่ไม่เหมือนกัน จนวันนึงที่เริ่มจริงจังแล้ว ตอนนั้นผมเล่น 2 วงคือ กรุงเทพมาราธอน กับวง น็อค เดอะ น็อค (Knock the Knock) แล้วพี่บีม (ภากร มุสิกบุญเลิศ) เขาบอกให้ทำเพลงจริงจัง อัดเป็นมาสเตอร์ยื่นค่ายไปเลย สุดท้ายมาจบที่บู้เขาดึงเข้าไปอยู่ในอัลบั้ม smallroom 007 หลังจากปล่อยเพลง การสื่อสาร ไป เรารู้เลยว่า เดอะ เยอร์ส เป็นวงหลักของเราได้ว่ะ
อู๋: ผมมีความชอบและรสนิยมที่ไม่รู้จะไปคุยกับใคร ไม่รู้จะไปบอกใครว่าต้องทำวงแบบไหนอะไรยังไง ถ้าผมไปชวนใครก็ไม่รู้มาเป็นสมาชิกของวง จะไปบอกให้เขาเล่นแบบที่เราชอบมันก็ไม่ใช่ แล้วรู้สึกว่าการเป็นมือกลองมันทำอะไรไม่ได้เลย ผมไม่ได้คิดว่าผมจะเป็นลีดเดอร์นะ ผมแค่อยากจะสร้างวงดนตรีวงหนึ่ง ณ ตอนนั้นที่ผมทำ เดอะ เยอร์ส ผมจะเป็นมือกลองก็ได้ เป็นมือเบสก็ได้ เล่นกีตาร์ก็ได้ ผมแค่อยากจะสร้างวงดนตรีวงหนึ่งที่ทุกสิ่งที่ออกมาจากวงนี้คือสิ่งที่ผมชอบหมดทุกอย่างจริงๆ การแต่งตัว วิธีการเล่นกีตาร์ เสียงกีตาร์ มิวสิกวิดีโอ ภาพในหัวมันชัดเจนมากว่าต้องเป็นวงแบบนี้เท่านั้น เราก็เลยสร้างวงดนตรีนี้ขึ้นมา โดยที่ไม่ได้คิดหรอกว่าอยากเป็นนักร้องนำ อยากดัง แต่การที่จะเป็นลีดเดอร์แบบนั้นได้คือการเป็นนักร้องนำ
บู้: ใช่ ผมได้เจอสิ่งที่ตัวเองชอบก่อน ตอนนั้นผมพูดจริงๆ ว่าผมก็เป็นห่วงน้องเหมือนกันนะ สเลอเป็นวงในฝันของผมเลย เป็นวงที่ผมรู้สึกว่า ถ้าเรามีวงดนตรีสักวง เราอยากมีวงอย่างนี้ แล้วเราก็ได้มาอยู่วงนี้จริงๆ ผมรู้สึกว่าถ้าฝันมันเป็นจริงแล้ว เราก็ลุยฝันไปเรื่อยๆ สิ
อู๋: เออ ของเขามันเหมือนฝันที่เป็นจริง แต่ของผมคือผมได้แต่ฝันอย่างเดียว แล้วเราต้องสร้างขึ้นมาเอง
อู๋: มันมีอยู่โมเมนต์นึง คือช่วงที่ผมเริ่มทำ เดอะ เยอร์ส จริงจัง แล้วสเลอกำลังมีชื่อเสียงกับชุดแรกอยู่ ผมก็ให้เขาคุยกับสมาชิกในวงเรื่องทำเพลงว่ามันควรจะคิดยังไง เหมือนเขาเอาวิชาที่เรียนมาจากสเลอกับสมอลล์รูมมาสอนผมอีกทีนึง น่าจะเกิดขึ้นวันเดียว หลังจากไปส่งเดโมรอบแรกหรือเปล่านะ ไม่แน่ใจ
บู้: ผมจำไม่ได้เลยเหตุการณ์นี้
อู๋: มันเป็นที่ห้องรับแขกที่บ้านนู้นเลย น่าจะเป็นหลังจากส่งเดโมรอบแรก แล้วพี่รุ่ง (รุ่งโรจน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์) ไม่เอา เหมือนขอคำปรึกษาเขา แต่ปรากฏว่าผมก็มุ่งหน้าทำไปเรื่อยๆ จนเขาดึงเข้าไปอยู่ในอัลบั้ม smallroom 007 นั่นแหละ พี่รุ่งก็เริ่มชอบ
บู้: แต่จริงๆ ผมแอบซัพพอร์ตเขาตลอดนะครับ ผมรู้สึกว่าสมอลล์รูมน่ารักอบอุ่นมาก มีใครรู้จักกัน เราก็สนับสนุนอยู่แล้ว ตอนนั้นสเลอจะเล่นงานปาร์ตี้งานวันเกิดเยอะมาก เราก็ถามว่ามีวงแถมได้ไหม
อู๋: จริงๆ 2 วงออกเพลงและอัลบั้มใกล้กันตลอด อย่างชุดที่แล้วเหมือนอยู่ต่างประเทศแล้วผมลงเพลงวงผม วันต่อมาผมก็ต้องลงเพลงของเขา
บู้: ช่วยกันแชร์
อู๋: คือเรามีการแลกเปลี่ยนตอนยังไม่แยกบ้านกันครับ อย่างสเลอชุดแรก ผมยังเป็นคนช่วยเขาโปรแกรมเดโมอยู่ที่บ้านเลย เพราะเขาทำไม่เป็น
บู้: อัดเบสอะไรอย่างนี้
อู๋: เออ อัดเบสเป็นไกด์ แต่เหมือนตอน เดอะ เยอร์ส ชุดแรกผมย้ายบ้าน แล้วไม่ค่อยได้แชร์เพลงกัน แต่มาเจอกันที่สมอลล์รูมแล้วมาฟังเพลงกันมากกว่า แล้วยิ่งตอนนี้หนักเลย ผมไม่ได้อยู่สมอลล์รูมแล้วมาอยู่บ้านนี้ เขาอยู่อีกบ้านนึงเลยไม่ค่อยได้แลกเปลี่ยนเพลงกันแล้ว
อู๋: ของผมคือ เพราะทุกครั้ง กับ หรือ
บู้: โอ้ย อย่างนั้นชอบเพลงใหม่แน่ๆ เพราะว่าเพลงใหม่คือลูกผสมของ 2 เพลงนี้เลย ของผมชอบเพลง แอบรอ
อู๋: แสดงว่าแอบชอบใครบางคนอยู่นะครับ
บู้: คือผมรู้สึกว่าเพลง แอบรอ เป็นเพลงที่ถูกจริต คือเพลงนี้เป็นเพลงของสเลอก็ได้
อู๋: เออใช่
บู้: ถูกจริต รู้สึกว่าทั้งซาวนด์ก็ใช่ ไลน์เบสก็ใช่
อู๋: ผมมี อย่างตอนแรกที่ผมฟัง โรคจิต ผมรู้สึกว่า เฮ้ย เล่นแค่นี้มันง่ายมากเลย แต่ทำไมเราคิดไม่ได้วะ แบบนั้นมากกว่า ทำไมเราถึงคิดอะไรง่ายๆ แล้วเท่ขนาดนี้ไม่ได้วะ มันเป็น 50:50 ระหว่างชอบกับอยากทำให้ได้
บู้: ผมรู้สึกอิจฉาความเป็นนักดนตรีของ เดอะ ยอร์ส มากๆ สเลอยังขาดเรื่องทักษะความเป็นนักดนตรีแบบชั้นเชิงดนตรีอะไรบางอย่าง ซึ่งบางทีเราคิดว่า เอ เราเรียนดนตรีน้อยไปหรือเปล่าวะ ทำไมเราไม่ตั้งใจเรียนตอนที่แม่ให้ไปเรียนกีตาร์วะ คือโชว์ของ เดอะ เยอร์ส จะมีความสมูทอะไรบางอย่าง แล้วมีความจัดจ้าน มีขึ้นมีลง มีไดนามิก แต่ของสเลอจะเป็นแบบ…
อู๋: เหมือนวงพังก์
บู้: เออ เล่นไถๆๆ พัก ไถๆๆ แล้วพัก หลังๆ ผมก็ว่ามันมีไดนามิกขึ้นนะ แต่ผมรู้สึกว่านั่นแหละ ก็ยังรู้สึกว่าอยากได้วิชาความรู้ความเท่อะไรบางอย่าง
อู๋: ไม่ ผมว่ามันเป็นเรื่องของนิสัยแล้วก็บุคลิกของแต่ละคนที่มันส่งเสริมกัน จริงๆ เดอะ ยอร์ส กับสเลอสกิลพอๆ กันแหละ แต่ด้วยบุคลิกของวงผมเป็นวงที่ดูจริงจัง ซีเรียส เล่นออกมาแล้วดูเนี้ยบกว่า ลงตัวไหลลื่นกว่า แต่ของเขาคือลุคของวงไม่สนโลกจริงๆ ซึ่งไม่ใช่ไม่ดีนะ มันดีอีกแบบนึง มันจะมีวงเมืองนอกที่เล่นสดโคตรเละ แต่แม่งเท่
บู้: ของผม 4 คนจะมีธรรมชาติที่สุดของแต่ละคนหมดเลย บางทีเรื่องบางเรื่องคุยได้ เรื่องบางเรื่องคุยไม่รู้เรื่อง ผมรู้สึกว่าผลิตถึงอัลบั้ม 5 เราพยายามไม่จำกัดแนวแล้วว่ามันคืออะไร ปล่อยให้เป็นวงคนสูงอายุวงนึงดีกว่า สิ่งหนึ่งที่เพิ่มเติมขึ้นคือ เราเริ่มเล่นเพลงเร็วเอะอะโวยวายไม่ค่อยไหวแล้ว อัลบั้มนี้เพลงช้าเยอะเลยว่ะ นี่วงกูกลายพันธุ์มาเป็นวงเพลงช้าได้ยังไงวะ รวมถึงเพลงใหม่ที่กำลังปล่อยก็เป็นเพลงช้าเหมือนกัน
บู้: ผมคิดว่าสเลอจะไม่เปลี่ยนแปลงจากนี้มากแล้ว ทุกอย่างเริ่มนิ่งแล้ว พอมาถึงอัลบั้ม 5 เรารู้แล้วว่าจริงๆ สเลอคือวงที่เริ่มต้นจากการที่เรา 4 คนต้องเห็นพ้องต้องกันว่ามันดีสำหรับเรา เราแฮปปี้กับมันมากๆ แล้ว กลุ่มคนฟังจะเป็นยังไงไม่เป็นไร ให้มันค่อยๆ ลามไปทีละนิดทีละน้อยก็ได้ ทุกวันนี้เรามีอาชีพประจำของเรา เพราะฉะนั้นสบาย ไม่ต้องไปคาดหวังเงินทองกับมันแล้ว ผมมองไม่ออกเลยว่าจุดจบของสเลอคืออะไรจริงๆ นะ สเลอเป็นฝั่งหนึ่งซึ่งมันหล่อเลี้ยงความเป็นศิลปินของผมได้ดีมากเลย ทุกครั้งที่ผมได้ขึ้นเล่นคอนเสิร์ต ผมมีความสุขจัง ไม่ต้องเล่นเพลงที่ตัวเองต้องจูนกับชาวบ้าน ไม่ต้องเล่นเพลงตามงานที่เราไม่อยากจะเล่นแล้ว
อู๋: ผมว่าสเลอน่าจะมาถึงจุดที่ทำงานศิลปะแบบเพียวไปแล้ว
บู้: ได้เต็มที่แล้ว โอ้โห... ยิ่งคุยปกอันใหม่กับพี่รุ่งกับคนที่มาออกแบบให้ยิ่งสนุก รู้สึกว่าทุกอย่างมันเป็นเราแล้ว ทีนี้ไม่ต้องแคร์ พอไม่มีเรื่องเงิน มันดีมากเลยสำหรับวงการเพลงนะ
อู๋: ของผมแต่ก่อนผมเป็นคนที่ซีเรียสกับการทำงานที่เป็นศิลปะแบบร้อยเปอร์เซ็นต์มากๆ จนคุยกับเขาแหละ เขาเป็นคนบอกผมเองว่าจริงๆ ต่างประเทศก็มีนะ วงที่พยายามจะเบลนด์ความเป็นศิลปะกับการสื่อสารกับคนหมู่มากไว้ ซึ่งกลายเป็นว่าตอนนี้ความสนุกของ เดอะ เยอร์ส สำหรับผมคือ การเอาชนะตัวเอง การเอาชนะคนฟัง และการเอาชนะคนที่ทำงานเพลงในวงการนี้เหมือนกัน ผมตื่นเต้นเสมอกับการจะได้ทำเพลงใหม่เพื่อสร้างอะไรบางอย่างให้กับคนฟังและให้กับวงการ ผมจะสะใจมากเลยถ้าเกิดว่าได้ทำอะไรที่มันหักหลังสิ่งที่คนต้องการ หรือว่าเทรนด์นี้มา กูมาอีกเทรนด์นึง ผมจะมีความสุขกับการสร้างผลงานเพื่ออะไรบางอย่างกับคนอยู่ แล้ว อนาคตผมไม่รู้ว่ามันต้องเป็นไปในทางไหน แต่สิ่งที่จะทำแน่นอนคือ ผมจะสร้างความตื่นเต้นให้กับตัวเองและให้คนฟังตลอด เพราะว่ามันเป็นความท้าทายที่ทำให้เลือดสูบฉีดดี เป็นความสะใจอย่างนึงในการเป็นนักดนตรีที่จะสร้างงานอะไรสักอย่างแล้วทำให้คนหันหลังมาฟัง
บู้: จริงๆ ยิ่งโตยิ่งอยู่ห่างกันน่ะ เหมือนอู๋ก็จะมีโลกดนตรีของเขา ผมยิ่งโตยิ่งกลายเป็นพ่อค้าเรื่อยๆ ผมมองว่ารอมพ์บอย (Rompboy) ก็คือส่วนหนึ่งในความเป็นสเลอที่มันแตกออกมาแล้วมันเป็นธุรกิจได้ กลายเป็นว่ายิ่งโตทำไมเรามีซีนตรงนี้มาด้วย เลยไม่ค่อยได้คุยเรื่องดนตรีกับอู๋เท่าไร เหมือนที่อู๋บอกว่า ยิ่งอยู่คนละค่าย เราเจอกันแค่โต๊ะกินข้าวเวลาไปกินข้าวในครอบครัว ซึ่งเราจะคุยในเรื่องครอบครัวอย่างเดียว เรื่องเพลง เรื่องของการทำงาน เหมือนหน้าที่ที่แต่ละคนต้องรับผิดชอบกัน ผมก็มีส่วนของผม อู๋ก็มีส่วนของอู๋
อู๋: ใช่ ผมว่าเรื่องอายุเกี่ยวมากๆ เราไม่ใช่เด็กๆ แล้ว แต่ว่าถ้าย้อนไปตอนตั้งแต่เด็กจนถึงก่อนจะแยกบ้านกัน มันทุกเรื่องเลยนะ แต่งตัวใช้กระจกบานเดียวกัน แล้วก็มองพร้อมกันว่าผ่าน
บู้: นอนห้องเดียวกันเลยอะ
อู๋: ก่อนนอนก็คุยเรื่องดนตรี เรื่องแฟน เรื่องที่โรงเรียน เรื่องสเกตบอร์ด จริงๆ แต่ก่อนคุยกันทุกเรื่อง
บู้: ยังไปจตุจักรซื้อเสื้อผ้า ซื้อคอนเวิร์สด้วยกัน
อู๋: พอโตขึ้นแล้วรสนิยมเราค่อนข้างชัดเจน เฮียบู้จะชอบแต่งตัวมาก ผมเริ่มชอบการแต่งตัวน้อยลงเรื่อยๆ ทุกวันผมแค่ซื้อเสื้อผ้าสีดำล้วนจบ ผมเริ่มตามไม่ทันแล้วว่ะ กางเกงมันต้องใหญ่ขนาดไหนวะ นาฬิกามันต้องรุ่นไหน แต่ผมดันมาฝั่งดนตรีเข้มข้นจริงจัง เราทำงานโปรดิวเซอร์ด้วย เราเริ่มใส่ใจเรื่องอุปกรณ์ แต่เขาจะไม่รู้เรื่องอุปกรณ์เลย เราเลยปรึกษาเรื่องชีวิตน้อยลง แต่มันก็มีบ้างอย่างเช่นล่าสุดผมได้รับงานนึงมา ซึ่งผมไม่อยากทำเลย หรือถ้ามีเรื่องซีเรียสจริงๆ อย่างเรื่องครอบครัว เรื่องที่ค่อนข้างเป็นเรื่องใหญ่ ผมจะคุยกับเขา มีบ้างที่เขาจะโทรมาคุยกับผม แต่หลักๆ ทุกอาทิตย์ที่บ้านจะนัดกินข้าว แลกเปลี่ยนกัน ณ โมเมนต์นั้นมากกว่า
บู้: เหมือนเราเจอทางของเราแล้วจริงๆ
อู๋: ใช่ๆ แล้วมันกลายเป็นว่าเราเริ่มมีกำแพงบางๆ เริ่มเขินน่ะ บางเรื่องคุยกันตอนเด็กๆ ได้ แต่ตอนนี้ไม่ควรคุยกันแล้วเท่านั้นเอง
บู้: ตอนที่ผมอยู่สมอลล์รูม อัลบั้มแรกๆ แวดวงนักดนตรีผมเยอะมากเลย ทุกวันนี้ก็ยังเยอะอยู่นะครับ แต่กลายเป็นว่าตอนนี้เพื่อนใหม่ของผมคือใครรู้ปะ คือเจ้าของร้านเสื้อผ้าในไอจี คือเฮ่ย หลักๆ ชีวิตผมตอนนี้เป็นพ่อค้าเต็มตัว ผมคิดว่าโจทย์มันอาจจะต่างกัน อู๋อาจจะมองว่า เออ ชีวิตนี้คือดนตรีหมดแล้ว แต่ผมยิ่งโตยิ่งกลายพันธุ์เป็นพ่อค้าไปเรื่อยๆ
อู๋: ของผมจะมีแต่ว่าคนเข้ามาแบบว่า พี่อู๋โปรดิวซ์เท่าไรครับ
บู้: ของผมจะถามว่า รองเท้าหมดหรือยัง ซึ่งเฮ้ย อะไรวะเนี่ย ชีวิตเราเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จริงๆ
บู้: คำถามนี้ลึกซึ้งนะ ยาก
อู๋: สำหรับผมด้วยความที่ผมเป็นน้อง ผมจะมีพี่เป็นที่ปรึกษา ทั้งพี่ชายและพี่สาว อันนี้จบเลย ตอบได้ทุกอย่าง เพราะว่าผมเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย แล้วชอบคิดอะไรแบบที่ผู้ใหญ่เขาไม่คิดกัน ทั้งๆ ที่ตอนนี้จะเป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็ยังมีความคิดงี่เง่าๆ เป็นเด็กอยู่เสมอ ซึ่งการมีพี่ชายกับพี่สาว อย่างน้อยเรื่องอะไรที่เราคุยกับพ่อแม่ไม่ได้ เราคุยกับพี่และได้คำตอบ แล้วเขาเป็นคนที่โตกว่าผมมาโดยตลอด ไม่ได้หมายความว่าตัวโตหรือว่าอายุมากกว่านะ เขาจะเป็นคนที่มีความคิดเป็นผู้ใหญ่มากกว่าผมตลอด ผมจะเป็นเด็กงอแงที่สุดในบ้าน เขาเป็นที่ปรึกษาได้ดีมาก
บู้: สำหรับผมเองนะ ผมไม่เคยเป็นห่วงอู๋เลย เพราะผมรู้สึกว่าอู๋เป็นคนที่ชัดเจนมากว่าชีวิตนี้เขาชอบอะไร ผมหมดห่วงมากๆ คือเขามีหน้าที่การงานของเขา ผมรู้สึกว่าถ้าเขารักดนตรีมากๆ มันต้องให้อะไรกับเขาแน่ๆ แล้วทุกวันนี้มันก็ตอบแทนอู๋จริงๆ ซึ่งทุกวันนี้ผมมองแต่ว่า เฮ้ย เราจะเลี้ยงที่บ้านยังไงวะ อยู่ดีๆ วันหนึ่งพอผมทำธุรกิจแล้วมันเริ่มโอเค สถานะของผมเริ่มเปลี่ยนไป จากที่เราเป็นแค่พี่ชายของเขา หรือเป็นแค่น้องชายของพี่สาวคนนึง ตอนนี้เรากลายไปเป็นตัวหลัก ซึ่งทุกคนมองอยู่ว่าคนคนนี้จะเป็นหัวหน้าครอบครัวสำเร็จหรือเปล่า มันเหมือนเป็นการต่อสู้กับตัวเองว่าเรากำลังก้าวไปสู่อีกสถานะนึงแล้วนะ เพราะฉะนั้นผมเห็นพัฒนาการของอู๋มาโดยตลอด ตั้งแต่เล่นกรุงเทพมาราธอน เขามีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ แล้วเขาไม่เคยเป็นภาระให้กับใครเลย ผมแค่เป็นคนหนึ่งซึ่งเป็นที่ปรึกษาให้เขาในวันที่เขารู้สึกว่า วันนี้เขาไปไม่ได้จริงๆ แต่ลึกๆ ผมเชื่อว่าน้องชายคนนี้จบสบาย เขาชัดเจนของเขาอยู่แล้ว
13042 VIEWS |
นักเขียน ผู้ใช้พื้นที่ในเวลาว่างไปกับการอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ขี่จักรยาน อ่านการ์ตูน เล่นเลโก้ ฯลฯ โดยเชื่อเต็มหัวใจว่าเวลาที่หมดไปกับความรื่นเริงนี้สามารถเติมเต็มชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นักเขียนและกองบรรณาธิการที่พบเจอตัวได้ตามหอศิลป์และร้านหนังสือ ชอบกินแซลมอนและชาบู อยากแก่ไปเป็นคุณป้าใจดีและมีฝูงแมวห้อมล้อม