ปัจจุบันนี้เราอาจจะหาฟังเพลงได้ง่ายขึ้นจากช่องทางโซเชียลมีเดียหรือสตรีมมิ่งแบบต่างๆ แต่ศิลปินวงใหม่ หน้าเก่าอย่าง The Front Row ยังคงนำเสนอผลงานเพลงออกมาในรูปแบบอัลบั้มอย่างขยันขันแข็ง แล้วถ้าคุณอยากฟังเพลงของพวกเขาแบบเต็ม ก็ต้องอุดหนุนแผ่นซีดีเท่านั้น เพราะนอกจากเอ็มวีนิดๆ หน่อยๆ และคลิปเล่นสดในยูทูบแล้ว คุณแทบจะไม่พบบทเพลงเวอร์ชันจริงๆ ของพวกเขาอยู่ในโลกมิวสิกสตรีมมิ่งหรือเว็บไซต์ใดๆ เลย
เพราะอะไรถึงเป็นเช่นนั้น?
กรณ์ พงศ์พิพัฒน์ คือชายหนุ่มที่ควบตำแหน่งนักร้องและกีตาร์ของวง ซึ่งหลายๆ คนคงเคยคุ้นหน้าค่าตามาบ้างในยุคที่เขาเป็นหนุ่มผมยาวตอนเป็นมือกีตาร์ให้กับวงเดอะ ริชแมน ทอย (The Richman Toy) เขาต้อนรับเราด้วยรอยยิ้มง่ายๆ ในวันที่เรานัดเจอเพื่อพูดคุยกัน
The Front Row เริ่มทำอัลบั้มแรกตั้งแต่ปี 2014 ในชื่ออัลบั้มว่า The Other Side 1 กรณ์เล่าว่าตอนนั้นเขาทำงานเพลงเหล่านี้ในอีกพาร์ตของตัวเอง เขามีเพลงอยู่จำนวนหนึ่งที่สะสมทำมาเรื่อยๆ แล้วก็ได้ทิ้งเพลงทั้งหมดนั้นไปเพราะต้องทุ่มเวลาให้กับงานทัวร์ของ เดอะ ริชแมน ทอย จนเวลาต่อมาเมื่องานทัวร์ต่างๆ เริ่มซาลง กรณ์จึงมีโอกาสหยิบเพลงที่เคยทำไว้กลับมาเริ่มทำอัลบั้มแรกของตัวเองเป็นโปรเจกต์เดี่ยว
และเมื่อเขาออกจากวงเดอะ ริชแมน ทอย ก็เลยเป็นที่มาของวงเดอะ ฟรอนต์โรว์
ชื่อวงนั้นได้แรงบันดาลใจมาจากแฟนสาวที่ทำแบรนด์เสื้อผ้า กรณ์เลยนึกถึงคำว่า ฟรอนต์โรว์ เพราะเป็นชื่อที่นั่งแถวหน้าในงานแฟชั่น เป็นที่นั่งเฉพาะสำหรับคนที่พิเศษจริงๆ เขาจึงใช้คำว่าฟรอนต์โรล เปรียบเป็นบทเพลงพิเศษสำหรับคนที่จะมาดูมาฟังเพลงที่พวกเขาเตรียมไว้ และคิดว่าเป็นชื่อที่เหมาะ เพราะคนที่มาติดตามก็อาจไม่ได้เยอะมาก เนื่องจากเป็นแนวเพลงเฉพาะตัวที่พยายามจะทำอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา ดังนั้นคนที่ชอบ คนที่อยากฟังก็ควรจะมีที่นั่งพิเศษสำหรับพวกเขาเหล่านั้นจริงๆ ด้วยเช่นกัน
เชื่อว่าน่าจะมีคนที่เคยฟังเพลงของฟรอนต์โรว์แล้วเกิดคำถามว่าเพลงแบบนี้เรียกว่าแนวอะไร กรณ์ให้คำตอบกลับมาว่า
"จริงๆ ผมไม่ได้โฟกัสที่จะเรียกว่าแนวอะไร ตอนเรียนมหา'ลัย จะชอบฟัง ฮิปฮอป อาร์แอนด์บี แล้วก็เริ่มชอบแจ๊ซ แล้วก็เพลงบลูส์ ตามลำดับครับ รู้สึกว่าเพลงของวงเราจะมีไลน์เบสกับกลองที่ดูเหมือนเป็นฮิปฮอปหรืออาร์แอนด์บีบ้าง แต่จริงๆ ถ้าโดยภาพรวมแล้วอยากให้เราเป็นวงที่เปลี่ยนแนวทางไปได้เรื่อยๆ ก็เลยไม่ค่อยได้จำกัดแนว แต่ก็มีหลายๆ คนบอกว่ามีความเป็นโฟล์กนะ แต่ก็เป็นโฟล์กที่มีสีสันความมึนเมาแบบไซคีเดลิก ดังนั้นดนตรีทั้งหมดทั้งมวลที่มีก็เหมือนจะถูกถ่ายทอดมาจากตัวเรานั่นเอง" เขาหัวเราะเบาๆ
กรณ์จะรับตำแหน่งในการเริ่มต้นแต่งเพลงทั้งหมดในขั้นต้น แล้วจะกระจายไปให้ทุกคนในวงได้ซ้อมส่วนตัว จากนั้นนัดวันซ้อมโดยให้แต่ละคนเล่นในสิ่งที่ทำการบ้านมา ช่วยกันดู แก้ไข ปรับปรุง จนเพลงเสร็จสมบูรณ์ วิธีการทำเพลงแบบค่อนข้างจะสดๆ แบบนี้ทำให้รูปแบบการแสดงสดของวงก็ยังมีอะไรนอกเหนือและแตกต่างจากการฟังในแผ่นให้ได้ติดตามกันเสมอๆ อีกด้วย
"เราพยายามทำงานเชิงธุรกิจให้น้อยที่สุด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ที่ต้องมีธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็จะพยายามทำให้มีเรื่องธุรกิจเบาบางที่สุดเท่าที่จะทำได้ มีศิลปะ 80% จะไม่ให้ต่ำกว่านั้น" เขาเน้นย้ำในรูปแบบของการทำงานเฉพาะวง
The Front Row มีสมาชิกในทีมประกอบไปด้วย ณัฏฐวุฒิ หงส์รัตนาภรณ์ (อั้ม) มือกีตาร์จากวงชีวา มีมือคีย์บอร์ดอย่าง วศิน มุนีพีระกุล (เอก) และมือกลอง วรนล สุขเจริญนุกูล (เป่า) สองศิลปินจากวง Dwell อีกคนคือ สุรพงศ์ ก้องเสียงสังข์ (ยูนุช) มือเบสที่เคยร่วมโปรเจกต์กับกรเมื่อครั้งวันวานมาร่วมเป็นสมาชิกทีมฟรอนต์โรว์ด้วยกัน
บทบาทที่เพิ่มขึ้นของเขาจากแต่ก่อนที่เล่นเพียงกีตาร์ ในวงปัจจุบันนี้กรณ์ต้องควบตำแหน่งผู้บริหารวงเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเขียนเพลง ร้องเพลง เล่นกีตาร์ อัดเพลง โปรดิวซ์เอง ส่งเพลงไปเสนองานแสดง รวมไปถึงดูแลค่าใช้จ่ายส่วนต่างๆ และไม่ใช่แค่บทบาทด้านดนตรีที่เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น จากการหันหลังให้การทำงานในระบบแบบค่ายเพลงที่เคยทำมาในสมัยก่อน กลับมาทำงานอิสระดูแลทุกอย่างด้วยตัวเอง กรณ์จึงมีบทบาทจากปัจจัยภายนอกที่เพิ่มขึ้นตามมาด้วยเช่นกัน
"ด้วยความเป็นธุรกิจเพลงบ้านเรา เหมือนเป็นสิ่งที่บีบให้ศิลปินต้องออกไปหางานที่สองทำรองลงมาจากงานที่ทำดนตรีแค่อย่างเดียวแบบเมื่อก่อน ตอนนี้เราต้องออกไปหางานสอนเพิ่ม ดังนั้นจึงเกิดผลกระทบตามมาอย่างเช่น เวลาออกไปสอน กลับมาห้องก็เหนื่อยล้าไม่มีอารมณ์จะคิดงานเพลงต่อ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังมีวงที่สามารถทำงานรูปแบบนี้ควบคู่กันไปได้เพราะงั้นเราก็เชื่อว่าเราทำได้ถ้าเราจะทำจริงๆ" เขาพูดอย่างมั่นใจ
ส่วนสาเหตุที่นอกจากมิวสิกวิดีโอและงานแสดงสดแล้วเราจะไม่พบบทเพลงของวงปรากฏอยู่บนแพลตฟอร์มมิวสิกสตรีมมิ่งหรือเว็บไซต์ใดๆ นั้น กรเผยเหตุผลว่า เป็นเพราะอยากให้คนที่จะฟังเพลงได้มาซื้อซีดีของวงไปฟังมากกว่าที่จะหาฟังตามออนไลน์
"ช่วงที่มีสตรีมมิ่งก็ขายแผ่นไม่ค่อยได้ด้วย โดยส่วนตัวก็เลยรู้สึกว่า ระบบสตรีมมิ่งนั้นดูท่าจะยังไม่แข็งแรงพอที่จะอยู่ในธุรกิจวงการเพลงไทย ศิลปินที่เป็นผู้ผลิตงานก็จะไม่ได้รับผลตอบรับเท่าที่ควรจะเป็น แต่วันหนึ่งก็ไม่แน่ถ้าวี่แววจะดีและแข็งแรงขึ้น เราก็ต้องยอมเพื่อจะสามารถให้วงยังคงทำงานต่อไปได้ ตอนนี้มีคนติดต่อเข้ามาเสนอให้ทำ แต่เราก็จะปฏิเสธไปตลอดเพราะเรารู้สึกว่ายังอยากคงความเป็นซีดีไว้ ให้มีเสน่ห์ของผลงานที่จับต้องได้ เลยคิดว่าเป็นนโยบายบางอย่างของวงเรา ถ้าอยากฟังก็มาอุดหนุนกัน เพราะเราไม่ได้มองถึงธุรกิจขนาดนั้น อีกอย่างเราใช้เป็นเครื่องวัดคนด้วยว่าชอบเพลงเราจริงๆ ไหม"
ตั้งแต่ปี 2014 จนถึงปัจจุบัน วงดนตรีวงนี้มีงานเพลงออกมาถึง 4 อัลบั้ม และกำลังจะคลอดอัลบั้มที่ 5 ในอีกไม่นาน ความแตกต่างของแต่ละอัลบั้ม นอกจากดนตรีที่เฉพาะตัวด้วยท่วงทำนองจากประสบการณ์ดนตรีที่สะสมมา บวกกับลีลาภาษาเชิงวรรณกรรมที่ได้มาจากการชอบอ่าน และการฟังเพลงของเดอะ ฟรอนต์โรว์ ยังเหมือนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการติดตามชีวิตของกรจากเพลงทั้ง 4 อัลบั้มนี้อีกด้วย
อีกหนึ่งลูกเล่นที่สร้างความแตกต่างให้วงดนตรีวงนี้ก็คือ อาร์ตเวิร์กหน้าปกอัลบั้มที่ถูกรังสรรค์มาจากไอเดียง่ายๆ แต่สื่อความหมายลึกซึ้ง อย่างการนำคนในครอบครัวมาถ่ายรูปพอร์เทรต ไม่ว่าจะเป็นรูป แม่ พ่อ พี่ชาย หรือแม้แต่ตัวเขาเองขึ้นเป็นภาพปกในอัลบั้มทั้ง 4 ที่กำลังวางขายอยู่
ส่วนอัลบั้มที่ 5 นั้น เรามาลุ้นกันว่าใครจะเป็นบุคคลสำคัญที่อยู่บนปกของ เดอะ ฟรอนต์โรว์ คนต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของวง The Front Row ได้ทาง https://www.facebook.com/thefrontrowband และอุดหนุนผลงานเพลงของพวกเขาได้ที่ happening shop สาขาหอศิลปกรุงเทพ (bacc) ชั้น 3 และ สาขาช่างชุ่ย นอกจากนี้ยังสามารถสั่งซื้อทาง https://www.happeningandfriends.com ได้อีกหนึ่งช่องทาง
4043 VIEWS |
ชื่อแดนซ์ยังคงตามหาว่ามีใครใช้ชื่อนี้ซ้ำกันไหมและหวังจะพบในสักวัน บางครั้งก็จับกีตาร์ บางครั้งก็จับปากกา บางครั้งก็จับกล้อง (แต่ไม่มีครั้งไหนที่จะไม่ไล่จับความฝัน)
นักเขียนและกองบรรณาธิการที่พบเจอตัวได้ตามหอศิลป์และร้านหนังสือ ชอบกินแซลมอนและชาบู อยากแก่ไปเป็นคุณป้าใจดีและมีฝูงแมวห้อมล้อม