Review: ก้อ-ณฐพล ศรีจอมขวัญ : FUNK

    "Play That Funky Music"

    โรเบิร์ต พาริซซี แห่งวง Wild Cherry ได้เคยประกาศตัวเช่นนั้น ในขณะที่ แกรี่ เชอโรน เคยแผดเสียงกร้าวเอาไว้ในเพลงหนึ่งของ Extreme ว่า...

     "Get the Funk Out"

    เรื่อยมาจนถึงวงร็อกในยุคอัลเทอร์เนทีฟรุ่งเรืองรุ่นแรกในสยามประเทศอย่าง Wizard ก็ยังคงเชิญชวนในบทเพลงของพวกเขาว่า

    "ฟังก์กันเถอะฟังก์"

    และเวลาผ่านมาจนถึงปี 2560 ณ สหัสวรรษใหม่ของมนุษยชาติ วงการเพลงก็ดูเหมือนว่ายังไม่เคยขาดแคลนซึ่งแนวดนตรีที่ถูกนิยามเรียกขานในชื่อว่า 'Funk' เลยแม้สักวินาที…

    ถึงจะไม่ได้เป็นกระแสหลักมายาวนานเหลือเกินแล้วก็ตาม

    ก่อนที่จะขยายความต่อไป ขอกลับไปที่รากศัพท์ของดนตรีแนวนี้สักเล็กน้อย...

    ...

   'ฟังก์' นั้นมีต้นกำเนิดมาจากงานดนตรีของกลุ่มคนแอฟริกัน-อเมริกัน แฝงอยู่ในดนตรีโบร่ำอย่าง กอสเปล บลูส์ แจ๊ซ และโซล ก่อนหน้าที่จะถูกนำมาประกอบรวมเข้ากับภาคจังหวะที่ชวนขยับขับเคลื่อนเลื่อนกาย กลายเป็นแนวดนตรี 'ฟังก์' แห่งแวดวงร็อกแอนด์โรลในคริสต์ทศวรรษที่ 60

     ข้อมูลบางแหล่งแสดงความไว้ว่า Funk นั้นเป็นสแลงที่แปลได้ว่า กลิ่นเหงื่อที่ออกเวลามีเซ็กซ์ ขณะที่บางตำราก็ระบุว่าหมายถึงกลิ่นกายอันอับชื้น

    แต่กระนั้น ไม่ว่าความหมายไหนก็สามารถสื่อได้ถึงความเย้ายวนที่เปี่ยมล้นความปรารถนาของดนตรีแนวนี้ ซึ่งสะท้อนความเซ็กซี่ออกมาโดยผ่านไลน์เบสอันลื่นไหล การตีคอร์ดกีตาร์อันชวนขยับ และกลุ่มเครื่องดนตรีให้จังหวะที่รุกเร้า ซึ่งยังผลให้เกิดการโยกย้ายส่ายสะโพกของเหล่าผู้ชมผู้ฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ชมผู้ฟังเพศหญิง

    ...

     ขณะที่สำหรับ ก้อ-ณฐพล ศรีจอมขวัญ ที่มีเครดิตยาวเหยียดมาตลอดระยะเวลาร่วม 2 ทศวรรษจากวง P.O.P มาจนถึงวง Groove Riders กับงานดูโอ The Boykor และงานเบื้องหลังทั้งในฐานะโปรดิวเซอร์ นักแต่งเพลง และมือเบสในหลากบทเพลงของหลายศิลปินนั้น 'Funk' ในความหมายของเขาเป็นอย่างไรกันนั้น...ไม่น่าจะผิดหรือพลิกความคาดหมายของใครต่อใคร

    ด้วยตัวเขานั้นมีลายเซ็นหนึ่งของไลน์เบสประจำตัวที่อยู่ในขั้วของแนวทางฟังก์และฟังกี้เป็นทุนอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานเพลงของวงที่เขาสวมหมวกกัปตันอย่าง Groove Riders นั้น โครงสร้างหลักของเพลงที่ฉาบหน้าด้วยดนตรีดิสโก้นั้นก็คือดนตรีโซลและฟังก์นั่นเอง

    ดังนั้นเมื่อมารังสรรค์งานเพลงเดี่ยวชุดใหม่...บนเงื่อนไขที่ปะหน้าชิ้นงานว่า 'Funk' นั้น แม้นจะมิได้สร้างความแปลกใจ หากก็ถือเป็นความแปลกใหม่ที่สร้างสีสันให้เกิดขึ้นบนเส้นทางดนตรีส่วนตัวของเขาได้ไม่น้อย

    ขณะเดียวกัน ก้อ ก็มิได้ให้ชื่อผลงานกลายมาเป็นกรอบหรือกฎในการทำงานแต่อย่างใดไม่

    นอกจาก ไตเติลแทร็ก หรือ รุ่นใหญ่ ที่ยังคงอยู่ในรอยทางดนตรีดิสโก้-ฟังกี้ที่ ก้อ เคยบุกเบิกมากับ Groove Riders ในลีลาที่ร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น

    ตุล ไวฑูรเกียรติ แห่งอพาร์ตเมนต์คุณป้า กับ นุ้ย-วิริยาภา จันทร์สุวงศ์ ที่เคยมีอดีตกับ The Peach Band ทำให้ FUNK มีความโดดเด่นสมเป็นเพลงเปิดอีพีขนาด 6 เพลงชุดนี้ โดยมีเนื้อหาสะท้อนถึงมุมมองการนำกลิ่นอายแห่งอดีตมารังสรรค์และถ่ายทอดใหม่ ซึ่งเป็นแนวคิดรวบยอดที่ต่อเนื่องมาถึงคำร้องของแทร็กถัดมาคือ รุ่นใหญ่ ซึ่ง คงเดช จาตุรันต์รัศมี แห่งสี่เต่าเธอ สามารถขโมยซีนให้ รุ่นใหญ่ กลายเป็นเพลงของสี่เต่าเธอได้เท่าๆ กับเพลงของ ก้อ หรือ Groove Riders เพียงท่อนแร็ปของ อุ๋ย แห่ง Buddha Bless ที่ดึงผู้ฟังกลับมาจากภวังค์แห่งสี่เต่าเธอได้

    อย่างไรก็ดี นับจากจุดนั้นเป็นต้นไป ก้อ ก็นำพาผู้ฟังเดินทางต่อไปยังพื้นที่อื่นนอกท้องทุ่งแห่งดิสโก้หรือฟังกี้จัดจ้าน ไปสู่ดนตรีจากช่วงยุค 80s เป็นสำคัญ

    ไม่ว่าจะเป็นดนตรีเทคโนใน Evil บีตและเบสไลน์หนักแน่นกว่าเพลงก่อนๆ ค่อนไปทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่เข้ากับอิมเมจของ จีน กษิดิศ ได้เป็นอย่างดี ขณะที่ The Diary นั้นก้าวไปสู่แนวทางนิวโรแมนติกในสไตล์ของ Polycat ชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อ นะ-รัตน จันทร์ประสิทธิ์ เริ่มถ่ายทอดคำร้องแรก กระทั่งไปอยู่ในอัลบั้มของวงได้โดยไม่ขัดเขิน

    สำหรับ เพื่อนซี้ นั้นเสียงร้องเปี่ยมชีวิตชีวาของ ตู่-ภพธร สุนทรญาณกิจ ทำให้เพลงนี้น่าติดตาม โดยเฉพาะท่อนร้องในแบบฟัลเซตโต เรียกบรรยากาศป๊อปยุคต้น 80s ได้ดี

    ก่อนที่จะปิดท้ายด้วย สักวัน ซึ่งมีท่อนอินโทรเวิ้งว้างยิ่งใหญ่สไตล์นิวเอจหรือโปรเกรสซีฟร็อก กระทั่งเมื่อเข้าสู่ตัวเพลงจึงผันไปเป็นป๊อปจังหวะปานกลางบรรยากาศเยือกเย็น ทั้งการเรียบเรียงดนตรีที่มีเสียงซินธ์โดดเด่นและเสียงร้องของ กานต์-นิภัทร์ กำจรปรีชา แห่ง The Parkinson ที่อ่อนหวานลงตัวกับตัวเพลงแบบกลมกล่อม นับเป็นการปิดฉากที่สวยหรูไม่น้อย

    ...


    หลังจากช่วงเวลา 28 นาทีกับบทเพลงทั้ง 6 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป...

    ความคิดอ่านก็ได้ล่องลอยไปถึงคำพูดของบุคคลที่เปิดโอกาสให้ ก้อ ได้เข้าสู่วงการดนตรีอย่างจริงจังคือ สุกี้-กมล สุโกศล แคลปป์ อดีตนายใหญ่แห่ง Bakery Music ที่เคยกล่าวเอาไว้ในครั้งหนึ่งว่า

    "P.O.P นั้นไม่ใช่แนวทางของก้อ Groove Riders ต่างหากที่เป็นก้อ"

    เมื่อแรกฟังในตอนนั้นยังไม่ค่อยเห็นด้วยนัก ด้วยมองว่า ก้อ นั้นมีศักยภาพที่ครอบคลุมในงานหลากหลายแนวทาง แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็กลับยิ่งเห็นด้วยกับทัศนะของบิ๊กบอสคนนี้มากขึ้น...และมากขึ้นทุกที

    มาถึงตอนนี้...เชื่อเหลือเกินว่า หากสุกี้ได้มาฟังอีพี FUNK ชุดนี้ เขาก็น่าจะมีข้อมูลและแนวคิดเพิ่มเติมขึ้นจากคราวนั้นว่า

    "P.O.P นั้นไม่ใช่แนวทางของก้อ Groove Riders ต่างหากที่เป็นก้อ ส่วน FUNK ก็คือพัฒนาการของเขาในวันนี้จากสิ่งที่เขามีและจุดยืนที่เขาเป็นนับตั้งแต่วันนั้น"


พีรภัทร โพธิสารัตนะ

คนรักดนตรีที่เริ่มต้นชีวิตนัก(อยาก)เขียนด้วยการเป็นนักวิจารณ์ดนตรีอิสระที่มีผลงานลงในนิตยสาร a day, Hamburger, Esquire และอีกมากมาย รวมถึงเคยถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตคนดังออกมาเป็นหนังสืออัตชีวประวัติมาแล้วหลายคนในหลายเล่ม อันมี Bakery & I ของ สุกี้-กมล สุโกศล แคลปป์ เป็นอาทิ ผ่านทั้งชื่อจริงและนามปากกาอย่าง ภัทรภี พุทธวัณณ นิทาน สรรพสิริ และวรวิทย์ เต็มวุฒิการ ก่อนหน้าที่จะผันตัวเองเป็น "บรรณาธิการตัวเล็ก" ให้กับนิตยสาร DDT ซึ่งมี "บรรณาธิการตัวใหญ่" ที่ชื่อ "ยุทธนา บุญอ้อม" หรือ "ป๋าเต็ด" ของใครต่อใคร
แล้วนับจากนั้นบรรณาธิการตัวเล็กคนนี้ก็ไม่อาจหลีกหนีไปจากมนต์เสน่ห์ของงานหนังสือได้อีกเลย ...และยังคงฟังเพลง เขียนหนังสือ และเสาะหาเรื่องดีๆ มาประดับความคิดอ่านอยู่เสมอ