Review : Slow Reverse: Slow Reverse (2014 Remastered)

    ดูเหมือนว่าเรื่องราวของวงดนตรีเล็กๆ ที่ชื่อ Slow Reverse จะกลายเป็นตำนานขนาดย่อมๆ ในแวดวงเพลงอินดี้ของเมืองไทย

    ย้อนไปเมื่อปี 2009 พวกเขาออกอัลบั้มชุดนี้มาแบบเงียบๆ แต่ความโดดเด่นของเพลงอิเล็กทรอนิกส์ป๊อปสดใสกับเสียงสวยๆ ของนักร้องสาว ก็ทำให้วงดนตรีวงนี้เป็นที่สนใจของใครต่อใครไม่น้อย เอาเป็นว่าเพลง Moving สามารถขึ้นไปถึงอันดับ 2 ในชาร์ตของคลื่นวิทยุล้ำๆ ในยุคนั้นอย่าง แฟต เรดิโอ ได้เลยก็แล้วกัน และหากแฟนเพลงที่ได้ยินเพลงของพวกเขาจากคลื่นแฟต เรดิโอ ได้ไปเดินงานเทศกาลดนตรีแห่งยุคนั้นอย่าง แฟต เฟสติวัล เพื่อไปตามหาซีดีอัลบั้มของวงนี้ ก็จะได้พบกับปกอัลบั้มรูปวาฬที่ถือเป็นปกซีดีที่สวยที่สุดชุดหนึ่งเท่าที่เคยมีมาของบ้านเราเลยทีเดียว

    สมาชิกของ Slow Reverse เป็นกลุ่มหนุ่มสาวที่สำเร็จการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ฟังการทำเพลงก็พอจะเห็นภาพได้ว่าพวกเขาคิดเพลงด้วยความเป็นนักออกแบบพอๆ กับความเป็นนักดนตรี เสียงร้องของนักร้องสาวสองคนถูกดีไซน์ให้ร้องสอดรับกันฟังดูน่าสนใจด้วยลีลากระซิบกระซาบ ความไม่สมบูรณ์แบบกลับกลายเป็นเสน่ห์ที่ยากจะต้านทาน เนื้อเพลงเขียนเป็นภาษาอังกฤษพอจะมีโครงเรื่องให้จับต้องได้ แต่ก็เปิดช่องว่างให้คนตีความตามจินตนาการ มีการใช้คำซ้ำๆ หรือการเล่นคำในหลายเพลง ในขณะที่ดนตรีที่มีเครื่องหลักๆ คือซินธิไซเซอร์ กีตาร์ และกลองโปรแกรม ก็ถูกแต้มแต่งด้วยสีสันสดใสของซาวนด์อิเล็กทรอนิกส์นานาชนิดที่ให้อารมณ์แบบวินเทจ หลายเพลงมีลีลาแบบมินิมอล ในขณะที่หลายเพลงก็เป็นการทดลองทางดนตรีที่น่าสนใจ 

    แน่นอนว่า Moving คือแทร็กที่โดดเด่นที่สุด นี่คือเพลงที่ลงตัวในทุกๆ ด้าน มีทั้งความสดใหม่ (แม้จะเอามาฟังเมื่อหลายปีผ่านไป) มีความน่ารักน่าชัง ซึ่งคอนทราสต์กับเนื้อเพลงที่สะท้อนสัจธรรมของชีวิตได้อย่างน่าสนใจ แต่ในอัลบั้มนี้ยังมีเพลงเด่นๆ อีกหลายเพลงที่ฟังซ้ำได้ไม่รู้เบื่อ อาทิ Monster ซึ่งฟังดูกระฉับกระเฉงแต่ก็มีความลึกลับอยู่ในที หรือ Live Action Sequence ที่เริ่มต้นอย่างเนิบๆ แต่ค่อยๆ ซึมลึกเข้าไปสู่หัวใจของเราได้อย่างง่ายดาย ในขณะที่เพลงอย่าง Apollo ก็เริ่มต้นด้วยซาวนด์อื้ออึงก่อนจะค่อยๆ ดึงเข้าสู่ความนุ่มนวลที่แสนอบอุ่นในท่อนฮุก

    กล่าวโดยสรุปได้ว่านี่เป็นอัลบั้มที่ฟังได้นานและไม่รู้เบื่อ

    ตอนที่ออกวางขายครั้งแรก อัลบั้มชุดนี้ขายหมดในเวลาอันรวดเร็ว หลังจากนั้นพวกเขาทำโปรเจกต์รวมมิวสิกวิดีโอและเพลงรีมิกซ์จากอัลบั้มนี้ออกวางจำหน่าย โดยเป็นการชักชวนศิลปินภาพเคลื่อนไหวและรีมิกเซอร์จากหลายประเทศให้มาร่วมทำงานด้วยกันในชื่อชุดว่า Illumination ในปี 2012 (ลองดูเอ็มวีเหล่านี้ได้โดยค้นหาในยูทูบด้วยชื่อวง Slow Reverse) หลังจากนั้นวงสโลว์รีเวิร์สก็ยังไม่มีผลงานเพลงใหม่อยู่หลายปี ช่วงหนึ่งสมาชิกหลักอย่าง อุซ-อุกฤษฏ์ ศิริชนะ ก็ไปทำวงดนตรีอีกวงชื่อ Aerolips และในที่สุด พวกเขาก็เอาอัลบั้มนี้มารีมาสเตอร์ในปี 2014 

    แม้ว่าปกอัลบั้มคราวนี้จะไม่ได้สวยและอลังการเหมือนตอนที่มีภาพวาฬในครั้งที่ออกวางขายครั้งแรก แต่ปกอัลบั้มเวอร์ชันนี้ก็จัดว่าสวยแบบมินิมอลอยู่ดี แถมการรีมาสเตอร์ปรับปรุงเสียงให้ดีขึ้นก็เป็นแรงจูงใจอย่างมากที่จะชวนให้แฟนเก่าและแฟนใหม่จับจองเป็นเจ้าของอัลบั้มนี้

    ตำนานบทเล็กๆ ของ Slow Reverse ยังดำเนินต่อไป ด้วยความรู้สึกที่เหมือนกับการที่เรามักจะเผลอก้าวถอยหลังอย่างเชื่องช้าไปสู่วันเวลาในอดีต กลับไปหาความทรงจำอันงดงามที่เราไม่เคยลืม

ลองฟังเพลงและดูมิวสิกวิดีโอของพวกเขาได้ที่ https://www.youtube.com/user/SlowReverse

วิภว์ บูรพาเดชะ

ผู้ก่อตั้งนิตยสาร happening, บรรณาธิการบริหารนิตยสาร happening, กรรมการบริหารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (bacc), นักเขียน, นักแต่งเพลง, นักฟังเพลง และนักอ่านตัวยง