กร-อัษฏกร เดชมาก ผู้ใช้การแรปสะท้อน AUTTA

    กร-อัษฏกร เดชมาก ยืนอยู่กลางห้อง ช่องแสงบนหลังคาปล่อยให้แดดลอดลงมากระทบใบหน้าเขาอย่างพอเหมาะพอดี หรือจะบอกว่าเขาต่างหากที่ก้าวไปให้อาทิตย์สาดส่องสัมผัสตัวเขา เพื่อให้เห็นทั้งด้านสว่างและเงามืดของตัวเอง
    การสัมภาษณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นภายในห้องชั้นบนสุดของ House 38 Cat and Home Studio Bar แม้จะไม่ใช่ห้อง 704 ที่เขาใช้ชีวิตขณะเรียนอยู่ที่คณะดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลตลอด 4 ปี รวมถึงเป็นสถานที่หล่อหลอมความคิด ความรู้สึก และกระบวนการทำงานเพลง จนเป็นที่มาของชื่ออัลบั้มแรกของเขา 3.45 x 4.9 x 2.55 (สามจุดสี่ห้า คูณ สี่จุดเก้า คูณ สองจุดห้าห้า) (2566) แต่กรก็ดูผ่อนคลายและพร้อมเผยเรื่องราวของ AUTTA ที่เขาสร้างขึ้นมาตอบสนองสิ่งที่เขาเป็น
    เราอาจจะเคยเห็นลีลาการแรปแบทเทิลของเขาใน Rap Is Now : The War Is On 4, การแต่งไรม์แบบเฉพาะตัวที่ใช้ทฤษฎีดนตรีเข้ามาทดลองในรายการ The Rapper ก่อนที่ตัวตนของเขาจะชัดเจนขึ้นผ่านผลงานเพลงของตัวเอง เมื่อเข้ามาเป็นศิลปินค่าย YUPP! เขาส่งต่อความฮึกเหิมด้วยเพลง ANTLV ทำให้เราหันกลับมานึกถึงเหตุผลที่แท้จริงของการพักผ่อนน้อยอย่างที่เป็นอยู่เมื่อฟัง ไม่ว่างมองฟ้า (Too Busy to Look Up) ไล่เรียงเรื่องราวที่มาจากทั้งความรู้สึกของคนอื่นและตัวเองไปทีละเพลง ก่อนจะคลี่คลายไปกับ ประกายฟ้า (Sparkles) ที่มีเพียงโน้ตที่งดงามของเปียโนคลอกับน้ำเสียงของเขากล่อมเกลาคนฟัง
    เมื่อมีโอกาสพูดคุยกัน ได้ถามกรทีละคำถาม ฟังคำตอบทีละประโยคสองประโยค เห็นเขาหัวเราะให้กับหลายเรื่องราวในความทรงจำ และหยุดคิดถึงสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่ในปัจจุบัน จึงทำให้เรารู้ว่า ความรู้สึกที่แท้จริงที่เขามีต่อความเป็น AUTTA เป็นอย่างไร
    AUTTA เดินออกมาจากห้อง 704 มานั่งคุยกับเราแล้ว ทุกคนพร้อมที่จะเดินตามออกมานั่งฟังเรื่องราวของเขาแล้วหรือยัง
เริ่มจากพื้นฐานด้านดนตรีก่อนเลย กรเล่นดนตรีครั้งแรกตั้งแต่เมื่อไร

    ผมเพิ่งนึกออกเลย ยังไม่เคยให้สัมภาษณ์ที่ไหน แต่ก่อนตอนเด็กจิ๋วเลยครับประมาณ ป.1 ป. 2 พ่อแม่ผมซื้อคีย์บอร์ดที่มีลำโพงในตัวที่มีแปะสติกเกอร์ โด เร มี ฟา ซอล วางขายตามห้าง มาให้ แต่ไม่มีคนสอน แล้วไม่มีใครเล่นเป็นด้วย เขาจะมีหนังสือเพลงแถมมาให้ ซึ่งผมอ่านไม่เข้าใจ แต่มีเนื้อเพลงแล้วมีตัว ด ร ม เป็น โด เร มี เราก็เล่นได้อยู่เพลงเดียวในนั้นคือเพลง ฮัดเช้ย ฮัดเช้ย ฮัดเช้ย อยากรู้จักเลยว่าใครเอ่ยถึงฉัน (ฮัดเช้ย..ที่รัก ของ จิ้งหรีดขาว วงศ์เทวัญ) นั่นแหละครับ ทั้งเล่มเป็นเพลงเก่าหมดเลย ซึ่งเรารู้จักเพลงนั้นอยู่เพลงเดียว แล้วก็ไม่รู้โน้ตอะไรด้วย กดเป็นแค่ 66 66 66 3176 76 123 อย่างนี้ คือได้แค่นั้นเลยครับ อันนั้นผมว่าเป็นพื้นฐานสุดๆ เลยแหละ พื้นฐานไม่ค่อยดีเท่าไร เล่นได้แค่นั้น แล้วก็ทิ้งไป จนมา ป.5 ป. 6 ครับ คุณครูวิชาดนตรีให้เลือกเล่นเครื่องดนตรีหนึ่งอย่างครับ ตอนนั้นอูคูเลเล่ฟีเวอร์มากเพราะพี่สิงโต นำโชคครับ เพื่อนๆ ก็เลือกอูคูเลเล่กัน ส่วนเราเลือกกีตาร์เพราะว่าเท่ดี เราตัวเล็กนิดเดียวเองอยากเล่นกีตาร์ตัวใหญ่ๆ ก็เลยเริ่มเล่นกีตาร์ตั้งแต่ตอนนั้น

เติบโตมากับเพลงแบบไหน

    ตอนเด็กๆ ส่วนใหญ่เป็นเพลงป๊อปทั่วไปครับ ป๊อปร็อก แต่ผมมีพี่สาวที่ห่างกับผมแค่ปีสองปีแต่เขาจะชอบฟังเพลงนอกกระแสครับ วงพราว, PRU, Penguin Villa ซึ่งมันคนละยุคกับเราแล้วแต่เรารู้จักจากเขา ส่วนที่ฟังเองก็จะเป็นร็อกเมนสตรีมเลยครับ Bodyslam, Big Ass, Mind, Getsunova เพราะว่าเราเอาไปประกวดดนตรีกับเพื่อน แต่ว่าพอมาเรียนดนตรีก็จะเปลี่ยนไปอีกครับ ช่วงปลายๆ ที่จะสอบดนตรีจะเริ่มชอบเมทัลแล้ว อย่างวง Trivium, Avenged Sevenfold แล้วพอเข้าเรียนแจ๊ซมา เริ่มต้องเรียนแจ๊ซก็จะชอบฟังแจ๊ซครับ จะชอบพวกมือกีตาร์แจ๊ซต่างๆ ครับ จิม ฮอล (Jim Hall), แพท เมธินี (Pat Metheny), แพท มาร์ติโน (Pat Martino)

เริ่มฟอร์มวงประกวดดนตรีตั้งแต่เมื่อไร
    ตั้งแต่ ม.1 ครับ ไม่เคยชนะอะไร ประกวดกันเล่นๆ เฉยๆ แต่ว่าพอเล่นไปเล่นมาเราซ้อมถี่ไป เพื่อนในวงเขาเล่นเป็นงานอดิเรกไม่อยากซ้อมมาก เลยเริ่มไปต่อไม่ได้แล้ว จริงจังคนละสเกลกัน ผมเลยกระโดดไปเล่นกับพวกรุ่นพี่ ม.6 ประกวดนอกโรงเรียนมากขึ้น ไม่ได้รางวัลอะไรแต่สนุกตรงที่ได้แกะเพลงมากขึ้นครับ
อะไรคือเหตุผลที่ทำให้อยากจริงจังเรื่องดนตรี
    ตอนนั้นเราไม่จริงจังกับการเรียนขนาดนั้นด้วยครับ แล้วมัน มี 2 อย่างที่ผมจริงจังมากคือ เกม กับ ดนตรี  เกมผมเอาตายเลย เอาสุดทางครับ ผมเล่น League of Legends (LoL) ตอนนี้ก็ยังเล่นอยู่นะ ผู้จัดการจะตีตาย (หัวเราะ) แล้วดนตรีก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง จริงๆ ผมไม่ได้มีความมั่นใจอะไรด้านดนตรีเลยครับ แต่ว่าขี้เกียจเรียนแล้ว มันไม่สนุกสุดๆ ไปเลยครับ คือเราไม่ได้เรียนแย่ด้วยนะ แต่เรารู้สึกว่าเราไปโรงเรียนแล้วเราไปหลับ รอตื่นมาตอนเลิกเรียนเลยอะ หลายๆ ครั้งเรารู้สึกว่าระบบ วิธีการสอน บรรยากาศการเรียน ทำให้เราไม่อยากเรียน 
    ประจวบเหมาะกับช่วงที่แข่งเยอะๆ เราอยากเก่งขึ้น ตอนนั้นเราอยู่ ม.3 รุ่นพี่อยู่ ม.6 แล้วพวกพี่ในวงเขาไปเรียนที่สถาบันหนึ่งเพื่อติวสอบเข้าปี 1 สายดนตรีที่มหาวิทยาลัยมหิดล พี่เขาบอกว่าเข้าเรียนดนตรีตั้งแต่ ม.4 ได้ด้วยนะ ผมก็เริ่มสนใจเลยลองไปติวดู แล้วเหมือนอาจารย์เขาไม่คิดเงินเราด้วย แลกกับให้เราทำความสะอาดห้องเรียนที่สถาบันนั้น ผมเลยไปเป็นเด็กกวาดพื้น แลกกับการเกาะเรียนกับพี่ๆ เขา ทำให้ได้ติวพวกทฤษฎีดนตรี โสตทักษะ การฟัง การแยกแยะเสียงอะไรอย่างนี้ครับ
แต่สุดท้ายเมื่อเข้าเรียนที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ได้ก็ต้องเลือกเรียนกีตาร์แจ๊ส คงไม่เหมือนกับที่คิดไว้ใช่ไหม
    ตอนนั้น ม. 4 กีตาร์ไม่มีร็อกให้เลือกครับ มีแค่ดนตรีไทย คลาสสิก และกีตาร์แจ๊ส ซึ่งผมคิดว่ากีตาร์แจ๊สใกล้เคียงสุดเพราะว่าได้เสียบสาย แต่ผมก็ไม่เข้าใจอยู่ดี ผมสอบทฤษฎีกับโสตทักษะผ่านแล้ว เข้าใจเรื่องทฤษฏีนะแต่ปฏิบัติไม่ได้เลย ตอนไปสอบก็เล่นมั่วๆ แค่เล่นให้ดูเหมือนจะแจ๊ส เพราะเราคิดว่าอาจารย์ไม่รู้หรอก แต่ออกมาได้สามสิบเต็มร้อยคะแนนครับ โคตรเน่า ต้องไปเก็บพวกปฏิบัติเพิ่ม
ช่วงเรียนดนตรีมีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นในชีวิต คิดว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้กรผ่านสิ่งเหล่านั้นไปได้
    ผมคิดว่าหลักๆ มีสองอย่างครับ ตัวเองกับเพื่อน ผมมีเพื่อนที่ดีมากครับ เพื่อนหลายๆ คนเก่งมากๆ จริงๆ เป็นถึงแชมป์ประเทศ แชมป์โลกกัน แต่ว่าเขาช่วยสอนเรา คือมันเหมือนระบบนิเวศ (ecosystem) ที่ดีครับ พอมันสอนเพื่อนคนนั้น มาสอนเรา เราก็สอนคนอื่นต่อได้ ช่วยกันไปเรื่อยๆ รุ่นผมเลยมีระบบนิเวศที่ดี เพราะสภาพแวดล้อมมันโอเค ทุกคนเข้าใจไปพร้อมๆ กัน ช่วยกันเรียน อีกอย่างหนึ่งคือความลูกบ้าอะไรสักอย่างของผม ผมเป็นคนชอบเอาชนะประมาณหนึ่งครับ ฮึบ! แข็งใจไว้นะ แล้วเอาให้มันผ่านไปให้ได้ ประมาณนั้น เลยผ่านไป
ในที่สุดก็ตัดสินใจเปลี่ยนไปเรียนสาขา เทคโนโลยีดนตรี (Music Technology) ใช่ไหม
    ผมเรียนกีตาร์แจ๊สมา 3 ปี แล้วตอนขึ้นปี 1 เขามีให้เปลี่ยนสายครับ คือตอน ม.6 มันมีวิชาที่ให้เรียนรู้เรื่องซาวน์เอ็นจิเนียร์เบื้องต้น ใช้โปรแกรมทำเพลง ให้ลองตั้งไมค์ แล้วเรารู้สึกอิน อินแบบที่ไม่เคยรู้สึกกับกีตาร์แจ๊สขนาดนั้น โห... ตั้งไมค์แล้วได้เสียงแบบนี้แบบนั้น มันสนุกจริงๆ เลยเริ่มสนใจ ศึกษา พอไปปรึกษาครูหลายๆ คนก็ไม่อยากให้ผมย้ายนะ แต่อาจารย์ที่สอนกีตาร์เองบอกว่า ไปเถอะ เอาตรงๆ งานเล่นแจ๊สในประเทศนี้ไม่ได้เยอะขนาดนั้น มันมีที่จำกัด แล้วอาจารย์ที่สอนๆ พวกเราอยู่เขาก็ยังเล่น ไม่ได้หายไปไหนนะครับ เอาง่ายๆ คือ อุปทาน (supply) มันมากกว่า อุปสงค์ (demand) นั่นแหละ กลับกัน ด้านเอ็นจิเนียร์มันยังมีงานที่ตลาดต้องการเรื่อยๆ แล้วค่อนข้างทำได้หลายอย่าง เราทำโปรแกรมได้ เราทำซาวน์แบบไลฟ์สดได้ เราทำงานในห้องอัด (recording) ได้ โอกาสทางอาชีพเยอะครับ เราคิดอย่างนั้นก็เลยย้ายมา เอาจริงๆ ก็คือแค่เห็นว่าช่องทางทำอาชีพเยอะกว่า บวกกับความสนุก แค่นั้นครับ
เริ่มสนใจการแรปตั้งแต่เมื่อไร
    ช่วง ม.6 ที่ผมเริ่มสนใจเรื่องเอ็นจิเนียริ่ง แล้วชีวิตดาร์คๆ ครับช่วงนั้น เล่นแจ๊สไม่ค่อยมีความสุขแล้ว มันไม่ค่อยสื่อสารกับเรา ไม่ค่อยรู้สึกอะไรกับแจ๊ส แต่ว่าเพลงแรปอย่างโดนเส้นเลยครับ เราเพิ่งรู้ตัวว่าเราชอบอะไรพวกคำคม ไลฟ์โค้ช โอ้โห! คิดได้ยังไงวะ หรือว่าความสละสลวยด้านภาษา เราฟังแล้วก็อินมากเลย เห็นความสวยของคำและการเลือกคำไปอยู่กับดนตรีมันเท่มากเลย ก็เลยเริ่มฟังมาเรื่อยๆ ครับ
ตั้งแต่เริ่มประกวดรายการต่างๆ จนวันนี้ที่มีผลงานเป็นของตัวเองแล้ว คิดว่าอะไรคือความแตกต่างของการเป็นผู้เข้าแข่งขันกับการเป็นศิลปิน
    ความต่างเลยนะ ผมว่าการแข่งมันคือคอร์สเรียนแบบเร่งรัด หลักสูตรเก่งภายใน 7 เดือน สมมติระยะเวลาแข่งภายใน 7 เดือน คุณเก่งจะขึ้นมาแบบปรื๊ด... เลย เพราะถ้าเก่งไม่พอก็ตกรอบ เท่านั้นเอง ช่วงเวลานั้นมันจะพัฒนาทักษะ ตอนแรกเราอาจจะเขียนได้ภายใน 1 สัปดาห์ แล้วค่อยๆ ลดเหลือ 3 วัน 1 วัน แค่นั้นไม่พอ ต้องพัฒนาทักษะจำเพื่อไปแข่ง มันจะค่อยๆ เก่งขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัวครับ ทักษะพวกนี้มันจะมาเอง อีกอย่างคือการเข้าถึงอารมณ์ เพอร์ฟอร์มานซ์อะไรอย่างนี้ครับ มันคือเครื่องกรองเลยว่าคุณจะได้ไปต่อหรือว่าพอแค่นั้น เพราะเหมือนใครที่ผ่านรายการแข่งมาแล้วจะมีทักษะเหล่านี้ติดตัวมาเองโดยที่คุณไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ
พอเป็นศิลปินแล้วแตกต่างจากตอนแข่งอย่างไร
    ผมว่าพอมาเป็นศิลปินเราไม่มีเดดไลน์มาจี้ตูดขนาดนั้นแล้ว แต่ว่ามันจะเริ่มเป็นการค้นหาเวย์ของตัวเองว่าจริงๆ เราชอบดนตรีแบบไหน เราชอบพูดอะไร มากกว่าเรื่องของการแข่งขันแล้ว ผมว่ามันค่อนข้างหลากหลายนะ เพราะบางคนแข่งเก่งมาก ทำตามโจทย์เก่งมากๆ พอต้องมาทำเพลงตัวเองก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไร ต้องเขียนอะไร เคว้งได้เหมือนกัน บางคนแต่งเพลงเก่งมากแต่อาจจะแข่งไม่เก่งก็เป็นไปได้เหมือนกันครับ 
    สิ่งที่แตกต่างกันผมว่ามันเป็นคอร์สเร่งรัด กับการเป็นศิลปินที่ทำอะไรที่อยากทำจริงๆ
การเรียนดนตรีที่ผ่านมาอะไรคือสิ่งสำคัญที่กรหยิบมาใช้ได้บ่อยบ้าง
    สำหรับผมนะ ผมคิดว่าโสตทักษะ (ear training) ครับ เรียกรวมๆ ว่าทักษะการเป็นนักดนตรี (musicianship skills) ละกันครับ บางคนอาจจะไม่รู้โน้ตเท่าที่ควรก็ได้ แต่คุณต้องได้ยินว่าคุณต้องการเอาต์พุตอะไรออกไป และได้ยินว่าเพื่อนในวงกำลังเอาต์พุตอะไรออกมาให้คุณ เวลาผมไปคุมอัดจะได้ใช้ทักษะเหล่านี้เยอะมากเลยครับ เพราะว่าเราคุมอัดกับคนที่ไม่รู้ดนตรีเยอะเลยครับ แต่เราต้องสื่อสารยังไงให้คนที่ไม่รู้ดนตรีทำอย่างที่เราอยากให้เขาร้อง เหมือนร้อง ฮัดเช้ย ฮัดเช้ย ฮัดเช้ย ทำยังไงให้เขาร้องให้ตรง เขาร้องเบี้ยวจังหวะอยู่ สื่อสารยังไงให้เขาร้องให้ตรงให้ได้ แปลว่าเราต้องมีทักษะการเป็นนักดนตรีที่แข็งแรง เข้าใจอย่างปรุโปร่งก่อนแล้วเราค่อยแนะนำคนอื่นได้ อันนี้ได้ใช้เยอะสุดๆ ครับ
บางคนจะพูดว่าการเป็นศิลปินได้ต้องมีพรสวรรค์ ถ้าได้ยินแบบนี้แล้วเรารู้สึกอย่างไร
    ขี้โม้ครับ โม้ร้อยเปอร์เซ็นต์เลยครับ จะเรียกว่ามีก็ได้ แต่ผมไม่ใช่หนึ่งในนั้นแน่นอน คนที่มีพรสวรรค์เขาเรียกว่าเพอร์เฟคพิตช์ (perfect pitch) ครับ คือไม่ว่าจะได้ยินเสียงเคาะโต๊ะ เคาะแก้ว ดังเป๊ง ปั๊ง ปุ๊ง เขาจะจำแนกโน้ต จำแนกโทนเสียงได้ อันนั้นเป็นพรสวรรค์ คุณไม่ต้องคิดอะไรเลย แต่ของผม ผมฝึกฟังเสียงแบบนี้มาเป็นกี่พันรอบแล้วไม่รู้ จนเรารู้ว่า อ๋อ... ระยะห่างเท่านี้ 4 เสียง เพราะเราฝึกมา เรารู้ว่าจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่ง ยาว 4 เสียง ความสามารถของผมไม่มีพรสวรรค์อยู่ในนั้น ฝึกล้วนๆ ครับ แต่สุดท้ายมันใช้งานได้เหมือนกัน
ที่มาของชื่อ AUTTA?
    ผมชื่อจริง อัษฏกร ครับ เวลาเขียนมันคือ AUTTAKORN ก็เลยตัด KORN ทิ้ง เหลือ AUTTA แค่นั้นเองครับ จริงๆ อัษฏกร ไม่มีความหมายอะไรมากครับ คือแม่ผมใช้ตัวอักษรมงคลเป็นหลัก อัษฎ (อ่านว่า อัดสะดะ) แปลว่าเลขแปด อัษฏกรก็คือแปดมือครับ แต่ว่าทีนี้พอตัดเป็น AUTTA แล้ว มันก็มีเรื่องความเป็นอัตตา ความเป็นอีโก้ ที่จริงผมคิดเยอะนะ คิดว่าความหมายมันดูมีมิติ ดูมีความลึกของมัน ที่สำคัญเสิร์ช AUTTA ในยูทูบแล้วยังไม่เจอ เลยคิดว่าเวิร์ก
หลังจากใช้ชื่อ AUTTA แล้ว กรคิดว่าชื่อนี้เหมาะกับตัวตนของเราจริงๆ ใช่ไหม
    รู้สึกเข้านะครับ ถ้าไม่ใช่ชื่อนี้ก็ไม่รู้ว่าจะใช้ชื่ออะไรแล้ว แต่จะมีความรู้สึกเวลาที่เราเสิร์ชชื่อตัวเองมันมักจะขึ้นมาคู่กับคำในแง่ลบ อาจจะเพราะคำว่าอัตตามันดูเป็นคนมีอัตตา คนมีอีโก้ ถูกใช้ในแง่ไม่ดีเยอะ ผมรู้สึกว่าบางคนกลัวเราจากชื่อ กลัวเราจากภาพจำว่าต้องเป็นคนมีอัตตา ต้องเป็นคนหยิ่งๆ ไม่แคร์ใคร เอาแต่ตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล ทำให้มีความรู้สึกแบบนั้นเหมือนกันครับ
แล้วความเป็น AUTTA ถูกนำเสนอออกมาในอัลบั้ม 3.45 x 4.9 x 2.55 แบบไหน
    ถ้าโฟกัสแค่ด้านเนื้อหานะครับมันเนกาทีฟหมดเลย มันคือคนที่เกลียดตัวเอง คนที่สงสัยในตัวเอง คนที่ไม่รู้ว่าตัวเองทำอะไรอยู่ ทั้งหมดเลย แต่ดนตรีมันทำให้เพลงเปลี่ยนจากเฉดของความเกลียดตัวเองนั้นไปเฉยๆ ครับ สุดท้ายมันคือเรื่องราวของคนคนเกลียดตัวเองนั่นแหละ ยกเว้นหนึ่งเพลงครับ ประกายฟ้า
กรทำอัลบั้มนี้แบบไหน ใช้วิธีมองภาพรวมก่อนหรือทำเพลงไปก่อนแล้วค่อยคิดคอนเสปต์
    ตอนแรกคิดแค่มู้ดแอนด์โทนครับ เล็งเรื่องที่พูดและดนตรีไว้แต่แรกแล้วว่าเป็นมู้ดเนกาทีฟนั่นแหละ เพราะว่าเขียนเพลงเรื่องอื่นไม่ค่อยออก ถ้าเขียนเรื่องนอยด์ๆ ตัดพ้อ ไว เป็นคนตัดพ้อเก่ง ประชดเก่ง โหเขียนออกมาได้เป็นพรืด แล้วก็มันออกมาจนครบถึงค่อยรู้สึกว่า อ๋อ... ทั้งหมดนั้นสะท้อนกลับไปที่ชื่อห้อง สะท้อนกลับไปยังพื้นที่ที่เราอยู่ มันปั้นให้เราโตขึ้นมาเป็นคนอย่างนี้ ก็เลยกลับไปเป็นชื่ออัลบั้มแบบนั้นครับ
อย่างที่บอกว่าเนื้อหาเพลงมีความเนกาทีฟ อยากรู้ว่าเวลาที่เขียนเนื้อลงไปแล้ว ตอนที่ได้กลับไปอ่าน กรมองเห็นอะไรบ้าง หรือว่ารู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่เขียนออกมาบ้าง
    ผมรู้สึกดีใจนะที่ได้เขียน หลายๆ อย่างเราก็ไม่รู้ว่าเราคิดจนกระทั่งเราเขียนออกมา บางอย่างเราคิดอยู่ในหัว 10 วินาทีเราก็ลืมแล้ว แต่ว่าเราเป็นคนอย่างนั้นจริงๆ เราเป็นคนอย่างที่เราคิดนั่นแหละ เราแค่ไม่ได้จำมัน วันหนึ่งเราคิดเป็นพันเรื่องเลย แต่เราไม่เคยบันทึกว่า อ๋อ... กูเป็นคนอย่างนี้แหละ คิดแบบนี้แหละ พอมันถูกเขียนไปแล้ว ผมรู้สึกว่ามันเหมือนเราจะได้ไม่ต้องไปคิดอันนั้นซ้ำ เพราะเราเห็นกระบวนการแล้ว เรารู้แล้วว่าจุดจบมันเป็นอย่างไร
การเขียนออกมาแบบนี้ทำให้เรายอมรับตัวตนของเราได้ไหม
    เรื่องยอมรับนะครับ เพราะเรากล้าเขียนมันลงไป เหมือนหัวมันลิงก์กับมือครับ แล้วยิ่งอ่านก็ยิ่งยอมรับตัวเอง แต่มันมีอีกเรื่องหนึ่งคือ พอเราได้เขียน เราจะมีเวลากลั่นกรองครับ กว่าเราจะเขียนเสร็จ กว่าเราจะดูสัมผัส ดูจังหวะ คล้องกับอีกบรรทัดนึง ไอ้ความรู้สึกนั้นมันก็ชัวร์แล้วว่าเรารู้สึกอย่างนั้นจริงๆ แหละ ประมาณนั้นครับ มันค่อนข้างคอนเฟิร์มเราเลย
มีเพลงไหนในอัลบั้มนี้ที่ชอบเป็นพิเศษไหม 
    จริงๆ ผมชอบหลายเพลงครับ แต่เอา ประกายฟ้า แล้วกัน ประกายฟ้า เป็นเพลงที่แทร็กน้อยที่สุดในชีวิตผมครับ มี 2 แทร็กด้วยกัน แทร็กในการอัดเสียงเส้นหนึ่งคือเปียโน อีกเส้นหนึ่งคือเสียงร้อง หมดแล้วครับ มีเท่านี้ ในขณะที่ถ้าไปดูเพลงอื่นๆ จะมีไลน์นู่นนี่นั้นเต็มไปหมด แล้วผมเป็นคนบ้า อย่างถ้าอัดเสียงร้องจะมีอัดประสานซ้าย-ขวา อื่นๆ อีกรวมๆ เป็น 10-20 แทร็กแล้วครับ แต่ ประกายฟ้า เป็นเพลงที่จบด้วย 2 แทร็กเลย แล้วก็รู้สึกว่าพอแล้ว เพียงพอแล้ว
    ผมรู้สึกว่าเพลงอื่นๆ โหมกระหน่ำทุกอย่างมาเยอะ ฟุ้งมาเลย แล้วพอมันลงมาเหลืออะไรที่ซิมเปิลมากๆ คนเราจะสัมผัสถึงไดนามิกนั้นได้ง่าย เอาแบบชีวิตประจำวันหน่อยนะ เราจะเห็นความต่างของเฉดดำกับเทาก็ต่อเมื่อเราเปรียบเทียบมันครับ อย่างสีดำตัวนี้กับเสื้อสีเทาของพี่กับสีเทาของผมมันคนละเฉดกันครับ แต่เราจะเห็นว่ามันเป็นคนละเฉดก็ต่อเมื่อเราเอามันมาเปรียบเทียบกัน อาการหุบลงไปมินิมอลของ ประกายฟ้า มันทำงานอย่างนั้น
ชอบอะไรในแต่ละบทบาทบ้าง
    อย่างทำมิวสิกสกอร์ผมชอบตังครับ ได้ตังเยอะมาก คุ้มกว่าทุกงานที่ทำมา งานสอนผมชอบที่เราได้เห็นพัฒนาการของเด็กที่มากกว่าเรื่องแรป มันมีเรื่องตัวตน คาแรกเตอร์ของเขา ความเชื่อของเขา เราจะเห็นกระบวนการทั้งหมดเลย จากวันแรกที่แรปไม่เป็น จนถึงวันที่เขาแรปเป็นมันมีคาแรกเตอร์ดีเวลลอปเมนต์ผมชอบมาก เวลาโค้ชสอนหน้างาน สอนในห้องอัด มันท้าทายว่าสมมติคนอัดมีองค์ความรู้จำกัดเท่านี้ แต่เขาอยากได้เสียงนี้ เขาอยากไปถึงธงของเขาเราต้องสอนเขาว่าเดินยังไงจะไปถึงธงนั้นอันนั้นมันท้าทายเรามากเลย แล้ววิธีเดินของแต่ละคนเพื่อไปถึงจุดหมายนั้นไม่มีเหมือนกันเลย สนุกดีครับ แต่ละบทบาทมันวัดกันคนละแบบเลยครับ
กรเป็นครูแบบไหน 
    ผมว่าผมใจดีนะ ใจดีมากเลย ถ้าไม่ทำการบ้านมา ผมรู้ว่าเขาไม่ทำการบ้าน เพราะผมก็เคยเป็นเด็กแบบนั้นแหละ แต่ผมจะดูว่าถ้าไม่ทำมาแล้วเนียนอย่างไร เอาอะไรมาส่ง ถ้าไม่ทำการบ้านมา แล้วในคาบเรียนรู้เรื่องแค่ไหน คุณจะเอาไปซ้อมเองก็ได้ อยู่ที่ว่าวันไหนที่คุณอยากจะซ้อมให้เก่งขึ้นมา ผมบังคับให้ใครซ้อมไม่ได้ แต่ถ้าเข้าใจสิ่งที่สอนก็โอเค แปลว่าเราคุยกันรู้เรื่อง
แล้วกรเป็นศิลปินแบบไหน
    ผมเป็นคนค่อนข้างบ้าพลังนะ ถ้าในแง่การทำงานเพลงผมใส่สุดเลยครับ จะไม่กลางๆ เพลย์เซฟ ผมจะรู้สึกว่าถ้าฟังแล้วมันได้ฟีล ถึงแม้ว่าดนตรีจะกากๆ เลย แต่ถ้าได้ฟีล มันก็ได้ ผมจะใช้ความรู้สึกแบบนั้นเป็นหลักครับ
ใจดีหรือใจร้ายกับตัวเองบ้างไหม
    ผมไม่เชิงใจดีหรือใจร้าย แต่จริงใจกับตัวเอง สมมติว่าเพลงนี้มันห่วยแตก ผมจะไม่หลอกตัวเองว่ามันดี เราจะไม่สามารถปลอบตัวเองว่า "เฮ้ยมันดีแล้ว มันดีแล้วเพื่อน" เราจะ "เชี่ย มันห่วย มันห่วยเพื่อน" ก็จริงใจกับตัวเอง แต่สมมติมันดีแล้วก็จะไม่คิดว่า "เฮ้ยมันยังไม่ดี" เราจะมีเกณฑ์ของเราอยู่ว่าอันนี้มันดีหรือยังไม่ดี
เวลาทำงานเพลงกรมองตัวเองเป็นหลักหรือว่าคิดว่าต้องทำเพื่อเสิร์ฟความต้องการให้คนฟังด้วย
    จริงๆ ผมเอาตัวเองเป็นหลักเลยครับ เอาให้ตัวเองมันก่อน รู้สึกก่อนเลย แล้วค่อยวิ่งเข้าไปว่าเราจะทำสิ่งที่รู้สึกอย่างนี้ให้คนฟังรู้สึกแบบเดียวกับเราอย่างไร แบบเผด็จการนิดนึง บังคับว่านายต้องรับ ลิ้มรสความรู้สึกนี้ไปซะ แบบเบียวๆ หน่อย แต่ต่างคนต่างความคิดครับ บางเพลงเราเล็งไปที่เรื่องหนึ่ง เขาอาจจะรู้สึกอีกแบบหนึ่งก็ได้ ผมคิดว่ามันคือความสวยของศิลปะ
ถ้าให้เลือกเพลงนึงในอัลบั้มนี้มาบอกเล่าสิ่งที่ตรงกับความเป็นกรในช่วงนี้มากที่สุด จะเลือกเพลงไหน
    ประกายฟ้า ละกันครับ มันใช้ได้หลายโอกาส ทั้งแง่ที่เรากำลังเป็นคนดูประกายฟ้า หรือเรากำลังเป็นประกายฟ้า เพราะฉะนั้นผมว่ามิติมันค่อนข้างเยอะครับ ขึ้นอยู่กับว่าคนฟังกำลังเป็นพาร์ทไหนในเพลง
ช่วงนี้กรมีความสุขกับอะไรบ้าง
    ตอนนี้ผมมีความสุขกับการออกกำลังกายครับ เล่นเวทมันสนุกดีครับ มันเหมือนมีเป้าหมายระยะสั้น อีก 3 ทีจะครบเซตแล้ว สนุกดีครับ ผมชอบมาก อีกเรื่องหนึ่งคือเกมครับ ผมเล่นเกมเหมือนเดิมแหละครับ เกมเดิมแต่ว่าคนละโหมด ไต่อันดับไปเรื่อยๆ ครับ แต่ว่าไม่ค่อยมีเวลาเล่น ตอนนี้อันดับสองร้อยกว่าๆ ของประเทศ เคยบ้าจัดๆ ช่วงโควิดก็ท็อปยี่สิบอันดับของประเทศครับ
แล้วเป้าหมายในช่วงวัยนี้ของกรคืออะไร
    พอมาเป็นเป้าหมายในชีวิตจริงอย่างนี้ เรารู้สึกว่าเราไม่ได้มีเป้าขนาดนั้นก็เลยต้องหาเป้าเล็กๆ นั่นแหละทำไป ผมไม่เคยแพลนอะไรแบบนั้นเลย น่ากลัวนะ แต่ผมรู้สึกว่าเราเป็นเด็กที่เหมือนเดิม ก็ยังรู้สึกว่าเราเหมือนเด็กสิบกว่าขวบอยู่ดี แค่ทำงานหาเงินได้เฉยๆ หลักๆ ก็เอามาซื้ออะไรที่ตอนเด็กๆ เอื้อมไม่ถึงครับ อย่างเช่นเติมเกมหรือซื้ออะไรที่ตอนเด็กได้แต่ดู ซื้อกีตาร์ดีๆ จ่ายเงินเข้าฟิตเนส ไม่ได้มีอะไรมากกว่านั้นครับ
มีอะไรในตัวเองที่เราชอบหรือไม่ชอบบ้างไหม
    ผมชอบที่สภาพจิตใจดีขึ้น คอนโทรลอะไรได้มากขึ้นครับ แต่ถ้าไม่ชอบก็คือ ดีเกินจนไม่มีอะไรเขียนเพลงครับ ผมจะอยากนอนเฉยๆ ไม่ได้อยากเขียนเพลงแบบ "ว้าว! ทุกคนมาเศร้ากัน" ไม่มี ผมอยากนอน กินข้าว เล่นกับแมว เลี้ยงหมา ผมอยากอยู่เฉยๆ แบบมีตังอะพี่
วางเป้าหมายของตัวเองในฐานะศิลปินไว้อย่างไร
    เป้าหมายคือทำเพลงแล้วได้ตัง หมายถึงว่าทำเพลงที่อยากทำแล้วดันได้ตังในระดับที่เลี้ยงตัวเองได้ก็จะดีครับ คือตอนนี้มันได้ประมาณหนึ่งแล้วแหละ แต่ยังเลี้ยงคนรอบข้างไม่ได้

    จริงอยู่ที่ในช่วงเวลานี้กรมีความสุขและคงไม่มีประเด็นหม่นหมองอะไรให้หยิบจับมาเขียนเพลงมากนัก แต่เมื่อไรที่มีสิ่งเร้ามากระตุ้นให้เกิด AUTTA เรารู้ว่าความคิดสร้างสรรค์ของเขาพร้อมที่จะทำงานเพลง เพื่อตอบสนองเรื่องราวที่เขาอยากบอกเล่าทันที

Favorite Something
  •   About Time (2012)
  •   Rhythm Zero - Virgil Donati
  •   The Alchemist - Paulo Coelho
  •   Plini (Guitarist)

ดุสิตา อิ่มอารมณ์

นักเขียน ผู้ใช้พื้นที่ในเวลาว่างไปกับการอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ขี่จักรยาน อ่านการ์ตูน เล่นเลโก้ ฯลฯ โดยเชื่อเต็มหัวใจว่าเวลาที่หมดไปกับความรื่นเริงนี้สามารถเติมเต็มชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพผู้ชื่นชอบการวาดรูปและรับงานวาดภาพประกอบบ้างประปราย เธอมีความตั้งใจกับตัวเองว่าจะออกไปเที่ยวนอกประเทศให้ได้ปีละครั้ง