ซิน-ทศพร อาชวานันทกุล เป็นศิลปินที่ใช้เสียงสร้างความสุขให้กับผู้ฟังมานานกว่าสิบปี
ภาพแรกของซินที่หลายคนจดจำได้ คือ การเป็นนักร้องนำวง ซิงกูล่าร์ (Singular) ด้วยเสียงร้องนุ่มละมุนมีเอกลักษณ์ ทำให้เพลงของเขาเข้าไปอยู่ในใจผู้ฟังได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นเพลง 24.7, เบาเบา, ลอง และอีกหลายเพลง หลังจากที่สร้างความสุขให้กับแฟนๆ อยู่หลายปี ก่อนที่ทั้งคู่จะตัดสินใจแยกย้ายไปตามความฝันครั้งใหม่
ซินห่างหายไปจากวงการเพลงนานกว่าสองปี นั่นเป็นช่วงเวลาที่เขาค่อยๆ เรียนรู้ความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง และกระบวนการทำเพลงในแบบที่ตนสนใจ จนเกิดเป็นอัลบั้มเต็มชุดแรกที่ชื่อว่า MELANCHOLY (2015) ที่ปลดปล่อยห้วงอารมณ์และเปิดประตูให้แฟนเพลงได้ทำความรู้จักกับซินในฐานะศิลปินเดี่ยว ก่อนที่เราจะมีโอกาสได้สัมผัสแง่มุมและสีสันอื่นๆ ของซิน ผ่านอัลบั้มชุดต่อๆ มา อย่าง Homepop (2017), SUPERNATURAL (2020) ที่เขามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์งานเบื้องหลังทุกกระบวนการด้วยตนเอง
หลังจากอยู่ภายใต้การดูแลของค่ายเพลงมานานเกือบสิบปี เขาใช้โอกาสนี้ในการท้าทายตัวเองอีกครั้ง ด้วยการออกมาเป็นศิลปินอิสระที่ทำงานทุกขั้นตอนด้วยตัวเอง ตั้งแต่การทำเพลงไปจนถึงการดูแลเรื่องเอกสารและการแสดง โดยมีเพลง ฉันจะทำเพื่อเธอ และเพลงล่าสุดอย่าง 'สุขสันต์วันลา (wish) เป็นผลผลิตที่เกิดจากประสบการณ์และการเรียนรู้ตลอดสิบปีที่ผ่านมา
ซินถือเป็นอีกหนึ่งศิลปินที่ยังคงมีผลงานออกมาอย่างสม่ำเสมอ เจ้าตัวแง้มกับเราว่า เขายังมีความฝันเล็กๆ อีกหลายฝันที่ยังคงปั้นอยู่ หากแต่ความฝันล่าสุดที่เพิ่งเป็นจริง คือ การได้ออกเพลงที่ประเทศญี่ปุ่น และล่าสุดเราก็มีโอกาสได้ฟังซินร้องเพลงภาษาญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก ในเพลง Umi Ni Naritai (海になりたい) ซิโดยเพลงนี้ได้ เอมิ โอคาโมโตะ นักร้องชาวญี่ปุ่นจากวง FRIENDS) มาร่วมสร้างบรรยากาศให้กับเพลงร่วมกันอีกด้วย
และนี่คือเรื่องราวตลอดสิบปีที่ผ่านมาของ ซิน ทศพร กับบทบาทการเป็นศิลปินผู้เรียนรู้และทำทุกอย่างด้วยตัวเอง
ช่วงแรกเราได้รับอิทธิพลการฟังเพลงมาจากครอบครัวค่อนข้างเยอะ จำได้ว่าคุณพ่อคุณแม่มักจะซื้อแผ่นซีดีเพลงสากลมาเปิดฟังเรื่อยๆ แล้วเราชอบดูว่าศิลปินคนนี้เป็นใคร ปกเป็นยังไง ตั้งแต่จำความได้ก็จะได้ยินเพลงของ The Carpenters, The Beatles ในบ้านตลอด พอโตขึ้น เราก็เริ่มหาสิ่งที่ชอบฟังด้วยตัวเอง เราเป็นคนฟังเพลงค่อนข้าง หลากหลาย ฟังเพลงเยอะ ไม่ได้จำกัดแนว แล้วมันก็พัฒนามาเรื่อยๆ
จากคนชอบฟังเพลงขยับขยายมาสู่ความฝันที่อยากเป็นนักร้องได้อย่างไร
เราว่ามันมาโดยธรรมชาติมากๆ ถ้าจำไม่ผิด เราน่าจะเริ่มรู้ตัวว่าอยากเป็นนักร้อง นักแต่งเพลง ช่วงประ มาณมัธยมต้น เราเริ่มแต่งเพลงแรกตอนอายุ 14 ปี อยากรู้ว่าถ้าเราลองเขียนเพลงของตัวเองมันจะเป็นประมาณไหน เพลงที่เขียนตอนนั้นไม่ได้มาจากประสบการณ์ชีวิตเราโดยตรง แต่มันเป็นการเขียนสิ่งที่เรารู้สึกว่า เพลงมันน่าจะเป็นแบบนี้ (หัวเราะ) มันเป็นการทดลองมั่วๆ ของเด็กอายุ 14 ปี หลังจากนั้นเราก็เขียนเก็บไว้เรื่อยๆ 20-30 เพลง จนช่วง มัธยมปลาย เราเริ่มเอาไปร้องให้เพื่อนที่โรงเรียนฟัง ซึ่งก็ได้ฟีดแบ็กที่ดี มันทำให้เรามีความมั่นใจมากขึ้น แล้วก็ค่อยๆแต่งมาเรื่อยๆ
ตอนนั้นเพลงที่เขียนส่วนใหญ่เกี่ยวกับอะไร
เพลงรักครับ อย่างที่บอกว่า มันเป็นจินตนาการของเด็ก ว่าเพลงในตลาดตอนนั้นพูดเรื่องอะไร เราก็อยากเล่า เรื่องนั้นบ้าง มีหลายเพลงที่เรายังจำได้และเก็บไว้อยู่ คิดว่าวันหนึ่งถ้ามีโอกาสจะเอาบางเพลงที่โอเคออกมาลองทำดู
หลังจากที่เราเริ่มเขียนเพลงมาสักพักแล้ว ก็เริ่มอยากทำเป็นเดโม่ที่จริงจังมากขึ้น เริ่มไปทำเพลงที่ห้องอัด อย่างเดโม่ล็อตแรกที่เราทำ ก็มีเพลงที่ทุกคนได้ยินในปัจจุบันนี้เหมือนกัน อย่าง เพลง 'ลอง' ซึ่งเราแต่งตอนเรียนมหาวิทยาลัยก็อยู่ในล็อตนี้ พอดีกับเราได้รู้จักกับพี่ที่ดูแลห้องอัด เขาเลยแนะนำให้เรา ลองส่งไปค่ายเพลงดู ตอนนั้นเราส่งไปที่เดียว คือ ค่ายแรกของเรา ตอนนั้นคือ โซนี่มิวสิก เอ็นเตอร์เทนเมนต์ (Sony Music Entertainment)
จากนั้นเราก็เรียนจบและเริ่มทำงานในเอเจนซี่โฆษณา ทำได้ประมาณ 6 เดือน ทางค่ายก็ติดต่อมาและเรียกให้เข้าไปคุย มันก็ค่อยๆพัฒนาโปรเจคมาจนกลายมาเป็นวง ซิงกูล่าร์ (Singular) ตอนนั้นเราก็ลาออกจากงานประจำ แต่ก็ยังรับฟรีแลนซ์ออกแบบกราฟิกประปรายอยู่บ้างจนถึงตอนนี้ครับ เราไม่อยากลืมสิ่งที่เรียนมา ทั้งงานกราฟิกดีไซน์ (Graphic Design) และวิชวลดีไซน์ (Visual Design)
ใช่ เราไม่นึกว่ามันจะดังขนาดนั้นตอนที่ปล่อยเพลง ด้วยความที่เราปล่อยเพลงแรกไปก่อนแล้วคือ 24.7 พอ เพลงเบาเบา ถูกปล่อยออกมาแล้วได้รับกระแสตอนรับดีมาก เราก็ช็อกเหมือนกันนะ ตอนแรกกะเป็นวงจะเป็นวงอินดี้ๆ จากนั้นก็มีงานเข้ามาเยอะมาก ต้องไปทัวร์คอนเสิร์ต โปรโมตตามคลื่นวิทยุ เป็นช่วงเวลาที่โกลาหลมาก แล้วก็ไม่ทันได้ตั้งตัวเลยว่า มันเกิดอะไรขึ้น (หัวเราะ)
ซินยังจำโมเมนต์ที่ประทับใจในตอนนั้นได้อยู่ไหม
เวลาเราไปตามงานประกาศรางวัลต่างๆ แล้วมีดารา-ศิลปินหลายๆ คนเข้ามาบอกว่าชอบเพลงของเรามาก บางคนก็เป็นคนที่เราคาดไม่ถึงเลย มันเป็นอะไรที่จำได้แล้วเราก็ดีใจมากๆ อย่างแฟนเพลง เราว่าแฟนเพลงของวงจะมีหลากหลายกลุ่มมาก มีทั้งกลุ่มที่เป็นผู้ใหญ่ วัยเดียวกับเรา หรือเด็กกว่าเราก็มี แล้วทุกกลุ่มก็จะมีคาแรกเตอร์ที่ต่างกัน มาคอนเสิร์ต มารอรับ-ส่งที่สนามบิน ไม่ว่าจะไปรายการไหน เขาก็จะคอยดู คอยติดตามตลอด
นอกเหนือจากความสุขในเวลานั้นแล้ว มันมีความกดดันหรือเรื่องราวที่เราต้องแบกรับด้วยไหม
เราว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาของคนที่มีคนรู้จักมากขึ้น มันก็มีข่าวนั้นข่าวนี้ออกมาบ้าง จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง บางอย่างก็ไม่รู้ว่าเขาเอามาจากไหน ไม่มีมูลอะไรเลย หรือการวิพากษ์วิจารณ์บางอย่าง ที่มันเป็นเรื่องที่เราต้องบริหารจัดการนะ แต่ตอนนั้นเราก็ไม่สามารถจัดการมันได้ทั้งหมดหรอก มันก็เลยกระทบจิตใจและแบ่งโฟกัสในการทำงานไปเยอะเหมือนกัน อืม.. ใช้คำว่า เราไปเครียดกับเรื่องไม่เป็นเรื่องมากขึ้นแล้วกัน มันอาจจะเป็นเรื่องที่คนมีชื่อเสียงในเวลานั้นหลายๆ คนต้องเจอ
ก็มีช่วงนึงที่เราปิดตัวเองไปเลย ไม่เล่นโซเชียล ไม่เสพย์ข่าวอะไรทั้งนั้น จนเรารู้สึกกับตัวเองโอเคขึ้นแล้วค่อยมาทบทวนสิ่งต่างๆ เราแยกเป็นสองพาร์ทนะ คือ อะไรที่เราควบคุมได้ กับ ควบคุมไม่ได้ เราต้องมานั่งคุยกับตัวเองว่า เราสามารถโฟกัสกับอะไรได้บ้าง อะไรที่เราควบคุมได้ เราก็ทำให้ดีที่สุด ส่วนอะไรที่ควบคุมไม่ได้ก็ปล่อยมันไป ปล่อยให้เวลาได้ทำหน้าที่ของมัน ไม่ต้องไปเครียด โฟกัสแค่สิ่งที่เราทำได้จริงๆ ดีกว่า ซึ่งก็คือ งานเพลงของเรา
ในวันที่ซินตัดสินใจออกมาเป็นศิลปินเดี่ยว มันเกิดอะไรขึ้นบ้าง
ถ้าพูดแบบรวมๆ คือ มันไปต่อกันไม่ได้ ก็เป็นการตัดสินใจร่วมกันของวงและค่ายเพลง ทุกคนรู้สึกว่ามันน่าจะพอแค่นี้ดีกว่า แล้วต่างคนก็แยกย้ายไปทำสิ่งที่อยากทำ ในส่วนของเรา ก็หยุดพักไปประมาณหนึ่งปี จริงๆก็ถือว่านานนะ สำหรับคนที่เคยทำงานทุกวัน อยู่ดีๆ ก็หายไปเลย มันเหมือนเป็นการหายไปพักกาย พักใจด้วย เพราะสามสี่ปีที่ผ่านมา เราทำงานหนักมาตลอดทั้งร่างกายและจิตใจ แต่ระหว่างที่หยุดไปเราก็ยังเขียนเพลง ทำเพลงเก็บไว้อยู่ แล้วเราก็ใช้เวลาปีต่อมาในการทำอัลบั้มเดี่ยวของเรา เท่ากับว่าเราหายหน้าไปจากทุกคนเกือบสองปี มัน เป็นระยะเวลาที่เรารู้สึกว่า หายไปนานขนาดนี้ มันเหมือนเป็นการเริ่มต้นใหม่ของศิลปินคนหนึ่งเลย
คุณเก็บเกี่ยวเรื่องราวแบบไหนมาเล่าใน MELANCHOLY บ้าง
เป้าหมายแรกในการทำอัลบั้มนี้ คือ เราอยากทำสิ่งที่เป็นตัวเราจริงๆ เราอยากให้คนรู้ว่าเราเป็นคนยังไง ชอบ ร้องเพลงสไตล์ไหน ซึ่งบางคนอาจจะยังติดภาพเราจากเพลง เบา เบา
อัลบั้ม MELANCHOLY ก็แปลตรงตัวว่า ความโศรกเศร้า มันเป็นสิ่งที่เราอยากจะเล่า แล้วปกติเรา ก็ชอบฟังเพลงเศร้า ร้องเพลงเศร้าอยู่แล้ว จริงๆ มันก็เริ่มตั้งทรงมาตั้งแต่ตอนเราทำเพลง เรื่องจริง ที่ประกอบภาพยนตร์เรื่อง คืนวันเสาร์ ซึ่งกระแสตอบรับจากทุกคนก็ดีมาก มันทำให้เราค่อยๆ พัฒนามาจากตรงนั้น เราไม่ได้คาดหวังว่าเพลงต้องดังเท่ากับตอนที่เป็นวง
เราว่าเพลงเศร้าที่มันเศร้า เพราะมันจริงนะ และเราว่ามันเหมาะกับน้ำเสียงของเรา อีกอย่างเราเป็นคนชอบเรื่องของความรู้สึก ความสัมพันธ์ ความเป็น มนุษย์ รู้สึกว่า ตัวเองจะถ่ายทอดได้ดีถ้าพูดเรื่องนี้ จริงๆ อาจจะไม่ได้นิยามว่าเป็นเพลงเศร้าก็ได้ แต่เป็นเพลงที่พูดถึง อารมณ์ ความรู้สึก ประมาณนี้
พอมาทำเพลงในอัลบั้มต่อๆ มา มันมีการทำงานที่แตกต่างไปจากเดิมไหม
ต่างกันเยอะมาก อย่างอัลบั้ม Homepop เราค่อนข้างรีแลกซ์มากขึ้น เหมือนเรื่องต่างๆ มัน ถูกคลี่คลายลง ความเครียดหรืออะไรต่างๆ ก็หายไป ชุดนี้เราได้ทดลองทำงานที่แปลกใหม่มากขึ้น บางทีคิดอะไรออก ในห้องอัดก็ใส่เลย อย่างพี่ฟั่น (โกมล บุญเพียรผล) ที่เป็นเหมือนโปรดิวเซอร์ประจำอัลบั้มก็จะช่วยเราโยนไอเดียให้เรา ตลอด มันเป็นการทำงานที่สนุกมากขึ้น มีสีสันมากขึ้น
เวลาทำเพลง คุณลงไปดูแลเองทุกส่วนเลยหรือเปล่า
ใช่ฮะ เราจะพยายามทำเองทุกอย่างเท่าที่เป็นไปได้ ตอนอยู่ค่ายทีมงานก็จะปวดหัวหน่อย (หัวเราะ) เพราะเราเป็นพวกปล่อยไม่ได้ ถ้าเห็นว่ามันยังไม่ใช่กับที่คิดไว้บางเพลงก็แก้ไขกันหลายรอบเหมือนกัน เราเรียนรู้มาจากตอนที่ ทำวงด้วย ถ้ามันมีบางอย่างที่เราปล่อยไปแล้ว แต่เรารู้สึกว่ายังทำได้ไม่ดีพอ ทุกครั้งที่กลับมาฟังเราก็จะรู้สึกไม่โอเคแบบนั้น ของพวกนี้มันปล่อยได่้ครั้งเดียว เรากลับมาแก้อะไรไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้น เราต้องโอเคกับมันจริงๆ ถึงจะปล่อยให้คนอื่นฟังได้
ถ้านึกออกตอนนี้เลยคือ เพลง 'ฟัง' เราใช้เวลาทำเพลงเดียวประมาณ 5 เดือน น่าจะปรับแก้มิกซ์ไปประมาณ 11 รอบ แล้วเราใช้โปรดิวเซอร์ทั้งหมด 3 คน ซึ่งเราคิดว่าไม่น่าจะมีใครทำ แล้วก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น (หัวเราะ)
โปรดิวเซอร์คนแรกของเพลงนี้ คือ พี่โอ (ทฤษฎี ศรีม่วง มือกีตาร์วง Jetset'er) เราทำเพลงกันไปได้พักหนึ่ง แต่มันยังมีบางอย่างที่ไม่ลงตัว เลยปรึกษาพี่อาร์ม (รัฐการ น้อยประสิทธิ์) ก็ลองให้พี่โซ่ (แมนลักษณ์ ทุมกานนท์ มือคีย์บอร์ดวง ETC) มาช่วยเรา เพราะปกติพี่โซ่จะทำงานกับเราตลอดอยู่แล้ว พี่โซ่ก็มาช่วยในพาร์ทที่พี่โซ่ถนัด จากนั้นก็ไปชวนแต๊บ (ธนพล มทธร) มาช่วยทำเรื่องบีทและซาวน์ดีไซน์ (Sound Design) เป็นประสบการณ์ที่ไม่มีวันลืมฮะ
ล่าสุด ซินออกมาเป็นศิลปินอิสระได้สักพักแล้ว เป็นยังไงบ้าง
เรารู้สึกว่าอยู่ค่ายเพลงมาเป็นสิบปีแล้ว เลยอยากจะลองทำทุกอย่างด้วยตัวเองดูบ้าง เพราะคิดว่าสุดท้ายแล้วคงไม่มีใครดูแลเราได้ดีเท่าตัวเราเอง เป็นประสบการณ์ที่สนุกและเหนื่อยกว่าที่คิดไว้นะ เพราะเราต้องดูแลหลังบ้านเอง ดีลกับสื่อเอง ตอนแรกเราเคยคิดว่า เราคงพอดูแลโปรดักชั่นได้ แต่พอออกมาจริงๆ แล้ว มันมีงานยิบย่อยที่เราต้องทำมากกว่านั้น แต่ก็ยังดีที่มีเพื่อนๆ พี่ๆ คอยช่วยเหลืออยู่ตลอดครับ
ตอนนี้ปล่อยเพลงไทยไป 2 เพลง คือ ฉันจะทำเพื่อเธอ และ เพลงสุขสันต์วันลา นอกจากนี้ก็เพิ่งมีเพลงญี่ปุ่น Umi Ni Naritai (海海になりたい) ที่ทำร่วมกับคุณเอมิ
เราเริ่มจากเลือกเพลงที่เคยแต่งไว้และคิดว่าน่าจะเหมาะกับโปรเจกต์นี้แล้วส่งไปให้ทางค่ายที่ญี่ปุ่นลองฟังดูว่ามีความคิดเห็นยังไง โชคดีว่าคุณเอมิก็ชอบเพลงที่ส่งไป แล้วที่เซอร์ไพรส์คือ เขากับเราเห็นภาพตรงกัน เพราะตอนที่แต่งเพลงนี้เรา นึกถึงบรรยากาศของทะเล ธรรมชาติ ซึ่งตอนที่ส่งให้เขาฟัง เราก็ไม่ได้บอกรายละเอียดอะไรไป แต่เขาก็ตอบกลับมาว่า เขาฟังเพลงนี้แล้วนึกถึงทะเลนะ มันเหมือนว่า เพลงสามารถส่งภาพในจินตนาการของเราไปถึงคนฟังได้
ซินเป็นนักร้องที่สนุกหรือตื่นเต้นกับการขึ้นเวทีคอนเสิร์ตมากกว่ากัน
ถ้าสมัยก่อนเราจะตื่นเต้นตลอด เพราะเรามักจะโดนเรื่องจุ๊กจิ๊กมากวนสมาธิ อย่างสมมติว่ามีเสียงแทรกเข้ามาในอินเอียร์ แล้วเราเสียสมาธิก็จะนอยด์ๆ คิดว่าหลายคนที่ติดตามก็น่าจะรู้ แต่ถ้าช่วงหลังมานี้ เรารู้สึกว่าโอเคกับการขึ้นเวที แล้ว รู้ว่าต้องจัดการกับมันยังไง มันทำให้เราสนุกมากขึ้น
ประสบการณ์การขึ้นเวทีคอนเสิร์ตครั้งแรกของคุณเป็นอย่างไร
เวทีคอนเสิร์ตครั้งแรกของเราจัดที่พารากอนฮอลล์ ขึ้นครั้งแรกงานใหญ่มาก (หัวเราะ) มันเป็นคอนเสิร์ตที่เราไม่ชอบตัวเองเลย ไม่ชอบทุกอย่างที่เราทำในคอนเสิร์ตนั้น ด้วยความที่เราใหม่มากและไม่รู้อะไรเลย เราขึ้นไปร้องโดยที่ ไม่มีอินเอียร์ ไม่มีมอนิเตอร์ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า นักร้องมืออาชีพเขาต้องใช้อินเอียร์และมอนิเตอร์สำหรับงานสเกลขนาดนี้ จำได้ว่าเราไม่ได้ยินเสียงตัวเองเลย ประกอบด้วยความตื่นเต้นเพราะเป็นเวทีแรก เรารู้สึกไม่โอเคกับสิ่งที่ทำลงไป แล้วมันก็ทำให้เรามีความเกร็งๆ ตื่นเวทีไปอีกประมาณหนึ่งปีได้ ช่วงนั้นเราจะชอบเล่นงานที่เป็นสเกลเล็กมากว่า อย่างงานอะคูสติกในสวน งานที่ไม่ต้องใช้เครื่องงไม้เครื่องมือมากขนาดนั้น นอกจากนั้นก็มีเรื่องของการพูดคุยกับแฟนๆ หรือสื่อ
มันคือการเรียนรู้จากประสบการณ์ เพราะเราใหม่มากกับการทำงานเป็นศิลปิน เพิ่งเคยทำทุกอย่างเป็นครั้ง แรก มันก็จะมีความงงๆ มีอะไรให้เราต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆ
ศิลปินสมัยนี้มีเยอะมาก คนฟังก็มีทางเลือกเป็นของตัวเองมากขึ้น สามารถเลือกฟังสิ่งที่อยากฟังได้ง่ายขึ้น มีกลุ่มเฉพาะของคนฟัง ในขณะที่สื่อมีจำกัด มันเลยยากกว่าเมื่อก่อนนะ ที่ศิลปินคนนึงจะเป็นที่รู้จักในวงกว้างจริงๆ ส่วนแนวเพลงเราว่า มันก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ก่อนหน้านี้ก็มียุคเพลงร็อก เพลงป็อป เพลงฟังสบาย มาจนถึงยุคฮิปฮ็อป
ตอนนี้ซินยังมีอะไรต้องเรียนรู้อีกไหม
เรียนรู้ทุกวันฮะ ถึงในพาร์ทการเป็นศิลปินเราจะค่อนข้างโอเคแล้ว แต่มันคงเป็นเรื่องของการดีลสิ่งต่างๆในแต่ละงานด้วย บางวันก็เรียนรู้ที่จะปล่อยวางกับบางสิ่ง บางวันก็เรียนรู้ไปกับการทำงาน
เป้าหมายต่างไปจากเดิมไหม ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้
ถ้าเป็น ณ เวลานี้ เราอยากทำสิ่งที่เราไม่ เคยทำ ค่อยๆ ลองทำไป อย่างการทำเพลงที่ญี่ปุ่น เป็นเป้าหมายที่เราแอบเก็บไว้ในใจนานแล้ว ก็ทำให้มันเป็นจริงขึ้น เรายังมี เป้าหมายเล็กๆ ที่เราเก็บไว้ และอยากจะทำต่อไป ในอนาคตก็คงหยิบเป้าหมายเหล่านี้มาทำให้มันสำเร็จ
สิ่งที่ทำให้คุณยังคงเป็นศิลปินมาจนถึงทุกวันนี้คืออะไร
เพราะเรายังมีเพลงที่อยากจะปล่อยอยู่และยังมีคนฟังเพลงเราอยู่ จริงๆมีเหตุผลแค่นี้เลย ถ้าวันหนึ่งอยากพักก็คงพัก และถ้าวันไหนเรารู้สึกว่าสุดแล้วก็อาจจะเลิกทำเบื้องหน้า ลองไปทำงานเบื้องหลัง ซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่เราอยากทำเหมือนกัน อยากลองแต่งเพลง เขียนเพลง ไปจนถึงดูเรื่องโปรดักชั่นให้ศิลปินคนอื่นบ้าง อยากรู้ว่า ถ้าเราทำงานเพลงให้กับศิลปินคนอื่น บ้าง มันจะเป็นยังไง มันน่าจะไม่เหมือนกัน
ไม่มีใครรู้ว่าในอนาคต ซินจะยังคงเป็นศิลปินที่ผลิตผลงานให้แฟนเพลงได้ฟัง หรือเติบโตไปเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับศิลปินคนอื่นๆ หรือไม่ แต่สิ่งที่รู้คือ วันนี้ซินยังคงสนุกกับการได้เรียนรู้และลงมือทำสิ่งใหม่ๆ ด้วยตัวของเขาเองอย่างสม่ำเสมอ..
..และนั่นก็เพียงพอแล้วสำหรับเขาในวันนี้
4009 VIEWS |
กองบรรณาธิการที่กำลังใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน ชอบคุยกับผู้คน ท้องฟ้า และเสียงดนตรี เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการฟังเพลง ที่บางทีก็ปล่อยให้เพลงฟังเรา