10 บูทแบรนด์ดีไซน์ในงาน Pop Up Asia 2022 ที่เราอยากแนะนำให้คุณรู้จัก

    งาน Pop Up Asia (PUA) เป็นงานเทรดแฟร์เกี่ยวกับงานคราฟต์ที่รวมนักสร้างสรรค์ทั่วเอเชียมาออกบูทจัดแสดงและจำหน่ายผลงานด้วยกัน เป็นงานรายปีที่จัดมาตั้งแต่ปี 2016 และในปีนี้ก็ยังจัดที่ ซงซาน คัลเจอรัล แอนด์ ครีเอทีฟ ปาร์ก (Songshan Cultural and Creative Park) ซึ่งเป็นพื้นที่ด้านครีเอทีฟที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในไทเป ประเทศไต้หวัน

    งาน Pop Up Asia 2022 ปีนี้ จัดในช่วงเวลาที่ไต้หวันเพิ่งเปิดประเทศหลังจากปิดยาวจากสถานการณ์โควิด 19 ราวเดือนเดียวเท่านั้น โดยภาพรวมแล้วจึงถือว่าเป็นปีที่มีบูทจากชาติอื่นๆ มาร่วมงานด้วยไม่มากเท่าปีก่อนๆ แต่ก็ยังถือว่าเป็นงานเทรดแฟร์ที่คึกคักอยู่ดี พื้นที่จัดแสดงปีนี้ครอบคลุมโกดัง 3 หลัง (โกดังหมายเลข 3-5) มีจำนวนบูทราว 230 บูท และยังมีนักสร้างสรรค์จากประเทศต่างๆ อย่างฮ่องกง ญี่ปุ่น และประเทศไทย มาร่วมออกงานอยู่ ที่สำคัญคือปีนี้มีนิทรรศการของ Filip Pagowski ศิลปินชื่อดังชาวโปแลนด์มาจัดแสดงในงานด้วย

    นอกจากการออกบูทของนักสร้างสรรค์และแบรนด์ต่างๆ แล้ว ภายในงานที่จัดกัน 4 วัน (17-21 พฤศจิกายน 2565 ยังมีกิจกรรมอีกหลายอย่างให้ร่วม ทั้งการ Matching, เวิร์กช็อป, งานบรรยายของ Speaker ต่างๆ รวมทั้งการมอบรางวัลเพื่อเป็นกำลังใจให้กับนักสร้างสรรค์

    happening มีโอกาสได้ไปร่วมงานกับทีม Pop Up Asia มาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่การไปออกบูทนำผลงานของนักสร้างสรรค์ชาวไทยไปแสดงและจำหน่าย การจัดงานประกวดร่วมกันในชื่อ happening makes ที่ได้นำนักวาดชาวไทยไปแสดงงานที่ไต้หวัน รวมทั้งยังได้โอกาสเป็น speaker ไปบอกเล่าเรื่องราวของวงการสร้างสรรค์ในเมืองไทยให้ชาวไต้หวันอีกหลายครั้ง ในปีนี้เราก็ได้ไปออกบูทจัดแสดงเรื่องราวของ happening และ Bangkok Illustration Fair (หรือ BKKIF ซึ่งเป็นงานที่ happening ร่วมกันจัดกับ What If และ Decembell) ไปเป็น Speaker และยังพาผู้ชนะจากการประกวด happening makers 2021: I draw, I am คือ เอ้-พีรดา โคอินทรางกูร หรือ EAOWEN ไปร่วมออกบูทและร่วมเป็น speaker อีกราย รวมทั้งไปช่วยดูแลศิลปิน 2 รายคือ Pnk.ff และ BlueBlurryMonday ที่ได้รางวัลจากงาน BKKIF 2022 ให้ไปออกบูทฟรีในงาน PUA ปีนี้อีกด้วย

    เราเดินสำรวจงาน PUA ปีนี้อยู่นาน ได้พบเจอทำความรู้จักกับดีไซเนอร์ เจ้าของแบรนด์ และศิลปินหลายรายที่น่าสนใจ แต่เพื่อให้เห็นภาพรวมของงาน PUA ปีนี้ ซึ่งอาจรวมไปถึงบรรยากาศการทำงานสร้างสรรค์ในไต้หวันและในเอเชียในช่วงนี้ด้วย เราขอแนะนำบูท 10 บูท ที่เราเห็นว่าน่าสนใจมากๆ และอยากให้คุณได้รู้จักกันไว้

    นี่คือ 10 บูท (ซึ่งถ้ารวมแบรนด์ในบูทที่เราเลือกมาแล้วมีมากกว่า 10) ที่เป็นตัวแทนสายตาของทีม PUA ที่มองความเป็นไปในวงการคราฟต์ และเราก็มองซ้อนด้วยสายตาของทีม happening ที่ชื่นชมนักสร้างสรรค์เหล่านี้อีกที

1. Tshioh Rushcraft

    ในโกดังหมายเลข 3 ที่บูท C01 คือบูทของ Tshioh Rushcraft ซึ่งเป็นแบรนด์ดีไซน์ไต้หวันแท้ๆ แบรนด์นี้เป็นแบรนด์ที่นำงานจักสานมาผสมกับแฟชั่นได้อย่างลงตัว ภายในบูทตกแต่งง่ายๆ จัดแสดงสินค้าแบบสบายๆ สินค้าไม่ได้โชว์แบบหนาแน่น แต่วางแบบมีสเปซโปร่งโล่ง ขับเน้นให้สินค้าแต่ละชิ้นดูโดดเด่น ซึ่งความน่าสนใจคือสินค้าหลายๆ ชิ้นของ Tshioh Rushcraft จะผสมการจักสานเข้ากับงานผ้าได้อย่างลงตัว เราจึงได้เห็นหมวก ของแต่งบ้าน หรือกระเป๋าน่ารักๆ หลายชิ้นที่ดูร่วมสมัยเป็นอย่างยิ่ง

    สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือในบูทนี้ยังมีการแจกโบรชัวร์ที่มีข้อมูลของ Taiwan Yuan-Li Handwork Association ซึ่งบ่งบอกว่าสมาคมด้านงานคราฟต์ที่ไต้หวันเขาขยันขันแข็งและสื่อสารผลงานได้ดีทีเดียว

    ทำความรู้จักกับแบรนด์นี้ได้ที่ tshiohrushcraft.com.tw

2.-3. Trunk Design / Local Craft Japan

    ในโกดังหมายเลข 3 เช่นกัน มีพื้นที่ 2 บูทที่ต่อเนื่องกัน (C42-C43) ที่บูทหนึ่งใช้ชื่อว่า Trunk Design และอีกบูทใช้ชื่อว่า Local Craft Japan ซึ่งความจริงแล้ว พื้นที่ 2 บูทนี้เป็นการรวมตัวของแบรนด์คราฟต์ 5 แบรนด์จากจังหวัดต่างๆ ในประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ Rekrow แบรนด์เดนิมจากฮิโรชิม่า, Jiwajiwa แบรนด์สบู่สมุนไพรจากเมืองนารา, kikusuisangyo แบรนด์ผลิตภัณฑ์ไม้จากโอซาก้า, Maruyoshi-kosaka แบรนด์เครื่องเขินจากนางาโน และ Trunk Design แบรนด์คราฟต์จากโกเบ ทั้งหมดเป็นช่างฝีมือที่มีการสืบทอดองค์ความรู้มายาวนาน หลายชั่วอายุคน แต่ความน่าสนใจก็คือ นอกจากแบรนด์ทั้ง 5 จะมาร่วมกันจัดแสดงสินค้าสุดคราฟต์สไตล์ญี่ปุ่นของตัวเองแล้ว นี่คือส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ Local Craft Japan ซึ่งเป็นการรวมตัวของแบรนด์เหล่านี้ และโปรโมทคู่กับการท่องเที่ยวไปด้วย เหมาะสำหรับคนที่อยากสัมผัสความเป็นญี่ปุ่นแบบพื้นบ้าน และลงลึก โดยในบูทจะมีนิทรรศการและโบร์ชัวร์ที่บอกเล่าถึงโปรเจกต์นี้ มีการแนะนำที่ไปพักและไปเรียนรู้เรื่องคราฟต์พื้นบ้านเหล่านี้เป็นจุดๆ มีโปรแกรมให้เลือกทั้งการเดินทางแบบวันเดียว และการไปอยู่ค้างในพื้นที่เลยทีเดียว การเดินดูชิ้นงานในบูทนี้จึงเป็นเหมือนการเรียกน้ำย่อยให้เราอยากทำความรู้จักกับที่มาที่ไปและประวัติศาสตร์ของงานคราฟต์แต่ละสาขา และชวนให้เราคลิกไปดูรายละเอียดของโปรเจกต์นี้ต่อกันที่เว็บไซต์ localcraftjapan.com

    ทำความรู้จักกับ Rekrow ได้ที่ rekrow-hiroshima.com

    ทำความรู้จักกับ Jiwajiwa ได้ที่ jiwajiwa.jp

    ทำความรู้จักกับ kikusuisangyo ได้ที่ kikusuisangyo.co.jp

    ทำความรู้จักกับ Maruyoshi-kosaka ได้ที่ maruyoshi-kosaka.jp

    ทำความรู้จักกับ Trunk Design ได้ที่ trunkdesign-web.com

4. PNK.FF และ BlueBlurryMonday

    ขอแนะนำบูทนักวาดชาวไทยสักหน่อย บูทหมายเลข C45 เป็นการแบ่งพื้นที่กันระหว่างศิลปินนักวาดสองคนคือ Pnk.ff นักวาดสาวที่วาดคาแรกเตอร์หมาสุดกวน สีสันสดใส และ BlueBlurryMonday นักวาดสาวอีกคนที่มีฝีมือในการวาดสีไม้ได้สุดละมุน ทั้งสองคนได้รางวัลจาก PUA ซึ่งเป็นหนึ่งใน Reviewers จากงาน Bangkok Illustration Fair 2022 ให้มาออกบูทฟรีในปีนี้ ถือเป็นโอกาสได้เอางานมาโชว์และจำหน่ายให้กับชาวไต้หวัน แล้วก็ปรากฏว่าขายดีกันไม่น้อย สินค้าที่เตรียมมาทั้งงานพิมพ์ สติกเกอร์ โปสการ์ด ร่อยหรอไปตามๆ กัน โดยเฉพาะ Pnk.ff นั้นถึงขนาดที่มีชาวไต้หวันมาขอซื้อ 'ป้ายร้าน' ที่เธอทำเป็นป้ายนีออน แล้วเธอก็ยอมขายเสียด้วย

    ทำความรู้จักกับ Pnk.ff ได้ที่ praenika.com

    ทำความรู้จักกับ BlueBlurryMonday ได้ที่ blueblurrymonday

5. Twenty Lifestyle

    มาที่โกดังหมายเลข 4 กันบ้าง เราพบดีไซเนอร์หนุ่มชาวไต้หวันคนหนึ่งที่บูทหมายเลข A26 เขาบอกว่าเพิ่งก่อตั้งแบรนด์ของตัวเองแค่ราวหนึ่งปีเท่านั้นหลังจากเรียนจบมาจากลอนดอน แล้วเริ่มต้นด้วยการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ก่อน แต่สิ่งที่เราชอบใจไม่ใช่แค่เฟอร์นิเจอร์สวยๆ ที่เขาออกแบบ หากแต่เป็นถุงผ้าช็อปปิ้งที่สามารถพับเก็บได้ ซึ่งเขาออกแบบลวดลายเป็นกราฟิกที่ช่วยไกด์วิธีการพับเก็บให้เป็นเรื่องง่ายขึ้นเยอะ กับสินค้าน่ารักอีกชิ้นคืองานภาชนะเซรามิกที่เป็นรูปเมฆ ซึ่งเขาผลิตด้วยระบบอุตสาหกรรม แต่มาจบงานด้วยการเพนต์มือ ทำให้แต่ละชิ้นมีความไม่ซ้ำกัน ด้วยไอเดียที่ตอบโจทย์บางอย่างเสมอในงานดีไซน์ของเขา ทำให้เรารู้สึกว่าดีไซเนอร์คนนี้น่าจับตาต่อไปว่าจะมีงานอะไรออกมาอีกในอนาคต

    ความน่ารักอีกอย่างของแบรนด์นี้คือชื่อแบรนด์ที่ได้อิทธิพลจากคำคมในภาพยนตร์เรื่อง We Bought a Zoo (2011) ที่มีตัวละครตัวหนึ่งบอกว่า บางครั้งสิ่งที่เราต้องการก็แค่ความกล้าแบบบ้าบิ่นสัก 20 วินาที แล้วสิ่งดีๆ ก็จะเข้ามาหาเราจากการตัดสินใจครั้งนั้น ...นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของดีไซเนอร์หนุ่มคนนี้ในการสร้างแบรนด์ของตัวเองก็เป็นได้

    ทำความรู้จักกับ Twenty Lifestyle ได้ที่ twenty_life_style

6. 有空 5 mins

    จากการไปไทเปมาแล้วหลายครั้ง เราเห็นการเติบโตที่น่าสนใจของแบรนด์นี้อยู่เสมอ นี่คือแบรนด์ที่ทำสินค้าจากคาแรกเตอร์ดีไซน์ที่เป็นเจ้า 'ปลาแมว' สุดน่ารัก โดยสินค้ามีทั้งเสื้อยืด, หมวก, โปสการ์ด, หมอน, ที่คั่นหนังสือ, ผ้าเช็ดมือ ฯลฯ ซึ่งยิ่งนานปีก็ยิ่งมีผลิตภัณฑ์และลวดลายน่ารักๆ เพิ่มขึ้นตลอด ในปีนี้เราพบแบรนด์นี้ที่บูท A32 และพบว่าปริมาณสินค้าของแบรนด์ (ชื่ออ่านว่า โหย่วค่ง ไฟว์มินส์) เพิ่มความหลากหลายขึ้นไปอีก (ปีนี้เราเห็นกระทั่งซองแต๊ะเอียรูปปลาแมว) และเมื่อได้คุยกับทีมงานที่อยู่ประจำบูท เราได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าดีไซเนอร์ของแบรนด์นี้ยังแบ่งเวลาไปทำงานศิลปะอยู่เสมอๆ ด้วย โดยงานศิลปะก็เป็นการต่อยอดจากเจ้าตัวคาแรกเตอร์ปลาแมวของเขานี่ล่ะ

    ไอเดียเรื่องการเอาปลากับแมวมารวมกันนี่ถือว่ายอดเยี่ยมมากๆ แล้ว แต่การขยับขยายให้ไลน์สินค้ากว้างไกลออกไป มีร้าน 2 สาขาและมีจุดฝากขายอีกหลายแห่ง ค่อยๆ ทำจนแบรนด์มีอายุร่วม 10 ปีได้นี่ถือว่าเป็นการเติบโตที่น่าทึ่งจริงๆ

    ทำความรู้จักกับ 有空 5 mins ได้ที่ 5mins.com.tw

7. 拿鞘 Nature

    ยังอยู่ที่โกดังหมายเลข 4 ที่บูทหมายเลข A54 มีชื่อว่า หนาเชี่ยว และพ้องเสียงเป็นภาษาอังกฤษว่า Nature ซึ่งสื่อถึงความพยายามในการทำแบรนด์ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน และแบรนด์นี้ก็ใช้วัสดุจากใบของต้นหมาก หยิบเอาใบที่ตกลงดินแล้ว เอามาทำให้แห้ง แล้วใช้กลวิธีผ่านความร้อน อบแห้ง จนเกิดเป็นวัสดุคล้ายกระดาษที่หนามากๆ แล้วเอามาทำเป็นสินค้าหลากหลาย ซึ่งที่โดดเด่นคือการผลิตเป็นกล่องใส่ของที่ดูแล้วเป็นธรรมชาติเอามากๆ แต่ก็มีความเก๋มากๆ ด้วยเช่นกัน

    เห็นงานของแบรนด์นี้แล้วเรารู้สึกว่ามันทั้งเป็นนวัตกรรม เป็นงานคราฟต์ และเป็นศิลปะไปพร้อมๆ กัน

    ทำความรู้จักกับ 拿鞘 Nature ได้ที่ na_chiao

8. Jibberish & Nabi & Ink vacation

    การไปออกบูทต่างประเทศนั้นถือว่าต้องลงทุนพอสมควร ทั้งค่าเดินทาง ค่าที่พัก ไหนจะค่าบูทอีก ดังนั้นการแบ่งพื้นที่บูทเพื่อลดค่าใช้จ่ายจึงเป็นทางเลือกสำหรับแบรนด์เล็กๆ จากต่างแดนอยู่เหมือนกัน ในโซนหนึ่งของโกดัง 4 เราพบแบรนด์ไทยอยู่ติดๆ กันหลายบูทซึ่งล้วนเป็นบูทไซส์เล็ก และบางบูทก็ถูกแบ่งเป็นหลายแบรนด์ แต่ส่วนผสมที่เราสนใจอยู่ที่บูทหมายเลข A65 ที่มีการรวมกันอยู่ถึง 3 แบรนด์คือ Jibberish แบรนด์ที่ทำเสื้อผ้าย้อมคราม, Nabi แบรนด์เครื่องประดับโลหะ และ Ink vacation ที่ทำกรอบรูปไม้และของแต่งบ้าน ทั้งหมดเป็นแบรนด์ที่มาจากเชียงใหม่ เจ้าของแบรนด์ Jibberish และ Nabi นั้นเป็นคู่รักกัน ในขณะที่แบรนด์ Ink vacation ก็เป็นเพื่อนที่คุ้นเคยกันดี นอกจากสินค้าในบูทจะคราฟต์ได้ใจและไม่ซ้ำกันในแต่ละชิ้นจริงๆ แล้ว การมาด้อมๆ มองๆ ในบูทเล็กๆ บูทนี้ยังมีบรรยากาศเหมือนมาเจอกลุ่มเพื่อนชาวคราฟต์จากเชียงใหม่ที่เป็นกันเอง ...จะบอกว่าพวกเขาเป็นตัวแทนคนทำงานสร้างสรรค์จากจังหวัดที่ใครๆ ก็หลงรักนี้ก็ว่าได้

    ทำความรู้จักกับ jibberish ได้ที่ jibberish

    ทำความรู้จักกับ Nabi ได้ที่ nabi_crafthouse

    ทำความรู้จักกับ Ink vacation ได้ที่ inkvacation

9. Lovely Box

    มาที่โกดังสุดท้าย โกดังหมายเลข 5 กันบ้าง ที่นี่เราพบกับบูทหมายเลข B64 ที่ไม่ได้เรียกว่าทำสินค้าดีไซน์เท่ๆ เอง แต่ทำงานเพื่อรองรับความเท่ของแบรนด์ต่างๆ อีกที นั่นก็คือเป็นผู้ผลิตกล่องกระดาษนั่นเอง แบรนด์นี้ใช้ชื่อง่ายๆ ว่า Lovely Box แล้วก็ทำผลงานตามชื่อจริงๆ คือการผลิตกล่องหลายแบบ หลายสี ให้เลือกใช้ มีการผสมงานพิมพ์สวยๆ เข้าไปด้วยก็ได้ หรือจะให้ดีไซน์กล่องให้เข้ากับสินค้าอย่างไรก็บอกได้ จะซื้อกล่องกี่ใบก็ได้ ใบเดียวก็ขาย แบรนด์ Lovely Box มีอายุ 3 ปีแล้ว แต่การยืนดูกล่องกระดาษหลากสีหลายรูปทรงในบูทนี้ก็บอกเราได้ว่าพวกเขามีความเป็นผู้รู้จริงเรื่องกล่องกระดาษ และพร้อมจะทำให้กล่องกระดาษเป็น 'มูลค่าเพิ่ม' ในสินค้าแนวครีเอทีฟต่างๆ ในอีกระดับ

    ทำความรู้จักกับ Lovely Box ได้ที่ lovelybox.net

10. slowflow.pottery

    ปิดท้ายด้วยแบรนด์น้องใหม่อีกราย งานถ้วยและจานสวยๆ ที่บูท B36 เป็นผลงานของแบรนด์เซรามิกจากหนุ่มน้อยที่เรียนมาทางด้านนี้โดยตรง เพิ่งทำแบรนด์ของตัวเองมาราวปีเดียวเท่านั้น แต่ความน่าสนใจของแบรนด์ slowflow.pottery คือการเป็นแบรนด์ที่สามารถหาอัตลักษณ์ของตัวเองได้แล้ว โดยการใช้สีหวานๆ แต่ผสมผสานกันด้วยเทคนิค slip casting ที่ทำให้ได้ผลงานเหมือนสีหลายๆ สียังหลอมละลายอยู่ด้วยกันบทผิวภาชนะ งานแต่ละชิ้นไม่เหมือนกัน แต่ดูรวมๆ ทั้งบูทแล้วกลับเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อย่างประหลาด

    นี่คือจุดเริ่มต้นของ slowflow.pottery เรามาดูกันดีกว่าว่าต่อไปแบรนด์เซรามิกแบรนด์นี้จะเติบโตไปอย่างไร

    ทำความรู้จักกับ slowflow.pottery ได้ที่ slowflow.pottery


    ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับงาน Pop Up Asia ได้ที่ popupasia.com

วิภว์ บูรพาเดชะ

ผู้ก่อตั้งนิตยสาร happening, บรรณาธิการบริหารนิตยสาร happening, กรรมการบริหารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (bacc), นักเขียน, นักแต่งเพลง, นักฟังเพลง และนักอ่านตัวยง

วรรณวนัช บูรพาเดชะ

ที่ปรึกษาทีม happening shop, เจ้าของเพจเฟซบุ๊กและหนังสือ 'ญี่ปุ่นอุ่นอุ่น', นักเขียน ช่างภาพโฟโต้บุ๊ก 'Nagasaki Light' และไกด์บุ๊ก 'Kagawa Memories' นอกจากภาพถ่ายและงานเขียน สิ่งที่เธอสนใจเป็นพิเศษคือการนั่งสมาธิและการโปรยมุขไม่ขำ