ไปมาแล้ว! Pop Up Asia 2018 งานใหญ่ที่รวมงานดีไซน์และของแฮนด์เมดจากทั่วเอเชีย

    แค่ดูจากคำโปรยบนโปสเตอร์ งาน Pop Up Asia 2018 ก็ถือว่าเป็นอีเวนต์ที่น่าสนใจมาก เพราะสิ่งที่มีอยู่ในงานนี้ก็คือการรวมผลงานจากศิลปินและดีไซเนอร์จาก 20 กว่าเมืองทั่วเอเชีย (ไทเป, โอซาก้า, โตเกียว, เกียวโต, ฮ่องกง, กรุงเทพฯ, เชียงใหม่, เวียงจันทน์, เสียมเรียบ, จาการ์ตา, โซล, กัวลาลัมเปอร์, นิวเดลี ฯลฯ)  นับรวมเป็นแบรนด์ต่างๆ ได้ถึง 300 กว่าแบรนด์ และยังมีเวิร์กช็อปงานคราฟต์สนุกๆ ให้ทำตลอดงานอีกมากกว่า 200 เวิร์กช็อป สรุปว่าคนที่ชอบงานแฮนด์เมด ชอบงานดีไซน์ ชอบงานศิลปะทั้งหลายต้องฟังทางนี้ เพราะนี่คืองานสำหรับพวกคุณ!

    Pop Up Asia จัดขึ้นในปีนี้เป็นปีที่ 3 แล้ว ปีนี้จัดขึ้นในวันที่ 15-18 พฤศจิกายน ที่เมืองไทเป ไต้หวัน ในช่วงที่อากาศเย็นสบายกำลังดี ใส่สเวตเตอร์สวยๆ ตัวเดียวก็เอาอยู่ และเพราะเป็นปีแรกที่เว็บ happening and friends ของเราได้ไปร่วมออกบูทและนำชิ้นงานของชาวไทยไปแนะนำกับชาวโลกด้วย ในการนี้เราก็เลยถือโอกาสเดินสำรวจ เปิดหูเปิดตาตัวเอง และนำบรรยากาศของงานมาเล่าสู่กันฟัง

    Pop Up Asia 2018 จัดขึ้นที่ ซงซาน คัลเจอรัล แอนด์ ครีเอทีฟ ปาร์ก (Songshan Cultural and Creative Park) ซึ่งถือเป็นพื้นที่ด้านครีเอทีฟที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในไทเป โดยงานนี้ใช้พื้นที่ของโกดังเก่าขนาดใหญ่ 3 หลัง และแบ่งโซนออกเป็น 3 โซนตามโกดัง คือ Material / Experiential Zone ที่รวมงานเวิร์กช็อปและแบรนด์ที่เกี่ยวข้องเอาไว้ด้วยกัน, Theme Zone ที่รวมบูทของเครือข่ายต่างๆ รวมทั้งมีเวทีกิจกรรมและนิทรรศการอยู่ในโซนนี้ (บูทของ happening and friends ก็อยู่ในโซนนี้) และ Brands Zone ที่รวมแบรนด์เล็กใหญ่อยู่ในโกดังนี้กว่า 50 แบรนด์จากหลากหลายประเทศ

    หากใครซื้อบัตรเข้างานราคา 220 NT (เทียบเป็นเงินบาทไทยก็เท่าๆ กัน) แล้วเดินเข้ามาในงาน เราแนะนำให้เริ่มจาก Theme Zone ที่เป็นเหมือนโซนหลักศูนย์กลางของงานกันก่อน ซึ่งเมื่อเดินเข้ามาจะเห็นนิทรรศการเล็กๆ และวิดีโออาร์ตที่คอยต้อนรับอยู่ เมื่อเดินสำรวจในโซนนี้ เราจะพบบูทที่น่าสนใจหลายบูท และเริ่มสัมผัสได้ถึงความนานาชาติของงานนี้ เพราะมีตั้งแต่ GO! REP! ที่เป็นบูทที่รวมแบรนด์เล็กๆ 5 แบรนด์จาก เสียมเรียบ, บูท CREALIVE DEPT. ที่เป็นร้านซีเล็กต์ช็อปมาแรงของหนุ่มสาวชาวไต้หวัน, บูท Living & Art Creative Center ที่เป็นศูนย์รวมศิลปินจากเกาหลี, บูท Makers by Ninth Gallery ที่เป็นแหล่งรวมศิลปินจากมาเลเซีย และที่คนรักญี่ปุ่นอาจจะพอคุ้นชื่อของ minne by GMO Pepabo ที่เป็นแหล่งรวมสินค้าแฮนด์เมดของแดนอาทิตย์อุทัย ซึ่งในงานนี้ทางมินเน่ก็นำเอาสินค้าที่ได้รางวัล minne Handmade Awards มาจัดแสดงให้ชมกัน

    บูท happening and friends เองก็อยู่ในโซนนี้ และทำหน้าที่เป็นเหมือนตัวแทนเหล่าแบรนด์ดีไซน์จากเมืองไทยอยู่ด้วย โดยเราขนแบรนด์จากนักวาดภาพ กระเป๋า เครื่องประดับ เสื้อผ้า เครื่องหอม ไปวางจนแน่นโต๊ะไปหมดเลยทีเดียว และถือว่าได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานเป็นอย่างดี ขนาดที่บางจังหวะมีคนมามุงจนภายในบูทเกิดการจราจรติดขัด

    แค่โซนแรก คนที่มาชมงานก็ต้องใช้เวลาเดินดูกันอยู่นานสองนานแล้ว สินค้าที่แต่ละบูทขนมาจัดแสดงและขายนั้นมีหลากหลาย ตั้งแต่งานเซรามิก งานผ้า งานดีไซน์ เครื่องหนัง บางชิ้นมีคอนเซปต์ที่น่าทึ่ง (อย่างเช่นในบูท GO! REP! มีแบรนด์หนึ่งนำช้อนส้อมทองเหลืองมาขาย ซึ่งดูเผินๆ ไม่แปลกอะไร แต่ที่มาของวัตถุดิบได้มาจากปลอกกระสุนในกัมพูชา เอามาหลอมรวมเป็นช้อนส้อมชิ้นใหม่ และรายได้ส่วนหนึ่งสนับสนุนการค้นหากับระเบิดที่ยังตกค้างมาตั้งแต่สมัยสงครามเวียดนาม เป็นต้น) ในขณะที่บางชิ้นก็สร้างคาแรกเตอร์ได้อย่างน่ารักน่าชัง อย่างเจ้า 'ปลาแมว' ซึ่งเป็นแมวที่มีหางเป็นปลา ในบูท 5mins ของไต้หวันที่เป็นบูทแรกๆ ซึ่งคอยต้อนรับเราอยู่ทางขวามือเมื่อแรกเดินเข้ามาในโกดัง

    ในโซนนี้ยังมีเวทีขนาดไม่ใหญ่ไม่เล็กอยู่ตรงกลางห้อง เป็นเหมือนศูนย์กลางของการสื่อสารประจำงาน ตั้งแต่พิธีเปิดงานในวันแรก การบรรยายและเสวนาต่างๆ งานปาร์ตี้ระหว่างแบรนด์ทั้งหลายในช่วงค่ำคืนวันศุกร์ รวมไปถึงการมอบรางวัลประจำงาน ก็ทำกันที่เวทีตรงนี้ล่ะ 

    เดินทะลุประตูเชื่อมมายังโกดังหมายเลข 2 บ้าง ตรงนี้คือ Material / Experiential Zone ที่ก็มีบูทสินค้าอยู่ราว 20 กว่าบูท ส่วนใหญ่จะเป็นแบรนด์ที่เกี่ยวข้องกับการลงมือทำงานศิลปะ (เช่น มีบูทที่ขายสีสเปรย์สำหรับกราฟฟิตี้ ซึ่งมีศิลปินมาพ่นโชว์แบบสดๆ ให้ดูด้วย) แต่ที่โดดเด่นสำหรับห้องนี้ก็คือพื้นตรงกลางห้องที่ถูกยกสูงขึ้นมาซึ่งถูกจัดเป็นพื้นที่ของเวิร์กช็อปต่างๆ ยาวต่อเนื่องกันไปตั้งแต่หน้าห้องถึงหลังห้องนับรวมได้ 8 ห้อง ตารางเวิร์กช็อปต่อเนื่องกันทั้งวัน มีทั้งงานไม้ งานผ้า งานกระดาษ และวัสดุหรือรูปแบบอื่นๆ ที่หลากหลายอย่างยิ่ง ห้องที่อยู่ลึกสุดเป็นห้องของ Makers' Base ที่มาจากโตเกียว ซึ่งเป็นห้องที่แบ่งเป็นโต๊ะเล็กๆ หลายตัว รวบรวมเวิร์กช็อปเล็กๆ ให้ทำได้เสร็จภายในไม่กี่นาทีเอาไว้ด้วยกัน ที่ดูจะได้รับความนิยมเป็นพิเศษก็คือการทำเครื่องประดับด้วยตัวเองที่มีคนมุงอยู่เรื่อยๆ

    บูทหนึ่งที่น่าสนใจในห้องนี้มาจากโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น เป็นแบรนด์หน้าใหม่อายุเพียง 6 เดือนที่ก่อตั้งโดยดีไซเนอร์ 3 คน ชื่อแบรนด์ว่า SOGU ที่ผลิตสินค้ามาเพื่อขายดีไซเนอร์โดยเฉพาะ! คือสินค้าแต่ละอย่างจะเน้นความน้อยแต่ได้มาก ทั้งไม้แขวนเสื้อ กล่องใส่กระดาษ หมุดแม่เหล็ก หรือที่แขวนร่ม ที่ล้วนถูกออกแบบมาเป็นอย่างดี ทั้งในแง่ฟังก์ชันและดีไซน์ เชื่อว่าคนที่ชอบอะไรมินิมอลๆ ต้องเป็นปลื้ม

    เดินผ่านโซนนี้แล้ว คนที่ชอบลงมือทำโน่นทำนี่ด้วยตัวเองอาจใช้เวลาได้นานสองนาน และอาจเสียเงินให้กับการเวิร์กช็อปง่ายๆ พร้อมได้ของที่ตัวเองเป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้นมาติดไม้ติดมือกลับไปด้วย

    เราเดินย้อนกลับมาที่โกดังสุดท้าย ที่เป็นโซนที่มีบูทเยอะที่สุด คือ Brands Zone

    แบนเนอร์ผ้าที่ต้อนรับเราอยู่ด้านหน้าโกดังแห่งนี้มีสโลแกนเขียนไว้ว่า Turn Your Passion Into a Living ซึ่งเห็นแล้วคนที่กำลังเริ่มลงมือทำงานศิลปะหรือแบรนด์ดีไซน์ของตัวเองจะต้องรู้สึกฮึกเหิมแน่ๆ (ทีม happening เองก็ทำงานของเราด้วยแพสชั่นเหมือนกัน และรู้สึกว่าเป็นประโยคง่ายๆ ที่โดนใจเราเช่นกัน) โซนนี้เต็มไปด้วยบูทของแบรนด์ต่างๆ จากหลายประเทศรวมกันกว่า 50 บูท มีทั้งงานเซรามิก กระเป๋า เสื้อผ้า เครื่องหนัง เครื่องประดับ ของแต่งบ้าน โปสการ์ด ฯลฯ ในโกดังนี้มีแถบหนึ่งเป็นแบรนด์ต่างๆ ที่มาจากญี่ปุ่น ซึ่งแต่ละแบรนด์จัดบูทอย่างตั้งอกตั้งใจและจัดเต็มกันทั้งนั้น

    ในขณะที่บูทอีกแถบก็มีแบรนด์จากเมืองไทยเรียงรายกันร่วม 15 บูท มีแบรนด์ที่เราคุ้นเคยเพราะเป็นแบรนด์ที่ฝากขายในร้าน happening shop อยู่แล้วคือ Ce'halo, Chana.Pottery.Studio, Pica และ Run Ga Run ในขณะที่แบรนด์อย่าง Earth Republic, Charm-Learn Studio และ PaChaNa Studio ก็ถือว่าเป็นซัมบอดี้ในแวดวงเซรามิกในบ้านเราเช่นกัน

    แม้ว่าหลักใหญ่ใจความของงาน Pop Up Asia 2018 ดูเหมือนจะเป็นงานที่พยายามรวมงานแฮนด์เมดในเอเชียมาอยู่ด้วยกันให้ได้มากที่สุด แต่สิ่งที่น่าสนใจคือคำว่า 'แฮนด์เมด' ของผู้จัดงานนั้นดูจะไม่ได้จำกัดไว้แค่งานเย็บปักจักสานหัตถกรรมแบบที่คนสมัยก่อนคุ้นเคย หากแต่ยังรวมงานดีไซน์ร่วมสมัย และกว้างไกลไปถึงงานที่เริ่มจากมือ เช่น การวาด การออกแบบด้วยมือ แล้วส่งผลิต ก็ถือเป็นงานแฮนด์เมดในแบบร่วมสมัยได้เช่นกัน

    และอย่างที่ได้เกริ่นไปบ้างแล้ว ในความเป็นงานประจำปีที่เกี่ยวข้องกับแวดวงแฮนด์เมดและดีไซน์นั้น งาน Pop Up Asia ไม่ได้มีเพียงการออกบูทจำนวนหลายร้อยบูทเท่านั้น แต่ในเรื่ององค์ความรู้ต่างๆ ที่ทีมผู้จัดพยายามคัดสรรมาไว้ในเทศกาลก็ดูน่าสนใจไม่แพ้กัน ในงานนี้มีการบรรยายจากวิทยากร 4 ท่านที่บรรยายกันคนละหนึ่งชั่วโมงเต็ม แต่ละท่านก็คลุกคลีอยู่ในแวดวงนี้มาไม่น้อย เช่น มาซายูกิ อาเบะ ที่เป็นตัวแทนจากมินเน่ ประเทศญี่ปุ่น หรือ หมิงฮุย เชน จากไต้หวันที่มาเล่าเรื่องนวัตกรรมในงานคราฟต์ของไต้หวัน ในขณะที่ ปิแอร์ อังเดร์ โรมาโน ก็เป็นผู้ที่ทำงานด้านโซเชียลเอนเตอร์ไพรส์และงานหัตถกรรมในกัมพูชามาเนิ่นนาน และที่น่าภูมิใจไม่เบาก็คือเมืองไทยเองก็มีตัวแทนสปีกเกอร์ไปบรรยายเช่นกัน ซึ่งก็คือ พิบูลย์ อมรจิรพร ที่เคยทำงานนิทรรศการเกี่ยวกับงานคราฟต์ให้กับ TCDC และเป็นผลให้เขาต้องออกค้นหานิยามและความหมายของคำว่า 'คราฟต์' จากผู้คนหลากหลายจนได้ประสบการณ์เฉพาะตัวมาเล่าให้ฟัง

    อีกส่วนหนึ่งที่น่าสนใจในงานนี้ก็คือการมอบรางวัลให้กับแบรนด์ต่างๆ ที่มาร่วมงานด้วย โดยแบ่งเป็น 4 รางวัลคือ Locally Made Awards, Made By Hand Awards, Customization Service Awards และ Limited Production Awards ที่แสดงเจตนารมณ์และประเด็นซึ่งงาน Pop Up Asia ให้ความสำคัญได้อย่างชัดเจน

    บรรยากาศโดยทั่วไปของ Pop Up Asia 2018 ดูจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี งานนี้ผู้จัดเป็นบริษัทเอกชน แต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ แสดงถึงการร่วมไม้ร่วมมือทุกภาคส่วนที่พร้อมใจกันส่งเสริมให้ความครีเอทีฟเกิดขึ้นในไต้หวัน และในหมู่ประชาชนทั่วไปเองก็ให้การตอบรับ ทั้ง 4 วันมีผู้คนมาร่วมงานกันหนาตา โดยเฉพาะวันแรกและวันสุดท้าย และแม้ว่าจะมีช่วงที่ฝนตกโปรยปราย เราก็ยังเห็นภาพคนไต้หวันกางร่มต่อคิวซื้อตั๋วเข้างานอย่างตั้งอกตั้งใจ คนที่มาร่วมงานก็ตั้งแต่วัยรุ่นไปจนวัยชรา มาเดี่ยว มาเป็นคู่ หรือมาเป็นกลุ่ม ทางผู้จัดเองก็เตรียมบูทอาหารและเครื่องดื่มไว้รองรับให้ผู้ร่วมงานใช้เวลาในงานได้เป็นครึ่งค่อนวัน และสำหรับบูทของ happening and friends เองก็ได้พบกับลูกค้าที่น่าสนใจหลายคน บางคนรู้จักกับงานของบางแบรนด์ของชาวไทยอยู่แล้ว ในขณะที่บางคนก็สนใจบูทของเราเพราะเป็นบูทรวมศิลปินชาวไทยก็มี

    นอกจากเรื่องขายของแล้ว การมาร่วมงานแบบนี้ยังมีอีกสิ่งที่สำคัญกว่าเรื่องยอดขาย ก็คือเรื่องโอกาส

    happening เองก็ได้พบเพื่อนใหม่ชาวต่างชาติที่เป็นคนคอเดียวกัน นามบัตรและโบรชัวร์ที่เตรียมไปเป็นกล่องๆ ถึงกับหมดเกลี้ยง ในฐานะ Buyer ซึ่งมีทั้งหน้าร้านและเว็บของตัวเอง เราก็ได้ลองเลือกดูสินค้าหลากหลาย ได้ลองฟังพรีเซนต์จากแบรนด์ต่างๆ ที่เข้ามาอธิบายสินค้าและแนวคิดของตัวเองให้ฟังในช่วง Business Matching เช่นกัน ในขณะที่ในฐานะสื่อมวลชน เราก็ได้ฟังโปรเจกต์สนุกๆ ที่เพื่อนใหม่มาเล่าให้ฟัง หรือกระทั่งเริ่มทาบทามให้ไปร่วมงานกันก็มี

    ไปร่วมงาน Pop Up Asia 2018 ครั้งนี้ เราได้ประสบการณ์กลับมาให้จดจำและนำมาพัฒนาตัวเองไม่น้อย แต่หากให้สรุปเป็นคำแนะนำสำหรับแบรนด์หรือศิลปินที่อยากไปออกงานแบบนี้บ้าง พื้นที่ตรงนี้อาจจะไม่พอแน่ๆ 

    เอาเป็นว่าสิ่งหนึ่งที่ควรจะมีพร้อมก็คือความสามารถในการสื่อสาร หากพูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่วหน่อยก็จะดี ยิ่งพูดภาษาจีนได้ก็ยิ่งดีมาก (ที่ไต้หวันใช้ภาษาจีนกลาง) แต่อย่างน้อย ก็ให้เตรียมตัวเรื่องป้ายราคา ป้ายอธิบายแนวคิดของแบรนด์หรือชิ้นงานที่ชัดเจนไปเลยก็จะยิ่งดี (ถ้าเป็นป้ายภาษาจีนได้จะดีเยี่ยมเลยทีเดียว) นอกจากนี้การเตรียมสินค้าไปให้เหมาะสม ศึกษาเรื่องสไตล์ของชิ้นงาน การตั้งราคา และจำนวนที่พอเหมาะพอดีก็เป็นเรื่องที่ต้องวางแผนให้ดีเช่นกัน และอย่าคาดหวังไว้แค่เรื่องยอดขายเพียงอย่างเดียว แต่ให้คาดหวังเรื่องการเปิดประสบการณ์ การสร้างคอนเน็กชัน และการได้มิตรภาพใหม่ๆ ของคนแบบเดียวกันให้เยอะๆ

    เพราะไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ เป็นผู้ซื้อ เป็นวิทยากร หรือกระทั่งตัวผู้จัดงานเอง เราเชื่อว่าทุกคนล้วนเป็นคนแบบ Turn Your Passion Into a Living กันทั้งนั้น และการมาร่วมงานนานาชาติแบบนี้ ทำให้เราได้เห็นแพสชั่นอันหลากหลายของคนรักศิลปะที่ทำให้ไฟในการทำงานของเราลุกโชนขึ้นไปอีก

วิภว์ บูรพาเดชะ

ผู้ก่อตั้งนิตยสาร happening, บรรณาธิการบริหารนิตยสาร happening, กรรมการบริหารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (bacc), นักเขียน, นักแต่งเพลง, นักฟังเพลง และนักอ่านตัวยง

วรรณวนัช บูรพาเดชะ

ที่ปรึกษาทีม happening shop, เจ้าของเพจเฟซบุ๊กและหนังสือ 'ญี่ปุ่นอุ่นอุ่น', นักเขียน ช่างภาพโฟโต้บุ๊ก 'Nagasaki Light' และไกด์บุ๊ก 'Kagawa Memories' นอกจากภาพถ่ายและงานเขียน สิ่งที่เธอสนใจเป็นพิเศษคือการนั่งสมาธิและการโปรยมุขไม่ขำ