Seoul Illustration Fair 2022: อีเวนต์ใหญ่จากเหล่านักวาดที่สะท้อนภาพการเติบโตของศิลปะในประเทศเกาหลีใต้

    แดดอุ่นๆ ยามเช้า ผู้คนในชุดแต่งกายสบายๆ ดอกไม้ที่เริ่มผลิดอกออกผล เป็นสัญญาณบอกให้เหล่านักเดินทางรู้ว่า ฤดูร้อนที่อุดมไปด้วยสีสันและความสนุกสนานได้เดินทางมาสู่กรุงโซลแล้ว

    หลายคนรู้จักกับโซลในฐานะเมืองหลวงของประเทศเกาหลีใต้ เมืองที่ถูกนิยามว่าไม่เคยหลับไหล เพราะมีผู้คนผลัดเปลี่ยนกันใช้ชีวิตตลอดวัน ขณะเดียวกัน โซลก็ถือเป็นศูนย์กลางของเมืองสร้างสรรค์ เมืองที่มีพื้นที่ให้ผู้คนได้ซึมซับกับศิลปะใกล้ตัวโดยที่อาจไม่ทันได้รู้ตัวเสียด้วยซ้ำ

    เริ่มต้นด้วยซีรีส์และวงการเพลงเคป็อป (K-Pop) ฮิปฮอป (K-Hiphop) ที่ถือเป็นสายพานหลักในการถ่ายทอดวัฒนธรรม อาหาร การแต่งกาย ไปจนถึงความเชื่อต่างๆ ให้กับชาวเกาหลี ก่อนจะขยายไปสู่สายตาชาวโลก ประกอบกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน อย่างเทรนด์การแต่งกายที่ปรับเปลี่ยนไปตลอดปี คาเฟ่หลายร้อยร้านที่มีการตกแต่งเฉพาะตัว สตูดิโอเวิร์กช็อปที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้ลองสร้างงานศิลปะด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นภาพวาด เครื่องประดับ หรือของตกแต่งในบ้าน มาร์เก็ตเล็กๆ ที่จัดขึ้นทุกสุดสัปดาห์ แกลเลอรีเอกชนขนาดเล็กไปจนถึงมิวเซียมขนาดใหญ่ที่ได้รับทุนสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน ซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วทั้งในโซลและเมืองอื่นๆ ในประเทศเกาหลีใต้ อีกทั้งยังมีเทศกาลต่างๆ ที่พัดพาให้ผู้คนที่มีความชอบเหมือนกันได้มาพบเจอกันตลอดปี

    สำหรับในครั้งนี้ ทีม happening ขอเอาใจเหล่านักวาดด้วยการพาไปชมงาน Seoul Illustration Fair 2022 (SIF) อีเวนต์รายปีที่พาเหล่านักวาดหลายร้อยคนมาจัดแสดงผลงาน แลกเปลี่ยนความรู้ และพบปะกับผู้คนที่ชื่นชอบงานศิลปะ ปกติแล้ว งานนี้จะจัดขึ้นในช่วงฤดูร้อนช่วงเดือนกรกฎาคมและฤดูหนาวปลายปีเดือนธันวาคมนั่นเอง โดยในงานครั้งที่ 13 นี้ มีเหล่านักวาดเข้าร่วมกว่า 700 ราย ถือเป็นจำนวนที่สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแรงของแวดวงนักวาดในประเทศเกาหลีเลยทีเดียว

    ไม่เพียงแค่เหล่านักวาดที่ตื่นเต้นกับงาน Seoul Illustration Fair แต่งานนี้ยังเป็นที่สนใจในหมู่คนทั่วไป การันตีด้วยจำนวนผู้คนที่หลั่งไหลเข้ามาสู่บริเวณชั้น 3 ของ Coex Mall อย่างมากมายและต่อเนื่อง ในการเข้าร่วมงานนั้น สามารถซื้อบัตรเข้างานล่วงหน้าได้ทางออนไลน์ สำหรับชาวต่างชาติอาจจะซื้อบัตรออนไลน์ลำบากเล็กน้อย เพราะระบบขายบัตรนั้นเป็นภาษาเกาหลีทั้งหมด แต่ไม่ต้องกังวลไป เพราะเราสามารถซื้อบัตรได้ที่หน้างานเช่นกัน โดยราคาบัตรหน้างานจะอยู่ที่ 12,000 วอน (ประมาณ 600 บาท) โดยสามารถเข้าออกงานได้ตลอดทั้งวัน

    เมื่อเข้าไปภายในฮอลล์ เราจะได้รับสูจิบัตรงานที่มีรายชื่อบูทเพื่อความสะดวกของเหล่าผู้ชม เหล่าศิลปินส่วนใหญ่จะได้พื้นที่หน้ากว้างประมาณ 1 เมตร สำหรับจัดแสดงงาน โดยแต่ละบูทนั้นล้วนถูกตกแต่งด้วยชิ้นงานที่ถ่ายทอดตัวตนของศิลปินออกมาอย่างชัดเจน อย่างบูทของ Happy Weirdos Club และ Solion ที่มีสไตล์งานและวิธีการตกแต่งบูทที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

    เหล่าคาแรกเตอร์สัตว์ชนิดต่างๆ ยังถือเป็นอันดับหนึ่งที่ครองใจผู้ชมและเหล่านักวาดอย่างมั่นคง เพราะไม่ว่าจะเดินไปโซนไหน เราก็เห็นความน่ารักของคาแรกเตอร์สัตว์เหล่านี้อยู่เสมอ สลับกับคาแรกเตอร์คนที่มีลายเส้นเฉพาะตัวแตกต่างกันไป ปิดท้ายด้วยศิลปินที่นำเสนอผลงานนามธรรม (Abstract) ซึ่งก็ได้รับความนิยมไม่น้อยเลยทีเดียว

    นอกจากการจัดแสดงงานแล้ว เหล่าศิลปินยังเตรียมสินค้ามาให้เหล่าผู้ชมได้จับจองกลับไปเป็นของตัวเอง คุณอาจได้เห็นงานศิลปะที่อยู่ในรูปแบบของตกแต่งบ้าน เช่น ตุ๊กตาตัวน้อย ผ้าสกรีนลาย หมอนนุ่มๆ สมุดโปสเตอร์ หรืออาร์ตพีซที่สามารถนำไปตกแต่งห้องได้ หรือ อุปกรณ์เครื่องเขียน อย่าง สติกเกอร์ โพสอิท สมุด โปสเตอร์

    โดยเฉพาะสติกเกอร์ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ทุกคนในงานล้วนหยิบติดไม้ติดมือกลับบ้านไปด้วย อาจเพราะตอนนี้ที่เกาหลีใต้มีเทรนด์การเก็บการ์ดรูปศิลปิน ทำให้พวกเขามักจะหาสติกเกอร์น่ารักๆ มาติดเฟรมการ์ด อย่างบูทของ TETEUM ซึ่งเป็นแบรนด์ที่สร้างสรรค์คาแรกเตอร์น้องหมีใส่แว่นสุดน่ารัก และกำลังมาแรงแบบสุดๆ จนต้องมีการจัดคิวต่อแถวจนยาวไปด้านข้างเพื่อซื้อของเลยทีเดียว โดยแบรนด์นี้มีโอกาสได้ร่วมงานกับแบรนด์ใหญ่ๆ มาแล้วมากมาย อย่าง Samsung, Laneige, Peripera เป็นต้น

    นอกจากสติกเกอร์ที่มาแรงเป็นอันดับหนึ่งแล้ว ด้วยความที่คนเกาหลีใต้ให้ความสนใจกับการตกแต่งบ้านและพื้นที่ส่วนตัว ทำให้ผ้าสกรีนลายและสมุดโปสเตอร์ก็เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมเช่นกัน อย่างบูทของ Sardineee นักวาดสาวที่ใช้สีสันสดใสก็เป็นหนึ่งคนที่นำผ้าสกรีนลายภาพวาดทะเลมาจำหน่ายและตกแต่งภายในบูท ขณะที่นักวาด o.dansam ซึ่งถนัดการวาดภาพวิวทิวทัศน์ก็ได้ทำสมุดโปสเตอร์มาให้แฟนๆ ได้เลือกเปลี่ยนโปสเตอร์ไปตามความชอบ ใครที่เตรียมไปช็อปในงาน เราขอแนะนำให้คุณเตรียมเงินสดไปให้พร้อมนะ เพราะบูทส่วนใหญ่ไม่รับบัตรเครดิตนะ

    เมื่อเดินทางไปถึงสุดทางของฮอลล์จัดแสดง เราก็ได้พบกับโซนจัดแสดงงานที่เล่าถึงความเป็นมาของงานในครั้งนี้ อีกทั้งยังมีโซนจัดแสดงที่นำเสนอเทรนด์การทำงานของนักวาดในปีนี้ ซึ่งก็คือ ผลงานในรูปแบบ NFT โดยมีเหล่าศิลปินได้สร้างสรรค์ชิ้นงานและเปิดให้นักสะสมได้จับจองเป็นเจ้าของเช่นเดียวกัน

    ภายในงาน เรามีโอกาสได้เห็นศิลปินและผู้ชมต่างเพศต่างวัย พบปะ พูดคุยกันอย่างสนุกสนาน นอกจากนี้ ศิลปินหลายๆ คนก็เตรียมงานชิ้นเล็กๆ มาแจกให้กับผู้ชมที่กดติดตามโซเชียลของพวกเขา หรือบางคนก็เตรียมงานมาแลกเปลี่ยนกับเหล่านักวาดคนอื่นๆ อีกด้วย ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมที่น่ารักในงานนี้ อีกทั้ง ศิลปินยังมีโอกาสได้พบกับตัวแทนองค์กรอิสระต่างๆ ที่แวะเวียนเข้ามาทักทาย ทำความรู้จักกัน เพื่อต่อยอดไปสู่การร่วมงานกันในอนาคตอีกด้วย

    Seoul Illustration Fair ไม่ได้ส่งมอบแรงบันดาลและการสร้างสรรค์อยู่แค่ในกรุงโซลเท่านั้น แต่พวกเขายังจัดงาน Busan Illustration Fair ที่เมืองปูซานเพื่อต่อเติมความฝันและแรงบันดาลใจให้กับคนรักงานศิลปะที่ห่างไกลจากกรุงโซล นี่จึงถือเป็นอีกหนึ่งงานที่สะท้อนให้เห็นการเติบโตของแวดวงนักสร้างสรรค์ในเมืองเกาหลีใต้ได้เป็นอย่างดี

    สำหรับเพื่อนๆ ชาวไทยที่อยากสัมผัสบรรยากาศสนุกๆ แบบนี้ เตรียมตัวให้พร้อม แล้วมาร่วมขับเคลื่อนแวดวงศิลปะไปด้วยกันในงาน Bangkok Illustration Fair 2022 ในวันที่ 8-11 กันยายน 2565 ที่โถงนิทรรศการหลัก ชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งภายในงานจะมีทั้งการจัดแสดง การจำหน่ายผลงาน และการพูดคุยแลกเปลี่ยน จากเหล่าศิลปิน BKKIF ทั้ง 150 คน

    นี่ถือเป็นการจัดงานแบบออนไซต์ครั้งแรกในประเทศไทย หลังจากปีที่ผ่านมาต้องจัดงานในรูปแบบออนไลน์เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกจากศิลปิน BKKIF แล้ว ในปีนี้ เรายังมีศิลปินรับเชิญจากต่างประเทศและศิลปินชื่อดังของไทยมาร่วมแสดงด้วย อาทิ ต่าย ขายหัวเราะ, สุทธิชาติ ศราภัยวานิช, ทรงศีล ทิวสมบุญ, Sundae kids, มุนิน อีกด้วย

    แม้ในงานครั้งนี้ เราจะจัดที่กรุงเทพมหานครเป็นหลัก แต่ไม่แน่ว่าในอนาคต เราอาจได้เห็นงาน BKKIF เดินทางไปมอบแรงบันดาลใจและความสนุกให้กับคนรักศิลปะในจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศไทยเช่นเดียวกับประเทศเกาหลีใต้ก็ได้นะ!

นิษณาต นิลทองคำ

กองบรรณาธิการที่กำลังใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน ชอบคุยกับผู้คน ท้องฟ้า และเสียงดนตรี เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการฟังเพลง ที่บางทีก็ปล่อยให้เพลงฟังเรา