ต้อม-เป็นเอก รัตนเรือง คือผู้กำกับชาวไทยที่เริ่มทำหนังเรื่องแรกด้วยความชอบล้วนๆ ก่อนจะโด่งดังจากการนำหนังไปฉายตามเทศกาลหนังนานาชาติระดับโลก จนเป็นที่รู้จักในวงการคนทำหนังอาร์ตทั้งไทยและต่างประเทศ เรียกว่าในแวดวงภาพยนตร์ของโลกนี่ ใครไม่รู้จักเป็นเอกก็ถือว่าเชยมาก
ผลงานหนังในช่วงระยะเวลากว่า 20 ปีที่เขาโลดแล่นในวงการมีมากกว่า 10 เรื่อง ยังไม่นับรวมงานโฆษณาและสารคดีที่ไปร่วมทำกับโปรเจกต์ต่างประเทศอีก เป็นเอกถือเป็นแรงบันดาลใจและแบบอย่างให้แก่คนทำหนังรุ่นใหม่ๆ มากมาย ด้วยสไตล์หนังที่ตลกร้าย ทึมเทา และเหนือจริง (บางคนบอกว่าดูไม่รู้เรื่อง ในขณะที่บางคนชอบมากๆ) ที่เรียกว่าเป็นลายเซ็นของผู้กำกับหนุ่มใหญ่คนนี้ ก็ยังทำให้มีแฟนหนังมากมายติดตามงานเขาอย่างเหนียวแน่น เลยลามมาถึงเด็กรุ่นใหม่ที่บางคนเกิดไม่ทันหนังเรื่องแรกของเขาด้วยซ้ำ
ปลายปี 2560 เขากลับมาพร้อมกับข่าวคราวเรื่องหนัง ไม่มีสมุยสำหรับเธอ (Samui Song) หนังเรื่องใหม่ที่ได้ฉายครั้งแรกที่เทศกาลหนังนานาชาติเวนิส (Venice Film Festival) และเทศกาลหนังระดับอินเตอร์อื่นๆ พร้อมรับคำชื่นชมมาจำนวนไม่น้อย โดยจะเข้าฉายที่ไทยต้นปี 2561
และนี่คือความเป็นมาของ ไม่มีสมุยสำหรับเธอ รวมทั้งภาพที่อยู่ในหัวของเป็นเอกในขณะที่ทำหนังเรื่องนี้
มันเป็นเรื่องของผู้หญิงคนหนึ่งที่แต่งงานกับฝรั่งแล้วชีวิตไม่แฮปปี้ ซึ่งมันไม่แฮปปี้จนไปถึงจุดที่วันหนึ่งมันจ้างคนฆ่าผัวตัวเองเลย ถ้าฆ่าแล้วแล้วกันก็โอเค แต่นี่ฆ่าแล้วไม่จบเพราะไม่สำเร็จ ก็เลยไปเรื่อยๆ แต่มีเรื่องที่เพิ่มเข้ามาตอนเขียนสคริปต์ คือเรื่องลัทธิทางเลือก ซึ่งเข้ามาเกี่ยวโดยให้ครอบครัวนี้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของผู้นำลัทธินี้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ อยู่ที่ว่าลัทธินั้นจะเรียกตัวเองว่าอะไร เพราะบางทีเขาก็เรียกตัวเองเป็นศาสนาด้วย ก็เล่นกับความไม่มั่นคงของจิตใจคนแหละ ส่วนที่หนังเรื่องนี้เกิดขึ้นมาได้ เพราะวันหนึ่งเราเดินช้อปปิ้งซื้อกับข้าวในซูเปอร์มาร์เก็ตแถวบ้าน แล้วเห็นดาราดังคนหนึ่งเดินอยู่กับแฟนที่เป็นฝรั่ง เราก็เดินตามดูว่าเขาซื้ออะไรกันด้วยความอยากรู้ เพราะผู้หญิงก็สวย ผู้ชายก็ดูดี เหมือนเป็นคนทำงานองค์กรใหญ่ๆ ในต่างประเทศ แล้วเรื่องนี้ก็ผ่านไป ไม่มีอะไร เราก็ไปว่ายน้ำ ไปวิ่งออกกำลังกาย หัวมันก็คิดไปเรื่อย ก็คิดว่าคู่นี้เวลาอยู่บ้านมันจะเป็นไงวะ จนเกิดเป็นสคริปต์หนังเรื่องนี้ขึ้นมา กลายเป็นเรื่องแต่งในแบบของเราขึ้นมา ทั้งที่ชีวิตจริงเขาอาจจะแฮปปี้ก็ได้ (หัวเราะ)
อย่างที่บอกว่ามันไม่มีเหตุผล เพราะมันเกิดจากที่เราไปเห็นคนคู่นี้แล้วเราก็เดินตามดูเขาช้อปปิ้ง ซึ่งก็ไม่ได้คิดอะไรมาก แต่เรื่องนี้มันไม่ไปจากหัว วนเวียนว่าชีวิตสองคนนี้เป็นไงวะ พอคนเรามันมีอะไรแบบนี้มันจะเห็นเป็นภาพๆ แม้จะเป็นภาพที่ไม่ได้เมคเซนส์มาก แต่ก็จะเห็นเป็นภาพๆ แล้วมันก็จะเป็นสัญญาณนิดๆ แล้วว่าให้เขียนบทเถอะ เพราะหลายๆ เรื่องก็จะมาเป็นแบบนี้ อย่าง เรื่องตลก 69 (2542) มันก็มาเป็นภาพ คือจู่ๆ ผมก็ไปเห็นภาพมีกระเป๋าเดินทางมาวางอยู่ในห้องห้องหนึ่ง แล้วในกระเป๋าเดินทางมันมีอะไร เราก็นั่งเขียนบทไปเรื่อยๆ หรือเรื่อง นางไม้ (2552) เราก็เห็นภาพผู้ชายคนหนึ่งยืนเอากับต้นไม้ แล้วภาพนี้มันอยู่นาน ไม่ยอมไป เดี๋ยวอีก 2-3 วันก็คิดอีกแล้ว อันนี้ก็คล้ายๆ กัน เพียงแต่ถ้าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นก็จะเขียนบทเถอะ
เราเห็นภาพผู้หญิงเดินอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ต ตรงหัวมีพลาสเตอร์แปะและมีเลือดๆ อยู่ เหมือนหัวแตก แล้วก็เห็นอยู่เรื่อยๆ มันก็แปลกนะ แต่มันเกิดขึ้นบ่อย บ่อยกว่าครั้งสองครั้ง เหมือนมันมีบางอย่างอยู่ในหัวแล้วเราต้องเอาออกมา ถ้าไม่สำเร็จก็ไม่สำเร็จ เขียนไม่จบก็ไม่ได้ทำ
ใช่ แต่มันไม่เกี่ยวหรอกว่าภาพธรรมดาหรือไม่ธรรมดา จุดคือมันไม่ไปจากเรา มันเห็นอยู่เรื่อยๆ แสดงว่าต้องมีอะไรบางอย่างอยู่ในใจ หลังๆ มานี่หนังที่ส่วนตัวมากๆ อย่าง พลอย หรือ Last life in the universe จะไม่อยากทำแล้ว เหมือนชีวิตเปลี่ยนไป ก็โตขึ้น แก่ลง หรือชีวิตมันแฮปปี้ขึ้นก็ไม่รู้ ตอนนี้ชีวิตลงตัวขึ้น เลยไม่มีเรื่องส่วนตัวที่จะพูด เราก็เลยทำหนังที่เป็นเรื่องแต่งสนุกๆ เน้นเอนเตอร์เทน แล้วหนังก็จะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ยกเว้นเราจะไปเจอมรสุมชีวิตหนักๆ อีกระลอกที่มีผลมาก แต่ก็เข้าสู่ยุคที่ทำหนังไม่ค่อยส่วนตัว แล้วมันก็สนุกดี เพราะจำได้ว่าตอน ฝนตกขึ้นฟ้า ตอนถ่ายทำโคตรสนุกเลย เพราะว่ามันไม่ใช่เรื่องของเรา ไม่เกี่ยวกับเราเลย ดูคนไล่ยิงกัน มันจะกลายเป็นงานคราฟต์มากกว่าเป็นเรื่องของชีวิต เพราะเวลาทำหนังที่ส่วนตัวมากๆ เราทรมาน มันใกล้ตัว อย่างนี้เหมือนเราทอเสื่อ ลายเขามีมาให้แล้วเราก็ทอไป
ยากมาก ถึงทำหนังห่างขึ้นเยอะเลยไง เพราะหาเงินยาก กับไอเดียน้อยลง ไม่พลุ่งพล่านเหมือนสมัยก่อน เพราะชีวิตก็มีเรื่องอื่นที่ต้องทำมากขึ้น ทำหนังยากขึ้น แต่ที่มันยากเพราะเราทำหนังแพงด้วย หนังอินดี้ของเราที่หาเงินทำเอง แม่งแพงกว่าหนังสตูดิโอ เพราะเรื่องราวที่เขียนไปมันโอละพ่อไปในทางนั้นกัน หลังจาก สมุยซอง จะทำหนังอีกก็ไม่มีทางทำด้วยวิธีนี้ ต้องเล็กๆ เลย เหมือนสมัยที่เรากลับไปเรื่อง ตลก 69 ซึ่งก็จะมีความสุขดีเหมือนกัน แต่มันหาเงินยาก อย่างเมื่อก่อนเราอยู่ไฟว์สตาร์ เขาจะบอกตัวเลขมาว่าอย่าเกินเท่านี้ มีดาราที่เขาโปรโมตสักคนได้ จบ จะทำอะไรก็ทำไป เราก็นั่งเขียนบทที่มันอยู่ในราคาเท่านี้ แล้วก็ง่ายเพราะว่าแทบจะปิดประตูขาดทุนหมดเลย เงินที่เขาบอกเราให้เอามาลงเท่านี้ เขาก็ขายสายเหนือสายใต้ สายหนังก็เกินครึ่งแล้ว ขายดีวีดีอีก ก็ได้เงินทำหนังแล้ว โดยที่เขาไม่ได้เจ็บตัวอะไร อาจจะลงทุนจริงๆ แค่ค่าโปรโมต จะเท่าไหร่ก็ว่าไป หลังๆ ก็มีเงินจากเมืองนอกมาช่วยอีก ยิ่งสบายเลย หนัง 15 ล้านเขาลงแค่ 7-8 ล้าน เงินเมืองนอกมาอีกครึ่งหนึ่ง เราก็ทำหนังโกโปรดักชันไปเมืองนอกเรื่อยๆ แม้กระทั่งท้ายๆ ตั้งแต่ ลาสต์ไลฟ์ฯ มาเรื่อยๆ มันก็ยิ่งสะดวก แต่ตอนนี้ที่ยากเพราะความล่มสลายของดีวีดี มันหายไปจากโลกมนุษย์เลย เมื่อก่อนเรามานั่งรณรงค์อย่าซื้อแผ่นผี เดี๋ยวนี้ไม่มีทั้งผีทั้งคน ไม่มีแผ่นแล้ว แผ่นผีก็ตาย เพราะทุกคนโหลดหมด ตลาดดีวีดีหายไปเลย ซึ่งตลาดนี้มันทำให้หนังอินดี้ๆ อยู่ได้ มันก็ยากขึ้น
มันควรจะมี แต่เรื่องนี้เราไม่ได้คิดแบบนั้นเลย ทุนมันจึงสูงมาก แล้วปกติเราไม่ใช่คนแบบนี้เลยนะ เราจะทำทุกอย่างประหยัดมาก เขียนบทเล็กๆ เพราะเราชอบเรื่องเล็กๆ อยู่แล้ว แต่เรื่องนี้มันมีคนมาเขียนบทร่วมกัน เขาก็ตั้งคำถามกับเรา ตั้งคำถามกับตัวละคร จนในที่สุดมันก็เพิ่มซีนเพิ่มนั่นนี่ เรื่องมันก็เยอะขึ้น พอเรื่องเยอะขึ้นก็ต้องใช้เงินมากขึ้น ถ้าคุณทำเรื่องพลอย ทุกคนนั่งคุยในโรงแรมเรื่องเดียวมันก็ไม่อะไรมาก แต่ว่าเรายังคงยืนยันกับตัวเองว่าหนังเราต้องถ่ายดี ตัดดี โปรดักชันต้องดี เพราะมันคือสิ่งที่ทำให้หนังไม่เป็นหนังทีวี เพราะปัจจุบันหนังมันมีความเป็นหนังทีวีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าคุณไม่นับหนังของ คริสโตเฟอร์ โนแลนด์ นะ ยิ่งหนังไทยนี่ทำเหมือนหนังทีวีขึ้นเรื่อยๆ ภาพแคบๆ ใครพูดก็ตัดเข้าคนนั้น มันมีแต่เรื่อง ไม่มีบรรยากาศ ไม่มีบทกวี ทีนี้สำหรับเรา การทำหนังไม่ใช่การเล่าเรื่อง มันต้องมีลมพัด ผมปลิว ต้องมีบรรยากาศ ต้องมีส่วนที่ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่อง แต่เป็นรสชาติที่ต้องเสพในโรงภาพยนตร์ ซึ่งมันเป็นความคิดที่โบราณมาก คิดแบบลุง แต่เราก็ยอมรับว่าเราเป็นคนแบบนั้น มันไม่ใช่เรื่องความสวยของภาพ แต่เป็นการเสพของภาพยนตร์ ไม่เหมือนทีวี
มันฟังดูโง่มากแต่ใช่ แล้วเราก็เป็นคนที่ไม่ค่อยขยับไปตามโลก ไม่ได้ต่อต้าน แต่เราขยับตามไม่ไหว เพราะมันมีเรื่องเกิดขึ้นเร็วและเยอะไปหมด อย่างเฟซบุ๊กก็ไม่มี เพราะส่วนหนึ่งเราไม่มีความจำเป็นจะต้องมีมันด้วย ถ้าเรามีความจำเป็น เราจะใช้ เช่น ถ้าเราต้องขายน้ำยาซักผ้าออนไลน์ เราก็จะมีทันที แต่ปัจจุบันเรายังมีชีวิตที่ไม่ต้องมีมันได้อยู่ แล้วเราไม่มีความสนใจมันเลย ทำงานทั้งวันก็เหนื่อยแล้ว กลับมาบ้านก็อยากอ่านหนังสือ ไม่ได้อยากอยู่กับคอมฯ ก็เลยยังอยากให้คนไปดูหนังในโรง
หนังเรื่องนี้ตัดต่ออยู่นานมาก เพราะตัดยาก เรื่องมันเยอะ เยอะกว่าที่เคย ก็ต้องจัดการกับมัน ฉายรอบแรกที่เวนิส เป็น World Premiere เป็น Session เล็กๆ เรียกว่า Venice Days เหมือนกับ Directors' Fortnight ของคานส์ พอเสร็จจากเวนิสก็ไปโทรอนโต ที่โทรอนโตก็เป็น North American Premiere แล้วก็ไปปูซาน เป็น Asian Premiere มันก็เข้าอีหรอบนั้น คือพอหนังเสร็จก็ต้องเริ่มฉาย เหมือนอย่างที่บอกไปว่า เมื่อก่อนผมก็เอนจอยกับการไปเทศกาลหนัง เดี๋ยวนี้ก็ไม่แล้ว เพราะแก่ (หัวเราะ)
อ่านบทสัมภาษณ์ของ เป็นเอก รัตนเรือง เรื่องประสบการณ์การไปเทศกาลภาพยนตร์ในต่างประเทศตลอด 20 ปีได้ในหนังสือ happening 'Go Inter'
2785 VIEWS |
นักเขียนและกองบรรณาธิการที่พบเจอตัวได้ตามหอศิลป์และร้านหนังสือ ชอบกินแซลมอนและชาบู อยากแก่ไปเป็นคุณป้าใจดีและมีฝูงแมวห้อมล้อม
ช่างภาพผู้ชื่นชอบการวาดรูปและรับงานวาดภาพประกอบบ้างประปราย เธอมีความตั้งใจกับตัวเองว่าจะออกไปเที่ยวนอกประเทศให้ได้ปีละครั้ง