ไม่รู้ว่าเป็นเพราะบรรยากาศในช่วงพระอาทิตย์คล้อยแสงที่แวดล้อมไปด้วยต้นไม้ใบหญ้า เสียงน้ำไหลในลำธาร หรือสรรพสัตว์ส่งเสียงร้องคลอไปกับเพลงที่ได้ยินอยู่หรือเปล่า ดนตรีวันนั้นจึงฟังเพราะ และสะกดทุกคนในงานให้หยุดนิ่ง จุดนำสายตาอยู่ที่หนุ่มผมยาวทั้งสองซึ่งกำลังบรรเลงบทเพลงของพวกเขา หลายคนอาจรู้จักผ่านยูทูบ บ้างอาจได้ยินเพลงจากภาพยนตร์สั้น และไม่น้อยรู้จักกันมาแบบเพื่อนบอกเพื่อนแนะนำให้กันฟัง จะอย่างไรก็ตาม เวทมนตร์แห่งท่วงทำนองที่พวกเขาร่ายขึ้นมานั้น สะกดเราให้เคลิบเคลิ้มติดอยู่ในภวังค์ไปโดยปริยาย
หลังจากโชว์ในช่วงค่ำวันนั้นจบลง เราได้นั่งล้อมวงคุยกับโฟล์กดูโอ ชื่อว่า Selina and Sirinya คนผมยาวถึงกลางหลังเป็นชาวราชบุรีโดยกำเนิด ชื่อว่า ราม-เอกศักดิ์ ชานาง อีกคนผมยาวประบ่าเป็นเด็กสุพรรณชื่อว่า เอ๊ะ-นที ศรีดอกไม้ สองเหน่อที่โคจรมาเป็นเพื่อนร่วมรุ่นและเพื่อนร่วมวง ในสมัยเรียนอยู่วิทยาลัยนาฏศิลป์ที่สุพรรณบุรี พวกเขาก่อตั้งวงชื่อ The College ในช่วงเริ่มแรกมีแนวทางเป็นดนตรีร็อก และต่อมาต้องยุติลงเนื่องจากสมาชิกแต่ละคนต่างแยกย้ายเข้าเรียนคนละสถาบัน
รามเรียนที่ลาดกระบัง ส่วนนทีเป็นศิษย์ที่ศิลปากร ต่างคนต่างเรียนและทั้งสองยังพยายามฟอร์มวงให้ได้ พ.ศ. 2545 ช่วงก่อนเรียนจบปีสาม ทั้งคู่จึงตัดสินใจทำวงดนตรีแบบมีสมาชิกเพียงสองคน ใช้ชื่อว่า Selina and Sirinya ขึ้นมา โดยนามของวงนั้นก็มาจากชื่อแฟนสาวของสองหนุ่มที่มีอักษรขึ้นต้นด้วยตัว S เหมือนกัน จึงไม่แปลกที่เมื่อได้ยินแต่ชื่อวงครั้งแรก หลายคนอาจจินตนาการว่าวงนี้ต้องมีสมาชิกเป็นผู้หญิง
"ช่วงที่ Pete Doherty (นักร้องนำ The Libertines) เขาออกมาทำอะคูสติกคนเดียว เลยรู้สึกว่าเพลงร็อกมันเล่นคนเดียวก็ได้นะ ประจวบเหมาะที่เราไม่มีมือกลองด้วย ก็เลยเริ่มชอบอะคูสติกตั้งแต่ตอนนั้น" รามพูดถึงแรงบันดาลใจในการทำวง ส่วนเพื่อนอีกคนช่วยเสริมว่า "เราก็หาฟังเพลงโฟล์ก อินดี้โฟล์ก ฟังลึกไปถึงศิลปินเก่าๆ อย่าง Bob Dylan"
Selina and Sirinya เริ่มต้นด้วยเพลงแรกชื่อว่า She ที่เขียนขึ้นโดยราม เพลงที่เกิดช่วงตอนทำทีสิส ซึ่งได้ไอเดียมาจากการเข้าป่า มีเนื้อหาปลายเปิดชวนให้เราตีความได้มากกว่าเรื่องของความรักระหว่างชายหญิง ถัดมาคือ If เพลงที่นทีแต่งจากผลงานของ คาลิล ยิบราน กวีผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งของโลก ทั้งสองเพลงนี้ในช่วงเริ่มต้นยังมีกลิ่นของโฟล์กร็อกเพราะยังมีเครื่องดนตรีให้จังหวะอย่างกลองผสมรวมไม่ทิ้งแนวทางที่ทั้งคู่เคยเป็น
เวลาต่อมาเพลง Our ถือได้ว่าเป็นซิงเกิลชูโรงที่ทำให้ Selina and Sirinya ถูกพูดถึงในวงกว้างมากขึ้น จากนั้นอัลบั้มแรกชื่อเดียวกับชื่อวงจึงเกิดขึ้นราวปี 2546 ในเวลานั้นทั้งสองทำงานอัดเพลงด้วยขั้นตอนง่ายๆ จากต้นทุนที่ไม่มากนัก ด้วยการใช้ไมโครโฟนจากคอมพิวเตอร์ อัดเพลงผ่านโปรแกรม Garage Band และมีรายละเอียดของ Sound Design เช่น การนำถุงพลาสติกมาขยำให้เกิดเสียง หรือมีเสียงคลื่น-ลม เข้ามาสร้างบรรยากาศในเพลง ดังนั้นสิ่งที่เราจะได้ยินในอัลบั้มเต็มชุดแรกนี้จะมีความดิบของวิธีทำงานแบบง่ายๆ แต่แฝงไปด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวของทั้งคู่ เด่นด้วยเนื้อหาเพลงที่ชวนผู้ฟังเข้าไปเป็นตัวละครในนั้น รวมถึงการเรียบเรียงเสียงประสาน ทั้งการเล่นกีตาร์และวิธีการร้องที่ช่วยปรุงรสเพิ่มมิติให้เพลงของพวกเขาน่าฟัง สำหรับนักเลงแผ่นเสียงน่าจะเคยฟังผลงานอัลบั้มแรกของพวกเขาในรูปแบบไวนิลกันแล้วแน่นอน
"ปล่อยเพลง She ลงยูทูบมานานแล้วนะ ตั้งแต่ตอนนั้นถึงตอนนี้ก็สิบห้าปีแล้ว ทำเพลงตอนอายุ 20 ตอนนี้ 36 แล้ว ช่วงแรกๆ ไม่ค่อยมีใครรู้จัก เวลาเล่นก็ไม่มีคนฟัง" รามย้อนความทรงจำให้ฟังถึงช่วงก่อนจะมีคนรู้จักเพลงของพวกเขา
"เราให้เพลงมันทำงานไปเรื่อยๆ โดยไม่คาดหวังอะไรมากมาย ทำอย่างที่ต้องทำ" นทีเพิ่มเติมความตั้งใจในการทำวงดนตรีนี้
ต้นไม้ใหญ่ใช้เวลาในการเติบโตเนิ่นนานฉันใด บทเพลงของ Selina and Sirinya ก็ใช้ระยะเวลาในการเติบโตเฉกเช่นนั้น ทั้งสองปล่อยให้เพลงทำงานด้วยตัวมันเอง และไม่เคยคิดกำหนดกะเกณฑ์คาดหวังเรื่องของความโด่งดังแต่อย่างใด ไร้การโฆษณาตามช่องทางสื่อ ทั้งไม่เคยมีความคิดจะส่งผลงานไปให้ค่ายเพลง ยืนหยัดรักษาความเป็นอิสระ และอยากนำเสนอสิ่งที่เป็นตัวเอง แต่รามนึกขึ้นได้แล้วบอกกับเราว่า "เคยเอาเพลงไปส่งคลื่นวิทยุ วันนั้นไม่มีใครอยู่มีแค่ยาม" "หลังจากนั้นก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น" นทีต่อความ ทั้งคู่มองหน้ากันหัวเราะรื่น
ดังนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกที่กว่าวงดนตรีชื่อ Selina and Sirinya จะยืนต้นสูงสามารถแผ่ร่มเงา ผลิดอก ออกใบ ถูกพูดถึงมากขึ้นและสามารถกลายเป็นต้นแบบให้กับวงอื่นๆ ในยุคสมัยใหม่ได้อย่างวันนี้จำต้องใช้เวลามากพอสมควร
"กว่าจะเป็น เขียนไขและวานิช ได้ก็ฟัง Selina and Sirinya มาตั้งแต่สมัยเรียน ปวช. คือ ถ้าจะเรียกว่า King of Folk ต้องยกให้ Selina and Sirinya เลยนะ ใครจะแต่งเพลงโฟล์ก ต้องผ่านวงนี้มาก่อน ได้มาเล่นร่วมงานเดียวกับวงนี้คือที่สุดของเราแล้ว ถือเป็นครั้งหนึ่งในชีวิตเลย ได้แรงบันดาลใจและเริ่มต้นมาจากเพลงพวกพี่จริง ๆ สุดท้ายก็ได้มาอยู่ในงานของไอดอลเรา"
หนึ่งในสมาชิกของวงสนทนาอย่าง สาโรจน์ ยอดยิ่ง (โจ้) หรือที่รู้จักกันดีในนามของ เขียนไขและวานิช โฟล์กบอยแห่งยุคที่เพิ่งมีรายชื่อเข้าชิงศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยม รายการ คมชัดลึก อวอร์ด ครั้งที่ 15 ประจำปี 2562 พูดความในใจถึงวงต้นแบบของเขาให้ฟัง โจ้เป็นอีกหนึ่งศิลปินที่ได้มาเล่นในงานแรกประจำปี 2562 ของ Selina and Sirinya ชื่องานว่า Gathering in the Glen ที่สวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ในงานครั้งนี้คัดเลือกวงโฟล์กหน้าใหม่น่าสนใจมาเล่นด้วยหลากหลายวง และแน่นอน Selina and Sirinya เป็นแม่เหล็กรวมหลากหลายวงให้เกิดเป็นชุมชนดนตรีโฟล์กเฟสติวัลงานนี้ขึ้นมา
ทิ้งช่วงห่างมาพอสมควร ปี 2561 จึงปล่อยอัลบั้มที่สองชื่อ Still Together มีเพลงเป็นที่รู้จักมากขึ้น เช่น เผลอสุขใจ, อยู่ตรงนี้แต่แสนไกล, ดอกไม้ หรือ ยังอยู่ด้วยกัน เป็นต้น ในปีนั้นพวกเขาจัดงานเปิดอัลบั้มทั้งในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ได้เสียงตอบรับจากแฟนเพลงเป็นอย่างดีชนิดบัตรหมดภายในไม่กี่ชั่วโมง และการเล่นคอนเสิร์ตครั้งนั้นถือเป็นของขวัญต้อนรับรามกลับบ้านอีกด้วย
ย้อนกลับไปสัก 6-7 ปีก่อน วงดนตรีนี้เคยจัดงานครั้งแรกบนดาดฟ้าของสถานที่ที่ชื่อว่า ปราชญ์เปรียว สตูดิโอ และแน่นอนงานในความจุที่นั่งประมาณ 150 คนครั้งนั้น บัตร Sold Out ถือเป็นชัยชนะครั้งแรกของดูโอคู่นี้ ณ ปัจจุบัน เมื่อไหร่ที่แฟนเพลงของ Selina and Sirinya รู้ว่าวงกำลังจะมีเล่น ทันทีที่เปิดให้จองบัตรก็มักจะหมดภายในไม่กี่นาทีแทบทุกงาน
เห็นได้ว่าการปล่อยอัลบั้มของ Selina and Sirinya ค่อนข้างใช้เวลานานพอสมควร ด้วยข้อจำกัดที่ทั้งคู่นั้นต่างแยกไปใช้ชีวิตห่างกันคนละทวีป ระยะเวลากว่า 10 ปีแล้วที่รามเดินทางไปมาระหว่าง อเมริกา-ไทย เพื่ออยู่กับครอบครัว คือภรรยา - เซลิน่า ลูกชายคนโตอายุ 9 ขวบและลูกสาว 4 ขวบ รามมีอาชีพหลักเป็น Gardener หรือคนดูแลด้านการเพาะปลูกพืชกัญชาอยู่ที่อเมริกา และยังคงเล่นดนตรีโดยใช้บทเพลงของวง บรรเลงให้กลุ่มคนไทยไกลบ้านได้ฟัง นอกจากการทำงานเพลงที่มีข้อจำกัดแล้ว แฟนเพลงจึงมีโอกาสชมการแสดงของ Selina and Sirinya ได้ไม่บ่อยนักเช่นกัน
รามเล่าด้วยเสียงฟังชัดว่า "อนาคตตั้งใจอยากกลับบ้าน เป็นแผนของชีวิตที่จะกลับมาอยู่กับธรรมชาติ ทำบ้านดิน มีห้องสตูดิโอไว้ทำเพลงในป่า แล้วก็ให้กลุ่มเพื่อนศิลปินมาพักผ่อน มาทำเพลงกัน"
ส่วนนทีทำโปรเจกต์เดี่ยวของตัวเองได้ราว 5 ปีแล้ว ในนาม Uncle Tree โดยมีไอเดียการตั้งชื่อมาจากความนิยมใน 'สไตล์แบบลุง' ชอบความคลาสสิก ซึ่งคำว่า Tree ในภาษาอังกฤษก็แปลว่า ต้นไม้ ซึ่งสอดคล้องกับชื่อของตนด้วย
"เพราะผมมีเรื่องที่อยากระบาย บางทีมีงานชวนไปเล่นในนาม Selina and Sirinya ผมก็ไม่อยากเล่นเพราะว่าเพื่อนไม่อยู่ เลยทำโปรเจกต์ของตัวเอง ชื่อ Uncle Tree เล่นเพลงของตัวเองผสมกับ Selina and Sirinya นิดหน่อย" ตานี้เป็นคิวของนทีเล่าให้ฟังบ้าง
เมื่อถามถึงวิธีการทำงานเพลงของทั้งคู่ในช่วงเวลาที่ต้องแยกกันอยู่ นทีพักจิบเครื่องดื่มหนึ่งอึกก่อนส่งแก้วให้เพื่อนร่วมวง จากนั้นจึงเล่าถึงวิธีการทำงานจากคนละซีกโลกให้ฟัง "ต้องทำงานกันผ่านอินเทอร์เน็ต คนหนึ่งอัดเสร็จก็โยนไฟล์มา ดูว่าจะใส่อะไรได้บ้าง แล้วก็อัดส่งกลับไป"
"ผมต้องฟังบ่อยๆ ให้รู้ว่าควรเป็นอารมณ์แบบไหน ส่วนหนึ่งคือเราเข้าใจกันอยู่แล้ว ฟังไปพักใหญ่ๆ จนผมร้องได้ แล้วก็เข้าใจอารมณ์ของกันและกัน จากนั้นก็ใส่รายละเอียดเพลง เช่น พวกโซโล่ คอรัส ตามลำดับขั้นตอน" รามเพิ่มเติมในส่วนของวิธีการทำงาน แม้จะฟังดูไม่มีอะไรให้เป็นห่วง แต่การได้อยู่คนละดินแดน ก็เป็นเหตุให้อัลบั้มที่สองของพวกเขาล่าช้าอย่างที่เห็น เขายกตัวอย่าง อยู่ตรงนี้แต่แสนไกล ว่าเป็นเพลงหนึ่งที่ใช้เวลาทำงานนาน กว่าจะถูกรวมลงในอัลบั้มนี้ หรือเพลง อยู่ด้วยกัน ซึ่งเป็นเพลงเอกในอัลบั้มก็เดินทางไกลใช้เวลานานพอควรเลยทีเดียว และข่าวดีสำหรับนักฟังแผ่นเสียงที่ชื่นชอบเพลงของ Selina and Sirinya พวกเขากำลังมีแผ่นกลมโตอัลบั้ม Still Together ให้ได้ฟัง ได้สะสมกันแล้ว
เมื่อถามข่าวคราวถึงอัลบั้มที่สาม นทีชิงตอบเราว่า "รอรามกลับมารอบหน้า สมมติถ้ากลับปลายปีก็จะให้เสร็จปลายปี" รามส่งยิ้มให้หลังเพื่อนพูดจบ เป็นนัยว่าตนก็เห็นด้วยเช่นนั้น และถือเป็นการปิดวงสนทนาของค่ำคืนนั้น
พบกันเพื่อบอกลา
แล้วเราจะกลับมาอีกครั้ง
ให้เธอได้ฟังเรื่องราวที่ผ่านมา
รอยยิ้มและน้ำตา กลับมาพบกันอีกครา
ในงานทัวร์เกือบสุดท้ายของปีนี้ก่อนที่ Selina and Sirinya จะหมดคิวการแสดง คนหนึ่งจะต้องบินกลับอเมริกา ส่วนอีกคนเดินหน้าโปรเจกต์เดี่ยวของตัวเองต่อไป พวกเขาเซอร์ไพรส์แฟนเพลงด้วยการเล่นเพลงใหม่จากอัลบั้มลำดับที่สามให้ฟัง เสียงกีตาร์อะคูสติกสองตัวทำงานประสานกันอย่างรู้ใจ เนื้อหาของเพลงดั่งเป็นการส่งท้ายให้กับช่วงเวลาที่ทั้งคู่ได้อยู่ร่วมกันและถึงวันต้องห่างกันอีกครั้ง รอวันกลับมาพบกันใหม่
5962 VIEWS |
ชื่อแดนซ์ยังคงตามหาว่ามีใครใช้ชื่อนี้ซ้ำกันไหมและหวังจะพบในสักวัน บางครั้งก็จับกีตาร์ บางครั้งก็จับปากกา บางครั้งก็จับกล้อง (แต่ไม่มีครั้งไหนที่จะไม่ไล่จับความฝัน)