คนทำหนังสือชื่อตุ๊กตา พนิดา เอี่ยมศิรินพกุล

    หญิงสาวหน้าตาสดใสชื่อ ตุ๊กตา-พนิดา เอี่ยมศิรินพกุล เป็นคนทำหนังสือ
    บอกกันเท่านี้อาจจะฟังดูไม่น่าตื่นเต้น แต่หากขยายความว่าเธอทำหนังสือมาตั้งแต่เรียนจบใหม่ๆ และมีเส้นทางชีวิตและการงานที่เติบโตมากับหนังสือมาโดยตลอดกว่า 20 ปี จากอาร์ตไดเร็กเตอร์หนังสือบันเทิงสู่บรรณาธิการหนังสือวัยรุ่น สู่การเป็นบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์ และกลายมาเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ที่ทำหนังสือสำหรับแม่และเด็ก 
    บางคนคุ้นๆ กับหน้าตาหรือชื่อของเธอผ่านโฆษณารถยนต์ บทสัมภาษณ์ หรือการออกสื่อและอีเวนต์หลายรายการ บางคนอาจพอรู้ว่าเธอคือคู่ชีวิตของ บอย-ตรัย ภูมิรัตน นักร้องนักแต่งเพลงชื่อดัง และเป็นคุณแม่คนเก่งของลูกสองคนที่น่ารักมากๆ แต่ในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ เราจะสำรวจบทบาทการเป็นคนทำหนังสือของ พนิดา เป็นหลัก ซึ่งเป็นบทบาทที่เธอไม่เคยเปลี่ยน แม้เวลาจะผ่านไป แม้หน้าที่ในชีวิตของเธอจะเปลี่ยนไป และแม้ว่าแวดวงหนังสือเองก็เปลี่ยนไปแล้วไม่น้อย

    นี่คือเรื่องราวของคนที่เติบโตผ่านชีวิตการเป็นคนทำหนังสือ ผ่านยุคเฟื่องฟูของวงการนิตยสาร สู่การปรับตัวไปตามยุคสมัย เป็นเรื่องของหญิงสาวที่ชอบเล่าเรื่องผ่านตัวอักษร ในรูปแบบ 'คนทำหนังสือ' อย่างแท้จริง

คุณเริ่มรู้สึกตัวว่าอยากเป็นคนทำหนังสือเมื่อไหร่?
    ตั้งแต่ช่วงใกล้เรียนจบที่คณะศิลปกรรม ม.กรุงเทพ ค่ะ พอหลังจากที่เราได้เรียนวิชาทำหนังสือ ตอนนั้นมันชื่อว่าวิชา Editorial Design ซึ่งก็เป็นการเรียนเรื่องจัดหน้า ทำกราฟิก อะไรแบบนี้ แล้วเราก็ได้ทำหนังสือของตัวเอง ทำทุกขั้นตอน ได้เขียนนู่นนี่ แต่จริงๆ เขาก็ไม่ได้เน้นว่าต้องมาเขียนอะไร แต่ว่าพอเราคิดได้ทั้งกระบวนการแล้วมันสนุก...สนุกกว่าที่ทำวิชาอื่นๆ ตอนโปรเจกต์จบเราก็เลยเลือกทำเรื่องหนังสือ แล้วมันก็บังเอิญเหมือนมีคนอื่นมาซับพอร์ตความชอบตรงที่หนังสือที่เราทำได้พิมพ์เป็นเล่มจริงๆ ด้วย การที่เป็นเด็กนักศึกษาที่เพิ่งจบแล้วได้มีผลงานพิมพ์จริงก็คือเกินกว่าที่เราคิดไว้เยอะแล้ว
ทำไมหนังสือโปรเจกต์จบของคุณถึงได้พิมพ์เป็นเล่ม?
    คืออาจารย์ที่สอนคืออาจารย์ติ๊ก (สันติ ลอรัชวี) ตอนนั้นเขาเหมือนเริ่มไปรู้จักพี่โหน่ง (วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์) เพราะพี่โหน่งเป็นคนทำหนังสือ A Day แล้วมันก็เข้ากันกับคณะศิลปกรรม ตอนนั้น A Day ก็เพิ่งเริ่มต้นไม่นาน ประมาณเล่มแรกๆ อาจารย์ติ๊กแกก็เหมือนไปรู้จักพี่โหน่ง แล้วแกเป็นคนสอนวิชานี้ ก็คงเอางานนักศึกษาไปให้ดูด้วย แล้วพี่โหน่งก็ชอบ ก็เลยจะพิมพ์ หนังสือเล่มแรกของเราชื่อว่า กรุงเทพฯ อวดดี ก็เลยได้พิมพ์เป็นเล่มจำหน่ายจริงๆ ตอนนั้นพี่โหน่งเขาใช้ชื่อสำนักพิมพ์ว่า Macaroni Book แล้วหลังจากได้พิมพ์เล่มนั้น พอเรียนจบ พี่โหน่งก็เลยชวนเรามาทำงานที่นิตยสาร Hamburger
ชีวิตการเป็นคนทำหนังสือในกอง Hamburger เป็นอย่างไรบ้าง?
    มันไม่เหมือนตอนเรียน คือตอนเรียนเราเป็นเจ้าของโปรเจกต์เองทั้งหมด คือคิด ทำ ทุกอย่าง แต่ว่ามันสนุกตรงที่เราตั้งไอเดีย คอนเซปต์แบบนี้เราก็ลงมือทำเพื่อซับพอร์ตตรงนี้ แต่ในงานจริงๆ ที่พอเรามาทำเป็นพนักงานอยู่ในทีมเนี่ย มันไม่ใช่เราคนเดียวแล้ว เราเป็นเหมือนหนึ่งคนในนั้น ตำแหน่งหนึ่ง หน้าที่หนึ่ง ซึ่งมันไม่ใช่ว่าทั้งหมดที่เราคิดมันจะได้ถูกเอามาทำเหมือนตอนที่เราเป็นเจ้าของโปรเจกต์เอง แต่ว่ามันทำให้เราได้เรียนรู้ชีวิตจริง ได้เรียนรู้การทำงานจริงๆ รู้ขั้นตอนจริงๆ อย่างตอนที่เราเรียน บางอันทำไม่ได้เราก็ตัด จะเอาหรือไม่เอาก็ได้ ทุกอย่างมันยืดหยุ่นไปตามตัวเราหมดเลย หรือว่าบางทีคิดเกินความเป็นจริงที่อยากจะทำ มันก็ทำได้เพราะมันทำเล่มเดียว แล้วมันไม่ได้ต้องขาย ไม่มีอะไรมาวัดว่ามันจะประสบความสำเร็จหรือไม่ประสบความสำเร็จ ไม่มีกฏเกณฑ์ มันคือความสนุกของตอนเรียน ดีไม่ดีก็แค่อาจารย์ชอบ แล้วได้เกรดดีแค่นั้น แต่พอทำงานจริงมันมีเรื่องเรื่องที่เราต้องเรียนรู้อีกเยอะเลย เช่น ปกนี้ขายหรือไม่ขาย ทำแบบนี้ได้หรือไม่ได้ ตัวหนังสือเล็กก็ไม่น่าอ่าน หรือดูสวยแต่อ่านยากก็ถือว่าไม่โอเค จะมีดีเทลให้เราได้เรียนรู้ที่ทำให้มันอยู่ในชีวิตจริงได้ แต่มันก็ยังสนุกอยู่ หมายถึงว่าโดยธรรมชาติเราไม่ได้เป็นคนสุดโต่งว่า 'ไม่ ต้องแบบนี้ มันต้องฟอนต์เล็กมันถึงจะสวย อ่านไม่ออกก็ไม่เป็นไร' (หัวเราะ) ก็คือไม่ได้เป็นคนแบบนั้น ค่อนข้างประนีประนอม หน้าที่เราคือทำอย่างไรที่จะดีด้วย สวยด้วย คนชอบทุกอย่างไปด้วยกันได้แล้วก็ขายได้ด้วย ก็ค่อนข้างเป็นแบบนั้น
Hamburger เป็นนิตยสารรายปักษ์ (ราย 2 สัปดาห์) ซึ่งเป็นงานที่ต่อเนื่องมาก คุณต้องทำงานดึกๆ ดื่นๆ ด้วย อยากรู้ว่าช่วงนั้นมันสนุกหรือมันเหนื่อย?
    มันเหนื่อยมาก ตอนนั้นมันงงๆ ด้วย จำได้ว่าร้องไห้หนักมากเพราะอยากกลับบ้านแล้ว (หัวเราะ) แบบรู้สึกเหนื่อยมาก แต่พอเหมือนมันอยู่ตัวมันก็ผ่านไป มันก็ไม่มีอะไรแล้ว เราก็เข้าใจธรรมชาติมัน มันก็ไม่ได้หนักกว่าตอนเรียน ตอนเรียนมันก็อดหลับอดนอน มันก็เป็นรูปแบบนี้มา คือมันเป็นแค่ครั้งเดียวที่มันเป็นตอนนั้นที่รู้สึกว่าทำไมมันเหนื่อยจังเลยแค่นี้ แต่หลังจากนั้นพอเหมือนเราปรับตัวได้ จากเด็กมาเป็นผู้ใหญ่ มันก็ค่อยๆ ดำเนินต่อไปด้วยวิธีของมัน แต่ว่าเราอยู่ในกลุ่มที่บริษัทมันโอเค รู้สึกว่าการที่ได้เริ่มต้นที่นั่นมันดีมาก เหมือนเวลาที่เขาบอกว่า ถ้าเราอยากให้เด็กเขาเป็นอย่างไร เราควรจะพาเขาไปคลุกคลีกับตรงนั้น เขาก็จะซึมซัม เราคิดว่ามันเป็นแบบนั้น เราก็ได้อยู่กับคนเก่งๆ คนที่มีความสามารถทั้งนั้นเลย มันก็ทำให้เราเรียนรู้วิธีการ คือไม่ได้ใครมานั่งสอนเราหรอกว่าทำแบบนี้สิ ทำแบบนั้นสิ แต่ว่าเราเห็นวิธีการ เรียนรู้ด้วยประสบการณ์ การได้ยินนู่นนี่ มันเข้ามาในตัวเราโดยไม่รู้ตัว
แล้วจากอาร์ตไดฯ ของนิตยสารบันเทิง คุณมาเป็นบรรณาธิการหนังสือ Knock Knock! ได้อย่างไร?
    ตอนนั้นมันเป็นโปรเจกต์หนึ่งที่จะทำร่วมกับพี่บอย (โกสิยพงษ์) กับพี่วินิจ (เลิศรัตนชัย) เป็นคนนำมา พี่โหน่งเขาก็ให้เราตั้งทีม ตอนนั้นเราเป็นอาร์ตไดเร็กเตอร์ที่ Hamburger แล้ว พี่เขาก็ให้มาฟอร์มทีมแล้วให้เราเป็นบรรณาธิการบริหารเล่มใหม่ดู ก็เริ่มฟอร์มทีมคิดงานกัน แต่สุดท้ายไม่ได้ทำ แต่พี่ๆ เขาก็คิดว่าอันที่คิดมาแล้วมันโอเค เขาก็ให้ทำต่อ แต่อันแรกที่เคยคิดก็แทบไม่ได้เอามาใช้เลยเพราะมันคนละเรื่อง แต่มันมีแค่แกนอันเดียวคือว่าเราจะทำนิตยสารวัยรุ่นแค่นั้นเลย ก็เลยเอามาปรับคิดชื่อใหม่ ทำใหม่ ซึ่งอันนี้มันเหมือนตอนทำงานหนังสือ เหมือนตอนเรียนเลย เหมือนเป็นเจ้าของโปรเจกต์ เราคิดแล้วเราอยากให้มันออกมาเป็นอย่างไร เราก็ใส่ทุกอย่างเข้าไปด้วยความคิดเราได้ทั้งหมดเลย แต่เราก็จะมีทีม มีคนมาช่วย ตอนที่ได้ทำ Knock Knock! มันสนุกเหมือนตอนเรียนเลย
Knock Knock! เป็นหนังสือวัยรุ่นที่มีความแปลก คือมันสดใส น่ารัก แต่ก็มีมุมที่มีสาระหนักๆ อยู่บ้าง อย่างเช่นเรื่องสังคมหรือการเมือง มีการไปสัมภาษณ์นักวิชาการด้วยซ้ำ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?
    ใช่ๆ เพราะว่าเราเป็นคนชอบอ่านนิตยสารเพราะแม่อ่าน ที่บ้านมีนิตยสารเยอะมากแบบทุกหัวเลย กุลสตรี, ลลนา, สตรีสาร, ดาราภาพยนตร์ หลากหลายมากเพราะว่าแม่ชอบอ่านนวนิยาย แล้วในหนังสือพวกนี้จะมีนวนิยาย เขาอ่านเรื่องไหนแล้วติด เขาก็จะซื้อแบบต่อเนื่องยาวนานมาก บ้านก็จะมีแต่หนังสือพวกนี้ เราก็อ่านพวกนี้มาตลอด เปิดผ่านๆ อ่านบ้างไม่อ่านบ้าง จนเริ่มมาซื้อนิตยสารเองตอนเริ่มโต ก็ซื้อนิตยสาร เธอกับฉัน, The Boy, Starpics หรืออะไรที่เป็นหนังสือเกี่ยวกับหนังก็จะชอบอ่าน โดยธรรมชาติเราไม่ชอบดู คือไม่ชอบดูทีวี ไม่ชอบดูอะไรเลย แต่ชอบอ่าน จนตอนนี้ก็ยังเป็นอยู่ ถ้าอยู่บ้านก็จะอยู่เงียบๆ ไม่มีเปิดเสียงอะไรเลย จะอ่านหนังสือ ก็เลยเหมือนว่าความเป็นนิตยสารที่เราดูพวกนั้นมันซึมซับมา แล้วมันก็ถ่ายทอดออกมาเป็น Knock Knock! เรารู้สึกว่านิตยสารมันต้องมีเรื่องอ่าน มันจะต้องนำคนอ่าน โดยที่ไม่ได้ยัดเยียด แต่ว่าต้องนำเสนอ ซึ่งมันก็จะเป็นในทุกอย่างที่เราทำ
อยากให้คุณยกตัวอย่าง เรื่องที่ภูมิใจที่ได้พูดถึงออกไปผ่านการทำนิตยสาร เป็นเรื่องอะไรบ้าง?
    ใน Knock Knock! จริงๆ ในทุกเล่มมันก็จะมีธีม มีคอนเสปต์ของมันเนอะ อย่างเล่มที่ทำให้คนรู้จักก็คือ 'ดาวโรงเรียน' เล่มแรกเปิดตัวออกไป แต่ว่าในนั้นมันก็จะสัมภาษณ์มีเด็กที่เป็นดาวในแต่ละโรงเรียน มันทำให้คนรู้จักน้องๆ นะ แต่จริงๆ แล้วในเล่มมันก็จะมีเนื้อหาอื่นๆ อีก เช่นเป็นฮาวทู วิธีการที่เป็นดาวโรงเรียนแล้วต้องรับมือกับการโดนกลั่นแกล้ง (หัวเราะ) มันจะมีเรื่องหลากหลายมาก ซึ่งมีทั้งสาระด้วย ทั้งอ่านเพื่อบันเทิงก็มี เหมือนกับว่าเราอยากทำทุกเรื่องที่เป็นเพื่อนให้กับเด็กวัยรุ่น ฉะนั้น มันจะมีหลายมิติมากในหนังสือเล่มนี้ มีทั้งบิวตี้ ฮาวทู หรือเรื่องการเมืองเราก็ทำ ในช่วงที่เขาเพิ่งให้เด็กอายุ 18 เลือกตั้ง แล้วเราก็เลยคิดว่ามันก็น่าจะมีการให้ความรู้ตรงนี้ แล้วเราก็ทำมันออกมา หรือว่าเรื่องเพศศึกษาก็มี
Knock Knock! ออกมาได้ต่อเนื่องกี่ฉบับ?
    ทำอยู่หลายปีเลย จำไม่ได้ว่ากี่ฉบับ แต่น่าจะสัก 3-4 ปี หรือประมาณ 36 เล่ม ช่วงระหว่างทำก็เริ่มทำพ็อกเก็ตบุ๊กด้วยเพราะตอนนั้นก็มีสำนักพิมพ์ A Book เขาเริ่มแข็งแรงแล้ว ก็เริ่มอยากเขียนหนังสือบ้าง อยากลองทำหนังสือบ้าง ก็เลยทำพ็อกเก็ตบุ๊ก พี่โหน่งก็โอเค ให้ทำ เราก็ทำภายใต้ชื่อว่า Knock Knock! Book เหมือนจะเป็นเป็นอีกไลน์หนึ่ง อารมณ์เหมือนตอนนั้นมันก็จะมีสำนักพิมพ์ใยไหมเป็นเหมือนพ็อกเก็ตบุ๊กสำหรับวัยรุ่น เราก็เริ่มทำอีกแบบบ้าง ตอนที่อยู่ภายใต้ชื่อ Knock Knock! น่าจะมีแค่ซีรีส์ 'กุ๊กกิ๊กไกด์' นี่แหละ พอช่วงนั้นเริ่มทำหนังสือในช่วงที่เริ่มเบื่อๆ พอดี เราก็เลยลองทำสำนักพิมพ์ที่แข็งแรงขึ้น แต่กลุ่มมันโตขึ้นกว่าความเป็นวัยรุ่นแล้ว คือเป็นกลุ่มผู้หญิง กลุ่มที่เราถนัด พูดกับผู้หญิง เนื้อหาทาร์เก็ตเกี่ยวกับผู้หญิงเลย ก็เลยเป็น Polkadot
ตอนทำ 'กุ๊กกิ๊กไกด์' ถือเป็นจุดเปลี่ยนเล็กๆ ของชีวิตคุณและของวงการหนังสือไกด์บุ๊กนะ ตอนนั้นคุณทำได้อย่างไร?
    ก็ไปทำคนเดียวเลย แล้วก็ตอนนั้นหนังสือท่องเที่ยวมันยังไม่เยอะ มันไม่มีแบบนี้เลยที่เป็นเหมือนเขียนเล่าเป็นกึ่งๆ อะไรนะ ที่เมื่อก่อนมันดังๆ เที่ยวไม่ง้อทัวร์ แล้วก็ไปแต่และประเทศแล้วเขาก็จะเขียนทุกเรื่องเป็นเหมือนวิกิพีเดีย อารมณ์นั้นน่ะ เหมือนมีทุกอย่าง แต่เราก็ไม่ได้เป็นแบบนั้น แต่ตอนนั้นตลาดท่องเที่ยวมันก็เริ่มมา แบบมีพี่เอ๋ (นิ้วกลม) พี่พลอย (จริยเวช) เขาก็จะประมาณนี้อยู่แล้ว แต่ไม่ได้มีมากเหมือนทุกวันนี้ แล้วพอเราทำก็จะมีรูปแบบที่เป็นของเรา คือไม่ได้เที่ยวเมนสตรีม ไม่ได้เดินอยู่ในถนนเส้นหลักแต่เราก็ถัดจากถนนเส้นหลักมาซอยหนึ่ง มันก็จะยังอยู่ในกลุ่มพวกนี้ แล้วมันก็ค่อนข้างประสบความสำเร็จ ทุกเล่มที่ออกมันก็จะขึ้นอันดับ 1 ที่ Kinokuniya อยู่ตลอดทุกเล่มนะ รวมถึงมันได้แปลในภาษาจีน ไต้หวัน ทุกปกเลยที่เป็นกุ๊กกิ๊กไกด์จะได้แปลเป็นภาษาจีนที่เป็นไต้หวันอันหนึ่ง ภาษาจีนแผ่นดินใหญ่อันหนึ่ง สองเวอร์ชั่นอะไรอย่างนี้ รวมถึงเล่มอื่นๆ ของ Polkadot ด้วย
จุดเปลี่ยนจริงๆ ของคุณคือการทำ Polkadot ใช่ไหม?
    ใช่ เพราะตอนนั้นมีลูก แล้วส่วนใหญ่ทุกๆ ครั้งที่เปลี่ยนเนี่ย ไม่ใช่เพราะเบื่องานเป็นหลัก แต่เบื่อบางอย่างที่มันแวดล้อมตรงนั้นมากกว่า มันก็เลยทำให้เหมือน เออ เบื่อแล้ว ไม่อยากจะอยู่ แต่ว่าโดยงานไม่เคยเบื่อ ฉะนั้น ทุกครั้งที่เปลี่ยนมันก็จะยังเป็นการทำหนังสืออยู่เหมือนเดิม (หัวเราะเบาๆ) เพราะมันเป็นเรื่องที่เรารัก หลังจากที่ออกจากที่ A Day เราก็ทำสำนักพิมพ์ของตัวเอง เปลี่ยนมาทำหนังสือสำหรับครอบครัวก็คือสำนักพิมพ์ชื่อ Yayee ทำหนังสือ ก ไก่, ABC, หนังสือนิทาน อะไรอย่างนี้ค่ะ
ทำไมถึงทำสำนักพิมพ์ Yayee ในแนวทางแบบนี้?
    เพราะว่าเราก็อยากจะทำหนังสือสวยๆให้ลูก ก็คือเล่มแรกก็คือเรื่อง ก ข ค นี่แหละ ชื่อปกว่า ก เอ๋ย ก ไก่ เพราะว่ามันเหมือนไม่มีหนังสือแนวนี้ที่สวยๆ นะ เวลาเป็น ก-ไก่ ข-ไข่ มันก็จะเป็นรูปที่น่ากลัวๆ (หัวเราะ) มันไม่มีที่สวยๆ หรือน่ารักๆ เลย เราก็เลยคิดว่าเด็กต้องซึมซับสิ่งสวยงามดีๆ เข้าไป มีสีสันหรืออะไรอย่างนี้ ก็เลยทำ แล้วทำกับพี่ป่าน (นิตตา ประภัสภักดี) พี่ป่านวาด แล้วก็ทำเรื่อยมา แต่จะว่าไงดี (หัวเราะ) เหมือนมีเล่มหนึ่งที่เราชอบมากเลยชื่อว่า We Are Family ซึ่งมันจะเหมือนเป็นอัลบั้มรูป ซึ่งมันดีมากสำหรับความคิดเรา คือทุกเล่มมันคิดจากความเป็นจริงมากๆ เพราะว่าเราเลี้ยงลูกเอง เราก็จะเห็นว่า 'อ๋อ การเลี้ยงลูกมันขาดตรงนี้ มันต้องการเรื่องนี้' ก็เลยทำขึ้นมา อย่างเล่ม We Are Family มันเป็นเหมือนกึ่งอัลบั้มที่ใส่รูปครอบครัวเข้าไป แต่ไม่ใช่เฉพาะพ่อแม่นะ คือเป็น Family Tree เลย ใส่รูปปู่ย่าตายายทุกคนที่เราไม่ได้เห็นหน้า ไม่ได้อยู่ด้วยกัน แต่เหมือนกับว่าถ้าเราทำเราก็จะได้เห็น ทุกคนเปิดรูปพอมาเจอมันจะมีการลิงก์ได้โดยอัตโนมัติเพราะว่ามันผ่านหน้า แต่ว่ามันก็ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งเล่มนั้นเราทำเหมือนสอนเด็กเรื่อง Family Tree ด้วย เด็กที่โตหน่อยก็จะรู้ว่าใครเป็นใคร แล้วก็จะมีเล่มอื่นๆ อีกต่อมา ซึ่งถามว่าประสบความสำเร็จไหม สำนักพิมพ์มันก็โอเค แต่ว่าเราก็ไม่ได้ทำจริงจังมาก ด้วยธรรมชาติก็จะเป็นแบบนี้เสมอไม่รู้ทำไม อยากทำ ชอบทำ ถึงตอนขายมันก็จะติดๆ ขัดๆ ตรงนี้เสมอ (หัวเราะ)
    เราทำสำนักพิมพ์ Yayee จริงๆ จังๆ สักช่วง 3 ปีแรกก็มีต่อเนื่องเป็น 10 กว่าปกนะ ก็มีช่วงหลังๆ ที่เริ่มนิ่งไปเพราะมันก็เหมือนมีเรื่องค่าพิมพ์ มีหลายอย่างที่ยากขึ้นก็เลยชะลอไป 
การทำนิตยสารเกี่ยวกับแม่และเด็กที่จัดส่งให้เฉพาะสมาชิกอย่าง Smileplease:) คือมากแก้ปัญหาเรื่องเหล่านี้ด้วยใช่หรือเปล่า?
    ใช่ แล้วพอที่เราเคยทำมันจำนวนพิมพ์มันเยอะมาก แล้วเราก็เติบโตมาในยุคหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กเฟื่องฟู เพราะฉะนั้นเวลาพิมพ์เราจะพิมพ์ถึง 3,000 อะไรอย่างนี้ 3,000–4,000 ไม่งั้นก็จะไปแบกต้นทุนไม่ไหว เป็น 4 สีด้วยอะไรอย่างนี้ ก็ทำให้สต็อกมันเยอะมาก ก็เลยต้องชะลอไป แต่เราก็ยังอยากทำหนังสืออยู่ ก็เว้นช่วงไปนานเหมือนกัน จริงๆ มีหนังสือของ Yayee ที่ทำเสร็จแล้วแต่ยังไม่ได้ออกด้วยก็มี เพราะกลัวว่าทำออกมาแล้วยังไม่เหมาะที่จะขาย ก็เลยมานึกดูว่าทำยังไงที่เราจะตัดขั้นตอน ตัดภาระที่เราจะต้องไปรอขาย ก็เลยมานึกถึงการสมัครสมาชิก เออ ถ้าเราสมัครสมาชิกเนี่ย มันการันตีว่ายังไงเขาก็ได้รับ เราไม่ต้องห่วงว่าจะขายได้ไม่ได้เพราะมันรู้อยู่แล้วว่ามีสมาชิก แล้วก็ลองกำหนดคร่าวๆ ตอนแรกที่ทำ Smileplease:) ก็ไม่ได้คิดว่ามันจะออกมารูปแบบหลากหลายขนาดนี้
    Smileplease:) มันคือหนังสือที่เราทำมาเพื่อให้แม่ได้พัก เพราะคนที่เป็นแม่เนี่ยมีความเครียดและกดดันเยอะ ทั้งกดดันตัวเอง โดนคนอื่นกดดัน สารพัดมาก คำว่า Smileplease:) มันคือ 'แม่ยิ้ม' ความหมายมันตรงตัวเลย มายิ้มกันเถอะแม่ ยิ้มแล้วค่อยไปกดดันกันต่อ แล้วก็มายิ้มกันใหม่
    ทีนี้พอเราทำเล่ม 1 เพื่อแจก เพื่อที่คนเขาจะได้รู้ว่า Smileplease:) คืออะไร พูดเรื่องอะไร มันมีบุคลิกแบบไหน ซึ่งมันคือโมเดลของ สตรีสาร อันนี้คือคิดมาจาก สตรีสาร เลย เพราะว่าโตมากับหนังสือ สตรีสาร แล้วก็ชอบมาก รู้สึกมันเป็นหนังสือที่แม่อ่าน แล้วมันจะมีเซ็กชั่นที่เป็นของเด็กด้วย มันคือแบบเดียวกันเลย แต่ว่า Smileplease:) จะเป็นสีสันแบบในยุคนี้ แล้วพอเราเริ่มทำเล่ม 2 ปุ๊ป มันก็เหมือนมีบางอย่างที่เริ่มคลิก ว่าเออ มันไม่ได้จำเป็นที่ต้องทำเพื่อขาย ฉะนั้น มันทำอะไรก็ได้ที่อยู่ภายใต้ความสนุกแล้วดีทั้งสำหรับคนอ่านและตัวเราเอง ในแง่คนทำเราก็สนุก เล่ม 2 ตอนนั้นก็จะเป็นเรื่อง '3 ชั่วโมงทองของแม่' ก็จะเป็นเรื่องที่แม่ได้พัก ขอสัก 3 ชั่วโมงต่ออาทิตย์อะไรอย่างนี้ ในนั้นมันก็จะมีสิ่งที่คอนเน็กระหว่างแม่กับลูกที่เป็นเหมือนนาฬิกา ให้แม่ตัดเวลาที่แม่จะออกไปพักแล้วเขียนว่าจะกลับมากี่โมง แล้วเอาใบนี้ให้ลูกว่าแม่จะกลับมาตอนเลขนี้ ให้เขารอเทียบเวลา จะเป็มกิมมิกเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้ ซึ่งเราทำแล้วเราก็สนุกมาก เราว่ามันคือความเป็นจริง แล้วมันก็เกิดขึ้นได้ ถ้าจะบอกว่ามันได้สอนให้เรียนรู้มันก็ได้ มันคือการสอนลูกดูเวลาหรือว่ามีเกมมีระบายสีพวกนี้ มีเรื่องให้แม่อ่าน แล้วพอทำไปเราก็เริ่มดูฟีดแบ็ก คนก็ค่อนข้างชอบเพราะเขาจะเซอร์ไพรส์ เฮ้ย มันไม่ได้มาเป็นเล่มนี้ ไซส์นี้รึเปล่า ตอนแรกคนอ่านก็คิดว่าเราจะทำไซส์นี้ทุกเล่ม แต่พอระหว่างทำไปแล้วมันเกิดไอเดียขึ้นมา แล้วเราก็ทำคนเดียว มันเหมือนตอนเรียนเลย เราเป็นเจ้าของโปรเจกต์คนเดียว แต่ว่าก็มีน้อง มีช่วยเลย์เอาต์ ช่วยปรู๊ฟ ช่วยถ่ายรูป เราทำไปมันก็เหมือนฟีดแบ็กมันดี แล้วเราก็ทำงานร่วมกับศิลปินหลายคน ชอบงานใครก็ลองให้เขาเข้ามาช่วยเขียน ช่วยวาด มันก็สนุกขึ้นในแง่คนทำ 
    พอเล่มต่อๆ มาก็จะเป็นเรื่องเสน่ห์ปลายจวักบ้าง เป็นเรื่องอาหาร มีแถมหนังสือให้เด็กไปจดสูตรอาหารของตัวเอง แต่ถ้าเล่มที่พีกๆ หน่อยที่คนชอบเยอะก็จะเป็นเล่มที่เราทำเกี่ยวกับขนมปัง เหมือนทำไปแล้วเราจะรู้แค่ว่าเราจะทำเรื่องอะไร เล่มหน้าจะทำเรื่องอะไร มันก็จะค่อยๆ มีกิมมิก ไอเดียสนุกสนานของเราที่ค่อยๆ ออกมา
คุณทำ Smileplease:) เป็นหนังสือที่ออกถี่แค่ไหน?
    เป็นรายปี มี 6 เล่ม คือ 1 ปี มี 6 เล่ม แต่คนสมัครสมาชิกจะได้ 7 เล่มเพราะมีเล่มที่แถมด้วย พอทำแล้วเราก็มีช่วงปีใหม่ก็ทำปฏิทินแจกประมาณนั้น จนเล่มสุดท้ายที่ทำ ก็คือเป็นเหมือนให้รางวัลแม่ ไม่ต้องรอให้ใครมาให้ แม่ให้รางวัลตัวเองก็ได้ ก็เลยทำเป็นเหมือนได้ถ้วย (หัวเราะ) ครูโต (ม.ล.จิราธร จิรประวัติ) ช่วยวาดให้ เหมือนเป็นรางวัลเกียรติยศที่แม่มอบให้ตัวเอง ก็เป็นรางวัลสาขาต่างๆ แต่ว่าด้วยความที่มันพ่วงความที่มันเป็น สตรีสาร ที่เหมือนลูกก็เล่นได้ด้วยในนี้ มันก็จะมีเวอร์ชั่นที่เป็นแผนที่ให้ลูกให้รางวัลแม่ พวกนี้จะเป็นเหมือน DIY คือตัดออกมาแล้วมันตั้งได้ มาตั้งเป็นสแตนด์ของรางวัล คือมันจะมีกิมมิก ซึ่งก็ได้ฟีดแบ็กดีมากสำหรับทุกคนที่เขาเป็นสมาชิกแล้วเขาได้รับ 
การทำ Smileplease:) มันตอบโจทย์ตัวคุณเองอย่างไรบ้าง?
    เรื่องหนึ่งที่เรารู้สึกเหนื่อยกับการทำหนังสือขาย มันมี GP (Gross Profit) ที่สูงมาก แล้วมันทำให้หนังสือราคาสูง แล้วความจริงเราชอบทำหนังสือเพราะด้วยความที่เรียนจบด้านดีไซน์ มันก็จะอยากทำไอ้นั่นไอ้นี้ไปหมดเลย มันเหมือนไม่ได้อยู่บนโลกความเป็นจริงที่เป็นไปได้ มันก็เลยรู้สึกหนักเหนื่อยเกินไป แต่ตอนนั้นเราก็ไม่ได้คิดว่าถ้าเราไปฝากคนอื่นรับสมัครสมาชิกมันต้องมีเรื่องตรงนี้อีก คือมันเหมือนตัดท่อนนี้ออก เพื่อที่เราจะลดสเกลราคาลงได้ในแบบที่คนโอเค อันนี้รู้สึกว่าจะอยู่ที่ 1,050 บาท สำหรับทั้งหมดนี้ ซึ่งจริงๆ มันก็อยู่ไม่ได้ในแง่การตลาด นั่นคือ มันได้แค่ค่าพิมพ์กับค่าส่ง ต้นทุนที่ทำ แต่ค่าพนักงาน ค่าต้นทุนคนที่มาช่วยเลย์ ช่วยปรู๊ฟเนี่ย มันไม่ได้รวมอยู่ในนี้ หรือคนที่มาถ่ายภาพ เราก็ไม่ได้รวม แต่เราก็จะมีเพจอีกอันหนึ่งที่มาช่วยซับพอร์ตกัน ชอบซับพอร์ตในแง่ว่ามันคือออนไลน์ คืออันนี้ไปขายก็ไม่มีใครเขาเอาด้วย แต่ก็ยังมีคนช่วยก็คือเป็นเพื่อน เป็นลูกค้าที่รักๆ กัน เพราะเราก็ไม่ได้อยากขายโฆษณาในเล่ม (หัวเราะ) เพราะเราไม่อยากให้ใครมาแตะต้องมันมาก เพราะฉะนั้น มันก็เลยมีเพจเพื่อมาซับพอร์ตตรงนี้ ส่วนใหญ่เขาซื้อปกหลัง หลังๆ บางทีขี้เกียจขายก็เออ ช่างมัน แล้วเราก็ไปให้สปอนเซอร์ได้โฆษณาในออนไลน์ เดี๋ยวนี้หน้าโฆษณาไม่มีใครเขาเอาแล้ว เราก็ไปขายไว้ในออนไลน์ ไปทำคอนเทนท์อะไรออนไลน์ มันก็ดูเป็นไปได้ในความเป็นจริงมากกว่า เพราะฉะนั้น เพจก็เลยเหมือนตัวช่วยหาเงิน อันนี้เราก็เลยเลิกคิดไปว่ามันไม่คุ้มหรืออะไร สำหรับเรา การได้ทำคือคุ้มที่สุดแล้ว แต่ว่าในโลกความเป็นจริงไม่ควรคิดแบบนี้ มันก็จะเหมือนเราไม่ได้อยู่บนความเป็นจริง ซึ่งมันไม่ควร (หัวเราะ) เหมือนกับเป็นไปไม่ได้ คือถ้าเราจะให้มันอยู่ได้ด้วยราคา 1,050 บาท มันทำขายจริงไม่ได้ ฉะนั้น มันอาจจะต้องเป็นเล่มละ 300 บาท แต่ว่าพอมันเป็นเล่มละ 300 บาท คนที่รับเองเขาก็คาดหวังมากขึ้น ว่าโอ้โห นี่เหรอที่ฉันสมัครสมาชิกไป มันไม่ใช่ มันก็จะมีหลายอย่างที่ต้องคิดไปอีก ซึ่งเราก็จะลดราคาลง พอใจแล้วที่จะได้รายได้โอเคแค่นี้ เขาก็รู้สึกโอเค ก็วิน-วินทั้งคู่ เราก็โอเคที่ได้ทำ เพราะสำหรับเรา ได้ทำพอแล้ว
    ตอนนี้ครบเล่มที่ตั้งใจไว้แล้ว เราก็จะปิดโปรเจกต์ คือเราพิมพ์ฉบับละ 500 เล่ม แต่ก็ยังเหลือหนังสือในสต๊อกอีกนิดหน่อย เดี๋ยวก็น่าจะหมดแหละ ต่อจากนี้เราก็จะไปช่วยพี่บอยทำโปรเจกต์ของเขาต่อ
จากวันที่คุณเริ่มเรียนจบ เริ่มทำงานมาจนวันนี้ คุณจำกัดความตัวเองได้เป็น 'คนทำหนังสือ' ใช่ไหม?
    ใช่ เป็นคนทำหนังสือ แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าต้องเป็นหนังสือเท่านั้นไม่เอาออนไลน์เลย ก็ไม่ขนาดนั้น คือเจริงๆ เราชอบทำเนื้อหามากกว่า แต่ว่าการที่ทำออกมาเป็นเล่ม จับต้องได้ มันเป็นเหมือนความสนุก เป็นความชอบส่วนตัว เราก็คิดว่ามันก็ยังต้องมีคนทำ ถ้ามันไม่มีคนทำมันก็จะหายไป ฉะนั้น เราก็จะยังอยู่ในกลุ่มคนที่ทำมันอยู่ตลอดไปนี่แหละ เพื่อให้มันยังมีอยู่ตลอดไป
Favorite Something
  •   Full House
  •   ไม่มีสิ่งไหน จากอัลบั้ม Boy-Kor
  •   ชินจัง จอมแก่น
  •   Nathalie Lete

วิภว์ บูรพาเดชะ

ผู้ก่อตั้งนิตยสาร happening, บรรณาธิการบริหารนิตยสาร happening, กรรมการบริหารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (bacc), นักเขียน, นักแต่งเพลง, นักฟังเพลง และนักอ่านตัวยง

วรรณวนัช บูรพาเดชะ

ที่ปรึกษาทีม happening shop, เจ้าของเพจเฟซบุ๊กและหนังสือ 'ญี่ปุ่นอุ่นอุ่น', นักเขียน ช่างภาพโฟโต้บุ๊ก 'Nagasaki Light' และไกด์บุ๊ก 'Kagawa Memories' นอกจากภาพถ่ายและงานเขียน สิ่งที่เธอสนใจเป็นพิเศษคือการนั่งสมาธิและการโปรยมุขไม่ขำ