Fullstop: Pursuing the Passion

    Full stop เป็นเครื่องหมายทำหน้าที่จบประโยคในภาษาอังกฤษ 

    ส่วนฟูลสต๊อป (Fullstop) คือสำนักพิมพ์ที่มีผลงานหนังสือภาพ หนังสือรวมเรื่องสั้น นิยายภาพ ไกด์บุ๊ก และสินค้าหมวดเครื่องเขียน ผลิตออกมาให้ติดตามกันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปีแล้ว ฟูลสต๊อปเริ่มเข้ามาแนะนำตัวให้ผู้อ่านทำความรู้จักครั้งแรกในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติพ.ศ. 2544 โดยครั้งนั้นมีเพียงหนังสือภาพ Keep Barking ปกเดียวมาจำหน่ายในนามสำนักพิมพ์ การจัดหนังสือที่บูทร่วมกับการเปิดเสียงสุนัขเห่าสร้างบรรยากาศไปด้วย ทำให้หนังสือเล่มนี้ได้รับความสนใจจากผู้มาเดินเลือกหนังสือในงานไม่น้อย หลังจากนั้นไม่ว่าจะเป็นงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติหรือมหกรรมหนังสือแห่งชาติครั้งไหน ผู้อ่านจะได้พบกับสำนักพิมพ์ฟูลสต๊อปที่มาร่วมเปิดบูทออกงานด้วยทุกครั้ง พร้อมกับผลงานหนังสือปกใหม่ที่มีความหลากหลายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

    สำหรับนักอ่าน ฟูลสต๊อปเป็นสำนักพิมพ์ที่มีบุคลิกเด่นชัด ทั้งรูปเล่มหนังสือที่มีขนาดกะทัดรัด การออกแบบรูปเล่ม เนื้อกระดาษ และการเข้าเล่มที่สวยงาม สะท้อนความตั้งใจในการส่งต่อผลงานและสื่อสารกับผู้อ่านอย่างพิถีพิถัน จนนักอ่านหลายคนหลงใหลและกลายเป็นแฟนประจำของสำนักพิมพ์ไปแล้ว
    คิด-สมคิด เปี่ยมปิยชาติ ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ฟูลสต๊อป นั่งอยู่ที่บูทในงานหนังสือเล็กๆ ซึ่งสำนักพิมพ์เล็กๆ 4 แห่ง รวมตัวกันจัดขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ให้คนรักหนังสือเดินเลือกหนังสือที่ชื่นชอบในบรรยากาศอบอุ่นเป็นกันเอง เราจึงขอเวลานั่งคุยกับเขา ถึงจุดเริ่มต้นของฟูลสต๊อปและแนวคิดการทำงานที่ทำให้สำนักพิมพ์สามารถยืนหยัดอยู่ในวงการหนังสือได้อย่างทุกวันนี้ 
Fullstop เกิดขึ้นในฤดูร้อน
    เมื่อเราถามถึงจุดเริ่มต้นของฟูลสต๊อป สมคิดจึงนึกย้อนไปถึงการค้นพบตัวเองเสียก่อน เนื่องจากเดิมทีเขาทำงานเป็นสถาปนิกได้ประมาณ 3 ปี แล้วออกมาเปิดสตูดิโอถ่ายภาพทางสถาปัตยกรรม ซึ่งเมื่อถ่ายภาพได้ระยะหนึ่งเขาจึงรู้สึกว่า "ถ้าจะให้งานเจ๋งจริง เราต้องวิ่งไปถ่ายงานมาสเตอร์อาร์คิเท็กเจอร์เจ๋งๆ" จนเขามีโอกาสได้ตระเวนไปถ่ายภาพที่ยุโรปประมาณ 3 เดือน แล้วค้นพบว่าความต้องการที่แท้จริงคืออยากจ้างตัวเองถ่ายภาพ นั่นหมายถึงเขาต้องเป็นเจ้าของอะไรสักอย่าง จึงร่วมเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งนิตยสาร Summer รับบทบาทบรรณาธิการฝ่ายภาพ ควบคู่กับการทำสตูดิโอถ่ายภาพไปด้วย
    "ตอนทำนิตยสารก็มันนะ ได้ทำตามที่เราคิดเลย เพราะเราตั้งเองเราก็จ้างตัวเองถ่ายรูปแล้วก็ทำหน้าที่ดูแลภาพทั้งหมด อยากถ่ายแฟชั่นก็ถ่ายเอง ได้ถ่ายตามอำเภอใจของเรา ดูคอลัมน์ Photo Essay ด้วย แต่พอเริ่มทำนิตยสารจริงๆ ก็ค้นพบว่าสิ่งที่เราชอบไม่ใช่นิตยสาร เพราะพอทำนิตยสารจริงต้องมีองค์ประกอบที่ทำให้ธีมเล่มไม่แข็งแรงตามที่เราคิด แล้วเริ่มตั้งคำถามว่าสิ่งที่เราต้องการจะทำจริงๆ คืออะไร" แล้วคำตอบของเขาก็คือหนังสือ
    ตอนนั้น Summer เริ่มนำคอนเทนต์จากการทำนิตยสารมาทำหนังสือท่องเที่ยวในนามสำนักพิมพ์ฤดูร้อนบ้างแล้ว เขาจึงพบว่าการทำหนังสือสามารถออกแบบด้วยตัวเองได้ตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่เหมือนนิตยสารที่ต้องมีโฆษณามาสนับสนุน จึงเริ่มนำวัตถุดิบภาพถ่ายสุนัขที่ถ่ายเก็บไว้ตั้งแต่ตอนทำนิตยสารธีมปารีสมารวมเป็นหนังสือภาพเล่มแรกที่ชื่อว่า Keep Barking "เป็นภาพถ่ายหมากว่า 200 ชีวิตระหว่างทำนิตยสารน่ะ จริงๆ Photo Essay มันใช้ประมาณ 6 หน้าเอง แต่เราไปถ่ายมา 200 กว่าตัวเพื่อคัดเอาแค่ 6 ภาพ ก็เลยคิดว่าน่าจะทำหนังสือสักเล่มหนึ่ง ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าเราจะขายได้หรือไม่ได้ แค่อยากทำ และรู้สึกว่าเฮ้ย เข้าทางเราแล้ว ก็เลยทำเล่ม Keep Barking ขึ้นมา แล้วไปออกงานสัปดาห์หนังสือในบูทมีหนังสือปกเดียว ให้เพื่อนเปิดซาวน์หมาเห่า ตอนนั้นมันฟลุ๊กไง ขายได้เว้ย ขายดีด้วย พิมพ์มาประมาณ 7,000 เล่ม" สมคิดเล่าสนุก
    เมื่อรู้สึกว่าการทำหนังสือโฟโต้บุ๊กตอบโจทย์ตัวเขา ทั้งการนำภาพถ่ายจากการเดินทางมาออกแบบรูปเล่ม ความสนุกที่มีต่อพื้นผิวและพื้นที่บนกระดาษ เนื้อหามีความชัดเจนตามที่ต้องการ และระยะเวลาในการทำหนังสือไม่มีกำหนดตายตัวเหมือนการทำนิตยสาร เขาจึงคิดว่าหนังสือน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่จะได้ทำสิ่งที่ต้องการ จึงเริ่มคุยกับทีมที่ทำนิตยสารว่าจะปรับมาทำหนังสือ ยุติการทำนิตยสาร Summer และปิดสตูดิโอถ่ายภาพลงในเวลาเดียวกัน
    สำนักพิมพ์ฟูลสต๊อปจึงถือกำเนิดขึ้น โดยมีสมคิดเป็นบรรณาธิการอำนวยการ นุช-อรนุช เปี่ยมปิยชาติ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ และ ปลา-พักตร์วิภา เรืองพรสุวรรณ ผู้จัดการสำนักพิมพ์ เป็นทีมงานกลุ่มเล็กๆ ที่อยู่ด้วยกันมาตั้งแต่ต้น ส่วนชื่อของสำนักพิมพ์ฟูลสต๊อป เขาบอกว่าไม่ได้มีที่มาอะไร แต่เกิดจากการออกแบบโลโก้มาก่อนแล้วสวยดี "แต่มันก็เป็นส่วนหนึ่งของการเขียนหนังสือน่ะ" เขาปิดท้ายว่า ฟูลสต๊อปเป็นส่วนประกอบหนึ่งของการเขียนนั่นเอง
ประโยคต่อมาของ Fullstop
    หลังจากทำหนังสือ Keep Barking ไม่นานเขาเริ่มทำหนังสือลำดับที่ 2 โดยการนำภาพที่เคยถ่ายพื้นในสถานที่และบรรยากาศที่แตกต่างกันไว้ แล้วเชิญนักเขียนและคนในแวดวงต่างๆ เช่น ทินกร หุตางกูร, วินทร์ เลียววาริน, ประธาน ธีระธาดา, ดวงฤทธิ์ บุนนาค เป็นต้น มาเขียนเรื่องจากภาพของเขา ออกมาเป็นผลงานหนังสือ Walking Stories เรื่องพื้นๆ แล้วยังนำวัตถุดิบข้อมูลและภาพถ่ายสมัยทำนิตยสารที่เคยทำเก็บไว้ มาขยายเป็นหนังสือภาพและไกด์บุ๊ก เช่น Woman Traveller ผู้หญิงเที่ยว, สวรรค์ชั้นประหยัด, เมดอินไชน่า ที่มีคอนเสปต์หลากหลายให้อ่านอย่างเต็มอิ่มออกมาอีกหลายเล่ม 
    ช่วงต้นของการทำสำนักพิมพ์ฟูลสต๊อป สมคิดนำหนังสือของสำนักพิมพ์ไปออกบูทในงานสัปดาห์หนังสือเช่นเคย วันหนึ่งประธานของแฟรงเฟิร์ตบุ๊กแฟร์ (Frankfurt Book Fair) แวะมาที่บูทและถามว่าสนใจนำหนังสือไปโชว์ในงานไหม เขาจะให้ทุนไป ก่อนที่จะถามต่อว่าฟูลสต๊อฟพิมพ์หนังสือปกหนึ่งครั้งละจำนวนเท่าไร "ตอนนั้นเราบอกว่า 6,000–7,000 เล่ม เขาตกใจนะ เขาบอกว่า 'รู้หรือเปล่าที่เยอรมันพิมพ์แค่ 1,000–2,000 เล่มเอง' เราก็อ้าว จริงเหรอ ทำไมประเทศเราดูเจริญจัง" เขาหัวเราะ "เพราะตอนที่เราไปต่างประเทศก็นึกอิจฉาเขาว่าเขาได้ทำหนังสือเท่ๆ บ้านเราคงยาก ทั้งรสนิยมและราคา ปรากฏว่าหนังสืออาร์ตที่นู่นพิมพ์ประมาณ 2,000 เล่ม นั่นเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เราเริ่มรู้สึกว่ามันเป็นไปได้"
    แต่การตัดสินใจหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นอีกจุดเปลี่ยนของสำนักพิมพ์เกิดขึ้นในอีก 10 ปีต่อมา คิดนำภาพพื้นชุดเดิมจากเล่ม Walking Stories จัดส่งไปให้นักวาดหลายคน ได้แก่ ต้องการ, องอาจ ชัยชาญชีพ, สุทธิชาติ ศราภัยวานิช, ทรงศีล ทิวสมบุญ, The Duang, ทรงวิทย์ สี่กิติกุล และ Summer ลองตีความในแบบฉบับของตัวเอง แล้ววาดการ์ตูนเพื่อนำมารวมเล่มเป็น Walking Story II ซึ่งหนังสือเล่มนี้กลายเป็นสีสันใหม่ๆ ที่สร้างความประหลาดใจให้กับตัวเขาเองด้วยเหมือนกัน "เราอยากให้มีหนังสือภาพ ตอนแรกสมัยทำนิตยสารเคยเอาภาพวาดมาทำ Photo Essay บ้างแล้ว ก็เลยเอาภาพถ่ายชุดเดียวกันในเล่ม Walking Stories มา แล้วใช้แผนเดิมเลย ให้นักเขียนการ์ตูนที่มีชื่อเสียงเมื่อยุค 10 ปีที่แล้วลองตีความจากภาพที่เราส่งไป แต่ละคนเขางัดทีเด็ดออกมาเขียนกันหมดเลย แล้วปรากฏว่าขายดีกว่าหนังสือปกติ"

    เขาเล่าถึงปรากฏการณ์ของหนังสือภาพที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นในการทำหนังสือการ์ตูน นิยายภาพ และหนังสือภาพวาดของฟูลสต๊อปว่า "อย่างสมัยก่อนเวลาขายในงานหนังสือนะ หนังสือใหม่ปกหนึ่งขายได้สัก 200-300 เล่มก็ดีใจแล้ว แต่ Walking Stories II เตรียมมา 400 เล่ม 5 วันหมด ในยุคนั้นนะ เราก็ เฮ้ย! เริ่มเห็นว่ามีอนาคตแล้ว"

จุดยืนด้านการออกแบบของ Fullstop ที่นำไปสู่การแก้ปัญหา
    อีกสิ่งที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของฟูลสต๊อปคือ การออกแบบรูปเล่มสวยงาม ขนาดหนังสือที่ต่างจากพ็อกเก็ตบุ๊กทั่วไป หนังสือเล่มแรกๆ จะมีการเย็บกี่แบบโชว์สัน เจาะหนังสือเป็นรูตั้งแต่หน้าปกทะลุไปจนถึงปกหลัง ไม่กลัวที่จะพิมพ์หนังสือปกแข็ง มีการเลือกกระดาษเนื้อในที่ส่งเสริมความสวยงามของภาพวาด ไปจนถึงปกหุ้มผ้าที่กระทั่งนักอ่านเองก็ยังสงสัยว่ากล้าทำขึ้นมาได้อย่างไร 
    คิดพูดถึงการออกแบบรูปเล่มของหนังสือฟูลสต๊อปว่า "เป็นความชอบมากกว่า อย่างสันหนังสือแบบนี้ที่ทำขึ้นมาตอนแรกเพราะว่าเวลาอ่านหนังสือ เราจะรู้สึกรำคาญที่มันไม่สามารถกางหน้าคู่ออกมาได้ แล้วเวลาเย็บกาวจะหลุดออกมาเป็นแผ่นๆ เลยเย็บกี่โชว์สันแบบนี้มันจะกางออกได้เต็มหน้าไง แล้วผมชอบดีไซน์ ผมต้องการให้ขนาดหนังสือมันไม่มีข้อจำกัด แต่อีกเรื่องหนึ่งคือ เมื่อไม่มีข้อจำกัดในงานดีไซน์แล้ว เราจะแก้ปัญหามันยังไง"
    เขาเล่าให้ฟังว่าเวลาสำนักพิมพ์ทำหนังสือ ขนาดหนังสือมาจากการคำนวณจากการตัดขนาดกระดาษที่ใช้พิมพ์ให้พอดี ดังนั้นเมื่อเขาคิดที่จะทำหนังสือในขนาดที่ตัวเองต้องการ ก็ต้องคิดว่าจะสามารถออกแบบอะไรเพิ่มขึ้นมาได้อีก เพื่อใช้พื้นที่ของกระดาษที่เหลืออยู่ให้คุ้มค่า จึงเกิดเป็นการแปรรูปวัตถุดิบที่มีเป็นสินค้าเครื่องเขียนรูปแบบต่างๆ เช่น สมุด ที่จัดส่งไปจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำหลายแห่ง
    การแก้ปัญหาเรื่องกระดาษที่ฟูลสต๊อปตั้งใจใช้ให้คุ้มค่านี้ กลายเป็นสิ่งที่มาช่วยหล่อเลี้ยงรายได้ของสำนักพิมพ์ได้อีกทาง "อย่างที่บอกว่าช่วงแรกผมใช้การแก้ปัญหาเรื่องกระดาษเวลาทำหนังสือ โดยใช้วิธีนำกระดาษเหลือมาทำพวกสมุด แล้วรายได้จริงๆ มันเกิดจากสินค้าตรงนั้นเป็นส่วนหนึ่ง เราเลยไม่กังวลเรื่องการขายหนังสือมาก ซึ่งเราทำหนังสือช้า เลยทำได้แค่ปีละประมาณ 5 ปกอยู่แล้ว ทีนี้ช่วงปี 2553 คนอ่านเริ่มรู้จักหรือหนังสือเราอาจจะโดนมากขึ้น หนังสือขายดี ถือว่าพีกมาก และรายได้จากสมุดก็ยังเป็นตัวช่วยอยู่ แต่พอมาปี 2558 ยอดหนังสือเริ่มตกลงหมดเลย ผมว่าเพราะโลกอินเตอร์เน็ตสมบูรณ์มากขึ้นแล้ว คนซื้อหนังสืออาจจะไม่มีเงินในกระเป๋ามาใช้ในการหนังสือมากเหมือนเมื่อก่อน เพราะต้องเสียงบประมาณไปกับการสื่อสาร ค่าอินเตอร์เน็ตมากขึ้น ก็เริ่มปรับวิธีใหม่"
    สมคิดบอกว่าช่วงแรกของการทำสำนักพิมพ์ เขาจะพิมพ์หนังสือจำนวนมากไว้ก่อน เพื่อให้ต้นทุนต่อเล่มราคาไม่สูง แล้วเอาหนังสือมาเก็บไว้ขายในระยะยาวได้ แต่หลังจากบรรยากาศของการขายหนังสือเริ่มซบเซา และสินค้าหมวดเครื่องเขียนที่มีคู่แข่งมากขึ้น เขาก็ต้องกลับมาทบทวนเรื่องยอดการพิมพ์และระบบการทำงานอีกครั้ง เพื่อให้สำนักพิมพ์และนักเขียนสามารถทำงานร่วมกันและอยู่รอดไปด้วยกันได้อย่างมีความสุข
    "โจทย์แรกคือ เราจะทำหนังสือเล่มหนึ่งให้ขายได้หมด โดยปรับลดจำนวนพิมพ์ต่อเล่มลง สมมตินะ เป็นไปได้ไหมที่ปกตินักเขียนทำหนังสือปีละ 1 เล่ม จะปรับมาทำปีละ 2 เล่ม คือ 2 ปก เพื่อให้รายได้กลับเข้ามา 2 เท่า เพราะนักเขียนเริ่มมีแฟนแล้ว แต่พอทำจริงๆ ก็ยากเหมือนกัน เพราะแต่ละเล่มใช้เวลานาน แล้วนักเขียนเหนื่อย หลังๆ เลยคิดว่าเมื่อทำหนังสือแล้ว สำนักพิมพ์จะช่วยแปรรูปวัตถุดิบจากหนังสือมาเป็นผลิตภัณฑ์ เลยเกิดสติกเกอร์ เข็มกลัด โปสการ์ด ขึ้นมาเต็มเลย การทำแบบนี้ช่วยให้มีตัวเลขเข้ามาในระบบ โดยที่นักเขียนทำงานเท่าเดิม แล้วลิขสิทธิ์กลับไปหานักเขียน กลับมาหาสำนักพิมพ์ด้วย"
    สมคิดพูดถึงการทำงานของสำนักพิมพ์ร่วมกับนักเขียนว่าเหมือนการช่วยกันปลูกข้าว "ตอนนี้อยู่ในช่วงที่ตกผลึกแล้ว คือเวลาทำหนังสือเหมือนเราปลูกข้าว แล้วเราปลูกถั่วงอกด้วย ช่วยเลี้ยงปลาด้วย ไอ้การปลูกถั่วงอกกับเลี้ยงปลานี่แหละ คือรายได้ที่ทำให้เราสามารถปลูกข้าวได้อยู่" เพราะระหว่างที่ข้าวหอมมะลิยังไม่ออกรวงให้เก็บเกี่ยวไปขายได้ สำนักพิมพ์ยังสามารถเก็บถั่วงอกที่ขึ้นเร็วหรือจับปลาที่โตแล้วไปขาย มาเป็นรายได้สำหรับการปลูกข้าวคุณภาพต่อไป "เพราะฉะนั้นทำหนังสือให้มันดีไปเลย เพราะเราจะไม่พึ่งรายได้จากการขายข้าวแล้ว เรามีรายได้จากการขายถั่วงอกกับเลี้ยงปลา เราจะไม่ยอมปลูกข้าวสายพันธุ์คุณภาพที่ต่ำหน่อย เพื่อให้ต้นทุนการผลิตต่ำ มันทำไม่ได้แล้วไง ถ้าหนังสือทำถูกไม่ได้แล้วก็ทำให้มันเท่ไปเลยแล้วกัน ทำให้มันดี ทำให้สุดยอดไปเลย แล้วไม่ได้หวังกำไรจากหนังสือ เพราะเราไม่มีข้อกำหนดในการทำแล้ว เพราะตอนแรกเรากลัวว่าต้นทุนหนังสือมันจะแพง ตอนนี้เราไม่ได้เอาตัวหนังสือมากำหนดว่าจะต้องมีราคายังไง ก็สามารถใช้กระดาษดีไปเลย โดยที่เราเอาสินค้าอื่นๆ มาช่วยเรื่องรายได้"
    ซึ่งวิธีการที่ให้นักเขียนค่อยๆ ทำงาน แล้วส่งวัตถุดิบบางส่วนมาให้สำนักพิมพ์แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นเล็กชิ้นน้อย กลายเป็นแนวทางที่สำนักพิมพ์ใช้ร่วมกับนักเขียนอยู่ทุกวันนี้
การเดินทางของ Fullstop
    ฟูลสต๊อปเป็นสำนักพิมพ์ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ทั้งเรื่องการออกแบบหนังสือ แนวทางการผลิต และการเดินทางไปออกบูทตามงานหนังสือต่างๆ เพื่อพบปะกับนักอ่านโดยตรง เพราะปัจจุบันนอกจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติหรือมหกรรมหนังสือแห่งชาติที่ถือเป็นงานใหญ่แล้ว ยังมีงาน Lit Fest, ABC Book Fest, เชียงใหม่บุ๊คแฟร์, เทศกาลหนังสือขอนแก่น, มหกรรมหนังสือภาคใต้ และอีกหลายงานเทศกาลหนังสือที่ฟูลสต๊อปเดินทางไปร่วมงานด้วยแทบทุกครั้ง 
    สำหรับคิดมองว่าเป็นการนำเสนอหนังสือและผลิตภัณฑ์ของฟูลสต๊อปให้คนรู้จัก และถือเป็นการสร้างความผูกพันกับนักอ่านในระยะยาวด้วย "พอเดินทางไปต่างจังหวัดเยอะๆ เราจะรู้ว่าคนชื่นชมหนังสือเยอะแต่ไม่ค่อยมีแหล่งซื้อหนังสือ ซึ่งหากครั้งแรกที่เราไปเขายังไม่มีกำลังซื้อ แต่พอเรานำเสนอไปเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไปก็ได้ผลจริงๆ นักอ่านหลายคนพอเขาเริ่มทำงาน เขากลับมาซื้อ อย่างที่เชียงใหม่มีน้องมาบอกว่า หนูชอบหนังสือของพี่มากเลย แต่ไม่มีเงินซื้อ 4 ปีผ่านไป เรียนจบแล้ว เขากลับมาซื้อทุกเล่ม"
    ซึ่งการที่ฟลูสต๊อปมีสินค้าชิ้นเล็กราคาย่อมเยา ทำให้คนที่ชื่นชอบผลงานของนักเขียนสามารถอุดหนุนได้ โดยที่บูทมีหนังสือสวยๆ มาให้พวกเขาชื่นชมอยู่เสมอด้วย "เวลาเราไปต่างจังหวัดเหมือนเราเป็นมิวเซียมช็อป เราเอาหนังสือไปโชว์ ถ้าไม่มีแรงไม่ต้องซื้อ แต่ซื้อสติกเกอร์ 10-20 บาทไปเป็นของขวัญได้ เราทำหนังสือเหมือนเป็นผลงานให้คนเข้าชม แล้วเขาแวะซื้อสติกเกอร์กลับบ้านเป็นค่าเข้าชม ซึ่งเขาสามารถมีงานของหยอย (ศศิ วีระเศรษฐกุล) ในราคานี้ได้ พอมีคนซื้อผลิตภัณฑ์ก็ทำให้สำนักพิมพ์ทำหนังสือต่อได้ พี่เชื่อว่าถ้าเราทำดีสุดๆ ปลูกข้าวดีที่สุด เดี๋ยวคนก็กลับมาซื้อข้าวกินอยู่ดี แล้วมันก็ได้ผลจริงๆ"
    การทำงานด้วยความเชื่อของสมคิดว่า โดยพื้นฐานของหนังสือต้องมีการออกแบบที่สวยงาม มีเนื้อหาและภาพประกอบที่ดีที่สุด คุณภาพกระดาษและงานพิมพ์ดีที่สุด ทำให้เขาสามารถทำงานที่รักได้อย่างมีความสุข 
    ขณะเดียวกันเมื่อมองกลับมาสู่โลกแห่งความจริงในการทำธุรกิจของสำนักพิมพ์ให้อยู่รอดแล้ว วิธีการสร้างผลิตภัณฑ์และการแปรรูปสินค้าจากวัตถุดิบจากนักเขียน และการเดินทางออกไปสานสัมพันธ์กับนักอ่าน คือแนวทางที่ลงตัวสำหรับฟูลสต๊อป ซึ่งจะทำให้สำนักพิมพ์สามารถต่อยอดให้เกิดการพัฒนาผลงานของนักเขียนใหม่ๆ และสร้างความยั่งยืนในการทำหนังสือทั้งต่อนักเขียนและสำนักพิมพ์ได้จริงๆ
    ฟูลสต๊อป ในความหมายของสมคิดและทีมงานสำนักพิมพ์แห่งนี้ จึงไม่ได้หมายถึงการหยุดนิ่งแน่นอน

ดุสิตา อิ่มอารมณ์

นักเขียน ผู้ใช้พื้นที่ในเวลาว่างไปกับการอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ขี่จักรยาน อ่านการ์ตูน เล่นเลโก้ ฯลฯ โดยเชื่อเต็มหัวใจว่าเวลาที่หมดไปกับความรื่นเริงนี้สามารถเติมเต็มชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วรรณวนัช บูรพาเดชะ

ที่ปรึกษาทีม happening shop, เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก 'ญี่ปุ่นอุ่นอุ่น', นักเขียน ช่างภาพโฟโต้บุ๊ก 'Nagasaki Light' และไกด์บุ๊ก 'Kagawa Memories' นอกจากภาพถ่ายและงานเขียน สิ่งที่เธอสนใจเป็นพิเศษคือการนั่งสมาธิและการโปรยมุขไม่ขำ