คำเตือน* ภายในหนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้า และการทำอัตวินิบาตกรรม
หากมีโอกาสในการเลือกใช้ชีวิตที่เป็นไปได้ไม่รู้จบ คุณจะเลือกให้มันเป็นแบบไหน?
The Midnight Library (มหัศจรรย์ห้องสมุดเที่ยงคืน) เป็นหนังสือที่ได้รางวัลชนะเลิศจากงาน Goodread Choice Awards 2020 และยังติดอันดับขายดีในหนังสือพิมพ์ The Sunday Times หนังสือเล่มนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2020 เป็นผลงานของ แมตต์ เฮก นักเขียนและนักข่าวชาวอังกฤษ ที่เคยป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เขาจึงต้องการแบ่งปันประสบการณ์ และให้กำลังใจแก่ผู้ที่ไม่มีกำลังใจในการใช้ชีวิต นอกจากนี้ยังมีผลงานอื่นๆ เช่น Reasons to Stay Alive (มีฉบับแปลไทยในชื่อ แด่ผู้แหลกสลาย) ที่ถ่ายทอดอารมณ์เบื้องลึกของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้อย่างดงามจนติดอันดับหนังสือขายดีแห่งสหราชอาณาจักรกว่า 46 สัปดาห์ และหนังสือสำหรับเด็กอย่าง A Boy Called Christmas ที่ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์ ซึ่งสามารถรับชมได้ทาง Netflix
จากคำนำสำนักพิมพ์ แมตต์ เฮก เล่าว่า เขาเคยคิดที่อยากมีชีวิตในโลกคู่ขนานที่ต่างจากชีวิตนี้บ้าง จึงมีไอเดียเกี่ยวกับห้องสมุดที่อยู่ระหว่างชีวิตและความตายมานานแล้ว เขาคิดว่าบางครั้งการถ่ายทอดเรื่องราวในรูปแบบนวนิยายเปิดโอกาสให้ผู้อ่านได้สำรวจมุมมองความสุขและความเสียใจในมิติที่ลึกซึ้งกว่า การเขียนมหัศจรรย์ห้องสมุดเที่ยงจึงเปรียบเสมือนการบำบัดตัวเขาเองไปด้วยเช่นกัน โดยเขาเขียนหนังสือเล่มนี้ในพล็อตที่เปิดโอกาสให้เราทบทวนคุณค่าและความหมายแท้จริงของการมีชีวิต ผ่านการสำรวจชีวิตที่เป็นไปได้ในหลากหลายรูปแบบ
ในปี 2021 The Midnight Library ถูกหยิบยกมาแปลเป็นภาษาไทยชื่อ มหัศจรรย์ห้องสมุดเที่ยงคืน เป็นหนังสือเปิดตัวของสำนักพิมพ์ Beat ในเครือของ Biblio ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ที่คัดสรรนิยายแปลจากฝั่งตะวันตก
มหัศจรรย์ห้องสมุดเที่ยงคืน บอกเล่าเรื่องราวของ นอรา ซีด หญิงสาวที่ใช้ชีวิตอยู่กับความโดดเดี่ยวและความผิดหวังจากตัวเองและผู้อื่นเสมอ แต่แล้ววันหนึ่งเรื่องราวมากมายก็ถาโถมเข้าใส่ เริ่มตั้งแต่แมวตัวโปรดของเธอตายจากไป ก่อนเธอจะถูกไล่ออกจากงาน ต่อมาเธอก็โดนยกเลิกการเป็นครูสอนเปียโน ซึ่งเป็นรายได้พิเศษของเธอ และยังบังเอิญพบกับเพื่อนที่เคยทำวงดนตรีร่วมกันจนเกือบจะได้เซ็นสัญญากับค่ายเพลง แต่โอกาสของวงต้องมาหยุดชะงักเพราะอาการแพนิคกลัวเวทีของเธอ นอกจากนี้เพื่อนสนิทเพียงคนเดียวของเธออย่างอิซซี ยังไม่ติดต่อกลับมาในวันที่นอราต้องการใครสักคนมากที่สุด นี่คือเรื่องราวอันถาโถมให้เธอต้องเผชิญในช่วงเวลาสั้นๆ เพียงแค่ 27 ชั่วโมง ในขณะที่ นอราเองต้องเผชิญกับโรคซึมเศร้าที่คอยกัดกินจิตใจมาตลอด
แต่ในช่วงเวลาที่นอราตัดสินใจยอมแพ้ต่อชีวิตนั่นเอง วินาทีนั้นเธอกลับได้รับโอกาสให้อยู่ระหว่างชีวิตและความตายในห้องสมุดเที่ยงคืน ที่สามารถใช้ชีวิตที่นอราอาจจะมีได้ไม่จำกัด เธอสามารถมีชีวิตอย่างที่เธอคิดจะมีได้ เพื่อลองดูว่าทุกอย่างจะแตกต่างไปอย่างไรหากเลือกเส้นทางชีวิตแบบอื่น
นวนิยายแนวแฟนตาซีเล่มนี้สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่แบกรับความผิดหวังทั้งจากตัวเองและผู้อื่นเอาไว้มากมาย เมื่ออ่านนวนิยายเรื่องนี้ทำให้ฉันนึกถึงภาวะของมนุษย์ในหนังสือเรื่อง สูญสิ้นความเป็นคน ของ ดาไซ โอซามุ ที่มีลักษณะคล้ายกันในแง่ของการเดินทางมาถึงวันที่ไม่คิดอยากจะดำเนินชีวิตอีกต่อไป อีกทั้งยังทำให้ฉันคิดได้ว่าเรามองโลกแบบที่เราเป็น แต่โลกไม่ได้เป็นแบบที่เรามอง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วมันไม่ยากเลยที่จะเกิดความผิดหวังในชีวิตซ้ำไปซ้ำมา จนบางครั้งทำให้เราลืมที่จะเมตตาต่อตัวตนของเราเอง
การบรรยายบรรยากาศต่างๆ ในหนังสือเล่มนี้ชวนให้เรานึกภาพตาม เช่น ภายในห้องสมุดเที่ยงคืน เป็นสถานที่ที่สว่างไสว มีชั้นหนังสือทอดยาวไม่รู้จบ เป็นภาพที่มองด้วยตาคล้ายเส้นที่ลากไปสู่จุดเดียวเหมือนภาพเพอร์สเป็กทีฟ หนังสือแต่ละเล่มจะเป็นสีเขียวมีเฉดสีที่แตกต่างกันไป บางเล่มเป็นสีเขียวขุ่น สีเขียวอมเหลือง และบางเล่มเป็นสีเขียวเหมือนสนามหญ้า ฉันคิดว่าสีเขียวสามารถแปลความหมายได้เป็น ชีวิต การเริ่มต้น ความปลอดภัย การรักษาเยียวยา มีตัวปั๊มนูนบนหน้าปกเขียนว่า 'ชีวิตของฉัน' ซึ่งมันหมายความว่าหนังสือแต่ละเล่มเป็นชีวิตทั้งหมดที่นอราจะมีได้ และจะมีหนังสืออยู่หนึ่งเล่มที่เป็นสีเทา เล่มนั้นมีชื่อว่า 'หนังสือแห่งความเศร้าเสียใจ' สีเทาเป็นสีที่ทำให้รู้สึกถึงความเศร้า ความไร้ชีวิตชีวา ฉันจึงคิดว่านี่คงเป็นนัยยะที่ผู้เขียนต้องการสื่อสารให้เราได้รับรู้
"เธอไม่จำเป็นต้องเข้าใจชีวิต เธอเพียงแค่ต้องใช้ชีวิต"
ส่วนหนึ่งของบทสนทนาในหน้า 307
ประโยคที่มิสซิสเอล์ม บรรณารักษ์ที่รับหน้าที่ดูแลห้องสมุดเที่ยงคืนกล่าวแก่นอรา ยังเป็นประโยคที่ฉันยังจดจำได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่อ่าน และพาให้ฉันสำรวจเรื่องราวชีวิตที่ผ่านมาด้วยว่า ชีวิตของเราเคยมีเรื่องราวที่ยากแก่การเข้าใจหรือเปล่านะ คำตอบคือ มีสิ เราต่างเคยมีเรื่องราวที่ยากเกินกว่าจะเข้าใจในชีวิตกันทั้งนั้น บางครั้งมันก็ยากเกินกว่าจะอธิบายออกมาเป็นคำพูดได้ หรือยากที่จะทำความเข้าใจ
"เธอจะไม่ไปหาความตาย แต่ความตายจะมาหาเธอเอง"
ส่วนหนึ่งของบทสนทนาในหน้า 59
ประโยคในบทสนทนานี้ทำให้ฉันนึกถึงหนังสือเล่มหนึ่งของ เฟรียดริค บัคมัน (Fredrik Backman) เรื่อง ชายชื่ออูเว ในมุมมองเรื่องของความตายมีจุดที่คล้ายกันคือความตายจะแวะมาเราเอง และเรื่องที่น่าเศร้าที่สุดสำหรับความตายคือ ความตายจะแวะผ่านเราไป และปล่อยให้เรามีชีวิตอยู่ต่อเพียงลำพัง
ในแต่ละชีวิตที่นอราได้มีโอกาสเข้าไปใช้ เปรียบได้กับกุญแจปลดล็อกเรื่องราวที่ติดค้างในใจทีละเรื่อง อย่างตอนที่นอรา ได้เข้าไปใช้ชีวิตกับแดน แฟนเก่าของเธอ แดนมีความฝันว่าอยากเป็นเจ้าของผับเล็กๆ ในชนบท ซึ่งนอราเองก็ทำให้ฝันนั้นมาเป็นฝันของเธอด้วย แต่เมื่อได้เข้าไปใช้ชีวิตนั้นแล้วจริงๆ มันกับไม่ได้สวยงามแบบที่คิด
อีกชีวิตหนึ่งเธอได้เข้าไปใช้ชีวิตแล้วเจอ วอลแตร์ แมวของเธออีกครั้ง มันเริ่มทำให้เธอเปลี่ยนความคิดบางเรื่องที่มีต่อตัวเธอเอง หรือในอีกชีวิตนอราก็ได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมเยียนชีวิตที่เป็นร็อกสตาร์ และเป็นนักกีฬาว่ายน้ำโอลิมปิก ทั้งสองชีวิตนี้ทำให้เธอได้รู้อะไรบางอย่างที่เธอไม่เคยคิดถึงมันมาก่อน
เธอเดินทางไปมาระหว่างชีวิตต่างๆ นับไม่ถ้วน นอราเข้าไปใช้ชีวิตในการเป็นนักวิทยาธารน้ำแข็ง ได้เจอกับฮิวโก้ชายที่ได้รับโอกาสเหมือนเธอ และตกอยู่ในสถานการณ์อันตรายเมื่อเจอกับหมีขั้วโลก และยังมีอีกหลายชีวิตที่มีเรื่องราวและบทเรียนแตกต่างกันไป ท้ายที่สุดเธอเดินทางเข้าไปในชีวิตที่ได้ร่วมครอบครัวกับ แอช ศัลยแพทย์หนุ่ม และได้เจอกับ มอลลี ลูกสาวของเธอกับแอช นอราคิดว่าชีวิตนี้แหละที่เธอตามหา ...แต่จะเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ เราคงต้องเดินทางไปค้นพบเรื่องราวพร้อมๆ กับเธอ
การเดินทางไปพร้อมกับนอราทำให้ฉันคิดเหมือนที่นอราคิดว่า เราทุกคนต่างควรมีมิสซิสเอล์มสักหนึ่งคนในชีวิตของเรา ที่จะคอยนำทางไปสู่คำตอบของชีวิตในวันที่หลงทาง หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะแก่ใครก็ตามที่ยังคงตามหาความหมายของชีวิต คุณสามารถเดินทางไปกับเรื่องราวในหนังสืออย่างช้าๆ ค่อยๆ ตกตะกอนความคิด และค้นพบมุมมองของชีวิตในแบบที่เหมาะสมของตัวเอง
มันไม่ง่ายเลยที่คนเราจะหาคำตอบให้กับชีวิตตัวเองได้ ต้องล้มลุกคลุกคลานมากี่ครั้งกี่ครากว่าจะมีวันนี้ และนั่นทำให้ฉันคิดได้ว่าความสมบูรณ์แบบไม่ใช่สิ่งที่เราตามหาเพราะมันไม่มีอยู่จริง ดังนั้น หากมีโอกาสได้เลือกทางเลือกให้แก่ชีวิตตัวเองจงอย่ามองข้ามจุดเล็กๆ เพราะนั่นอาจเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่
เราไม่มีทางรู้ได้ว่าในอนาคตชีวิตเราจะเป็นไปในรูปแบบไหน ที่เรารู้แน่ๆ คือเราได้เลือกหนทางให้แก่ตัวเราเองแล้ว