แปลกดีเหมือนกัน…การอ่านหนังสือเล่มใหม่ทำให้คิดถึงหนังสือเล่มเก่าไปเสียได้
ฉันเชื่อว่าบนชั้นหนังสือของทุกคนต้องมีหนังสือสักเล่มที่เข้ามาช่วยหัวใจในวันว้าเหว่ วันไหนที่อะไรล้วนไม่เป็นใจก็มีหนังสือเล่มนั้นเข้ามาช่วยคลายเศร้าเล็กน้อย ปลอบประโลมใจสักหน่อยให้คืนนี้นอนหลับลงได้บ้าง ทำให้หลังฉันอ่าน 'ปาฏิหาริย์แมวลายส้มผู้พิทักษ์หนังสือ' จนจบลง ก็รู้สึกคิดถึงหนังสืออีกหลายๆ เล่มบนชั้น เล่มนี้แม่ซื้อให้วันเกิด เล่มนี้เคยอ่านติดหนึบตอนอยู่ชั้นมัธยมฯ เล่มนี้เคยเข้ามาช่วยคลายเศร้า ส่วนเล่มนี้อ่านแล้วเศร้ากว่าเดิมแต่ชอบมาก โอ้โฮ…ฉันเหมือนได้รับพลังกระแทกจากหนังสือให้กลับไปอ่านหนังสือเล่มเดิมที่เคยรัก ซ้ำแล้วซ้ำเล่า อีกครั้ง
หรือนี่แหละ คือความตั้งใจของเจ้าแมวลายส้มผู้พิทักษ์หนังสือกันแน่นะ
ฉันอ่านหนังสือของสำนักพิมพ์ Biblio หลายเล่ม เพราะชอบการตั้งคำถาม การหาความหมายของชีวิตผ่านเรื่องราวในชีวิตประจำวัน มันเรียบง่ายแต่ทรงพลังจนรู้สึกยุบยับในหัวใจอย่างบอกไม่ถูก ซึ่งในเล่ม ปาฏิหาริย์แมวลายส้มผู้พิทักษ์หนังสือ เป็นผลงานของนักเขียนชื่อดัง นัตสึคาวะ โซสุเกะ (Sosuke Natsukawa) ถูกแปลไปแล้วกว่า 15 ประเทศทั่วโลก และได้รับรางวัลชนะเลิศ Japanese Booksellers Award หรือนิยายญี่ปุ่นร่วมสมัยที่ถูกยกย่องในระดับสากลว่าเป็นผลงานชั้นยอด ภายในหนังสือเล่าเรื่องราวของ นัตสึกิ รินทาโร่ นักเรียนหนุ่มมัธยมปลายที่สูญเสียคุณปู่ผู้เป็นเจ้าของร้านหนังสือมือสองไปอย่างกะทันหัน รินทาโร่รู้สึกพังทลายจากการสูญเสียคนสำคัญ เขาเก็บตัวเงียบ ไม่ไปโรงเรียนอยู่แต่กับหนังสือ ทันใดนั้นแมวลายส้มก็ปรากฎตัวขึ้น พาเขาออกจากความเศร้า ไปผจญภัยผ่านเขาวงกต 4 แห่ง เพื่อปกป้องหนังสือให้รอดพ้นจากเงื้อมมือของคนที่เกลียดชัง ก่อเกิดเป็นมิตรภาพ ความเข้มแข็งของจิตใจ และการเอาชนะใจตัวเอง
อ่านดูแล้วเหมือนเป็นหนังสือวรรณกรรมเยาวชนที่เหมาะกับเด็กวัยรุ่นกำลังเติบโตอยู่ใช่ไหม หากอันที่จริงแล้ว ฉันรู้สึกว่าเป็นหนังสือที่เหมาะกับวัยผู้ใหญ่มากๆ ผู้ใหญ่ที่กำลังเคว้งคว้าง ผู้ใหญ่ที่กำลังตั้งคำถามกับชีวิตอย่างจับต้นชนปลายไม่ถูก แม้จะเป็นผู้ใหญ่ที่รักการอ่าน แต่ก็มีวันที่สงสัยเหมือนกันว่า หนังสือเป็นรายจ่ายที่ควรตัดทิ้งหรือเปล่านะ ทำไมรัฐไม่ให้ความสำคัญกับหนังสือมากกว่านี้ หนังสือยังจำเป็นกับชีวิตอยู่ไหม แล้วเราอ่านหนังสือไปเพื่ออะไรกันแน่
"หนังสือที่มนุษย์ให้ความสำคัญจะมีหัวใจ แล้วหนังสือที่มีหัวใจจะรุดมาช่วยเจ้ายามใดที่ตกอยู่ในอันตรายแน่นอน"
"ข้าเคยบอกแล้วนี่ว่า เจ้าไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว"
- แมวลายเสือสนทนากับรินทาโร่ในหนังสือหน้า 179
ประโยคข้างต้นช่างตอบคำถามของหัวใจตัวเองที่มีต่อหนังสือ พาให้คิดถึงวันแรกที่อ่านหนังสือเล่มแรก นึกถึงวันที่หนังสือช่วยสร้างความรู้สึกดีๆ นึกถึงวันที่อยากอ่านหนังสือไม่รู้จบ แม้ตอนนี้หนังสือหลายเล่มจะนอนสงบอยู่บนชั้น บางเล่มกองอยู่บนกองดอง บางเล่มฝุ่นจับบนหัวเตียง แต่ฉันเชื่อว่าเมื่ออยู่ถูกที่ถูกเวลา หนังสือจะช่วยซัพพอร์ตความรู้สึกเปราะบาง คอยเป็นเพื่อนที่ไม่ทำให้เราอยู่ตัวคนเดียว
ขณะเดียวกันหนังสือก็พาย้อนสำรวจความคิดของตัวเองด้วยว่า เคยตัดสินใครผ่านการอ่าน เพราะเขาแค่อ่านหนังสือไม่เหมือนเราหรือเปล่า เรากำลังอ่านหนังสือเยอะๆ เพื่อทำสถิติประดับบารมีอยู่ไหม หรือเคยหวงหนังสือมากๆ จนลืมธรรมชาติของกระดาษไปหรือเปล่า ทำให้ระหว่างอ่านฉันหยุดชะงักทบทวนความคิดตัวเองเล็กน้อยว่าครั้งหนึ่งก็เคยหวงหนังสือมากๆ แล้วโกรธเป็นฝืนเป็นไฟเมื่อเพื่อนทำหนังสือยับเป็นรอย แต่เดี๋ยวนี้หนังสือเล่มไหนที่อ่านบ่อยๆ นะเหรอ ก็มีทั้งรอยมือ รอยขีดประโยค รอยน้ำหก และรอยพับต่างๆ มากมาย อือ… รู้สึกเหมือนแซะตัวเองตลอดเวลา
แถมในระหว่างการผจญภัยในเขาวงกต เมื่อรินทาโร่เจอกับเจ้าของสำนักพิมพ์ ก็มีบทสนทนาที่เหมือนจิกกัดอุตสาหกรรมหนังสือแบบเลือดซิบ ซึ่งระหว่างอ่านก็อดจะเข้าอกเข้าใจตัวละครฝั่งตรงข้ามรินทาโร่ไม่ได้ เมื่อนึกถึงสถานการณ์ของหนังสือในบ้านเรา
"เธอยังเด็ก คงมีความจริงที่ไม่อยากยอมรับอยู่บ้าง แต่ฉันรู้จักกลไกของสังคมดี การตัดสินคุณค่าของหนังสือ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความลึกซึ้งทางอารมณ์ของเธอ แต่เป็นจำนวนตีพิมพ์ หมายความว่าในยุคปัจจุบันนี้ เงินคือตัววัดคุณค่าทุกอย่าง คนที่ลืมกฎข้อนั้นและวิ่งเข้าหาอุดมคติจำต้องออกจากสังคม ที่จริงก็น่าเศร้านะ"
- ประโยคส่วนหนึ่งในบทสนทนา หน้า 149
หากสิ่งที่ฉันชอบที่สุดในหนังสือเล่มนี้ คือทุกเส้นทางที่สับสน รินทาโร่จะคิดถึงคุณปู่ ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้คุณปู่จะพูดอะไรนะ ถ้าคนคิดแบบนี้ คุณปู่จะแก้ยังไงนะ ตลอดทุกท่าทาง อากัปกิริยา ความละเอียดลออในบทสนทนาระหว่างรินทาโร่ กับคุณปู่ มันแฝงไปด้วยความสัมพันธ์ของคนต่างวัยที่ล้วนเข้าอกเข้าใจกันซึ่งกันและกัน ถ้าเป็นแบบนี้ในทุกครอบครัวคงดีไม่น้อยเลยนะ ปัญหาช่องว่างระหว่างวัยคงไม่เกิดขึ้น อย่างช่วงที่รินทาโร่ไม่ไปโรงเรียน เอาแต่ขลุกตัวอ่านหนังสือ ปู่ไม่ได้บังคับให้กลับไปเรียน แต่เข้ามาลูบศีรษะแล้วให้ข้อคิด ก่อนชวนให้รินทาโร่คิดต่อเพื่อตัดสินใจด้วยตัวเอง
"ถึงจะอ่านหนังสือเป็นบ้าเป็นหลัง โลกที่เรามองเห็นก็ไม่ได้กว้างขึ้นตามไปด้วยหรอก ต่อให้หาความรู้ใส่ตัวมากสักแค่ไหน แต้ถ้าหลานไม่คิดด้วยสมองตัวเองและเดินด้วยขาตนเอง ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะเป็นเพียงของที่หยิบยืมคนอื่นมาโดยไม่มีแก่นสาร"
"หนังสือไม่ได้ใช้ชีวิตแทนหลาน การอ่านหนังสือโดยลืมเดินด้วยขาตัวเองเปรียบได้กับสารานุกรมที่อัดแน่นไปด้วยความรู้ล้าสมัย ถ้าไม่มีใครเปิดอ่าน ก็เป็นแค่วัตถุโบราณไร้ประโยชน์ใดๆ"
"หลานอยากเป็นแค่ผู้ทรงความรู้เท่านั้นหรือ"
ประโยคสนทนาในหน้า 53-54 นี้ ทำให้เห็นว่าหลังจากอ่านหนังสือแล้ว ปู่ยังชักชวนหลานลุกขึ้นมาใช้ชีวิตของตัวเองด้วย เพราะแต่ละคนล้วนมีเส้นทางชีวิตที่ไม่เหมือนกัน ใช้ชีวิตเท่านั้นแหละถึงจะรู้ หนังสือสำหรับรินทาโร่จึงไม่ใช่แค่หนังสือ แต่ยังเปี่ยมไปด้วยความผูกพันที่มีต่อคุณปู่ ซึ่งเป็นความทรงจำที่แข็งแกร่งและทรงพลังพอให้รินทาโร่ก้าวต่อไปได้แม้ในวันที่ไม่มีคุณปู่อยู่เคียงข้างแล้ว
ดังนั้นถ้ารินทาโร่บอกว่า พลังของหนังสือ คือ 'ความห่วงใยต่อผู้อื่น' สำหรับฉันพลังของหนังสือเล่มนี้คือ 'ความรักของคุณปู่ที่มีต่อหลาน' ในทุกลมหายใจของร้านหนังสือนัตสึกิ