ฝนเพิ่งลงเม็ดใหม่ๆ เลยตอนที่ฉันเริ่มลงมือเขียนรีวิวหนังสือเล่มนี้ เลยทำให้นึกถึงบางฉากในเรื่องขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้
ในวินาทีที่พลิกหน้าหนังสือ 'ขนมปังของพรุ่งนี้ แกงกะหรี่เมื่อวันวาน' ไปจนหมดหน้ากระดาษในเล่ม ใจหนึ่งก็รู้สึกอาลัยอาวรณ์ไม่อยากให้มันจบ อีกใจหนึ่งก็รู้สึกอยากพุ่งตัวมาเขียนอะไรยาวๆ ถึงมันสักหน่อย โดยเฉพาะเจาะจงด้วยว่า อยากจะเขียนถึงมันในยามที่ความรู้สึกยังอุ่นๆ อยู่เช่นนี้
ขนมปัง กับ แกงกะหรี่ ลำพังคำบนชื่อปกคงบ่งบอกอะไรแก่ผู้อ่านได้บ้างก็จริง แต่ฉันรู้สึกว่าในอีกแง่หนึ่งมันก็เหมือนชื่อหนังสักเรื่องที่ไม่ได้บอกอะไรเรามากมายนัก ลงถ้ายังไม่ได้ตีตั๋วเข้าโรงไปดูจริงๆ ล่ะก็ ชื่อหนังก็มักกระซิบบอกเราแค่เพียงบางส่วนเสี้ยวของตัวหนังเท่านั้นเอง ยิ่งพออ่านชื่อหนังสือแบบเผินๆ ก็อาจชวนให้เข้าใจผิดคิดว่ามันคือหนังสือเกี่ยวกับอาหารหรือร้านอาหารอะไรทำนองนั้นหรือเปล่านะ แถมยังพานให้คิดไปว่า นี่สำนักพิมพ์ Biblio แปลเรื่องราวของผู้คนที่ยุ่งเกี่ยวกับร้านอาหารมาให้เราอ่านอีกแล้วเหรอ!
'ขนมปังของพรุ่งนี้ แกงกะหรี่เมื่อวันวาน' เป็นผลงานแปลของ อิศเรศ ทองปัสโณว์ ซึ่งแปลจากหนังสือชื่อ 昨夜のカレー、明日のパン (Last Night's Curry, Tomorrow's Bread) ของ คิซาระ อิซึมิ นักเขียนบทคู่สามีภรรยาที่สร้างสรรค์นิยายและบทละครชื่อดังในญี่ปุ่นร่วมกันไว้หลายรายการ หนังสือเล่มนี้เองก็เป็นอีกเล่มที่ถูกพัฒนาไปเป็นซีรีส์ในปี 2014 รวมทั้งได้รับรางวัลที่สองในการประกวดหนังสือยอดเยี่ยมจากสมาคมร้านหนังสือประจำปี 2014 และยังได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัล Yamamoto Shuugoro อีกด้วย
โฉมหน้าหนังสือในเวอร์ชันห่อปกพิเศษ ซึ่งผลิตมาในจำนวนจำกัด
ตอนสั่งซื้อหนังสือเล่มนี้เข้าบ้าน ฉันคิดว่ามันคงเป็นหนังสือที่มีเนื้อหาน่ารักๆ อ่านหย่อนใจได้เบาๆ ยิ่งภาพประกอบบนปกที่เป็นฝีมือของ Jiranarong ด้วยแล้ว ย่ิงทำให้หนังสือเล่มนี้มีหน้าตาน่ารักน่าหยิกขึ้นไปอีก จนพอได้เปิดอ่าน ...ค่อยๆ อ่าน ...และค่อยๆ อ่าน ถึงได้ค้นพบว่า เรื่องราวในเล่มก็น่ารักจริงๆ นั่นล่ะ เพียงแต่ไม่ได้มีเฉพาะความน่ารักอย่างเดียว หนังสือเล่มนี้ยังแฝงไว้ซึ่งความเข้าใจชีวิตในระดับลึกซึ้ง และเป็นความลึกซึ้งที่เล่าแบบเบาสบายไม่หนักหน่วงบีบคั้นเสียด้วย หนังสือแบ่งเรื่องราวออกเป็นบทย่อย เล่าเรื่องแบบไม่ไล่เรียงลำดับเวลา ชนิดที่ทำให้ระหว่างที่อ่านได้มีพื้นที่ให้ตั้งคำถามและคาดเดาความสัมพันธ์ของตัวละครไปด้วย และพออ่านดูทั้งเล่มรวมกัน ก็ยิ่งทำให้รู้สึกถึงชั้นเชิงการเล่าเรื่องและรู้สึกสนุกกว่าอ่านแค่บทใดบทเดียว
หนังสือเล่าเรื่องราวของตัวละครหลัก 2-3 ตัว ที่ไม่ใช่วัยรุ่นแล้ว (ฟังดูไม่น่าสนุกเลยนะนั่น) เท็ตสึโกะ คือหญิงสาวที่สูญเสียสามีไปก่อนวัยอันควร เธอใช้ชีวิตอยู่กับ 'ป๊า' ชายรุ่นเดอะที่ทำอาชีพผู้ประกาศข่าวพยากรณ์อากาศผู้ซึ่งเป็นคุณพ่อของสามี เรื่องราวแบบนี้ฟังคุ้นๆ และดูออกจะราบเรียบเสียจนไม่น่าจะอ่านสนุกได้ แต่ฉันต้องขอสารภาพเลยว่า บางช่วงที่อ่านกลับกลั้นหัวเราะเอาไว้ไม่อยู่ ด้วยภาษาง่ายๆ ที่ผู้แปลเลือกใช้ มีภาษาสมัยใหม่ และผู้เขียนเองก็หยิบเอาสถานการณ์ที่ดูสัพเพเหระเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันมาเขียนถึงด้วย เลยทำให้อ่านแล้วรู้สึกว่าสมจริงเสียจนไม่น่าเอามาเขียนเป็นนิยาย แต่ถ้าอ่านแบบตั้งอกตั้งใจและเชื่อมโยงสักหน่อยก็จะพบว่า เหตุการณ์เล็กๆ เหล่านั้นล้วนเก็บสะสมความหมายบางอย่างไว้ ...พอเอามาผสมกับการเล่าถึงตัวละครข้างเคียงที่มีความไม่สมบูรณ์แบบในแบบฉบับของแต่ละตัวละครเอง หนังสือเล่มนี้เลยยิ่งอ่านได้ครบรสขึ้นไปอีก
ตัวละครข้างเคียงที่ว่า มีตั้งแต่คนข้างบ้านไปจนถึงคนแปลกหน้า นับตั้งแต่แอร์โฮสเตสที่มีปัญหากับการยิ้ม สาวนักไต่เขาที่พยายามหลีกหนีบางสิ่งบางอย่าง ชายหนุ่มที่คิดว่าการแต่งงานคือความสำเร็จ ไปจนถึงเด็กหนุ่มที่ฝันจะมีอะไรๆ กับสาวๆ ในรถยนต์สักครั้ง ฯลฯ เรื่องราวของแต่ละคนดูเหมือนกระจัดกระจาย ทว่าเมื่อนำทั้งหมดมาแขวนเรียงกันดูก็พบว่าล้วนเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับการสูญเสียและการจากลา ซึ่งจุดนี้ฉันมองว่าเป็นความฉลาดของผู้เขียน ที่ช่วยแบ่งน้ำหนักของเรื่องเล่าภายใต้ธีมเดียวกันให้เฉลี่ยลงไปที่ตัวละครหลายๆ ตัว แทนที่จะให้ตัวละครตัวใดตัวหนึ่งแบกน้ำหนักทั้งหมดเอาไว้ ทำให้การอ่านหนังสือเล่มนี้มีความผ่อนคลาย แถมยังเพิ่มมิติและสีสันในการอ่านอีกด้วย
ภาพโปรโมตซีรีส์ที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2014
ยัยหืม, พาวเวอร์สปอต, ยามะเกิร์ล (สาวภูเขา), โทราโอะ, การ์ดเวทมนตร์, ยูโกะ, หนุ่มๆ สุมหัว, คาซึกิ, ฮิตสึกิมุชิ (หญ้าเจ้าชู้) -- เหล่านี้คือชื่อของแต่ละบทในเล่ม โดยส่วนตัวฉันรู้สึกว่าแค่อ่านชื่อเรื่องก็อยากอ่านเนื้อเรื่องแล้วล่ะ แม้ชื่อของบางบทจะทำให้รู้สึก "อะไรหว่า" อยู่บ้าง แต่นั่นก็ทำให้รู้สึกอยากรู้อยากเห็นเพิ่มขึ้น และยิ่งเพิ่มอรรถรสในการอยากอ่านเข้าไปอีก ...เขียนมาขนาดนี้ก็ยังต้องขอออกตัวสักหน่อยนะคะว่า ความชอบของแต่ละคนคงไม่เหมือนกัน ความสนุกของแต่ละคนก็น่าจะต่างกันอยู่ อย่างความสนุกของหนังสือเล่มนี้ โดยลึกๆ แล้วมันมีความเรื่อยๆ และเนิบช้าแฝงอยู่ตลอดเลยค่ะ และนั่นอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ฉันชอบหนังสือเล่มนี้ก็เป็นได้
และโดยก้นบึ้งแล้ว พล็อตแบบ 'การสูญเสียสามี' มันก็กระแทกเข้ากับคำถามบางประการในใจของฉันอยู่พอดิบพอดี ฉันเองในสถานะของผู้หญิงแต่งงานแล้วที่อยู่ร่วมบ้านเดียวกับสามีและคุณพ่อสามี มักอดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามอยู่บ่อยๆ ว่า ถ้าคนร่วมเส้นทางชีวิตมีอันต้องเดินทางล่วงหน้าไปก่อน ชีวิตของฉันจะเป็นอย่างไรต่อไป? ฉันจะอยู่กับวันพรุ่งนี้แบบไหน และจะวางหัวใจไว้กับเมื่อวันวานอย่างไรกัน?
'คาสึกิ' เป็นตัวละครที่ฉันชอบนะ เขาเป็นสามีที่ตายจากไปแล้วแต่ยังคงบทบาทไว้ในเรื่องอย่างแนบเนียนเสมือนยังไม่เคยหายไปไหน ฉันชอบที่เขาดูเป็นคนปกติธรรมดา มีข้อบกพร่องและประสบปัญหาแบบมนุษย์ปุถุชนทั่วไป เขาเกิดขึ้นมาบนโลก ใช้ชีวิตวัยเด็กแบบเด็กธรรมดาคนหนึ่ง ได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีความดีงามและความผิดพลาด เดินไปข้างหน้า เจ็บป่วย และตายจาก
ฉันรักตัวละคร 'เท็ตสึโกะ' รักและเอ็นดูในความครึ่งๆ กลางๆ ของเธอ รักที่เธออาจไม่เข้าใจตัวเองในหลายขณะเวลา แต่มันก็ไม่เป็นไรหรอก เธอคงแค่กำลังเติบโตไปตามจังหวะของเข็มนาฬิกาและการเปลี่ยนผ่านของหน้าปฏิทิน ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าถ้าฉันเด็กกว่านี้อีกสัก 20 ปี จะยังรักและเข้าใจเท็ตสีโกะได้มากน้อยแค่ไหน เพราะต้องยอมรับว่าขวบปีก็มีส่วนช่วยให้ฉันอ่านหนังสือเล่มนี้ได้อรรถรสยิ่งขึ้น ส่วนตัวละครที่ฉันคิดว่าน่ารักที่สุดในเล่มก็คงหนีไม่พ้น 'ป๊า' อาจเป็นเพราะป๊าเป็นคนแก่ก็ได้ (บางทีคนแก่ก็เหมือนเด็กๆ เลยดูน่ารักขึ้นมา) แต่ถ้านับที่ความอิน ฉันยังอินกับป๊าไม่มากพอ อาจจะต้องรออีกหลายปีกระมังถึงสามารถจะเข้าใจป๊าได้มากกว่านี้
ภาพบนปกหนังสือ วาดโดย Jiranarong
สิ่งที่ฉันชอบที่สุดในการอ่านหนังสือเล่มนี้ คือกลวิธีในการเล่าและการเปรียบเปรยสิ่งเล็กๆ กับเรื่องใหญ่ๆ ในชีวิต ชื่นชอบความหมายที่ลึกซึ้งในเรื่องไร้สาระประจำวัน ไล่จากหน้าปก แล้วพลิกไปทีละหน้าๆ ความหมายก็ยิ่งลึกซึ้งลงไปเรื่อยๆ จนเมื่ออ่านจบแล้วถึงได้รู้ตัวว่า เรื่องบางเรื่องต้องอาศัยให้เวลาทำงาน ไม่ผิดกับอาหารสักจานที่ออกรสได้เต็มที่หลังจากการเคี่ยวและปรุงโดยผ่านระยะเวลาตั้งไฟที่นานพอ ตอนตักเสิร์ฟบนโต๊ะ มันอาจดูเป็นอาหารหนึ่งจานที่มีหน้าตาง่ายๆ บ้านๆ แต่พอได้ลองลิ้มชิมรสไปหลายๆ คำ ถึงได้ล่วงรู้ว่าอาหารจานนี้ทั้งอร่อยล้ำ ทำให้อิ่มท้อง และอิ่มใจ
ใครได้มีโอกาสพบหนังสือเล่มนี้อยากให้ลองอ่านดูค่ะ โดยเฉพาะบทที่ชื่อ 'คาซึกิ' ฉันว่ามันเป็นบทที่ถูกโอบอุ้มไว้ด้วยบทอื่นๆ อย่างน่าทะนุถนอม แบบเดียวกับก้อนขนมปังที่ถูกห่อหุ้มไว้ด้วยกลิ่นจางๆ ของแกงกะหรี่ รวมทั้งเป็นบทที่ชวนให้นึกถึงอดีตในระยะไกลๆ และอนาคตอันใกล้ของเราแต่ละคนอย่างช่วยไม่ได้
ผู้อ่านหลายคนให้เสียงสะท้อนว่าชื่อเรื่องของหนังสือไม่ค่อยครอบคลุมความหมายภายใน แต่ฉันเองไม่ค่อยเห็นด้วยนะ กลับมองว่าชื่อนี้เหมาะมากสำหรับเรื่องในเล่ม เพราะมีความเชื่อมโยงกับแก่นของเรื่องอย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะประเด็นของ พรุ่งนี้กับเมื่อวันวาน, สิ่งตรงหน้ากับภาพความทรงจำ, วัยเติบใหญ่กับวัยเยาว์, เช้าวันใหม่ (Morning) กับการทอดอาลัย (Mourning) และ การมีชีวิตอยู่ต่อไปกับการสูญสลายตายจาก สำหรับฉันแล้ว หนังสือเล่มนี้ไม่เศร้าเลย แต่ก็ไม่อาจบอกได้ว่าเป็นหนังสือแห่งความสุข มันอาจเรียกได้ว่าเป็น 'ความเข้าใจ' มากกว่า เป็นความเข้าใจความธรรมดาในชีวิตคนเรา เป็นความเข้าใจแบบเดียวกับเวลาที่เราได้มองพระอาทิตย์ขึ้นในเช้าวันใหม่ และยังมองเห็นความงดงามในยามที่ดวงอาทิตย์ลาลับขอบฟ้า
ในสายตาของฉัน สัญญะในเรื่องนั้นมีอยู่ยุ่บยั่บ แต่อาจจะหมดสนุกได้ถ้าเปิดเผยจนหมดสิ้น หลายสิ่งหลายอย่างในเรื่องซ่อนบางสิ่งบางอย่างไว้ -- ไข่ไก่ เมล็ดแปะก๊วย แกงกะหรี่ ขนมปัง ชามข้าว ฯลฯ -- ทุกสิ่งมีเรื่องราวและเก็บซ่อนความหมายหรือใครบางคนเอาไว้ข้างใน
"การเคลื่อนไหวคือการมีชีวิตอยู่ การมีชีวิตอยู่ก็คือการเคลื่อนไหว" ประโยคนี้มาจากหน้า 237 ในหนังสือ ช่างเป็นประโยคที่บอกอะไรได้มากมาย สำหรับฉันแล้ว มันหมายถึงการเดินไปข้างหน้า เร็วบ้าง ช้าบ้าง แต่เมื่อขึ้นชื่อว่า 'มีชีวิต' คนเราย่อมต้องเดินต่อไป จะว่าไปแล้ว คุณอาจจะอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วไม่ได้คิดแบบนี้ก็ได้ คุณอาจจะอ่านมันด้วยความความรู้สึกแบบอื่นๆ แต่ฉันเชื่อนะว่าการอ่านหนังสือสักเล่ม ไม่ว่าเราจะชอบ ไม่ชอบ หรือรู้สึกเฉยๆ กับมัน มันก็คงไม่เสียเปล่า แบบเดียวกับอีกประโยคที่ฉันชอบ (ในหน้า 237 หน้าเดียวกันนั้นล่ะ) ที่ว่า "ในโลกนี้ไม่มีกำไรหรือขาดทุนหรอกนะ"
สิ่งสำคัญอาจอยู่ที่ว่า เราเข้าใจมันมากแค่ไหน และหนังสือเล่มนั้นๆ เข้าถึงเรามากเพียงใด มากพอจะปรับเปลี่ยนหรือขยายพื้นที่อะไรบางอย่างในใจของเราได้หรือเปล่า