หัวใจคือนักล่าผู้ว้าเหว่ และความเข้าใจคือความเข้าใจว่าเข้าใจ

    หัวใจคือนักล่าผู้ว้าเหว่ (The Heart is a Lonely Hunter) ของ คาร์สัน แม็คคัลเลอร์ส (Carson McCullers) นิยายที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1840 เริ่มต้นบทแรกด้วยการเล่าถึงชายใบ้สองคนที่เป็นตัวละครเล็กๆ ในเมืองเล็กๆ ทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาในยุคเศรษฐกิจตกต่ำช่วงทศวรรษที่ 30

    ในสำนวนแปลของ จุฑามาศ แอนเนียน (ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Library House) บรรยายไว้ว่า "ในเมืองนี้มีชายใบ้สองคนและทั้งสองอยู่ด้วยกันเสมอ ยามเช้าตรู่ทุกวัน ทั้งคู่ออกจากบ้านที่พักและเดินคล้องแขนกันมาตามท้องถนนเพื่อไปทำงาน" เป็นการเริ่มต้นแบบสบายๆ ค่อยๆ พาผู้อ่านเข้าสู่โลกของเรื่องเล่าและโลกของตัวละครทีละน้อย ฉายภาพบุคลิก การงาน กิจวัตร จนไปถึงชะตากรรมที่ค่อยๆ พลิกผันของตัวละคร ก่อนจะจบบทแรกลงด้วยความค้างคา ชวนติดตาม
    พอถึงบทที่สอง แม็คคัลเลอร์สกลับเปลี่ยนไปเล่าถึงตัวละครชายวัยกลางคนผู้เป็นเจ้าของร้านเหล้ากึ่งร้านอาหารที่เปิดทั้งวันทั้งคืนในเมืองเดียวกัน เป็นตัวละครที่เฝ้าจับตาดูผู้คนที่เดินเข้ามาและผ่านออกไปในพื้นที่ของตัวเอง สะสมข่าวสารที่เกิดขึ้นในสังคม ในขณะที่ตัวเองก็มีภาระปัญหา มีความฝันใฝ่ที่ยังคั่งค้าง แต่ก็ยังคงใช้ชีวิตในรูปแบบนี้ไปอย่างเท่าที่จะทำได้ แล้วในที่สุด เรื่องเล่าในบทที่สองก็ค่อยๆ เชื่อมกลับไปสู่ตัวละครในบทแรกแบบบางเบา
    หลังจากนั้น แม็คคัลเลอร์สยังคงไม่หยุดยั้งในการเปลี่ยนมุมมองการเล่าไปยังตัวละครอื่นๆ ที่ถูกเผยออกมาทีละราย ทั้งเด็กสาวทอมบอยผู้หลงรักเสียงดนตรีและมีความฝันว่าสักวันจะไปจากเมืองเล็กๆ เมืองนี้ หรือหนุ่มพเนจรหน้าตาอัปลักษณ์ที่อยากเปลี่ยนสังคมให้เท่าเทียม รวมทั้งนายแพทย์ชราผิวสีผู้มีความใฝ่ฝันถึงวันที่ดีกว่าของคนผิวดำในอเมริกา แต่ละคน แต่ละตัวละครถูกเล่าผ่านห้วงคิดคำนึงของตนเอง ผ่านฉาก-กลิ่น-เสียง ผ่านชีวิตและเหตุการณ์ที่อยู่รายล้อม ผ่านปัญหาอุปสรรคที่ห้อมล้อม 
    เมื่อมาถึงจุดหนึ่ง กลายเป็นว่า 'ซิงเกอร์' หนึ่งในชายใบ้ในบทแรก กลับกลายมาเป็นศูนย์กลางของเรื่องเล่าทั้งเรื่อง เพราะตัวละครทุกตัวพบว่าชายใบ้คนนี้พร้อมจะ 'รับฟัง' ปัญหาของตัวเองด้วยความเข้าอกเข้าใจ (หรือเข้าใจไปว่าเข้าใจ) กระทั่งมีบางครั้งที่เด็กสาว หมอผิวสี หนุ่มใหญ่เจ้าของร้านอาหาร หรือไอ้หนุ่มหัวกบฏก็ล้วนแวะเวียนกันไป 'คุย' กับซิงเกอร์จนแทบจะผลัดกันไปในวันเดียวกันเลยทีเดียว
    และเมื่อมาถึงจุดนี้ ความมหัศจรรย์ของมุมมองที่ข้ามไปมาก็ทำให้ หัวใจคือนักล่าผู้ว้าเหว่ เป็นวรรณกรรมที่เข้าถึงตัวละครแบบทะลุทะลวงไปถึงชีวิตและจิตใจ (ซึ่งรวมไปถึงการเล่าเรื่องผ่านมุมของตัวละครผิวสีซึ่งในยุคที่นิยายเรื่องนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกนั้นถือว่าเป็นของใหม่ทีเดียว นี่ยังไม่นับว่ามันถูกเขียนโดยหญิงสาวผิวขาววัยยี่สิบต้นๆ เสียด้วย) ในขณะเดียวกัน แต่ละชีวิตก็เชื่อมร้อยกันได้อย่างประหลาดด้วยมุมมองของชายใบ้คนหนึ่ง ที่เพียงรับฟัง แต่ไม่อาจเข้าใจคำพูดของตัวละครทุกตัวได้อย่างครบถ้วน ...โดยสรุปคือเรื่องทั้งเรื่องทำให้เราเข้าอกเข้าใจความคับข้องใจของตัวละครทุกตัวได้ โดยที่ไม่มีตัวละครตัวใดเข้าใจกันเลย!
    ขอขยายความถึงการบรรยายแบบทะลุทะลวงของ แม็คคัลเลอร์ส สักนิด-มีอยู่บทหลายตอนที่เธอบรรยายความรู้สึกนึกคิดของตัวละครได้อย่างละเอียดลออ ความสงสัย ความอัดอั้น ระบายออกมาทางตัวหนังสือได้อย่างน่าทึ่ง อย่างตอนที่ตัวละคร 'บิฟฟ์' เจ้าของร้านอาหาร ต้องสูญเสียภรรยา ห้วงคำนึงของบิฟฟ์รำพึงออกมาว่า "ทำไมเล่าในกรณีที่เป็นรักแท้ คนที่อยู่ข้างหลังจึงไม่ฆ่าตนเองตามคนที่รักไปมากกว่านี้ เพียงเพราะคนที่ยังมีชีวิตอยู่ต้องจัดการฝังร่างคนตายอย่างนั้นหรือ เพราะพิธีกรรมที่ต้องมีการจัดให้สมบูรณ์หลังการเสียชีวิตหรือไร เพราะดูเหมือนว่าคนที่ยังอยู่ต้องก้าวขึ้นเวทีชั่วระยะหนึ่งและแต่ละวินาทีก็ขยายขึ้นเป็นช่วงเวลาไร้ขีดจำกัดและมีสายตาหลายคู่จับจ้องมองเขากระมัง" เป็นห้วงความคิดเล็กๆ ของสามีที่ทุกข์ระทมกับการจากไปของภรรยาที่ไม่น่าเชื่อว่าจะบรรยายออกมาจากปลายปากกาของนักเขียนสาวที่มีอายุเพียง 23 ปีในวันที่นิยายเรื่องนี้ถูกตีพิมพ์
    เมื่อเรื่องราวดำเนินไป ความเข้มข้นของชะตากรรมของแต่ละตัวละครก็ค่อยๆ บีบคั้นให้เรื่องเครียดเคร่งมากขึ้นๆ ดูเหมือนว่าในยุคแห่งความตกต่ำ ในดินแดนที่ตกต่ำ ความหวังของตัวละครแต่ละรายจะค่อยๆ ริบหรี่ลงอย่างเชื่องช้าและเลือดเย็น บางตัวละครเพียงเฝ้าดูสิ่งต่างๆ ย่ำแย่ลงโดยไม่สามารถดิ้นรนได้ ในขณะที่ตัวละครบางตัวหันหน้าปะทะกันอย่างรุนแรง 
    ช่วงตอนหนึ่งที่อาจถือเป็นไฮไลต์ของวรรณกรรมเรื่องนี้คือการปะทะเสวนากันระหว่างคุณหมอผิวสีกับไอ้หนุ่มจอมกบฏ ทั้งคู่ต่างฝันใฝ่ถึงสังคมแห่งความเท่าเทียมเหมือนกัน มีพลังที่อยากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงพวยพุ่งอยู่ในใจตลอดเวลาเหมือนกัน แล้วการพูดคุยจับเข่าระหว่างทั้งคู่ก็มีผลลัพธ์ที่...ไม่อยากสปอยล์ว่าชวนผิดหวังหรือสมหวัง แต่บอกได้ว่าช่าง 'สมจริง' เหลือเกิน
    จุดพลิกผันแต่ละจุดค่อยๆ เผยออกมา และหลายครั้งคราก็ทำให้คนอ่านใจหายวาบให้กับชะตากรรมของตัวละครแต่ละตัว ขอไม่เล่าเฉพาะเจาะจงลงไป แต่บอกได้แค่ว่ายิ่งอ่านคืบหน้าไป ก็ยิ่งรู้สึกว่าโชคชะตาของตัวละครในเรื่องแต่ง ไปๆ มาๆ ก็เกิดขึ้นได้ในชีวิตจริงของคนอย่างเราๆ เช่นกัน และถึงตอนนั้นเราอาจเซอร์ไพรซ์หรือด้านชาก็ได้ เหมือนกับตัวละครในนิยายเรื่องนี้นั่นเอง
    ซึ่งก็คงเหมือนกับที่เราทุกคนล้วนมีชีวิตเป็นของตนเอง ตัวละครแต่ละตัวก็มีชีวิตเป็นของตัวเอง และเรื่องเล่าแต่ละเรื่องก็มีชีวิตของตัวเองเช่นกัน ที่สุดแล้วก็ยากจะฟันธงลงไปว่าโศกนาฏกรรมแต่ละเรื่องควรจะเป็นความผิดของใคร ของการตัดสินใจจากความโหยหาของตัวละครนั้นๆ หรือมาจากความไม่แยแสในสังคมที่รายล้อมตัวละครนั้นอยู่ หรือเป็นความอำมหิตของผู้เขียนกันแน่ ...เราไม่อาจฟันธงได้เลย
    เราฟังธงไม่ได้แต่เราตีความได้ และการชวนให้ตีความคือความงามของวรรณกรรม ซึ่งในนิยายเรื่องนี้เต็มไปด้วยเรื่องชวนให้ตีความ ทั้งที่โดยเนื้อเรื่องแล้วมันแทบจะไม่มีอะไรให้ชุ่มชื่นหัวใจเลย แต่หากคุณชอบตีความ หลงรักสัญลักษณ์ ชื่นชมรายละเอียดที่ถูกบรรจงจัดวางไว้เพื่อรอการพินิจพิจารณา หรือชื่นชอบคำตอบที่ไม่ได้ถูกเขียนไว้อย่างโจ่งแจ้ง คุณจะสนุกกับการอ่านนิยายเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการ 'สลับมุมมอง' ที่ดูเหมือนจะเป็นทั้งกลวิธีดำเนินเรื่องที่ชวนติดตาม และยังชวนให้ตีความถึงเรื่องการทำความเข้าใจ-การเข้าอกเข้าใจกันของผู้คน ว่าในชีวิตจริงแล้วเราจะเข้าใจกันได้อย่างแท้จริงหรือไม่ หากไม่ลองเอามุมมองของตัวเองไปอยู่ในหัวจิตหัวใจของคนอื่นเสียบ้าง หรือว่าเราจะทำความเข้าใจกันได้เพียงแค่ในโลกของวรรณกรรม และคนที่เราเข้าใจว่าเข้าใจก็เป็นเพียงตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นโดยฝีมือของนักเขียนผู้เก่งกาจเท่านั้น
    หัวใจคือนักล่าผู้ว้าเหว่ ได้รับยกย่องให้เป็นวรรณกรรมเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งของอเมริกัน และส่งให้ คาร์สัน แม็คคัลเลอร์ส เป็นนักเขียนสมัยใหม่คนสำคัญของอเมริกาคนหนึ่ง มันถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ ละครเวที และละครวิทยุ ซึ่งละครวิทยุที่ว่าก็เพิ่งจะออกอากาศทาง BBC ของอังกฤษไปเมื่อเดือนมีนาคมปี 2020 นี่เอง
ภาพจากภาพยนตร์ The Heart is a Lonely Hunter (1968) นำแสดงโดย อลัน อาร์กิน และ แซนดรา ล็อก
    นี่คือเรื่องเล่าที่เล่าถึงสิ่งที่อยู่ในใจของผู้คนในยุคเศรษฐกิจและสังคมตกต่ำเมื่อ 80 ปีก่อน ในเมืองเล็กๆ ที่แทบไม่มีอะไรให้ทำ น่าประหลาดใจหรือไม่ ที่แม้ว่ามันผ่านมานานเหลือเกินแล้ว แต่เรื่องเล่าเรื่องนี้ยังคงเชื่อมโยงกับโลกวันนี้ได้อย่างแนบเนียน
    บางทีอาจไม่ใช่แค่เพราะนี่เป็นเวลาของความตกต่ำ หรือความทุกข์ยากเท่านั้นหรอกกระมัง แต่คงเป็นเพราะความเข้าอกเข้าใจระหว่างคนกับคนยังคงถดถอย และความว้าเหว่ในใจของผู้คนยังคงเป็นเหมือนเดิม ไม่เคยเปลี่ยน

วิภว์ บูรพาเดชะ

ผู้ก่อตั้งนิตยสาร happening, บรรณาธิการบริหารนิตยสาร happening, กรรมการบริหารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (bacc), นักเขียน, นักแต่งเพลง, นักฟังเพลง และนักอ่านตัวยง