เป็ดมักจะถูกใช้เรียกแทนคนที่ทำอะไรได้หลายอย่าง แต่ไม่เชี่ยวชาญสักอย่าง ทั้งที่จริงๆ แล้วธรรมชาติของเป็ดนั้นมีลักษณะเฉพาะตัว เฉลียวฉลาด และน่าสนใจ แถมท่าทีที่เป็ดรับมือกับชีวิตบนบกและบนผิวน้ำนั้นกลับทำให้อยากรู้จักกับมันให้ดีขึ้นกว่าเดิม
การฟังผลงานเพลงจากศิลปินคนโปรด รับชมคอนเสิร์ตอย่างสนุกสนาน และการร่วมกิจกรรมที่น่าสนใจของค่ายเพลง วอท เดอะ ดัก (What the Duck) เหมือนการได้สัมผัสบุคลิกและลักษณะนิสัยภายนอกของเป็ด ทั้งใบหน้าที่ส่งยิ้มให้อย่างอารมณ์ดี ท่วงท่าการเดินบนบกที่น่าติดตาม หรือ การลอยบนผิวน้ำอย่างผ่อนคลายสบายใจ แต่การจะเดินหรือล่องไปบนผิวน้ำได้อย่างอิสระต่างก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ การขับเคลื่อนวงการดนตรีไทยอย่างสร้างสรรค์ โดยเบื้องหลังนั้นยังมีเท้าของเป็ดทั้งฝูงที่กำลังตีอยู่ใต้น้ำอย่างแข็งขันนั่นเอง
นับตั้งแต่วันที่ค่ายเพลง วอท เดอะ ดัก ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2557 ค่ายเพลงแห่งนี้ค่อยๆ เติบโตขึ้นตามวัย โดยมี 3 ผู้บริหารของค่ายคือ ออน-ชิชญาสุ์ กรรณสูต กรรมการบริหาร (Executive Director), มอย-สามขวัญ ตันสมพงศ์ กรรมการผู้จัดการ (Managing Director) และ บอล-ต่อพงศ์ จันทบุบผา ผู้อำนวยการฝ่ายคัดสรรและพัฒนาศิลปิน (Artist Director)
หากย้อนดูความสำเร็จของศิลปินในค่ายที่ทำให้แฟนเพลงเริ่มทำความรู้จักกับ วอท เดอะ ดัก อาจจะเริ่มมาจากเพลง
การเดินทาง ของ ชาติ-สุชาติ แซ่เห้ง ที่มีผู้ฟังในยูทูบถึง 200 กว่าล้านวิวไปแล้ว จากนั้นแฟนเพลงจึงรู้จักศิลปินชื่อ เดอะทอยส์ (The Toys) หรือ ทอย-ธันวา บุญสูงเนิน เป็นครั้งแรกเมื่อเขาปล่อยเพลง
ก่อนฤดูฝน (Before Rain) ที่ทำให้ทุกคนต้องหาเนื้อของท่อนแรปมาอ่านว่าเขาร้องว่าอะไร รวมถึง โบกี้ไลอ้อน (BOWLYLION) หรือ โบกี้-พิชญ์สินี วีระสุทธิมาศ ศิลปินหญิงที่เข้าไปนั่งในหัวใจผู้ฟังตั้งแต่ปล่อยเพลง
ลงใจ (Longjai) จนตอนนี้เธอปล่อยเพลงใหม่เมื่อไรยอดวิวทะลุล้านเมื่อนั้น
เมื่อประกอบกับการขยายยูนิตใหม่ๆ ภายใต้สังกัด วอท เดอะ ดัก อย่างค่าย วูฟ (WHOOP) ที่มี ทอย เป็นผู้บริหาร และ ค่าย มูน ฟลาวเวอร์ (moonflower) ที่ โบกี้ ร่วมบริหารกับ ยี่-ชยปัญญ์ จันทรานุสนธิ์ คอยนำเสนอศิลปินหน้าใหม่มาให้คนฟังรู้จักกันแล้ว ยังมี มิลค์ (MILK!) Artist Service Platform แห่งแรกของประเทศไทย ที่เปิดพื้นที่ให้ศิลปินเข้ามาเรียนรู้การทำงานอย่างอิสระอีกด้วย
mute. หรือ มิ้ว - รวินิษฐ์ เจตน์อริยวิภา ศิลปินจากค่าย WHOOP
Wine หรือ ไวน์ - เนติ ศรีสงคราม ศิลปินคนแรกจากค่าย moonflower ภายใต้การบริหารของ โบกี้ไลอ้อนและยี่ มือเบสจากวง Safeplanet
เราจึงชวนมอยและบอล มาพูดคุยถึงเบื้องหลังการทำงานที่ทำให้ค่าย What the Duck ขยายฝูงเติบโตขึ้นอย่างทุกวันนี้
ช่วยเล่าย้อนไปในจุดเริ่มต้นของ วอท เดอะ ดัก ทำไมถึงคิดที่จะทำค่ายเพลงในตอนนั้น?
มอย: ผมว่า ณ ตอนนั้นมันเป็นช่วงเปลี่ยนถ่ายของอุตสาหกรรมดนตรีในบ้านเรา ผม พี่ออน และพี่บอล เคยทำงานร่วมกันมา ผมกับพี่บอลทำค่ายมาด้วยกัน แล้วพี่บอลเป็นนักดนตรี ผมคิดว่าเราทั้ง 3 คน มีแบ็คกราวน์การทำงานในธุรกิจบันเทิงที่เคยผ่านยุคตอนที่รายได้หลักของค่ายเพลงยังมาจากการขายเทปขายซีดี ก่อนจะเป็นยุคที่เจอพวกเอ็มพี 3 แล้วตอนนั้นค่ายเพลงจะหารายได้จากตรงไหน มันเป็นช่วงที่อุตสาหกรรมดนตรีทั่วโลกกำลังงงๆ กันอ่ยู่ แต่ว่าจังหวะนั้นมันเริ่มมียูทูบเข้ามา เริ่มมี iTunes Store เข้ามา ก็ยังไม่แน่ใจมากหรอก แต่เราเริ่มเห็นอะไรบางอย่างเกี่ยวกับการเปลี่ยนวิธีการฟังเพลงของแฟนเพลง แล้วเราเริ่มมองเห็นปลายทางของค่ายเพลงแล้วว่ามันจะเปลี่ยนเป็นรูปแบบดิจิตัลเต็มตัว เราเองก็ทำงานอยู่ค่ายเพลงกันประมาณหนึ่ง จนเราเห็นลู่ทางอะไรต่างๆ แล้วด้วยอายุด้วยมั้ง ผมเลยรู้สึกว่าผมอยากจะลองเริ่มทำอะไรด้วยตัวเอง เลยเป็นที่มาที่ชวนพี่ๆ เพื่อนๆ มาลองทำตรงนี้กัน ซึ่งทุกคนรอบๆ ตัวก็ไม่ได้เห็นด้วยเสมอนะ ณ ตอนนั้นคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการจริงๆ น่ะ เขาจะบอกว่า 'ใครยังฟังเพลงอยู่วะ' 'ใครยังจ่ายตังค์ให้เพลงอยู่วะ' 'ใครยังซื้อซีดีอยู่วะ' 'ค่ายเพลงแม่งเจ๊งแน่ๆ เลย' แต่ผมคิดว่าคนอินไซด์จริงๆ ยังเห็นโอกาสต่างๆ อยู่
ผมคิดว่ามันเป็นอีกยุคหนึ่งในการเริ่มเซตอัพทำค่ายเพลง ผมแบ่งเป็นหลายๆ ช่วงนะ สมัยก่อนหน้าเราจะมีล็อตแรกที่มีล็อตอินดี้ มีพี่ๆ เบเกอรี่มิวสิก พี่ๆ สมอลล์รูม ช่วงนึงที่มีค่ายเพลงเยอะๆ แล้วก็ช่วงนึงที่โดนเทปผีซีดีเถื่อนแล้วหายจากกันไป ยุคเรากำลังเริ่มยุคดิจิตัลแล้ว เรามองเห็นโอกาสตรงนั้นแหละ ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ นอกเหนือจากเรื่องที่จะมาซัพพอร์ตการฟังเพลงแล้ว มีเดียก็สำคัญ สมัยก่อนเรามองว่าการทำค่ายเพลงมันยากมาก เพราะการฟังเพลงมันมีไม่กี่ทาง วิทยุ โทรทัศน์ แล้วก็สื่อนิตยสาร หนังสือพิมพ์ ซึ่งสื่อพวกนั้นเจ้าของก็มีไม่กี่เจ้า มันค่อนข้างคุมตลาดทั้งหมด แต่พอวันที่เราเริ่มทำงาน เริ่มเห็นว่าเพลงนอกกระแสสามารถทำงานได้ คนเริ่มเข้าใจว่าค่ายเพลงไม่ได้มีแค่อาร์เอส แกรมมี่ มันมีตรงกลาง มีคนพวกนี้อยู่ เราเลยมองว่า เราลองทำไหม เป็นที่มาว่าเราเริ่มเซตอัพ วอท เดอะ ดัก ขึ้นมา
บอล: ก็ต้องขอบคุณมอย ขอบคุณคุณออนที่ชวน เพราะว่าตอนนั้นหลายๆ คนอาจจะเห็นว่าเราเล่นดนตรี เป็นสิ่งที่คนเห็นตัวเราได้ชัดที่สุด แต่จริงๆ ตัวผมเริ่มต้นด้วยการทำงานเบื้องหลังตั้งแต่แรกๆ ทำอยู่ที่แกรมมี่มาก่อน เก็บประสบการณ์จนมาอยู่ที่สุดท้ายที่บริหารร่วมกับกันมอย ตอนเขาชวนก็แอบเซอร์ไพร์สนิดนึง ถ้าตัดในแง่ของการเป็นนักดนตรีออกไปก่อน ในแง่ของคนทำงานการได้ลงทุนหรือทำอะไรที่เป็นของเราเองน่าจะเป็นขั้นสูงสุดของการทำอาชีพใดอาชีพหนึ่ง เหมือนกับเราจะต้องรับผิดชอบเองทุกอย่าง มีเรื่ององค์ประกอบหลายๆ อย่างมารวมกันตรงนั้น แต่ก็ด้วยประสบการณ์ผมเป็นครอบครัวราชการ ซึ่งแน่นอนว่าตัวเองไม่ได้มีประสบการณ์การทำธุรกิจ โอเคเราบริหาร แต่เราไม่ใช่เจ้าของ กับสองที่มอยบอกคือ พอเป็นคนนอก หรือครอบครัวก็จะรู้สึกว่า ธุรกิจเพลงเป็นสิ่งที่ทำให้เราสามารถดูแลตัวเองดูแลคนรอบข้างได้หรือ มันใช่คำตอบหรือเปล่าสำหรับตอนนั้น แต่ก็ตัดสินใจทำ ด้วยช่วงเวลา ด้วยประสบการณ์ ด้วยวัย ด้วยองค์ประกอบหลายๆ อย่างคิดว่า ถ้าจะลองทำอะไรสักอย่างน่าจะเป็นตอนนั้น ก็คิดแค่นั้น ที่คิดว่าเชื่อมั่นด้วยเพราะผมกับมอยนอกจากทำธุรกิจกันจริงๆ เราเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกัน รู้จักมักจี่ ผมรู้จักครอบครัวของมอย และในแง่การทำงานเราก็เหมือนทำงานซัพพอร์ตกันมาตลอดเวลา ในหมวดการทำงานก็ค่อนข้างเอื้อ น่าจะเติมเต็มในส่วนที่เรามีและไม่มีกันได้ บวกกับคุณออนอีก จริงๆ ต้องขอบคุณทีม เพราะผมดูแลเรื่องเกี่ยวกับศิลปินหมวดเดียวคงไม่สามารถทำธุรกิจได้ ก็เลยตัดสินใจเอาด้วยในเวลานั้น สนุกดีครับ ท้าทาย
แล้วสำหรับผมมันเหมือนมีการบ้านทุกปีนะ แม้แต่วันนี้ก็ยังมีการบ้านอยู่ ท้าทายมากขึ้น แต่สิ่งที่ช่วยกันได้อย่างที่บอกว่าเราเอาประสบการณ์ของแต่ละคนมาเบลนรวมกัน กับทีมน้องๆ ที่คุยกันมาแต่แรกหรือคนที่เข้ามาแล้วจากไปรวมถึงศิลปินก็ทำให้ยังมีวันนี้ได้อยู่ เซอร์ไพร์สเหมือนกัน น่าจะเป็นอาชีพที่ได้ทำแล้วเผอิญเป็นของตัวเองด้วย ผมมีอายุงานกับการทำงานที่ วอท เดอะ ดัก นานที่สุดแล้ว 8 ปี ที่ผ่านมาเคยทำงานที่นึงนานสุดคือ 7 ปี ซึ่งผมเคยตั้งชาเลนจ์ในใจไว้ว่า อยากทำงานที่นึงให้ได้นานๆ เคยคิดไว้จากที่ก่อนแล้วเป็นเป้าส่วนตัว ถ้าบอกใครว่าทำงานที่นี่ได้ 10 ปีแล้วมันคงดูนานดี อีก 2 ปีก็คงจะอวดคนอื่นได้ว่าเราทำงานที่นี่มาได้ 10 ปีแล้ว
มีแนวคิดในการบริหารค่ายเพลงหรือวางระบบการทำงานร่วมกับศิลปินอย่างไร?
บอล: ช่วงแรกๆ คือเซตธุรกิจก่อน
มอย: เอาให้รอดก่อนดีกว่า แต่เรารู้อยู่แล้วแหละ ตอนที่เราหันมาทำงานนี้เราจะเข้ามาอยู่ในเกมของค่ายเพลง เราเจอศิลปิน เราเริ่มรู้วิธีการ แล้วเราก็เชื่อในพลังของคนรุ่นใหม่ ดังนั้นอีกเรื่องนึงที่จะย้ำว่าค่ายเราอาจจะไม่เหมือนใครตอนที่เราสร้าง คือเรื่องการที่เราให้ศิลปินนำ เรามองว่าเราไม่เก่งพอ ผมไม่เก่งพอที่จะบอกโบกี้ไลอ้อนให้แต่งเพลง ไม่เก่งพอที่จะบอกให้เดอะ ทอยส์เล่นกีตาร์แบบนี้ ให้ กอล์ฟ ฟักกลิ้งฮีโร่แรปเรื่องนี้ ผมและทีมทำสู้เขาไม่ได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการทำงานในค่ายเรามองว่าเราเอาศิลปินเป็นตัวตั้ง เพราะว่าเราเชื่อในตัวเขาเหลือเกินก่อนที่เราจะเซ็นสัญญากับเขา ดังนั้นทุกสิ่งทุกอย่างใน วอท เดอะ ดัก มันขับเคลื่อนด้วยศิลปิน ทีมงานที่เข้าใจศิลปิน และเห็นมิชชั่นของศิลปินว่าเขาจะไปยังไงต่อ เขาจะเติบโตไปยังไง เรามีหน้าที่แค่คอยซัพพอร์ตวิชั่นของเขา ถ้าศิลปินบอกว่า 'พี่อีกสองปีผมอยากจะมีคอนเสิร์ต' 'ผมอยากจะเล่าเรื่องแบบนี้' 'อัลบั้มนี้ผมวางแบบนี้' เรามานั่งคุยกัน หน้าที่ค่ายที่ดีที่สุดคือเราซัพพอร์ตความฝัน ความคิดสร้างสรรค์ของเขาให้ได้ อันนี้น่าจะเป็นคีย์หลักๆ เลย เพราะค่ายเราไม่มีการเคาะเพลง ไม่มีโปรดิวเซอร์ ไม่มีห้องอัด มีห้องทำเดโมเล็กๆ อยู่ ไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับโปรดักชั่นมาก เพราะเราเชื่อในพลังของศิลปิน พี่บอลเขาชัดเจนอยู่แล้ว เราพยายามจะเซ็นกับศิลปินที่ใหม่จริงๆ เราไม่อยากจะไปเซ็นกับศิลปินที่มาจากค่ายนี้ค่ายนั้น เราอยากจะสร้างศิลปินใหม่ๆ จริงๆ ผมว่าอันนี้น่าจะเป็นวิธีการของเราที่ไม่เหมือนค่ายอื่น จนถึงทุกวันนี้เราก็ยังเป็นแบบนั้นอยู่
บอล: ผมเสริมเรื่องของศิลปินอย่างที่บอกว่าเราไม่ค่อยได้ยุ่งเรื่องของโปรดักชั่น เพราะว่าเราค่อนข้างเชื่อมั่นในการสร้างงานของศิลปิน อาจจะเป็นเพราะตัววงผมเองก็เติบโตในช่วงเวลานั้น แล้วเราก็เป็นนักฟังเพลง มันเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างตั้งแต่ยุคเบเกอรี่แล้ว จริงๆ ผมเริ่มต้นทำงานที่แกรมมี่ เป็นค่ายเพลงที่มีรูปแบบการทำงานหลายอย่าง แต่รูปแบบการทำงานหลักจะเป็นระบบการทำงานที่มีโปรดักชั่น มีโปรดิวเซอร์ มีนักแต่งเพลงให้ ซึ่งเราได้ไปเรียนรู้ตรงนั้นแล้ว และเติบโตมาในยุคของเบเกอรี่ที่เริ่มเห็นว่าเบเกอรี่เริ่มใช้ระบบการจัดการที่ผสมผสานมากขึ้น โอเคมีโปรดิวเซอร์ แต่ว่าศิลปินมีส่วนร่วมในการสร้างผลงานมากขึ้น บวกกับตอนที่เราเริ่มทำเอง โชคดีที่จังหวะความน่าสนใจของศิลปินที่อยากทำผลงานเองมันเริ่มได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น รวมถึงบุคลากรที่เริ่มจบออกมาจากสถาบันการศึกษาที่เขามีคณะเกี่ยวกับดนตรี คณะดุริยางคศาสตร์ต่างๆ ฉะนั้นเทรนด์นึงหรือวิธีการทำงานของบุคลากรในยุคนั้นคือเขาเริ่มสนใจทำงานเพลงของตัวเองแล้ว โอเค ในแง่ของประสบการณ์ก็เป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆ เติมกันไป อีกอย่างเรามีทีมโปรโมชั่น เป็นโปรโมเตอร์ ทำเรื่องอาร์ตทิสแมนเนจเมนต์ต่างๆ นานาให้ เรารู้สึกว่าเสน่ห์ของศิลปินตอนนั้นคือการที่เขาได้สร้างงานด้วยตัวของเขาเอง แล้วเราคอยเป็นพี่เลี้ยง คอยนำทางเขาไปอยู่ในจุดที่เขาสนใจที่จะไป แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่มีโปรดักชั่นสนับสนุน แต่เราอยากให้ศิลปินเป็นตัวตั้งก่อน ถ้าวันนึงเขาต้องการโปรดิวเซอร์ ต้องการนักแต่งเพลง ต้องการการจัดการ เราสามารถนำส่วนนั้นเข้าไปเสริมได้ ผมรู้สึกว่า แพสชั่นของเราคือการที่เราสนใจในสิ่งที่เขาอยากจะเล่าผ่านแพชชั่นของเขา เรามีแพสชั่นต่อศิลปินที่มีแพสชั่นต่องานของเขา ผมคิดว่ามันต่อเนื่องกันดี มันเลยเกิดโครงสร้างบางอย่างที่ให้เขาเป็นโปรดักชั่นแล้วเราเป็นคนซัพพอร์ต นำพาเขาไปสู่เป้าหมายที่เขาอยากจะไปด้วยกัน
การที่ศิลปินสามารถสร้างสรรค์งานเพลงของตัวเองได้เพราะแพลตฟอร์มของอุตสาหกรรมดนตรีช่วงนั้นกำลังเปลี่ยนไปพร้อมๆ กับเครื่องมือและเทคโนโลยีที่เข้าถึงง่ายขึ้นด้วยใช่ไหม?
มอย: เทคโนโลยีสำคัญด้วยครับ และผมว่าทุกอย่างมันเอื้อเหลือเกินในยุคของเรา ที่พี่บอลพูดก็ถูกจุด เรื่องบุคลากรก็สำคัญ 20 ปีที่แล้วไม่มีคณะดุริยางคศาสตร์ในเมืองไทย แต่ 10 ปีก่อนมันเริ่มมี แล้วสร้างบุคลากรที่เก่งๆ ขึ้นมา มันไม่ใช่แค่มีดุริยางค์แล้ว เอแบคเริ่มมีคณะ Music Bussiness ศิลปากรเริ่มมี มหิดลก็มี เริ่มมีคณะอะไรพวกนี้ที่มันเอื้อ มีสาขา Music Technology ผมว่ามันประกอบกันหลายๆ ส่วนจนเป็นเรื่องของเจเนอเรชั่นใหม่ที่กำลังจะเข้ามาพัฒนาวงการเพลง
เมื่อการทำงานของค่ายเริ่มอยู่ตัวแล้ว เป้าหมายของ วอท เดอะ ดัก เหมือนหรือแตกต่างไปจากเดิมบ้างไหม?
บอล: ของผมอาจจะพูดได้ง่ายกว่า เพราะว่าเราดูแลในส่วนของศิลปิน ผมว่าเป้าหมายยังเหมือนเดิม คือศิลปินที่เราเลือกเซ็นมาหรือได้เข้ามาทำงานร่วมกันคือศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานด้วยตัวเอง และหลายศิลปินก็เป็นที่รู้จักที่ทุกคนอาจจะเคยได้ยินได้ฟังอยู่แล้ว บุคคลเหล่านั้นเราจะได้เห็นเป้าหมายเห็นตัวตนของเขาชัดเจนตามสิ่งที่เขากำลังทำอยู่ แต่ช่วง 2-3 ปีหลังมานี้เราขยายวิธีการทำงานกับศิลปินลงไปหาศิลปินที่เป็นหน้าใหม่จริงๆ มากขึ้นกว่าเดิม หลายคนอาจจะเคยได้ยิน Artist Service Platform ที่เราเรียกว่า มิลค์ มันเกิดขึ้นจากช่องว่างของเทคโนโลยีที่ปัจจุบันนี้เทคโนโลยีมันทำให้เด็กรุ่นใหม่สามารถสร้างสรรค์ผลงานเอง แบบที่มีช่วงหนึ่งคนบอกว่าศิลปินไม่ต้องมีค่ายก็ได้ มีค่ายไปทำไม ซึ่งมันถูกพิสูจน์แล้วว่าค่ายยังจำเป็นต่อศิลปินอยู่เมื่อวัตถุประสงค์ของศิลปินในการทำอาชีพนี้เปลี่ยนไป เมื่อมีความรับผิดชอบหรือมีความจริงจังมากขึ้น แต่เดี๋ยวนี้เรามองว่าด้วยความที่อายุของ วอท เดอะ ดัก มันโตขึ้น แล้วทั้งตัวศิลปินและทั้งตัวค่าย เมื่ออายุการทำงานของค่ายหรือการรับรู้ของคนที่ได้ยินชื่อค่ายนี้จนคุ้นเคยกันมากขึ้น เป็นธรรมดาว่าบางทีมันอาจจะมีระยะห่าง หรือช่องว่างกับเด็กที่เพิ่งเริ่มต้นฟังเพลง หรือเริ่มต้นทำงานเพลง
เราเลยรู้สึกว่าทำยังไงที่ค่าย วอท เดอะ ดัก จะเป็นค่ายที่เราทำงานกับศิลปินรุ่นใหม่เสมอ แต่บางครั้งเราอาจจะต้องรอศิลปินรุ่นใหม่ให้เขาโตมาถึงจุดหนึ่งที่เราจะทำงานร่วมกับเขา ขณะที่ศิลปินอาจจะทำเองจนแข็งแรงแล้วไม่ได้เข้ามาร่วมงานกับค่ายเรา หรือบางคนอาจจะทำเองจนท้อแล้วเลิกไปก่อน หรือบางคนโตถึงจุดหนึ่งก็ต้องเข้าสู่ระบบการแข่งขันหรือการแย่งชิง หรือการทำการตลาดของแต่ละค่าย ผมว่ารวมกันเป็นทุกมิติของมันแหละ เราเลยต้องสร้างเซอร์วิสขึ้นมา โดยเอาความรู้ของ วอท เดอะ ดัก ที่ไม่มีกฎระเบียบหรือข้อบังคับที่จริงจังเป็นมืออาชีพแบบ วอท เดอะ ดัก มาก มาทำเป็นชุดความรู้ให้เด็กๆ นำไปใช้ ด้วยเรื่องของระบบการให้การศึกษา ระบบออนไลน์ การทำมาร์เกตติ้งต่างๆ รวมถึงเงินทุนก้อนนึงที่เขาสามารถเอาไปใช้ทำงานได้ โดยที่เขาก็ยังไม่ได้เสียตัวตนของการทำงานในฐานะศิลปินอิสระ
เราสร้างมิลค์ขึ้นมาแล้วก็เริ่มเป็นที่รู้จัก เริ่มได้รับการยอมรับ แล้วก็ได้รับความไว้วางใจจากศิลปินหน้าใหม่มากขึ้น โดยที่เขาอาจจะยังค้นหาตัวเองอยู่ ผมมองว่าผลลัพธ์ของมัน กระทั่งว่าแม้ศิลปินจะไม่ทำงานกับเราต่อ หรือไม่ได้เป็นศิลปินแล้ว แต่นั่นคือผลลัพธ์ที่มิลค์ต้องการคือ เราขอให้เขาเข้ามาเรียนรู้ เพื่อที่จะได้รู้จักตัวตนของเขา ได้ทดลองทำงานกันนะ เหมือนการเป็นอะคาเดมีชนิดหนึ่งที่มีเป้าหมายในแง่การทำการตลาดเพื่อสื่อสารกับศิลปินหน้าใหม่ เราลงมาอยู่กับชุมชนของคนที่ทำงานเพลงมากขึ้น คนที่ยังไม่ได้มองเรื่องของกำไร หรือเรื่องของอาชีพ โดยที่เรายังมี วอท เดอะ ดัก ที่จะพัฒนาเติบโตมากขึ้น หาช่องทางใหม่ๆ ซึ่งจะเป็นมอยที่ดูแลมากขึ้น
มอย: ผมว่าจริงๆ หลักที่เราทำงานจริงๆ เหมือนเดิมเป๊ะ แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันพฤติกรรมของคนฟังเปลี่ยนเร็วมาก สมัยก่อนฟอร์แมตมันยังเปลี่ยนช้า กว่าจะไวนิล เทป ซีดี เอ็มพี 3 ตอนนี้พอมีมิวสิกสตรีมมิง เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมาผมว่ามันยิ่งบูมสุดๆ มีโควิดอีก การเปลี่ยนวิธีการฟังเพลง การเสพสื่อ มันเต็มไปหมดเลย ดังนั้นเราเอาในฐานะค่ายเพลง เราไม่ได้ทำค่ายอย่างเดียว คือค่ายก็เป็นค่าย แต่ว่าภายในค่ายมีศิลปิน ศิลปินเขาก็ต้องอยู่รอดได้ด้วยในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ในฐานะของค่ายเราก็ต้องพยายามรับรู้เทคโนโลยีต่างๆ ที่เข้ามาเปลี่ยนในการทำงานกับศิลปิน และในการทำงานกับแฟนเพลงของเขา มันค่อนข้างเปลี่ยนเร็วมากจนบางครั้งมันเปลี่ยนเร็วจนน่ากลัวครับ อย่างศิลปินบางท่านไม่ได้ผิดอะไรเลยนะ ทำเพลงแบบปกตินี่แหละ แต่อยู่ดีๆ ก็ช้าไปซะแล้ว หรือไม่มีคนฟังซะแล้ว ทั้งๆ ที่เพลงที่เขาปล่อยออกมามาตรฐานดี เพลงดีทุกอย่าง แค่ปีที่แล้วสนใจกันมาก แต่คนไม่ได้สนใจ ณ ตอนนี้ มันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ผมคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องพฤติกรรมของคน มันไม่ใช่แค่เพลง ผมคิดว่าเป็นการเสพคอนเทนต์บางอย่างที่เร็วมาก คนชอบอะไรสั้นๆ มันเลยเป็นการมาของติ๊กต๊อก (TikTok) ยูทูบที่เริ่มมีวิดีโอสั้นๆ หรืออินสตาแกรม (Instagram) ที่ต้องออกรีลส์ (Reels) ขึ้นมาแคปชั่นโมเมนต์นี้ของคนที่มีวิธีการเสพเอนเทอเทนเมนต์คอนเทนต์ ผมมองว่าเพลงก็ไม่ได้ต่างกับซีรีส์หรือคอนเทนต์ต่างๆ ที่เราเสพกันทางโทรศัพท์ทุกวันนี้ เรามีหน้าที่แค่เราต้องไปแย่งพื้นที่ตรงนี้ มันไม่ใช่แค่แย่งกับศิลปินคนอื่นนะ มันแย่งทุกอย่างเลย เรากำลังจะแย่งเวลากัน ตรงนี้เราก็ต้องเปลี่ยนตาม ค่ายก็ต้องไปบอกศิลปินให้เปลี่ยนแปลงตัวเองบ้าง บางท่านแทบจะไม่ได้เล่นโซเชียลเลย แต่ถามว่ามันจำเป็นไหม จำเป็นมาก กุญแจความสำเร็จของศิลปินทุกวันนี้คุณต้องเขียนเพลงให้ดี คุณต้องมีคาแรกเตอร์ คุณต้องมีความเป็นเอกลักษณ์อะไรต่างๆ โอเคโซเชียลแพลตฟอร์มคุณต้องอยู่ตรงนั้น คุณต้องสื่อสารตรงนั้น เพราะคนทั้งหมดอยู่ตรงนั้น ถ้าคุณไม่เล่นเลย มันยากมากๆ ที่จะประสบความสำเร็จ สำหรับมุมมองของผม ณ ตอนนี้ นี่ก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งว่า พอธุรกิจของเราเหมือนเดิมมาก แต่เราต้องเปลี่ยนให้ทันกับโลก
หลังๆ เราเริ่มมีนอกจากที่เรามีมิลค์เปิดมาช่วงที่โควิดมาปีแรกเลย โชคดีที่ตลอด 3 ปีที่เราเปิดมานี้เรามีศิลปินที่คอยเข้ามาสนใจเรา นอกเหนือจากนั้น 2 ปีที่ผ่านมา เรามียูนิตใหม่เป็นค่ายที่เราร่วมมือกับน้องๆ ที่เขาอยากจะเริ่มอยากทำอะไรเพิ่มเติมแต่เขายังไม่พร้อมที่จะไปทำเองคนเดียว แต่เขาเชื่อในทีมน้องๆ ของเราที่แข็งแรงแล้วเชื่อใจกัน เลยมีค่ายที่เราเปิดใหม่อยู่ 2 ค่ายคือ วูฟ ที่เราทำงานร่วมกับเดอะ ทอยส์กำลังมีอยู่ 3 ศิลปิน และสดๆ ร้อนๆ เลยก็มีค่ายของโบกี้ที่ชื่อว่า มูนฟลาวเวอร์ ซึ่งโบกี้ทำกับยี่ ก็มีแตกไลน์และยูนิตเพิ่ม แล้วก็มีอีกยูนิตนึง เราเรียกว่า ซอส (SAUCE) ซึ่งเรายังไม่ได้ทำพีอาร์ใดๆ เลย เป็นอีกอันนึงที่เราต้องพยายามปรับตัวให้ทัน อย่างที่พี่บอลบอก ศิลปินบางคนอยากเป็นอิสระไม่อยากเซ็นสัญญา แต่ทุกวันนี้เขาอยากได้บางอย่างมาซัพพอร์ตไหม บางอย่างที่เขาทำเองไม่ได้ นอกเหนือจากการที่ทำเพลงเสร็จเขาสามารถปล่อยเพลงผ่านช่องทางต่างๆ ได้ มีผู้จัดจำหน่ายอิสระเยอะแยะ Solution One หรือ Believe Digital หรือปล่อยเพลงผ่านระบบ Spotify หรือ iTunes Store เองได้ อันนี้มันจบ แต่ถามว่าถ้าคุณอยากจะมีอาชีพที่เป็นนักดนตรีจริงๆ มันไม่ใช่แค่คุณมีเพลงที่ดี คุณต้องมีพีอาร์ที่ดี การสร้างแบรนดิ้งของคุณ การทำงานอีกหลายๆ อย่าง ซึ่งวันนี้จำเป็นที่คุณต้องมีทีมงานแบบนี้ ผมเลยคิดขึ้นมาว่า ผมเปิดซอสขึ้นมา ผมเรียกว่า Marketing and Promotion Service คุณทำเพลงคุณให้เสร็จแล้วมาหาเรา เราจะสามารถนำเพลงของคุณไปอยู่ในที่ๆ ควรจะเป็นได้ น่าจะปลายปีนี้แหละ เราอาจจะมีเปิดตัวอันนี้อีกอันนึง ผมว่ามันอาจจะต้องเปลี่ยน เพราะโลกมันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก
แต่ทั้งหลายทั้งปวงผมว่าแก่นของธุรกิจ (core business) ที่เราทำมาจนถึงวันนี้ 8 ปีเรายังเหมือนเดิมเลย
มีช่วงที่ วอท เดอะ ดัก รู้สึกเหนื่อยเป็นพิเศษไหม?
มอย: ไม่มีครับ เพราะเหนื่อยตลอด (หัวเราะ) เหนื่อยแต่ว่าผมแฮปปี้ครับ ธุรกิจเรามันดูเหมือนง่ายนะ เพราะคนจะเห็นตอนที่มันสำเร็จแล้ว แต่ว่าก่อนหน้านั้นผมว่ามันยากเหลือเกิน คนอยากเป็นศิลปินเยอะแยะ การเป็นศิลปินก็ไม่ยาก แต่ว่าการเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จนี่มันยากมาก มันยากจริงๆ ต้องทำงานกันหนักมาก ที่เห็นอยู่ตรงนี้เห็น The Toys อยู่คนเดียวแต่ว่ายังมีคนอยู่ข้างล่างอีกเยอะมาก ภูเขาน้ำแข็งมันเยอะ มันก็เหนื่อย แต่เมื่อเราเห็นวันที่เขาประสบความสำเร็จ เมื่อเราส่งเขาได้ เขามีอาชีพ เขาสามารถดูแลตัวเองได้ ดูแลครอบครัวได้ มันก็อิ่มใจเรา พูดแล้วเหมือนแบบดูเท่ๆ นะ แต่มันก็จริง เราเห็นน้องๆ บางคนทำงานจากไม่มีเงินเลย ทุ่มเทไปทั้งหมดก็ยังไม่ได้ จนวันนึงมันได้ ผมว่าอันนี้มันตอบโจทย์ในการทำงานของผม นอกจากเรื่องธุรกิจที่เราต้องดำเนินงานให้มันคงอยู่ได้
บอล: จริงๆ มันคล้ายกัน รูปธรรมคือทำให้การเป็นศิลปินเป็นอาชีพที่เขาสามารถดูแลตัวเอง ดูแลคนรอบข้างได้ มีรายได้ ในแง่นามธรรมคือเขาประสบความสำเร็จ เป็นที่รู้จัก เป็นที่รัก ถูกจดจำ แล้วก็ได้ถูกพาไปอยู่ในสปอตไลท์มากขึ้น เขาเรียกว่ายังไงล่ะ มันเป็นความสุขเหมือนเพื่อนเฮกันครับ แต่อย่างที่บอกว่า กว่ามันจะไปถึงจุดนั้นได้มันก็แบบแทรกไปด้วยเรื่องที่เราต้องเรียนรู้ ต้องคอยแก้ปัญหาไปเรื่อยๆ เพราะบางครั้งสปอตไลท์มันก็ไม่ได้สว่างอย่างเดียว มันไม่ได้มีแต่เรื่องดีๆ บางครั้งเป็นเรื่องใหม่ที่เราไม่เคยเจอมาก่อนก็มี ต้องแก้แล้วก็ต้องเรียนรู้มันไป ที่ผ่านมามันก็ยังไม่มีอะไรที่เป็นวิกฤตแบบมีใครล้มหายตายจาก แต่ก็เป็นวิกฤตเรื่อยๆ ให้ได้เรียนรู้และยังรอดกันได้อยู่ แต่ว่ารู้สึกว่าได้อะไรเยอะมากครับ โดยเฉพาะช่วง 2-3 ปีหลังที่มีโควิด คือมันมีช่วงที่เราคิดว่าหลายๆ อย่างมันแย่ที่สุดแล้ว ทุกคนได้เจอในสิ่งที่มันแย่กว่านั้นอีกครับ แล้วธุรกิจเพลง ธุรกิจบันเทิงมันได้รับผลกระทบสูงมาก โดยเฉพาะศิลปินหน้าใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน เป็นกลุ่มที่เขากำลังต้องการเริ่มสร้างชุมชน สองปีแรกเรารู้สึกสงสารเขานิดนึง เพราะเขาไม่มีโอกาสได้ออกไปทำงานได้มากเท่าที่ศิลปินหน้าใหม่ควรจะได้ทำ พอตอนนี้กลับมาปกติเราจึงแพลนที่จะชดเชยในเรื่องตรงนั้น เร่งบางอย่างให้เร็วขึ้นเพื่อชดเชยในสิ่งที่หายไปช่วงนั้น แล้วมันก็สนุก โชคดีที่ศิลปินและทีมงานรู้ว่าทุกคนจะทำอะไรเพื่อซัพพอร์ตขึ้นกันและกัน หวังว่าจะได้ทำงานไปแบบยาวๆ เรื่อยๆ โดยที่ไม่ต้องเบรคหรือชะลออะไรอีกครับ
ช่วงโควิดที่ผ่านมา วอท เดอะ ดัก ทำคอนเสิร์ตออนไลน์ด้วย อยากให้เล่าย้อนให้ฟังหน่อยว่าเป็นอย่างไร?
มอย: ถ้าย้อนคำถามว่าช่วงไหนที่เหนื่อยสุด ผมคิดว่าอันนี้ก็เป็นหนึ่งไฮไลท์ในชีวิตเหมือนกันที่เราเหนื่อยแต่เราก็สนุกที่ได้ทำ เราได้เรียนรู้เยอะ ผมว่าการที่เราได้เรียนรู้มันหาค่าไม่ได้ มันซื้อไม่ได้ ถ้าเราไม่ได้ลองทำ ก็ต้องขอบคุณน้องๆ ทีมงานในค่ายที่ยอมทำงานร่วมกัน แล้วก็ต้องขอบคุณเพื่อนอีกคนนึงที่ทำด้วยกันคือ พล หุยประเสริฐ (H.U.I.) ที่มาล้มลุกคลุกคลานทำด้วยกัน ช่วงโควิดเราทำด้วยกัน 2 คอนเสิร์ต
บอล: ตอนนั้น Zoom เริ่มเข้ามา
มอย: ทุกคนเริ่มประชุม Zoom พวกเราก็แบบจะทำยังไงดีวะ ช็อกน้ำอาทิตย์แรกก็นึกว่ามันจะอีกนานไหม หรือจะยังไง แต่ช็อกนานไม่ได้แล้ว เพราะเริ่มมีคนแคนเซิลงาน จนแคนเซิลหมดเลย ลองมานั่งคุยกับน้องๆ ว่าเอายังไงดี ตอนนั้นเริ่มมีศิลปินไม่รู้จะทำอะไร อยู่บ้านไลฟ์ผ่านนู่นผ่านนี่ เราก็มาคิดว่า ถ้าไม่มีอย่างอื่นที่จะต้องทำแล้ว เราควรที่จะทำอะไรขึ้นมาสักอย่างนึง โชคดีที่เราเรียกน้องๆ วง วาฬ แอนด์ ดอล์ฟ (Whal & Dolph) เข้ามาคุยกันว่า เราจะทำยังไงกันต่อดี ช่วงนี้เราทำอะไรกันได้บ้าง อ๋อ เขาไลฟ์กันอยู่นะ คราวนี้เราเจอพี่พล H.U.I. เฮ้ย ต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว งั้นเราลองทำคอนเสิร์ตไหม แล้วเราไม่ไลฟ์อย่างเดียว เราเปิดขายบัตรเลย เราต้องสร้างสิ่งใหม่ๆ เป็นคล้ายๆ เป็นโปรดักส์ใหม่ให้กับวงการเลย แล้วเงินทั้งหมดที่ได้ เราไปจัดสรรให้กับทีมงาน เพราะอย่างที่พี่บอลบอก ศิลปินที่ดังมากๆ เขาไม่ได้ลำบากมาก อาจจะมีลำบากบ้าง แต่ศิลปินที่ลำบากจะเป็นศิลปินใหม่ๆ ที่พยายามทำเป็นอาชีพอยู่ ส่วนคนที่ลำบากที่สุดคือทีมงานที่เขาขับรถตู้ น้องๆ เทคนิเชียน แบ็คอัพที่ทำงานวันนี้ได้เงินกลับบ้าน คนพวกนี้ลำบากที่สุด บางคนต้องไปขับวินมอเตอร์ไซค์ ได้ข่าวบางคนกลับบ้านไปบวชอะไรพวกนี้ เราอยากทำคอนเสิร์ตเพื่อหารายได้ให้กับคนพวกนี้ แล้วอยากทำคอนเสิร์ตที่ขายบัตรได้จริงๆ แปลว่าโปรดักชันต้องดี เพราะถ้าเราจะเก็บคนดู 300-400 บาท ไม่งั้นเขาไปดูฟรีก็ได้เพราะศิลปินไลฟ์กันมากมาย มันเลยค่อนข้างเป็นโจทย์ที่ท้าทาย เลยเป็นที่มาของการจัดคอนเสิร์ต Whal & Dolph Online Market Concert ครั้งแรก แล้วมันก็ขายหมด เพราะว่ายังไม่มีใครทำมาก่อน แล้วเป็นช่วงที่ประเทศล็อกดาวน์อยู่ มันมีแต่ข่าว คนขาดเอนเทอร์เทนเมนต์มาก จนเราจัดคอนเสิร์ตครั้งนั้นขึ้นมาแล้วขายบัตรหมดภายใน 10 นาทีก็ดีใจ
หลังจากนั้นน้องๆ พวกนี้แหละก็กลับมาคิดกันต่ออีก เฮ้ยพี่ จัดให้มันใหญ่กว่าเดิม เราช่วยทีมงานในค่ายเราแล้ว เราช่วยทีมงานค่ายอื่นด้วย เลยเป็นที่มาทำ Online Music Festival Top Hits Thailand อันนี้ รวมศิลปินหลายค่ายเลย ชวนเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่เรารู้จักกันมารวมทำคอนเสิร์ต 6 ชั่วโมง ถ้าให้กลับไปทำอีกก็ไม่ทำแล้วเพราะมันเหนื่อยมาก แต่ว่าได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างว่า การทำคอนเสิร์ต 6 ชั่วโมงมันไม่ใช่การทำคอนเสิร์ตนะ มันเป็นการทำทีวีโชว์ มันก็มีโจทย์อะไรหลายๆ อย่างที่เราได้เรียนรู้ จนทุกวันนี้มีอาชีพใหม่เลย บางคนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดประชุมเสวนาทาง Zoom แล้ว ผมว่ามันได้เรียนรู้อะไรใหม่มากๆ น้องหลายคนในทีมได้ฝึกเรียนรู้ในการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วย
ปอ-กฤษสรัญ จ้องสุวรรณ และ น้ำวน-วนนท์ กุลวรรธไพสิฐ จากวง Whal & Dolph
ดูเหมือน วอท เดอะ ดัก จะเปิดโอกาสให้กับศิลปินมากๆ อย่าง วาเลนติน่า พลอย (Valentina Ploy) ก็มีโอกาสเซ็นสัญญากับ วอร์นเนอร์ มิวสิก เอเชีย (Warner Music Asia) ด้วย?
มอย: ผมว่ามันเป็นอีกก้าวนึงของศิลปินที่เติบโตไป เราในฐานะค่ายเจ้าสังกัดก็รู้สึกว่ายินดีกับเขา และเป็นโอกาสของเขาที่เรียกว่าครั้งนึงในชีวิตที่มันไม่สามารถที่จะหาได้อีก จริงๆ เขามีสัญญากับเรา แต่เราไม่ใช่ค่ายที่จะขังเขาไว้ในสัญญา เรารู้สึกว่าเราต้องเปิดเพราะมันเป็นอนาคตของเขา ดังนั้นเราต้องขอบคุณทางวอร์นเนอร์ด้วยในการที่ร่วมสร้างโมเดลทางธุรกิจซึ่งเราสามารถทำงานร่วมกันได้ มันเป็นการทำดีลใหม่กันขึ้น โดยในประเทศไทยเรายังดูแลวาเลนติน่า พลอยอยู่ แต่ในตลาดต่างประเทศ วอร์เนอร์ มิวสิก เอเชียจะเป็นคนดูแลเขาในการทำงานทั้งหมด เพื่อให้เขาสามารถเติบโตไปในระดับอินเตอร์เนชันแนลให้ได้ เพราะเขาคงมองเห็นศักยภาพในตัวของน้อง และเราก็รู้สึกว่ามันถึงเวลาแล้วจึงทำให้ดีลนี้เกิดขึ้น
ผมว่าทุกวันนี้มันต้องเป็นแบบนี้ มันจะเป็นแบบเดิมที่ เรามีสัญญาเดิมๆ เราจะเก็บสิทธิ์ทุกอย่างไว้เป็นของเราคนเดียว ผมว่ามันเลยจุดนั้นมานานแล้ว โดยเฉพาะกับค่ายเรา เรื่องลิขสิทธิ์เราทำให้มันถูกต้องให้แต่แรก ไม่ได้เรียกว่าทำให้ถูกต้องหรอก แต่ว่าทำให้เป็นมาตรฐานของค่ายเพลงที่ทุกค่ายเขาทำกันในการดูแลศิลปิน ตรงไหนเป็นสิทธิ์ของศิลปิน สิทธิ์ของผู้ประพันธ์ แยกให้ชัดเจน ผมว่าสุดท้ายแล้วศิลปินเขาก็รู้ ทำไมเขาจะไม่รู้ เขาคุยกันอยู่แล้ว ทุกวันนี้เราควรจะทำอะไรที่ชัดเจนและตรวจสอบได้มากที่สุดครับ มันไม่ใช่เวลาที่ อันนี้ให้ดูไม่ได้นะครับ เพราะศิลปินนอกค่ายเขารู้ ได้ค่ามาสเตอร์เท่าไร เขารู้ ใช่ไหม มันไม่เหมือนสมัยก่อนที่สัญญาหนามาก สัญญาผมแค่ 8 หน้า มีบูลเล็ตพ้อยต์ให้ดูหมดเลยว่าเราดูแลอะไรยังไงให้ชัดเจนไปเลย สุดท้ายเรามองว่าเราแบ่งปันกัน เราได้ คุณก็ได้ ทุกคนทำงานหนัก แต่แบ่งหน้าที่กันให้ชัด เพราะเราลงเรือลำเดียวกัน เรามีทิศทางเดียวกัน
พลอย-วาเลนติน่า จาร์ดุลโล หรือ Valentina Ploy
วอท เดอะ ดัก ยังมีโปรเจกต์อื่นที่อยากทำอีกไหม?
มอย: นอกเหนือจากการทำค่ายเพลง สิ่งที่เราอยากขยายธุรกิจจะเป็นเรื่องการทำเทศกาลดนตรี การทำอีเวนต์ หรือการทำอะไรที่จะขยายธุรกิจของเราให้มันออกไปข้างนอกได้ โดยที่เราไม่ได้เปลี่ยนแปลงการเป็นตัวเราหรือศิลปิน เหมือนกับส่งเสริมศิลปิน ที่ผ่านมานอกจากคอนเสิร์ตออนไลน์แล้วก็จะเห็นว่าเรามีนิทรรศการ The Forest Exhibiton ของโบกี้ไลอ้อน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เราทำนิทรรศการศิลปะ เราอยากทำเรื่องพวกนี้เพราะเราเชื่ออยู่แล้ว มอตโตของบริษัทเราคือ Music is More เราเชื่อว่าดนตรีไม่ใช่แค่ดนตรี เราเชื่อว่าดนตรีมันคือทุกอย่าง ที่เชื่อมโยงไปกับแฟชั่น วัฒนธรรม ล่าสุดดาต้าด้วย แล้วเราก็มองว่าดนตรีจะไปแตะกับอะไรได้ มันจะสามารถเพิ่มมูลค่าบางอย่างให้กับอีกฝั่งหนึ่ง แล้วให้กับศิลปินเราอีกฝั่งนึงได้ไหม เลยเกิดเป็นการจัดงานเปิดตัวอัลบั้มโบกี้ที่มีนิทรรศการศิลปะด้วย อันนี้เป็นเคสที่ผมว่าประสบความสำเร็จ ไม่รู้คนอื่นว่ายังไง แต่เป็นจุดที่ผมดีใจที่เราได้ทำ เพราะผลลัพธ์ชัดเจน พอเราเปิดตัวอัลบั้มตรงนั้น เราเอางานอาร์ตเข้ามาผสม มันกลายเป็นว่าคนเข้ามางานอาร์ตหมื่นกว่าคน อาจจะไม่รู้จักโบกี้นะ เขาอยากมาดูงานอาร์ต แต่ว่าหมื่นกว่าคนก็กลับไปฟังเพลงโบกี้ เริ่มรู้จักโบกี้ขึ้น มันมีหลายๆ เวย์ที่เราอยากทำพวกนี้
ซึ่งปีนี้เรากำลังจะมีมิวสิกเฟสติวัลอีกงานนึงครับ ชื่อว่า Colorists Music Festival ทำกับเพื่อนคนเดิมคือคุณพล หุยประเสริฐ งานหลายๆ อย่างที่แตกไปจากวอท เดอะ ดักก็ได้เพื่อนคนนี้แหละที่มาบ้าทำมาด้วยกัน ล่าสุดเราพยายามทำเทศกาลดนตรีที่ให้คนเข้ามามีส่วนร่วมกับตัวเทศกาล
จากหลายสิ่งหลายอย่างที่ วอท เดอะ ดัก เคยทำและกำลังทำต่อไป แสดงให้เห็นว่าค่ายเพลงแห่งนี้พร้อมแสดงศักยภาพและความสามารถในการทำอะไรหลายๆ อย่างของฝูงเป็ด พร้อมเปิดโอกาสให้ศิลปินส่งเสียงเฉพาะตัวที่หลากหลายออกมาอย่างสม่ำเสมอ มากกว่าการเป็นเป็ดที่ร้องได้แค่ ก้าบ! เท่านั้น
YOU MAY ALSO LIKE:
วอท เดอะ ดัก ได้รับเลือกให้เป็น Brand of the Month ประจำเดือนกรกฎาคม 2565 สามารถคลิกชมสินค้าได้ในเว็บไซต์
happening and friends และแฟนเพลงสามารถอ่านบทสัมภาษณ์และบทความของศิลปินที่คุณชื่นชอบได้ที่นี่