หอศิลปกรุงเทพฯ กับประวัติศาสตร์ ศิลปะ และการเมืองไทย

    ในการสู้รบทำสงคราม ฐานทัพใหญ่ถือเป็นความจำเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นศูนย์กลางที่แลกเปลี่ยนวางแผนกลวิธีโจมตีคู่ต่อสู้ และที่ตั้งมั่นแสดงแสนยานุภาพ หากขาดไปทัพเล็กทัพน้อยคงไร้ที่พึ่งพิง แตกกระจายได้โดยง่าย

    ไม่ต่างกัน ศิลปะเองก็ต้องการแหล่งรวมกำลังเพื่อเป็นศูนย์กลางรวบรวมศิลปะหลากแขนง เพื่อจัดแสดง แลกเปลี่ยนความรู้ความคิดสร้างสรรค์ และสร้างสุนทรียศาสตร์ ตอบโจทย์จิตวิญญาณมนุษย์ร่วมไปกับสากลโลก

    สำหรับเมืองไทยแล้ว หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเป็นดั่งฐานทัพของแวดวงศิลปะที่ไม่เฉพาะแค่ในกรุงเทพฯ แต่ควบรวมไปถึงระดับประเทศ โดยหอศิลป์แห่งนี้อาจจะเป็นหนึ่งในหอศิลป์เพียงไม่กี่แห่งที่เกิดจากการต่อสู้ลงแรงของประชาชนอย่างแท้จริง เป็นการต่อสู้เพื่อเรียกร้องให้มีแหล่งการเรียนรู้ด้านศิลปะบริเวณใจกลางเมืองหลวงของไทย

    เหตุการณ์นี้เริ่มต้นเมื่อปี 2538 ที่ ดร.พิจิตต รัตตกุล ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ได้มีมติร่วมกับคณะกรรมการโครงการ เฉลิมพระเกียรติฯ ศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 จัดสร้างหอศิลปะร่วมสมัยแห่งกรุงเทพมหานคร ที่สี่แยกปทุมวัน โดยมีรูปแบบที่ผ่านการคิดและตัดสินใจร่วมกันมาแล้ว ทว่าโครงการก็เกิดมาสะดุดลง ในปี 2544 เมื่อ สมัคร สุนทรเวช เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนต่อมา และได้เปลี่ยนโครงการหอศิลป์เดิมให้เป็นอาคารพาณิชย์มากขึ้น โดยกำหนดสัดส่วนเป็นพื้นที่เพื่อการค้า 70% และอีก 30% คือพื้นที่ศิลปะ ทั้งยังให้เอกชนเข้ามาลงทุนแทนกรุงเทพฯ

    ด้วยการนี้เอง จึงเกิดการฟ้องร้องกันอย่างใหญ่โต องค์กรด้านศิลปะ ศิลปินรุ่นใหญ่ รุ่นเล็ก อาจารย์ นักศึกษา และสื่อมวลชนเองก็ได้ร่วมดำเนินการคัดค้าน โดยได้จัดกิจกรรมเคลื่อนไหวและเรียกร้องให้ผู้บริหารกรุงเทพฯ ในสมัยนั้นทบทวนโครงการ รวมทั้งจัดกิจกรรมเดินขบวนศิลปะยาว 4 กิโลเมตร และผู้ร่วมเดินขบวนช่วยกันถือภาพทั้งหมดจำนวน 4,000 ภาพไปเดินขบวน ต่อมาในปี 2545 ได้มีการจัดแสดงผลงาน 'ฉันเรียกร้องหอศิลป์ ไม่เอาศูนย์การค้า' เพื่อแสดงให้เห็นถึงพลังของประชาชนที่ต้องการให้มีแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะเกิดขึ้นใจกลางเมือง

    แต่แคมเปญที่ส่งแรงกระเพื่อมและสร้างความเคลื่อนไหวในหมู่มวลชนได้อย่างเข้มข้น คือ แคมเปญที่ตามมาทีหลังสุดอย่าง 'Art Vote' ในปี 2547 ที่ประชาชนผู้เห็นความสำคัญของศิลปะเป็นผู้ริเริ่ม ซึ่งกินระยะเวลากว่าหนึ่งเดือน เป็นแคมเปญที่เหล่าศิลปินเข้าไปเล่นกับการเมืองอย่างชาญฉลาด โดยเหล่าศิลปินใช้วิธีการตั้งกล่องให้ประชาชนที่สัญจรไปมาเลือกโหวตเอาหรือไม่เอาหอศิลป์ คล้ายกับการจำลองการเลือกตั้งขนาดย่อม ทั้งยังตระเวนไปสร้างความเข้าใจเรื่องหอศิลป์กับผู้ลงสมัครเลือกตั้งชุดใหม่ เช่น ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์, อภิรักษ์ โกษะโยธิน และผู้สมัครรายย่อยอื่นๆ หลังจากที่ สมัคร สุนทรเวช หมดวาระดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ (ซึ่งแน่นอนว่าผู้สมัครผู้ว่าฯ แทบทั้งหมดย่อมเลือกโหวตให้กับการมีหอศิลป์ เพราะต้องการได้คะแนนเสียงจากเหล่าศิลปิน)

    "เราชอบศิลปะอยู่แล้ว และเราก็มองว่าในกรุงเทพฯ ศิลปะมันไม่พอ เราอยากดูงานของต่างประเทศ งานใหญ่ๆ มีความหลากหลาย มีคิวเรเตอร์มาคิวเรตงาน ตอนนั้นเรามีแต่หอศิลป์แห่งชาติ แกลเลอรีเล็กๆ และอีกอย่างเมืองไทยเป็นเมืองท่องเที่ยว มันก็ควรจะมีที่แสดงงานศิลปะ ไม่ใช่เป็นตั้งกรุงเทพฯ แล้วไม่มี พื้นที่สร้างสรรค์ในเมืองก็ยังไม่มี ถ้ามีก็เล็กมากๆ หรือถ้ามีก็ไม่ใช่ศิลปะร่วมสมัย" ยิ้ม-กุลยา กาศสกุล นักประชาสัมพันธ์ด้านศิลปะแจงถึงเหตุผลที่เธอและเพื่อนลุกขึ้นมาทำอาร์ตโหวตเมื่อสิบกว่าปีก่อน

    ขณะนั้นพื้นที่ตรงสี่แยกปทุมวันยังเป็นแค่สวนสาธารณะ เธอและกลุ่มเพื่อนๆ จึงชักชวนศิลปินรุ่นกลางอย่าง ตุล วงอพาร์ตเมนต์คุณป้า (ตุล ไวฑูรเกียรติ), ป๊อด โมเดิร์นด็อก (ธนชัย อุชชิน) และ โน้ต-อุดม แต้พานิช ไปจนถึงศิลปินร่วมสมัยอีกหลายสิบชีวิตมาร่วมขึ้นเวที สลับสับเปลี่ยนกันแสดงดนตรี เสวนา และการแสดงต่างๆ ทั้งยังมีศิลปินผู้ใหญ่สนับสนุนโครงการนำตู้คอนเทนเนอร์มาจัดวางเป็นแกลเลอรีเคลื่อนที่ เพื่อเป็นการยึดพื้นที่เชิงสัญลักษณ์

    ตี๊-ชาญยุทธ มนูญวิริยะกุล เป็นหนึ่งในทีมผู้ริเริ่มแคมเปญอาร์ตโหวต โดยเป็นผู้ไปหาทุนทรัพย์มาใช้ในกิจกรรม จากการขอความอนุเคราะห์ผลงานภาพวาดของศิลปินรุ่นใหญ่อย่าง อาจารย์ปรีชา เถาทอง มาขาย จำหน่ายเสื้อแคมเปญ ทำอาร์ตมาร์เก็ต ฯลฯ เมื่อเราถามถึงกระแสความสนใจของสังคมในช่วงนั้นที่มีต่ออาร์ตโหวต เขาก็ตอบอย่างแข็งขัน 

    "ตอนนั้นยังไม่มีโซเชียลเน็ตเวิร์ก เราก็เดินสายไปหาผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพฯ เอาไมค์ไปจ่อปากเรื่องนโยบายวัฒนธรรมกับเมืองว่าจะทำยังไง ไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องหอศิลป์เท่านั้น ส่วนกิจกรรมอาร์ตโหวต คนมาร่วมโหวตก็ห้าหมื่นกว่า พอนับคะแนนแล้ว ผลคือเกือบทั้งหมดเห็นด้วยว่ากรุงเทพฯ ควรมีหอศิลป์ แล้วสื่อมวลชนก็ลงข่าวให้ ไม่ว่าจะสื่อใหญ่สื่อเล็ก หนังสือพิมพ์ หรือทีวี ถือว่าตอนนั้นก็เป็นกระแสสังคมอยู่เหมือนกัน" ตี๊ยิ้มบางๆ เมื่อระลึกความหลัง

    ตุล ไวฑูรเกียรติ แห่งวงอพาร์ตเมนต์คุณป้า หนึ่งในกลุ่มศิลปินที่มีส่วนร่วมในหน้าประวัติศาสตร์ครั้งนี้ก็เล่าถึงบรรยากาศตอนนั้นว่าสนุก เขาและวงเองก็ไปเล่นดนตรีมาหลายรอบ และรับรู้ได้ถึงพลังของมวลชนที่ต้องการเรียกร้องสิทธิของตน "ถ้ามองในแง่คนดนตรี ดนตรีร็อกแอนด์โรลล์ก็แฝงไปด้วยนัยการประท้วงและความขบถอยู่แล้วครับ ศิลปินอย่างเราก็ไม่ควรพลาดการแสดงออกในเรื่องเพื่อศิลปะแบบนี้" ตุลกล่าว 

    จนในที่สุด นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในปี 2547 เครือข่ายศิลปินและประชาชนจึงได้นำโครงการหอศิลป์เข้าหารือ และได้รับการพิจารณาเห็นชอบให้ดำเนินการจัดสร้างหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตามโครงการเดิม หลังจากที่ถูกหยุดชะงักเป็นเวลาร่วมสิบปี

    จากนั้น หอศิลปกรุงเทพฯ ก็ได้จัดการประกวดออกแบบสัญลักษณ์ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้มีส่วนร่วมในภาพลักษณ์ของอาร์ตเซ็นเตอร์ใจกลางเมือง ที่เกิดขึ้นจากการรวมพลังและเห็นความสำคัญของศิลปะจากประชาชน

    ปี 2551 คือปีแรกที่หอศิลปกรุงเทพฯ เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ แม้จะเริ่มต้นอย่างตะกุกตะกัก และคนเมืองยังไม่ค่อยคุ้นชินกับสถานที่แห่งนี้มากนัก ทว่ามูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ทีมงาน รวมทั้งเครือข่ายต่างๆ ต่างก็ช่วยกันก่อร่างสร้างสถานที่อันเป็นเสมือนฐานทัพศิลปะแห่งนี้ให้หยั่งรากมีฐานที่มั่นคง พร้อมทั้งสร้างสรรค์กิจกรรมน่าสนใจใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับคนทุกเพศทุกวัย จนยอดผู้ใช้งานจากจำนวนหลักแสนในปีแรกได้ทะยานสูงขึ้นจนแตะถึงหลักล้าน และใกล้ๆ จะสองล้านในปีที่ 10 ทั้งยังกลายเป็นจุดนับพบ A Must ของเมืองกรุงเทพฯ ของทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ

    วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ ศิลปินสายมีเดียอาร์ต ผู้เคยเป็นหนึ่งในคณะศิลปินที่อยู่เบื้องหลังโครงการเรียกร้องหอศิลปกรุงเทพฯ มองว่าโลเคชันตรงสี่แยกปทุมวันนั้นดีกว่าตำแหน่งหอศิลป์ใหญ่ๆ ของหลายประเทศเสียอีก และถึงแม้ว่าที่ผ่านมาอาจจะมีข้อไม่ถูกใจของเหล่าคนศิลปะที่มีความเห็นต่างกันบ้าง แต่ท้ายที่สุดแล้วหอศิลป์ใหญ่แห่งนี้ก็รับใช้ประชาชนที่เป็นเจ้าของเมืองได้เป็นอย่างดี

    "ตอนแรกเราก็กลัวและเป็นห่วงว่ามันจะออกมาเป็นยังไง แต่พอผ่านไปสิบปี ก็ได้เห็นว่าหอศิลป์มันมีฟังก์ชันในสังคม สำหรับเมือง ที่นี่เป็นจุดเซฟโซนเวลาเราไปสยาม แล้วไม่อยากไปอยู่ในบรรยากาศห้างที่โดนเร้าให้ซื้อหรือขายตลอดเวลา หอศิลป์เป็นจุดเซฟด้านจิตวิญญาณ มันไม่มีป้ายโฆษณา แต่เป็นสถานที่สำคัญเหมือนสวนสาธารณะ เป็นที่ที่ใช้หายใจ เข้าไปจะเห็นว่าทุกคนทำเพื่อศิลปวัฒนธรรม มีความเป็นกลาง คนกรุงเทพฯ ควรภูมิใจมากๆ ที่มันถูลู่ถูกังมาได้ แถมยังอยู่กลางเมืองซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีมูลค่ามหาศาล เป็นสิ่งที่ควรภูมิใจสุดๆ"

    จากหลายร้อยนิทรรศการที่จัดแสดง จากพันหมื่นกิจกรรมที่เกิดขึ้น หอศิลปกรุงเทพฯ ได้ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องจนครบรอบ 10 ปีในวันที่ 29 กรกฎาคม ปี 2561 ซึ่งมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้บริหารของอาร์ตเซ็นเตอร์ใจกลางเมืองแห่งนี้ได้ออกมาแถลงข่าวถึงความสำเร็จตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จากยอดผู้เยี่ยมชมในปีแรกราว 3 แสนคน พุ่งสู่ 1.7 ล้านคนในปีที่ 10 และ ปวิตร มหาสารินันทน์ ผู้อำนวยการหอศิลปกรุงเทพฯ ยังยืนยันว่าจะมีกิจกรรมน่าสนใจอีกมากเกิดขึ้นตามมาหลังจากนี้ เพื่อดำรงซึ่งความตั้งใจและจุดมุ่งหมายของการก่อตั้งหอศิลป์ตั้งแต่แรกเริ่ม แม้ว่าต้องประสบปัญหางบประมาณสนับสนุนหรือปัญหาใดๆ ก็ตาม 

    ดังนั้น ที่นี่จึงไม่ใช่แค่พื้นที่ศิลปะเท่านั้น แต่ยังเป็นร่องรอยประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญที่แสดงถึงพลังของภาคประชาชน ซึ่งจะยืนหยัดเป็นฐานทัพแห่งสุนทรียศาสตร์ของกรุงเทพฯ และประเทศชาติสืบไป

    มองย้อนประวัติศาสตร์ในวันนั้น ด้วยเสียงเรียกร้องจากประชาชน ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้แก่ประชาชนด้วยกันนี้เอง บางทีนอกจากความภูมิใจที่หอศิลป์แห่งนี้เป็นหน้าเป็นตาของเมืองแล้ว การก่อตั้งของพื้นที่แห่งนี้ยังทำให้หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เป็นทรัพย์สินของประชาชน ที่เกิดจากประชาชน และเพื่อประชาชนที่แท้จริง

เดือนเพ็ญ จุ้ยประชา

นักเขียนและกองบรรณาธิการที่พบเจอตัวได้ตามหอศิลป์และร้านหนังสือ ชอบกินแซลมอนและชาบู อยากแก่ไปเป็นคุณป้าใจดีและมีฝูงแมวห้อมล้อม

อติวิชญ์ สิงหเสม

นิสิตออกแบบแห่งมหาวิทยาลัยชื่อดังใจกลางอโศก ที่หลงใหลการถ่ายภาพธรรมชาติ, สัตว์ป่า มากกว่าผู้คน และ มีกล้อง Mirrorless คู่ใจเป็นอาวุธ