พาไปสัมผัสเสน่ห์ 3 ร้านหนังสืออิสระแห่งเมืองเชียงใหม่

    แม้ขนาดพื้นที่ภายในร้านหนังสืออิสระอาจจะมีขนาดเล็กและไม่ได้มีปริมาณหนังสือมากมายเท่าร้านหนังสือชั้นนำขนาดใหญ่ แต่ความละเมียดละไมลุ่มลึกในการคัดเลือกหนังสือเข้ามาวางจำหน่ายภายใต้บรรยากาศที่เข้าถึงง่ายเป็นกันเองอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวนั้น นับเป็นเสน่ห์ของร้านหนังสืออิสระที่ทำให้นักอ่านรู้สึกว่าการเดินเข้าไปเลือกซื้อหนังสือคล้ายดั่งการไปเยี่ยมเยือนพบปะเพื่อนที่รู้ใจสักคน
    ในตัวเมืองเชียงใหม่เองก็มีร้านหนังสืออิสระที่นักอ่านเมืองเหนือรู้จักกันดี happening จึงอยากพาไป 3 ร้านหนังสือ 3 สไตล์ ได้แก่ The Booksmith, Book Re:public และ ร้านเล่า เพื่อทำความรู้จักและรับรู้เบื้องหลังแนวคิดในการทำร้านหนังสือด้วยหัวใจอันเป็นอิสระในรูปแบบที่แตกต่างกันไป

The Booksmith
    ณ วันนิมมาน ย่านท่องเที่ยวที่มักจะมีชาวไทยและชาวต่างชาติเดินพลุกพล่านกันตั้งแต่สายยันค่ำ มีร้านหนังสือกลิ่นอายยุโรปนาม The Booksmith ซุกตัวอยู่ ร้านหนังสืออิสระแห่งนี้โดดเด่นเรื่องหนังสือดีไซน์และศิลปะ ตามความชอบส่วนตัวของอาร์ต-สิโรตม์ จิระประยูร เจ้าของร้าน The Booksmith ทั้ง 3 สาขา และ The Papersmith ร้านแมกกาซีนอิสระที่เกษรวิลเลจ
    หลังจากอาร์ตลาออกจากงานประจำในตำแหน่งที่กำลังไปได้สวยบนเวทีธุรกิจหนังสือเพื่อหันไปทำงานอยู่วงการอื่นสักพัก เขาตระหนักได้ว่าไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่มีหนังสือรายรอบ บวกกับความเชี่ยวชาญในหนังสือที่คุณอาร์ตบอกว่าเป็นความเท่ที่เฝ้าฝันมาแต่เด็กหลังจากได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์เรื่อง Notthing Hill(1999) และความเชื่ออย่างแรงกล้าว่า วงการหนังสือจะไม่มีวันตาย "ผมไม่เชื่อว่าวงการหนังสือมันจะตายได้ หนังสือดียังไงก็มีคนอ่าน" ในที่สุดอาร์ตก็ตัดสินใจเปิดร้านหนังสือของตัวเอง 
    อาร์ตตั้งชื่อ The Booksmith ตามร้านหนังสืออิสระชื่อเดียวกันที่เคยเปิดและปิดตัวลงไปแล้ว ณ อีกฟากทวีป ซึ่งเขาไปอ่านพบในช่วงที่กำลังเลือกชื่อร้านพอดี คำว่า smith มาจากคำว่า blacksmith ที่แปลว่าช่างตีเหล็ก สื่อความหมายเหมาะเจาะกับความเชี่ยวชาญในศาสตร์หนึ่งๆ ที่อาร์ตถือว่าเป็นความเท่ของชีวิต ลงตัวกับบรรยากาศการตกแต่งด้วยผนังโชว์อิฐ และหนังสือที่เจ้าของไปคัดเองกับมือถึงยุโรป
    หนังสือที่นี่อาร์ตเป็นคนคัดมาวางเองเกือบทั้งหมด แต่สำหรับหนังสือภาษาไทยจะมีลูกมือมาช่วยบ้าง "เวลาเราสั่งหนังสือมาขายเราเห็นแต่หน้าปกอย่างเดียว ไม่ได้สัมผัส เป็นเหตุผลว่าทำไมผมถึงต้องไปงานบุ๊กแฟร์ที่ลอนดอนบ้าง แฟรงก์เฟิร์ตบ้าง เพื่อให้เราได้เห็น ได้สัมผัสของจริง หนังสือบางเล่มปกเชยมาก แต่ข้างในมันเจ๋งมาก" จึงไม่แปลกที่ในสายตานักอ่านจะมองว่า หนังสือในร้าน The Booksmith เป็นหนังสือคัดสรรหรือ selected book กระทั่งทุกวันนี้อาร์ตยังคงตระเวนไปคัดหนังสือดีๆ ทั่วโลกนำมาวางขายในร้าน
    นอกจากหนังสือแล้ว ภายในร้านยังมีเครื่องเขียน แผ่นเพลง และสมุดทำมือวางขาย มีมุมนิตยสารทั้งไทยและเทศวางเรียงขายอยู่หน้าเคาน์เตอร์ มีมุมกาแฟและขนมทานเล่นภายใต้ความดูแลของน้องชายเขา พร้อมด้วยที่นั่งสบายๆ เป็นมุมให้นักอ่านสามารถนั่งลงพลิกหนังสือพร้อมจิบกาแฟและแทะขนมไปพลางอย่างช้าๆ ขณะที่ปล่อยให้เมืองท่องเที่ยวนอกร้านเคลื่อนที่ไปอย่างรวดเร็ว
เปิดทำการทุกวัน เวลา 10.00 – 21.00 น. 
ที่ตั้ง One Nimman ซอย 1 ถนนนิมมานเหมินทร์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

เส้นทาง คลิกที่นี่


Book Re:public
    กลิ่นของชาและหนังสือที่อบอวนคู่กันอยู่ภายบรรยากาศเป็นกันเองเสมือนห้องรับแขก ขณะเดียวกันยังมีสัมผัสของความเอาจริงเอาจังด้วยหนังสือวิชาการที่รายล้อมในร้าน Book Re:public ร้านหนังสืออิสระที่ย้ายที่มั่นมาตั้งรกรากใหม่ที่บ้านเจ้าของร้านและผู้ก่อตั้งร่วม อ้อย-รจเรข วัฒนพาณิชย์
    Book Re:public ร้านหนังสืออิสระที่โดดเด่นในเรื่องหนังสือวัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และการเมือง อีกทั้งเป็นพื้นที่จัดวงเสวนาทั้งวิชาการและไม่วิชาการอยู่เรื่อยๆ เธอบอกถึงความตั้งใจและอุดมการณ์แรกเริ่มว่า "เราไม่ได้คิดทำร้านหนังสือเป็นจุดเริ่มต้นนะ แค่ว่าอยากมีพื้นที่พื้นที่หนึ่งที่ทำให้คนได้มาแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหาทางสังคมการเมือง มาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เราอยากให้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันจริงๆ มันก็เลยเป็นร้านหนังสือ เพราะเราเชื่อว่าในหนังสือมันมีข้อมูลเต็มไปหมด" จึงไม่น่าแปลกใจที่หนังสือกว่าสามในสี่ในร้านจะเป็นหนังสือวิชาการ ประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม วัฒนธรรม ปรัชญา และมีหนังสือวรรณกรรมเป็นตัวประกอบ ด้วยเหตุนี้ชื่อร้านจึงสื่อถึงความเป็นสาธารณะตามอุดมการณ์ไปด้วย
    นอกจากนั้นอ้อยยังชี้ให้เห็นถึงคุณูปการข้อสำคัญของร้านหนังสืออิสระที่มีต่อวงการหนังสือ นั่นคือการเป็นแรงผลักให้วงการสิ่งพิมพ์สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ "หนังสือหนึ่งเล่มมันไม่จบในตัวของมันเอง ใครอ่านแล้วจะคิดต่อ จะจบอยู่ตรงนั้น จะตั้งคำถามหรือเอาไปทำต่อก็ได้ เราเลยเปิดพื้นที่ให้เอาหนังสือมาคุย บางครั้งหนังสือหนึ่งย่อหน้าเราสามารถชวนกันคุยได้ถึงหนึ่งหรือสองชั่วโมง มันสามารถทำให้คนสนใจและหันมาอ่านหนังสือกันมากขึ้นก็ได้" ในขณะที่ร้านหนังสือสาขาใหญ่ไม่สามารถจัดงานเสวนาขนาดเล็กที่คุยกันอย่างออกรสแบบนี้ได้ ร้านหนังสืออิสระจึงมีความสำคัญในแง่ของการพบปะและพูดคุยแลกเปลี่ยน ซึ่ง Book Re:public ก็ทำหน้าที่นี้ได้เป็นอย่างดีเรื่อยมา
    เธอเป็นผู้คัดหนังสือที่จะนำมาวางขายบนชั้นเองทั้งหมด แม้จะไม่สามารถอ่านทุกตัวอักษรในหนังสือทุกเล่มได้ แต่ถ้ามีนักอ่านไปเยือน เธอก็สามารถแนะนำหนังสือที่เราตามหาได้อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งหนังสือที่เลือกมาวางมีจำนวนเยอะมากจนต้องหันสันออกเกือบทุกเล่มเพื่อประหยัดพื้นที่ จะมีก็แต่หนังสือหน้าใหม่ที่ได้โอกาสอวดปกอยู่บนโต๊ะกลางร้าน เหตุเพราะที่นี่ตั้งใจจะวางขายหนังสือให้หลากหลายและครบเซตมากที่สุด โดยมีหลักฐานยืนยันความตั้งใจนี้ด้วยชั้นหนังสือทั้งชั้นที่ถูกอัดแน่นด้วยหนังสือครบชุดจากสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันและสำนักพิมพ์อ่านอยู่ที่มุมหนึ่งของร้าน
    ทุกวันนี้อ้อยบริหารกิจการร้านหนังสือควบคู่ไปกับการเป็นนักกิจกรรมทำงานเคลื่อนไหวสังคม ชั้นบนของร้านจึงจัดเป็นพื้นที่ทำงาน มีมุมชาเล็กๆ ไว้ให้บริการนักอ่านที่อยากปักหลังพลิกหนังสือสักพักก่อนตัดสินใจซื้อ หรือถ้าไม่อุดหนุนหนังสือ เก็บเข้าชั้นแล้วนั่งคุยแลกเปลี่ยนกันเฉยๆ ร้าน Book Re:public ก็ยินดีต้อนรับ
เวลาเปิดทำการ 10.30 – 18.00 น. หยุดทุกวันจันทร์
ที่ตั้ง เลขที่ 36 ซอยวัดอุโมงค์ ถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

เส้นทาง คลิกที่นี่


ร้านเล่า
    ยิ้มสดใสเป็นกันเองของจ๋า-กรองทอง สุดประเสริฐ และคุณยายอ่างมาสคอตประจำร้านเล่า กลายเป็นภาพชินตาของนักอ่านชาวเชียงใหม่หลายต่อหลายรุ่น 
    ร้านเล่าเป็นร้านหนังสืออิสระที่อยู่คู่ชาวเชียงใหม่มานาน ย้ายร้านมาแล้วสามครั้งจนมาปักหลักอยู่ที่ริมถนนนิมมานเหมินทร์ได้ร่วม 20 ปี ยืนหนึ่งด้านหนังสือหมวดวรรณกรรม ทั้งวรรณกรรมไทยและวรรณกรรมแปล ที่นี่รวบรวมหนังสือวรรณกรรมเอาไว้ทั้งหลากหลายและลงลึก ลูกค้าจะสังเกตเห็นว่าร้านเล่ามีหนังสือมากพอที่จะแยกหมวดบนชั้นตามนักเขียนด้วย ดังนั้นถ้าคุณกำลังตามหานักสือครบเซตของนักเขียนที่รัก ก็เป็นไปได้สูงที่คุณจะมาเจอมันที่ร้านเล่า
    ร้านเล่าเริ่มต้นจากอุดมการณ์ที่มีร่วมกันของเพื่อนรักสี่คน ด้วยความตั้งใจที่อยากให้มีพื้นที่รวมตัวสำหรับวัยรุ่นยุคนั้นและเป็นที่ทำกิจกรรมของคนรักหนังสือ "ผู้ก่อตั้งมีสี่คนเป็นเพื่อนกันค่ะ มีพี่ก้อย พี่หนู พี่เก็ต พี่จิ๋ว ช่วยแบ่งหน้าที่กัน ตอนนี้ก็แยกย้ายกันไปแล้ว เหลือพี่เก็ตที่ยังดูแลร้านอยู่" จ๋าเล่าให้ฟังว่าความเป็นร้านเล่าค่อยๆ ก่อตัวมาจากเพื่อนผู้ก่อตั้งทั้งสี่ โดยป้ายชื่อร้านเล่าก็เป็นลายมือของก้อยที่เป็นเสมือนกลิ่นของร้าน ในส่วนหนังสือสังคมศาสตร์บริเวณด้านหลังร้านก็มาจากความเป็นจิ๋ว เป็นต้น ร้านเล่าจึงเป็นเหมือนลูกรักที่ประกอบขึ้นมาจากตัวตนของคนทั้งสี่ 
    ภายในร้านประดับด้วยกรอบรูป มีทั้งรูปเขียน ลายมือบอกเล่า บทกวีและรูปถ่าย บ้างก็มาจากนักเขียนที่มาเยือน บ้างก็มาจากลูกค้าขาประจำที่เป็นขาประจำมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อคุณแม่จนถึงรุ่นลูก เป็นประวัติศาสตร์ขนาดย่อของร้านที่บ่งบอกถึงความเก่าแก่ยาวนาน และมิตรภาพที่ร้านเล่ามอบให้
    จ๋าเองก็เป็นลูกค้าขาประจำก่อนจะผันตัวมาเป็นพนักงานและพบรักกับหนึ่งในผู้ก่อตั้ง ได้เข้ามาดูแลร้านเล่าอย่างเต็มตัว แล้วรับเอาร้านเล่าเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในที่สุด "เราไม่ได้นึกถึงกำไร ขาดทุนอะไรมาก แค่อยากให้ร้านมันยังอยู่ มันเหมือนกับเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพี่ไปแล้ว" จ๋าเล่าอย่างเขินๆ ร้านเล่าที่กลายเป็นบ้านของคนที่นี่จึงมีบรรยากาศน่ารัก เป็นกันเองเหมือนการเปิดบ้านต้อนรับมิตรมาเยือน และการอ่านหนังสือคือกิจกรรมที่ทำร่วมกันระหว่างเพื่อน 
    นอกจากหนังสือจากสำนักพิมพ์ ร้านเล่ายังวางขายหนังสือพิมพ์เองจากนักเขียนอิสระ เป็นพื้นที่ให้ทั้งนักเขียนไร้ชื่อและนักเขียนไร้สังกัดได้วางขายงานคุณภาพของตัวเอง ยังมีงานศิลปะ งานปั่นเซรามิก สมุดทำมือ โปสการ์ด ผลงานจากศิลปินในเชียงใหม่วางขายอยู่ด้วย
    แม้ปัจจุบันเพื่อนรักทั้งสี่จะแยกย้ายกระจัดกระจายไปบ้าง แต่ยังคงทิ้งร่องรอยความทรงจำและหวนกลับมาพบป่ะกันบ้างกลับมาสำรวจประวัติศาสตร์ของตัวเองและลูกค้าที่มาเยือน จ๋าและคุณยายอ่างก็จะยังคงยิ้มต้อนรับนักอ่านที่ร้านหนังสือประตูสีแดงนี้อยู่เสมอ
เปิดทำการทุกวัน เวลา 10.00 – 20.00 น.
ที่ตั้ง 87 ถนนนิมมานเหมินทร์ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 

เส้นทาง คลิกที่นี่

รวีรัตน์ อัศวธัญโรจน์

นักศึกษาปรัชญา ผู้หลงรักการคุยกันคนแปลกหน้า หลงใหลในแดดเช้า ชั้นแป้งของครัวซอง และการค่อยๆ งอกของต้นไม้ มีงานเขียนบ้างประปรายภายใต้นามปากกา 'ม้าอ้วน'